ช่วงเวลาที่ผ่านมา การรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ ยุติบทบาทรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้มาจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดคนต่างจังหวัดจึงไม่สามารถเลือกผู้บริหารสูงสุดของตนเองได้
ส่วนนี้ถูกหยิบมาขยายให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเชิงโครงสร้างกับปัญหาเชิงทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ รวมถึงมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหามาชั่วนาตาปี
ขณะนี้ ร่าง ปลดล็อกท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ที่มีผู้ร่วมลงชื่อ 80,772 รายชื่อ กำลังอยู่ในชั้นรัฐสภา รอการลงมติว่าจะรับหรือไม่ เสียงเรียกร้องของประชาชนจะได้ไปต่อหรือเปล่า หลายคนอาจกำลังนึกภาพอนาคตของประเทศไทยตามความเชื่อของตน กระนั้น ไม่ว่าภาพในความนึกคิดของคุณจะเป็นอย่างไร นั่นอาจดีกว่าการนิ่งเฉย ไม่คิดไม่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงใดเลย
“อย่าอยู่กับข้อจำกัด แต่อยู่กับความเป็นไปได้ ถ้าคุณไม่ทำก็คือเป็นไปไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณไม่ได้เริ่มทำตั้งแต่แรก แต่ถ้าคุณเริ่มทำ โอกาสมี สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่มีโอกาส”
ส่วนหนึ่งจากคำพูดของ ช่อ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่จะมาบอกซ้ำและย้ำอีกครั้งให้ชัดเจน ในระหว่างที่รอการลงมติจากรัฐสภา ว่าเพราะเหตุใด เราจึงจำเป็นต้องให้เกิดการกระจายอำนาจ
การกระจายอำนาจในมุมของคุณคืออะไร
เวลาพูดคำว่ากระจายอำนาจมันอาจฟังดูน่าเบื่อ ไม่เซ็กซี่ ก่อนที่จะมาทำการเมืองก็เคยคิดแบบนั้น มันฟังดูเหมือนหัวข้อเสวนาทางวิชาการ แต่พอมาทำงานการเมืองและยิ่งเป็น ส.ส. สิ่งที่น่ากลัวมากซึ่งเราได้รู้คือประเทศไทยเผชิญปัญหาของศตวรรษที่ 19 ทั้งประเทศ ปัญหาที่ควรแก้จบไปตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว เช่น น้ำประปาไหลอ่อน ขุ่น ซักผ้ายังไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงดื่ม
ประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน รัฐบาลประกาศอุทยานแห่งชาติทับที่ เวลาที่บอกว่าชาวบ้านรุกป่ามันฟังเหมือนชาวบ้านผิด ในความเป็นจริงคือเป็นเหมือนกันทั้งประเทศ พ.ร.บ. ป่าสงวน และ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นสักประมาณ 30 ปีที่แล้ว แต่ประชาชนอยู่ในพื้นที่นั้นมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดคือหลัก 80-100 ปี แล้ววันร้ายคืนร้ายรัฐบาลก็ประกาศว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าสงวน กลายเป็นว่าทั้งหมู่บ้านรุกป่า เกิดเป็นกรณีพิพาท ติดคุก หรือไม่ติดคุกก็ไม่รู้ว่าจะโดนไล่ออกไปวันไหน
เรือกสวนไร่นาของเขาที่อยู่มาตั้งนานกลายเป็นผิดกฎหมาย นี่คือปัญหาบ้าบอคอแตกที่เรารู้สึกว่ามันเป็นแบบนี้ทั้งประเทศได้ยังไง รถเมล์ไม่พอ ขนส่งไม่มี

มันเกิดจากอะไร
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากเรื่องเดียวคือรัฐราชการรวมศูนย์ ทำไมเราพูดแบบนั้น ตัวอย่างง่ายที่สุด ถามว่าคุณคิดว่าเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับประเทศที่มีคนนับล้านเป็นเกษตรกรก็คือระบบชลประทาน ทำไมการเกษตรต้องมีน้ำ คุณเดาถูกไหมว่าประเทศไทยมีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกี่เปอร์เซ็นต์ คำตอบคือ 22 เปอร์เซ็นต์
ประเทศไทยเริ่มทำระบบชลประทานในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับเรื่องอื่นๆ เช่น รถไฟ โทรเลข โทรศัพท์ ในปี 2433 ก็คือช่วงเดียวกับการปฏิวัติราชการรวมศูนย์ จนถึงวันนี้ประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 130 ปี ทำระบบชลประทานครอบคลุม 22 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ถ้าใช้อัตราเร่งนี้ คุณรู้ไหมว่าอีกกี่ชาติประเทศไทยถึงจะมีระบบชลประทานครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตร ย้ำว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตร ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด คำตอบคืออีก 441 ปี
คุณว่ามันเหลือเชื่อไหม สำหรับประเทศที่เที่ยวคุยกับเขาไปทั่วว่ามีข้าวหอมมะลิดีที่สุดในโลก ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
ระบบชลประทานเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องออกแบบตามภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวัฏจักรการทำเกษตร คุณไม่สามารถออกแบบระบบชลประทานที่กรุงเทพฯ แล้วเอาไปแปะที่เชียงราย ลำพูน นราธิวาส หรือขอนแก่น แต่ต้องออกแบบว่าพื้นที่ตรงนั้นจะต้องทำแบบไหน ถามว่ากรมชลประทานมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเยอะไหม ตอบว่ามี
ประเด็นก็คือกรมชลประทานกรมเดียวสามารถคิดระบบชลประทานให้กับทุกพื้นที่ที่ต้องการระบบชลประทานได้หรือเปล่า คำตอบมันง่ายอยู่แล้ว คุณจะคิดให้กับเจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้านได้ยังไง คุณมีกรมชลประทานกรมเดียว คุณก็ใช้เวลาเท่านี้แหละ คืออีก 441 ปี ถึงจะทำได้ครบ เพราะคุณให้อำนาจการตัดสินใจและงบประมาณกับกรมชลประทาน
ที่ตลกกว่านั้นคือกรมชลประทานมีวิสัยทัศน์ตั้งเป้าว่าภายในปี 2580 เขาจะทำระบบชลประทานให้ครอบคลุม 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตร และถามว่ากรมชลประทานโง่หรือบ้าที่ตั้งเป้าแบบนี้ คำตอบคือเขาไม่ได้ทั้งโง่และบ้า แต่เขารู้ว่าด้วยงบประมาณ ด้วยคน ด้วยโครงสร้างของเขา นี่คือความทะเยอทะยานสำหรับเขาแล้ว ภายในอีก 15 ปีข้างหน้าจะทำให้ได้ครบ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ก็แห่นางแมวกันไปนะ

แสดงว่าถามชาวบ้านมาแล้ว?
คุณไปถามชาวนาที่ร้อยเอ็ด คุณคิดว่าเขารู้ไหมว่าจะต้องจัดการระบบชลประทานยังไงให้มีน้ำพอ เขารู้ค่ะ เพราะเขาอยู่ในพื้นที่นั้นตั้งแต่เกิด ทุกที่ที่เราไปทำงานการเมือง ไม่เคยมีชาวนาที่ไหนเดินมาถามว่าน้ำแล้งทำอย่างไรดี สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือชาวนาเดินมาจูงมือแล้วบอก ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ช่อ เดี๋ยวจะพาไปดู บ่อนี้ เราต้องการขุดเพื่อเอาไว้เก็บน้ำ
อีสานไม่ได้แล้งฝน แต่ปัญหาคือไม่มีที่เก็บ มีบ่อไหม เขามีแต่บ่อมันตื้น ต้องลอกต้องขุด ตรงนั้นต้องขุดคลองไส้ไก่เพื่อเอาน้ำจากบ่อเข้านา ตรงนั้นต้องทำฝาย เขารู้หมด เพราะนั่นคือแผ่นดินของเขา ประเด็นก็คือ นายก อบต. มีงบไหม บางที่มี บางที่ไม่มี แต่ต่อให้มีงบ ตรงนี้เป็นที่การรถไฟ ตรงนี้เป็นที่กองทัพบก ตรงนี้เป็นที่ราชพัสดุ
สุดท้ายแล้วองค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยไม่มีอำนาจและงบประมาณในการทำอะไรเลย นี่คือปัญหาว่าทำไมต้องกระจายอำนาจ ถ้าตอบสั้นและง่ายที่สุดคือประเทศนี้ไม่มีวิธีแก้ไขปัญหาไหนที่คิดหนึ่งที่แล้วใช้ได้กับ 77 จังหวัด เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน ทุกที่ต้องการวิธีแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและปัญหาของเขา ทุกที่ไม่ได้ขาดคนที่ฉลาดและมีศักยภาพในการคิด
ปัญหาคือคนในพื้นที่นั้นรู้ดีที่สุดว่าจะแก้ไขปัญหาของเขายังไง แต่เขาไม่มีอำนาจและงบประมาณในการทำ เพราะอำนาจและงบประมาณถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง และส่วนกลางเป็นคุณพ่อรู้ดีบอกว่าฉันคิดให้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่เรา เพราะคุณเอาคน 1 คน รัฐบาล 1 รัฐบาล คิดให้คนทั่วประเทศ
แล้วสุดท้ายงบประมาณมหาศาลถูกใช้ไปกับโครงการที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ คุณเคยเห็นทางจักรยานข้างทุ่งนาไหม ถนนยังเป็นหลุมเป็นบ่ออยู่เลย แต่ว่าทำเลนจักรยาน ถามว่าทำไม อ๋อ ผู้ว่าฯ ได้งบมาให้ทำเลนจักรยาน เพราะส่วนกลางบอกว่าต้องส่งเสริมการขี่จักรยาน มันตลกสิ้นดี ในขณะที่สิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ อย่างการทำฝาย การลอกบ่อเพื่อเก็บน้ำกลับไม่มี นี่คือปัญหาของรัฐราชการรวมศูนย์
ทุกปัญหาในประเทศนี้ ต้องการกระจายอำนาจ จริงหรือไม่
เราเหมารวมแบบนั้นไม่ได้ จริง ๆ แล้วเรื่องที่เป็นคุณภาพชีวิต รวมถึงเศรษฐกิจพื้นฐาน ต้องการให้แต่ละท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อให้เกิดความคล่องตัว มันเหมือนกับบริษัท ถ้าทุกอย่างคุณต้องถาม CEO บริษัทคุณเจ๊งนะ คือผู้บริหารหนึ่งคนต้องตัดสินใจตั้งแต่ว่าแม่บ้านจะเอาน้ำยายี่ห้ออะไรล้างห้องน้ำ-ได้เหรอ ไม่ได้ถูกไหม
คือแม่บ้านจะใช้น้ำยายี่ห้ออะไร แม่บ้านควรตัดสินใจได้เอง แต่ถามว่าบริษัทนี้ไม่ต้องการ CEO หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ CEO ต้องตัดสินใจว่าถ้าปีนี้ขาดทุน เราจำเป็นต้องเพิ่มทุนไหม ตลาดในประเทศกำลังจะตันแล้วเพราะคู่แข่งเยอะ เราควรต้องไปหาพาร์ทเนอร์หรือตลาดในต่างประเทศหรือเปล่า ฉะนั้น ทุกปัญหาในประเทศไทยใช้การกระจายอำนาจเป็นทางแก้ปัญหาไหม ส่วนใหญ่ใช่ แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งไม่ใช่

อย่างการต่างประเทศ คุณให้เทศบาลสุไหงโกลกตัดสินใจนโยบายต่างประเทศกับมาเลเซียได้ไหม ก็ไม่ได้ เรื่องการทหาร ความมั่นคง การต่างประเทศ การคลัง เรื่องใหญ่เหล่านี้รวมไปถึงเรื่องการเกษตร เมื่อครู่เราพูดเรื่องน้ำว่าท้องถิ่นต้องตัดสินใจเอง แต่ถามว่าการวางแผนการเพาะปลูกระดับชาติ เพื่อให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด อันนี้เป็นหน้าที่ของใคร ท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลาง คำตอบคือเป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง
คุณต้องมีวิสัยทัศน์ว่าตอนนี้จีนปลูกข้าวหอมมะลิได้แล้ว อีก 5 ปีข้าวหอมมะลิจะล้นตลาดโลก ยางตอนนี้ล้นตลาดโลกแล้วเพราะจีนก็ปลูกได้เหมือนกัน รัฐบาลต้องคิดว่าจะทำยังไงกับชาวนาและชาวสวนยางไทย ต้องวางแผนเพื่อคงราคาเอาไว้ ส่วนหน้าที่ในการหาน้ำให้ข้าวของชาวนาควรเป็นหน้าที่ของ อบต. หรือเทศบาล มันคือการแบ่งงานแบบนั้น รัฐบาลคุณไปทำสิ โรดโชว์ขายข้าวในต่างประเทศหาตลาดใหม่ คุณทำนโยบายสิ เพราะต่อไปข้าวจีนจะล้นตลาด นี่คือรัฐบาลกลางต้องคิด ส่วนทำฝาย ทำคลองไส้ไก่ก็ให้ อบต. ทำไป ไม่ใช่ทุกวันนี้ที่ตั้งแต่โรดโชว์ข้าวยันคลองไส้ไก่ รัฐบาลกลางเป็นคนทำเองหมด แล้วชาติไหนคนจะได้คลองไส้ไก่
ณ ปัจจุบัน กระแสคุณชัชชาติไม่มีแล้ว การรณรงค์เลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ (ผูู้ว่าฯ) มีคำแนะนำอย่างไร
เชื่อไหมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลำบากใจมาก เพราะว่าตอนที่เรารณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่น เรื่องที่ขายได้ดีที่สุด เป็นประโยคเดียวและประโยคศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั้งประเทศต้องการคือเลือกตั้งผู้ว่าฯ คำถามของเขาก็คือทำไมกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วเราไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งถามว่าเราเห็นด้วยไหม แน่นอนในทางหนึ่งเราเห็นด้วยอยู่แล้ว
ปัญหาก็คือจริงๆ แล้วคุณได้เลือกนะ นายก อบจ. แต่นายก อบจ. ไม่มีอำนาจในการทำอะไรเลย ตรงกันข้ามกับผู้ว่าฯ ที่ทำได้ทุกอย่างเลย ทุกอย่างมันผิดฝาผิดตัว นายก อบจ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่ควรมีอำนาจและงบประมาณกลับไม่มีอะไรเลย หรือมีน้อย ขณะที่ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งทำได้ทุกอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้การที่เราจะบอกว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ คุณได้ละเลยการอธิบายเรื่องความทับซ้อนระหว่างแท่งนายก อบจ. เทศบาล นายก อบต. กับแท่งผู้ว่าฯ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ
คุณละเลยในการอธิบายว่า 2 อย่างนี้มีปัญหา คุณมีองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีอำนาจ ถ้าคุณพูดว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ มันเป็นปัญหาครึ่งเดียว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือแต่งตั้งผู้ว่าฯ ปัญหาคือทำไมผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งถึงมีอำนาจและงบประมาณในมือมากกว่านายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้คือข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สองคือคุณต้องยอมรับว่าผู้ว่าฯ เลือกตั้งโมเดลก็คือกรุงเทพฯ ที่ทุกคนพูดแบบนี้เพราะทุกคนมองเห็นว่ากรุงเทพฯ เลือกตั้งได้ ทำไมเราเลือกตั้งไม่ได้ คุณชัชชาติเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดว่า แน่นอน กรุงเทพฯ เป็นเขตปกครองพิเศษและผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มีอำนาจที่แตกต่างจากผู้ว่าฯ และนายก อบจ. ของจังหวัดอื่น แต่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็ไม่ควรจะถูกนับเป็นโรลโมเดลที่ดีที่สุดที่คุณจะฝันถึงได้
พูดง่ายๆ ก็คือแม้ว่าจะดีกว่าที่อื่นอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่โมเดลที่ดีที่ทุกคนจะเอาอย่างเลย เพราะว่าแม้จะมีผู้ว่าฯ ระดับคุณชัชชาติที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อำนาจทางกฎหมายของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้สารพัดนึกตามที่คนคิดว่ามันจะเป็น ฉะนั้น เวลาพูดว่าผู้ว่าฯ เลือกตั้ง ต้องบอกว่าไม่ใช่เราไม่เห็นด้วย เรายอมรับในพลังของมันว่าคำนี้เซ็กซี่ที่สุดในการพูดเรื่องการกระจายอำนาจ แต่เราจำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม
หนึ่งคือคุณอย่าคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุดเท่าที่จะมีได้แล้วนะ กรุงเทพฯ แค่เฮงซวยน้อยกว่าที่อื่น มันยังดีกว่านี้ได้อีกมาก สองคือคุณต้องอธิบายปัญหานี้จริงๆ และนั่นนำไปสู่ข้อเสนอของเราที่บอกว่าคุณต้องยกเลิกส่วนภูมิภาค เพราะทุกวันนี้สองแท่งนั้นแข่งกันอยู่ คุณมีส่วนภูมิภาค และคุณก็มีส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาคมันตอนไม่ให้ส่วนท้องถิ่นโตสักที คำถามก็คือคนที่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจมากกว่าคนที่มาจากการแต่งตั้งใช่ไหม และในเมื่อคุณมีส่วนกลางที่ดูแลทั้งประเทศแบบภาพรวมแล้ว และคุณก็มีส่วนท้องถิ่นที่ดูแลแต่ละพื้นที่แล้ว คุณจะมีส่วนภูมิภาคไปทำไม
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือญี่ปุ่น ญี่ปุ่นสร้างรัฐสมัยใหม่ (Modern State) มาพร้อมเราในยุครัชกาลที่ 5 ของญี่ปุ่นเป็นเมจิ เขาก็สร้างรถไฟ โทรเลข ชลประทาน และเริ่มต้นจากรัฐราชการรวมศูนย์มาพร้อมกับเรา มีรัฐบาลกลางอยู่ที่โตเกียว และก็มีส่วนภูมิภาค แต่แล้ววันหนึ่งเขาทำส่วนท้องถิ่นขึ้นมา มีผู้ว่าการจังหวัดต่างๆ มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นสิ่งที่เขาทำคืออะไร
ทุกวันนี้ญี่ปุ่นมีส่วนภูมิภาคไหม-ไม่มีนะ ญี่ปุ่นมีส่วนกลางและก็ส่วนท้องถิ่นเลย เพราะว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้ส่วนภูมิภาคแล้ว จึงยุบทิ้งไป แล้วคลี่คลายเป็นส่วนกลางดูส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งก็ดูจังหวัด สองขาจบ ไม่มีส่วนภูมิภาคมาเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่มาคุมส่วนท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง แต่ของเราไม่จบ มันค้างคามาถึงปัจจุบัน
คุณมีสามแท่งเพื่ออะไร มีส่วนกลาง มีภูมิภาค มีท้องถิ่น และภูมิภาคกับท้องถิ่นก็ทำคู่กันไป ท้องถิ่นก็โดนตัดตอน ฉะนั้นสำหรับเรา เวลาพูดถึงผู้ว่าฯ เลือกตั้งนั้นยังเซ็กซี่ที่สุด แต่เราต้องเพิ่มเรื่องนี้เข้าไปว่า คุณจะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ ผู้ว่าฯ หรือนายกจังหวัด แต่ไอเดียนั้นคือไอเดียเดียวกัน นั่นก็คือคนที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง
ถ้าเรามีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ (ผูู้ว่าฯ) ได้จริงๆ ประเทศจะเจริญจริงหรือไม่
ดูญี่ปุ่น ดูอังกฤษ ดูฝรั่งเศส คุณพูดชื่อมาสิ ประเทศอะไรก็ได้ที่พัฒนาแล้ว เขาเป็นระบบนี้หมด อย่างญี่ปุ่นใกล้ตัวเราหน่อย คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเยอะก็พอจะนึกออก ตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในประเทศไทยคุณลองนึกมาสัก 10 จังหวัดที่คุณรู้สึกว่าพัฒนา เจริญ มีงานมีเงิน คุณนึกได้ถึง 10 จังหวัดไหม มันไม่ถึง
แต่คุณไปดูญี่ปุ่น ทุกเมืองมีความเจริญเป็นของตนเอง แน่นอนว่าเราไม่ได้บอกว่าทุกเมืองเป็นโตเกียว หรือโอซาก้า แต่ว่าคุณมีความจำเป็นขนาดนั้นไหมที่ต้องย้ายไปโตเกียวเพื่อมีงานทำ-ไม่มีนะ โตโยต้าหนึ่งในบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ไม่ได้อยู่ที่โตเกียว เด็กญี่ปุ่นอยากจะเข้าเรียนโรงเรียนที่ดี เขาจำเป็นต้องเลือกไหมว่าจะไปโรงเรียนไหน โอเค-มันอาจจะมีโรงเรียนเอกชนรวยๆ ดังๆ อยู่บ้าง แต่ว่ามันจำเป็นไหมที่ลูกคุณต้องเรียนที่นี่เท่านั้น
ลูกคุณเรียนโรงเรียนข้างบ้านไม่ได้ ประเทศไทยถ้าพ่อแม่มีเงินมีทางเลือกพอจะต้องขวนขวายเอาลูกไปโรงเรียนเอกชน หรืออย่างน้อยที่สุดโรงเรียนประจำจังหวัด คุณทำใจได้ไหมเอาลูกเรียนโรงเรียนข้างบ้าน ไม่ได้ ถามว่าทำไม ทำไมความเจริญ งานที่ดี โรงเรียนที่มีคุณภาพ บริษัทที่มีเงินจ้างคนหลักสี่ห้าหมื่นอยู่เฉพาะแค่กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง อย่างเชียงใหม่มีบริษัทที่จ้างคนหลักสี่ห้าหมื่นถึงร้อยคนไหม หรืออาจจะมีก็เป็นผู้จัดการ แค่คนเดียวทั้งบริษัท
ถ้ากระจายอำนาจให้ทุกจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องของบริการพื้นฐานสาธารณะ แต่คืออำนาจในการกำหนดการพัฒนาเมือง ว่าอยากให้ไปในทางไหน คุณจะมีกิมมิคของเมืองเป็นอะไร พื้นที่นั้นคิดเอง จัดการเอง แล้วเราเชื่อว่าเมื่อแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการตนเอง ประเทศไทยจะเป็นได้อย่างเกาหลี จะเป็นได้อย่างญี่ปุ่น
เราไม่ได้บอกว่าทุกจังหวัดจะกลายเป็นกรุงเทพฯ แต่ทุกจังหวัดจะเป็นเมืองที่มีศักดิ์ศรีและอนาคตของตนเอง ไม่ใช่เอะอะก็ต้องวิ่งเข้ากรุงเทพฯ

การรณรงค์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ (ผู้ว่าฯ) ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างน้อยๆ ย้อนกลับไปได้ประมาณหลังปี 35 ณ ปัจจุบัน มองว่ากระแสนี้จะเพิ่มขึ้น หรือจะหายไปเหมือนสมัยก่อน
การรณรงค์ทางการเมือง ไม่มีการรณรงค์ไหนสำเร็จในเวลา 3 เดือน 6 เดือน การรณรงค์ทุกที่ทั่วโลกใช้เวลาหลักหลายปี บางที่หลายสิบปี การรณรงค์เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ อันนี้อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ว่าสำหรับพวกเราที่มารณรงค์ในรุ่นหลัง
เราคิดว่าที่มันไม่สำเร็จสักที เพราะว่าสุดท้ายแล้วมีแนวคิดลักษณะที่ว่าต้องมีจังหวัดนำร่อง คือเวลาเราเสนอเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะชอบมีแนวคิดนี้ผสมมาด้วยเสมอ ก็คือไม่ทำทั่วประเทศเพราะว่าทุกจังหวัดยังไม่พร้อม
เกลียดคำนี้มากเลยเหมือนเวลาที่พูดว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย มันจะมีแนวคิดว่าไม่ใช่ทุกจังหวัดที่พร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฉะนั้น เราจะต้องมีจังหวัดนำร่องก่อน อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต ที่ต่อสู้กันมาเก่าแก่มากๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เรื่องอยากให้เป็นเขตปกครองพิเศษ มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง
ทฤษฎีเราเอง ผิดหรือถูกไม่รู้ อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ เราเชื่อว่าที่ไม่สำเร็จเพราะแนวคิดว่ามีแค่บางจังหวัดที่พร้อม เฉพาะจังหวัดที่พร้อมก่อนที่จะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ปัญหาคืออะไร พอคุณบอกว่ามีแค่บางจังหวัดที่พร้อม พลังมันน้อยเกินไป ถ้าคุณจะปักตกสิ่งนี้ คุณก็ทะเลาะกับแค่คนเชียงใหม่กับคนภูเก็ต คนอีก 74 จังหวัดที่เหลือ ไม่นับกรุงเทพฯ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรด้วย
ถ้าคุณขับเคลื่อนแบบนำร่อง สองจังหวัด สามจังหวัด คุณต้องเข้าใจว่ากำลังแย่งอำนาจมาจากส่วนกลาง ส่วนกลางไม่มีวันแฮปปี้อยู่แล้ว คุณต้องงัดกับส่วนกลาง ที่นี่พอส่วนกลางเขาต้องงัดกับคนสองสามจังหวัด มันจบง่ายมาก ฉะนั้น ถ้าทำต้องยุติความคิดที่ว่าบางจังหวัดไม่พร้อม
บิ๊กแบง ทุกจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วคุณอย่าคิดแบบสมัยโฆษณาชวนเชื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่บอกว่าประเทศไทยไม่พร้อมกับประชาธิปไตย ตอนนั้นอาจจะไม่พร้อมหรอก แต่เมื่อคุณถีบประเทศไทยสู่ระบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แล้วคุณให้เวลาเรียนรู้ล้มลุกคลุกคลาน สุดท้ายมันพร้อม
ในวันนี้ทุกจังหวัดพร้อมหรือไม่พร้อมเลือกตั้ง ใครตัดสิน ถ้าคุณคิดว่าสิ่งนี้ดี คุณทำเลย แล้วเรียกร้องพร้อมกัน ถ้าส่วนกลางต้องงัด คุณต้องงัดกับคนเท่าไหร่ 76 จังหวัด คุณกล้าปฏิเสธความต้องการของคน 76 จังหวัดเหรอ เพราะเราเชื่อว่าทุกจังหวัดต้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่มันจะชอบมีบางสายที่บอกว่าถ้าให้ทุกจังหวัดไม่ได้ เราเอานำร่องบางจังหวัดก่อนไหม มีโอกาสสำเร็จมากกว่า แต่เราคิดมุมกลับ เราคิดว่าก็เพราะเรียกร้องแค่บางจังหวัดนี่แหละ เลยไม่สำเร็จ
รอบนี้รัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นเลือกที่จะทำแบบนั้น คือบิ๊กแบง ไม่เอาแล้วจังหวัดนำร่อง เพราะสู้กันมาสามสิบกว่าปียังไม่เห็นมีจังหวัดไหนได้สักจังหวัดเลย ถ้าเขาปฏิเสธสิ่งที่เขาจะสูญเสียต้องมากที่สุด ไม่ใช่เสียความนิยมจากคนสองจังหวัด แต่เสียความนิยมจากคนทั้งประเทศ นี่คือยุทธศาสตร์ ซึ่งอาจจะเห็นต่างกันได้ แต่สำหรับพวกเรา คิดว่าสู้แบบจังหวัดนำร่องมาสามสิบกว่าปีแล้ว ลองเปลี่ยนไหม ลองยื่นข้อเรียกร้องใหม่ให้กับผู้มีอำนาจจากส่วนกลางว่าพอเหอะ คุณมักดองประเทศไทยในโหลของประเทศกำลังพัฒนามาแปดสิบปีแล้ว ปลดปล่อยทั้งประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาพร้อมๆ กัน แล้วคุณจงเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ นี่คือแก่นของประชาธิปไตย
การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
อันนี้พูดไปแล้วบางส่วน จุดหมายปลายทางสูงสุดของเราคิดว่าประเทศไทยมีวิวัฒนาการจากวันที่เป็นฟิวดัลสเตจ (Feudal State) มีขุนนางศักดินา มีเจ้าภาษีนายอากร เก็บแยกหัวเมืองกัน กระทั่งรัชกาลที่ 5 รู้สึกว่าขุนนางมีอำนาจมากเกินไปต้องการรวบมาที่วัง จึงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่เป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในการปฏิรูประบบราชการปี 2435
สร้างกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาแล้วปกครองจากส่วนกลาง ในวันนั้นเกิดกบฏทั้งประเทศ เช่น กบฏผีบุญ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ นั่นคือการเดินทางของรัฐไทยในวันที่กษัตริย์ตัดสินใจรวบอำนาจเข้ามาสู่ส่วนกลาง และบอกว่าแบบนี้แหละดีที่สุดในการจะพัฒนาประเทศให้เป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) และส่งตัวแทนของตัวเอง ข้าหลวงต่างๆ ออกไปปกครองเพื่อทำให้ทั้งประเทศเป็นปึกแผ่นเดียวกัน ก็คลี่คลายมาจนถึงวันที่ปัญหาของประเทศซับซ้อนขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์ ทำให้ปัญหาเข้ามาอย่างซับซ้อนและรวดเร็วมากขึ้น
การบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์เริ่มตอบโจทย์ไม่ทัน รัฐทุกรัฐที่สร้างตัวจากฟิวดัลสเตจ (Feudal State) มาเป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ ยุโรปก็เช่นกันที่หลังจากนั้นก็ผ่านการปฏิวัติเป็นประชาธิปไตย
เมื่อมาถึงจุดที่รู้สึกว่าการรวมศูนย์อำนาจที่จำเป็นตอนสร้างรัฐชาติสมัยใหม่แก้ปัญหาไม่ทัน ก็จำเป็นต้องปล่อย ทุกรัฐก็ผ่านการเดินทางแบบนี้ทั้งฝรั่งเศส และอังกฤษ สุดท้ายต้องปล่อยให้แต่ละพื้นที่มีการบริหารจัดการของตนเองเพื่อให้ทันต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะจะทำให้การปฏิรูประบบราชการสำเร็จ รัฐไทยต้องปล่อยสักที ปล่อยให้รัฐราชการรวมศูนย์ได้คลี่คลายตัวกลายเป็นรัฐกระจายอำนาจ เหมือนที่ทุกประเทศเขาเดินทางผ่านเส้นทางนี้ไปแล้ว
รัฐไทยปล่อยเรื่องนี้ก็คือยุบส่วนภูมิภาค เวลายุบไม่ต้องตกใจ ไม่ใช่ต้องไล่ราชการส่วนภูมิภาคออก การยุบหมายถึงบางส่วนกลับไปที่ส่วนกลาง บางส่วนย้ายมาอยู่กับท้องถิ่น
การที่ท้องถิ่นจะมีอำนาจเต็ม โดยการแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วย การปกครองท้องถิ่น มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้จริงไหม
เกิดขึ้นได้จริง ถ้าคุณรณรงค์ทางความคิดดีพอ มันใช้แค่มือในสภา คุณเอาประชาชนล้านคนมาลงถนนบอกให้เปลี่ยนเรื่องนี้นะก็เปลี่ยนไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ด้อยค่าผู้ชุมนุม แน่นอนว่าแรงกดดันนอกสภาสำคัญแต่นั่นไม่ใช่ตัวจบงาน แรงกดดันนอกสภายิ่งรณรงค์ให้คนสนับสนุนมากเท่าไหร่ มีคนเข้าชื่อเจ็ดแปดหมื่นคน หรือล้านคน เป็นการแสดงออกอย่างแข็งขันว่าประชาชนสนับสนุนเรื่องนี้
แต่คนที่จะจบเกมคือมือในสภา เสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง ถึงจะทำเรื่องนี้ได้ แล้วสิ่งที่เราพยายามทำก็คือทำยังไงให้ผู้แทนราษฎรคิดให้ได้ว่าเรื่องนี้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ยุติการคิดเรื่องการเมือง นี่คือผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีใครต้องสูญเสียอะไรเลย คนที่เสียประโยชน์มีอยู่นิดเดียวคือพวกที่เกาะกินอยู่กับระบบรัฐราชการรวมศูนย์เท่านั้น นี่คือการให้ประชาชนกดดันสภา และทำงานกับตัวสภาเองให้เห็นว่ามือของเขาคือมือที่จะเปลี่ยนอนาคตประเทศของคนเจ็ดสิบล้านคน
คุณอยากจะเป็นคนที่ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์แบบไหน หน้าประวัติศาสตร์ที่ล่ามประเทศไทยไว้ หรือหน้าประวัติศาสตร์ที่จะปลดโซ่ตรวนให้จบในรุ่นเรา และให้คนรุ่นต่อไปเขาได้ใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนกว่าน้ำประปาขุ่น หรือรถเมล์ไม่พอ
หากท้องถิ่นมีอำนาจเต็มในการทำงาน เราจะมีโมเดลการป้องกันคอรัปชั่นอย่างไร
ประชาชนตรวจสอบคนที่ประชาชนเลือกมา คุณเชื่อในการต่อต้านการทุจริตแบบไหน คุณเชื่อในโมเดลให้คนดีมาจับทุจริต หรือคุณเชื่อในโมเดลให้คนจำนวนมากปราบปรามทุจริต ถ้าคุณเชื่อในโมเดลให้คนดีมาจับทุจริต มันเป็นโมเดลแบบ ป.ป.ช. ที่มีเจ็ดอรหันต์ปราบทุจริตทั่วประเทศ เราต้องเชื่อว่าไม่มีใครไปติดสินบน ป.ป.ช. ซึ่งเชื่อได้ไหม เรื่องนาฬิกาก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ชัดเจน
แต่ถ้าคุณเชื่อว่าวิธีการจัดการทุจริตที่ดีที่สุด คือให้คนทั้งประเทศตรวจสอบนักการเมืองทั้งหมด วิธีคือให้ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองตั้งแต่ สมาชิกสภา อบต. ไปถึงนายก อบจ. คุณคิดว่าคนสามารถติดสินบนให้ ป.ป.ช. เจ็ดคนได้ แต่คุณคิดว่ามีคนติดสินบนประชาชนหนึ่งล้านคนในจังหวัดนั้นได้ไหม ไม่ได้นะ ถ้าคุณเปิดให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด ให้ประชาชนเช็คได้หมด โดยมีช่องทางในการร้องเรียนตรวจสอบและถอดถอน ซึ่งในร่างปลดล็อกท้องถิ่นของเรา จะมีกลไกการตรวจสอบร้องเรียนและถอดถอนโดยประชาชน ที่ตั้งอยู่บนฐาน Open Data
เราต้องมี 2 อย่างประกอบกัน ถ้าคุณมีแต่ให้ประชาชนร้องเรียนตรวจสอบ แต่คุณไม่เปิดเผยข้อมูลแล้วประชาชนจะตรวจสอบได้ยังไง อย่างทุกวันนี้คุณจะไปตรวจสอบนักการเมืองสักคน คุณจะทำยังไง คุณเริ่มต้นไม่ถูกเลย มันจึงต้องมี 2 อย่างประกอบกัน อย่างแรกคือ คุณต้องบังคับให้มี Open Government ทุกการใช้งบประมาณ ตรวจสอบได้โดยสะดวกผ่านเว็บไซต์ และสามารถขอต้นฉบับได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล อย่างที่ 2 คือคุณมีกลไกตรวจสอบร้องเรียนและถอดถอนโดยประชาชนเข้าชื่อ ถ้าทำแบบนี้ได้ คุณไม่ต้องกลัวการทุจริต ซึ่งทำได้ ก็แค่แก้กฎหมาย บังคับให้เขาทำ Open Data ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ร่างของคณะก้าวหน้า มีความหวังหรือไม่
สุราก้าวหน้ายังแพ้ไปเสียงเดียว สมรสเท่าเทียมที่จ่ออยู่เราก็คิดว่ามีโอกาสลุ้นสูง ที่ผ่านมาจริงๆ แล้วฝ่ายค้านแทบจะไม่เคยเสนอกฎหมายด้วยซ้ำ น้อยมากในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย แต่เราไม่เชื่อในข้อจำกัด เราเชื่อในความเป็นไปได้ เราเชื่อว่าไม่ว่าจะมาจากฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็สามารถเสนอกฎหมายได้ คือถ้าคุณคิดง่ายๆ แค่ว่าร่างจากฝ่ายค้านจะผ่านได้ยังไง ฝ่ายค้านเสียงน้อยกว่ายังไงก็ตก คุณไม่เชื่อในระบบรัฐสภา
ในรัฐสภาของประเทศที่เจริญแล้วการโหวตข้ามฝั่งเกิดขึ้นได้ ถ้ามันเป็นผลประโยชน์ของประชาชน และเราเชื่อแบบนี้เสมอ เราถึงเสนอกฎหมายเยอะแยะไปหมด เราเชื่อว่าถ้าใช้เหตุผล ใช้การกดดันที่มียุทธศาสตร์ที่บอกว่าประชาชนกดดันไปที่ ส.ส. เขต โอกาสที่กฎหมายต่างๆ จะเป็นไปได้นั้น เป็นไปได้จริงๆ ส่วนหนึ่งที่เราต้องเชื่อแบบนี้เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีความหวังอะไรเลย ถ้าคุณรู้สึกว่ากฎหมายของฝ่ายค้านยังไงก็ไม่ผ่านหรอก ต้องรอรัฐบาล แล้วคุณคิดว่ารัฐบาลนี้จะออกกฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หมายความว่าคุณต้องรอให้ประยุทธ์ตาย หรือยุบสภาอย่างนั้นเหรอ ถึงจะมีอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเกิดขึ้น เรารอแบบนั้นไม่ได้ ประเทศไทยรอแบบนั้นไม่ได้
อย่าอยู่กับข้อจำกัด แต่อยู่กับความเป็นไปได้ ถ้าคุณไม่ทำก็คือเป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคุณไม่ได้เริ่มทำตั้งแต่แรก แต่ถ้าคุณเริ่มทำ โอกาสมี สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่มีโอกาส ไม่ใช่นอนรออยู่กับบ้านให้โอกาสเกิดขึ้น คุณต้องรณรงค์ให้หนัก ในเมื่อคุณรู้อยู่แล้วว่าเสียงตั้งต้นมีน้อยเพราะเป็นฝ่ายค้าน คุณก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ฝ่ายรัฐบาลมาโหวตให้คุณให้ได้ พยายามรณรงค์ว่านี่คือผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ของคุณ
เราเชื่อว่าผู้แทนราษฎรไม่ว่าจากพรรคไหนเหมือนกันคืออยากได้รับการเลือกตั้งครั้งต่อไป คุณก็ต้องเอาใจประชาชน นี่คือกลไกที่ง่ายที่สุดของประชาธิปไตย
คำว่ารัฐสวัสดิการที่ดี คืออะไรในมุมมองของคุณ
ให้คุณนึกถึงพ่อแม่ คุณอยากมีพ่อแม่แบบไหน พ่อแม่ที่บงการชีวิตลูกทุกอย่างและคิดแทนให้หมดว่าลูกต้องทำอะไร หรือพ่อแม่ที่ปล่อยให้เราคิด และลองทำเองทุกอย่าง แต่พ่อแม่จะเป็นฝ่ายสนับสนุน คุณอยากเรียนอะไร พ่อแม่สนับสนุนให้คุณเรียน คุณอยากทำอะไร พ่อแม่สนับสนุนให้คุณทำ เราเชื่อว่ารัฐสวัสดิการที่ดีเป็นแบบนั้น ไม่ใช่พ่อแม่ที่บอกว่าคุณต้องไปทำนา คุณต้องไปปลูกข้าว ต้องไปปลูกยาง แต่คือรัฐที่ส่งเสริมให้ประชาชนไปได้ไกลที่สุดเท่าที่เขาอยากจะไป ไปไหนก็เรื่องของคุณ แต่คุณอยากจะไปไหน คุณต้องได้ไป รัฐสวัสดิการคือแบบนั้น
คุณทำให้เรื่องพื้นฐานในชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องที่ไม่เป็นภาระกับเขา เขาไม่ต้องคิดว่าพ่อแม่เกษียณแล้วเขาต้องเลี้ยงพ่อแม่หรือเปล่า แล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องกตัญญู เพราะไม่ใช่รัฐศีลธรรม รัฐมีหน้าที่ทำยังไงให้ประชาชนมีภาระในชีวิตน้อยที่สุด เพื่อให้เขาสามารถไปได้ไกลที่สุดเท่าที่เขาจะไปตามศักยภาพของเขา เด็กคนหนึ่งจะเลือกเรียนอะไร เขาไม่ควรเลือกบนข้อจำกัดที่ว่าจะต้องได้เงินมากที่สุดเพื่อมาเลี้ยงพ่อแม่ เพื่อมาใช้หนี้
เด็กคนหนึ่งเขามีพรสวรรค์และมีไอเดียดีมากอยากจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ สุดท้ายเขาต้องเลือกเรียนวิศวะ เพราะว่าวิศวะไม่ตกงานแน่ ส่วนแฟชั่นดีไซเนอร์ คุณไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีงานหรือเปล่า จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะว่าข้อจำกัดในชีวิตของเขาคือเขาเป็นครอบครัวชาวนาที่ยากจน มีน้องอีก 3 คน มีพ่อแม่ปู่ย่าที่ต้องเลี้ยงดู ดังนั้นเขาจำเป็นต้องเลือกงานที่มั่นคง ที่แน่ใจว่าจะเลี้ยงครอบครัวของเขาได้ และมีเงินให้พ่อแม่ไปหาหมอ
รัฐที่เป็นแบบนี้ และประชาชนคิดแบบนี้ไม่มีวันเป็นรัฐที่ไปได้ไกล ไม่มีทางสร้างยูนิคอร์น ไม่มีทางสร้างนวัตกรรมได้ เพราะว่าประชาชนเลือกซีเคียวริตี้ คืออาชีพพนักงานประจำ ข้าราชการ พนักงานบริษัท ประเทศไทยที่คนใฝ่ฝันจะเป็นข้าราชการ และพนักงานบริษัท ไม่มีวันเป็นประเทศพัฒนา ประเทศที่คนใฝ่ฝันอยากมีกิจการเป็นของตนเอง อยากจะสร้างธุรกิจ อยากจะเป็นดีไซเนอร์ อยากจะเป็นนักร้อง อยากจะเป็นอาชีพที่ไปได้สุดทาง นั่นต่างหากคือประเทศที่มีอนาคต
ยกตัวอย่างฟินแลนด์ เด็กคนหนึ่งเรียนจบมาบอกว่าอยากทำน้ำบลูเบอร์รี่อัดแก๊สขาย เป็นความฝันของเขาเพราะรู้สึกว่าน้ำบลูเบอร์รี่อัดแก๊สที่แม่เคยทำให้กินมันอร่อยมาก คุณอยากทำขาย คุณทำ แต่แล้วก็เจ๊ง เพราะว่าคุณเพิ่งอายุสิบแปด แต่ถามว่าเด็กคนนี้กลัวไหมที่ไปสตาร์ทธุรกิจนี้ เพราะว่าหนึ่งเรียนฟรี สองคือถ้าตกงานขึ้นมาก็มีเงินประกันรายได้ขั้นต่ำ พ่อแม่มีเงินสวัสดิการเลี้ยง ไม่มีภาระในการดูแลพ่อแม่ ภาระในการดูแลตนเองก็ไม่มี เพราะว่าเจ็บป่วยขึ้นมาก็รักษาฟรี โรงพยาบาลดีด้วย มีลูกขึ้นมาทุกอย่างก็ฟรีอีก โรงเรียนก็ฟรี ของอุปกรณ์เด็กเล็กต่างๆ ฟรี
พอทำธุรกิจเจ๊งก็กลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวรวบรวมเงินทุนต่างๆ ซึ่งก็ไม่ยากเพราะไม่มีภาระอื่นใดในชีวิต นอกจากดูแลตนเองอย่างเดียว เอาใหม่คราวนี้อยากทำธุรกิจโยเกิร์ตจากข้าวโอ๊ต ซึ่งต้องดีแน่เพราะชอบกิน มันอร่อย คราวนี้ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าของกิจการในอายุ 23 ปี นี่คือรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการคือพ่อแม่ที่ดูแลให้ลูกสามารถไปทำตามความฝันของตนเองได้ โดยไม่บังคับเส้นทาง นี่คือรัฐสวัสดิการที่เราอยากเห็นในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เบาะรองรับในวันที่เขาล้ม
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม