เฌอเอม – ชญาธนุส ศรทัตต์: โรยสายรุ้งให้เท่าเทียมกันทุกจังหวัด ชีวิตที่เสมอภาคและกระจายอำนาจทั่วประเทศ (2)

ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เฌอเอม – ชญาธนุส ศรทัตต์ มิสแกรนด์ลำพูน 2022

ส่งข้อความหาผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคในเขตบ้านของเธอ ถามเรื่องปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศว่าจะแก้อย่างไร ผลคือมี อนาคตใหม่ พรรคเดียวที่ตอบกลับมา

“ทั้งๆ เป็นพรรคที่ยังไม่มีอำนาจเลย คนในพื้นที่ไม่รู้จัก ไม่สนับสนุน”

คุณรู้สึกอย่างไร

ประทับใจจากข้อความอันเดียวของเขา เพราะเราไม่ต้องการนักการเมืองที่เหมือนตำรวจคนนั้น ที่ขับมาแล้วไม่จับใคร ไม่ทำอะไรสักอย่าง คือเราไม่ต้องการการทอดทิ้งจากรัฐ เราต้องการนักการเมืองที่ฟังสียงของเรา

ตอนนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่า เออ นักการเมืองมันไม่ใช่แบบที่เราไปนั่งชั่งน้ำหนักเอาว่าดีหรือไม่ดี เราเลือกโพสต์ออกเฟซบุ๊กเลยว่า เราชื่นชมมาก

เราไม่ต้องการหรอกค่ะนายกฯ คนดี เราต้องการนายกฯ คนเก่งที่สามารถทำงานได้ รู้ปัญหาของประชาชน เพราะถ้าท่านดีบนศีลธรรมของตนเอง ดีอยู่บนหอคอยงาช้าง ประชาชนก็ไม่ได้อะไร เราอยากให้ยุคสมัยใหม่มันมาถึง

หลังจากสเตตัสนั้นโพสต์ลงไปในเฟซบุ๊ก เราเป็นนางแบบมานานพอสมควรในช่วงนั้น วันรุ่งขึ้นไปงานเดินแบบ ไม่มีใครรับไหว้เลย แล้วก็ไม่มีงานอีกเลย

และนั่นคือเทิร์นนิ่งพอยท์ของเรา

จากคนที่บ่นอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่ใช่คนเทคแอคชันอะไร เรากลายเป็นคนเทคแอคชันเลย เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราไม่สามารถอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปได้

เจอปัญหาในการทำงานอะไรอีก

มันเหมือนเรารอวันตายอะ เพราะ คนพวกนี้ เขาอยากให้เรา ตาย แล้ว เพราะถ้าไม่กระเสือกกระสน เราก็จะไม่รอด เราโดนยกเลิกงาน โทรไปหาใคร บางคนก็ไม่ยอมรับสาย ไม่ยอมช่วยเหลือ จากสเตตัสเดียว แค่เพราะเราออกตัวว่าเลือกอนาคตใหม่ แสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมือง แค่สเตตัสเดียว นั่นคือทั้งหมดที่เราเจอ เราเลยแอคชัน

สุดท้ายแล้ว

ต่อให้คุณอยู่กลางแค่ไหนก็ตาม แต่ความเกลียดชังของคนฝั่งตรงข้าม มันจะผลักให้คุณไปอยู่จุดใดจุดหนึ่งเอง

เหมือนที่ใคร Progressive (ก้าวหน้า) มาก่อน แต่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกใจคนบางกลุ่มเขาก็จะถูกผลักให้ไปเป็นสลิ่ม หรือมีคนเป็นกลาง เอียงขวาด้วยซ้ำ แต่มีสลิ่มไม่ถูกใจ เขาก็จะถูกผลักให้มาเป็นสามกีบ

มันเลยทำให้ขาดความลื่นไหลของแนวคิดต่างๆ ขาดความลื่นไหลระหว่างบุคคล ระหว่างชนชั้น เพราะมันเหมือนกับว่า ถ้าเราไม่จัดประเภทใครเลย

เราจะอยู่ด้วยกันในสังคมไม่ได้ เพราะราอยากเห็นทุกคนว่าเขาเป็นใคร อยู่จุดไหน มีความคิดยังไง

คือหลังจากการโพสต์สเตตัสนั้น เทคแอคชันด้วยสเตตัสแบบนั้น ซึ่งไม่ได้รุนแรงเลยนะ แต่คนก็มองว่า เราเป็นติ่งอนาคตใหม่ค่ะ หรือบางคนมองว่าเป็นคนหัวรุนแรง แค่เพราะโพสต์สเตตัสนั้น

หลังจากนั้นเราต้องทิ้งทุกอย่างในไทย ไปเป็นนางแบบต่างประเทศ เพราะที่ไทยไม่มีงานให้เราทำ แล้วเป็นมาตลอดจนถึงเร็วๆ นี้

ช่วงม็อบปี 2563 เป็นอย่างไรบ้าง

เป็นช่วงที่เลยการประกวด Miss Universe มาแล้ว เลยช่วงการประกวดนางงามครั้งแรกของเรามาแล้วด้วย คนก็จับตาเรื่อง การเมือง เพราะรู้สึกว่า เราเป็นนางงามที่ออกมาขับเคลื่อนสังคม

ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นเราไม่ได้ขับเคลื่อนสังคมอะไรเลย ทำไมถึงคิดว่าเราขับเคลื่อนสังคม

เราก็แค่มีความคิดเห็นต่อการเมือง คือทุกคนมีความคิดเห็น ทุกคนก็พูด แต่ไม่ดัง แค่นั้น เราเลยรู้แปลกๆ เวลาที่มีใครยกย่องหรือชื่นชมเรา ไม่อยากรับคำชื่นชมแบบนี้ เพราะเราว่ามันโอเวอร์เกินไป

เราเป็นที่รู้จักในวงการการเมือง วงการนักกิจกรรมนิดหน่อย มีคนโทรบอกให้มาช่วยให้กำลังใจ คนบางกลอย หน่อย ตอนนั้นมีม็อบอยู่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ เราก็คิดว่าถ้าไปเราต้องพูดอะไรสักอย่าง เพราะถ้าไปนั่งเฉยๆ มันก็จะไม่มีพอยท์ ไม่มีอะไร เราเลยหาข้อมูลเรื่อง บิลลี่ แล้วก็ร่วมม็อบเขา ซึ่งตอนนั้นเรารู้จักบิลลี่แค่ผิวเผินมาก รู้จากแท็กทวิตเตอร์หรือโพสต์ในโซเชียลต่างๆ แล้วปัญหาบางกลอยถ้าไม่ใช้เวลาทำความเข้าใจหน่อยค่อนข้างยากอยู่เหมือนกัน ก็ใช้เวลาทั้งคืนทำสคริปต์ตัวนั้น แล้วก็ไปพูด ซึ่งก่อนหน้านั้นเราอยู่รายล้อมคนเยอะมากๆ ร้อยคน สองร้อยคน เราไม่เคยพูดในที่ซึ่งไม่มีไมค์ ไม่มีแสง สี เสียง มีคนอยู่แค่ 20 คน นั่งอยู่บนผ้าใบทาสี มันเป็นสภาพที่น็อคเราจากโลกความฝันกลับมาสู่ความเป็นจริงว่า

การต่อสู้กับทุกอย่างมันไม่ได้สวยหรูนะเว้ย มันไม่ได้โรแมนติคแบบเจอคนเป็นล้านหน้า เซ็นทรัล เวิล์ด แล้วเหมือนทุกคนร้องเพลง Do you hear the people  sing มันคือความโดดเดี่ยว ความเหงา ความสิ้นหวัง

เรารู้สึกถึงคำว่า สิ้นหวัง มันเป็นคำเดียวที่ผุดขึ้นมาในใจเรา แล้วเราจะทำยังไง? เราจะทำได้มั้ย? เรามีความรู้สึกว่าเราตัวเล็กลงไปด้วยซ้ำในสถานที่นั้น มันแบบ เราจะมาทำอะไรที่นี่ได้เหรอ นั่นคือคำถาม ว่า ฉันจะเปลี่ยนอะไรตรงนี้ได้เหรอ นี่คือความรู้สึก ณ ตอนนั้น

แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจพูดทุกสิ่งตามที่เราหามา เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง เราพูดออกไปตามที่คิดว่าจำเป็นที่ต้องพูด ซึ่งตอนหลังก็มีคนมาดูคลิปนี้เพิ่มแล้วก็เป็นไวรัลออนไลน์ ชื่อของบางกลอยก็กลับขึ้นมาบนโลกอีกครั้งหนึ่ง

และไอ้นั่นแหละทำให้รู้สึกว่า เออ ต่อสู้อ่ะ มันไม่สามารถต่อสู้ได้โดยไม่มีคนฟัง ไม่มีคนได้ยิน เพราะเรื่องราวของคนกลุ่มน้อยมันจะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังอยู่แล้ว ไม่ว่าเขาจะทำมากแค่ไหนก็ตาม มันง่ายกว่าที่คนจะไปโฟกัสปัญหาอะไรใหญ่ๆ ทำให้ปัญหาเหล่านี้มันดูเล็กไป ซึ่งถ้าปัญหานี้มันคือชีวิตของเรา เราคงกระเสือกกระสนสุดๆ

เราไม่เคยเห็นภาพตัวเราเป็นกระบอกเสียงขนาดนี้มาก่อน นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึก เราเอาตีนเหยียบอยู่บนพื้นถนน ด้วยชุดที่ธรรมดา หน้า ผมไม่ได้เซ็ท ไม่มีคนโห่ล้อมตบมือว่าเฌอเอมพูดดีมาก แต่แม่งเป็นคำพูดที่ทรงพลังที่สุดและด้วยเสียงที่ดังที่สุดตั้งแต่ที่เราเคยพูดมา

และคนที่อยู่ตรงนั้นคือคนที่ต้องการเรามากที่สุดตั้งแต่ที่เราเคยพูดมา นี่มันคือเนื้อแท้ของการออกมาเป็นกระบอกเสียงที่เราไม่สามารถหาได้ถ้าเรายังอยู่บนเวทีนางงาม

เราไม่ได้บอกว่าเวทีนางงามมันจอมปลอมนะ เราแค่จะบอกว่า การที่คุณจะพูดแทนคนที่พูดไม่ได้จริงๆ คุณต้องอยู่ในสถานะที่เข้าใจพวกเขาได้ด้วย ตีนต้องเหยียบบนผืนดินเดียวกัน

ในการชุมนุมคุณห็นภาพโครงสร้างสังคมจุดไหนบ้างที่ต้องเปลี่ยนในกลไกรัฐ

วันนั้นที่ม็อบบางกลอยเรื่องที่พูดมันยาวมาก! มันก็ทับเวลาที่ธงชาติจะขึ้น

มันเลยเกิดเหตุการณ์ที่ทุกวันนี้ยังโดนด่าอยู่เลย เรื่อง นอนเคารพธงชาติ นอนเฉยๆ เลย คือมันสะท้อนบางอย่างนะ เราคิดว่าปัญหาคือ การเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างในประเทศไทย หรือในสังคมไทยเอง มันคือเรื่องของการเอาแนวคิด รัฐชาตินิยม มาครอบทับศีลธรรมมากเกินไป

คือศีลธรรมมันน่าจะมีสากลอยู่แล้ว เช่น ถ้าเจอคนล้มเราก็ควรช่วยเขายืนขึ้น หรืออะไรทั่วๆ ไปที่พอเข้าใจได้ แต่พอเอาคำว่ารัฐชาติครอบศีลธรรม กลายเป็นว่าศีลธรรมของคนเรามันถูกผูกด้วยความรัฐชาติ ในแบบที่เจาะจง ต่อให้คุณทำงานเพื่อประเทศไทยมากเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าคุณไม่ยืนเคารพธงชาติ คุณเป็นคนเลว

ทั้งที่จริงๆ มันคือเรื่องของ เสรีภาพในการแสดงออก ตามบริบท ตามความเหมาะสม ตามเจตจำนง ก็เลยทำให้เราคิดว่า การสื่อสารที่มีขึ้นในฟีดและมีการโต้ตอบกลับมาตลอด เพราะคนเราไม่สามารถออกจากระบอบศีลธรรมของความ รักชาติ ได้ เช่น การไปนอนเคารพธงชาติ หรือ ถ้าเราเล่นมือถือตอนเคารพธงชาติล่ะ ถามว่ามันมีผลอะไรกับความเป็นชาติ

มันไม่ได้มีผลอะไรถูกไหม มันแค่มีผลกับใจคนที่รู้สึกว่า ถ้าคุณไม่ทำเหมือนเรา คุณคือคนทำลายชาติ คุณคือไม่รักชาติ ศาสนา กษัตริย์ ทั้งๆ ถ้าเราเดินเล่นมือถือไปเรื่อยๆ มันไม่ทำให้ใครตาย ไม่ได้ทำจริงๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เราไม่ได้อะไรเลย เรายังคงจ่ายภาษี เรายังคงต่อสู้เรื่องการเมือง แต่เราแค่ไม่เคารพธงชาติ

ตอนนั้นบรรยากาศมันตึงเครียด เพราะว่ามีตำรวจมายืนเฝ้า ชาวบ้านบางส่วนเขาก็จะยืนเพราะเขามีความเชื่อว่า ถ้าเขาไม่เคารพธงชาติ เขาจะถูกปรับ เขาคิดว่ามันจะมีความผิด และหลายคนไม่มีบัตรประชาชน เพราะเป็นชาติพันธุ์ อย่างบททดสอบข้ามแดน ที่ว่า

ถ้าเป็นคนไทยต้องร้องเพลงชาติไทยได้ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับเรื่องนี้เลย

กูไม่ใช่คนอเมริกา กูก็ร้องเพลง Rihanna ได้ค่ะ

มันทำให้เขาฝังหัวว่าเพลงชาติคือสัญลักษณ์ของการกดขี่ หมายถึง ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในพื้นฐานของความเป็น ชาติเขาจะถูกผลักออกและถูกเลือกปฏิบัติอย่างเลวร้าย เขาเลยเลือกที่จะกระโดดลุกขึ้นมาเคารพเพลงชาติ

แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ยืน เรานั่งเลย เขาก็ตกใจ แล้วตรงนั้นมีคนแก่ด้วยที่เขาลุกไม่ถนัด เราบอกว่า ถ้าไม่อยากลุก ไม่ต้องลุกก็ได้ เพราะเรากำลังพูดถึงเรื่องของการกดทับของ รัฐชาติ ที่มีต่อ กลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าคุณฟังเพลงชาติแล้วไม่ได้รู้สึกปลอดภัย ไม่ได้รู้สึกว่านี่คือชาติของคุณ อย่าลุกขึ้นมาแสดงความเคารพ เพราะถ้าคุณลุกขึ้นมาเมื่อไหร่มันเท่ากับว่า คุณแสดงความกลัว ถ้าสบายใจที่จะนั่งก็นั่ง

ผลเป็นอย่างไร

เขาก็นั่งนะ ตำรวจทำยึกยักๆ แต่ก็ยึกยักไม่สุด เพราะมันไม่มีความผิดทางกฎหมาย เราก็เลยนอน นอนเลย เพราะรู้สึกว่า เราไม่สามารถเคารพความเป็นชาติ ได้ในสถานการณ์ที่เรากำลังพูดถึงการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ หน้าทำเนียบรัฐบาลที่ไม่เคยเปิดให้ประชาชนเข้า แต่พวกมึงเอาสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ไปผูกติดกับที่ตรงนั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเพลงชาติเป็นเพลงของประชาชน

เราเลยบอกไปว่า ถ้าคุณเอาเพลงชาติมาเปิดตรงนี้ ดังอยู่ตรงนี้ เราคงไม่สามรถแสดงความเคารพได้หรอก เพราะมันคือการย่ำยีกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ซ้ำซ้อนมากมากจนเกินไป เพลงชาติไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง มันไม่ใช่เลย ถ้าเรายืนทุกคนต้องยืน ถ้าเรานอนทุกคนต้องนอน มันไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย แล้วนี่คือการประท้วงที่สงบสุดด้วยซ้ำ คือนอน นอนเฉยๆ หลังจากนั้นเราก็พูดสคริปต์เราจนจบ คืนนั้นก็ไวรัลเลย มีคนออกมาด่าเยอะแยะ อย่างทุกวันนี้เรายังโดนด่าเรื่องนอนเคารพธงชาติ เลยตอบไปว่า ไม่ได้นอนเคารพค่ะ ไม่ได้เคารพค่ะ

ความเชื่อมโยงของประเด็นทั้งหลายในสังคม คุณคิดว่าตัวเชื่อมใหญ่ที่ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีอำนาจคือใคร

จากที่เข้าใจเรื่อง โครงสร้างทางสังคมที่มันผิด ตอนนี้เราเข้าใจเรื่อง ระนาบทางสังคม ว่า อ๋อ รัฐชาติ มันเข้าไปแทรกซึมในความคิด ในสังคมแบบนี้นี่เอง หลังจากนั้นเราเลยมีความรู้สึกว่าต้องเอา propaganda ของ รัฐชาติออกจากหัวคนให้ได้มากที่สุด เพราะมีคนที่ถูกทอดทิ้ง ถูกประณามหยามเหยียดว่าเลวทราม เพียงเพราะสำนึกของการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของรัฐชาติแบบเดิมๆ

อย่างคำว่า ชังชาติ ทำไมถึงเป็นคำด่า ไอ้พวกชังชาติ จริงๆ ก็ไม่ได้ผิดนะ ถ้าเราเกิดมาแล้วไม่รู้สึกชอบประเทศเรา แต่เราก็ต้องอยู่ มันไม่ใช่ทุกคนที่อยู่แล้วจะชอบ มันต้องมีคนไม่ชอบเป็นปกติ

อย่างบางคนที่พยายามปฏิรูปเรื่องที่ดิน ทำนั่นนี่ ทำไมถึงหาว่าเขาชังชาติ ทั้งๆ ที่มันจะเกิดประโยชน์กับประเทศมากขนาดไหน เพราะมันไปเปลี่ยนรูปแบบคำว่าชาติ ในรูปแบบที่คุณเข้าใจไง แต่คุณไม่ได้ใส่ใจหรอกว่ามันจะดีขึ้นขนาดไหน จะดีขึ้นกับคนกี่กลุ่มมากขนาดไหน แค่มันเปลี่ยนไปจากสิ่งที่คุณเคยเชื่อว่าดี คุณก็พร้อมที่จะมองแล้วว่ามันคือการทำลายชาติ

แล้วเราคิดว่าแนวคิดนี้มันทำให้การพัฒนาประเทศมันไปไม่ถึงไหน แม้แต่การที่ไปประท้วงหน้าสถานทูตอเมริกาก็ด้วย คือการบริหารหรือทำให้ประเทศมันพัฒนา มีส่วนร่วมกับการเมืองระดับโลก กับประชาชนทั่วโลก มันไม่ใช่แค่ปกป้องอย่างเดียว การเปิดรับ การสอดส่อง ทำให้ประเทศเราเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมเดียวกันกับโลกใบนี้ เพราะตอนนี้ประเทศเราเหมือนอยู่คนเดียว อย่าทำให้ความรักชาติทำให้ชาติโดดเดี่ยว เราควรทำให้มันกว้างที่สุด แลกเปลี่ยนกับประเทศอื่น แต่ไม่เสียอัตลักษณ์ของตนเอง ก็เท่านั้น

ถ้าพูดถึงการกระจายอำนาจ ในมุมมองของคุณ เห็นว่ามันหน้าตาเป็นยังไงคะ การกระจายอำนาจจะช่วยหรือมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นคุณทำอยู่ไหม

การกระจายอำนาจ เรามองเหมือนเป็นแบบว่า โรยสายรุ้งบนหน้าเค้ก (ทำท่าโปรย) การกระจายอำนาจคือ การหว่านเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ออกดอก ออกผล เพราะในปัจจุบันเราเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ ถ้าเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง อย่างเราที่อยู่กรุงเทพฯ รู้เลยว่ามันสะดวกสบายขนาดไหน แต่กับคนที่อยู่พื้นที่อื่นเขาเหมือนถูกบีบให้เข้ามาหาชีวิตที่ดีขึ้นในกรุงเทพ

เราเลยเกิดความรู้สึกว่าทำไมไม่ทำให้ทุกพื้นที่มันดีขึ้นได้เท่าๆ กัน แม้จะบอกว่าการรวมอำนาจเป็นเหมือนการส่งต่อ คำสั่ง เพื่อให้ไปบริหาร แต่คำถามคือมันมีอำนาจในการบริหารพื้นที่ตรงนั้นจริงๆ ไหม ในเมื่อการตัดสินใจส่วนมากยังข้องเกี่ยวอยู่กับส่วนกลาง คนที่ลงพื้นที่ไปดูก็ยังมาจากส่วนกลาง แสดงว่ากว่าเราจะกลับไปดูแลบ้านเกิดเราเอง เราต้องเข้าไปที่ส่วนกลางก่อนเหรอ แล้วค่อยกลับมาแก้ แบบนี้เหรอ เราว่ามันคือขั้นตอนที่เสียเวลาเกินไป

แล้วอีกอย่างถ้าเรามีการกระจายอำนาจทั่วถึงท้องถิ่น เราว่าปัญหาหลายๆ อย่างมันจะถูกแก้ไขเร็วขึ้น

ตอนนี้สัดส่วนงบประมาณอยู่ที่ ส่วนกลาง 70 ท้องถิ่นแค่ 30 ฟังแบบนี้รู้สึกอย่างไร ในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ The Voters กำลังล่ารายชื่ออยู่ กลับกันเป็น ส่วนกลาง 30 ท้องถิ่น 70 คุณคิดว่าจะสร้างความเจริญให้จังหวัดต่างๆ นอกจากกรุงเทพฯ ไหม

หัวใจที่สำคัญก็คือทุกคนมีเซนส์การใช้สิทธิ เลือกคนที่มาดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของตนเองมากขึ้น  

ทำให้การบริหารไม่ใช่เรื่องไกลตัวจากคนในต่างจังหวัด เมื่ออำนาจอยู่ในมือเขาแล้วเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารได้  อย่างสภาหรือกรรมการหมู่บ้าน หรืออะไรที่มันเล็กๆ อย่างบางทีในท้องถิ่นเองมี ภาคธุรกิจ ภาคบริหารด้วย

เพียงแต่ว่าตอนนี้มันยังไม่ได้รับการรับรองให้มีอำนาจที่แท้จริง บางที่มีกรรมการหมู่บ้านที่ทำงานมาตลอด พอมีนโยบายลูกที่มาจากนโยบายใหญ่ๆ มันดันมาขัดกับการตัดสินใจของเขาหรือสิ่งที่เขาทำมาดีแล้ว แล้วมันไม่มีใครเข้าไปรับฟัง มันเลยกลายเป็นการสร้างปัญหาให้พื้นที่ซึ่งไม่ได้มีปัญหาด้วย

อยากเห็นการกำหนดทิศทางสังคมเป็นยังไง

ถ้าเราไม่ปล่อยให้ประชาชนได้ดูแลพื้นที่หรือการบริหารท้องถิ่น ไม่ให้เขาได้ใช้อำนาจของพวกเขา มันจะไม่เกิดการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ เราจะโตมาโดยห่างจากเซนส์ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เราโตมา เราที่โตมาโดยไม่ได้มีเซนส์ของการมีส่วนร่วม เราที่โตมาโดยผลักภาระ ผลักสิทธิของเราไว้กับทุกอย่าง ที่ไม่ใช่ตัวเรา กว่าเราจะรู้ว่าเราต้องเอามันคืนมา กว่าจะรู้ว่าเราต้องมาสิทธิของคืนมาให้ได้ เราก็โตแล้ว

นโยบายที่คุณอยากเห็นมันเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดหรือพื้นที่ซึ่งคุณกำลังทำงานอยู่คืออะไร

เรามีความรู้สึกว่าไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับที่ไหนอีก

โดยเฉพาะส่วนหนึ่งเราทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นชนพื้นเมือง เป็นพื้นที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะส่วนหนึ่งคือเป็นพื้นที่ป่าเขา มีการประกาศ พ.ร.บ.ต่างๆ ทับก็เยอะ บางทีทับกัน 2-3 ตัว มันก็ทำให้บทลงโทษลักลั่น ปกติบทลงโทษก็คือเอากฎหมายแต่ละตัวมากางเทียบกัน เขาจะเลือกโทษที่หนักสุดจากกฎหมายทั้งหมดที่ทับกัน จากพ.ร.บ.เพียงตัวเดียว เรารู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าตอนนี้พวกเขาใช้ชีวิตโดยที่พยายามหากฎหลัก แต่กฎหลักพวกนั้นมันไม่ได้สร้างมาเพื่อคน

กฎหลักมันควรสร้างเพื่อนคน แล้วกฎรอบๆ มันควรสร้างเพื่อให้รองรับ สิทธิมนุษยชน

คุณคิดว่าเรื่องไหนน่าพูด ถ้าเรียงตามความเร่งด่วน

คือนโยบายแวดล้อมต่างๆ มันต้องแวดล้อมมาที่คน แล้วก็นโยบายหลักเกี่ยวกับคนก็ต้องบังคับให้คน อยู่ร่วมกับป่าได้ อนุรักษ์ป่าได้ ไม่ใช่ตั้งนโยบายบนป่า แล้วก็พยายามหาคนโยนกลับไป ตรงนี้แม้แต่เรื่องนี้คนในพื้นที่เองก็ยังมีการถกเถียงกัน ถ้าคนที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านมาจัดการมันก็ยาก ยืดเยื้อ

ล่าสุดที่ทำสำเร็จและพอจะจัดการได้ ก็เห็นที่ แม่แจ่ม บ้านยางน้อย เชียงใหม่ ถือว่าดีขึ้นในเรื่องของสิทธิป่า แต่สุดท้ายแล้วมันก็ยังต้องอนุมัติต่อไป

หวังว่าเมื่อมีการตื่นรู้ขึ้นมาแล้ว คนที่อยู่ระดับตัดสินใจของกรมกองต่างๆ เขาจะเล็งเห็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น มันก็จะได้แบ่งเบาส่วนกลาง เพราะคนส่วนกลางแม้เข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลได้เยอะจริง แต่บางทีมันไม่ได้มีความจำเป็นที่ส่วนกลางต้องจัดการทุกเรื่อง คุณอาจทำไม่ได้ 100% ในทุกๆ เรื่อง เรื่องที่มันมีคนรอให้คุณแก้ไข

เขาก็รอ รอจนเขารอไม่ได้ จนเขาเสียชีวิตไปแล้ว

การอุ้มหายและซ้อมทรมาน คืออะไร ทำไมต้องแก้ไขเรื่องนี้

บิลลี่ พอละจี เป็นอีกคนหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และเล่นตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย พยายามทำเพื่อบ้านตนเอง แต่สุดท้ายมันก็ยังเกิดการ อุ้มฆ่า อยู่ดี และเรื่องการอุ้มฆ่าของบิลลี่ ทุกวันนี้ถ้าพูดตามกฎหมาย เรายังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด แม้ว่าเราจะมีผู้ต้องหา แต่ถ้ามานั่งดูพอยท์ของ พ.ร.บ. หลายๆ ตัว เราจะเห็นได้เลยว่า ถ้าไม่ได้มี พ.ร.บ.ซ้ำซ้อน บนพื้นที่แก่งกระจานมากมาย การแก้ปัญหาที่บิลลี่พยายามจะผลักดันคงสำเร็จเร็วขึ้น ใช้คนน้อยลง และที่สำคัญมันอาจไม่ได้ขัดแข้งขาใคร เพราะมันมีตัวบทกฎหมายที่คุ้มครองอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้

ทุกกฎหมายมันไม่ได้มีตัวไหนที่คุ้มครองชีวิตมนุษย์ มันยิ่งทำให้เกิด พ.ร.บ.เยอะขึ้นไปอีก เสียเวลาแก้เยอะไปอีก โดยที่ไม่มีความจำเป็น

เราเลยมองว่า การเสียชีวิตของบิลลี่ เป็นหนึ่งในการสูญเสียที่เกิดจากความละเลยของภาครัฐต่อชีวิตของคนที่อยู่ในป่า

จะคนที่ต้องรอ รอจนต้องจากไปอีกกี่ครั้งอีกกี่คน ก็หวังว่าอำนาจและชัยชนะของชาติพันธุ์จะมาถึงในเร็ววัน

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

  • ช่างภาพและนักเดินทาง เชื่อเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ ความหลากหลายและเสรีภาพ และ หากประชาชนออกแบบประเทศเองได้ สังคมคงมีสีสันและพัฒนาไปไกลอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีความฝันอยากเป็นชาวประมง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *