นับตั้งแต่กระแสลมของการชุมนุมระลอกใหม่ได้อุบัติขึ้นในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มนักศึกษา และคนรุ่นใหม่หลายคนก้าวออกมานำการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้พามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงปลุกผู้คนให้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมมองไปยังอนาคตที่ดีกว่า หากยังรวมไปถึงการปักหมุดทางความคิดในเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเทียมเท่ากันในฐานะมนุษย์ให้กับสังคมไทย
เบนจา อะปัญ หนึ่งในนักศึกษาที่เปิดหน้าต่อสู้กับเผด็จการสืบทอดอำนาจ แม้ตัวเธอเองจะกล่าวกับผมว่าไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นแกนนำ หากเป็นแต่เพียงคนคนหนึ่งที่เชื่อว่าประเทศนี้สามารถดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ กระนั้น ในภาพจำของผู้คนส่วนใหญ่ เบญจาก็ถือเป็นหนึ่งบุคคลที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการชุมนุมในช่วงเริ่มต้น
เบญจาเกิดและโตที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ผ่านชีวิตและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้มองเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน และโครงสร้างสังคมที่กดถ่วงผู้คน อย่างไรก็ตาม เบญจาถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เธอถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 99 วัน และสวมกำไลอีเอ็มหลังจากออกมาแล้วอีก 11 เดือน 12 วัน
เรานัดพบกันที่คาเฟ่ย่านอารีย์ เลือกโต๊ะหน้าร้านริมทางเท้า ต่อหน้าชีสเค้ก และโกโก้เย็น ซึ่งหลังจากพูดคุยกัน คงไม่เกินเลยหากผมจะกล่าวว่า เบญจาคือภาพสะท้อนของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และสิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อจากนี้ ก็คือบทสัมภาษณ์ของเธอ ท่ามกลางสนธยาครานั้น

การกระจายอำนาจในมุมมองของคุณคืออะไร
การทำให้ส่วนย่อยได้มีอำนาจในการตัดสินในเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ถ้ามองภาพกว้างระดับประเทศก็คือเราไม่ต้องรอส่วนกลาง จังหวัดหรือตำบลสามารถจัดการเรื่องในท้องถิ่นเองได้ ให้แต่ละฝ่ายได้มีอำนาจหน้าที่ในการคิดและบริหารในส่วนของตนเอง
เห็นด้วยหรือไม่ว่าทุกปัญหาต้องแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ สิทธิเสรีภาพ
เห็นด้วย เศรษฐกิจปากท้องนี่แน่นอน
เพราะว่าแต่ละพื้นที่แต่ละท้องถิ่นก็จะมีความสามารถในแบบของตนเอง เวลาพูดเรื่องนี้จะคิดถึงญี่ปุ่นตลอด เพราะเรารู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่ว่าจะไปจังหวัดไหนก็จะมีจุดขายเป็นของตนเอง แต่ละจังหวัดสามารถดึงจุดเด่นของตนออกมาขายได้หมด และลึกลงไปในการขายจุดเด่นของแต่ละจังหวัด มันคือการสร้างงาน คนจะมีงานมากขึ้น ยิ่งเราเกิดและโตในเมืองนั้น เราผูกพันกับเมืองนั้น เราจะรู้จักสิ่งนั้นดี ไม่ต้องคาดหวังว่าต้องย้ายไปทำงานในเมืองหลวงเพราะว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่ดี
รวมถึงความเหลื่อมล้ำ ถ้าพูดผิวๆ อาจดูเป็นการเมืองภาพใหญ่ แต่ถ้าดูให้ลึกลงไป ถ้าแต่ละท้องที่สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง ไม่กระจุกอยู่ที่ตัวเมือง คนแต่ละคนก็จะสร้างตัวได้จากที่ที่ตนเองอยู่ จะไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนในประเทศ เขาก็จะสามารถเติบโตได้ในท้องถิ่นของตน
ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องของการเมืองในภาพใหญ่เท่านั้น จะมีเสรีภาพได้จริงๆ เหรอ ถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถเลือกบางสิ่งบางอย่างในพื้นที่ที่ตนเองอยู่ได้ เหมือนกับว่าทุกวันนี้สิ่งที่เราเลือกไปมันไม่ได้กลับมาสู่ที่ที่เราอยู่จริงขนาดนั้น
เหมือนเราเลือกให้ส่วนกลางและส่วนกลางก็จะคอยกำกับดูแลจากข้างบน ทั้งที่จริงแล้ว ถามว่าส่วนกลางเขาเข้าใจในรายละเอียดของแต่ละท้องถิ่นได้ไหม เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนกลางไม่มีทางรู้เรื่องของท้องถิ่นดีเท่ากับคนในท้องถิ่น

สังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงคืออะไร
คือสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเรื่องของเสียงส่วนมากอย่างเดียว แต่คือการที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในความเห็นต่าง เพราะว่าถ้าเราไม่เปิดรับความเห็นต่าง เราจะต่างอะไรกับเผด็จการ ใช่-หลักของประชาธิปไตยคือใครได้รับโหวตสูงสุดเป็นผู้ชนะ แต่มันไม่ใช่เรื่องของการยึดมายด์เซ็ทเดียว หากคือการที่เราจะอยู่ร่วมกันบนความเห็นต่าง-ความแตกต่างหลากหลายได้ยังไง รวมถึงการทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ยิ่งมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งออกแบบสังคมที่รับรองผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น
ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจ
ต้องทำให้เขารู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ทำไมประเทศเราถึงไม่เจริญก้าวหน้าสักที ทำไมรวยกระจุกจนกระจาย ทำไมความเจริญกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ปัญหามันเกิดมาจากอะไร และขยายต่อไปว่าถ้าสมมติเราปลดล็อกปัญหาตรงนี้ได้ สิ่งที่เราจะได้รับกลับมานั้นคืออะไร ทำให้เขาเห็นถึงปัญหา และประโยชน์ที่จะได้จากการแก้ไข ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการรณรงค์ การให้ความรู้ โดยการย่อยเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย เพื่อให้เข้าถึงคนทุกคน

คิดอย่างไรหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
ถ้าผิวๆ เราก็ว่าโอเค ดีเยี่ยม เพราะว่าเห็นกรุงเทพฯ เลือกแล้วเราก็อยากเลือกบ้าง แต่ทีนี้เราอยากจะซูมอินเข้าไปด้วยว่าเรื่องของการทำงานที่ทับซ้อนของระบบราชการ สรุปแล้วผู้ว่าฯ กับนายก อบจ. หน้าที่ทับซ้อนกันยังไง แบ่งงานกันยังไง ใครอันดับหนึ่ง ใครอันดับสอง
เราไม่ได้อยากมองแค่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นกระแสที่กำลังได้รับการพูดถึง แต่คือถ้าหน้าที่มันทับกัน เราตัดออกได้ไหม ให้เหลือผู้ว่าฯ อย่างเดียวก็ได้ หรือให้เหลือนายก อบจ. อย่างเดียวก็ได้ แต่ขอให้หน้าที่นั้นชัดเจน ไม่ให้เกิดการทับซ้อนกัน
คุณคิดว่าสิ่งใดคืออุปสรรคสำคัญของการเกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
รัฐส่วนกลางที่เป็นตัวบล็อกไม่ให้เกิดการกระจายอำนาจ เขาคงไม่อยากจะเสียอำนาจในการควบคุมกำกับดูแล ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากรัฐประหารด้วย การรัฐประหารคือการยึดอำนาจที่ไม่ใช่แค่การยึดอำนาจจากส่วนกลาง แต่เป็นการยึดอำนาจทุกพื้นที่ทุกอณูไม่ให้เติบโต
เวลาไปต่างจังหวัด เรื่องใดที่ทำให้เจ็บปวด
เอาที่ที่เราอยู่เลยแล้วกัน เราเกิดและโตที่นครราชสีมา สิ่งที่รู้สึกตั้งแต่เด็กเลยคือเวลามากรุงเทพฯ เราเห็นรถไฟฟ้า เราเห็นรถเมล์ เราเห็นการเดินทางที่สะดวกสบาย ซึ่งที่บ้านเราไม่มี เราก็จะรู้สึกว่าแล้วทำไมโคราชการคมนาคมไม่เจริญเท่ากรุงเทพฯ โคราชทุกวันนี้ก็ยังเป็นระบบรถสองแถว ไม่ได้มีรถเมล์แบบกรุงเทพฯ เอาแค่นี้ก็เห็นถึงความแตกต่างแล้ว ไม่ต้องรวมถึงความเจริญในด้านอื่นเลย

คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าการที่คมนาคมในต่างจังหวัดไม่ดีเท่ากับในกรุงเทพฯ เป็นการจำกัดโอกาสของผู้คน
ใช่ แต่ไม่ใช่เรื่องคมนาคมอย่างเดียว คือเรื่องของความเจริญที่กระจายออกไปในแต่ละพื้นที่ด้วย ถ้าพูดถึงคมนาคม เราเชื่อว่าถ้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น ตอบโจทย์คนมากขึ้น ก็จะทำให้คนได้ออกไปใช้ชีวิตที่หลากหลาย ได้ทำอะไรที่หลากหลาย ได้เจอกับอะไรใหม่ๆ เราไม่อยากให้มองว่าคนจะได้เดินทางไปเรียนในที่ที่ดีมีคุณภาพ ถ้ามองแค่ว่าคมนาคมดีแล้วเด็กต่างจังหวัดจะได้ไปเรียนในตัวเมือง นั่นแปลว่าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการศึกษา เรามองว่าคมนาคมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น แต่ว่าความเจริญในแต่ละท้องที่-ความเท่าเทียมในแต่ละท้องที่ก็สำคัญเหมือนกัน
จะมีประโยคหนึ่งเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ที่เขาบอกว่าเอารถไฟฟ้าความเร็วสูงมาขนผักเหรอ เราก็อยากถามกลับว่าแล้วขนผักเร็วขึ้นมันไม่ดียังไง ถ้าขนผักเร็วขึ้น คุณก็จะได้ผักเร็วขึ้น จะได้เอาผักไปทำอย่างอื่นได้เร็วขึ้น แค่นี้คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว
หรืออย่างคุณอยู่คนละที่กับครอบครัว การไปมาหาสู่กันก็ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือเวลาในการเดินทาง เวลาในการใช้ชีวิต เรามองว่าทรัพยากรเวลาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากๆ ยิ่งคนเสียเวลากับการเดินทางมากเท่าไหร่ เขาก็จะมีเวลาไปทำอย่างอื่นน้อยลงเท่านั้น
พูดถึงเรื่องเวลา มีความคิดเห็นอย่างไรกับเวลาแปดปีที่ผ่านมา
เราเป็นคนที่เซนซิทีฟกับเรื่องเวลามาก เพราะเรารู้สึกว่าเวลาที่เดินหน้า เท่ากับเวลาที่ถอยหลัง เวลาที่กำลังเดินหน้าอยู่เท่ากับนับถอยหลังชีวิตเรา นั่นหมายความว่าถ้าสมมติเด็กคนหนึ่งโตมาแทนที่แปดปีนี้จะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงใช้ แต่กลายเป็นว่าตั้งแต่เป็นทารกจนแปดขวบ รถไฟฟ้าความเร็วสูงยังไม่มีเลย และดูท่าทีแล้วก็จะดีเลย์ออกไป มันเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิตผู้คน เพราะเวลาเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถซื้อกลับได้อีกแล้ว โอกาสต่างๆ ที่คุณเสียไประหว่างทางเนื่องจากความไม่เจริญหรือความล้าหลังมันเอากลับมาไม่ได้ เวลาแปดปี ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน คุณได้เสียมันไปแล้ว ไม่อยากพูดแบบนี้เลย แต่ว่าขอให้ประสบการณ์ที่พบเจอในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าการรัฐประหารมันทำร้ายชีวิตเรามากแค่ไหน

มองการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร
เราไม่เห็นอนาคตหรอก แต่เราคิดบวกว่ามันต้องไม่แย่ไปมากกว่านี้แล้ว เราคิดว่าความฉิบหายในช่วงเวลาแปดปีที่ผ่านมาน่าจะทำให้พวกเราเข็ดหลาบได้แล้วว่าอะไรคือต้นตอของปัญหา ถ้ายังเลือกตัวปัญหาไปสร้างปัญหาซ้ำอีก เราคิดว่าก็น่าเศร้า
มันเป็นจุดที่อยากเห็นเหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เราคิดว่าน่าจะดีขึ้นนะ เพราะกระแสสังคมก็พัดมาทางเราเยอะขึ้น พอพูดแบบนี้-โอเค เราดีใจได้ แต่อย่าเพิ่งหยุดแค่นี้ มันยังต้องไปต่อ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเช็คพอยท์หนึ่งว่าที่ผ่านมา การต่อสู้ของพวกเราในช่วงระยะเวลาสี่ปีจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
เชื่อหรือไม่ว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เราเชื่อ
นโยบายอะไรที่คิดว่าทุกพรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองส่วนใหญ่ควรจะมี
แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่เราได้มาในปัจจุบันค่อนข้างจะไม่โอเคเลย เรื่องอำนาจของ ส.ว. 250 คน ส่วนเรื่องอื่นที่เราสนใจก็เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำยังไงให้ทุกคนปากท้องดี เพราะถ้าปากท้องดี เราก็สามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย เรื่องของการศึกษา และอีกเรื่องก็คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

มองเผด็จการในบ้านเราอย่างไร
นรก นรกส่งมาเกิด (หัวเราะ) เคยคุยกับเพื่อนว่าเผด็จการในบ้านเรามันไม่ได้พรากทุกอย่างไปจากชีวิตเรา แต่มันโยนเศษเนื้อติดกระดูกให้เรา
คนที่สูญเสียไม่เหลืออะไรแล้วมีอยู่จริง แต่ว่าโดยส่วนมากผู้คนยังสามารถประคองชีวิตได้ ที่เราพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ามันดี แต่มันทำให้คนยังพอมีทางเลือกได้บ้าง ยังไม่ได้ถึงจุดที่ไม่มีทางเลือกในชีวิตแล้ว คือไม่ได้ให้สิ่งที่ดีกับเรา แค่ให้เราพอประทังชีวิตไปได้ แบบเดนตาย แต่โดยรวมไม่ว่าเผด็จการจะให้กระดูกหรือไม่ให้กระดูก จะให้เนื้อหรือไม่ให้เนื้อ ยังไงก็แย่ทั้งหมด
ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกดำเนินคดี คุณคิดว่าการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมีความชอบธรรมหรือไม่ เราจะกล่าวได้ไหมว่ารัฐต้องการเผยแพร่ความกลัวให้คนไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว
ใช่เลย ไม่เคยมีความชอบธรรมกับฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการ ในทางเดียวกัน เราไม่อยากให้เขาได้อำนาจ เขาเองก็ไม่อยากสูญเสียอำนาจเหมือนกัน ฉะนั้น เขาก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะกดเราไว้ไม่ให้ลุกฮือ ความเป็นธรรมไม่มีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และใช่ สิ่งที่รัฐทำคือการทำให้คนกลัว ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว เมื่อไหร่ที่คุณกลัว เมื่อไหร่ที่คุณไม่ออกมาเคลื่อนไหวก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร หน้าที่ของเขาคือการแช่แข็งสังคมให้เป็นในแบบที่เขาต้องการ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่มีการเปลี่ยนแปลง เขารู้ตัวดีว่าเขาจะสูญเสียอำนาจอย่างแน่นอน

คิดเห็นอย่างไรกับกรณีของตะวันและแบม
เรามองว่าการอดอาหารประท้วงเป็นเครื่องมือหนึ่ง และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกเครื่องมือในการเรียกร้อง ซึ่งตะวันและแบมก็เลือกการอดอาหาร เราไม่สามารถไปบอกได้หรอกว่ามันดีหรือไม่ดี มันจะเป็นหนทางนำไปสู่การชนะหรือไม่ชนะ เพราะว่าต่างคนก็ต่างมีวิธีในการเคลื่อนไหวในแบบของตัวเอง เราทำได้แค่ในสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ เราซัพพอร์ตยังไงได้บ้างเพื่อให้การเรียกร้องของเขาก้าวไปข้างหน้าได้มากที่สุด
ข้อเรียกร้องของตะวันกับแบม เราเห็นด้วย และเชื่อว่าทุกคนก็เห็นด้วย เรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นภาพรวมทั้งหมด เราอยู่ในสังคมไทย เราต่างรู้ดีว่าคนที่มีอำนาจมากกว่า มีเงินทองมากกว่า ก็ค่อนข้างที่จะมีโอกาสอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม ส่วนข้อสองที่บอกว่าให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง ให้คืนสิทธิประกันตัว เราก็เห็นด้วย เพราะสิทธิการประกันตัวเป็นสิ่งที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเมื่อคุณยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด นั่นแปลว่าคุณยังเป็นผู้บริสุทธิ์
แต่ทำไมเขาถึงทำกับผู้บริสุทธิ์ราวกับเป็นผู้ถูกตัดสินว่าผิดแล้ว และข้อสาม ทุกพรรคการเมืองต้องเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 ในแง่ของหลักการเราเห็นด้วย แต่ว่าในแง่ของความเป็นจริงเราต่างรู้อยู่แล้วว่าเรื่องยกเลิกมาตรา 112 เราไม่สามารถคาดหวังกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้มองเห็นปัญหา หรือได้ประโยชน์กับการที่มีสิ่งนี้อยู่ อย่างที่บอกว่าในแง่ของหลักการ เราเห็นด้วย ส่วนที่ว่ามันจะเกิดขึ้นไหมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราอาจจะเรียกร้องกับฝั่งเผด็จการไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไม่เรียกร้องเลย เราก็ยังพูดของเราต่อไปว่าคุณต้องทำ
ในแง่ความเห็นของสังคมที่หลากหลาย เราขอบอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเรายังวิพากษ์วิจารณ์รัฐ วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ สังคมต้องมีพื้นที่ในการถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ผิดอะไร และการวิพากษ์วิจารณ์ไม่เท่ากับการด้อยค่า แต่เพื่อนำไปสู่การถกเถียง การช่วยกันคิด ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่จำเป็นต้องไปดูถูกความคิดใคร ไม่จำเป็นต้องไปด้อยค่าใคร ทุกคนต่างสู้ในแบบที่ตนเองเชื่อ
มองการถูกจำคุกของคนที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินอย่างไร
ถ้าเหตุผลของการไม่ให้ประกันตัว คือการเกรงว่าผู้ถูกกล่าวหาไปกระทำความผิดซ้ำ มันมีปัญหามากๆ เลยนะ เพราะมันหมายความว่าคุณตัดสินไปแล้วว่าเราได้กระทำความผิด ทั้งที่เรายังไม่ถูกตัดสิน เห็นไหมว่าเหตุผลนั้นย้อนแย้งในตนเอง คุณมั่นใจได้ยังไงว่าเป็นความผิด คุณตัดสินล่วงหน้าแล้วเหรอ นอกจากความไม่สมเหตุสมผลแล้วยังรวมถึงการทำให้มนุษย์คนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาต้องเข้าไปอยู่ในคุกแล้วต่อสู้คดีไปด้วย แทนที่เขาจะได้ออกไปต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม
คุณทำเหมือนกับว่าเขาเป็นคนผิดไปแล้ว แล้วถ้าสมมติว่าคดีนี้ปลายทางคือเขาไม่ผิด ยกฟ้อง สิ่งที่คุณจะชดเชยให้เขาก็คือเงินวันละห้าร้อยบาท แต่อย่างที่บอกว่าทรัพยากรเวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เขาเอากลับมาไม่ได้แล้ว
มองการติดกำไรอีเอ็มอย่างไร
กระบวนการยุติธรรมไทยต้องปฏิรูป กรณีที่ก่อนหน้านี้ไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองถอด แต่ตอนนี้ยอมให้ถอยเพราะดาราสามารถขอถอดได้ มันคือการเลือกปฏิบัติ ไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน
เราอยากรู้ว่าทำไมต้องใส่ในเมื่อเรายังไม่ได้ทำผิดอะไร ยังไม่ถูกตัดสิน มันชัดเจนว่าเขาต้องการมอนิเตอร์พวกเรา สิ่งที่รัฐกระทำ ไม่ว่าจะถูกเอาเข้าเรือนจำ ถูกขังระยะเวลาหนึ่ง หรือกระทั่งปล่อยออกมา ค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จของการจัดการผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว
จำได้ว่าช่วงแรกที่เราอยู่กับกำไลอีเอ็มแล้วตื่นขึ้นมา มันไม่ใช่แค่ความรำคาญทางกายภาพ แต่คือความรู้สึกว่านี่มึงคร่าเวลาชีวิตกูไปตั้งหลายเดือนแล้วไม่พอ ขนาดออกมาแล้วเหมือนจะได้เสรีภาพ แต่ก็ยังมีสัญลักษณ์อยู่บนข้อเท้าที่เหมือนรัฐพูดกับเราว่ากูมีอำนาจเหนือมึงนะ ที่มึงออกมาได้เพราะกู แต่กูก็ไม่ให้ทั้งหมดหรอก กูยังมีอำนาจเหนือมึงอยู่ มึงไม่ได้มีเสรีภาพที่แท้จริง เป็นเสรีภาพที่มีข้อแม้ เรามองว่ามันน่าหดหู่

ในวัยเด็กเป็นอย่างไร อะไรทำให้สนใจเรื่องการเมือง
วัยเด็กปกติทั่วไป เรียนโรงเรียนรัฐ พอถึงจุดหนึ่งก็มาสอบเข้าโรงเรียนที่เขาว่าดีในกรุงเทพฯ เพราะว่าอยากได้การศึกษาที่ดี ชนชั้นกลางมีความเชื่อว่าถ้าได้รับการศึกษาดี เราจะสามารถอัพเกรดคุณภาพชีวิตได้ ทำให้เราจำจากบ้านมาเรียนไกลเพียงลำพัง
ตอนนั้นเราคิดว่ามันเป็นขั้นตอนสำเร็จรูป เรียนจบมัธยมต้นแล้วต้องมาเรียนต่อมอสี่ในโรงเรียนนี้ เพื่อที่จะได้เรียนมหาวิทยาลัยนี้ ชีวิตเราจะได้ดีขึ้น แต่พอมองย้อนกลับไป ทุกอย่างเป็นปัญหาจากความเหลื่อมล้ำหมดเลย เราไม่จำเป็นต้องจากบ้านมาเรียนไกล เพียงเพราะว่าการศึกษาไม่ได้ดีอย่างทั่วถึง
ชีวิตในวัยเด็ก เราเห็นปัญหาที่อยู่ในชีวิตประจำวันเยอะ จะมีความรู้สึกสงสารก่อเกิดขึ้นมาในใจ ความรู้สึกว่าทำไม เขาถึงมีคุณภาพชีวิตแบบนี้ แม่เราไปรับไปส่งที่โรงเรียน เวลาติดไฟแดงมีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันมาขายของที่สี่แยก ทำไมเขาถึงต้องมาขายของ หรือเวลาไปเดินในเมือง ตามมุมตึกเจอคุณยายที่สูงวัยมากแล้วนั่งขายฟืนกำละห้าบาทสิบบาทอยู่บนพื้น ทำไมเขาถึงยังต้องมาทำแบบนี้อยู่ มันเกิดเป็นคำถามว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้น
ส่วนจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาสนใจการเมืองเข้มข้นขึ้น คือตอนที่มาอยู่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เรามองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญกว่าโคราช เราก็วิ่งเข้าหาความเจริญ อยากเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มีงานดีๆ แต่พอมาเรียนที่กรุงเทพฯ เราได้ค้นพบกับความเน่าเฟะที่ซ่อนอยู่ภายใต้เปลือกของความเจริญ เราจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ฝนตก เรายืนรอรถเมล์อยู่ฝั่งตรงข้ามสยามพารากอน ป้ายรถเมล์ที่ว่ามีแค่ป้ายสีน้ำเงิน และม้านั่งสี่ห้าตัว ไม่ได้เป็นสิ่งปลูกสร้างมีหลังคาให้นั่งรอ
ขณะที่ฝนตก ป้ายรถเมล์นี้อยู่ใต้รางรถไฟฟ้า มีคนยืนรอรถเมล์อยู่แน่นมาก ซึ่งรถเมล์ที่เราต้องขึ้นกลับที่พักคือรถเมล์ครีมแดง ถ้าใครเคยขึ้นก็จะรู้ดีว่าสภาพแม่งโคตรย่ำแย่ ยิ่งวันฝนตกคือนรกคูณสิบ ทั้งอบ ร้อน เหนียว ทุกอย่างทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมกรุงเทพฯ ที่เราเคยชอบ ที่เราจากบ้านมาเรียน มันดีได้เท่านี้จริงๆ เหรอ ทำไมเรายังต้องใช้รถเมล์เส็งเคร็งนี่อยู่ เงินมันไปไหน เรามีเงินเท่านี้เหรอ ประเทศเราจนเหรอ มองฝั่งตรงข้ามเป็นสยามพารากอน พอกลับมามองที่ฝั่งตนเอง
แล้วเหมือนอยู่คนละโลกเลย พอจุดประเด็นคำถามว่าทำไม ทำไม ได้แล้ว หลังจากนั้นทุกอย่างก็ไปของมันเอง
สิ่งที่อยากจะฝาก-สื่อสารกับสังคม
อยากให้ทุกคนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงไม่กี่คน ไม่ใช่แค่กลุ่มการเคลื่อนไหว หรือพรรคการเมือง ทุกคนนี่แหละที่จะเป็นตัวแปรสำคัญว่าประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เพราะประเทศนี้เป็นของเรา ถ้าไม่ใช่เราที่ลงมือจัดการ แล้วจะเป็นใคร ถ้าอยากให้ประเทศเป็นแบบไหน เราก็ร่วมกันออกแบบในวิธีที่เราถนัด เพราะมันเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม
เราก็อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในแบบที่พอจะทำได้ และอย่างน้อยการเลือกตั้งนี่แหละจะเป็นหนึ่งในการมีส่วนร่วมที่จะช่วยออกแบบสังคมของเรา และอีกเรื่องก็คือไม่อยากให้มองการเมืองเป็นเรื่องของความน่ากลัว เรื่องของการแก่งแย่งชิงดี เรื่องของความขึงขังแข็งกระด้าง แต่ว่าเราอยากให้มองในมิติของมนุษย์มากขึ้น เพราะว่าเราอยู่ในประเทศเดียวกันที่มีการเมืองเป็นตัวรันประเทศนี้อยู่ ฉะนั้น มันจะส่งผลต่อชีวิตพวกเราไม่มากก็น้อย มันไม่ใช่เรื่องแค่ในสภา แต่คือชีวิตของมนุษย์จริงๆ