คุณลองคิดภาพห้องสีดำว่างเปล่าหนึ่งห้อง ลอยคว้างโดดเดี่ยวอยู่แยกขาดจากทุกอย่าง ในห้องนั้นบรรจุคนมากมายมาจากทุกส่วนทุกมุมของสังคม ความมืดคือความชัดเจนที่สุดในห้องนี้ ทุกคนเดินชนกันไปกันมาเพื่อพยายามหาทางออก แต่ยิ่งหา รังแต่จะพากันสะดุดล้มลงระเนนระนาด ความมืดคืออุปสรรคของทุกสิ่ง
การยื่นเทียนเล่มเล็กจิ๋วให้แก่คนในห้องนั้นคนละเล่ม จุดประกายไฟเพียงหนึ่งกะพริบตา แล้วปล่อยให้การส่งต่อความสว่างเล็กๆ จากมือสู่มือ นำไปสู่การมองเห็นทางออกจากห้องแห่งนี้ คือหลักคิดที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ใช้ในการทำงานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
“จุดเทียนดีกว่า ก่นด่าความมืด” เธอว่า ส่วนเราเห็นด้วยทั้ง 2 แบบ
องค์กรแอมเนสตี้ทำหลายเรื่อง ทั้งประเด็นการละเมิดสิทธิทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย ผู้ถูกลืมเบื้องหลังกรงขัง โควิด-19 และเรือนจำ ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล ประเด็นแรก ข้อมูลจากเพจ Amnesty International Thailand ระบุว่า ทุกปี เกือบ 1 ใน 3 ของชายไทยที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเข้ารับราชการตามกำหนดในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร
อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพไทยและนักการเมืองจะชี้แจงว่าดูแลทหารเกณฑ์ดุจญาติมิตรในครอบครัว แต่หลักฐานที่น่าเชื่อถือก็ได้ชี้ชัดในทางปฏิบัติจริง ทหารเกณฑ์จำนวนมากต้องเผชิญความรุนแรง ความอับอาย การละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะทหารเกณฑ์ที่มีความหลากหลายทางเพศ มักตกเป็นเป้าการละเมิดเนื่องวิถีทางเพศและการแสดงออกทางอัตลักษณ์
ประเด็น 2 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและสถานที่คุมขังอื่นๆ ได้เผยให้โฉมหน้าของภัยคุกคามต่อสุขภาพอย่างเป็นระบบในระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องหา ส่วนประเด็นหลัง แอมเนสตี้ยืนยันว่า สิทธิในความเป็นส่วนตัวคือสิทธิที่จะอยู่ตามลำพังโดยไม่ถูกรบกวน รุกล้ำหรือแทรกแซง ไม่ถูกสอดแนมทั้งโดยปัจเจก เอกชน และรัฐ รวมทั้งสิทธิในการควบคุมการเปิดเผย เผยแพร่ หรือใช้ข้อมูลของผู้ถือสิทธิ
ประเด็นอื่นๆ เรานัดคุยกับปิยนุชในห้องทำงานส่วนตัวค่อยๆ กะเทาะกันไปช้าๆ เริ่มจากข้อสงสัยแรกเกี่ยวกับรูปหญิงคนหนึ่งที่ถูกใส่กรอบ เชิญทุกท่านร่วมรับฟัง

ในภาพนี่ใคร
ภาพของ คุณอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร อายุ 65 ปี ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำ โทษจำคุกเป็นเวลา 43 ปี 6 เดือน ซึ่งอาจหมายถึงการจำคุกตลอดชีวิตของเธอ เนื่องจากอายุมากแล้ว ภาพที่พิงอยู่ตรงกำแพงนี้คือเครื่องเตือนใจในการทำงานแต่ละวัน เพราะความเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออกคือสิทธิของมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครควรต้องตกอยู่ในชะตากรรมแบบนี้
ความจริงแล้ว ยังมีรูปภาพอีกหลายรูปมากที่ตั้งใจจะนำมาใส่กรอบติดในห้อง บางภาพก็เป็นภาพที่ศิลปินวาดหน้าของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน บางรูปเป็นรูประบายสีที่ผู้ลี้ภัยทำเอง หลายครั้งภาพเหล่านี้สะท้อนคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในใจเวลาเห็นใครโดนละเมิดสิทธิ คือความสงสัยว่า ทำไมเขาถึงต้องโดนแบบนี้ และอีกคำถามหนึ่งคือ เราจะทำอะไรได้บ้าง แอมเนสตี้ เชื่อในพลังของคนธรรมดา ว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
วิธีคิดแบบนี้สอดแทรกสู่การทำงานแบบกระจายอำนาจ คือเปิดช่องให้ใครก็ได้มาร่วมทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ การรวมเอาใครก็ตามที่อยากช่วยเข้ามาช่วยกันผลักดันป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ หรือเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิ คือหลักการที่เชื่อในเสียงของคนธรรมดา ปัจเจกทุกคนถือปากกาแท่งหนึ่ง ซึ่งขีดเขียนเส้นทางสังคมได้
พูดถึงคุณอัญชัญ นึกไปถึงแคมเปญที่แอมเนสตี้ทำ คือรวบรวมจดหมายจากใครก็ได้ ที่ต้องการให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุมขัง ส่งให้ในเรือนจำอีกที อย่างกรณีนี้ เป็นกรณีที่จำเป็นต้องให้กำลังใจมากๆ เพราะความเครียดสูง การเขียนจดหมายส่งไปให้กำลังใจ มันคงช่วยอะไรได้บ้าง แม้เป็นความช่วยเหลือจากปัจเจก แต่ในเชิงโครงสร้าง การผลักดันการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายก็เป็นงานอีกส่วนที่แอมเนสตี้ทำงานหนัก เพื่อให้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ถูกปิดปาก โดยเงื่อนไขทางกฎหมายที่รัฐสร้างขึ้นปกป้องระบอบของตน
แค่เขียนจดหมาย ช่วยอะไรได้จริงหรือ
การเขียนจดหมายแทบเรียกได้ว่าเป็นวิถีกำเนิดของการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ เมื่อ 60 กว่าปีก่อนที่นักศึกษา คนมีความรู้ ออกมาเรียกร้องประเด็นต่างๆ ซึ่งท้าทายอำนาจรัฐแล้วโดนจับ ยุคนั้นไม่มีอะไรช่วยสื่อสารได้เลยนอกจากจดหมาย เลยเริ่มเขียนกัน ไม่ว่าเป็นการเขียนส่งให้ผู้ที่อยู่ในพันธนาการของรัฐ ส่งจดหมายไปแสดงความเห็นแย้งหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิ
ส่งจดหมายไปกดดันผู้ออกนโยบายหรือกฎหมาย เหล่านี้เริ่มต้นเพียงการจรดปากกาลงบนกระดาษ ยิ่งจำนวนของจดหมายเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่มากขึ้นด้วย ที่สำคัญ การเขียนจดหมายคือสัญลักษณ์ทำให้เห็นว่า ปัจเจกคนหนึ่งได้พึงใช้สิทธิของเขา เขียนให้กำลังใจ เรียกร้อง ล่ารายชื่อเห็นค้าน มันคือการทำให้อำนาจที่มีอยู่ในมือปัจเจกคนหนึ่งส่องสว่างขึ้น
ยกตัวอย่างกรณีของ ไผ่ ดาวดิน ช่วงที่อยู่ในเรือนจำ แอมเนสตี้ก็ทำแคมเปญให้ผู้คนส่งจดหมายให้กำลังใจ แต่ไม่ใช่เพียงจากคนในประเทศไทย แอมเนสตี้กระจายข่าวไปทั่วโลกว่าเกิดอะไรขึ้นกับไผ่ จดหมายเลยหลั่งไหลมาจากคนแปลกหน้ามากมาย ในแง่ของผลลัพธ์ทางจิตใจ แน่นอนว่ามันเป็นกำลังใจเดียวที่สามารถได้รับจากนอกรั้วเรือนจำได้
เช่นเดียวกับ โตโต้ We Volunteer (ปิยรัฐ จงเทพ) ที่เล่าว่าเมื่อออกมาจากเรือนจำแล้ว นำจดหมายทุกฉบับมาเรียงใส่แฟ้มเป็นอย่างดี เพราะมันเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับเขา อย่างที่เล่าว่าการส่งจดหมายไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิเท่านั้น แต่ส่งถึงผู้มีอำนาจด้วย อย่างเมื่อปีที่แล้วสมาชิกแอมเนสตี้ที่ต่างประเทศส่งจดหมายไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ปล่อยตัว รุ้ง เพนกวิน และทนายอานนท์
คนไทยบางคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและติดตามสถานการณ์ข่าวในไทยก็ส่งจดหมายไปที่สถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อจะส่งข้อความว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำมันไม่ถูกต้อง การเขียนจดหมายเป็นวิธีการที่แอมเนสตี้ทั่วโลกใช้ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิในประเทศอื่นๆ แอมเนสตี้ประเทศไทยก็จะทำแคมเปญอื่นให้คนไทยมามีส่วนร่วม ช่วยกันในหลายๆ ทาง เช่น ล่ารายชื่อ ชูป้าย
ในหลายกรณีสามารถกดดันผู้มีอำนาจได้จริง อย่างกรณี คุณมาฮาดีน จากประเทศชาด นักปกป้องสิทธิที่โพสต์เฟซบุ๊คเรื่องการคอร์รัปชั่นของรัฐแล้วถูกจำคุก ป่วยในเรือนจำ การรณรงค์เรื่องเหล่านี้ในประเทศเขาค่อนข้างจำกัด และตอนแรกเรือนจำไม่ให้ความสำคัญในการส่งตัวไปรักษา แต่เมื่อเขาเป็นหนึ่งในเคส Write for Rights เขียนเปลี่ยนโลกของแอมเนสตี้ ซึ่งเป็นการรณรงค์ระดับสากลที่ชวนให้สมาชิก ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกช่วยกันเขียนเรียกร้องเคสของเขา จดหมายหลั่งไหลมากมายเป็นแสนฉบับจนสามารถกดดันเรือนจำให้ส่งตัวเขาไปรักษา และปัจจุบันตอนนี้ก็ออกมาจากเรือนจำแล้ว รุ้ง ปนัสสยา ก็เป็นหนึ่งในเคสงานรณรงค์ Write for Rights ของปี 2021 ซึ่งถือว่าเป็นเคสคนไทยคนแรกของแอมเนสตี้

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 แอมเนสตี้ไปยื่นหนังสือให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและคืนสิทธิประกันตัวนักกิจกรรมที่กำลังถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดี อยากทราบว่าอะไรคือเหตุผล
การยื่นหนังสือแบบนี้ทำให้ฝั่งรัฐรู้ว่าอย่างน้อยๆ เรากำลังจับตาดูอยู่นะว่าเขาทำอะไร เราไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิอย่างไรบ้าง อะไรคือข้อเรียกร้องของเรา แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ จังหวะนั้นเอง แอมเนสตี้ก็เปิดช่องให้กระทรวงยุติธรรมได้สื่อสารกับสังคมว่า คดีต่างๆ มีความคืบหน้าไปอย่างไร
แน่นอนว่าจำนวนผู้ถูกจับกุมคุมขังมีหลายกรณีมาก แอมเนสตี้ไม่สามารถประท้วงและเรียกร้องได้ทุกกรณี แต่ใช้จังหวะที่ได้รับความสนใจจากสื่อ สร้างแรงกระเพื่อมให้เห็นภาพการละเมิดสิทธิประกันตัว และจับกุมคุมขังนักกิจกรรมทุกคน เราสื่อสารให้สังคมรู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ถูกจับกุมคุมขัง กรณีที่โดนคดีอายุน้อยสุด 12-13 ปี การยื่นหนังสือคือการส่งเสียงให้รัฐได้รู้ว่าเราจะไม่ปล่อย เราจะส่งเสียง กระจายข่าว เรียกร้อง และติดตามผลอยู่เรื่อยๆ
(ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เดือนสิงหาคม 2565 สถานการณ์คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ยังมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาอย่างน้อย 29 ราย การจับกุมในคดีมาตรา 112 ยังมีเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยมีแนวโน้มที่ตำรวจจะขอออกหมายจับจากศาลทันที โดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อน ขณะที่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีอย่างต่อเนื่อง
(จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่มีการเริ่มชุมนุมของ เยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,853 คน ในจำนวน 1,120 คดี เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย
(หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,685 ครั้ง จากจำนวนคดี 1,120 คดีดังกล่าว มีจำนวน 219 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 23 คดี)
สมมติเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝั่งอนุรักษนิยมจัดๆ กำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ แล้วสงสัยว่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวไม่มากไปหรือ คุณจะตอบเขาว่าอะไร
ก่อนไปถกกันเรื่องระดับของข้อเรียกร้อง อยากให้เข้าใจก่อนว่า
แอมเนสตี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เรียกร้องสิทธิให้กับคนบางกลุ่มในสังคม โดยละเลยคนอีกกลุ่ม เราใช้หลักการด้านสิทธิมนุษยชนเป็นแว่นตาในการมองคนทุกคน หากใครถูกละเมิดสิทธิ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แอมเนสตี้ก็จะช่วยทำงานเรียกร้องให้เช่นกัน สมมติคุณเป็นกลุ่มปกป้องสถาบัน แล้วถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมจากข้อเรียกร้องของคุณ เราก็จะเรียกร้องสิทธิให้เหมือนกัน
ประเด็นคือ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในส่วนไหนของอุดมการณ์ หรือกลุ่มประชากร หากโดนกระทำอย่างไม่ยุติธรรม จากการใช้สิทธิในการแสดงออก เราทำงานผลักดันช่วยเหลือ เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือเนื้อหา ตราบใดที่ไม่นำมาสู่ความรุนแรง ฆ่า ทำลายล้างกัน สิ่งที่เราโฟกัสคือความไม่สมเหตุสมผลที่คนคนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิเพียงเพราะใช้สิทธิของเขา แม้ในช่วงที่มีคนออกมาต่อต้านแอมเนสตี้ ถ้าเขาดำเนินกิจกรรมรณรงค์เช่นนั้นแล้วโดนจับอย่างไม่ยุติธรรม แอมเนสตี้ก็ต้องผลักดันกรณีการละเมิดสิทธิให้เขา
แอมเนสตี้วางตำแหน่งตนเองอย่างไรกับมาตรา 112
มาตรา 112 เป็นหนึ่งในกลุ่มกฎหมายที่ใช้ปิดปากประชาชน เราควรแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นคดีอาญา ที่สามารถเอาผิดผู้ต้องหา 3-15 ปีในเรือนจำ และตัวกฎหมายก็ตีความได้กว้างมาก อีกทั้งใครก็ได้สามารถใช้กฎหมายนี้ฟ้องคุณ กฎหมายมาตรา 112 จึงเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
จุดยืนของแอมเนสตี้คือเสรีภาพการแสดงออกเพื่อให้คนได้พูดถึงสิทธิของเขาหรือปกป้องสิทธิของผู้อื่น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 19 ซึ่งเราหวังว่ารัฐบาลไทยจะทำให้กฎหมายต่างๆ ที่ใช้ปิดปากประชาชนรวมทั้งมาตรา 112 มีหลักปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีไว้ โดยเฉพาะการทำให้เป็นความผิดทางอาญาและมีโทษจำคุก
มันอาจต้องใช้เวลา เราก็ได้แต่หวังและเรียกร้องว่าจะมีการพัฒนาปรับตัวกฎหมายเหล่านี้ให้เป็นธรรม มีบทลงโทษตามสัดส่วน สมเหตุผล และเป็นไปตามหลักสากลที่ไทยมีข้อผูกพันไว้

มีการผ่าน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย แอมเนสตี้ก็อยู่ในขบวนการขับเคลื่อนประเด็นนี้ เมื่อกฎหมายผ่านแล้ว คุณพึงพอใจแค่ไหนกับผลลัพธ์ที่ออกมา
เป็นความจริงว่า การต่อสู้เพื่อให้มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายคือการผลักดันต่อสู้ที่ภาคประชาสังคมพยายามทำงานกันอยู่นานมาก แต่เมื่อมีการผ่านกฎหมาย ก็ถูกตัดส่วนที่สำคัญออกไป เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่การผ่านกฎหมายดูจะเป็นการตัดสินใจแบบผักชีโรยหน้า
เพียงเพื่อตอบคำถามเวทีโลกได้ว่าเรามีกฎหมายในประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหายแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพ APEC มีการถกเถียงและทำงานอย่างหนักโดยคนทำงานด้านสิทธิในช่วงปรับและเสนอร่าง แต่พอ พ.ร.บ. ผ่าน เนื้อในกฎหมายตัดส่วนสำคัญออกซึ่งไม่ได้เกิดการป้องกันหรือช่วยเหลือเหยื่อได้
ล่าสุดแอมเนสตี้และICJ (คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล) ออกข้อเสนอเกี่ยวกับข้อกังวลของกฎหมายโดยที่เรายึดหลักตาม บัญญัติในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (United Nations Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ UNCAT) และคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติที่ประเทศไทยเองก็มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม คร่าวๆ คือ
เริ่มจากการกำหนดว่า การทรมาน จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการ ใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่าง หนึ่งอย่างใดจาก 4 วัตถุประสงค์ที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งบทบัญญัติมีนัยว่ามีเพียงวัตถุประสงค์ 4 ข้อนี้ที่ ก่อให้เกิดความรับผิดฐานกระทำการทรมานได้ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีการกระทำรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบัญญัติอาจไม่จัดว่าเป็นการทรมาน แต่จริงๆ แล้วมันก็คือความทรมาน
เช่น เคสเจ้าหน้าที่เรือนจำมีการกระทำทางเพศที่รุนแรงต่อนักโทษเพื่อเติมเต็มความต้องการของตน หรือเจ้าหน้าที่อาจมีการใช้วิธีทางอ้อมอื่นที่นอกจากบัญญัติข้างต้น
มาตรา 7 นิยามของ การกระทำให้บุคคลสูญหาย ภายใต้ มาตรา 7 ของร่าง พ.ร.บ. การกระทำให้บุคคลสูญหาย จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการ ดังกล่าวหรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ทั้งนี้ แทนที่จะใช้คำว่า ‘ปฏิเสธว่ามิได้ กระทำการดังกล่าว’ ควรจะใช้คำว่า ‘ไม่ยอมรับ’ (failed to acknowledge หรือ refused to acknowledge) เพราะไม่งั้นมันจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่อาจใช้วิธีอื่น เช่น เงียบเฉยเกี่ยวกับการควบคุม หรือใช้คำกำกวม เช่น กล่าวเพียงว่ากรณีนี้ อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ทั้งๆ ที่ทราบว่ามี การลิดรอนเสรีภาพ
การยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายนิรโทษกรรมมาใช้บังคับ ICJ และแอมเนสตี้ผิดหวังที่บทบัญญัติมิให้นำกฎหมายนิรโทษกรรมมายกเว้นความรับผิดของ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดภายใต้ร่างพ.ร.บ.นี้ ไม่ถูกบรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ. เมื่อไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ อาจได้รับการนิรโทษกรรม หรือมีช่องทางหลบเลี่ยงความรับผิดจากการประกอบอาชญากรรมเหล่านี้ได้
นอกจากนี้ยังตัด ‘ผู้เสียหายและผู้แทนผู้เสียหาย’ ออกจากสมาชิกของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มันเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องรวมผู้เสียหายและผู้แทนผู้เสียหายไว้ในคณะกรรมการ ในฐานะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มี ยังไม่พอนะ คณะกรรมการสามารถมีสมาชิกได้เพียงเจ้าหน้าที่รัฐกับ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นอกจากนี้ หน้าที่ของคณะกรรมการในการตรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวก็ถูกตัดออก ซึ่งขาดความอิสระและหลากหลาย ยกตัวอย่าง หากมีการควบคุมตัวแล้วผู้ต้องหาเสียชีวิต ผู้แทนผู้เสียหายหรือผู้เชี่ยวชาญที่อิสระจากหน่วยงานรัฐควรเข้ามาตรวจสอบด้วย
เรื่องของหลักฐานอีก ร่างนี้ควรกำหนด ไว้โดยชัดแจ้งว่า ข้อความหรือหลักฐานใดๆ อันได้มาจากการสอบปากคำที่ไม่มีการบันทึก ให้ถือว่าไม่อาจรับฟัง เป็นพยานหลักฐานในศาลได้
ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ มาตรา 26 ของร่างพ.ร.บ.อธิบายถึงสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบหรือศาลอาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ICJ และแอมเนสตี้มีข้อเสนอแนะว่าถ้อยคำ เช่น ‘บนพื้นฐานเฉพาะกรณีพิเศษ’ และ ‘ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างเคร่งครัด’ ควรถูกบรรจุอยู่ในมาตรานี้ด้วย เพราะหากมีการไม่เปิดข้อมูลอย่างเหมาะสม และส่งผลเป็นการเอื้อให้เกิดการทรมาน การกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายได้

เรื่องการกำหนดโทษ กำหนดให้รัฐภาคีต้องกำหนดบทลงโทษไม่เฉพาะ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาทราบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีที่ผู้บังคับบัญชา ‘เจตนาละเลยข้อมูล’ ซึ่งระบุอย่าง ชัดเจนว่าผู้ใต้บังคับบัญชาภายใต้อำนาจและการควบคุมที่มีผลของตนด้วย
เรื่องการกำหนดอายุความ กำหนดอายุความ ICJ และแอมเนสตี้ผิดหวังที่บทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไม่ได้รับความเห็นชอบและถูกลดไปเป็น 1 ถึง 20 ปี แล้วแต่ความหนักเบาของบทลงโทษ ตามที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามหลักการแล้วไม่ควรมีอายุความสำหรับความผิดฐานกระทำการทรมาน และหากมีการกำหนดอายุความในกรณีการบังคับให้สูญหาย อายุความดังกล่าว ต้อง ‘มีกำหนดที่ยาวและเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด’ ลองคิดว่า กว่าจะทำเรื่อง ร้องเรียน สืบสวนเคสแต่ละเคสใช้เวลานานแค่ไหน แล้วเคสที่เกิดขึ้นในอดีตหากเลย 20 ไปแล้ว ใครจะเรียกร้องความยุติธรรมให้เขาและครอบครัวเขา อย่างเคสของ คุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่หายไปตั้งแต่ปี 2534 เคสคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น พฤษภา 35 หรือหลังรัฐประหาร ปี 57 หรือแม้กระทั่ง คุณวันเฉลิม ที่ผ่านมา 2 ปี ต่อให้ 10 หรือ 30 ปี หรือมากกว่านั้น ครอบครัวผู้เสียหายก็ต้องการทวงความยุติธรรม
เมื่อหลักการสำคัญเหล่านี้ถูกตัดออกไป จึงเป็นคำถามว่าแล้วจะมีกฎหมายนี้ไปทำไม จากความพยายามอันยาวนานเพื่อผลักดันให้มีกฎหมาย เราไม่สามารถแสดงความยินดีหรือเฉลิมฉลองได้เลย ดังนั้น ยังไม่จบ เราต้องผลักดันต่อไป แก้ไขช่องว่างสุ่มเสี่ยงจะเปิดโอกาสให้ผู้ละเมิดสิทธิสามารถลอยนวลพ้นผิดได้
มาที่เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บ้าง แอมเนสตี้ให้ความสำคัญ กฎหมายนี้สร้างปัญหาอะไร
เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกบังคับใช้ เห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เลย แต่ใช้กับคนที่ออกมาชุมนุม เป็นการใช้กฎหมายที่เกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน ด้วยสถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนไป รัฐไทยยังคงยื้อกฎหมายนี้ให้ยังคงอยู่ เหมือนกับว่า อย่างน้อย ๆ ถ้านึกมาตรการจัดการผู้เห็นต่างอะไรไม่ออก ก็จะใช้กฎหมายนี้เพื่อเล่นงาน จากสถิติ เป็นกฎหมายที่ถูกใช้ตั้งข้อหาประชาชนเยอะมาก
เรียกได้ว่าเป็นมรดกของ คสช. เลยก็ว่าได้ คือการใช้อำนาจและกฎหมายปิดปาก
นอกจากปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิด้วยกฎหมายแล้ว รัฐไทยเองก็ไม่ยอมทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่สัญญาไว้ด้วย อยากให้ช่วยเล่ารายละเอียดตรงนี้
ประเทศไทยมีข้อผูกมัดโดยเฉพาะกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางพลเมือง (ICCPR) ในเรื่องของเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม เรามีพันธะกรณีนี้
แต่สิ่งที่รัฐกระทำหรือกฎหมายที่มีมันไม่สอดคล้อง เป็นความย้อนแย้งของการกระทำของรัฐเอง หน้าที่ของแอมเนสตี้คือไปบอกว่าคุณไม่ได้ทำตามสัญญา คุณเป็นสมาชิกของพันธะกรณีเพราะอยากได้รับการยอมรับจากสังคมโลก เพื่อเอื้อเรื่องการค้า การประสานงานอื่นๆ แต่ในประเทศยังกระทำการละเมิดสิทธิประชาชนมากมาย ทั้งที่มันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปกป้องคุ้มครองประชาชน
แอมเนสตี้นิยามคำว่า ชุมนุมโดยสันติวิธี หรือ ด้วยความสงบ อย่างไร
ต้องยอมรับว่า คำนี้ยังเป็นประเด็น ในกลุ่มนักกิจกรรมกันเองยังถกกันว่าชุมนุมสันติวิธีคืออะไร เรามองว่าสันติวิธีเป็นคำที่มีหลายเฉด หลายความเข้าใจ ดังนั้นเราอาจต้องวิเคราะห์กรณีต่อกรณี เช่น ถ้าบอกว่าการปิดถนนไม่โอเค ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วรัฐเอื้ออำนวยให้ใช้พื้นที่ชุมนุมแค่ไหน แล้วทำไมคนอีกกลุ่มไปชุมนุมได้รับความสะดวก
มีรถห้องน้ำบริการ หรืออย่างกลุ่มชุมนุมที่ดินแดง ผู้ชุมนุมยังไม่ทันเดินออกจากสี่แยกดินแดง ก็ไปจับเขาก่อนแล้ว เราต้องมองการกระทำแต่ละอย่างผ่านการตั้งคำถาม สำหรับเราคำว่าสันติวิธีจึงไม่มีคำตอบตายตัว เราไม่ได้บอกว่าควรใช้ความรุนแรงแต่คุณต้องวิเคราะห์ด้วยว่ามีการฟังเสียง ในพื้นที่หรือเปิดโอกาสให้คนแค่ไหน และเมื่อมีการกระทำผิดตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมไม่ใช้กำลังหรือรังแกเขา

เมื่อสักครู่พูดถึง มรดก คสช. การรัฐประหารคือการฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือที่ใช้ปกป้องสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้มีจุดยืนอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก
แอมเนสตี้ไม่มีจุดยืนหรือความเห็นเรื่องระบบการปกครอง แต่การกระทำใดๆ ก็ตามของรัฐที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ แอมเนสตี้จะตั้งคำถาม กระบวนการใดไม่ว่ามาจากรัฐบาลเผด็จการหรือเลือกตั้ง หากมีการกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิ เช่น ช่วงรัฐประหารมีคนลุกขึ้นมาเรียกร้อง โดนผลกระทบเป็นการโดนจับ หรือเรียกไปปรับทัศนคติ โดนคุกคาม หนีออกนอกประเทศ เป็นผู้ลี้ภัย สำหรับแอมเนสตี้เราจะพูดถึงการละเมิดสิทธิ เอาผิด ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เราดูในเชิงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ
ถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย อยากเห็นรัฐบาลชุดนั้นออกกฎหมายเอาผิดคนที่ทำรัฐประหารย้อนหลังไหม ในเมื่อรัฐประหารผิดกฎหมายแน่ๆ
ถ้ามีการเอาผิดดำเนินคดี คนที่โดนดำเนินคดีก็ต้องมีสิทธิเข้าถึงทนาย เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มีสิทธิประกันตัว แล้วถ้ามีใครมาตั้งคำถามกับข้อกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ต้องไม่ไปคุกคาม เราบอกไม่ได้ว่าพอรัฐบาลประชาธิปไตยแล้วจะมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิโดยอัตโนมัติ มีรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยก็ทำอะไรที่ละเมิดสิทธิได้ และต้องมีพื้นที่ให้เรียกร้องและตรวจสอบอย่างเป็นธรรม อิสระ
อย่างสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายปราบปรามยาเสพติด มีการฆ่าตัดตอนคนตายมากกว่า 3,000 คน นี่ก็เป็นการละเมิดสิทธิ แต่โดยตอนนั้นเปิดให้ผู้คนมีสิทธิทักท้วง ตรวจสอบ ตั้งคำถามได้ และแอมเนสตี้ก็ออกแถลงการณ์วิพากษ์และตั้งคำถามกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงครั้งนั้น
มีเรื่องหนึ่งที่เอ่ยทีไรทัวร์ลงทุกที แอมเนสตี้ยังยืนยันการยกเลิกโทษประหารอยู่ไหม
เราทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน เวลาพูดถึงเรื่องนี้คือทัวร์ลงแน่นอน แต่จุดยืนก็คือจุดยืน และความจริงก็คือความจริง
เราต้องยอมรับว่าสิทธิในการมีชีวิตคือสิทธิมนุษยชน คุณโกรธเราเข้าใจ แต่คุณอย่าโกรธจนไม่พยายามฟังคำอธิบาย แอมเนสตี้ไม่ได้ทำงานเพื่อเข้าข้างคนผิด การกระทำความผิด ก็สมควรได้รับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่ที่ยืนยันไม่ให้มีการประหารชีวิต เพราะมันคือการใช้ความรุนแรงจัดการความรุนแรง
ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกลับมาจากสังคมคือ ความกลัวว่าหากยกเลิกโทษประหารแล้ว คดีอาชญากรรมร้ายแรงจะเพิ่มสูงขึ้น แต่จริงๆ แล้วโทษประหารไม่ได้เป็นวิธีลดอาชญากรรมรุนแรง เราต้องกลับไปตั้งคำถามที่ต้นตอว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้ยังไง เราจะแก้ไขหรือคุ้มครองคนในสังคมอย่างไร
อีกประเด็นที่เป็นปัญหาของโทษประหารคือ ในกฎหมายไทยมี 60 กว่าฐานความผิดที่นำไปสู่การรับโทษประหารชีวิต มีหลายฐานความผิดมากที่เราตั้งคำถามว่ามันจำเป็นจะต้องลงโทษด้วยการประหารชีวิตเลยหรือ สำหรับแอมเนสตี้ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องดังนี้
1.พักโทษประหาร 10 ปี ยังไม่ต้องประกาศยกเลิกก็ได้ ซึ่งเราต้องนับหนึ่งใหม่ (ทางการไทยประหารชีวิตชายอายุ 26 ปี ด้วยการฉีดยาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นับเป็นการประหารชีวิตอีกครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 หากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที)
2. แก้ฐานความผิดที่จะนำไปสู่การรับโทษประหาร เช่น ยาเสพติด
3. สร้างความเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกันมากขึ้น

กระบวนการสืบสวนที่มีช่องโหว่ ก็เป็นส่วนหนึ่งใช่ไหมที่ทำให้ไม่สมควรมีโทษประหาร
ใช่ ถ้าดูหลายกรณี คนที่โดนประหารชีวิต จะเป็นคนที่ไม่มีเงินสามารถจ้างทนายได้ หรือหลายรายมีรูปแบบของการก่ออาชญากรรมซ้ำหลายครั้ง เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงต้องก่ออาชญากรรม เราจะโดนกระแสโต้กลับว่า ถ้าจับคนอันตรายเข้าคุก แล้วไม่ประหาร วันหนึ่งเขาออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคม จะเป็นอันตรายอีกไหม ในส่วนนี้คำถามคือกระบวนการตั้งแต่โดนจับและการใช้เวลาอยู่ในคุก ทางรัฐหรือราชทัณฑ์ มีมาตรการดูแลหรือจัดการคนเหล่านี้ก่อนที่จะออกมานอกเรือนจำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เขากระทำความผิดอีก
ไปที่เรื่องผู้ลี้ภัย ยังโดนถามอยู่ไหมว่า ถ้ารักนัก ให้เอาไปเลี้ยงที่บ้าน
สำหรับประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย เรามองได้ว่ามันเป็นทั้งความสำเร็จและความไม่สำเร็จของรัฐ ที่สร้างวัฒนธรรมหรือความคิดที่กีดกันคนอื่นที่ไม่ใช่เราออกไป ตั้งแต่ระบบการศึกษา จึงมองคนนอกเป็นคนสร้างปัญหา การเติบโตมาในวาทกรรมแบบนี้ก็สร้างชุดความคิดที่มีปัญหา
ในแง่ของกฎหมาย เนื่องจากไทยไม่ได้ลงนามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย 1951 ทำให้ไม่ต้องมีกฎหมายในประเทศหรืออะไรมารองรับ ฉะนั้น คนเหล่านี้ก็ไม่มีสถานะ แล้วความรังเกียจเดียดฉันท์มันก็ยิ่งเป็นปัญหา เพราะยิ่งรัฐไม่ได้แคร์ ไม่ได้สนับสนุนผู้ลี้ภัย ไม่เห็นความสำคัญที่จะมาพัฒนาคนกลุ่มนี้ พอกระแสสังคมไม่เอาด้วยยิ่งแล้วใหญ่
รัฐไม่ได้ลงนามอนุสัญญาก็ไม่เป็นไร ยิ่งไม่มีใครด่า ก็ไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้ลี้ภัยก็ต้องมาอยู่เฉยๆ หลบๆ ซ่อนๆ คนก็มองอีกว่ามาเบียดเบียน เพราะเขาไม่ได้พัฒนาศักยภาพ หลายคนเป็นนักเรียนแพทย์หรือทำอาชีพต่างๆ มากมาย ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้สังคมได้ แต่กลับทำอาชีพอะไรไม่ได้เลย ต้องหลบอย่างเดียว ปัญหามันก็ค้างเติ่งพันกันเข้าไปอีก
อธิบายเบื้องต้นเลย ไม่ว่ามีการรับรองหรือไม่รับรองอนุสัญญา ถ้ามีเรือลอยอยู่กลางน่านน้ำ หรือคนจากพม่าหนีรัฐบาลทหารพม่าเข้ามา สิ่งที่รัฐต้องทำเป็นหลักการแรกคือ ห้ามส่งเขากลับไปในที่อันตรายซึ่งเขาหนีมา และเอื้ออำนวยให้ได้เข้าถึงสิทธิเพื่อขอสถานะไปอยู่ประเทศอื่น ไม่ใช่จับแล้วส่งกลับ หรือจับแล้วกักลืม มันทำให้คนที่ไม่มีสถานะทำอะไรไม่ได้ ต้องหลบอยู่ตามที่ต่างๆ หวาดระแวง
ผู้ลี้ภัยในเมืองก็จำนวนเยอะมาก ตามชายแดนอีกมากมาย ยกตัวอย่าง ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีบล๊อกเกอร์ชาวเวียดนามหนีลี้ภัยมาไทย สุดท้ายเขาโดนจับถูกนำตัวไปอยู่คุกเวียดนาม ซึ่งไม่รู้ชะตากรรมเขาจะเป็นอย่างไร ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเดือนเดียวมีผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาที่โดนคดีการเมืองถูกส่งกลับ 4 คน สถานการณ์ช่วงนี้ เราไม่สามารถปิดตาข้างหนึ่งทำเป็นไม่รู้ไม่ห็นได้ จำนวนชนกลุ่มน้อยพม่าที่หนีการโจมตีและความขัดแย้ง มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเด็กแล้วกระจัดกระจายอยู่ตามถํ้าและชายป่า หรือชาวอุยกูรย์ที่หนีมาและหวังว่าจะได้ไปลี้ภัยที่ตุรกีหรือมาเลเซีย แต่ระหว่างทางเขาถูกจับที่นี่และโดนส่งไปค่ายซิงเจียงของจีน
ประเด็นคือ คนบ้านเราต้องเข้าอกเข้าใจด้วยว่า มันไม่มีใครอยากจะหนีออกมาจากบ้านตัวเองหรอก ถ้ามันไม่จำเป็น เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดกับคุณ
ต่อเนื่องจากการคุยเรื่องบุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับ แอมเนสตี้มองความคืบหน้าล่าสุดกรณีคดีของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ถูกบังคับสูญหายอย่างไร
พูดตามตรง ถ้าเทียบกับคดีการบังคับสูญหายคดีอื่น คดีของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ถือว่าเป็นคดีที่มีความคืบหน้าที่สุดคดีหนึ่ง ในตัวเลขประมาณ 86-87 เคสของบุคคลสูญหายเท่าที่บันทึกได้ แต่ก็มีความหวาดกลัวคู่กรณี กลัวว่าผู้ต้องสงสัยจะหลุดคดีอีกไหม
เพราะภาพพจน์เขาเหมือนเป็นคนมีอิทธิพล จะให้ดีมันควรมีการสื่อสาร และโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีอิสระในกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนั้นคนที่เกี่ยวข้องในคดีนี้มันเยอะ ทั้งฝั่งรัฐและบิลลี่ เพราะบิลลี่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน ของชุมชน มันส่งผลกระทบมากมาย สร้างความหวาดกลัวถ้าคดีไม่ได้รับการแก้ไข ผู้คนก็ยังโดนคุกคามและไม่ได้กลับไปมีวิถีชีวิตเหมือนเมื่อก่อน เมื่อเป็นคดีที่คืบหน้ามากที่สุดแล้ว ก็อยากเห็นผลลัพธ์ที่เอาผิดคนผิดได้จริง เป็นบรรทัดฐานในการจัดการกรณีบังคับการสูญหายคดีอื่นๆ
วันนี้เราเห็นข่าวว่าคู่กรณีได้รับการประกันตัว ในขณะที่ครอบครัวของบิลลี่ต้องเจอกับอะไรบ้าง ชาวบ้านบางกลอยโดนไปกี่คดี คนที่แสดงออกหรือพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังโดนตั้งข้อหาจากกฎหมายปิดปากหรือคุกคามในรูปแบบต่างๆ พวกเราทุกคนอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ขอให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือมี 2 มาตรฐาน อยากให้สังคมช่วยกันจับตาดูว่าต่อไปรูปคดีเป็นอย่างไร
อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า การเรียกร้องสิทธิ การแสดงออกมันมีความเกี่ยวข้องกับการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ส่วนใหญ่เคสที่เกิดขึ้นจะเป็นคนที่ออกมาท้าทายต่ออำนาจ แสดงออก หรือตั้งคำถามต่อรัฐและกลายเป็นผู้เสียหายจากการทรมานหรือบังคับให้สูญหาย และหากเกิดกับทหารชั้นผู้น้อยที่โดนทรมาน หรือเป็นผู้ต้องหาแล้วญาติลุกขึ้นมาเรียกร้อง ญาติก็จะโดนกดดันหรือคุกคามด้วยวิธีต่างๆ เช่น เคสของพลทหารวิเชียรน้าชายของนริศราวัลถ์

การกระจายอำนาจอยู่ในทุกปัญหา ทุกมิติ แม้กระทั่งปัญหาทั้งหมดที่เราคุยกันมา เห็นด้วยไหม
ใช่ เสียงทุกเสียงมีความหมาย ถ้ามันกระจุกที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว คุณก็ไม่ได้ยินเสียงคนอื่น
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศล่ะ
เห็นด้วยอยู่แล้ว
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters ก่อนพบกับ พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าราชการทั่วประเทศและจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน เร็วๆ นี้