หากจะพูดถึงงานศิลปะ เราอาจนึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ศิลปะ เทคนิคและแนวคิดที่แยบยล อย่าง ภาพอาหารมื้อสุดท้าย ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี แห่งยุคสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา งานศิลปะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่าง คาราวัจโจ ศิลปินผู้กบฎต่อความศรัทธาต่อศาสนาผ่านผลงานของเขาชื่อ มรณกรรมของพระแม่มารี และเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการศิลปะบาโรคด้วย
หากกลับมามองที่ปัจจุบัน เราสามารถเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น มีเทคนิคและรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างไปจากอดีต จนเกิดเป็นศิลปะแขนงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่ถ้าดูงานศิลปะในไทย เราจะพบว่างานศิลปะนั้นยังคงไม่ก้าวหน้า มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันตามกระแสนิยม หรืออาจอยู่ในสินค้ารูปแบบต่างๆ
ตลอดจนงานที่ได้รับการยกย่องและมีราคาสูงนั้นก็มักหนีไม่พ้นงานที่เล่าด้วยเรื่อง ความดีงามของมนุษย์ผ่านแนวคิดทางศาสนาและคุณธรรม ยกย่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรเพียงแต่ความหลากหลายและเสรีภาพในการรังสรรค์งาน จนถึงการนำเสนองานออกมานั้นยังเป็นสิ่งที่น่าชี้ชวนต่อการตั้งคำถามว่า ศิลปะมีเสรีภาพอยู่หรือไม่ ราวกับมีมุ้งบางๆ ครอบศิลปะไทยไว้ว่า จงจรรโลงสังคมอย่างประณีตบรรจง และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมเพราะอำนาจของ ‘ใคร’ บางคนอยู่หรือไม่
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะพาไปคุยกับ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้นำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไทย
ผ่านงานศิลปะ อย่าง นิทรรศการ WHAT YOU DON’T SEE WILL HURT YOU ที่คว้ารางวัลระดับโลกในปี 2018 จากการคัดสรรผลงานศิลปินทั่วโลกเพียงไม่กี่คนและเป็นผู้กล่าววลีที่ครองใจผู้คนในปี 2021
“ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร”

ความเบาบางของรากฐานศิลปะ
“รากฐานของศิลปะบ้านเรา ทั้งเพาะช่าง ศิลปากร การก่อตั้งของ ศิลป์ พีระศรี ที่ภายหลังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะใหม่ ที่ไม่ใช่การจรรโลงอำนาจ รับใช้เจ้านาย เพราะมันนำไปสู่กิจกรรมทางสังคมที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่มุมมองใหม่ เรื่องความเป็นมนุษย์ จักรวาล ธรรมชาติ ในมุมของศิลปินหรือที่เราเรียกว่ามุมมองที่สร้างสรรค์สมัยใหม่”
อาจารย์ทัศนัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานศิลปะในไทยว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ พ.ศ.2475 และยังเสริมว่าในโลกตะวันตก ศิลปะสมัยใหม่ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวในสังคม
เช่น การปฏิวัติในฝรั่งเศส ค.ศ. 1781 หรือ การปฏิวัติในรัสเซียปี ค.ศ. 1917 ซึ่งนอกจากเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดแอกมนุษย์ไปสู่วัฒนธรรมและสังคมสมัยใหม่ ศิลปะในโลกตะวันตกก็ขยายไปสู่เสรีภาพมากขึ้นตามการปฏิวัติสังคมตะวันตก และเสรีภาพก็เริ่มงอกงามในใจคน
จุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ของศิลปะจึงเริ่มต้นขึ้น เกิดเป็นยุคสมัยของศิลปะร่วมสมัยหรือยุคปัจจุบัน และศิลปะก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและสถาบันต่างๆ ในสังคม เพื่อขยายเสรีภาพทางความคิด ขยายขอบเขตของเสรีภาพมากขึ้นไปอีก จึงเป็นยุคของ ศิลปะการวิพากษ์วิจารณ์ (Insitutione Art)
แวดวงการศึกษาศิลปะในไทยเบาบางมากในเรื่องของการศึกษา เรื่องความคิดของยุคสมัย สิ่งที่มันเกิดขึ้นในแวดวงศึกษาศิลปะคือ ความเบาบางในการศึกษาความคิดทางปรัชญาทั้งในภาพกว้างและทางศิลปะ เป็นเช่นนี้ทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นการศึกษาที่ฝึกปรือแต่เพียงทักษะ และเทคนิค
อาจารย์ทัศนัยให้ความคิดเห็นต่อการเรียนศิลปะในไทยว่ายังขาดความละเอียดอ่อนในการเรียนและเข้าถึงศาสตร์ความคิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานศิลปะ เพื่อให้ศิลปินสามารถพัฒนาการสร้างสรรค์ผ่านการคิดออกมาเป็นผลงาน การที่แวดวงศิลปะเบาบางในเรื่องการศึกษาปรัชญาและทัศนะทางความคิดใหม่ๆ ของยุคสมัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นการไม่ส่งเสริมและขัดขวางไม่ให้ศิลปินยุคใหม่ได้เข้าถึงศาสตร์ความรู้ และทัศนะต่างๆ งานศิลปะในไทยจึงคับแคบอย่างที่ไม่ควรเป็น
“แล้ววิชาสุนทรียศาสตร์ในงานศิลปะ ผมก็ไม่ได้เห็นว่ามีคนที่เชี่ยวชาญ หรือรู้ซึ้งถึงประวัติศาสตร์ศิลปะ สิ่งเหล่านี้หาได้ยากนักในไทย ในความเห็นผมคิดว่าไม่มีเสียเลยด้วยซ้ำ ลองไปดูหลักสูตรศิลปะในไทยสิ มีแต่การสอนกันไปเรื่อย แล้วผู้เรียนจึงไม่มีโลกทัศน์ใหม่ ได้เพียงศึกษาทักษะเท่านั้น”
คือเสียงสะท้อนจากระบบการศึกษาวิชาศิลปะในไทยที่ขาดการสอนรากฐานประวัติศาสตร์ศิลป์ ความสุนทรีย์ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงามแต่ลึกซึ้งในอารมณ์และยุคสมัย รวมทั้งแนวคิดใหม่ๆ และปรัชญาศิลป์ในแต่ละยุคสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ขาดหายไปจากการเรียนวิชาศิลปะในไทย ซึ่งนอกจากไม่ส่งต่อและยกระดับแนวคิดให้กับผู้เรียนแล้วนั้น
ยังเป็นการไม่ส่งต่อความสมัยใหม่ของวงการศิลปะ ทำให้งานศิลปะในไทยเป็นงานที่คับแคบ ไม่เท่าทันโลกสมัยใหม่ที่ศิลปินมีแนวคิดและมีจิตวิญญาณของเสรีชน ที่จะไม่สมยอมต่อการถูกกดขี่
ความไม่รู้ของครูบาอาจารย์ แล้วเอาความไม่รู้ของตัวเองเป็นที่ตั้งเป็นศูนย์กลาง
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก ที่ศิลปินไม่ส่งต่อและส่งเสริมโลกทัศน์ทางความคิดให้แก่ผู้ที่มาศึกษาต่อ สำหรับวงการศิลปะในไทย เพราะศิลปินสยบยอมต่ออำนาจ เพราะงั้นมันถึงน่าเผาทิ้งให้หมด ไม่มีประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่เอาเสียเลย

กล่าวคือ “ศิลปะสมัยใหม่มาคู่กับการปฏิวิติ ประชาชนจะไม่สยบยอมต่อรูปแบบการปกครองแบบเก่า และศิลปะจะวิพากษ์ทุกสถาบัน โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นสถาบันใดก็ตาม”
อาจารย์เล่าถึงงานศิลปะแต่ละยุคสมัยใหม่ว่ามันมีความสอดคล้องและเป็นภาพสะท้อนของสังคมในแต่ละยุค ความคิดต่างๆ ของมนุษย์มันมีโครงสร้างของแต่ละยุคสมัยอยู่ ซึ่งคนทำงานศิลปะต้องเข้าใจให้มาก ก่อนที่จะมาส่งต่อความคิดให้ศิลปินยุคใหม่ เพราะการส่งต่อความคิดสู่ศิลปินยุคใหม่คือการเปิดโอกาสให้ศิลปินได้ศึกษาความกว้างขวางของโลกสมัยใหม่ เพื่อท้าทายกรอบความคิดเก่าของสังคม นำพาสังคมไปสู่เสรีภาพ
แต่ในยุคสมัยใหม่หรือยุคปัจจุบัน ศิลปินรับใช้ศาสนา รับใช้ความเชื่อ รับใช้อำนาจ เราคิดว่า ศิลปะสมัยใหม่มันเป็นกิจกรรมของปัจเจกชนที่จะมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอความคิดใหม่ๆ หรือโลกทัศน์ที่เขาเห็นผ่านงานศิลปะ เราคิดว่าแบบนั้น

เมื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วยศิลปะ ผู้คนจึงมองว่ามันไม่สวยงามและไม่จรรโลกสังคม
เราจะโทษแต่ผู้บริโภคฝั่งขวาหรือฝั่งไหนไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่ต้องปรามาศและด่าทอคือผู้ที่เรียกตัวเองว่าศิลปินร่วมสมัยใหม่ หรือศิลปินที่ก้าวหน้า ที่จะไม่คิดถึงถึงเรื่องเสรีภาพ เพราะอาชีพศิลปะต้องการเสรีภาพมากกว่าอาชีพอื่นๆ
เขาอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นศิลปะรูปแบบใดก็ตาม เช่น อนุรักษนิยม วัฒนธรรมนิยม หรือรูปแบบใดก็ตาม อย่างหนึ่งที่อาชีพศิลปะต้องการคือ เสรีภาพที่ศิลปินจะวาดเขียนหรือสร้างสรรค์งานใดๆ ตามความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา หรือเชิดชูสิ่งใด นั่นคือเสรีภาพของศิลปิน แม้ต้องการมากน้อยแตกต่างกันไปในตัวศิลปินแต่ละคน แต่ทุกการสร้างงานศิลปะคือเสรีภาพที่ศิลปินทุกคนต้องการ

ศิลปะถูกผูกมัด
“กรอบและความคิดเรื่องเสรีภาพในไทยไม่เป็นสามัญสำนึก มันไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักของคนไทย”
ด้วยหลักความเชื่อเรื่องศาสนา มายาคติว่าชีวิตเกิดมาตามยถากรรม ชีวิตเกิดมาต้องพอเพียง อย่าทะเยอทะยาน เพราะมันคือความโลภ และเป็นการผิดศีลธรรม เป็นเรื่องเลวร้าย การเป็นคนที่ดีต้องสว่าง สะอาด สงบ
ความเชื่อเช่นนี้ของศาสนาที่กดทับไม่ให้จิตสำนึกของคนในสังคมเกิดความท้าทาย แต่หวาดกลัวต่อการกระทำผิด โดยมีหลักเกณฑ์ดี ชั่ว มาจากศาสนา ไม่ได้มาจากศีลธรรมที่คนในสังคมกำหนด
ศิลปินไม่รับใช้ทุน ก็รับใช้ศีลธรรม รับใช้ผู้มีอำนาจ ดูได้จากงานประกวด งานที่ได้รางวัลจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องศีลธรรม ชาติ ศาสนา กษัตริย์
ตัวอย่างกรณีการปลด สุชาติ สวัสดิ์ศรี
การจะเป็นศิลปินแห่งชาติต้องเป็นคนดีด้วย ศิลปินคนอื่นร้องเพลงปกป้องป่าแต่บุกรุกป่า แต่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไปร่วมการชุมนุมทางการเมือง เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนทางการเมือง แต่กลับกลายเป็นว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่ของคนดี เลยโดนถอดถอนชื่อศิลปินแห่งชาติออกไป เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการที่ศีลธรรมของศาสนาออกแบบให้กดคนในสังคมให้เป็นคนดีอย่างหนึ่ง
“อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่ามีอำนาจและยึดโยงกับกลุ่มต่างๆ ทำให้คนไทยโดนกระทำโดยไม่มีผู้ปกป้อง เช่น กฎหมายผู้บริโภค เราฟ้องร้องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เลย แม้ผูกขาดและไร้คุณภาพ ผู้บริโภคจะถูกฟ้องกลับหรือกระทำบางอย่าง ซึ่งกฎหมายไม่ดูแลคนไทย
กฎหมายเอื้อทุน
“ศาลก็ยึดโยงกับกลุ่มนอกรัฐธรรมนูญ มันจึงเป็นความเลวร้ายมากกว่าที่คิดนะ ทุนนิยมไทย กฎหมายคุ้มครองคนไทยไม่ได้เลย”
สิ่วที่อาจารย์ทัศนัยกล่าวสะท้อนการกดขี่คนไทย มีอำนาจจากทั้ง ทุนนิยม ชนชั้นนำ โดยใช้อำนาจผ่านกฎหมาย ศีลธรรม และศาลเองก็เอื้อให้เกิดการกดขี่ในสังคม
“มันทั้งทุนนิยม กฎหมาย วาทกรรมจัดการผู้คนโดยเบ็ดเสร็จทั้งหมด
และแน่นอนมันผูกขาดศิลปะ คุณค่าก็เช่นกัน
ความดี ระบบทางศีลธรรม
ความจริง ระบบทางวิทยาศาสตร์ การใช้เหตุผล
ความงามตามศิลปะ การใช้สุนทรียศาสตร์
มันต้องถ่วงดุลอำนาจทั้งหลายในสังคม จะเป็นศิลปินต้องมีศีลธรรม และจริยธรรมสูงกว่าคนอื่น พูดแต่ความดีงามรับใช้สังคม ซึ่งมันไม่จำเป็นเลย”
ศิลปินที่ทำงานท้าทายความเป็นมนุษย์ ตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ เพราะหากเราต้องเป็นมนุษย์ที่สยบยอมต่อศีลธรรมอำนาจ ความก้าวหน้าของมนุษย์ก็จะไม่เกิด รวมถึงอารยธรรมและความก้าวหน้าด้านต่างๆ ในสังคมเกิดขึ้นได้เพราะมนุษย์ทดสอบ ท้าทายตัวเอง และตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ แต่ในสังคมไทยทำไม่ได้

มาตรา 112 113 116
“สิ่งที่เขามองเห็นคือผลงานชิ้นนี้จะเป็นสัญลักษณ์อะไรก็ตาม คือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับษัตริย์ คำถามคือกษัตริย์อยู่ตรงไหนในสังคมไทย”
สามมาตรานี้เป็นเพดานของการกีดกั้นไม่ให้มนุษย์กล้าคิดถึงเสรีภาพ แต่ศิลปะวิพากษ์คือยุคสมัยของศิลปะร่วมสมัยหรือศิลปะยุคนี้ งานศิลปะเป็นงานความคิดสร้างสรรค์ที่จะพาสังคมขยายความคิดไปให้ไกล ท้าทายขีดจำกัดเดิมๆ ของมนุษย์ และศิลปินร่วมสมัยหรือศิลปินสมัยใหม่
ดังนั้น การทำงานความคิดสร้างสรรค์จะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไม่ได้ เพราะมันคือบทบาทของยุคสมัย ของศิลปะยุคนี้
“สามมาตรานี้มันถูกประดิษฐ์ขึ้นไม่ให้มนุษย์มีอิสรภาพ เป็นมรดกศักดินาไพร่ทาส หรือมรดกที่ส่งต่อมาจากการปกครองในอดีต ซึ่งมันไม่ควรมีอีกต่อไป ทั้งสามมาตรานี้ล้มเลิกไปเสีย ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม ต้องไม่มีสิ่งขัดขวางอิสรภาพของมนุษย์อีกต่อไป ศิลปะวิพากษ์เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพ ขยายขอบฟ้าให้กว้างไกลขึ้นไป”

ตะวัน-แบม
ตะวันแบม เขาเสียสละเหมือนนักเคลื่อนไหวในอดีต ท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ด้วยการอดอาหาร อดน้ำ มันสะท้อนสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขากล้าหาญที่จะแสดงออกมาว่า เราจะไม่ยอมต่อการกดขี่ อีกต่อไป
กล่าวต่อว่า การที่ยังมีคนออกมาต่อสู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนยุคสมัยได้ว่าสังคมเรายังมีผู้กดขี่ คอยขัดขวางไม่ให้สังคมได้ก้าวหน้า มีเสรีภาพได้ และยังคงมีผู้ถูกกดขี่ ที่ไม่ยอมทนออกมาสู้กับผู้กดขี่อยู่เสมอ แต่ที่น่าสนใจคือสิ่งนี้ การกดขี่ การถูกปิดกั้นเสรีภาพจากรัฐไม่ใช่สิ่งที่ปกปิดได้อีกต่อไป คนรุ่นใหม่ออกมาพูดถึงชนชั้นนำและอำนาจในสังคม โดยปราศจากความกลัว และยังเป็นการขยายขอบเขตการตั้งคำถามต่อสังคมยุคนี้ไปให้ไกลขึ้น ขยายเสรีภาพและความฝันที่คนอยากจะเห็นในสังคมไปให้มากกว่าเดิม เป็นการเสียสละเพื่อเสรีภาพ

การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้กำหนดทิศทางของตัวเอง
หากประชาชนไม่สามารถเลือกผู้ว่าฯ เองได้ และส่วนกลางเป็นคนกำหนด อำนาจการรวมศูนย์จะยังคงอยู่ หรือเลือกผู้ว่าฯ แต่ส่วนกลางกำหนดนโยบาย มันก็จะกลับไปที่การรวมศูนย์อำนาจเช่นเคย
อาจารย์ทัศนัยพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดว่า เป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างการกระจายอำนาจ โดยประชาชน โดยที่แต่ละจังหวัดไม่ต้องรับคนจากส่วนกลางมาจัดการทรัพยากรภายในจังหวัดของตัวเอง และแต่ละจังหวัดต้องกำหนดนโยบายต่างๆ มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของส่วนกลาง
“แต่ละพื้นที่มีอาณาบริเวณในการจัดการตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทรัพยากร ผังเมือง การจัดเก็บระบบภาษี มันต้องไม่ไปกระจุกอยู่ที่ใคร เราต้องกำหนดชีวิตของเราด้วยเรา ไม่ใช่ชนชั้นนำ”
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศได้ และสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้คือ การแก้รัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจ เพราะรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในการกำหนดวิถีชีวิต แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้ระบบเก่าๆ
ดังนั้น รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย และต้องให้อำนาจประชาชน สามารถตรวจสอบการจัดการต่างๆ ในสังคมได้ ไม่กีดกั้นเสรีภาพของประชาชน
ประชาชนทุกคนต้องมีเสรีภาพในการออกแบบและกำหนดชีวิตเองได้ แม้แต่งานศิลปะเองก็ตามหากยังมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ผูกรั้งสังคมไว้ด้วยอำนาจที่มากล้นของใครคนใดคนหนึ่ง ศิลปะก็จะเป็นเครื่องประดับทางอำนาจ ไม่เกิดความงอกงามของความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพก็จะไม่เกิดในสังคม
รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ กฎหมายที่ขัดขวางเสรีภาพต้องไม่มีอีกต่อไป การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจในการเลือกตัวแทนและกำหนดนโยบายของตัวเอง ไม่รับอำนาจรวมศูนย์จากส่วนกลาง

อาจารย์อธิบายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดกระจายอำนาจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจในการกำหนดทิศทางและชีวิตตัวเองได้ และการกระจายอำนาจมีผลต่อเสรีภาพในสังคม
การที่อำนาจยังถูกผูกไว้ที่ชนชั้นนำนั้น เป็นการสร้างกรอบไม่ให้ศิลปินได้วิพากษ์วิจารณ์สังคม และก่อให้เกิดการ ‘ไม่กระจายตัว’ ของความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ศิลปินไม่อาจหลุดออกจากขนบเดิม เป็นการครอบไม่ให้ศิลปะได้ทำหน้าที่ของศิลปะ เพราะมีอำนาจของชนชั้นคอยกดไว้ และการที่ทุนนิยมในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจ ศิลปะจะถูกกีดกั้นไม่ให้ความคิดถูกถ่ายทอดลงมาในผลงานตัวเอง ‘ถูกกดให้มีมูลค่าและมีคุณค่า’ เมื่อมีราคาตามที่ทุนนิยมได้ขีดเอาไว้
ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของสังคม มีกฎหมายบางมาตราที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เสรีภาพในการแสดงออกของสังคมก็จะถูกกำหนดขอบเขตไว้ งานศิลปะซึ่งต้องการเสรีภาพในการสร้างผลงานออกมานั้นก็ไม่อาจเป็นงานที่มีเสรีภาพได้ และงานศิลปะก็จะกลายเป็นเพียง ‘เครื่องมือรับใช้ผู้มีอำนาจ และเป็นนายของ ‘ใครบางคน’
เสรีภาพในงานศิลปะก็ไม่อาจงอกงามได้ด้วยเช่นกัน หากสังคมยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน
“การถ่วงดุลอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ อำนาจประเทศไทยรวมกันเป็นเอกภาพ ชนชั้นนำจะได้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ฝ่าบริหารวิจารณ์การออกกฎหมายฝ่ายกฎหมายไม่ได้ ไร้การถ่วง แล้วเสรีภาพของสังคมจะอยู่ตรงไหน อำนาจมันคือของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง”
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม