เดชรัต สุขกำเนิด: อำนาจทางการเมืองคืออะไร

การจัดสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จึงเป็นทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ไปพร้อมๆ กับการสร้างการมีส่วนร่วมและความมั่นคงทางการคลังของประเทศด้วย

ขอความรู้จาก เดชรัต สุขกำเนิด ปริญญาโทด้านการพัฒนาการเกษตรและชนบทจาก Institute of Social Studies ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปริญญาเอกด้านการวางแผนและพัฒนาจาก Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก
.

อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการ Think Forward Center นโยบายการพัฒนาประเทศพรรคก้าวไกล

อ่านที่อาจารย์เขียนในเว็บคณะก้าวหน้าว่า อำนาจทางการเมืองมีหลายแบบ ถ้าเราจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อำนาจนั้นๆ มีอะไรบ้าง

อำนาจทางการเมืองที่สำคัญอาจแบ่งได้เป็น 4 อำนาจใหญ่ๆ นั่นคือ หนึ่ง… อำนาจในการตัดสินใจ ว่าจะเลือกทำอะไร หรือไม่ทำอะไร เช่น การอนุมัติ อนุญาต กิจการ/โครงการ/ผังเมืองต่างๆ หรือจะดำเนินการในรูปแบบใด

สอง… อำนาจในการจัดสรรและบริหารทรัพยากร เช่น การจัดสรรงบประมาณในด้านต่างๆ การลงทุน การจัดระบบสวัสดิการ รวมถึงการบริหารงานบุคคล

สาม… อำนาจในการกำหนดวาระ/ประเด็นสำคัญในแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละช่วงเวลา เช่น การอนุรักษ์/ปรับปรุงนิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้อำนาจใน 2 ประเด็นแรก

และสี่ อำนาจในการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม กับแนวทางในการพัฒนาต่างๆ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง ซึ่งก็จะนำไปสู่อำนาจในการกำหนดวาระ/ประเด็นสำคัญตามมา

อำนาจทั้ง 4 สำคัญมาก สำหรับการพัฒนาและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

แคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เราปักธงชัดๆ ไปที่ความต้องการของคนต่างจังหวัด อาจารย์มองว่า ถ้าเรายุบรวม อบจ.เข้ากับ ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง สังกัดท้องถิ่น มีความเป็นไปได้ไหมครับ

ไม่ว่าจะเรียกอะไร ผู้บริหารในระดับจังหวัด ที่กำลังจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ของประเทศไทย ควรมีตำแหน่งเดียว

การรวมผู้บริหารดังกล่าวไว้กับ องค์กรเฉพาะ เช่น อบจ. จะทำให้ผู้บริหารมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการได้ดีกว่า ที่จะรวมไว้กับกลไกของราชการส่วนภูมิภาค ที่ผู้บริหาร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่อาจบริหาร/สั่งการได้อย่างเต็มที่ เพราะกลไกส่วนภูมิภาคยังขึ้นกับการบังคับบัญชาจากส่วนกลาง

ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจในการกำหนดวาระ/ประเด็นสำคัญ หรืออำนาจในการคิด/วิเคราะห์/ตั้งคำถามอย่างอิสระได้

การให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายก อบจ. แล้วแต่จะเรียก เป็นผู้บริหารสูงสุดของ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน น่าจะเหมาะสมที่สุดแล้ว ดีกว่าเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดแบบลอยๆ หรืออยู่ในวังวนของราชการส่วนภูมิภาค

รบกวนอาจารย์แนะนำการรณรงค์เรื่องนี้ในระยะยาวๆ

การรณรงค์เรื่องนี้แบบยาวๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะผู้คนยังนึกไม่ค่อยออกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดลอยๆ แล้วยังอยู่ในกลไกของราชการส่วนภูมิภาค แถมมี นายก อบจ. อีก

กับการรวมการบริหารของจังหวัดไว้ที่ผู้บริหารคนเดียว แล้วแต่จะเรียกผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายก อบจ. โดยไม่ต้องมีสายบังคับบัญชาของราชการส่วนภูมิภาค ให้ผลแตกต่างกันอย่างไร

ที่ผ่านมา เรามักจะเน้นการ ‘พูดคุย’ หรืออภิปราย ซึ่งมีขีดความสามารถในการทำความเข้าใจที่จำกัดมาก เราต้องการการจำลองภาพให้ผู้คนเข้าใจในหลายรูปแบบ เช่น ละคร กราฟฟิกแอนนิเมชั่น หรือเกม เพื่อให้ผู้คนเข้าใจความแตกต่างของระบบบริหารที่ไม่ทับซ้อนกันได้ดียิ่งขึ้น

นโยบายใดสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนต่างจังหวัด

จริงๆ แล้วระบบเศรษฐกิจชุมชนช่วยค้ำจุนชีวิตคนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคง และมีความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจากภายนอกและปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ โดยทั่วไปเศรษฐกิจท้องถิ่นจะประกอบด้วยเศรษฐกิจ 3 ลักษณะ

หนึ่ง… ลักษณะของเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการขายสินค้าและบริการในท้องถิ่น (market economy) สอง… ลักษณะของเศรษฐกิจที่เน้นการดูแลกัน (care economy) และสาม… ลักษณะของเศรษฐกิจที่มาจากฐานทรัพยากรในท้องถิ่น (natural base economy) ซึ่งอาจเรียกลักษณะของเศรษฐกิจทั้ง 3 แบบนี้ว่าเป็น

เศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ปัญหาที่สำคัญสุดในปัจจุบันนี้คือ รัฐบาล และท้องถิ่นบางแห่ง ให้คุณค่ากับระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการขายสินค้าและบริการ มากกว่าเศรษฐกิจที่เน้นการดูแลและเศรษฐกิจฐานทรัพยากร

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ลักษณะของเศรษฐกิจทั้ง 3 รูปแบบ เป็นกระบวนการสำคัญในการค้ำจุนชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในอนาคต

ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจด้านการดูแล (care economy) เป็นลักษณะของการสร้างชีวิตของแรงงานในพื้นที่ทางสังคม เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลเด็ก การดูแลผู้ป่วย การทำอาหาร การให้การศึกษา งานเก็บขยะ งานดูแลแหล่งน้ำ ฯลฯ

งานดูแลเพื่อสร้างแรงงาน (social reproduction) จึงเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศ

ฉะนั้น เราจึงต้องพยายามฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจฐานรากทั้ง 3 ระบบ ของแต่ละท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ คุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นนั้นจึงจะดีขึ้น

ยุคนี้เราพูดเรื่องรัฐสวัสดิการกันมาก ถ้าปลดล็อกท้องถิ่นตามแนวคิดคณะก้าวหน้าแล้ว จะเกิดรัฐสวัสดิการดีๆ ได้อย่างไร เคยฟัง อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ พูดถึงนักวิชาการในแถบสแกนดิเนเวียว่า เราชอบอ้างอิงประเทศแถบนั้นมีรัฐสวัสดิการดี ซึ่งความจริงเขามีการเก็บภาษีสูง และการจะเก็บภาษีสูงได้ คนในประเทศต้องมีเงินจ่ายก่อน

ถ้าเราได้ฟังจากที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณประจำปี 2566 ในสภาฯ ว่า ขณะที่คนไทยเสียภาษีเฉลี่ยเดือนละ 2,417 บาท/คน แต่เราได้รับสวัสดิการกลับมาเพียง 563 บาท/คน/เดือน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 23.25 ของภาษีที่คนไทยเสียไป

ในขณะที่คนสวีเดน ซึ่งเรามักจะบอกว่า เขาต้องเสียภาษีมาก แต่จริงแล้ว คนสวีเดนได้รับสวัสดิการกลับมาจากรัฐเทียบเท่ากับ 49.24% ของเงินภาษีที่เขาเสียไป ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวสวีเดนจะสนับสนุนระบบรัฐสวัสดิการและยอมจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนไทยมาก

เพราะฉะนั้น ส.ส. ปกรณ์วุฒิจึงมองกลับกันว่า ‘ไม่มีอะไรที่ทำให้คนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีได้ดี เท่ากับการจัดทำสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ’

ดังนั้น การจัดสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จึงเป็นทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ไปพร้อมๆ กับการสร้างการมีส่วนร่วมและความมั่นคงทางการคลังของประเทศด้วย

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *