เฌอเอม – ชญาธนุส ศรทัตต์: จากผู้วางเฉยสู่ผู้ตื่นรู้ (1)

หากพูดถึงเวทีการประกวดนางงาม เราอาจคุ้นเคยกันหลายเวที แต่หากนึกถึงนางงามที่ส่งเสียงและเคียงข้างประชาชน เฌอเอมชญาธนุส ศรทัตต์ คือหนึ่งในท็อปลิสต์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมและต่อสู้เคียงข้างพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ไม่ว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงปัญหาและร่วมสู้กับขบวนพี่น้องบางกลอยและประเด็นชาติพันธุ์ เรามักเห็นเฌอเอมปรากฎตัวและพูดถึงความต้องการและปัญหาซึ่งพื้นที่เจออยู่เสมอ จนเกิดการลบภาพจำการเป็นนางงามในอดีตที่อยู่ไกลตัวประชาชน สร้างมาตรฐานนางงามที่เคียงข้าง ใกล้ชิดประชาชน ยึดโยงตนเองกับพื้นที่เพื่อพูดแทนพี่น้องประชาชน

นอกจากการทำงานของ เฌอเอม ที่พิสูจน์ตนเองมาโดยตลอดว่า การเป็นมิสแกรนด์ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ เฌอเอมมักมีหลักการในการพูดถึงข้อเสนอต่อการเปลี่ยนแปลง และเมื่อได้เจอกับผู้มีอำนาจ อย่างในเวทีการประมวดมิสแกรนด์ครั้งล่าสุด ไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในสมาชิกรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา เฌอเอมได้ทวงถามและยืนยันถึงปัญหา การรับผิดชอบและการแก้ไข นี่คือสิ่งที่เฌอเอมทำมาโดยตลอด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เห็นมิสแกรนด์คนนี้อยู่งานเคลื่อนไหวบนท้องถนน เคียงคู่พี่น้องอยู่เสมอ และยังเป็นคนที่ได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ด้วยสิ่งที่เฌอเอมทำ

ครั้งนี้เราจะมาพูดคุยกับเฌอเอมในฐานะคนที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม ร่วมกันฟังเสียงของประชาชนผ่านเรื่องราวที่เฌอเอมพบเจอ มุมมองและเข้าใกล้ความคิดของเฌอเอม มากขึ้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอำนาจจะอยู่ในมือประชาชน และบทสัมภาษณ์นี้ขอเป็นหนึ่งในแรงเล็กๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางมาเป็นการให้อำนาจประชาชนกำหนดทิศทางของประเทศ ด้วยอำนาจที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศจะได้วางทิศทางของสังคมด้วยมือของตนเอง

ไม่ใช่คนลำพูน ไม่ใช่คนที่สูงกว่าใคร เป็นประชาชนที่อยากเห็นชัยชนะของประชาธิปไตย

ทำไมถึงลงมิสแกรนด์ลำพูน

เราไม่ใช่คนลำพูน เราเป็นคนนนทบุรีที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ย้ายบ้านมากรุงเทพฯ ด้วย แต่ลงมิสแกรนด์ลำพูนเพราะว่า เราชอบคอนเซปต์ของมิสแกรนด์ที่เป็นนางงามแต่ต้องอยู่กับชุมชน แม้ว่าคนอื่นจะทำหรือไม่ทำก็เรื่องของเขา แต่เราซื้อคอนเซปต์นี้ เราก็เลยดูในภาคเหนือว่ามันมีจังหวัดไหนบ้างที่มันมีความน่าสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมหรือเรื่องชุมชน ก็เลยมาเจอลำพูน เราไม่ได้ลงภาคอื่นเพราะเราชอบภาคเหนือ และเอเนอร์จีของเราไม่สามารถอยู่กับภาคอื่นได้ จนตอนนี้ทุกคนบอกว่าตาเราเหมือนคนเหนือละ (ขำแห้งๆ)

ก็มาเจอลำพูนที่มีประวัติศาสตร์ มีชุมชน มีชาติพันธุ์ แล้วมันน่าสนใจ ก็กะว่าจะเอาประสบการณ์จากการที่เราเป็นมิสแกรนด์ลำพูนมาทำงานต่อ อาจจะมาทำ Intership หรือโปรเจคต์ส่วนตัวหรืออะไรก็ตาม เพราะจริงๆ แล้วอยากเรียนต่อเรื่องมานุษยวิทยา เกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ กลับมาทำงานระยะยาวเรื่องชาติพันธ์ต่อ

จริงๆ เรา passionate กับเรื่องนี้มากว่า แบบ อืม สำหรับเรา

ชัยชนะของประชาชนที่แท้จริง คือชัยชนะของชนพื้นเมือง เพราะเขาถูกกดทับจากหลายอย่างมาก ถ้าเขาสามารถขึ้นมาเป็นพลเมืองชั้นเดียวกันกับคนไทย คนเมืองหลวงได้

หน้าตาชัยชนะของขบวนการประชาชนต่อสังคมนี้ สำหรับคุณเป็นยังไง

มันคือชัยชนะของจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ต่อระบบปกครองที่ไม่ได้ใส่ใจต่อเรื่องแบบนี้มากนัก

แล้วอีกอย่างคือศิลปะวัฒนธรรมของชนเผ่า มันเลือนหายไปตามกาลเวลา มันไม่ได้มีการอนุรักษ์ เราค่อนข้างมุ่งอนุรักษ์มากกว่าสร้างอะไรใหม่

เพราะจริงๆ เราสร้างอะไรใหม่ไม่ยาก มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาถ้าเป็นการสร้างใหม่ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ แสดงว่ามันมีมานานแล้ว ถ้าเป็นคนเขาก็เสียชีวิตไปตามกาลเวลา ถ้าเป็นสิ่งของก็สูญหาย ถ้าเป็นสถานที่ก็ผุพัง สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เราต้องรีบทำก่อนที่มันจะหายไปทั้งหมด

นี่ก็ตัดสินใจว่าเราจะหาประสบการณ์จากลำพูน ไปทำงานกับ มูลนิธิพระบาทห้วยต้ม ไปโปรโมทเรื่องของข้าว เรื่องของวัฒนธรรม เรื่องต่างๆ ของลำพูน แล้วก็กะว่าวันหนึ่งจะกลับมาบางกลอยอย่างแน่นอน และวันที่ 4 มิถุนายน เราก็ไปร่วมส่ง พี่กิ๊ฟ พี่น้องบางกลอยที่เพิ่งเสียชีวิตไป (น้ำตาคลอ)

มันทำให้เราตระหนักได้ว่า เรื่องบางเรื่องมันไม่ควรรอ ไม่ว่าเหตุผลจะคืออะไรก็ตาม

เขาอยู่ในกลุ่มที่เปราะบางมากๆ มาทั้งชีวิต วัฒนธรรมของเขาเองก็ด้วย ถ้าเรามัวแต่รอ สุดท้ายเราก็จะเก็บรักษามันไว้ไม่ได้ สุดท้ายเราก็จะไม่ได้บอกลา (ยื่นทิชชู่ให้เฌอเอมที่น้ำตาคลอและพูดเสียงสั่น)  

เพราะเราอยากกลับไปบางกลอย คนที่พื้นที่ก็อยากกลับไปบางกลอย แต่ก่อนหน้านี้เกิดการปลุกปั่นจากใครบางคนว่าพื้นที่ไม่อยากให้เรากลับไป ซึ่งพอไปคุยจริงๆ มันเป็นข่าวลวง และทำให้เราเสียเวลา

เสียเวลาที่ควรจะได้กลับไปอยู่กับพี่กิ๊ฟและพี่น้องบางกลอย

เกิดมาพร้อมกับ หัวใจของคนชนชั้นกลาง

เราใช้ชีวิตเป็นอิกนอแรนซ์ท่านหนึ่ง แล้วก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยตั้งคำถามสังคม การเมือง ในแบบที่มันควรเป็น

อิกนอแรนซ์ที่ว่า มันเป็นยังไง

เราอยู่กับประเทศนี้และคิดว่านี่คือสิ่งดีที่สุด คิดว่าอยู่ในยุคทองที่ดีที่สุด ฉะนั้น ถ้ามีอะไรคืบคลานเข้ามา ที่จะทำให้สิ่งเรารับรู้มันไม่เหมือนเดิม เราจะไม่สนใจ เป็นคนในลักษณะที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

อันนี้คือความเป็นคนไทยโดยธรรมชาติ ปกติเลย เพราะเราโตในบ้านที่เป็นแบบนั้น

ซึ่งเราว่าคนส่วนมากก็เคยเป็น เพราะส่วนมากก็น่าจะโตกันมาแบบนี้ คือมีพ่อแม่ มีครอบครัว ปู่ย่าตายายที่เชื่อมาแบบนี้และสอนเราแบบนี้ เราก็จะมีความคิดแบบที่เขาเชื่อว่านี่คือยุคที่ดีที่สุด ไม่เกิดการตั้งคำถาม

แล้วเราอยู่ในบ้านที่เป็นฐานชนชั้นกลางระดับล่าง คือมีปัญญาส่งลูกเรียนแพงหนึ่งคน บ้านอยู่นนทบุรี ปริมณฑล แล้วก็เลี้ยงด้วยการพยายามไม่ให้ออกจากบ้าน เพราะว่าเป็นเด็กผู้หญิงและแถวบ้านมันเปลี่ยว ลูกคนเล็กด้วย พ่อแม่ก็อยากส่งเรียนให้ดี เพราะว่า พี่สาวพี่ชายเรียน รร.สาธิตฯ หมดเลย เป็นบ้านที่มีความ academics แต่ก็ไม่สามารถส่งลูกเรียนเอกชนได้ และเขาก็จะมีความเชื่อว่าโรงเรียนรัฐดีที่สุด

เราเลยได้เรียนโรงเรียนสาธิตฯ ประสานมิตร แถวอโศก แต่บ้านอยู่ติวานนท์ แต่สมัยนั้นค่าเทอมยังไม่แพงแบบทุกวันนี้

ก็ไปกลับสุขุมวิท ติวานนท์ทุกวัน เราก็จะรู้จักแต่ละแวกสุขุมวิท เรียนพิเศษก็เรียนที่สยามสแควร์ หรือถ้าต้องไปเรียนที่อื่นก็จะมีพ่อแม่ไปรับไปส่ง กลายเป็นว่าเราไม่ได้รู้จักชีวิตอื่นเลยนอกจาก บ้าน กับ โรงเรียนของเรา

และมันเป็นพื้นที่ซึ่งดูก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

เราไม่เข้าใจปัญหาของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสลัม เราไม่เคยเจอสลัมด้วยซ้ำ แม้ว่าเราจะไม่ใช่คนที่เกิดมาก็สะพายกระเป๋าแบรนด์เนมตั้งแต่ ป.5 แต่เราก็อยู่ในสภาวะที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร เราแค่ต้องอดทนและทำงานหนัก ซึ่งอันนี้คือหัวใจของความเป็นชนชั้นกลาง เพราะว่ามันเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเหนื่อย คนเราเหนื่อยเท่ากัน จะให้ใครเอาเปรียบเราไม่ได้ คิดแบบนี้มาโดยตลอด ก็โตมาแบบนั้น

ในช่วงวัยเด็กก่อนมาทำงานเพื่อสังคมและเป็นนักขับเคลื่อน คุณเห็นหรือเจออะไรมาที่ทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง

ช่วงม็อบ ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ คือตอนที่คนรอบข้างอินการเมืองมาก ออกไปชุมนุม เป็น ‘ยุคสมัยของการตื่นรู้’ เราก็ออกไปกับเขานะ เพราะเพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็ชวนๆ กันไป และก็เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการรววมตัวของประชาชน

ภาพ ณ ตอนนั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! สิ่งที่เราชื่อมันถูกต้อง มันจะผิดได้ไงวะ เราออกมาร่วมกับทุกคน เพื่อทำอะไรแบบนี้ประเทศชาติต้องดีขึ้นสิ เพราะนี่คือพลังของประชาชน ตามหลักประชาธิปไตย นั่นคือที่เรารับรู้ ข่าวทุกช่องก็ประโคมข่าวในแบบเดียวกัน พอมี นปช.ขึ้นมา เขากลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ของสังคม

ซึ่งตอนนั้นเราไม่เคยเห็นพวกเขาเลยนะ แต่เราก็เชื่อไปแล้วว่า เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีการศึกษา เพราะเสียงของคนรอบข้าง ของคนในสังคมเราเขาพูดกันแบบนั้น เพราะเป็นเสื้อเหลืองกันหมด เราก็มีความเชื่อถือในตัว ‘เขา’ โดยที่เราไม่ตั้งคำถาม ถ้าเป็น ‘คนนี้’ เขาต้องฉลาด สิ่งที่เขาพูดมันถูก

มันคือเรื่องของเครดิตล้วนๆ ทำให้เราเชื่อไปแบบนั้น แต่กลับกัน

เราไม่รู้จักคนเสื้อแดง ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน กลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่น่าเชื่อถือ พวกคุณเชื่อถือไม่ได้ นั่นก็เป็นเหตุผลว่าวินาทีที่เราเข้ามาสู่การเมือง เราอยู่ฝั่งนั้นเลย 100%

หลังจากนั้นเป็นยุค กปปส. อันนั้นก็ไปนะ แต่ไม่ได้อินเท่าตอนไปพันธมิตรฯ แต่เป็นครั้งแรกที่โดนแก๊สน้ำตา เพราะเราออกไปถ่ายภาพเหตุการณ์หนึ่ง เพราะอยากรู้ว่ามันมีการสลายการชุมนุมจริงไหม หรือ การต่อสู้มันเป็นเหมือนในทีวีไหม ตอนนั้นโตขึ้นมาแล้ว มีความอยากรู้อยากเห็น และยิ่งมันเป็นมวลชนที่มันเป็นประชาชนเหมือนเรา เรายิ่งต้องไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ก็ออกไปคนเดียว

พ่อบอก จะไปทำไม เดี๋ยวก็โดนยิงตายกันหมด เราเลยมีความเอะใจขึ้นมาในช่วงแรก ประมาณว่า แล้วเราจะไม่ออกไปดูหน่อยเหรอว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้ามันเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นมาจริงๆ มันต้องมีคนที่อยู่ตรงนั้น เราที่ยังเด็กจะรู้สึกอยากออกไปช่วย ก็เลยโดนยิงด้วยแก๊สน้ำตาลงมาที่เท้า ก็ต้องเอาถุงกระสอบชุบน้ำมาช่วยกันกระทืบเพื่อดับ โดนไปสามลูก

อะไรทำให้คุณเปลี่ยนความคิด

มาโดนซ้ำในฐานะ ‘สามกีบ’ อีก หลายจุดที่เราอยู่ในเหตุการณ์ และทำให้เรารู้จักคำว่า นี่คือ ‘การสลายการชุมนุม’

มันทำให้เรารู้ว่าความรุนแรงในยุคที่สามกีบต้องเจอมันแรงกว่ายุค กปปส.

มันไม่จริงเลยที่บอกว่า ยุค กปปส.แรงกว่า ในยุคนั้นมีการยิงแก๊สน้ำตาจริง แต่ยิงข้ามคลองหรือลงพื้น ไม่ได้ยิงในตำแหน่งที่มีฝูงชน

แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างสถานการณ์โดยใครก็ไม่รู้มันมีตลอดทุกการชุมนุม เพราะแม้แต่คนที่ยืนตรงหน้าเรา เราก็ไม่รู้ว่าใคร ไม่มีใครดูออก มันเป็นจุดที่ทุกคน ทุกฝั่งฝ่ายสามารถพูดจาสาดโคลนกันไปกันมาาได้เฉยๆ และเพราะแบบนั้น

มันเลยทำให้เราเชื่อว่า ไม่ว่าคุณเชื่อในการเมืองฝั่งไหน การอยู่เฉยๆแล้วรอผลลัพธ์ มันไม่ใช่การขับเคลื่อน

จนกระทั่ง เราเริ่มมาระแคะระคายอะไรต่างๆ ช่วงไม่นานมานี้ คือยุคของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละ

มันเป็นช่วงปี 2557 เราเป็นนางแบบแล้ว เพราะเช้าวันที่รัฐประหารเราออกไปทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าเขาหยุดกัน เราไม่รู้ว่ามันเกิดรัฐประหาร

คือสิ่งที่เราเชื่อมาในตอนเด็กๆ จนโตมันก็ทำให้เรามีความเชื่อว่า หลังจากนี้ทุกอย่างมันจะสงบ มันจะไม่มีม็อบละ เป็นความรู้สึกว่าเมื่อจบเหตุขัดแย้งทุกอย่าง นิทานก็จะจบแบบสงบสุข มีความสุข เราก็เลยใช้ชีวิตชิวๆ เลย ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้สงสัยหรือสนใจอะไร

จำได้ว่ายังเถียงกับเพื่อนอยู่เลย เพื่อนเป็นนักสิทธิมนุษยชน เรื่องการจำกัดข้อมูล การปิดกั้นเสรีภาพสื่อ เรามีความเชื่อเรื่องอำนาจ 100% ว่าอะไรก็ตามที่มาจากฝ่ายบริหารการปกครอง มันคือที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีที่นำมาซึ่งความสงบ เพราะเขาคือคนที่รู้ดีที่สุด การออกอากาศที่ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อาจต้องถูกยับยั้งไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ถูก ‘คนบางคน’ ใช้เป็นสถานการณ์ก่อความไม่สงบได้ มันจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ซึ่งมันเป็นความคิดของคนที่คิดว่าทุกอย่างต้องอยู่ใน ‘ครรลอง’

แต่ความจริงคือ

สังคมมนุษย์เราเต็มไปด้วยความปั่นป่วนโกลาหล เราไม่มีทางคิดเหมือนกัน ไม่มีทางเห็นเหมือนกัน แต่คำถามคือ ถ้ามันไม่เหมือนกันแล้ว มันผิดไหม

ตอนนั้นเราไม่สามารถคิดได้ เลยปล่อยให้ คสช. ทำทุกอย่างตามที่เขาอยากจะทำ ณ ตอนนั้นเรารู้สึกจริงๆ นะว่า มันคือปกติ เพราะกูเป็นประชาชนทั่วไป จะมีสิทธิออกความเห็นกับรัฐ หรือไปบอกให้เขาทำหรือไม่ทำอะไรได้ยังไง

เราคิดแบบนี้ เป็นคนไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เชื่อทุกอย่างไม่ตั้งคำถามกับอะไรเลย

ตอนช่วง คสช.โหดมาก เช่น ชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์ก็โดน คุณคิดแบบไหน

เห็นคนยืนชูสามนิ้วต่อนายกฯ มองว่าผิด แต่ไม่ได้คิดว่ามันคือ การแสดงอำนาจของประชาชนต่อรัฐ เราเชื่อมั่น ให้เครดิตกับ คสช. ตอนนั้น เพราะรู้สึกว่านี่คือรัฐที่ถูกต้อง

แต่ตอนรัฐบาลทักษิณ นั่นคือรัฐที่ไม่ถูกต้อง นั่นคืออำนาาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง และพอหลังจากผ่านวันเวลาไป หลายๆ คนคงไม่ได้คิดถึงจุดนี้ คงไม่ได้คิดถึงความชอบธรรม หรือหลักการประชาธิปไตยมากเท่าทุกวันนี้

ระหว่างทางในยุคของ คสช. มันเกิดเรื่องราวประเด็นต่างๆ มาเรื่อยๆ อย่างเรื่อง ทวงคืนผืนป่า PM 2.5 เรามีจุดแย้งในใจแต่ก็ยังไม่เยอะ เหมือนมันค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ

มันมีการสะสมตั้งแต่เรื่องส่วนตัว คือเราย้ายบ้านมาอยู่กลางเมืองกรุงเทพฯ เลย เป็นตึกแถว แล้วตรงข้ามบ้านเป็นกลุ่มเด็กแวนซ์ ที่ไม่ได้เก๋เหมือนในธาตุทองซาวด์ เป็นกลุ่มเด็กแวนซ์จริงๆ ที่มีปืน มียาเสพติด มีพรอพเป็นขวดเหล้าแตก เขาก็กินเหล้ากัน เปิดเพลงด้วยลำโพงงานบวชดังๆ ถึงตอนตี 4 เป็นแบบนี้ทุกวัน จนเราเป็นแพนิค เรานอนไม่ได้

และมีวันหนึ่งเราเปิดหน้าต่างออกไปแล้วบอกให้เบาเพลงลงหน่อยได้ไหม

คำตอบที่ได้คือ เขาขู่จะมายิงเราที่บ้าน ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ไม่ได้แล้วต้องทำอะไรสักอย่าง

เลยโทรหาตำรวจ แต่ตำรวจกว่าจะมา มาก็ไม่จับ เพราะบอกว่า ก็ขับมาตามโค้ง พอเข้าโค้งเขาปิดลำโพงแล้ว จะเอาผิดเขาได้ยังไง มันเหมือนกับว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายคุณไม่ได้มีนโยบายป้องกัน คุ้มครองให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย เหมือนต้องรอให้เกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นก่อนถึงจะจัดการได้ แล้วเราแจ้งบ่อยจนตำรวจไม่รับสาย  ตอนนั้นเลยรู้สึกอยู่ไม่ได้ กลัวแบบกลัวมากๆ กลัวมากๆๆ จริงๆ จนกลุ่มเด็กเหล่านั้นย้ายออกไป อาจโดนไล่ หรือด้วยเหตุผลบางอย่าง เราก็ไม่รู้

แต่เหตุการณ์นี้มันให้ความรู้สึกว่า เชี่ย การเป็นประชาชนธรรมดามันไม่มีพลังในการดูแลตนเอง ไม่มีพลังในการปกป้องชีวิตของตนเองขนาดนี้เลยเหรอ แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นกับเรา ใครจะมาคุ้มครองเราได้ ไม่มีเลย

คือเรารู้ว่าตำรวจกับนักการเมือง รัฐบาล มันไม่ใช่สถาบันเดียวกัน แต่ว่าเราร้องเรียนเรื่องนี้ไปกับทุกหน่วยงานแล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่าถูกภาครัฐทอดทิ้ง

และยังซ้ำด้วยการที่เราจะพูดเรื่องนี้ออกไป จะถูกมองว่าเราเป็นคนเรื่องมาก เพราะคนอื่นเขาก็อยู่กันแบบนี้มานานแล้ว มันเหมือนกับว่าเราอยู่ในสถานที่ซึ่งมันไม่ได้ปลอดภัยอยู่แล้ว หรือเป็นสถานที่ซึ่งมันมีความเสื่อมโทรมอยู่แล้ว เราต้องยอมรับความเสื่อมโทรมเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง โดยที่ทุกคนจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการ เพราะทำไปแล้วมันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก ส.ส.หลายคนก็อาจคิดแบบนี้ก็ได้นะ

เราเริ่มมีปัญหาละ ภัยมันคุกคามมาถึงตัวละ

ฟางเส้นสุดท้ายคืออะไร

ฟางเส้นสุดท้าย คือเรื่อง PM 2.5 เราก็ปรี๊ดแตกขึ้นมาอีก เพราะบ้านเนี่ยกูยังทำผนังกั้นเสียงได้ แต่อากาศเนี่ยกูไม่สามารถหลีกหนีจากมันได้ แล้วทุกคนสูดอากาศเดียวกัน ทำไมถึงปล่อยให้เกิดสิ่งนี้ เลยเป็นฟางเส้นสุดท้ายของเรากับรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คือมันสะสมอย่างที่บอกตอนต้น แล้วระหว่างทางก่อนหน้านั้นเขาก็บริหารไม่ดี เราก็รู้ แต่ด้วยความที่เราก็ยังพออยู่ได้ พอทนไหว มันไม่ได้มีอะไรถึงชีวิต เป็นตามรูปแบบของคนชนชั้นกลาง มันไม่ได้มีอะไรถึงชีวิต

ใครมาเป็นนายกฯ เราก็ต้องทำมาหากินอยู่ดีแต่คือ วันนี้กูทำมาหากิน แต่กูต้องสูดอากาศที่เป็นพิษ เป็นสิ่งที่ฆ่าเราได้

ฉะนั้นคำว่า ใครเป็นก็ได้นายกฯ มันไม่ใช่แล้ว เราก็เลยรื้อทุกอย่างมาอ่านใหม่หมดเลย และปฏิญาณเลยว่า กูจะไม่เลือกพรรคมึงแน่นอน

ติดตามบทสัมภาษณ์ตอน 2 เร็วๆ นี้

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

  • ช่างภาพและนักเดินทาง เชื่อเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ ความหลากหลายและเสรีภาพ และ หากประชาชนออกแบบประเทศเองได้ สังคมคงมีสีสันและพัฒนาไปไกลอย่างที่ทุกคนต้องการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีความฝันอยากเป็นชาวประมง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *