กรกนก คำตา: พรรคสามัญชนที่มิได้มีแค่ยกเลิก 112

ก่อนการเลือกตั้ง, กรุงเทพมหานคร, พฤษภาคม 2023

แสงแดดแผดเผาประเทศไทยไม่ต่างกับความร้อนระอุของการเมืองก่อนเลือกตั้ง การเลือกตั้งอันเป็นความหวังของคนจำนวนมากที่ยังมีความหวังว่าประเทศเราจะได้เดินหน้ากันต่อไปยังอนาคตที่สวยงาม ไม่ใช่การเดินถอยหลังเข้าคลองแบบที่ผ่านมาจากพิษรัฐประหารที่ไม่เห็นหัวประชาชนตลอดแปดปี

หากใครติดตามการเมืองที่ร้อนระอุมาหลายปีคงได้ยินหลากหลายชื่อพรรคการเมืองที่เห็นการทำงานจริง หลากพรรคที่เล่นเกมการเมือง หรือหลายพรรคที่เป็นฝ่ายค้านในนามของฝ่ายประชาธิปไตยที่โลดแล่นทางการเมืองมาหลายปี ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล

และรวมถึง พรรคสามัญชน พรรคขนาดเล็กที่ส่งสมาชิกพรรคสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพียง 6 คน และสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 1 คน

ท่ามกลางความร้อนระอุทางการเมืองและสภาพอากาศนั้น เราได้พูดคุยกับ กรกนก คำตา หรือ ปั๊บ นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเบอร์ 51 ลำดับที่ 1 จากพรรคสามัญชน ในเรื่องราวของการเมือง นโยบาย เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ และเรื่องการกระจายอำนาจ.

คุณนิยามตนเองอย่างไร

เรานิยามตนเองว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นนักกิจกรรมเฟมินิสต์ เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศแล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคม เข้ามาในภาคการเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพรรคสามัญชนเป็นบรรยากาศของการที่ขบวนการเคลื่อนไหวมาทำพรรคการเมือง เลยได้เข้ามาอยู่ร่วมทำงานกับพรรคสามัญชน

การที่พรรคสามัญชนมีสัดส่วนของผู้หญิงในพรรคเป็นกรรมการถึง 90% มีความหมายอะไรหรือเปล่า

มันก็แสดงให้เห็นว่า

พรรคได้ให้ความสำคัญให้พื้นที่กับผู้หญิง แล้วก็มีพื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วม สามารถที่จะแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างรู้สึกปลอดภัย สามารถเข้ามาในตำแหน่งที่สามารถกำหนดนโยบายได้

ทำให้บรรยากาศพรรคเปลี่ยนไปเป็นบรรยากาศแบบใหม่ที่พรรคเองก็ไม่เคยมีมาเหมือนกัน ที่จะมีตัวแทนผู้หญิงจำนวนมากแล้วก็มีการบริหารแบบที่มีผู้หญิงนำ อาจทำให้บรรยากาศเกี่ยวกับนโยบาย การทำงานมีบรรยากาศที่แตกต่างจากเดิม มุมมองแบบผู้หญิงในการมองนโยบายก็จะไม่เหมือนเดิม

ในสังคมไทยสมัยใหม่ที่คนทั่วไปคิดว่าผู้ชายและผู้หญิงเท่าเทียมกันหมดแล้ว สำหรับตัวคุณคิดว่ายังมีเรื่องใดที่ยังคงมีความไม่เท่าเทียมอยู่อีกบ้าง

สังคมไทยถ้าดูแบบผิวเผิน  บรรยากาศเหมือนผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกันแล้ว แต่ว่าความจริงนั้นไม่ใช่เลย เพราะว่าบทบาททางเพศยังมีกรอบกำหนดอยู่ว่าผู้หญิงต้องทำอะไรแล้วผู้ชายต้องทำอะไร ผู้หญิงต้องเป็นแบบไหนแล้วผู้ชายต้องเป็นแบบไหน เป็นกรอบที่ทำให้สิ่งต่างๆ ที่ผู้หญิงกับผู้ชายทำ มีคุณค่าไม่เท่ากัน 

เช่น การที่จะมาทำงานเกี่ยวกับการเป็นนักการเมือง การเป็นผู้นำอย่างนี้ พื้นที่สำหรับผู้หญิงก็จะไม่เยอะหรือไม่เพียงพอ สังเกตได้จาก

ผู้นำพรรคต่างๆ นอกจากเป็นผู้ชายแล้ว คณะกรรมการบริหารพรรคก็ยังเป็นผู้ชาย มุมมองในการบริหารก็จะเป็นแบบที่มองจากผู้ชาย ดังนั้น ผู้หญิงยังคงมีพื้นที่น้อยในการที่จะเข้ามาบริหารประเทศ   

ดูได้จากสัดส่วนของ ส.ส. ในสภาก็จะเห็นได้ชัด แล้วก็บทบาทที่แบ่งกันโดยใช้เพศเป็นตัวกำหนดอย่างการดูแลบ้าน การทำหน้าที่เลี้ยงลูก เลี้ยงเด็ก เลี้ยงคนแก่ก็ยังผูกติดกับผู้หญิงอยู่ การที่จะมาเป็นผู้นำก็ยังผูกติดกับความเป็นผู้ชาย แล้วก็บรรยากาศที่บอกว่าการพูดจาฉะฉาน การใช้เหตุและผลก็ยังเป็นค่านิยมหลักของสังคม หมายความว่าถ้าเกิดว่าเราจะมีบรรยากาศของการใช้อารมณ์ก็จะถูกบอกว่าเป็นผู้หญิง เป็นหน้าตัวเมียอะไรอย่างนี้

บรรยากาศของพื้นที่ในรัฐสภาก็ยังเป็นพื้นที่ของผู้ชายอยู่มาก ซึ่งก็มันทำให้บางทีผู้หญิงเองรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง เพราะรู้สึกว่ามีแต่ผู้ชาย แล้วก็อาจโดนตัดสินว่าเรารู้ไม่จริง เรารู้ไม่มากพอ เรามีข้อมูลไม่มากพอ อันนี้ก็เป็นเหตุให้ผู้หญิงแสดงความคิดเห็นไม่ได้ด้วย

อีกประการคือ

เมื่อมีการใช้อารมณ์ก็จะมาชี้ว่าเป็นเฉพาะเพศหญิง เหตุผลต้องอยู่กับเพศชาย    

สิ่งเหล่านี้ก็ยังบอกว่ามันยังมีการผูกการกระทำบางอย่างไว้กับเพศบางเพศ ซึ่งจริง ๆ แล้วการทำแบบนี้มันทำให้คนที่สื่อสารด้วยอารมณ์หรือความรู้สึกเป็นกลุ่มที่ไม่ถูกให้ค่าหรือว่าเป็นสิ่งที่ผิด สิ่งที่ถูกต้องของสังคมมีแบบเดียวเท่านั้นก็คือเหตุและผล 

เป็นการกีดกันคนอีกจำนวนหนึ่งที่เขาอาจไม่ได้ใช้เหตุและผลเป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ แล้วการแสดงออกของมนุษย์มันมีมากกว่าเหตุและผล มันมีความรู้สึกเข้ามาร่วมด้วย

ในตอนนี้ที่รัฐสภาเริ่มมีกลุ่มเพศหลากหลายเข้าไปมีบทบาทเป็นผู้แทนประชาชน แล้วบางพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเพศ ในฐานะที่คุณทำงานเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง แล้วก็ทำเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศเป็นหลัก คุณรู้สึกอย่างไรที่พรรคการเมืองเริ่มให้พื้นที่สำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย

รู้สึกตื่นเต้น เห็นว่าบรรยากาศมันเปลี่ยนไปแล้วที่กลุ่มเพศหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น มีพื้นที่ในพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ใช่แค่พรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยเท่านั้น เราก็คาดหวังว่าให้พรรคเหล่านั้นที่สนับสนุนให้มีนักการเมืองเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ความสำคัญกับเสียงของเขาด้วยไม่ใช่แค่ให้พื้นที่ นำเขามาให้เป็นเหมือนกับตัวแทนเฉยๆ ในท้ายที่สุดแล้วไม่ได้รับฟังเสียงหรือว่าความคิดเห็นหรือว่าแนวนโยบายที่ออกมาจากปากของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

คือดีใจที่มีพื้นที่มากขึ้นแต่ยังมีความกังวลว่าทางพรรคแต่ละพรรคจะมีการฟังข้อเสนอหรือว่าข้อคิดเห็นของกลุ่มคนเหล่านี้จริงหรือเปล่า

แม้เป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยเองก็ตาม มันก็มีพรรคบางพรรคที่มีความเป็นปิตาธิปไตยสูงมาก คิดว่าในฐานะที่เราเป็นนักเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมแล้วก็เป็นนักการเมืองด้วย คิดว่าด้วยความที่เป็นเฟมินิสต์ของเรา การทำงานร่วมกันนี่มันยากขึ้นหรือไม่

ค่อนข้างยากมาก เพราะว่าโครงสร้างในการบริหารพรรคก็จะแตกต่างกัน โครงสร้างในการให้อำนาจการตัดสินใจจะไม่เหมือนกัน คิดว่าจะมีความลำบากในการทำงานร่วมกันต่อไป แต่ว่ามันควรเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แต่ละพรรคได้มาพบเห็นบรรยากาศในการทำงานแบบใหม่หรือการทำงานแบบเฟมินิสต์หรือการทำงานกับผู้หญิงที่มีจำนวนมากขึ้น ก็คิดว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ของพรรคอื่นๆ ถ้าเกิดได้ทำงานร่วมกับพรรคเรา

ถ้าอย่างนั้นแปลว่าถ้าเรามีความเป็นประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องมีความเป็นเฟมินิสต์ควบคู่กันใช่หรือเปล่า

สำหรับพรรคเรา คิดว่าจำเป็นต้องมีความเป็นเฟมินิสต์ด้วย ต้องอธิบายก่อนว่า

คำว่าเป็นเฟมินิสต์ในพรรคเราหมายความว่า ความเป็นธรรม ความเป็นธรรมมีลักษณะคล้ายคลึงกับความยุติธรรม แล้วก็การจัดสรรทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน อันนี้คือความเป็นธรรม 

เฟมินิสต์สำหรับพวกเรา ในเมื่อมันหมายถึงความเป็นธรรม ดังนั้น ประชาธิปไตยเฉยๆ ยังไม่เพียงพอ แต่พวกเรามองว่าสังคมต้องมีความเป็นธรรมด้วย

ดังนั้นสังคมต้องมีการปรับปรุงให้เข้าใกล้ความเป็นเฟมินิสต์มากที่สุด อันนี้คือหลักการของพรรคเรา 

กล่าวคือความเป็นธรรมมันยังหมายถึงการกระจายทรัพยากรไปให้แต่ละคนที่ต้องการทรัพยากรในรูปแบบที่แตกต่างกัน ปริมาณที่แตกต่างกัน ให้แต่ละคนสามารถได้ทรัพยากรอย่างทั่วถึง 

เท่าเทียมไม่ได้หมายความว่ามีคนหนึ่งได้ 5 แล้วทุกคนต้องได้ 5 เท่ากัน แต่อาจหมายถึงบางคนอาจได้ 6 ได้ 7 เพื่อที่จะเสริมให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรหรือว่าจุดที่ขาดให้มันเสมอภาคกัน

ดังนั้น พรรคเราก็เลยมองในเรื่องการกระจายทรัพยากรเป็นหลักด้วย คือหลายคนอาจจมองว่าเฟมินิสต์มันเป็นแค่เรื่องความเป็นธรรมทางเพศเท่านั้น 

การมองแค่เรื่องผู้หญิงจะต้องมีสิทธิมากขึ้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด

เฟมินิสต์ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะต้องมีสิทธิมากขึ้น แต่หมายความว่ากลุ่มคนทุกกลุ่มจะต้องเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงกลุ่มที่เป็นเพศหญิงด กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน  อันนี้จะไปถึงจุดความเป็นธรรมที่เฟมินิสต์หมายถึงอีกด้วย

เฟมินิสต์ในแนวคิดของพรรคสามัญชนก็เป็นอีกสายหนึ่งของแนวคิดเฟมินิสต์?

ใช่! เฟมินิสต์มีหลากหลายสาย ซึ่งในตัวของแนวคิดแบบเฟมินิสต์ก็จะมีเฟมินิสต์แบบสังคมนิยม เฟมินิสต์แบบคอมมิวนิสต์ก็มี เฟมินิสต์แบบเสรีนิยมก็มี มีหลากหลายสาย แต่ว่า

เฟมินิสต์ในแนวคิดของพรรคสามัญชนเป็นเฟมินิสต์แบบสังคมนิยม มองที่การกระจายทรัพยากรโดยเฉพาะการกระจายอำนาจเป็นหลัก 

จริงๆ แล้วเฟมินิสต์ในแบบของเรามองถึงอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรจะต้องเป็นธรรม

มองว่าตอนนี้ ชายมีอำนาจมากกว่าในการที่จะเข้าไปกำหนดนโยบายในบรรยากาศปัจจุบัน ผู้หญิงมีอำนาจน้อยกว่า มีพื้นที่น้อยกว่ามันคือการเข้าไม่ถึงอำนาจ แล้วเราก็ต้องการที่จะเป็นพรรคที่พาคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบเข้าไปถึงอำนาจในการกำหนดสิ่งต่างๆ

เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่สนับสนุนทุนนิยมผูกขาด แล้วจะเอาระบบอะไร เมื่อทุกสิ่งต้องขับเคลื่อนด้วยทุน

ควรใช้ระบบแบบสังคมนิยม

แม้ปัจจุบันเป็นแบบทุนนิยมอยู่ แต่ว่าเราสามารถที่จะให้รัฐมีบทบาทมากขึ้นในการกระจายทรัพยากรให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ของรัฐของประเทศ ไม่ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทุน หรือว่าที่ดินที่ทำกิน โดยรัฐต้องเข้าเป็นตัวกลางในการจัดสรรทรัพยากร เพื่อทำให้ไม่มีการแข่งขันจากระบบทุนอย่างเดียว ที่ใครสามารถสะสมทุนได้มากกว่า คนนั้นก็มีอำนาจในการกำหนดตลาดหรือตลาดเสรี เราไม่เห็นด้วยกับสิ่งแบบนี้

เราเห็นด้วยว่า

รัฐต้องเข้ามาจัดการให้มีสวัสดิการ ให้มีการกระจายการถือครองทรัพยากรจนทุกคนสามารถมีต้นทุนในการผลิตที่เสมอภาคกัน สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน สามารถบริโภค สามารถเข้าถึงตลาด สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

แล้วก็สามารถอยู่ในการแข่งขันที่เป็นธรรมโดยมีการเอื้ออำนวยจากรัฐ ไม่ใช่ปล่อยให้แข่งขันกันเอง

สำหรับคุณแล้ว คำว่ารัฐสวัสดิการหมายถึงอะไร

รัฐสวัสดิการสำหรับเราคือ การที่รัฐเข้ามาจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร  ยา  เครื่องนุ่งห่ม  แต่รวมถึงการเข้าถึงการศึกษา  การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ รวมถึงการสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งมีหลายมิติ เช่น มิติด้านเพศด้วย การข้ามเพศหรือการที่เราสามารถเลือกเพศที่เราต้องการได้โดยรัฐต้องเข้ามาช่วยอำนวยให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ 

เหล่านี้ทั้งหมดเลยเรียก รัฐสวัสดิการ 

โดยรัฐสวัสดิการทำให้ชีวิตมี Safety Net คือเหมือนมีตาข่ายคอยโอบอุ้มทุกคนไว้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

แล้วทุกคนก็จะมีตาข่ายของรัฐรองรับไม่ให้ตกไปกลายเป็นผู้ที่แพ้ในการแข่งขัน รัฐสวัสดิการมีหน้าที่ตรงนั้นที่จะประกันว่าทุกคนในรัฐที่ไม่ใช่แค่ประชาชนของรัฐนั้น แต่ว่ารวมถึงคนที่เป็นมนุษย์ที่อาจเป็นสัญชาติอื่นที่อยู่ในรัฐจะประกันว่าเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  รัฐสวัสดิการก็ต้องมาประกันตรงนี้ให้  คิดว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในรัฐก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากที่รัฐมีรัฐสวัสดิการคอยโอบอุ้มทุกคนอยู่ เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นตามมาด้วย

การกระจายอำนาจสำหรับตัวพรรคแล้วหมายถึงอะไร

นำอำนาจที่รัฐส่วนกลางได้รวบไว้เมื่อการตั้งรัฐสมัยใหม่ กระจายไปสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด เริ่มจากการกระจายไปสู่ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ของประเทศ สามารถปกครองตนเอง สามารถออกแบบการจัดการและการบริหารที่เข้ากับพื้นที่หรือว่าท้องถิ่นของตนเองได้มากที่สุด 

เพราะเราเชื่อว่าท้องถิ่นเป็นผู้ที่เข้าใจบริบทของตนเองได้มากที่สุดดีกว่ารัฐบาลกลาง   

ดังนั้นพรรคสามัญชนสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 100% แต่เราอาจพูดไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ อาจทำให้เรายังไม่มีเสรีภาพในการที่จะพูดไปถึงที่สุด แต่ว่าเราสามารถพูดได้ว่าพรรคสามัญชนต้องการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 100% ค่ะ

100% หมายถึงทั้งอำนาจหน้าที่และงบประมาณต้องอยู่ที่ท้องถิ่น 100%

แปลว่าอย่างที่เราเคยเห็นแทบทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด สามารถแก้ได้โดยใช้การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นนั้นๆ?

ใช่ คือการพัฒนาต่างๆ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐและโครงการขนาดใหญ่ของทุนต้องผ่านการเห็นชอบจากคนในชุมชนนั้นๆ ไม่ใช่ใช้มติจากรัฐบาลส่วนกลาง เพราะมันกลายเป็นให้คนทั้งประเทศไปตัดสินใจแทนชุมชนเหล่านั้น อันนี้เราไม่เห็นด้วย 

เราเห็นด้วยว่าชุมชนมีสิทธิ์และอำนาจเต็มที่ในการที่จะตัดสินใจว่าชุมชนของเขาจะเกิดการพัฒนาในแบบไหน โครงการขนาดใหญ่แบบไหนที่จะมาเกิดในชุมชนเขาและเขาต้องการให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ อำนาจเหล่านี้อยู่ที่ชุมชน 100% โดยที่รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทน

เห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

เห็นด้วยที่สุด เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้การที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งอยู่ในปัจจุบันเป็นตัวแทนของการรวมศูนย์อำนาจ

เป็นการที่รัฐบาลกลางหรือกรุงเทพมหานครกำลังส่งตัวแทนของกรุงเทพมหานครไปประจำอยู่ที่แต่ละจังหวัด เพื่อที่กรุงเทพฯ สามารถควบคุมและบริหารจัดการแต่ละจังหวัดได้โดยตรง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันก็มาจากการรัฐประหารและก็รัฐธรรมนูญของทหาร

ยิ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดว่าการที่ไม่กระจายอำนาจก็จะยิ่งเป็นเครื่องมือของเผด็จการในการที่จะเข้าไปควบคุมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย 

เพื่อให้ประชาธิปไตยอยู่คู่กับประเทศไทยอย่างคงทนถาวร การกระจายอำนาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในการทำให้ไม่ว่าเป็นรัฐบาลใดก็ไม่สามารถมีอำนาจครอบครองเหนือทุกจังหวัดได้

ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากคนในพื้นที่ ในการเลือกผู้ว่าฯ หรือเลือกตัวแทนของตนเองในการบริหารท้องถิ่นตนเอง 

ไม่ได้พูดในฐานะตำแหน่งแต่พูดถึงในฐานะอำนาจแล้วก็ทรัพยากรด้วยว่าตัวอำนาจแล้วก็ทรัพยากรของจังหวัดต้องถูกกระจายไปอยู่ในมือของผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่เพียงเลือกตั้งแล้วก็มีอำนาจและขอบเขตที่ค่อนข้างแคบ

ต้องมีอำนาจส่งไป มีงบประมาณส่งไปแล้วผู้ว่าฯ นั้นก็มีอำนาจเต็มในการที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ของตนเองในการบริหารพื้นที่ของตน

แปลว่าต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค?

ใช่ จำเป็นต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคและจำกัดอำนาจของราชการส่วนกลางให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งมันสามารถทำได้  การทำรัฐสวัสดิการต่างๆ สามารถทำได้โดยจังหวัดของตนเอง โดยไม่จำเป็นที่จะให้รัฐบาลส่วนกลางต้องมีขนาดใหญ่และเข้าไปควบคุมจังหวัดต่างๆ

คุณคิดว่าปัจจัยใดจะทำให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเกิดขึ้นได้จริง

ปัจจัยข้อที่ 1 เลยคือ เราต้องได้รัฐบาลที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยก่อนเพื่อให้เราสามารถที่จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ เมื่อเราเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ตัวนี้จะเป็นตัวการันตีว่าความคิดเห็นของประชาชนสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในชั้นนิติบัญญัติคือ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน

ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยตรงในการที่จะรับเอาข้อกฎหมายต่างๆ ที่ประชาชนเสนอซึ่งแน่นอนว่าจะมีการเสนอเรื่องการกระจายอำนาจไปจนถึงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ต้องมีเป็นร่างพระราชบัญญัติเข้าไปแน่นอน  ทีนี้เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่มีอำนาจของ ส.ว. รัฐธรรมนูญใหม่ที่เปิดกว้างให้การกระจายอำนาจเป็นไปได้โดยที่ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็คือได้รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย 

ข้อ 2 คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่  สองปัจจัยนี้ก็จะทำให้เราสามารถที่จะก้าวเข้าไปใกล้กับการกระจายอำนาจสู่ทุกจังหวัด

ปัจจุบัน สัดส่วนงบประมาณอยู่ที่ส่วนกลาง 70 ท้องถิ่น 30 แต่ใน ร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ The Voters กำลังล่ารายชื่ออยู่ กลับกันคือ ท้องถิ่น 70 ส่วนกลาง 30 คุณคิดเห็นอย่างไร

ความคิดเห็นของพรรคเห็นด้วยแน่นอนที่จะให้งบประมาณอยู่กับท้องถิ่นเยอะกว่างบประมาณที่อยู่กับส่วนกลาง  แต่ว่าตัวเลขว่ากี่เปอร์เซ็นต์ในตอนนี้ ทางพรรคยังไม่ได้มีการทำวิจัยไว้ 

มีคนอยากเลือกพรรคสามัญชนจำนวนมากจากนโยบาย แต่กลัวเสียคะแนนไปฟรีๆ เพราะยังไงพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยนำแน่ๆ สำหรับตัวคุณและพรรคสามัญชนเองมีอะไรอยากบอกกับคนกลุ่มนี้บ้าง

เราอาจมามองกันมุมใหม่ว่า จากการกลัวว่าเลือกพรรคที่เราต้องการเลือกแล้วเสียงจะตกน้ำหรือว่าไม่มีประโยชน์

เป็นการมองว่าเรารวมตัวกันเพื่อที่จะเลือกตัวพรรคที่เราต้องการจริงๆ ให้ได้มีพื้นที่เข้าไปอยู่ในสภานิติบัญญัติ ถ้ามองแบบนี้เราสามารถที่จะเลือกพรรคที่เราต้องการจริงๆ ได้ อาจไม่ใช่พรรคสามัญชนด้วยซ้ำ  อาจจะเป็นพรรคเล็กพรรคอื่นๆ

การที่มีพรรคสามัญชนเข้าไปก็ไม่ได้เป็นการเบียดให้ฝ่ายประชาธิปไตยนั้นมีที่นั่งน้อยลงแต่ว่าเป็นการที่จะได้ฝ่ายประชาธิปไตยเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือจะได้อุดมการณ์แบบพรรคสามัญชนเข้าไปนั่งในสภานิติบัญญัติด้วย 

ฝากแนวคิดว่าเราควรมีเสรีภาพในการโหวตพรรคที่เราชอบจริงๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเลือกตามยุทธศาสตร์เพื่อที่จะชนะ  

เห็นมีนโยบายหนึ่งของพรรคสามัญชนเกี่ยวกับเรื่อง ศาลอาญาระหว่างประเทศ อยากให้ขยายความว่า จะนำมาใช้กับกรณีไหนของไทย

สำหรับกรณีนโยบายศาลอาญาระหว่างประเทศ เราจะนำมาใช้ในกรณีที่รัฐหรือตัวละครตัวเล่นที่มีอำนาจมากในการกลั่นแกล้งหรือการทำร้าย ประหารผู้คนในประเทศ แล้วตัวสถาบันตุลาการของรัฐเองไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมได้ด้วยตนเอง เลยจำเป็นที่จะต้องใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งมันสามารถรวมไปถึงในหลายเคส 

เช่น กรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 53 กรณีตากใบ นี่แค่ยกตัวอย่าง

ทำไมทางพรรคถึงชูนโยบายต้องยกเลิก 112 ถ้าเกิดเราไม่ยุ่งกับสถาบัน ก็ไม่เห็นเดือนร้อน

ความจริงแล้วเราไม่ได้ปลอดภัยภายใต้รัฐที่มีกฎหมายแบบ 112  คำกล่าวที่ว่าถ้าไม่ยุ่งกับเรื่องนี้ก็น่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นมายาคติหรือเป็นความเข้าใจผิดเพราะว่าจริงๆ แล้วการที่เรานั่งอยู่ในรัฐที่มีกฎหมายที่คุ้มครองกลุ่มคนบางกลุ่มโดยเฉพาะ ทำให้แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นและไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจอย่างชัดเจน มีกลุ่มคนที่ไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ 

ตัวกฎหมายมาตรา 112 นั้น เขียนระบุเรื่องห้ามมิให้อาฆาตมาดร้าย แต่เมื่อมาใช้จริงกลับนำมาใช้ในเรื่องเกี่ยวกับการปกป้องในกรณีไม่ให้โดนหมิ่นประมาทหรือว่าไม่ให้โดนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ซึ่งแม้แต่เป็นเรื่องการพูดคุยแบบปกติก็ไม่สามารถพูดถึงได้ อันนี้เป็นกฎหมายที่ทำให้เป็นตัวแสดงให้เห็นว่าคนไม่เท่ากันในประเทศ

การนั่งอยู่เฉยๆ โดยอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เราก็จะอยู่บนความไม่เท่าเทียมตลอดไป พรรคสามัญชนจึงคิดว่าเราต้องการความเท่าเทียมและเป็นธรรมทั้งในด้านทรัพยากรแล้วก็อำนาจต่างๆ

กฎหมายตัวไหนก็ตามที่ทำให้คนไม่เท่ากันจะต้องถูกยกเลิกไป รวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยและวิธีที่จะมาแทนก็คือเราเสนอให้คนที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในทางแพ่งในการฟ้องร้องต่อกัน

และเราต้องการยกเลิกกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทด้วยเพราะว่าเป็นเครื่องมือให้กลุ่มคนที่มีอำนาจใช้ในการปิดปากประชาชนโดยใช้ทรัพยากรของรัฐในการปิดปากประชาชนเพราะว่ากฎหมายอาญาจะทิ้งให้รัฐไปทำหน้าที่ในการพิสูจน์ความจริงแล้วก็ตามจัดการกับผู้ที่ถูกฟ้องร้อง 

เราเลยคิดว่าการมีเพียงกฎหมายทางแพ่งก็เพียงพอแล้วในการที่จะประกันเรื่องการหมิ่นประมาท และเพื่อจะให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออกแล้วก็เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกรับประกันก็จะต้องไม่มีกฎหมายอาญาในเรื่องหมิ่นประมาทแล้วก็กฎหมายอาญามาตรา 112

เห็นทางพรรคสามัญชน เวลาคิดนโยบายอะไรอย่างนี้ เป็นการคิดนโยบายจากฐานราก อยากให้ช่วยขยายความหน่อยว่าทำไมเราควรคิดนโยบายจากฐานราก 

เพราะว่าเรามีแนวคิดว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นเสียงของประชาชน เราต้องการที่จะให้การเมืองใหม่ที่เราสร้างมาคือประชาชนสามารถส่งเสียงได้ด้วยตนเองว่าต้องการอะไร 

นโยบายจากฐานรากของเราจึงเป็นข้อเรียกร้องที่มาจากประชาชนโดยตรงผ่านการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น ประชาชนที่เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิแรงงานเราก็รับนโยบายทั้งหมดของเครือข่ายสิทธิแรงงานมา หรือประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเราก็รับเอานโยบายที่ประชาชนเสนอทั้งหมดมาเลย 

รวมถึงนโยบายประมงก็มาจากประชาชนชาวประมงที่เคลื่อนไหวเรื่องประมงพื้นบ้าน นโยบายที่ดินป่าไม้ก็มาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ละกลุ่มคนเขาก็จะมีการเคลื่อนไหวของเขาแล้วก็จะมีข้อเรียกร้องต่างๆ เราก็รับเอาข้อเรียกร้องต่าง ๆ เหล่านั้นมาเป็นนโยบายของเรา

อันนี้เรียกว่าเป็นนโยบายที่มาจากฐานรากก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบเสนอนโยบายของตนเองโดยตรงแล้วเราก็นำนโยบายนั้นมานำเสนอ คือพรรคเป็นของประชาชนโดยตรง

สำหรับพรรคสามัญชนเองคิดว่าปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าเกิดเราใช้แว่นกระจายอำนาจในการมอง เราสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพอากาศให้มันดีขึ้นได้หรือไม่

ปัญหาเรื่องมลพิษ การมองในมิติเดียวที่จะมองว่าฝุ่นนี้เกิดจากการเผาของประชาชน ถ้าตัดเพียงเท่านั้นก็จะทำให้เข้าใจผิดว่าตัวต้นตอของปัญหานี่มาจากอะไร เราต้องเข้าไปมองถึงในมิติของทุนที่เข้ามาสนับสนุนให้ประชาชนต้องทำสิ่งเหล่านี้ วิธีการปลูกและวิธีการผลิตต่างๆ แล้วก็กระบวนการที่เร่งรีบต่างๆ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ว่าต้องเผา

เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเป็นกลุ่มบริษัทอะไรบ้างที่ส่งเสริมให้เกิดมลภาวะนี้แล้วก็มีประเภทไหนบ้างที่จริงๆ แล้วไม่ได้แยกเดี่ยวว่าเป็นคนในภาคเหนือเผาแล้วเกิดมลภาวะ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นมลภาวะที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาคของทางตอนเหนือของประเทศ และรวมถึงตอนกลางของประเทศ ฝุ่นก็มาจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มลภาวะทางถนนด้วย 

ในฐานะรัฐจะเข้าไปควบคุมกลุ่มทุนต่างๆ ที่เป็นต้นตอของการผลิตหรือเป็นต้นตอที่ทำให้เกิด Demand เกิดความต้องการในการผลิตสูงขึ้นอย่างไร  

รวมถึงต้องมีนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมด้วย เราต้องเข้าไปควบคุมบริษัทเหล่านั้นด้วยไม่ใช่ปล่อยให้ไปจัดการที่ปลายเหตุ เช่น ไปบอกให้ชาวเกษตรกรหยุดเผาอะไรแบบนี้ โดยที่ไม่ได้สนใจออกแบบร่วมกับภาคเกษตรกรว่าจะทำยังไงได้บ้าง

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหวังหรือไม่ที่เราจะมีประชาธิปไตยที่ดีขึ้น อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ความหวังต่ำ… เพราะว่าเรายังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าฝั่งประชาธิปไตยจะได้กำหนดนายกฯ ของตัวเราเอง หรือมีข้อไหนบ้างที่ประชาชนต้องไปยอมเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล 

ดังนั้น ความหวังยังริบหรี่ว่าเราจะได้รัฐบาลที่มีเสรีภาพแล้วก็สามารถที่จะบริหารประเทศที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจริงๆ ถ้าเกิด ส.ว. ยังไม่ประกาศลาออกจากตำแหน่งหรือประกาศว่าจะไม่ใช้เสียงในการเข้ามาเลือกนายกฯ เราก็ยังมีความหวังริบหรี่

เคยได้ยินคุณบอกว่าแม้จะส่งคนเข้าในสภา การต่อสู้ที่อยู่นอกสภาก็มีความจำเป็นด้วยเช่นกัน อยากให้คุณลองขยายความประเด็นนี้

ถึงแม้เราจะเข้ามาต่อสู้ในสภาแต่ใจความสำคัญของพวกเราคือการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น การเคลื่อนไหวมันไม่ใช่มีเพียงในสภาเท่านั้น แต่ว่าการเคลื่อนไหวมันมีนอกสภาด้วยนะคะ แล้วพรรคเรามาจากขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่อยู่นอกสภา ถึงแม้เราจะไม่ได้เข้าไปมีที่นั่งในสภานิติบัญญัติ แต่ว่าขบวนการของเรายังต่อสู้อย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะมีพรรค

หลังจากมีพรรคหรือระหว่างมีพรรค ขบวนการก็ยังต่อสู้และดำเนินการขับเคลื่อนทางสังคมมาตลอดไม่มีการหยุดและสิ่งสำคัญในการที่จะต่อสู้นอกสภาไปพร้อมกันก็เพราะว่าเราจะเข้าถึงความเป็นธรรมได้ ในประเทศเราโชคร้ายที่เกิดมาในประเทศไทยที่การเข้าถึงความเป็นธรรมนั้นมันไม่ได้มาอย่างสวยงามหรือมาอย่างง่ายๆ แต่ต้องมาจากการต่อสู้และน้ำพักน้ำแรง ดังนั้นเราจึงหยุดต่อสู้นอกรัฐสภาไม่ได้เพราะว่ารัฐสภาก็เป็นเพียงกลไกนึง นอกรัฐสภาก็เป็นอีกกลไกนึงที่สำคัญ

พรรคสามัญชนคิดว่าทุกปัญหาจะต้องแก้พร้อมกันเดี๋ยวนี้ตอนนี้ทันที หมายความว่าไม่มีปัญหาไหนรอได้  ปัญหาอุ้มหาย  ซ้อมทรมานก็จะต้องยุติทันที ปัญหามลพิษก็จะต้องได้รับการแก้ไขทันทีหรือว่ายุติทันที  ปัญหาการที่ประชาชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็จะต้องเข้าถึงทันที ปัญหาการฟ้องคดีเรื่องบุกรุกป่าจากนโยบายทวงคืนผืนป่าก็ต้องยุติการฟ้องคดีทันที 

ดังนั้นไม่มีปัญหาไหนรอได้

Authors

  • Slasher / Day Dreamer / นักอยากเขียน ผลงานบทความบทเว็บไซต์ Practical school of design ยังคงตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่พบเห็น พร้อมทั้งยังหาคำตอบของสิ่งที่สนใจหรือตั้งข้อสงสัยต่อไป

  • มนุษย์ขี้กลัว เพื่อนหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *