ในคำถามสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ สุรพศ ทวีศักดิ์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องสั้นชิ้นหนึ่งชื่อ เหล่าผู้อำลาจากโอเมลาส ซึ่งพุ่งเป้าไปยังแกนหลักของการสนทนา
เอาล่ะ! หากคุณอยากรู้ว่าเนื้อหามันเกี่ยวกับอะไร โปรดค่อยๆ ติดตามทัศนะของรองศาสตราจารย์ สาขาปรัชญา ผู้เขียนบทความวิจารณ์ประเด็นสังคม การเมือง ศาสนา ผ่านมุมมองทางปรัชญาในประชาไทอย่างแหลมคมคนหนึ่งของยุคนี้
ย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง มาตรา 112 ถูกจุดให้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง บ้างว่ากลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล บ้างว่ามันเป็นเพียงส่วนประกอบชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งจากหลายๆ ชิ้น
“คดี 112” สุรพศกล่าว “เกิดจากความคิด แรงจูงใจ และการแสดงออก ทางการเมือง อยู่แล้ว ถ้าทำเรื่องนี้ได้สำเร็จจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อถือต่อรัฐบาล พรรคการเมือง ระบบรัฐสภา โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผลจากทุกฝ่ายที่เห็นต่างว่า ประเทศของเราจะสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงควบคู่กับการมีสถาบันกษัตริย์ และทุกสถาบันทางสังคมและการเมือง
กาดอกจันไว้ว่า ทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ของเขาหมายถึง การนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมด รวมถึงคดี 112
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับความสุขบนเงื่อนไขอำมหิต
นี่คือคำถามแรก
ในบทความชื่อ ‘ยุคมืดภายใต้ 112’ ตอนจบอาจารย์เขียนไว้ว่า แทนที่รัฐบาลหรือกระบวนการรัฐสภา สื่อ และสังคมจะร่วมมือเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมืองและ 112 เพื่อคืนอิสรภาพและความเป็นธรรมให้กับประชาชน และเพื่อเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริง แต่กลับทำสิ่ง ‘ตรงกันข้าม’ อาจารย์หมายถึงอะไร
ที่ผมว่า ทำสิ่งตรงข้าม กับสิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ การร่วมมือกันผลักดันนิรโทษกรรมคดีการเมือง 112 เพราะปรากฎการณ์ที่เราเห็นอยู่เวลานี้มันสอดรับกับที่ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พูดในกิจกรรม รำลึก 50 ปี 14 ตุลา ที่ผ่านมาว่า “ประชาชนที่เห็นต่างต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าเราทะเลาะกัน เผด็จการจะฉวยโอกาสเข้ามาคุมอำนาจ” แต่ที่จริงเผด็จการเข้ามาคุมอำนาจตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว และนั่นคือต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายเสื้อเหลือง กับ ฝ่ายเสื้อแดง แล้วเผด็จการก็เข้ามาคุมอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้นอีกผ่านรัฐประหาร 2557 และสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 สืบทอดอำนาจ
จนมาถึงเลือกตั้งครั้งล่าสุด เผด็จการก็ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือ 250 ส.ว. ขัดขวางการตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส. อันดับ 1 และได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง ทำให้ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย คือเพื่อไทยกับก้าวไกลเสียงแตก และประชาชนที่สนับสนุน 2 พรรคก็เกิดวิวาทะทางความคิดกันเข้มข้นมากขึ้น
พูดสั้นๆ คือ เผด็จการทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยแตกคอกันเอง แล้วดึงเพื่อไทยไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายเผด็จการเดิมภายใต้เงื่อนไขของพวกเขาคือ ต้องไม่นิรโทษกรรมคดี 112 ไม่แก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่แตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีขึ้น นี่คือสาเหตุว่าทำไม ความร่วมมือ ระหว่างพรรคการเมือง นักวิชาการ สื่อ และประชาชนในการผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมือง 112 เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ประชาชนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยจึงไม่เกิดขึ้น
อีกประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญมากคือ การที่สื่อสาธารณะและนักวิชาการบางส่วนหลีกเลี่ยงการถกเถียงปัญหาพื้นฐานที่ว่า เงื่อนไขของการตั้งรัฐบาลคือ เงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตย พวกเขาพยายาม เน้น ว่าประชาธิปไตยคือการใช้กลไกการเลือกตั้งและเสียงข้างมากในสภาเป็นเกณฑ์ตัดสินแพ้-ชนะทางการเมือง ซึ่งก็ถูกบางส่วน แต่ที่จริงแล้วเวลาเราพูดถึง สิทธิทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมรวมทั้งสิทธิเลือกตั้ง สิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมบนความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐ (rule of law) ด้วยเสมอ
ดังนั้น เงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมคดี 112 ไม่แก้ 112 และไม่แตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่ารัฐบาล ประมุขของรัฐ หรือบุคคลสาธารณะทั่วไปต้องไม่มีใครอยู่เหนือหลักสิทธิทางการเมืองดังกล่าว
แต่ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย และหลังตั้งรัฐบาลแล้ว แทนที่ฝ่ายเผด็จการจะถูกควบคุมด้วยกลไกลของระบอบประชาธิปไตยดังที่คาดหวังกัน เช่น กลไกการใช้เสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบฝ่ายเผด็จการได้มากขึ้นเป็นต้น แต่รัฐบาลเพื่อไทยกลับเป็นฝ่ายที่ถูกบังคับให้เดินตามเงื่อนไขที่ฝ่ายเผด็จการกำหนดให้เดินมากกว่า เช่น ต้องยื้อเวลาการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกไป ทำตามเงื่อนไขห้ามแตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรัฐบาลก็จำเป็นต้องเพิกเฉยต่อการใช้ 112 ขังคุกประชาชนมากขึ้นเป็นต้น
จนทุกวันนี้ นักวิชาการและสื่อที่เชียร์รัฐบาลก็ไม่พูดถึงปัญหานี้อีกเลย สังคมก็ถูกชี้นำโดยรัฐบาลให้สนใจเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ปัญหาปากท้องต่างๆ ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ก้าวไกลเสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองก็ถูกฝ่ายรัฐบาลปรามให้ระวังจะเกิด ความขัดแย้ง ซึ่งก็หมายถึงถ้ารวมนิรโทษคดี 112 ด้วย ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น นี่คือกระแสที่ทำให้
สังคมลืมความเป็นจริงว่ารัฐบาลตั้งขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และลืมไปว่ายังมีนักสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในคุกและทยอยติดคุกคดี 112 ซึ่งเป็นสภาพปัญหาการละเมิดเสรีภาพที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการตั้งรัฐบาลนั่นเอง
ในบทความชิ้นเดียวกัน อาจารย์เขียนถึงพลังอำนาจของ ‘ศรัทธา (faith)’ เช่น ศาสนา ซึ่งตรงข้ามกับ ‘ยุคแสงสว่างทางปัญญา’ ในยุคสมัยนี้ที่เราพูดกันว่าคนตาสว่าง ยังเป็นเช่นนั้นอยู่อีกหรือ เพราะอะไร
พลังอำนาจของศรัทธาแบบยุคก่อนสมัยใหม่ (premodern) ไม่ใช่พลังอำนาจศรัทธาของปัจเจกบุคคล แต่เป็นพลังอำนาจศรัทธาที่ถูกควบคุมโดยศาสนจักรและรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุโรปยุคกลาง อำนาจศาสนจักรและกษัตริย์คืออำนาจเผด็จการที่ไม่ยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพแห่งมโนธรรมหรือเสรีภาพทางความคิดเห็น (freedom of conscience) เช่น มีศาลไต่สวนศรัทธา (Inquisition) ลงโทษคนที่เสนอความคิด ความเชื่อ หรือความรู้ที่ขัดกับคัมภีร์ไบเบิลหรือคำสอนของศาสนจักร ซึ่งคนเหล่านั้นถูกมองว่าเป็น พวกนอกรีต กษัตริย์ก็มีอำนาจเทวสิทธิ์ (divine rights) ที่วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบไม่ได้
ท้ายยุคกลางเกิดการปฏิรูปศาสนา (Reformation) แก่นของการปฏิรูปคือการยืนยัน freedom of conscience ซึ่งส่งผลต่อมาให้เกิดแนวคิดเสรีนิยมในยุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) ที่ตีความคริสต์ศาสนาสนับสนุนเสรีภาพปัจเจกบุคคล เช่น จอห์น ล็อก ตีความว่าพระเจ้ามอบ สิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) แก่ปัจเจกบุคคลทั้งหลาย และมอบหมายให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีหน้าที่รักษาสิทธิตามธรรมชาตินั้น ฌอง ฌากส์ รุสโซ อิมมานูเอล คานท์ และนักปรัชญาเสรีนิยมอื่นๆ ต่างเสนอความคิดที่มุ่ง ปลดปล่อย (liberate) มนุษย์จากอิทธิพลครอบงำของพลังอำนาจศรัทธาแบบศาสนาที่ควบคุมโดยศาสนจักรและรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
โดยเสนอว่าเราทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพเป็นของตนเอง (autonomy) หรือมี ตัวตนอิสระ (independent self) ที่มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตนเองที่ไม่ขึ้นกับอิทธิพลครอบงำของศาสนา ความเชื่อ ประเพณี อำนาจศาสนจักร หรืออำนาจรัฐเผด็จการรูปแบบใดๆ
เราจึงมีอำนาจ และสิทธิต่างๆ เป็นของตนเอง และเป็นผู้มีสิทธิเท่าเทียมในการออกเสียงบัญญัติกฎศีลธรรมและกฎทางสังคมการเมืองต่างๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันบนพื้นฐานการเคารพ ความเป็นคนเท่ากัน ของทุกคน ความคิดที่ยืนยันการมีอยู่ของตัวตนของเราในฐานะผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพเช่นนี้ถูกตีความ ถกเถียง ผลิตซ้ำ และปรับใช้ในการต่อสู้เปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ และการแยกศาสนาจากรัฐ (secularization) หรือการเปลี่ยนเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
แต่การปฏิรูปพุทธศาสนาในสยาม/ไทยสมัย ร.4,5,6 ไม่ใช่ปฏิรูปบนจิตสำนึกใน freedom of conscience หากเป็นการปฏิรูปที่ชนชั้นปกครองมุ่งกระชับอำนาจควบคุมศรัทธามากขึ้น โดย ร.4 ก่อตั้ง ธรรมยุติกนิกาย เป็นนิกายของราชสำนัก ร.5 ก่อตั้ง มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรที่ขึ้นตรงต่อ พระราชอำนาจ และ ร.6 ผนวกพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้พุทธศาสนาแบบไทยกลายเป็นพุทธแบบที่ผมเรียกว่า พุทธราชาชาตินิยม คือเป็นพุทธศาสนาที่ตอบสนองต่ออุดมการณ์และโครงสร้างอำนาจนำทางการเมือง (political hegemony) แบบราชาชาตินิยม โดยมีมหาเถรสมาคมซึ่งเป็น ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม มีอำนาจออกมติหรือคำสั่งต่างๆ ให้พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรสอนประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
แต่ห้ามสอน อภิปราย หรือมีส่วนร่วมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน การบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ก็เน้นการสอนศีลธรรมเพื่อเป็น คนดี หรือเป็น พลเมืองดี ที่จงรักภักดี ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นด้านหลัก นี่ก็คือการปลูกฝังหรือบังคับศรัทธาโดยอำนาจรัฐ
ในรัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งเป็นสถานะทางศาสนา หรือสถานะที่ถูกสถาปนาขึ้นให้สูงส่งศักดิ์สิทธิ์เหนือสามัญชนตามคติพราหมณ์ฮินดู-พุทธ อันเป็นการนำ ความเชื่อ/ศรัทธาแบบยุคก่อนสมัยใหม่ มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นนวัตกรรมของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำให้มีการบัญญัติกฎหมายอื่นๆ เช่น มาตรา 112 เป็นต้น ขึ้นมาคุ้มครองสถานะเป็นที่เคารพสักการะของกษัตริย์ที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งสะท้อน ภาวะย้อนแย้ง ระหว่างการบังคับศรัทธาแบบก่อนสมัยใหม่ คุณค่าแบบสมัยใหม่ เช่น หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น แม้ปัจจุบันประชาชนจะ ตาสว่าง กันมากแล้ว หรือตระหนักในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นคนเท่ากัน ความเป็นประชาธิปไตยกันมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อเผชิญหน้ากับศรัทธาที่ถูกกำกับควบคุมโดยอำนาจรัฐคือความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ บรรดาคนที่ตาสว่างแล้วก็ถูกกดปราบมาทุกยุค เช่น ยุค 14 ตุลา 6 ตุลา เรื่อยมาถึงปัจจุบัน (โควท)
พูดรวมๆ คือจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงปัจจุบันเกือบ 1 ศตวรรษแล้วที่ประชาชนตาสว่างถูกกดปราบภายใต้สภาวะย้อนแย้งระหว่างการบังคับศรัทธาในชนชั้นปกครองแบบก่อนสมัยใหม่กับศรัทธาในคุณค่าแบบสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วในคำสอนของพุทธศาสนาตามคัมภีร์ที่เน้นศรัทธาใน ความเป็นมนุษย์ ก็มีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกตีความและปรับใช้สนับสนุนการเคารพคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพราะถูกครอบงำกดทับโดยการควบคุมปลูกฝังบังคับศรัทธาแบบพุทธราชาชาตินิยม

หากเราพูดถึงอำนาจของ ‘ศรัทธา (faith)’ ผมอยากชวนคุยถึงปรากฏการณ์ ‘แบก‘ พรรคการเมืองจนล้นเกิน ไม่ว่าพรรคไหน ตรงนี้เข้าข่าย อำนาจของ ‘ศรัทธา (faith)’ หรือไม่ และมันทำให้ การนิรโทษกรรมคดีการเมืองและ 112 ไม่เกิดขึ้นหรือเปล่า
ผมคิดว่าการเกิดปรากฏารณ์ศรัทธาในพรรคการเมืองและการแบกที่เรียกกันว่า ด้อมแดง และ ด้อมส้ม ในปัจจุบัน มันเป็นผลสืบเนื่องจากการเน้นปลูกฝังบังคับยัดเยียดศรัทธาในชนชั้นปกครองผ่านอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จนล้นเกิน อันเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิด ม็อบเสื้อเหลือง และรัฐประหารล้มรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 หลังจากนั้นก็เกิดม็อบเสื้อแดงที่ยืนยันศรัทธาในพรรคการเมืองที่มี นโยบาย ทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น แต่ทักษิณและเพื่อไทยก็ต่อสู้แบบพยายามหาทาง ประนีประนอม กับฝ่ายอนุรักษนิยมมาตลอด จึงเกิดพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลที่ชูอุดมการณ์มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้เหมือนประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วไป
ทำให้เกิด ด้อมส้ม ที่มีทั้งมาจากเสื้อแดง เสื้อเหลือง และ คนรุ่นใหม่ ที่เกิดจากปรากฏการณ์ 3 นิ้ว พวกเขาเหล่านี้ต้องการให้เกิดเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจริงๆ แต่ด้อมส้มกับด้อมแดงก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งทางความคิดกันชัดเจนมากขึ้นในการเลือกตั้งและเกมการตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าศรัทธาในพรรคการเมืองแบบด้อมส้มหรือด้อมแดง มันเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ตราบที่ยังเป็นเพียงการต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ ที่ไม่มีฝ่ายใดมีอำนาจรัฐ เช่น มีกฎหมายหรือใช้กฎหมายบังคับศรัทธาของอีกฝ่ายได้
ปัญหาอยู่ที่ ศรัทธาที่ถูกปลูกฝังบังคับยัดเยียดโดยอำนาจรัฐ คือศรัทธาใน สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยความเชื่อทางศาสนาแบบยุคก่อนสมัยใหม่และถูกนำมาบัญญัติบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ ที่ทำให้พรรคการเมืองและประชาชนต้องสยบยอม ถ้าพรรคการเมืองไม่ศรัทธา หรือไม่เป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มอำนาจที่ควบคุมบังคับศรัทธาดังกล่าว พรรคการเมืองนั้นก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้จะได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 ก็ตาม
หรืออาจถูกใช้ข้ออ้างต่างๆ ยุบพรรคได้ ประชาชนที่สู้เพื่อเป็นอิสระจากการครอบงำของศรัทธาเช่นนั้นก็ถูกกดปราบด้วย 112 และทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งศรัทธาในพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนควบคู่กับศรัทธาในคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นคนเท่ากัน เพราะเห็นว่าพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนมีอุดมการณ์ในการสร้างคุณค่าดังกล่าวให้เป็นจริง
แต่อีกฝ่ายศรัทธาในพรรคการเมืองที่สยบยอมรับใช้อุดมการณ์ที่ขัดกับคุณค่าพื้นฐานดังกล่าว ก็ยากที่จะพูดกันรู้เรื่อง และยากมากขึ้นไปอีกที่จะนิรโทษกรรมคดีการเมืองหรือ 112
พรรคเพื่อไทยดูเหมือน ‘อยู่เป็น‘ ไปเสียแล้ว ต้องผลักดันเรื่องเศรษฐกิจปากท้องก่อน และการนิรโทษกรรมก็ไม่ใช่นโยบาย อาจารย์มองอย่างไร
จากบทเรียนที่พรรคถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อไทยคงคิดว่ามันคือ ความจำเป็น ที่จะต้องประนีประนอมกับขั้วอำนาจอนุรักษนิยมมากกว่าจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้เป็น เสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) ที่มีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้จริง และยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นอีก เมื่อต้องตั้งรัฐบาลเพื่อให้ทักษิณกลับบ้านให้ได้
แต่อย่างไรก็ตาม สื่อสาธารณะและนักวิชาการที่แสดงออกว่าเข้าใจ ความจำเป็น ของเพื่อไทยและดีเฟนด์การตั้งรัฐบาลเพื่อไทยว่าไม่ขัดหลักประชาธิปไตย ควรยอมรับความจริงว่า
เงื่อนไข ไม่นิรโทษคดี 112 ไม่แก้ 112 และไม่แตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย เป็นเงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ถูกกำหนดมาโดยฝ่ายเผด็จการ
ดังนั้น ถ้าคุณยืนยันว่ารัฐบาลเพื่อไทยตั้งขึ้นถูกหลักประชาธิปไตย และเป็น รัฐบาลประชาธิปไตย คุณควรเรียกร้องให้รัฐบาลที่คุณสนับสนุนนิรโทษกรรมคดี 112 เป็นอย่างน้อย เพราะไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไหนในโลกปัจจุบันปล่อยให้มีนักโทษการเมือง หรือ นักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) โดยเฉพาะสื่อสาธารณะที่ชอบตั้งคำถามว่า มีแต่พวกเลือกก้าวไกลเท่านั้นหรือที่เป็นประชาชน พวกที่เลือกเพื่อไทยและพรรคฝ่ายเผด็จการเดิมคือประชาชนหรือไม่? ความจริงคือคนเหล่านั้นยังมีสิทธิเสรีภาพในฐานะประชาชนมากกว่าคนที่ถูกกดปราบด้วยมาตรา 116 และ 112 ซึ่งคุณไม่เคยตั้งคำถามเลยว่ารัฐบาลที่คุณสนับสนุนมองคนเหล่านั้นเป็น ประชาชน หรือไม่
ส่วนข้ออ้างที่พูดกันบ่อยๆ ว่า เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยไม่มีนโยบายนิรโทษกรรมคดี 112 ก็อย่าเรียกร้องเรื่องนี้กับเพื่อไทย ไว้เลือกตั้งครั้งหน้าก้าวไกลเป็นรัฐบาลจึงเรียกร้องกับก้าวไกล เป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผล เพราะถ้าอ้างเช่นนี้ได้ เราก็อ้างได้ว่าไม่ควรเรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อไทยดำเนินการรับแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลในสถานการณ์สงคราม เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย แต่เราอ้างเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ
หน้าที่ของรัฐบาลคือการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชนชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าประชาชนในวิกฤตสงครามหรือประชาชนที่ถูกละเมิดเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกทางการเมือง หรือประชาชนที่เลือกและไม่เลือกพรรคเพื่อไทยก็ตาม
พรรคก้าวไกลที่ดูคล้ายเป็นความหวัง ตอนนี้ก็เป็นฝ่ายค้าน อาจารย์ยังมีความหวังเรื่อง นิรโทษกรรมคดีการเมืองและ 112 อยู่ไหม
ผมยังมีความหวังและคิดว่าประชาชนควรจะมีความหวัง และส่งเสียงหรือแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเข้าสภา แต่ก้าวไกลจะต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า นักโทษ 112 ก็คือ นักโทษการเมือง เพราะทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดของคนที่โดน 112 ในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 20 ปี ล้วนเกิดจากความคิด แรงจูงใจ และการแสดงออก ทางการเมือง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเป็นด้านหลัก
มีความเชื่อว่า หากพรรคการเมืองใดแตะเรื่อง 112 จะถูกเพ่งเล็งจากชนชั้นนำ
ชัดเจนมาตลอดอยู่แล้วว่าถูกชนชั้นนำเพ่งเล็ง แต่ที่จริงก็มีการแตะมาตลอด คือถ้าแตะ 112 ในทางเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้นเกินเหตุ ก็ทำได้อย่างง่ายดายในยุคเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุครัฐประหาร 6 ตุลา 19 เหมือนการแตะสถาบันกษัตริย์ ถ้าพรรคการเมืองไหน ม็อบฝ่ายไหนต่อสู้ทางการเมืองด้วยข้ออ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือทำรัฐประหารด้วยข้ออ้างเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ก็ทำกันได้ทั้งนั้น
แปลว่าการแตะ 112 และสถาบันกษัตริย์ในทางที่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งล้มรัฐบาลประชาธิปไตยก็ทำกันได้มาตลอด โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายใดๆ แล้วทำไมการแตะ 112 และสถาบันกษัตริย์ในทางที่ต้องการแก้ 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและประชาธิปไตยถึงผิดกฎหมายและถูกลงโทษ
แล้วพรรคการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบ หรือรับความเสี่ยงอะไรบ้างเลยหรือในการแก้ 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย
ผมคิดว่าเราถูกทำให้เข้าใจผิดๆ ว่า บทบาทพรรคการเมืองคือการลงเลือกตั้งแข่งกันเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อมาเป็นรัฐบาลดูแลเรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่อื่นๆ ของประชาชนเท่านั้น แต่ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ประเด็นพื้นฐานต่างๆ เช่น ประเด็นอำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม เป็นต้น คือประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ต้องถกเถียงและต่อสู้ต่อรองกันไม่สิ้นสุด คุณทำเรื่องปากท้องก็เป็นประเด็น สิทธิ ทางเศรษฐกิจ หรือการลดความเหลื่อมล้ำ ก็คือการเพิ่มความเสมอภาค ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ เป็นต้น
เราจะทิ้งประเด็นการทำให้สถาบันกษัตริย์และกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ไม่งั้นหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิเลือกตั้ง เสียงข้างมากของประชาชนก็ไม่มีความหมายสิ
ไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกของประชาชนที่ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะพรรคการเมืองหรือรัฐบาลปล่อยให้มีการใช้ 112 กดปราบประชาชนดังที่เห็นกันอยู่ ดังนั้น ตราบที่พรรคการเมืองหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่รับผิดชอบนำข้อเรียกร้องเรื่องแก้ 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าไปแก้ปัญหาในสภา เราก็อยู่กับการโกหกตนเองว่าได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ แต่มันน่าเศร้าที่มีสื่อสาธารณะและนักวิชาการที่พูดเรื่อง ประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมหลอกตนเองเช่นนี้
อาจารย์ยังเชื่อในกลไกรัฐสภาบ้านเราว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือพูดจากันดีๆ เรื่อง 112 ได้อีกหรือ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติ ก็จำเป็นต้องใช้กลไกรัฐสภาตามที่เรายังมีอยู่ แต่นักวิชาการ สื่อสาธารณะ และประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่คิดว่าตนเอง ตาสว่าง แล้วก็ต้องช่วยกัน หรือร่วมมือกันส่งเสียงเรียกร้องและผลักดันด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบในการสร้างความเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยการนำปัญหา 112 ไปถกเถียงกันด้วยเหตุผลและแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาอย่างจริงจังมากกว่าที่ผ่านๆ มา
บางคนมองว่า คนที่ติดคุกเพราะ 112 ก็เหมือนๆ กับการติดคุกในคดีอื่นๆ เราจะไปนิรโทษกรรมได้อย่างไร
ไม่เหมือนคนติดคุกเพราะคดีข่มขืน ฆ่า หรือค้ายาเสพติดและคดีอื่นๆ นะครับ นั่นเป็นการติดคุกเพราะเขาทำอันตรายต่อคนอื่น แต่คนที่ติดคุกคดี 112 เพียงเพราะเขาแสดงความเห็นผ่านคำพูด การเขียน โพสต์ข้อความ อภิปรายสาธารณะเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย
หรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งโดยมากเป็น การแสดงออกทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เป็นการทำอันตรายทางกายภาพแก่ใครเลย ไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บ หรือผิวหนังถลอก แต่กลับมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 -15 ปี พอๆ กับโทษฆ่าคนตาย ความผิดกับบทลงโทษจึงไม่ได้สัดส่วนกัน
ในประเทศประชาธิปไตยอย่างญี่ปุ่นก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ แต่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และไม่ใช่ใครก็ฟ้องได้ นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ฟ้องได้ สถาบันกษัตริย์ก็มั่นคง ประชาธิปไตยก็มั่นคง ไม่มีการอ้างสถาบันกษัตริย์มาสร้างความขัดแย้งทางการเมืองและอ้างทำรัฐประหารเลย
อังกฤษก็ไม่ใช้กฎหมายหมิ่นกษัตริย์มาแล้วกว่า 100 ปี เพราะในระบอบประชาธิปไตยจะต้องไม่มี นักโทษทางความคิด หรือมีประชาชนต้องติดคุกเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นติชม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือล้อเลียนเสียดสีประมุขของรัฐซึ่งเป็น บุคคลสาธารณะ ที่ใช้ภาษีของประชาชนเช่นเดียวกับบุคคลสาธารณะอื่นๆ ของรัฐที่ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการติชมหรือวิจารณ์ตรวจสอบ และล้อเลียนเสียดสีได้เป็นปกติอยู่แล้ว
พูดให้ชัดคือ บุคคลสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยต้องมีอำนาจที่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย และเนื่องจากสถานะและอำนาจของเขาให้คุณให้โทษแก่ส่วนรวมได้ บุคคลสาธารณะจึงต้องมี ความอดกลั้น (tolerance) ต่อการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบหรือล้อเลียนเสียดสีจากประชาชนผู้จ่ายภาษี

หลายความเห็นยืนยันว่า 112 ไม่ส่งผลอะไรกับชีวิต หากเราไม่ไปพูดเรื่องสถาบัน
ก็ต้องถามกลับว่า ชีวิต ที่เขาหมายถึงคืออะไร สำหรับคนที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองให้มีอิสรภาพจากอำนาจครอบงำบังคับของศรัทธาแบบยุคก่อนสมัยใหม่ พวกเขาก็ต้องการมีชีวิตแบบคนในยุคสมัยใหม่ คือชีวิตที่มีความเป็นมนุษย์ผู้มีอิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรม และทางสังคมการเมือง
เขาต้องการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาสังคมทางการเมืองได้ ทุกเรื่อง เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมบัญญัติกฎกติกาที่ทำให้สถาบันกษัตริย์และทุกสถาบันทางสังคมการเมืองเคารพและปฏิบัติตาม คุณค่าหลัก (core values) ของระบอบประชาธิปไตยคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักความยุติธรรม และหลักนิติรัฐ
ถ้าพูดแบบรุสโซก็คือ เราหลีกเลี่ยงที่จะถกเถียงเรื่องแก้ 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เพราะเราละทิ้ง ชีวิตที่มีเสรีภาพ ไม่ได้ การละทิ้งเสรีภาพคือการละทิ้งสิทธิและหน้าที่ของมนุษยชาติ คือการละทิ้งศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ เราไม่อาจเหลืออะไรชดเชยให้กับการละทิ้งเช่นนี้ได้เลย พูดแบบคานท์คือ “ไม่มีเสรีภาพก็ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” จึงมีผู้คนที่ต้องการมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจครอบงำและกดทับเสรีภาพเสมอมา ตั้งแต่อดีตยาวไกลจวบจนปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคต
112 เกี่ยวอะไรกับประชาธิปไตย
เกี่ยวโดยตรงกับ สิทธิทางการเมือง อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตยเลยครับ อย่างที่กล่าวแล้วแต่แรกว่า สิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ สิทธิเลือกตั้ง เท่านั้น ยังรวมถึงสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมการเมืองได้ทุกเรื่อง เช่น ใน พื้นที่สาธารณะ (public sphere) ทางการเมือง อย่างพื้นที่การเมืองในสภา, การเมืองบนท้องถนน, สื่อสาธารณะ, เวทีวิชาการ และพื้นที่ในการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาของสังคมส่วนรวมโดยทั่วไป จำเป็นต้องมีเสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอความคิดเห็นได้ว่าเราจะปรับปรุงสถาบันกษัตริย์และสถาบันต่างๆ ทางสังคมและการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้อย่างไร จะแก้ไขกฎหมายฉบับต่างๆ อย่างไร จะกำหนดนโยบายเพื่อส่วนรวมอะไรบ้าง เป็นต้น
ไม่ใช่ว่าแค่เสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตยก็โดนข้อหาล้มล้างการปกครอง วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันก็โดน 112 หรือแค่พรรคการเมืองเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ถูกฟ้องยุบพรรค แบบนี้สังคมเราจะสร้างประชาธิปไตยกันได้อย่างไร
อาจารย์อยากเสริมอะไรไหม
ผมนึกถึงเรื่องสั้นสะท้อนความคิดเชิงปรัชญา เหล่าผู้อำลาจากโอเมลาส (The Ones Who Walk Away from Omelas) ที่เล่าถึงความสุขของชาวเมืองโอเมลาสว่า ชาวเมืองโอเมลาสทุกคนรู้ดีว่าความสุขจากการได้รับสิ่งที่ตนปรารรถนาทุกอย่างของพวกเขาอยู่บน เงื่อนไข ที่ว่า มีเด็กปัญญาอ่อนคนหนึ่งถูกขังอยู่ในห้องใต้ดิน หิวโหย เจ็บป่วย และทุกข์ทรมานมาก เพื่อเป็น ตัวประกัน ให้ชาวเมืองได้เสพสุขตามต้องการ หากมีใครไปปล่อยเด็กคนนั้นให้เป็นอิสระ ให้ได้อาบน้ำ ได้กินอาหาร จะทำให้ความสุขของชาวเมืองนี้ลดลง
เงื่อนไขนี้คือ คำสาป ที่ทุกคนไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เพราะกลัวความสุขของตนเองลดลง ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วทุกคนต่าง รู้สึกผิด กับการที่ตนเองเสพสุขบนความทุกข์ทรมานของตัวประกัน ในที่สุดก็มีคนรุ่นใหม่ที่แบกรับความรู้สึกผิดเช่นนั้นไม่ไหว ทว่าตนเองก็เปลี่ยนคำสาปนั้นไม่ได้ จึงต่างทยอยเดินหนีจากเมืองแห่งความสุขนั้นไป
ทุกวันนี้รัฐบาลและเหล่าผู้สนับสนุนต่างสร้างกระแสความหวังที่จะสร้าง เมืองแห่งความสุข ด้วยการโหมโฆษณานโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท การแก้ปัญหาปากท้องและอื่นๆ เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนผู้หวังจะมีความสุขในประเทศนี้ลืม ความเป็นจริง ที่ว่า ความสุขที่รัฐบาลจะสร้างขึ้นแก่ประชาชนนั้น คือความสุขบน เงื่อนไขอำมหิต ว่า ต้องไม่ปล่อยนักโทษการเมือง 112 ให้มีอิสรภาพ แต่ไม่มีใครลืมความเป็นจริงนี้ได้หรอก เพราะทุกคนรู้และลึกๆ แล้วต่างก็ รู้สึกผิด ยิ่งคุณเป็นสื่อสาธารณะที่เชียร์และปกป้องรัฐบาลทุกเรื่อง โชว์การมีความสุขที่ตั้งรัฐบาลสำเร็จ และความสุขอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน โดยจงใจหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง ความเป็นคน ของนักโทษการเมือง 112 แต่ สามัญสำนึก ใน ความเป็นคน ของคุณเองไม่ยอมโกหกคุณหรอก ความสุขบนความรู้สึกผิดที่รู้ว่ายังมีนักสู้เพื่อประชาธิปไตย (ที่ทำให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองที่คุณชอบให้เลือกได้) กำลังทยอยถูกขังคุกเป็นตัวประกันให้คุณมีความสุขในการเชียร์รัฐบาล นี่เป็นความจริงที่อยุติธรรมและเจ็บปวดที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ดังนั้น เราจะมีความสุขในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องและวิถีชีวิตประจำวันอื่นๆ อย่างไม่แบกรับความรู้สึกผิดเพราะต่างรู้ๆ กันว่ามีเพื่อนร่วมสังคมของเราจำนวนมากที่สู้เพื่อประชาธิปไตย แต่พวกเขาทยอยถูกขังคุกด้วย 112 เพื่อเป็น ตัวประกัน รองรับความมั่นคงของระบบโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลและสภาควรทำ นักวิชาการ สื่อสาธารณะ และประชาชนทุกฝ่ายควรเรียกร้องให้รัฐบาลและสภาต้องทำ คือการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งต้องรวมคดี 112 เป็นคดีการเมืองด้วย (โควท)
เพราะคดี 112 เกิดจากความคิด แรงจูงใจ และการแสดงออก ทางการเมือง อยู่แล้ว ถ้าทำเรื่องนี้ได้สำเร็จจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อถือต่อรัฐบาล พรรคการเมือง ระบบรัฐสภา โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผลจากทุกฝ่ายที่เห็นต่างว่า ประเทศของเราจะสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคงควบคู่กับการมีสถาบันกษัตริย์ (และทุกสถาบันทางสังคมและการเมือง) ที่เคารพ ยึดถือปฏิบัติตาม และปกป้องรักษาคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตย คือหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม หลักนิติรัฐให้มีความต่อเนื่องเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนให้มากที่สุดได้อย่างไร
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม