บุญยืน สุขใหม่:อายุขัยเฉลี่ยแรงงานขึ้นกับสมการของผู้กดขี่

บุญยืน สุขใหม่ คือทนายความ คือผู้แนะนำตัวอาชีพของเขาว่า “ทนายก็เป็นกรรมกรในความหมายว่า อาชีพนี้แบกความหวังของคนงาน ความหวังของคนจนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพ นั่นแหละนิยามกรรมกร สาขาอาชีพทนายของผมครับ”

เขายังเป็นผู้ประสานงาน กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เป็นการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อเรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ ความเท่าเทียมและความเป็นธรรมให้พี่น้องแรงงาน

และยังเป็นกรรมการบริหาร สมัชชาคนจน ด้วย

กรรมกรและคนจน หากคุณมองหาจะเจอตัวเขาในสิ่งของทุกสิ่งทุกชิ้นเท่าที่ร่างกายคุณสัมผัสได้ แรงงานได้ฝากรอยเหนื่อยเคลือบหยาดน้ำตา ที่ถูกปรุงให้รสขมปร่า ด้วยมิอาจหลีกเลี่ยงเสียงเสียดสีขูดรีดของนายทุน ผู้รีดเหงื่อ น้ำตาแรงงานเพื่อช่วงชิงการสะสมทุนมากมายเกินกว่า 1 รอบของชีวิตมนุษย์

เพราะเสียโอกาสและชีวิตหมดไปกับการทำงานภายใต้การสะสมทุนของนายทุนและชนชั้นผู้ปกครอง เมื่อหมดสภาพในการใช้งานก็อายุมาก ไม่มีโอกาสได้สะสมทุน จึงไม่มีเงินเหลือ ในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ ภายใต้สนามแข่งขันของโลกนี้ที่ถูกปกครองด้วยระบบกลไกทุนนิยมขูดรีด แรงงานที่ถูกกดขี่จากนายจ้างที่ขูดรีด เกิดเป็นชนชั้นขึ้นมา

บุญยืน ทนายกรรมาชีพ จะพาทุกคนไปฟังความหวัง ความฝันของแรงงาน

แม้อยู่ล่างสุดก็ยังคงมีความหวัง เพื่อพังทลายซึ่งชนชั้น ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของคนทำงานในแต่ละอาชีพ เกิดเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อบังคับชนชั้นที่กดขี่ให้ฟังและทำตามความต้องการของแรงงานบ้าง

การที่เศรษฐกิจทุกอาชีพยังหมุนต่อได้นั้น จะขาดแรงงานในกลไกไม่ได้เลย จึงตามมาด้วยการเสียงเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตแรงงาน เพื่อความเป็นธรรม เท่าเทียมในศักดิ์ศรีของการมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เราจำเป็นต้องสรรเสริญกรรมมาชน กรรมกรผู้แบกโลก

โปรดเตรียมเครื่องดื่มหรือของโปรดไว้ข้างกาย เพื่ออรรถรสในการอ่านบทสัมภาษณ์นี้และไม่ลืมกล่าวสรรเสริญกรรมาชนผู้ไม่สมยอมต่อการกดขี่ ผู้มีความหวังทุกคนบนโลกนี้

แด่การสรรเสริญกรรมาชน

แนะนำตัวเองหน่อย

ผมชื่อ บุญยืน สุขใหม่ หน้างานคือ การช่วยเหลือพี่น้องแรงงานในประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงานในที่ที่เขาอยากจะตั้งสหภาพ เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน เรียกร้องสิทธิ์การคุ้มครองและสวัสดิการต่างๆ ของแรงงาน จนไปถึงการผลักดันกฎหมายแรงงาน และเราก็ให้การศึกษาในเรื่องของการบริหารงานสหภาพแรงงาน ปัญหาในเรื่องของการละเมิดสิทธิแรงงานต่างๆ เช่น การเลิกจ้างแรงงานมีสิทธิอะไรบ้าง

การจัดตั้งสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ ในบริบทของสังคมไทยที่ถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมเป็นหลัก ก็จะจดจำภาพของสหภาพแรงงานถูกนำเสนอต่อหน้าสื่ออาจเป็นภาพประมาณว่า จะชุมนุมนัดหยุดงาน การยื่นข้อเรียกร้องขอโบนัส และตามมาด้วยคำถามในสังคมจะว่านัดหยุดทำไม เขาแค่ให้เงินเดือนจ้าง มาเป็นพนักงานก็ดีแล้ว ยังจะต้องมาเรียกร้องขอโบนัสอะไรอีก 7-8 เดือนแค่จ้างงานดีแล้ว ภาพสหภาพแรงงานก็จะประมาณนี้ในสายตาสังคม

อะไรผลักให้คุณมาทำประเด็นพี่น้องแรงงาน

ตอนนั้นก่อนปี 2540 ก็เป็นแรงงานเรียนจบมาทำงานในเมือง ก็ยังไม่ได้รู้อะไร แต่ก็ได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหว มันเป็นจุดที่พีคคือ คือ ช่วงเสีย สัตย์เพื่อชาติ ของ สุจินดา คราประยูร เพราะยุคนั้นได้เริ่มทำให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เหล่าสหภาพมารวมตัวกันเรียกร้อง แต่มันถูกทำลายจากตั้งแต่ตอนยุคของ สุจินดา ด้วยการออกกฎหมายให้รัฐวิสาหกิจ แรงงานในระบบรัฐและแรงงานเอกชนแยกออกจากกัน ผลประโยชน์และข้อเสนอที่ต่างกัน ทำให้การรวมตัวของสหภาพจึงยากและรวมตัวเรียกร้องน้อยลง

กฎหมายและรัฐธรรมนูญ 60 มีผลกดทับชีวิตแรงงานหรือไม่

เพราะกฎหมายการคุ้มครองแรงงานฉบับ พ.ศ. 2551 มาตรา 11 / 1 เขียนว่าการคุ้มครองแรงงานต้องเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ แต่

ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 60 เหมือนถูกแกะกล่องการคุ้มครองออกไปหมด ไม่มีการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีแบบตัดทิ้งไปเลย มันไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่เหลือการคุ้มครองแรงงานตามที่เราเรียกร้องมาตั้งนาน มันไม่เหลือการคุ้มครองใดๆ เลย

การคุ้มครองแรงงานมันคือพื้นฐานของกฎหมาย แต่จากรัฐธรรมนูญ 60 ที่มาจากคำสั่ง คสช . มันไม่ได้รับรองสิทธิแรงงาน ทีนี้มันมีผล เพราะไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีสักคำเลย ที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองแรงงาน

กฎหมายทุกวันนี้พูดในเรื่องของสิทธิในการประกอบอาชีพแค่นั้น แล้วการคุ้มครองแรงงานล่ะ สู้กับนายจ้างบนชั้นศาลโดยไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนรองรับแรงงานเลย

ในความเป็นจริงเราก็พยายามนอกเหนือจากการเข้าไปส่งเสริมสิทธิในการรวมกลุ่ม เราไปอธิบายให้คนงานหรือว่าชาวบ้านที่อยู่รอบๆ นิคมอุตสาหกรรมให้เข้าใจว่า การที่นายทุนมาลงทุนเขาได้ใช้ทรัพยากรของเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ รวมแม้กระทั่งคุณภาพชีวิตของคนไทยในวัยหนุ่มสาว เพื่อถูกรีดแรงกายแรงใจให้กับการทำงานที่ไม่ได้เป็นธรรม

ขณะเดียวกันนายทุนก็มีการสะสมทุนได้ในแต่ละปีไปมหาศาล ตัวอย่างกรณีของโรงงานแห่งหนึ่งที่ผลิตแอร์ หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ปีหนึ่งได้กำไรเป็น หมื่นหมื่นล้าน หักต้นทุนทุกอย่างกำไรล้วนๆ

ในขณะที่ราคาค่าแรงขั้นต่ำเทียบไม่ติด

ที่สำคัญคือการจ้างงานแบบซับคอนแทกต์ คือถ้าเป็นส่วนใหญ่พนักงานประจำก็มีการจ้างที่ดีขึ้นมาหน่อย ยิ่งอยู่นานมีอายุการทำงานยังพอมีการขยับค่าแรงให้เล็กน้อย น้อยมากๆ แต่ว่าแรงงานซับคอนแทกต์ ค่าแรงขั้นต่ำกับสัญญาจ้างพวกเขาจะอยู่ 5ปี ถึง 10 ปี ค่าแรงไม่ขยับ 354 บาทเท่าเดิม ซึ่งมันต่ำมาก สวัสดิการอย่างอื่นก็ไม่ได้มีอะไรมาก ขาดความมั่นคงในการทำงาน

ถ้าเกิดพนักงานหญิงท้องก็จะถูกส่งตัวคืนบริษัทซับคอนแทกต์ พนักงานชายที่อายุมากขึ้นก็จะถูกส่งตัวคืน แค่ไม่ได้ไล่ออก แต่ก็ไม่ได้ทำงานเลยไม่ได้ค่าแรง การส่งตัวคืนก็คือการเลิกจ้างดีๆ นั่นเอง ได้แต่รอโดนเรียกจากที่ใหม่ โดยไม่ได้มีค่าจ้างค่าแรงอะไรในตอนรองานใหม่

รัฐต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นสหภาพ คือให้คนงานได้รับค่าจ้างเพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการคุ้มครองแรงงานมันหายโดยการตัดมาตรา 11/1 นั่นหมายถึงเสรีภาพในการประกอบการค้าของอาชีพ เสรีภาพในการประกอบอาชีพพวกเรา ชาวแรงงานทั่วประเทศ โดนพรากการคุ้มครองไปด้วยกันหมดเลยนี่แหละ

ถ้ายังต้องตื่นมาทำงาน คุณก็คือแรงงานหมดนั่นแหละ ก็หมดประเทศคือแรงงานทั้งหลาย เราไม่มีการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และเราไม่มีการคุ้มครองสิทธิของพวกเรากี่ปีแล้ว ลองนับตามปีของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมานะ ว่ากี่ปีแล้ว

กฎหมายที่เป็นปัญหากับชีวิตพี่น้องแรงงานที่ต้องแก้ กฎหมายที่ต้องแก้เร่งด่วนที่สุดคืออะไร

รัฐธรรมนูญคนจน นี่คือสิ่งที่เราผลักดันมา มันคือรัฐธรรมนูญที่มาจากแรงงาน จากประชาชนทั่วประเทศ เราออกเดินสายรณรงค์ทำรัฐธรรมนูญคนจนร่วมกับสมัชชาคนจน และองค์กรอื่นๆ รวมถึงเคลื่อนไหวในนามกลุ่มพัฒนาแรงงานตะวันออกด้วย

ซึ่งในรัฐธรรมนูญคนจน เรามีหมวดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็ได้มาจากการรวบรวมความเห็นจากพี่น้องแรงงานทั่วประเทศด้วย

หลายพรรคก็นะ บอกว่าจะแก้เรื่องสิทธิแรงงาน แต่สุดท้ายก็ตัดไป ไม่มีให้เห็นในการหาเสียงในนโยบาย ก็ช่างหัวมันเราขับเคลื่อนต่อไป

หนึ่งในเรื่องที่ต้องบอกว่ามันถูกเขียนผิดคือ คุณสมบัติในการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น อายุ 35 จะเป็นรัฐมนตรีได้ แล้วก็ต้องจบปริญญาตรี ซึ่งมันไม่แฟร์ เช่น แม่สมปอง มีปัญหาเรื่องที่ดินเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นรัฐมนตรี ส่วนคณะทำงานเราอาจต้องคืนผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นที่ปรึกษา คนที่อยู่กับปัญหาจริงๆ กลับยิ่งถูกกีดกัน ทั้งๆ ที่มันก็มีทางออก แต่มาติดกฎหมาย

มันจะไม่ผิดหรอก ถ้ามาจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 25 คน มาจากการเลือกตั้งจากจังหวัด และมีคนรับผิดชอบหมวด สิทธิแรงงาน ว่ามีอะไรบ้าง คุ้มครองอะไรบ้าง

ร่างกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพวกมากหรือพวกน้อย ต้องประชามติเพื่อทุกคน ทุกเสียงต้องเท่ากัน

ถ้ามันไม่ผ่านประชามติประชาชน ก็ต้องแก้ต่อไป ลงพื้นที่กระจายอำนาจท้องถิ่นเพื่อนำมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ถึงมันจะใช้เวลาแต่ว่า การเสียเวลานั้นมันทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ให้เรามั่นใจได้ว่าลูกหลานเรามันเกิดมาบนความมั่นคง จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้กระทั่งการศึกษา การเจ็บป่วย ดูแลหลังเกษียณ ต้องการันตีชีวิตเราได้ เราจะไปหวังให้ลูกเอยหลานเอยมาส่งเสียตอนเราไม่มีแรงจะทำงานแล้วไม่ได้

นึกภาพถ้าไม่มีเรื่องหลักประกันเหล่านี้เราต้องทำงานจนตัวตาย เพื่อมีชีวิต เพื่อไปหาหมอ เช่น สมมติว่าวันนั้นมาถึง กูจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว กูจะอยู่ยังไงวะ ส่วนตอนตายเหี้ยแม่งภาระลูกๆ อีก แต่ว่าในระหว่างชีวิตที่ยังมีเหลืออยู่ ก็ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี คือไม่ใช่ว่าเดินไปแบมือขอเงินในวันที่ไม่แรงจะทำงานอะไรได้อีกต่อไป

ในวัยนั้นเราก็คงจะไปเดินว่าความเหมือนเดิม อย่างเราเนี่ยมันทนายความเป็นอาชีพที่ทำได้ตลอดชีวิต ในขณะเดียวกันมนุษย์โรงงานมันก็เกษียณแค่ 60 แต่มันไม่ได้ตายตอน 60 นะเว้ย มันต้องอยู่อีก

ตอนนี้อายุคนไทยเฉลี่ยถ้าผู้หญิง 75 ผู้ชาย 73 ตอนนี้โรงงานคนงานอายุ 55 เดี๋ยวอีกไม่นานก็วัยเกษียณ แล้วชีวิตที่เหลืออีก 20 ปี เนี่ยจะทำมาหาแดกยังไง เพราะทั้งชีวิตของแรงงานไม่สามารถที่จะสะสมทุนได้

อย่างที่บอก ไม่มีการคุ้มครองแรงงานในกฎหมาย เขาขูดรีดชีวิตวัยหนุ่มสาว ไม่ให้มีโอกาสได้สะสมทุนส่วนเกินในขณะที่อยู่ในวัยมีแรงทำงานได้ พอชีวิตวัยทำงานจบลงก็ไม่มีทุนอะไรเหลือไว้ เลยต้องแก้รัฐธรรมนูญ

กฎหมายมีน้อยๆ หน่อยก็ได้แต่ว่า ต้องเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าเราจะไม่ถูกทิ้งระหว่างทาง อย่างน้อยในตอนที่ยังไม่ตาย

ค่าแรงทุกวันนี้เป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่

จริงๆ แล้วมันต้องใช้คำว่า ค่าแรงที่เป็นธรรมขั้นต่ำ คือค่าแรงขั้นต่ำบางคนทำมา 10 ปี ทำไมสกิลคนทำงานอายุงานสูง เช่น กราฟฟิก แต่เป็นซับคอนแทกต์ 10 ปี ค่าแรงก็เท่านั้นแหละ ไม่ขยับตามระดับอายุงาน มันเลยควรเรียกว่า ค่าแรงที่เป็นธรรมขั้นต่ำ

ปัญหาของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น เวลาคุณเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ หรือตายหลักเลิกงานมา สิทธิตามกฎหมายมันไม่ถูกคุ้มครอง แม้ทั้งวันเราทำงานให้นายจ้าง เลิกงานมาตาย จบ เสียเวลาเพื่อรายได้จากนายจ้างทั้งวัน แต่กลับไม่คุ้มครอง บอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ไม่ต้องคุ้มครอง มันไม่ได้

แค่ค่าจ้างวันละ 300 กว่าบาทไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ทุกวันนี้ ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน มันก็ทำให้เขาจำเป็นต้องขวนขวายหางานใหม่หรือไม่ก็ต้องลาออกจากงาน กลับไปบ้านเกิด เพราะปัญหาภาระค่าของชีพสูงมาก

หรือถ้าเป็นคนงาน ทำงานมาตลอดสะสมมูลค่าส่วนเกินให้กับชีวิตก็ไม่ได้ เพราะบางคนอยากจะมีครอบครัว ก็พอเราสะสมเงินได้สักหน่อย 2-3 เดือน ถึงเทศกาลสงกรานต์กลับไปบ้าน ก็ต้องมีเงินจำนวนหนึ่งไปดูแลพ่อแม่ พอถึงฤดูทำนา ทำการเกษตรต้องส่งเงินไปให้กับครอบครัวที่ชนบท เพื่อที่จะซื้อปุ๋ย ซื้อเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะปีไหนที่ฝนตกน้ำท่วม ทำมาทั้งปีเสียหายหมด

ปีใหม่กลับบ้านไปหาครอบครัวอีก สักพักลูกเปิดเทอมอีก อย่างผมเพิ่งจ่ายค่าเทอมลูกชายที่เรียนมหาวิทยาลัยในชลบุรี 20,008 บาท

ถ้ารวมอย่างอื่นด้วย ค่าเช่าหออีก รวมค่าน้ำค่าไฟก็อีก 5,000 บาท ค่าแรงเท่านี้กับค่าใช้จ่ายที่เยอะไปหมด แรงงานจะอยู่ได้ยังไง ดูค่าแรงรายวันเราสิ ก็ไม่รู้จะสะสม 20,008 จากไหน เพราะที่ได้มาเป็นรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ ระหว่างทางเดินน่ะมันไม่พอ

มันมีภาระที่เราต้องจ่าย ขณะเดียวกันเงินเดือนเราก็ยังเหมือนเดิม ไหนต้องค่าใช้จ่ายทั่วไปในชีวิต ค่าน้ำขึ้น ค่าไฟขึ้น น้ำมันอีก แรงงานเงินเดือนเท่าเดิม จะสะสมทุนอย่างนายทุนได้ยังไง

ที่ผ่านมาก็มีประกาศขึ้นค่าแรงบ้าง แต่มันควรเป็นการจ้างที่เป็นธรรม เช่น นักศึกษาฝึกงาน เพราะเวลาทำงานในโรงงานก็ไม่ได้ทำแตกต่างจากแรงงานอื่นๆ ก็ต้องได้ค่าแรงในฐานะแรงงาน เป็นการจ้างที่ต้องเป็นธรรมกับแรงงานทุกคน

ถ้าเกิดการกระจายอำนาจ รูปร่างหน้าตาที่คุณอยากเห็นเป็นอย่างไร มีผลกับพี่น้องแรงงานแบบไหน

มันต้องรวมกลไกการต้านรัฐประหารด้วย กระจายอำนาจทั้งหมด ไม่ว่าเป็นในเรื่องของท้องถิ่นระดับที่ใกล้ชิดกับชุมชนหรือว่าระดับ อบต. หรือว่าผู้ใหญ่บ้าน กำนันมีไว้ทำไม ไม่มีประโยชน์ งบที่ควรทำงานเอาไปเป็นงบดูงาน นี่คิดว่าถ้าเรากระจายจริงๆ  ผมว่ามันสามารถที่จะนำเงินพวกนี้ไปทำงานกับท้องถิ่นจริงๆ เลือกตั้งให้หมดตั้งแต่ท้องถิ่นมาเลย

เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศเห็นด้วยไหม มีผลกับพี่น้องแรงงานอย่างไร

เอาง่ายๆ แม้แต่โรงงานก็ต้องการข้าว ข้าวมันต้องซื้อ ไม่ใช่ของแดกฟรีเพราะมันเป็นสวัสดิการของบริษัทนั่นแหละ เช่น มันมีช่วงข้าวราคาตกต่ำมาก ตอนนั้นก็คิดการใหญ่ลงไปปรึกษาหรือพี่น้องที่ทำข้าว ทดลองตกลงซื้อขายข้าวตามโรงอาหารโรงงาน เริ่มที่คุยกับฝ่ายบุคคลก่อนโรงงาน เพราะโรงงานจะต้องใช้เป็นสวัสดิการอาหารให้แรงงานวันละ 100 กิโล

เป็นหนึ่งในการกระจายอำนาจให้พี่น้องประชาชน ในการกระจายข้าวเข้าสู่ระบบโรงงาน เข้าสู่ที่ที่เขาต้องการปริมาณเยอะ

กระจายอำนาจคือทุกที่ ทุกท้องถิ่น ทุกระดับมันต้องมาจากการเลือกตั้ง มันทำได้แม้กระทั่งตำรวจด้วยซ้ำ ถ้าเป็นตำรวจขึ้นกับ อบต. ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นเลย ระบบกระจายอำนาจมันจะตัดการเกิดระบบส่งส่วย ตัดการเกิดผูกขาด ก็อยากจะเห็นนะ แต่ว่ามันก็ติดล็อก ทำยังไงจะต้องไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ท้ายที่สุดแล้วเนี่ยถ้าจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้มันถูก คงไม่ได้ในทันที เพราะปัญหามันเยอะแยะมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ เบื้องต้นเราสามารถที่จะอธิบาย ลองออกแบบกันจะกระจายอำนาจไปอยู่ในมือประชาชนได้ยังไง

แต่แม่งที่น่าเบื่อสุดคือถ้าเรายังหาวิธีป้องกันการรัฐประหารไม่ได้ และการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ปลดล็อก ก็จะเป็นระบบเดิม จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องปลดล็อกท้องถิ่นให้ได้ แม่ง

การเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาพรวมสังคม หรือโครงสร้างอย่างไร

นอกจากมิติของการเลือกตั้งที่เราควรมีส่วนร่วมในทุกบริบท หรือเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิที่ไหนแล้วเนี่ย ไม่ต้องไปสนใจมันแล้วจะชื่อผู้ว่าฯ หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้มาจากการเลือกตั้งแล้วก็กระจายอำนาจ อำนาจแต่ละจุดจะใช้งานอย่างไรอยู่ที่ท้องถิ่น จังหวัดเป็นผู้ออกแบบร่วมให้มันเหมาะสม

แล้วมันก็ไม่ต้องไปรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง

คือส่วนกลางเป็นเพียงแค่ผู้ประสานงบ ส่วนจังหวัดกูจะจัดสรรยังไงมันก็อยู่ที่แต่ละจังหวัด แต่ละ อบต. หรือเทศบาลเมืองแล้วแต่จะเรียก เอาให้มันฟังค์ชันกับจังหวัดเขา

คือไม่ต้องไปคิดแทนท้องถิ่น คนในจังหวัดเขารู้อยู่แล้วว่าเขาอยากได้อะไร อบต.เองก็รู้ว่าควรทำอะไร แก้ปัญหา พัฒนาท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นนั่นแหละ ที่เขารู้และตอบได้ว่าจะเป็นยังไง การเลือกตั้งท้องถิ่นมันสำคัญเพราะเรากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

และถ้ากระจายอำนาจในระดับท้องถิ่น ในอบต. ในจังหวัดแต่ละที่ นิติกรณ์เทศบาลก็มี นิติกรณ์เทศบาลเมือง เทศบาลนครมีหมด แต่พออยู่ในจังหวัดมีไว้ทำสากกะเบืออะไร เพราะมันเป็นระบบที่ไม่ได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ประชาชนเข้าไม่ถึง

เกิดเหตุอะไรกับแรงงานทีก็ต้องเดินทางติดต่อให้วุ่นวาย เพราะอำนาจมันอยู่ที่ส่วนกลาง

เอาตัวอย่างไป สมมุติว่า อบจ.บ่อวินซึ่งมีจำนวนผู้ประกันตนในมืออยู่ หนึ่งในนั้นสมมุติชื่อ กิตติกร เขาตื่นไปทำงาน แล้วพอถึงเวลาถูกเลิกจ้างหรือเหตุไม่คาดคิด นายกิตติกรแค่เดินไปที่ อบต. ทำทุกอย่างตามกฎหมาย นิติกรณ์มีก็ใช้ดูแลกฎหมายให้แรงงาน ไม่ต้องเดินทางให้ยุ่งยาก กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มันทำให้แรงงานเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของตนเองได้ ทุกวันนี้มันเข้าไม่ถึง

กระทรวงแรงงานอาจทำหน้าที่แค่เรื่องของการออกกฎหมาย

อีกเรื่องคือ มันเกินครึ่ง 50% ที่เขาไม่ได้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่นี่ เพราะสถานประกอบการอยู่ฝั่งระยอง แต่บ้านอยู่ฝั่งชลบุรี ถ้าได้เลือกตั้ง รัฐควรให้เขามีสิทธิเลือกตั้งจากพื้นที่ทำงานได้ด้วย ควรมีตัวเลือก ถ้าเขาประสงค์ใช้ที่อยู่ตามที่บ้านหรือที่ทำงาน ทุกวันนี้โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว

นอกจากนี้อย่าลืมว่าเราต้องสร้างทางเลือกให้กับคนที่เขาไม่เข้าใจเทคโนโลยี เรายังมีพวกเขานะ เราก็ต้องสร้างทางเลือกให้เขาด้วย

ปัจจุบันกฎหมายมันทำให้คนเข้าไม่ถึงสิทธิ เช่น สิทธิการเข้าถึงกระบวนการในการฟ้องร้อง ทำไมนายจ้างเข้าถึงกระบวนการกฎหมายได้หมด แต่ขณะเดียวกันคนงานมันเข้าถึงไม่ได้

กระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้ แม่งถูกรวมศูนย์ ศาลมีอยู่ทุกจังหวัด ต้องมายื่นฟ้องที่ชลบุรี ศาลแรงงานภาค1 มีอยู่อยุธยากับสระบุรี แรงงานถูกนายจ้างบอกเลิก ตัวเขาทำงานอยู่ปทุมฯ ต้องไปยื่นฟ้องที่ศาลแรงงานภาค 1 สระบุรี หรือจะไปแรงงานภาค 4 อยู่นครปฐม  เดินทางอย่างเดียวก็หมดละ 2 วัน

นั่นคือจำนวนวันที่เขาต้องขาดรายได้ ถ้าเขาไม่ต้องเดินทาง เข้าถึงได้ใกล้บ้าน เช่น อบต. เขาก็เข้าถึงสิทธิและกระบวนการกฎหมายต่างๆ ได้ เป็นคนเหมือนกัน ทำไมเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการไม่ได้ มันก็เป็นปัญหาจริงๆ ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นธรรมและเท่าเทียมกันทุกที่

เพราะระบบพวกนี้คือตัวล็อกไม่ให้เกิดการกระจายอำนาจในระบบตุลาการ หนึ่งในโครงสร้างหลักของสังคม เขาเข้าถึงกระบวนการกฎหมาย เขาจะใช้สิทธิและสวัสดิการของเขาได้ คือปัญหาส่วนมากคือ ตอนเวลาถูกเลิกจ้าง เวลาไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าเกิดการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แรงงานก็สามารถที่จะไปร้องเรียนที่ อบต. หรือหน่วยงานที่อยู่ใกล้เคียงได้

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

  • ช่างภาพและนักเดินทาง เชื่อเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ ความหลากหลายและเสรีภาพ และ หากประชาชนออกแบบประเทศเองได้ สังคมคงมีสีสันและพัฒนาไปไกลอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีความฝันอยากเป็นชาวประมง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *