วรภพ วิริยะโรจน์: คุยเรื่องกระจายอำนาจ เพื่อผาสุขของประชาชน

หลังจากร่าง ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ถูกตีตกในชั้นรัฐสภา ทั้งที่มีประชาชนร่วมลงชื่อถึง 80,772 รายชื่อ เราน่าจะพอพูดได้ว่าสิ่งนี้คืออีกครั้งของการฉุดรั้งประเทศไทยไว้กับรัฐราชการรวมศูนย์ เสียงของประชาชนอาจยังดังไม่พอที่จะเปลี่ยนความต้องการอันชอบธรรมให้เป็นเสียงโหวตมากพอในสภา หรือไม่อย่างนั้น อาจคิดไปได้ว่า ผู้มีอำนาจบางส่วนทำราวไม่ได้ยินเสียงของประชาชน

บทสัมภาษณ์ชิ้นที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้ บันทึกในวันที่ร่างปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า ถูกนำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา ขณะที่บทสนทนาดำเนินไป ไม่มีใครรู้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร

ผมนัดพบกับ วรภพ วิริยะโรจน์ ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล อีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะนำพาซึ่งการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชน และแน่นอนว่าจะเป็นกลไกสำคัญของการนำประเทศไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่

เรานัดพบกันที่สัปปายะสภาสถาน ซึ่งหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นทางธรรม ก็ต้องกล่าวตามจริงว่ารัฐสภาแห่งนี้มีความสงบร่มเย็นตามความหมาย แถมยังโอ่อ่าหรูหรา ขณะที่ผมกำลังเดินไปห้องที่คุณวรภพเตรียมไว้เป็นสถานที่พูดคุย ในใจก็ได้แต่คิดว่า รวมถึงความสงบร่มเย็นนี้ด้วยหรือเปล่า ที่เราควรให้เกิดการกระจายไปทั่วหนแห่งในประเทศ

คิดว่าการปลดล็อกท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้จริงไหม

เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง อยู่ที่เจตจำนงของประชาชน คือถ้าประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมคิดว่าเรื่องเกิดขึ้นได้

ต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตยก่อนหรือไม่ ปลดล็อกท้องถิ่นถึงจะเกิดจริง

จำเป็นอย่างมาก ผมว่ามันตรงไปตรงมา ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน เขาต้องการรวบอำนาจเพราะเขาต้องการมั่นใจว่าทุกองคาพยพของภาครัฐ เขาสามารถสั่งการได้ ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกไม่ต้องการ

เห็นชัดสุดก็เกาหลีเหนือที่รวบอำนาจอย่างเข้มข้น แน่นอนว่าถ้าเขาไม่ได้มาจากความชอบธรรมที่ประชาชนเลือกมา เขาก็ต้องทำให้ตนเองสั่งการได้ทุกอย่าง ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องรวบอำนาจกลับเข้ามา ดังนั้นการได้รัฐบาลเป็นประชาธิปไตยคือทางเดียวที่จะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้

ถ้าเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ปลดล็อกท้องถิ่นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

มีโอกาส ผมยังอยากใช้คำว่ามีโอกาส แต่ว่าเรื่องของความรวดเร็ว จะกระจายอำนาจได้มากน้อยหรือเร็วขนาดไหน ผมว่าต้องมาช่วยกันผลักดันอีกที เขาเคยเป็นรัฐบาลมาแล้ว ถามว่ามีการกระจายอำนาจเกิดขึ้นไหม ก็ต้องบอกว่ามี แต่ถ้าถามว่ารวดเร็วแค่ไหน ก็อาจยังไม่เร็วรวดเท่าสิ่งที่พวกเราหวังไว้

ส.ส.พรรคอื่นเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจไหม

ทุกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562 จะมากจะน้อยมีการพูดถึงเรื่องการสนับสนุนการกระจายอำนาจ และในสภาเองถ้าเราไปฟัง ส.ส. แต่ละคนพูด ก็จะพูดเรื่องกระจายอำนาจทั้งหมด เพราะทุกคนรู้ว่าการกระจายอำนาจคือหนทางสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ดีขึ้น ได้เร็วขึ้น

ส.ว.เป็นอุปสรรคของการปลดล็อกท้องถิ่นหรือไม่

ด้วยความที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องใช้ ส.ว. 1 ใน 3 ในการเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เลยกลายเป็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่แค่ ส.ส. อย่างเดียว แต่อยู่ที่ ส.ว. ด้วย ฉะนั้นก็ต้องบอกว่า ส.ว. เป็นตัวแปรสำคัญในการปลดล็อกท้องถิ่น

การกระจายอำนาจในมุมมองคุณคืออะไร

มองว่าเป็นการแบ่งกันทำหน้าที่ ราชการส่วนกลางก็ทำในเรื่องภาพใหญ่ เช่น เรื่องความมั่นคง เรื่องของสถาบันการเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ การทูต เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ราชการส่วนกลาง แต่เรื่องของท้องถิ่นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะพื้นที่ ทางเท้าจะดีได้ไหม ถนนหนทาง ขยะ น้ำประปา โรงเรียน โรงพยาบาล การประชาสงเคราะห์

การดูแลเหล่านี้จำเป็นต้องให้ท้องถิ่นเข้าไปช่วย เพราะท้องถิ่นรู้สภาพหน้างานของเขา โรงเรียนตั้งตรงไหน โรงพยาบาลตั้งตรงไหน รถเมล์ควรจะเพิ่มจากเส้นไหนไปเส้นไหน เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นเขาเข้าใจได้ดีกว่าราชการส่วนกลางที่นั่งอยู่กรุงเทพฯ การกระจายอำนาจจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำงาน

ทุกปัญหาต้องการกระจายอำนาจ มองอย่างไร

ต้องบอกว่าปัญหาส่วนใหญ่ต้องการการกระจายอำนาจ เพราะว่าปัญหาส่วนใหญ่ต้องการคนที่เข้าใจรายละเอียดในการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างรถเมล์จะวิ่งจากเส้นไหนไปเส้นไหนบ้าง ป้ายรถเมล์จะอยู่ตำแหน่งไหนบ้าง ต้องเป็นคนที่เข้าใจในพื้นที่ว่าพื้นที่นั้นต้องการอะไร มีรถเมล์มากน้อยแค่ไหน เป็นรถเล็กหรือรถใหญ่ อาจเป็นรถสองแถวหรือเปล่า

เรื่องนี้ต้องเป็นคนที่เห็นหน้างาน คนที่มีความเข้าใจและต้องการพัฒนาแก้ไขให้กับพื้นที่นั้น ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้คนที่นั่งอยู่กรุงเทพฯ ไม่สามารถคิด ไม่สามารถเข้าใจ และไม่สามารถตัดสินใจแทนคนทุกจังหวัด หรือถ้าทำได้ก็จะเป็นรถเมล์ที่ไม่มีใครต้องการ แต่ถ้าให้คนในพื้นที่คิดเอง เขาก็จะออกแบบมาได้ตรงความต้องการ

ดังนั้น มันเป็นเรื่องรายละเอียดในการเข้าใจปัญหา แล้วยังเป็นเรื่องแรงจูงใจและแรงกดดันเพื่อให้พัฒนาบริการ เพราะทุกท้องถิ่นก็ต้องเลือกตั้งมาจากประชาชน เขาย่อมอยากจะเห็นพื้นที่ของเขาดีขึ้น ดังนั้นก็เลยเกิดการแข่งขันกัน ในการสร้างและพัฒนาบริการ แต่ถ้าเราให้ราชการส่วนกลางเข้าไปทำทุกภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ว่าฯ นายอำเภอ เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด แรงจูงใจและแรงกดดันจะไม่มากเท่ากับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกของประชาชน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทุกปัญหา ส่วนใหญ่มีการกระจายอำนาจเป็นคำตอบ

ใครคืออุปสรรคของการกระจายอำนาจ

ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา คนที่จะได้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจก็คือประชาชน เพราะท้องถิ่นสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น ส่วนคนที่อำนาจลดลงก็คือราชการส่วนกลาง ซึ่งคนที่มีอำนาจอยู่ตั้งแต่อธิบดี ปลัด รวมถึงรัฐมนตรี และนักการเมืองระดับชาติด้วย

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้ช้า ผมคิดว่าเป็นคนที่ถืออำนาจอยู่ในราชการส่วนกลาง และนักการเมืองระดับชาติที่ถืออำนาจอยู่ หรือหวังว่าวันหนึ่งจะเข้าไปใช้อำนาจตรงนั้นแสวงหาผลประโยชน์

อธิบายให้ง่ายที่สุด สิ่งแรกที่ประชาชนจะได้จากการกระจายอำนาจคืออะไร

อาจเป็นทางเท้าที่ดีขึ้น ถนนที่เรียบขึ้น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ดีขึ้น น้ำประปาจะดีขึ้น การกำจัดขยะจะสะอาดขึ้น ผมคิดว่าจะเป็นสิ่งที่เห็นภาพง่ายที่สุด แต่ถ้าเราขยับไปอีกหน่อย โรงเรียนใกล้บ้านเราจะดีขึ้น คิวโรงพยาบาลจะน้อยลง นึกภาพว่าถ้าเราเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ถ้าเราเห็นคิวในโรงพยาบาลทำให้ประชาชนต้องรอนานๆ เราจะอยู่เฉยๆ ไหม ผมคิดว่าไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นคนไหนอยู่เฉยๆ แน่นอน

เขาก็ต้องพยายามพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขให้ดีขึ้น แต่พอทุกอย่างบริหารโดยกระทรวงสาธารณสุข ความมีประสิทธิภาพ หรือความรู้ว่าโรงพยาบาลไหนต้องการเครื่องมืออุปกรณ์อะไรเพิ่ม หรือต้องการบุคลากรเพิ่ม มันขับเคลื่อนได้ช้ากว่าผู้บริหารท้องถิ่นที่มีทั้งแรงจูงใจและแรงกดดันในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

หากมีการเลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

มองว่าการเลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ถ้าให้เข้าใจง่ายที่สุดมันเหมือนการเลือกผู้บริหารจังหวัด ตอนนี้ทุกจังหวัดเหมือนมี 2 องคาพยพ คือราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นผู้ว่าฯ แต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย กับ อบจ. ที่มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่โดยโครงสร้างทางกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจมากกว่านายก อบจ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผังเมือง เรื่องขนส่ง หรืออื่นๆ

ทุกคณะกรรมการจะมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ดังนั้นผู้ว่าฯ จึงมีอำนาจเหนือกว่านายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง แม้กระทั่งงบประมาณของนายก อบจ. เมื่อทำงบประมาณออกมาแล้ว ก็ต้องให้ผู้ว่าฯ แต่งตั้งเห็นชอบงบประมาณก้อนนี้ สิ่งที่เราต้องการเสนอคือทำให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง และยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยถ่ายโอนราชการส่วนภูมิภาคมาอยู่ภายใต้การทำงานร่วมกันในท้องถิ่น เช่น เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด

เกษตรจังหวัดปัจจุบันอยู่ภายใต้ปลัดกระทรวงเกษตรที่นั่งอยู่กรุงเทพฯ พาณิชย์จังหวัดก็ทำงานอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ที่นั่งอยู่กรุงเทพฯ นายอำเภอก็อยู่ภายใต้ผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็อยู่ภายใต้ปลัดมหาดไทยที่อยู่กรุงเทพฯ เราทำงานแยกกันคนละกระทรวง อยู่ในจังหวัดเดียวกันมีข้าราชการภูมิภาคที่ทำงานแยกส่วนกัน ภายใต้นายคนละคน ดูแลภารกิจคนละอย่าง

ข้อเสนอของเราคือให้เกิดผู้ว่าฯ เลือกตั้ง ผู้บริหารจังหวัด หรือที่เราอยากเรียกคือนายกจังหวัด และยกเลิกข้าราชการภูมิภาค เพื่อให้เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด นายอำเภอ ทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกของประชาชน แต่ทุกตำแหน่งเดิมของข้าราชการภูมิภาคยังอยู่ ทุกสิทธิประโยชน์ยังเหมือนเดิม

ผมคิดว่าการทำงานร่วมกันของภาครัฐเป็นประโยชน์กับประชาชนในแต่ละจังหวัดมากกว่า เกษตรจังหวัดก็ได้คิดว่าพื้นที่ของเราเหมาะกับการเพาะปลูกอะไร พาณิชย์จังหวัดก็ทำงานร่วมกันได้เลยว่าถ้าปลูกอันนี้ เราควรไปสร้างตลาดยังไง จากเดิมที่ทำงานแยกกัน

การยุบ อบจ.รวมกับผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งเป็นไปได้ไหม

การยุบ อบจ.รวมกับผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งเป็นไปได้ เราจะมองเป็นการยุบหรือมองเป็นการควบรวมก็ได้ หรือมองเป็นการถ่ายโอนก็ได้ เป็นเพียงการถ่ายโอนข้าราชการส่วนภูมิภาคเข้ามาทำงานร่วมกับท้องถิ่น

นายอำเภอ เราจะเอาไปไว้ไหน

ผมมองว่านายอำเภอยังอยู่ แต่ทำงานภายใต้นายกจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง เขาก็เป็นตัวแทนของนายกจังหวัดในการดูแลความเรียบร้อยภายในอำเภอ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะสุดท้ายก็ยึดโยงกับประชาชน

รัฐสวัสดิการ เกี่ยวกับ การกระจายอำนาจอย่างไร

ผมมองว่าเกี่ยวพันกันที่ตรงถ้าเรามีการกระจายอำนาจ การบริการสาธารณะของภาครัฐจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น คำว่ามีประสิทธิภาพคือใช้งบประมาณน้อยลง และบริการได้ดีขึ้น เมื่อเป็นแบบนั้น ภาครัฐด้วยภาษีเท่าเดิมเราก็จะมีงบประมาณมาดูแลพี่น้องประชาชนมากขึ้น เราจะใช้งบประมาณได้ตรงจุดมากขึ้น

นึกภาพว่าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการซ่อมแซมอะไร ท้องถิ่นก็ตัดสินใจได้เลย แต่ปัจจุบันถ้าโรงเรียนจะซ่อมแซมอะไร ก็ต้องทำเรื่องขอไปที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และสุดท้ายที่กรุงเทพฯ ก็ต้องตัดสินใจว่าเรื่องที่ขอมาจากทุกโรงเรียนของประเทศควรจะทำที่โรงเรียนไหนก่อน

การให้ส่วนกลางคิดแทน ส่วนกลางก็อาจใช้งบประมาณไปกับบางสิ่งบางอย่างที่โรงเรียนเขาไม่ต้องการ อย่างที่จะเห็นว่าหลายโรงเรียนมีตู้เก็บของที่ไม่ได้ใช้ เพราะส่วนกลางเขาส่งมา งบประมาณก็จะเสียไปกับความไม่มีประสิทธิภาพจากการรวมศูนย์อำนาจแบบนี้

การกระจายอำนาจจะทำให้ใช้งบประมาณน้อยลง พอมีงบประมาณเหลือ คราวนี้นอกเหนือจากดูแลเรื่องการศึกษา ก็อาจไปดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น เราอาจมีบางพักคนชราเพิ่มขึ้น

จากเดิมด้วยความที่อำนาจทั้งหมดอยู่ที่ส่วนกลาง การออกแบบหลายๆ อย่างก็จะเกิด

อย่างปัจจุบันเรามีทหารอยู่สี่แสนคน แต่บุคลากรสาธารณสุขเรามีแค่สองแสนคน มันคือการจัดการความสำคัญที่แตกต่าง แต่ถ้าเรากระจายอำนาจ ทุกท้องถิ่นจะเน้นเพิ่มบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการที่ดีในมุมมองคุณเป็นอย่างไร

มองว่ามันเป็นตาข่ายรองรับ ผมอยากให้มองรัฐสวัสดิการคือการดูแลขั้นต่ำโดยรัฐ และดูแลเท่าเทียมกันทุกคน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตั้งแต่เด็กเล็กเกิดมาแน่นอนแล้วว่าไม่มีรายได้ ก็มีความจำเป็นที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือแบ่งเบาภาระ เมื่อเข้าเรียนเราก็ต้องการการศึกษาที่ดีเพราะทุกคนย่อมทราบว่าเมื่อมีการศึกษา ทุกคนก็สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

เมื่อเราทำงานเราก็อยากได้ขนส่งสาธารณะที่ดี ให้เราสามารถเดินทางโดยที่ไม่จำเป็นต้องแบกค่าใช้จ่ายในการซื้อรถ และยังเป็นเรื่องของมลพิษ เรื่องของรถติด มันคือคุณภาพชีวิตเราด้วย หรือแม้กระทั่งเราอยากมีบ้านที่เราสามารถเข้าถึงได้ เมื่อยามเราเจ็บ เราย่อมอยากได้บริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องลุ้นว่าจะเป็นคนล้มละลายเพียงเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย และเมื่อยามเราสูงอายุ ก็ต้องมีความช่วยเหลือหลังเกษียณในวัยแก่ชรา ผมคิดว่านี่คือขั้นต่ำของรัฐสวัสดิการ

เงินบ้านเราเยอะพอทำรัฐสวัสดิการหรือ

ผมว่าเพียงพออยู่ที่การบริหารจัดการ ถ้าเราจัดการได้ดีขึ้น การกระจายอำนาจคือการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ถ้าพูดตรงไปตรงมาคือถ้ามีงบประมาณมากขึ้น เราก็สามารถทำรัฐสวัสดิการได้ดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าตอนนี้เพียงพอไหม ตอบว่าเพียงพอ และทำได้ อยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร อย่างที่ผมยกตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ

เรามีทหารอยู่สี่แสนคน แต่บุคลากรสาธารณสุขเรามีแค่สองแสนคน ถ้าเราถามประชาชนทุกคนว่าควรจะสลับกันไหม ผมคิดว่าคนไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เห็นด้วย

แม้กระทั่งคนที่อยู่ในกลาโหมเองเขาก็อาจจะเห็นด้วยก็ได้ เพราะสัดส่วนไม่ควรเพี้ยนกันขนาดนี้

เพราะอะไรรัฐสวัสดิการดีๆ ถึงยังไม่เกิดขึ้นสักที

แน่นอนว่าด้วยความที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้ง ซึ่งการรัฐประหารแต่ละครั้งก็นำมาซึ่งความถอยหลังของรัฐสวัสดิการ

จริงๆ มีสถิติมากมายว่าทุกสวัสดิการที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม บัตรทอง เบี้ยผู้สูงอายุ ล้วนเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติว่าทำไมรัฐสวัสดิการของเราถึงก้าวไปแล้วชะงักถอยหลัง

เมื่อมีการรัฐประหาร การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการก็จะช้าลง ในขณะเดียวกันความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐก็เพิ่มขึ้น การรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร เพราะทุกรัฐบาลเผด็จการไม่อยากให้มีการกระจายอำนาจ พอไม่มีประสิทธิภาพ งบประมาณที่จะไปทำรัฐสวัสดิการเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็น้อยลง

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *