แก้วใส: กับความฝันที่ (ไม่) สดใส

“บางคนอายที่จะพูดภาษาบ้านตนและไม่กล้าพูดภาษาถิ่นเวลาอยู่ในเมือง เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอกต้อยต่ำ”

เจ้าของเพจ แก้วใส : Daily Life Story ‘กชกร บัวล้ำล้ำ’ ปกติจะมาในมาดกวนๆ ยียวนหัวใจ โพสต์นี้เธอมาลุคสวยใสวัยรุ่นชอบ เธอให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการสื่อสารกับคนดูในเรื่องวิถีชีวิตของคนชนบท (แบบเรียลๆ) Not Romanticize แบบโฆษณาตามทีวีที่ตอนเด็กเคยดู

“เราโตมาในยุคโทรทัศน์และมักเห็นมาตลอดว่ารัฐคุมสื่อและเนื้อหาที่เกี่ยวกับชนบทและภาคอีสานให้อยู่ในภาพของความพออยู่พอกิน ความเรียบง่าย สโลว์ไลฟ์มีความสุข แต่จริงๆ แล้ว ในภาพสวยงามก็ฝังลึกไปด้วยปัญหาเชิงโครงสร้าง

“การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพและเข้าถึงได้น้อย และการเข้าถึงนโยบายรัฐและสวัสดิการมีปัญหามาตลอดหลายสิบปี”

แต่ละคลิปในเพจ มีการบรรยายด้วย ภาษาอีสาน ไทย และอังกฤษ ซึ่งนับว่าน่าสนใจมาก

“เรามีทั้งกลุ่มคนดูที่สนใจเรื่องภาษาวัฒนธรรมต่างถิ่น ทำให้เราสามารถเล่าเรื่องในแบบของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีมุกขำขันบ้าง และค่อยๆ สอดแทรกเรื่องที่อยากเล่าเข้าไป

“มองว่านี่ก็อาจเป็นสื่อ Soft Power ที่เราสร้างเองได้โดยไม่ถูกรัฐควบคุมอีกต่อไป ซึ่งยุคนี้ประชาชนเลือกดูสื่อได้ เลือกคิดเองได้ และเลือกที่จะสื่อสารเองได้มันดีมากๆ”

“ในการทำเพจ ต้องการสื่อสารอะไรอีกครับ” เราสงสัย

“อีกประเด็นที่เราอยากสื่อคืออยากทำให้ภาษาอีสานมันเท่ เพื่อลบล้างความคิดที่ว่าคนพูดภาษาถิ่นดูเหมือนไม่มีการศึกษา ดูเหมือนคนไม่รู้เรื่อง อยากให้ท้องถิ่นภูมิใจกับภาษาบ้านเกิด เราเห็นเพื่อนและคนรู้จักหลายคน พอเรียนจบจะเข้าไปทำงานใน กทม. หรือเมืองใหญ่ๆ

“เมื่อกลับมาได้สักพักบางคนอายที่จะพูดภาษาบ้านตนและไม่กล้าพูดภาษาถิ่นเวลาอยู่ในเมือง เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอกต้อยต่ำ ไม่ได้รับการยอมรับ เราว่าแบบนั้นมันเศร้ามากๆ แอบรู้สึกเหมือนถูกกดทับทางวัฒนธรรมมาตลอดแบบไม่รู้ตัว”

เราขอให้เธอสะท้อนปัญหาของจังหวัดสกลนครที่อยู่

“ปัญหาในจังหวัดบ้านเกิดเราก็คล้ายๆ กับหลายๆ จังหวัดในภาคอีสาน ไม่ได้มีจังหวัดไหนเจริญแบบก้าวกระโดดกว่าเพื่อนไปมากนัก ความเจริญมักไปกระจุกจังหวัดใหญ่ๆ ปัญหาหลักคือเรื่องการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนที่นี่ เพราะคนเข้าถึงการศึกษาได้น้อยมาก

“ตามหมู่บ้านเองโรงเรียนที่นี่ก็ถูกยุบไปหลายแห่ง เพราะมีการรวมศูนย์โรงเรียนไว้ในตัวอำเภอ ทำให้โรงเรียนใกล้บ้านต่างๆ เริ่มไม่มีนักเรียนและไม่มีครู เด็กที่ไม่มีทุนในการเรียนก็มักออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพเพื่ออุดรอยรั่วในชีวิตที่พวกเราไม่ได้สร้างต่อไป

“อีกอย่างคือพอคนหนุ่มคนสาวไปทำงานหมด ตามหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็มีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ มีแต่เด็กและคนแก่ สวัสดิการรัฐเองก็น้อยและเข้าถึงได้ยาก”

สิ่งที่เธอปรารถนาให้เกิดในจังหวัดเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลชุดไหนก็ควรทำ


“นอกจากเรื่องการศึกษา เราอยากเห็นขนส่งสาธารณะที่ดีมีคุณภาพ สิ่งนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น รถบัส ขนส่งสาธารณะ รถประจำทาง ถนนหนทาง แสงไฟตามถนน เราควรรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายขึ้นบ้าง

“แต่เรายังรู้สึกห่างไกลเหลือเกิน ยิ่งถ้าพูดถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เป็นประเด็นถกเถียงกัน คือความใฝ่ฝันสูงสุดอยู่แล้ว คงทำให้เรารู้สึกว่าเข้าใกล้ความเจริญได้บ้าง ดังนั้น การกระจายอำนาจรัฐจึงสำคัญ ไม่กระจุกความเจริญไว้ที่ที่เดียว มันจะได้สร้างโอกาสให้ชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม”

ถามถึงสิ่งฝังใจจากความทุรกันดาร เธอบอกว่า อยู่บ้านนอกอะไรๆ ก็ดูไกลไปหมด ไกลในทั้งระยะทางและนัยถึงความฝันในการท่องโลกกว้าง

“เงินคือปัจจัยสำคัญในโลกทุนนิยมที่บ้านนอกสร้างเงินให้เราได้ไม่มากนัก ทุกคนหลั่งไหลเข้าไปในเมืองกัน ทิ้งเด็กและคนแก่ไว้ สิ่งที่อยู่ในใจเราคืออยากให้พื้นที่ชายขอบมีความหวังในการใช้ชีวิต คนหนุ่มสาวและทุกคนต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีและการพัฒนาไม่แพ้คนเมือง

“คนหนุ่มสาวหลายคนได้ขายวิญญาณให้กับการประกอบอาชีพมั่นคง เลยไม่แปลกใจที่มีคำว่า อยากให้เจ้าได้เป็นเจ้าคนนายคน มันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่มีในชนบทว่าเป็นข้าราชการเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้

“วัยรุ่นที่นี่อยากทำอะไรหลายอย่าง มีความฝันแต่หลายคนก็ต้องคว้างานราชการไว้ก่อนเพื่อความมั่นคงของครอบครัว

“คอมเมนต์ในเพจที่น่าสนใจคือ ทำไมชาวนายังต้องยึดติดกับการทำนาทั้งที่ราคาข้าวต่ำ คำตอบของเราคือ เพราะเป็นต้นทุนที่ไม่ต้องซื้อเพิ่มและเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

“จะบอกให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นกันชั่วข้ามคืนนั้นทำไม่ได้และยากมาก เราต้องตั้งคำถามว่ารัฐมีการให้สวัสดิการกับชาวนาหรือเกษตรกรที่ดีพอไหม

“อีกคอมเมนต์ที่เวลาอ่านแล้วน้ำตาจะไหลทุกที คือคิดถึงบ้าน ไม่รู้ว่านานเท่าใดแล้ว ที่คนอีสานและคนชายขอบจากต่างจังหวัดต้องหอบชีวิตไปตายเอาดาบหน้าในเมืองใหญ่”

“อยากเลือกผู้ว่าฯ เองไหม” เราถาม

“อยากแน่นอน! อำนาจในบ้านเราหรือบ้านใครก็ควรให้ประชาชนในพื้นที่เลือก การทำงานของรัฐไทยมันแปลกๆ ที่บางคนเราก็เลือกได้บางคนเราก็เลือกไม่ได้ ถ้าอย่างเราๆ เลือกผู้ว่าฯ ได้เองชีวิตเราคงจะง่ายขึ้นเพราะคงได้เลือกคนที่มีภาวะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ได้รู้จักหน้าค่าตา ได้ฟังเสียง ได้รู้ว่าเค้าอยากพัฒนาบ้านเรายังไง”

“ฝากถึงนายกฯ หน่อย” เราทิ้งท้าย

“การกระจายอำนาจรัฐมีปัญหามากๆ และควรมองเป็นเรื่องน่าแก้ไขเร่งด่วน ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิในการตัดสินใจด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการอำนาจรัฐและบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นตนเอง คนกำลังอดตายขึ้นทุกวัน เหนื่อย และหมดหวัง

(เรียบเรียงโดย: สันติสุข กาญจนประกร / เผยแพร่ครั้งแรก: ปีก่อน (2565) ยังไม่ได้เปิดให้ลงชื่อ ร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ)

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published.