ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์: เมื่อตะวันแผดเผาเหล่าเผด็จการ

บนสกายวอล์กเหนือสี่แยกกลางเมือง ผมอยู่เบื้องหน้าเจ้าของแววตาเปี่ยมความมุ่งมั่น ทั้งเจิดจ้าและท้าทายราวกับดวงอาทิตย์

ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าผู้คนจะเรียกขานเธอว่าอะไร ตะวันคือหนึ่งในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ก้าวออกมาพูดถึงปัญหาของประเทศ และแน่นอนว่ารวมถึงเรื่องที่อาจเรียกได้ว่าเป็นใจกลางความขัดแย้งของคนสองฝ่ายอย่างเรื่องสถาบันกษัตริย์

ตะวันถูกแจ้งข้อหามาตรา 112, 116, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ รวมถึงข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหา จากการทำโพลตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดให้คนทั่วไปแสดงความคิดเห็นผ่านการติดสติกเกอร์ และอีกครั้งจากการทำโพลสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112

ไม่นานก่อนหน้าการนัดสัมภาษณ์ ตะวันและ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ทำการประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำเป็นเวลาทั้งหมด 52 วัน เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งสุดท้ายแล้วแม้ศาลปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาบางส่วน กระนั้น ขอเรียกร้องอื่นๆ ยังคงไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

“ตอนนี้ดีขึ้น กินข้าวได้ปกติ ตอนแรกคุณหมอจะให้กินเป็นน้ำข้าวก่อน หลังจากนั้นก็เป็นพวกอาหารอ่อน ถึงจะค่อยๆ กลับมากินอาหารปกติได้ ล่าสุดเพิ่งไปเจาะเลือด ยังมีค่าซีดเลือดจาง ส่วนของพี่แบมก็ซีดเหมือนกัน

“แต่เขาหนักกว่าตรงที่เขาตับอักเสบด้วย ค่าตับค่อนข้างสูง นอกจากนั้นก็มีหน้ามืด เป็นลมบ่อย เพราะอากาศร้อนด้วย และค่าเลือดเราไม่ค่อยดีด้วย ถามว่ามีผลกระทบกับการใช้ชีวิตไหม คือร่างกายมันอ่อนแอกว่าแต่ก่อน อ่อนเพลียกว่าเดิม แต่ไม่ถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย” ตะวันกล่าว

เมื่อผมถามถึงสุขภาพร่างกายหลังจากการอดอาหารและน้ำ ก่อนที่เราจะพูดคุยกันในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเป็นมุมมองที่มีต่อการกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ รวมถึงเรื่องมาตรา 112 ทั้งนี้โดยส่วนตัวในฐานะผู้สัมภาษณ์ แม้พอมองเห็นถึงร่องรอยของความเหนื่อยล้าทางกายอยู่บ้าง

แต่มุมมองและความคิดเห็นของตะวันยังคงยืนยันถึงความกล้าหาญ และความหวังที่จะเปลี่ยนประเทศนี้ให้ดีขึ้น

การกระจายอำนาจในมุมมองของคุณคืออะไร

การกระจายอำนาจในมุมมองของหนู คือการที่ไม่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่ว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพยากร หรือว่าการให้อิสระกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง

หนูรู้สึกว่าประเทศจะเข้มแข็งได้จริง ไม่ใช่ว่าส่วนกลางต้องเข้มแข็งอย่างเดียว แต่ท้องถิ่นเองก็ต้องแข็งแกร่งด้วยเหมือนกัน มันต้องไปด้วยกัน

คุณคิดว่าอะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศควรมีการกระจายอำนาจ

อย่างที่ตอบไปเมื่อครู่ การที่ประเทศจะแข็งแรงได้ไม่ใช่ว่าส่วนกลางเท่านั้นที่จะต้องมีการบริหารจัดการดีที่สุด หรืออำนาจจะต้องอยู่ที่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ท้องถิ่นต้องมีอิสระในการจัดการตนเองด้วย เพราะว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าแต่ละท้องถิ่นมีปัญหายังไง นอกจากคนในท้องถิ่นเอง ฉะนั้น ถ้าเราให้อิสระเขาในการจัดการบริหารตนเอง ก็จะสร้างความเข้มแข็งจริงๆ ให้กับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

การรณรงค์ให้เกิดการกระจายอำนาจ เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไร

การรณรงค์หรือการทำอะไรสักอย่างก็คือการออกสิทธิ์ออกเสียงของเรา ไม่ว่าเสียงนั้นจะน้อยหรือมากก็ตาม สุดท้ายแล้วการออกสิทธิ์ออกเสียง การออกมาพูดเรื่องอะไรสักอย่างที่เรารับรู้ว่ายังมีปัญหาอยู่นั่นก็คือประชาธิปไตย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องไหน อย่างเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็เป็นหนึ่งในการออกมาใช้สิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน

เห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศหรือไม่

ถามว่าเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศหรือไม่ เห็นด้วยแน่นอน ไม่มีใครรู้ปัญหาของแต่ละท้องถิ่นได้ดีกว่าคนในท้องถิ่นเอง

ฉะนั้น การให้คนในแต่ละท้องถิ่นเลือกผู้ว่าฯ หรือเลือกคนที่มีอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นของเขาเอง ก็จะตอบโจทย์ได้ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาแต่ละท้องถิ่น

คิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่บอกว่าท้องถิ่นไม่พร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

คนที่ไม่พร้อมไม่ใช่คนในท้องถิ่นหรอก แต่คือคนที่ไม่พร้อมที่จะสละอำนาจ ไม่พร้อมที่จะเสียผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้มีอิสระในการบริหารจัดการตนเอง หนูรู้สึกว่าเราอยากได้อิสระตรงนี้มานานแล้ว มีการรณรงค์มาตลอด แต่ก็ถูกแช่แข็งเอาไว้ตลอดเหมือนกัน เพราะคนที่ไม่พร้อมจริงๆ คือคนที่กำอำนาจไว้มากกว่า

คนรุ่นใหม่จะช่วยผลักดันการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ได้อย่างไรบ้าง

หนูรู้สึกว่าโซเชียลมีเดียสำคัญมาก ยิ่งคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก ฉะนั้น เราสามารถช่วยกันแชร์ปัญหา หรือแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้ในโลกโซเชียล หรือถ้าเราไม่ได้รู้ข้อมูลขนาดนั้น

แต่ถ้าเราเห็นว่าโพสต์เกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้วเราเห็นด้วย เราก็สามารถแชร์ได้ อันนี้เป็นเพียงพื้นฐานของการช่วยกันกระจายข่าว ช่วยกันแชร์ปัญหาในสังคม หรือมากไปกว่านั้นเราสามารถทำอะไรสักอย่างที่เราถนัด วาดรูป ร้องเพลง อะไรก็ได้ หนูรู้สึกว่ามันช่วยได้หมด

ตอนนี้เรากำลังล่ารายชื่อ ร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม งบประมาณจากส่วนกลาง 70 ท้องถิ่น 30 เป็น ท้องถิ่น 70 ส่วนกลาง 30 อยากถามความเห็น

ควรเป็นแบบนั้น

หนูรู้สึกว่าท้องถิ่นถูกแช่แข็งการพัฒนาความเจริญไว้นานมาก ฉะนั้น การเปลี่ยนให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นเป็นเรื่องที่ควรทำ เพื่อให้ได้นำอำนาจส่วนนี้ไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาของเขา

นโยบายแบบใดที่อยากให้เกิดขึ้นกับท้องถิ่น

มีหลายอย่างที่ควรพัฒนา แต่โดยส่วนตัวคิดว่าการคมนาคมค่อนข้างเห็นได้ชัด ถ้าใครจำได้

ช่วงที่มีม็อบแรกๆ มีตำรวจนายหนึ่งพูดกับ คฝ. ประมาณว่าเป็นยังไงบ้างพามาดูรถไฟฟ้า ชอบไหม หนูรู้สึกเป็นคำพูดที่เหมือนกำลังบอกว่าพามาดูรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แต่การคมนาคมในต่างจังหวัดมันไม่ได้ดีเลย

ที่จริงถ้าเป็นพวกเราก็รู้สึกว่าในกรุงเทพฯ ลำบากแล้ว แต่ต่างจังหวัดที่เขาไม่มีรถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ก็ค่อนข้างที่จะเดินทางยากมาก จึงอยากให้มีนโยบายตรงนี้

เวลาไปต่างจังหวัด เรื่องใดที่ทำให้เจ็บปวด

ความเจ็บปวดเกี่ยวกับคำพูดมากกว่า เช่น บางทีเราขับรถไปพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ ที่อาจไม่ได้มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี และเราก็มีคำพูดว่า โห-ตรงนี้เหมือนต่างจังหวัดเลย อะไรแบบนี้ คือเป็นคำพูดที่ทำให้รู้สึกว่าแล้วทำไมต่างจังหวัดถึงไม่พัฒนาเหมือนในกรุงเทพฯ ทำไมยังมีคำพูดแบบนี้ เพราะบางทีตัวเราเองก็ยังรู้สึกว่าตรงนี้เหมือนต่างจังหวัดเลยด้วยซ้ำ ทั้งที่ต่างจังหวัดควรมีระบบการขนส่ง หรือการพัฒนาที่ดีไม่ต่างจากกรุงเทพฯ และโดยอิสระ

ทำไมต้องยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

อย่างมาตรา 112 หนูรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์เองก็ตาม หรือคนในราชวงศ์ก็ตาม เจ็บเป็น มีเลือดมีเนื้อเหมือนกับเรา ทำไมถึงต้องมีมาตราใดมาตราหนึ่งคุ้มครองเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไป ทั้งที่กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลก็มี ฉะนั้น ถ้าถูกหมิ่นประมาทด้วยคำพูดที่ไม่ดีจริงๆ ก็ให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคล

ส่วนมาตรา 116 อย่างบางทีแค่เราโพสต์เชิญชวนคนมาม็อบก็โดน เข้าข่าย คนโดน 116 กันไปตั้งเยอะ หนูก็โดนทั้ง 112 และ 116 จากคดีโพลขบวนเสด็จ ทำไมกับการแค่โพสต์ว่าจะมีกิจกรรมสำรวจความเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ แล้วเราก็ไปทำกิจกรรม มีผู้คนมาแสดงออก แสดงความคิดเห็นว่าเขาเดือดร้อนหรือไม่ ทำไมเราต้องโดน 112

และ 116 มันคือการยุยงปลุกปั่นยังไง ในเมื่อเราต้องการสำรวจความคิดเห็น และถ้ามันเดือดร้อนหรือมีปัญหาจริงๆ ก็ควรแก้ไข ไม่ใช่มายัดคดี แล้วเอาคนเข้าคุกไปแบบนี้ สุดท้ายแล้วมันก็คือปัญหาทั้งหมด แต่ว่าคนบางกลุ่มยกย่องตัวบุคคลจนเกินไป ไม่มองถึงปัญหาจริงๆ ที่เป็นแก่นแท้

เหมือนมีกฎหมายนี้เอาไว้ไม่ให้ตั้งคำถามใดๆ เพราะถ้ามีการตั้งคำถามใด ก็จะถูกตีความว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น?

ท้ายที่สุดแล้วคือเขาเอากฎหมายนี้มาเป็นเครื่องมือในการหยุดคนที่คิดเห็นต่าง หรือพยายามจะพูดถึงปัญหาจริงๆ ของคนที่มีอำนาจเท่านั้นเอง เขาก็แค่กลัวว่าพวกเขาจะสั่นคลอน ก็เลยเอากฎหมายนี้มาจัดการ

ถ้าพูดในมุมของอีกฝั่งหนึ่ง (สลิ่ม) ว่าเหตุผลที่ต้องมีกฎหมายที่ต่างจากคนธรรมดา เพราะพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ หรือประเทศอื่นๆ ก็มีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ คุณคิดเห็นอย่างไร

บางประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ แม้บางประเทศจะมี แต่ประเทศไทยโทษจำคุกสูงมาก และบางทีไม่เข้าข่ายด้วยซ้ำก็โดน ส่วนการที่บอกว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจ หนูว่ามันคือการทำงานของรัฐไทย

ไม่ว่าจะพูดยังไง จะเชิงวิชาการหรือยังไงก็ตาม กลายเป็นว่าทุกวันนี้การกระทำทุกอย่างมันโดนไปหมดเลย อย่างล่าสุดสายน้ำ (นักเคลื่อนไหวทางการเมือง) เพิ่งโดน 112 อีกคดีหนึ่งไปเพราะว่าถ่ายรูปชูสามนิ้วหน้าลานพระบรมรูป แค่นั้นเลย และก็โดนร่วมกันบุกรุก ทั้งที่ตรงนั้นเป็นสถานที่เปิด หลายคนสามารถเข้าไปได้ แต่กลับโดนแจ้งร่วมกันบุกรุก แจ้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชุมนุมโดยไม่แจ้ง ชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง ทั้งที่มันไม่ใช่การชุมนุมด้วยซ้ำ และมันเข้าข่าย 112 ยังไง มันบุกรุกยังไง กลายเป็นว่าอะไรก็ตามสามารถโดนได้หมด ทำไมคนถึงยังไม่เห็นปัญหากันอีก

แทบทุกพรรคการเมืองตอนนี้ที่พูดถึงมาตรา 112 อย่างมากคือแก้ไข มองตรงนี้อย่างไร

หนูก็สงสัยและไปถามเหมือนกัน อย่างที่ถามพรรคก้าวไกลว่าทำไมถึงแค่แก้ไข แล้วเขาคิดว่า 112 สมควรยกเลิกไหม ตอนนั้นทำเป็นโพลไปถามว่าคุณคิดว่า 112 สมควรยกเลิกหรือแก้ไข ในงานปราศรัยของพรรคก้าวไกลที่ชลบุรี มีทั้งประชาชนที่มาร่วมฟังปราศรัยมาติดสติกเกอร์ และทีมงานของพรรคด้วย

รวมถึงคุณพิธา หรือว่าผู้สมัคร ส.ส. ก็เข้ามาร่วมติดเหมือนกัน มีประชาชนบางส่วนที่ติดในฝั่งแก้ไข แต่ส่วนมากซึ่งรวมถึง ส.ส. และทีมงานของพรรคก้าวไกลจะติดฝั่งยกเลิก ก็เห็นว่าเขาอยากยกเลิกเหมือนกัน แต่เขาให้เหตุผลที่ว่าเราจะเริ่มจากการแก้ไขก่อน และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การยกเลิก ซึ่งหนูเห็นด้วยกับการยกเลิก เพราะว่ากฎหมายนี้ไม่ควรมีอยู่

ฝ่ายรัฐบาลสืบทอดอำนาจและกองเชียร์ มักอ้างว่ามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง ในส่วนนี้คุณมีความคิดเห็น รวมถึงข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง ในฐานะคนหนึ่งที่ออกมาพูดเรื่องนี้

หนูรู้สึกว่าเขาพูดถูกอย่างหนึ่งคือเป็นกฎหมายที่ปกป้องพระมหากษัตริย์ ก็ใช่ แต่ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่เกี่ยวกับการเมืองยังไง หนูมองไม่ออก เพราะทุกอย่างเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด สถาบันเองก็ได้เงินภาษีจากเรา จะไม่เกี่ยวยังไง

ถ้าเขาบอกว่าไม่ใช่เอาไว้เล่นงานคนเห็นต่าง อันนี้หนูไม่เห็นด้วย เขาไม่ได้รับรู้หรือเปล่าว่ามีคนโดน 112 จากเหตุการณ์อะไรบ้าง หนูไม่แน่ใจว่าเขารับรู้แต่แกล้งทำเป็นไม่รับรู้หรือเปล่า

หนูว่าเขาน่าจะรักจนมันบังตา จนไม่ได้มองว่าเป็นปัญหายังไง รวมถึงการที่เขาเอากฎหมาย 112 ใช้ในการปิดปากด้วย

ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้มีอำนาจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างเช่น ส.ส. หรือ ส.ว. ในสภา ไม่ตอบรับการแก้ไขมาตรา 112

ก็จะมีการเรียกร้องของภาคประชาชนไปเรื่อยๆ บางคนมองว่าไม่ได้เดือดร้อนเขา เพราะเขาไม่ได้มองถึงแก่นแท้เลยว่าการที่เขาไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้แปลว่ามันไม่ได้เดือดร้อนเขาจริงๆ เขาอาจไม่เดือดร้อนในทางตรง แต่เขาอาจเดือดร้อนในทางอ้อม อย่างเรื่องเงินภาษี

ท้ายที่สุดหลังการเลือกตั้ง ถ้ายังคงไม่ตอบรับเรื่อง 112 ก็จะมีการเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าแก่นของปัญหานั้นยังอยู่ และคงได้เจอกันอีกเรื่อย ๆ ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ หนูจะพยายามทำให้สังคมเห็นว่ามันมีปัญหาจริงๆ

มีเสียงว่า 112 ไม่ทำให้ฉันเดือดร้อน ถ้าฉันไม่ไปพูดถึงสถาบัน คิดเห็นอย่างไร

มีคำพูดหนึ่งที่หนูเพิ่งได้ยิน เขาไม่ได้พูดว่าเขาไม่ได้เดือดร้อนจาก 112 แต่เขาพูดว่ามีกี่คนในประเทศที่ติดคุกเพราะ 112 เขาพูดประมาณว่ามันมีไม่กี่คน หนูได้ยินแล้วรู้สึกเจ็บปวดมาก อย่างที่พูดไปแล้วว่าต่อให้คุณไม่เดือดร้อนในทางตรง ต่อให้คุณไม่ได้โดน 112 แต่คุณอาจได้รับผลกระทบในทางอ้อม

คนที่ออกมาพูดให้พวกคุณเข้าใจ เขาโดนมาตรานี้ แล้วถ้าไม่สามารถพูดถึงปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์  จนไม่เกิดการช่วยกันแก้ไข มันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คุณแน่ใจหรือเปล่าว่าคุณไม่ได้รับผลกระทบจริงๆ

เรื่องของงบประมาณสถาบันกษัตริย์ เมื่อมีคนที่ไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ หรือไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา เราจะอธิบายเป็นรูปธรรมอย่างไรได้บ้าง ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อเขาจริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยคนชรา 600 ต่อเดือน คุณอยู่ยังไง 600 ต่อเดือน 30 วัน วันละเท่าไหร่-ยี่สิบบาท ทุกวันนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละกี่บาท ข้าวจานละกี่บาท อยู่ยังไง 600 แล้วเด็กที่ไม่ได้เข้าถึงการศึกษามีอีกตั้งเท่าไหร่ คนที่เขาหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะว่าไม่มีทุนทรัพย์ในการเรียนต่อ มีอีกตั้งเท่าไหร่

ฉะนั้น ลองเปรียบเทียบในกรณีแบบนี้กับสถาบันดู

แค่กระจายงบส่วนนั้นมาใส่ตรงนี้ หนูรู้สึกว่าจากวันหนึ่งที่เบี้ยคนชราวันละยี่สิบบาท คุณอาจมีกินวันละร้อย หรือเท่าที่สามารถใช้ชีวิตจริงๆ ได้ในปัจจุบัน และยังสามารถช่วยคนในประเทศได้อีกเยอะมาก เด็กหลายคนอาจได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ใช้เงินตรงนี้ทำให้เด็กมีการศึกษา แค่นี้หนูว่าก็น่าจะเข้าใจกัน

คุณรู้สึกอย่างไร หลังจากประท้วงด้วยการอดอาหารและน้ำ แต่ศาลก็ยังคงไม่ให้ประกันตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งที่คดียังไม่ถูกตัดสิน

ไม่ใช่เขาไม่ปล่อย เขาปล่อย ซึ่งมีหลายคนที่เข้ามาคุยด้วยว่าตกใจที่ศาลยอมถอย แต่หนูรู้สึกว่าเขาปล่อยในช่วงที่เราอด แต่หลังจากเราเลิก เขาก็ยัดคนเข้าไปอีก แล้วก็มีโดนคดีอีก สุดท้ายแล้วหนูมองที่พฤติกรรมของศาลมากกว่าว่าเขาตอบรับด้วยความเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า

ช่วงที่เขาปล่อยหนูไม่ได้มองแค่ว่ามาจากตะวันและพี่แบม หนูไม่ได้มองว่าเป็นเพราะเราสองคน แต่คือการที่สังคมช่วยกันกดดันมากกว่าเพื่อให้ศาลเข้าใจ เพื่อให้ศาลมีมโนสำนึกว่าตอนนี้คุณกำลังทำผิดกฎหมายอยู่นะ คุณเอาคนไปขังโดยที่สิทธิ์การประกันตัวขั้นพื้นฐานคุณไม่ได้ให้เขาด้วยซ้ำ

แต่คุณเอาเขาไปขัง คุณกำลังทำผิดกฎหมาย กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญอยู่ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่จากการที่คนสองคนอดอาหารหรืออดน้ำ แต่คนในสังคมช่วยกันแชร์ ช่วยกันกระจายข่าว มันเลยเกิดแรงกดดันที่ทำให้ศาลต้องถอย แล้วก็ปล่อยบ้าง มีการออกมาพูดบ้าง

แต่ท้ายที่สุด อย่างที่หนูบอกว่าต้องมองที่พฤติกรรมของศาลว่าสิ่งที่เขาทำและยอมถอย เป็นเพราะว่าเขาโดนแรงกดดัน หรือว่าเขาเข้าใจจริงๆ ว่าเขาควรทำอย่างไรกันแน่ เพื่อให้ถูกกฎหมาย หรือเป็นไปตามสิทธิ์ที่เขียนไว้ในกฎหมาย

ฉะนั้น การที่ศาลยอมถอยแค่ช่วงที่พวกหนูอด และช่วงที่สังคมช่วยกันกดดัน ก็เห็นได้ชัดแล้วเมื่อเทียบกับตอนนี้ที่ศาลก็ยังทำตัวแบบเดิมอยู่ นั่นแปลว่าศาลไม่ได้เข้าใจเลยว่าที่จริงแล้วตนเองกำลังทำตัวแย่ยังไง เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้อีก หนูว่าก็คงได้เห็นดีกันเรื่อยๆ

อยากให้คุณตะวันพูดถึงเรื่องน้องหยก

ที่หนูตอบรับสัมภาษณ์เพราะหนูอยากพูดเรื่องนี้มาก น้องหยกเขาเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี ถ้านับจากวันที่เราสัมภาษณ์กัน (17 เม.ย. 2566) ก็ 20 วันแล้วที่น้องอยู่ในสถานพินิจฯ บ้านปรานี จ.นครปฐม ซึ่งในขณะที่น้องโดน 112 ตอนนั้นน้องมีอายุ 14 ปี คนแจ้งคือ อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส.

คนที่บอกว่าตนเองรักสถาบัน และไลฟ์ขู่ฆ่าน้องบอกว่าเป็นเพราะน้องปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม คือน้องปฏิเสธอำนาจศาล ปฏิเสธกระบวนการทุกอย่าง คนชอบมองว่าเด็กอายุ 15 จะไปเข้าใจอะไร แต่น้องพูดออกมาด้วยตัวของน้องเองว่าที่ปฏิเสธอำนาจศาล เพราะว่าตำรวจและศาลอยู่ภายใต้อำนาจของคู่กรณี ซึ่งก็คือสถาบัน

น้องพูดด้วยความเข้าใจ ด้วยแรงที่อยากจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมนี้จริงๆ ฉะนั้น หนูอยากให้สังคมช่วยกันกดดันเรื่องนี้ เพราะนี่คือเด็ก 15 ตอนหนูอายุ 15 หนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะกล้าหาญได้เท่าน้องไหม ต่อให้เรียกว่าสถานพินิจฯ แต่นั่นคือคุกอยู่ดี มันคือคุกเด็ก

น้องหยกกล้าหาญมาก ยอมปฏิเสธอำนาจศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆ หรือกฎหมายที่น้องโดนนั้นไม่เป็นธรรม เพราะอะไรที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่ากระบวนการหรือกฎหมาย อย่างมาตรา 112 ก็สมควรที่จะถูกยกเลิก กระบวนการยุติธรรมต่างๆ ก็สมควรถูกปฏิรูปให้เป็นไปตามที่ควรเป็นสักที

เห็นว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการถูกคุกคามจากกลุ่ม ศปปส. คุณรู้สึกต่อการกระทำเหล่านี้อย่างไร

โดยส่วนตัวไม่ได้กลัว อย่างเวลาเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม เรารู้นะ เพราะว่าพฤติกรรมหลายอย่างไม่ใช่คนทั่วไป แล้วทุกครั้งที่เราเข้าไปหาและจี้ถามเขา สุดท้ายแล้วก็คือเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนเลย สุดท้ายเขาก็ต้องยอมโชว์บัตรออกมาว่าเขาคือเจ้าหน้าที่รัฐจริงๆ

อย่างเคสหนึ่งที่สยาม เขาตามเพื่อนหนู เราก็จี้ถามเขาว่าเป็นใคร มาตามทำไม เขาว่าไม่ได้ตาม เขามารอแฟน แต่ขับรถตามตั้งแต่ราชดำเนิน บ่ายยันค่ำจนถึงสยาม และพอจี้ไปเรื่อยๆ ตำรวจจากสน.ปทุมวันก็มาช่วย กลายเป็นว่าพากันไปที่สน.

สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าเขาคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามเรา มีเคสแบบนี้เยอะมากแทบทุกวัน ส่วน ศปปส. ช่วงนี้ก็มีการทำร้ายนักกิจกรรมเหมือนกัน และอย่างที่บอกคือขู่เอาชีวิตน้องหยก มันค่อนข้างรุนแรง หมายถึงว่าเขาสามารถทำอะไร เมื่อไหร่ก็ได้ อย่างสายน้ำก็โดนอานนท์ กลิ่นแก้ว กับเพื่อนต่อย แต่สุดท้ายโดนแค่โทษปรับไม่เท่าไหร่ ต่อให้เราโดนเขาทำร้ายจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าเขาจะรอดคุกไหม หรือจะติดคุกเหมือนที่พวกเราแค่ออกไปทำโพลแล้วก็โดนจับเข้าคุกไป

แต่เขาทำร้ายร่างกายเพื่อนหนู ก็ยังลอยหน้าลอยตาไปขู่เอาชีวิตเด็กอายุ 15 ได้ คือมันดูน่ากลัวไหม ก็ดูน่ากลัวแหละ แต่ว่าหนูก็ไม่ได้กลัวอะไรขนาดนั้น หนูรู้สึกว่าอยากมาก็มา ถ้าเขามีมือมีตีน หนูก็มีมือมีตีนเหมือนกัน

วางแผนในอนาคตไว้อย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องกิจกรรมก็ไม่ได้วางแผนอะไรขนาดนั้น เพราะว่าในแต่ละวันเหมือนพอตื่นมาก็คิดว่าวันนี้เราทำอะไรได้บ้าง พรุ่งนี้เราทำอะไรได้บ้าง หรือมีงานอะไรที่เราพอจะช่วยให้คนเข้าใจได้บ้าง หรือช่วยให้เพื่อนในเรือนจำ หรือน้องในสถานพินิจฯ ออกมาได้บ้าง

ทุกอย่างเกิดขึ้นปุบปับค่อนข้างบ่อยเหมือนกัน อย่างเช่นมีอยู่งานหนึ่งที่คิดตอนเที่ยงเริ่มตอนบ่ายก็มี แต่ว่าคิดก่อนทำนะ ไม่ใช่ไม่คิด ว่าทำแบบนั้นดีไหม แต่มันค่อนข้างเร็วเฉยๆ ในหลายๆ งาน เลยไม่ได้มีการวางแผนในระยะยาวขนาดนั้น

ในส่วนชีวิตตนเอง ตอนนี้เรียนนิติศาสตร์ อยู่ที่ ม.รามคำแหง ถ้าเป็นไปได้ ถ้าสามารถสอบผู้พิพากษาได้ และถ้าวันหนึ่งเป็นผู้พิพากษาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบกระบวนการยุติธรรม ก็คงจะทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคม

อยากให้คนในสังคมช่วยกันพูดถึงปัญหาในประเทศนี้เยอะๆ ไม่อยากให้เพิกเฉยต่อปัญหาที่มีอยู่ ทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณสามารถลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อย่างเช่นการกดแชร์ กดโพสต์ การวาดรูป การร้องเพลง การเขียน

หลายๆ อย่างสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หมด อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือเปล่า หรือเราจะเลือกนิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น หนูยังยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ และเกิดขึ้นได้แน่นอน ถ้าพวกเราช่วยกัน

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published.