“เวลาอยู่ข้างเราแน่นอน ข้างเราในที่นี้หมายถึงว่าเวลาอยู่ข้างประชาชนที่อิงกับความจริง และอยากได้สังคมที่ดีกว่านี้”
ส่วนหนึ่งของบทสนทนาจาก มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เรานัดหมายกันก่อนการประชุม APEC โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้น หากกล่าวตามตรง เมื่อแรกพบ ผมสังเกตเห็นความเหนื่อยล้าบางๆ เกาะติดเธอมาจากเมื่อวาน หลังจากเพิ่งผ่านการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรงเกินกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด
กระนั้น หากกล่าวตามตรงอีกเช่นกัน ทุกประโยคของหญิงสาวที่พูดถึงความเป็นไปได้ที่ดีกว่าของประเทศนี้ กลับยังคงเปี่ยมด้วยความหวังพราวในดวงตา ไม่ล้าโรย
เวลาบ่ายปลายเดือนพฤศจิกายน ในร้านกาแฟที่สว่างด้วยแสงไฟครึ่งหนึ่ง และแสงจากดวงอาทิตย์อีกครึ่งหนึ่ง เบื้องหน้ามีแก้วโกโก้และแก้วกาแฟเพิ่มช็อตที่จัดวางตามแต่ใจ เราคุยกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เรื่องการเมืองภาพใหญ่ ความรู้สึกของครอบครัวและในมุมชีวิตส่วนตัว แผนการในอนาคต
ปิดท้ายด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มราษฎร์หยุด APEC 2022 บทสนทนาพาเวลาเคลื่อนผ่าน แต่อย่างที่มายด์บอก เวลาอยู่ข้างเรา และผมก็เชื่อเช่นนั้น
เราคิดว่าทุกปัญหาต้องการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะความหลากหลายทางเพศ สุราก้าวหน้า กระทั่งม็อบคนรุ่นใหม่ คุณเห็นด้วยหรือไม่
เห็นด้วยแน่นอน
เรื่องการกระจายอำนาจไม่ใช่เพียงแค่เอาอำนาจที่อยู่รวมศูนย์ไปกระจายออก แต่ว่าการกระจายอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกความหลากหลายมีพื้นที่แชร์ในรูปแบบของตนเอง
มายด์คิดว่าปัญหาในสังคมอย่างหนึ่งคือเมื่อมีชนชั้น หรือมีการแบ่งแยกว่าเป็นแบบไหนดีกว่าแบบไหน มันทำให้มีกำแพงกั้น
ทำให้มีการถูกหยิบเลือกบางคนบางกลุ่มที่ดูแมสมากกว่า ดูเป็นคนกลุ่มใหญ่มากกว่า และอำนาจก็จะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนเหล่านั้น คนที่เป็นคนส่วนน้อย คนที่ความคิดอาจไม่ได้ถูกยอมรับในวงกว้าง ก็จะไม่มีพื้นที่เท่าเทียมกันกับสิ่งที่มันแมสมากกว่า
การกระจายอำนาจเป็นเรื่องของโอกาสในการมีพื้นที่แสดงทัศนะของตนเอง หรือแม้กระทั่งมีพื้นที่ในการพูดถึงปัญหาที่ตนเองกำลังพบเจอ และต้องได้รับน้ำหนักในการรับฟังเท่าๆ กัน

อยากให้ขยายความการกระจายอำนาจในมุมมองของคุณ
ในสังคมที่มีความหลากหลายมากขนาดนี้ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ทุกคนเป็นคนเท่ากันจริงๆ ก็ต่อเมื่อเรากระจายอำนาจให้ทุกคนได้มีสิทธิ์ในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน มีพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยถกเถียงบนหลักการที่ว่าแนวความคิดของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมสามารถได้รับความเคารพ และการให้เหตุผลซึ่งกันและกัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในมุมของครอบครัว การกระจายอำนาจในครอบครัวจริงๆ ก็ควรต้องมี บ้านหนูเป็นลูกคนจีน ซึ่งลูกคนจีนส่วนใหญ่ก็จะผูกขาดอยู่กับป๊าหรือแม่ แล้วมีหัวใหญ่ที่สุดนั่นก็คือแม่ อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่แม่ แต่สิ่งที่เราต้องการเรียกร้องในฐานะลูกล่ะ มันอยู่ตรงไหน การกระจายอำนาจคือการให้โอกาสที่ทุกคนจะได้มีสิทธิ์นำเสนอ พูดคุย ถกเถียง ในบาร์ระดับเดียวกัน
ในโรงเรียนก็เหมือนกัน อย่างในห้องเรียนจะมีกลุ่มเพื่อนที่แบ่งแก๊งกัน การกระจายอำนาจก็มีส่วนสำคัญที่ว่าเพื่อนหลังห้องกับเพื่อนหน้าห้อง หรือเพื่อนที่สนิทกับครู ทุกฝ่ายจะมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดที่อยู่ในบาร์เดียวกัน อยู่ในฐานของการเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ถ้าเกิดปัญหา สิ่งนี้จะนำไปสู่การแก้ไขหาทางออกที่คิดบนฐานคนทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
การกระจายอำนาจ คือการกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีสู่คนทั้งประเทศ คิดอย่างไร
แน่นอน มันคือการให้โอกาส เราไม่สามารถให้ใครมากำหนดชีวิตของคนทั้งชาติได้หรอก หรือให้คนกลุ่มหนึ่งมากำหนดชีวิตของคนอีกหลากหลายกลุ่มได้ แต่ถ้าเกิดการกระจายโอกาสและสิทธิ์ในการที่จะให้คนเหล่านั้นเขาได้มีพื้นที่ที่จะพูดคุย ถกเถียง แชร์ปัญหาเท่าๆ กัน ได้มีพื้นที่ในการกำหนดว่าสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเขานั้นคืออะไร หนูคิดว่านี่คือการกระจายอำนาจที่กระจายคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทั้งประเทศได้จริงๆ
ถ้าอย่างเรื่องโครงสร้างทางการเมือง
ตอนนี้เราเป็นรัฐรวมศูนย์ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีความสำคัญตรงที่ทำให้คนในพื้นที่ซึ่งเขาเข้าใจปัญหาในพื้นที่อยู่แล้วได้มีสิทธิ์ในการใช้งบประมาณ หรือใช้อำนาจทางการเมือง หรือใช้อำนาจทางกฎหมายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ บุคคลที่อยู่ตรงนั้นย่อมเข้าใจสถานการณ์ตรงนั้นมากกว่าคนภายนอกที่มองเข้าไปอยู่แล้ว
คนที่ใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่ควรต้องมีสิทธิ์ในการกำหนดชีวิตของตนเอง แทนที่คนจากส่วนกลางที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาของเขา การกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างทางการเมือง มันคือการให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสิทธิ์ ซึ่งตอบโจทย์กับความเป็นประชาธิปไตยที่บอกว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุด

จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการกระจายอำนาจ
หนูคิดว่าสิ่งแรกที่เราควรประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจตรงกันก่อน คือเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้ เมื่อเราเข้าใจว่าเรามีสิทธิ์ในการกำหนดอำนาจในส่วนต่างๆ ได้ เราก็ต้องเข้าใจว่าคนอื่นๆ เขาก็มีสิทธิ์ด้วยเหมือนกัน มันจะไม่ใช่การที่ฉันจะไปทำให้เธอ หรือฉันจะไปให้คนใหญ่คนโตมาทำให้เรา แต่มันคือการที่เธออยากได้อะไรล่ะ เธออยากจัดการในส่วนของเธออย่างไร มันคือการเปิดโอกาสให้พวกเขาแต่ละคนได้ใช้สิทธิ์ในฐานะความเป็นพลเมืองของชาติอย่างเท่าเทียมกัน ตรงนี้หนูว่าสำคัญมาก
การที่จะให้คนรุ่นใหม่มาสนใจเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องหนึ่งที่จะเชื่อมร้อยได้ดีอย่างเช่น เวที APEC ก็สำคัญในการที่เราต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่าประชาชนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ เขาพบเจอปัญหาเกี่ยวเนื่องกับทรัพยากร ซึ่งมันเป็นสิทธิ์ของคนในชาติ ทั้งหมดนั้นแทบไม่ได้ถูกพูดถึงเลย เพราะเขามองว่าเป็นประเด็นเฉพาะ ที่แต่ละพื้นที่ต้องเป็นคนต่อสู้กันไป แต่เมื่อมองกลับมา การต่อสู้ของพวกเขาเหล่านั้นได้ถูกให้ความสำคัญเหมือนกับประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในส่วนกลางไหม
การที่เรากลับไปพูดถึงประเด็นเชิงทรัพยากร ประเด็นที่ดิน ประเด็นที่พี่น้องเขาต่อสู้กันในต่างจังหวัด แล้วหยิบมาเชื่อมร้อยกับประเด็นเชิงโครงสร้าง ทั้ง 2 อย่างนี้ในความเป็นจริงแล้ว การเรียกร้องมันต้องไปควบคู่กัน เราไม่สามารถเรียกร้องโครงสร้างอย่างเดียวโดยที่ไม่นึกถึงทรัพยากรที่มีอยู่หรือไม่นึกถึงปัญหาปากท้องในแต่ละท้องที่ได้ หนูนึกถึงในรายละเอียดว่าช่วงจังหวะในการต่อสู้ของพี่น้องในท้องที่นั้น เขามีเงื่อนไขอย่างไร มีแรงบีบคั้นอย่างไร เรื่องพวกนี้จำเป็นต้องนำมาคิดเป็นองค์ประกอบรวมเพื่อทำความเข้าใจทั้งหมด ถ้าเราอยากได้สังคมที่ดีกว่าจริงๆ
เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง เพราะไม่อยากทนอยู่กับประเทศที่ไม่สามารถหวังกับอนาคตได้ ฉะนั้น ถ้าเราอยากได้สังคมที่ดีกว่าแบบที่เราสามารถคาดหวังอนาคตได้ มันจำเป็นต้องกลับวนไปที่ว่าตอนนี้นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ในรายละเอียดยิบย่อยเหล่านั้นมีอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบทางกายภาพต่อประชาชน และถ้าอยากแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ได้จริงๆ แน่นอนว่ามันต้องถูกแก้ไขจากโครงสร้างด้วยเช่นเดียวกัน
การยกปัญหาในแต่ละท้องที่มานำเสนอ หรือพูดเชื่อมร้อยกับปัญหาเชิงโครงสร้าง จะทำให้การอธิบายว่าทำไมเราถึงต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างครบองค์ประกอบมากขึ้น ถ้าเราไม่แก้ไขนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน พี่น้องก็อาจต้องสู้อยู่แบบนั้นต่อไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพี่น้องจะต้องต่อสู้เรื่องที่ดินไปจนวันตาย แต่สุดท้ายแล้วต้องวนกลับมาที่ว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมาย เชิงโครงสร้างใหญ่ และกฎหมายมันติดขัดด้วยอะไรล่ะ
บ้านเราเป็นรัฐซ้อนรัฐไง มันมีกลุ่มคนที่นอกเหนือจากนักการเมือง จากทหาร มันมีกลุ่มคนที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่
ฉะนั้น ทั้งหมดนี้ต้องถูกเชื่อมร้อยเข้ามาพูดในเรื่องเดียวกัน ต้องถูกหยิบยกมาอธิบายให้เข้าใจว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่านี้ การเปลี่ยนแปลงระยะยาวไม่ใช่แค่เพียงสู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องสู้ทั้งองค์ประกอบ แล้วเซตมาตรฐานทางสังคมขึ้นมาใหม่ เพื่อประชาชนอย่างเราจะได้เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับทุกสถานการณ์หลังจากนี้ด้วย

คิดอย่างไรหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
ดีเลยค่ะ จริง ๆ ควรมีตั้งนานแล้ว บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้ว่าฯ เลือกได้แค่ในกรุงเทพฯ ก็งงๆ อยู่เหมือนกัน ในเมื่อผู้ว่าฯ เป็นคนที่อยู่ในส่วนของการบริหาร งบก็ลงมาผ่านผู้ว่าฯ ลงในส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัด
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัด จำเป็นต้องเกิดขึ้น เผลอๆ เร็ว ๆ นี้ด้วยซ้ำ เพื่อให้มันตอบสนองต่อหลักการประชาธิปไตยจริงๆ อีกส่วนหนึ่งคือการที่ประชาชนจะได้เข้าใจว่าตนเองสามารถเลือกผู้นำ หรือผู้ที่จะเข้ามาจัดสรรทรัพยากร
คนรุ่นใหม่จะช่วยผลักดันการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ได้อย่างไร
มายด์คิดว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็เริ่มที่จะไม่นิ่งนอนใจกับการที่เราเลือกผู้ว่าฯ ไม่ได้ เพราะเห็นตัวอย่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มันดูมีความหวัง ดูตอบโจทย์กับการให้ประชาชนมีสิทธิ มีโอกาส มีอำนาจจริงๆ ฉะนั้นมันกำลังถูกทำความเข้าใจอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็กำลังเป็นเรื่องที่ตื่นตัวมากๆ เป็นโอกาสที่หลายคนก็ตื่นเต้นด้วยเหมือนกันที่อยากจะให้คนต่างจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้
นโยบายที่อยากเห็นเพื่อให้ต่างจังหวัดเจริญ
คือการกระจายอำนาจทางการเมือง กระจายอำนาจในการจัดการ กระจายอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากร อย่างที่มายด์บอกว่าถ้าแต่ละท้องที่เขาได้มีโอกาสในการจัดสรรทรัพยากรของตนเองได้ จัดสรรงบประมาณของตนเองได้ ก็จะเข้าใจว่าเขาจะเอางบประมาณในส่วนนั้นไปพัฒนาส่วนใดในจังหวัดของเขา เขาจะเข้าใจเงื่อนไขในแต่ละพื้นที่ อะไรต้องเพิ่ม อะไรต้องลด อะไรที่ต้องอุดรอยรั่ว ถ้าเกิดการกระจายอำนาจได้จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องไปตัดสินใจว่าพื้นที่นี้ทำตรงนี้ดีกว่า แต่ให้พวกเขาได้ไปเลือกกันเลย เพราะพวกเขาเข้าใจปัญหาที่สุด

เวลาไปต่างจังหวัด เรื่องใดที่ทำให้เจ็บปวด
หลายเรื่องเลย เอาเรื่องง่ายๆ การคมนาคม เรื่องการขนส่ง ในกรุงเทพฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่เป็นขนส่งสาธารณะที่ทำให้ลดต้นทุนในการเดินทางไปได้บ้าง แต่ในต่างจังหวัดถึงแม้รถจะไม่ติด แต่ถ้าใครอยู่ในพื้นที่ไกลออกไป แต่ละบ้านจำเป็นต้องมีรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ เราจะเห็นว่าในต่างจังหวัดจะใช้มอเตอร์ไซค์กันเยอะมาก แล้วมันก็มาพร้อมกับอันตราย เพราะว่าถนนต่างจังหวัดเป็นถนนใหญ่ และคนก็ต้องใช้มอเตอร์ไซค์ขับขี่กันบนถนนใหญ่
แม้แต่เด็กนักเรียน ที่พวกเขาต้องทำแบบนั้นเพราะขนส่งสาธารณะเข้าไม่ถึง หรือบางพื้นที่ที่อยู่ในป่าในเขา ถนนเข้าไม่ถึง ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง พี่น้องบางคนต้องเดินไปตักน้ำที่ต้นน้ำเพื่อเอามาใช้ที่บ้าน สาธารณูปโภคในบางพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงเพราะคนจากส่วนกลางไม่เข้าใจว่าตรงนั้นมันขาดอะไรบ้าง หรือยังเก็บไม่ครบถ้วน ถ้าเกิดการกระจายอำนาจขึ้นจริง อย่างน้อยคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นเขาก็เริ่มรู้ว่ามีบ้านตรงนั้นที่ยังไม่มีน้ำไฟเข้าถึง ป่าตรงนั้นเข้าไปลำบากมากเลยถนนยังเป็นลูกรังทั้งที่มีหมู่บ้านอยู่ข้างใน อันนี้เป็น 2 เรื่องหลักที่รู้สึกเจ็บปวด เพราะว่ามันเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป
ประโยค เวลาอยู่ข้างเรา ยังเป็นจริงไหม
หนูคิดว่าใช่ เวลามันก็หมุนไปตามกาลเวลานั่นแหละ แล้วสถานการณ์ทุกอย่างก็จะถูกผลัดเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอยู่ดี เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ เราไม่สามารถลบล้างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นแล้วในทางการเมือง
การต่อสู้ของประชาชนในครั้งนี้คือการขยายความจริงให้เกิดขึ้น และความจริงไม่ว่าจะถูกบิดเบือนไปมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายก็ยังเป็นความจริง ไม่มีอะไรหักล้างได้
และตอนนี้การขยายความจริงถูกบันทึกด้วยอินเทอร์เน็ต ด้วยประชาชนผู้บันทึกประวัติศาสตร์เองด้วย ฉะนั้นมันจะไม่ถูกให้ข้อมูลด้านเดียว ในอนาคตเมื่อความจริงปรากฏมากขึ้น คนมีโอกาสจะเลือกเสพความจริงที่หลากหลายมากขึ้น และได้มีโอกาสวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นว่าแบบไหนที่เขาอยากจะเชื่อ ฉะนั้น เวลาอยู่ข้างเราแน่นอน ข้างเราในที่นี้หมายถึงว่าเวลาอยู่ข้างประชาชนที่อิงกับความจริง และอยากได้สังคมที่ดีกว่านี้ เพราะความจริงตอนนี้ก็เห็นอยู่ว่าสังคมเราไม่ได้ดีเลย สำหรับประชาชนอย่างพวกเรา

มองการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร
การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะเราทนกับประยุทธ์ 8 ปีแล้ว ในช่วงเวลา 8 ปีมีสิ่งต่างๆ ที่บีบคั้นความเป็นอยู่ของประชาชน มีสิ่งต่าง ๆ ที่กดทับอำนาจที่ประชาชนรู้สึกได้ด้วยตนเอง รวมถึงกระแสการเมืองมีมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มันกลายเป็นเทรนด์ที่ทำให้คนอยากเข้ามาทำความรู้จักความเป็นประชาธิปไตย แล้วสิ่งที่ยังหลงเหลือตลอด 2 ปีที่ผ่านมาคือการเปิดพื้นที่ในการถกเถียงเรื่องการเมืองอย่างเป็นปกติ
การพูดคุยบนโต๊ะอาหาร พูดคุยในตลาด หรือการเปิดประเด็นเรื่องสถาบันในทวิตเตอร์ เรื่องพวกนี้ถูกเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยถกเถียงอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้การชุมนุมทางกายภาพจะไม่ค่อยมีก็ตาม นี่คือการตื่นตัวทางการเมืองที่คนในชาติรู้สึกแล้วว่าตอนนี้เขาไม่มีอำนาจมากพอ ประชาชนไม่มีอำนาจมากพอจะตัดสินหรือกำหนดอะไรหลายๆ อย่าง และเฝ้าคอยวันที่เขาจะมีอำนาจในการใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชน
การกำปากกาเข้าไปกาในคูหา นั่นคือส่วนร่วมในการเข้าถึงทางทางการเมือง ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รับความสนใจมากแน่นอน และอาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพราะว่าประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น ประชาชนติดอาวุธทางความคิดมากขึ้น แล้วไม่ใช่แค่การเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่หมายถึงการเพิ่มอำนาจในการต่อรองจากฝั่งภาคประชาชนด้วย
อยากเห็นพรรคการเมืองหาเสียงนโยบายไหน
ตอนนี้มายด์คิดว่าจุดร่วมของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนคือเรื่องของรัฐธรรมนูญ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะเอายังไงกับรัฐธรรมนูญ 60 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศที่ครอบคลุมและสำคัญในการจัดวางอำนาจที่สุดแล้ว
รัฐธรรมนูญ 60 มาแบบฉบับโจรเต็มร้อย เป็นรัฐธรรมที่ปิดปากประชาชน และเนื้อหาในนั้นไม่ได้เอื้ออะไรให้กับประชาชนเลย มีการบล็อกสิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอด แม้กระทั่งในหมวดสิทธิเสรีภาพเขาก็บอกว่าประชาชนได้รับการคุ้มครองเว้นแต่จะขัดกับความมั่นคงของรัฐ นั่นหมายความว่าเราไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพจริง ๆ เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนได้กำกวมและบิดเบี้ยวที่สุดแล้ว
ฉะนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแต่ละพรรคการเมืองต้องเอาให้ชัดว่าจะเอายังไงกับเครื่องมือในการบริหารประเทศตัวนี้ก็คือรัฐธรรมนูญ จะเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม เกิดจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใสและมาจากประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ซึ่งมายด์คิดว่าเป็นนโยบายหลักที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงจุดยืน
มองเผด็จการในบ้านเราอย่างไร
เผด็จการบ้านเรามันซับซ้อน เผด็จการบ้านเราผูกโยงกับความเชื่อ กับการถูกหล่อหลอมทางความคิดในการให้รักใคร่อะไรบ้างอย่างมาโดยตลอด เผด็จการไม่ใช่แค่ทหาร แต่เป็นความคิดของกลุ่มคนหนึ่งที่อยากจะควบรวมทุกอย่างไว้ที่ตนเอง และเป็นคนจัดสรรทุกอย่างเอง
โดยที่เขาเป็นคนเลือกว่าจะจัดให้ประชาชนอย่างเราอยู่ในตำแหน่งไหน เขาจะมองเห็นเราก็ต่อเมื่อเขาอยากใช้เราเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น เผด็จการในบ้านเรามันถูกหล่อหลอมมาอย่างยาวนาน ด้วยแนวความคิดเดิม ถูกหล่อหลอมและให้ท้ายจากเผด็จการด้วยกันเอง ซึ่งมันซับซ้อน แต่ไม่ใช่ว่าแก้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าล้มไม่ได้
แม้แต่เผด็จการเองถ้าอยากอยู่ให้ได้ก็ต้องได้การสนับสนุนจากคนในชาติ ถ้าพูดแบบหยาบๆ เลยก็คือ เมื่อคุณเลี้ยงคนในชาติไม่ดี มันไม่แปลกที่คนในชาติจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ
ตอนนี้มีแผนเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
อย่างการประชุม APEC ที่ผ่านมาเป็นการเชื่อมร้อยเอาประเด็นเชิงทรัพยากร ปัญหาในพื้นที่ มาผูกโยงกับประเด็นเชิงโครงสร้างแล้วอธิบายร่วมกัน การหยิบยกเรื่องพวกนี้มาอธิบายพร้อมกัน มายด์เชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีกว่าได้จริงๆ เพราะทุกปัญหาถูกนำมาขยาย ถูกแบออกว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะอะไร และเราจะแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรได้บ้างผ่านโครงสร้าง
เราจะเห็นจุดเชื่อมโยงของปัญหา เห็นความสำคัญของการเชื่อมปัญหาเหล่านี้ และวิธีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้สังคมใหม่จริงๆ แน่นอนว่าตอนนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเราไม่มั่นใจในกระบวนการอยู่แล้ว เพราะในการเลือกตั้งปี 62 เราก็มีคำถามเยอะมาก
การเลือกตั้งในครั้งหน้า จำเป็นที่ประชาชนอย่างเราต้องเข้าใจถึงกลเม็ดของพวกเขาให้ดี จับตาดูให้ดี และมองว่าจะสามารถต่อสู้ หรือเรียกร้อง หรือค้ำยันอะไรได้บ้าง อย่างเช่นการจับตาดูการเลือกตั้ง มายด์คือว่าง่ายที่สุดแล้ว เข้าไปสังเกตการณ์ ประชาชนต้องเข้าไปดูเอง เข้าไปมีส่วนร่วม อย่าไปเชื่อคนอื่น อย่าไปเชื่อแค่โพลล์ทางออนไลน์ มันเป็นการที่ประชาชนอย่างเราจะเป็นหนึ่งในผู้จับตาดู ซึ่งหนูคิดว่าจะเข้มแข็งมาก
การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประชาชนต้องเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้เท่าทันพอกับพวกพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองที่อยากเสนอตัวเป็นผู้แทนของประชาชนมารับฟังนโยบายและปัญหาต่างๆ สุดท้ายแล้วการเข้าไปสู่รัฐสภาของพวกเขาจะต้องอยู่บนฐานที่ว่าประชาชนต้องการอะไร
หลายคนกลัวแทน คุณไม่กลัวหรือ
มายด์ไม่กลัวนะ เพราะมายด์ไม่รู้ว่าจะกลัวทำไม เราไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดอะไร เราจะกลัวก็ต่อเมื่อเราไม่มั่นใจในสิ่งที่เราทำ แต่มายด์คิดว่าตนเองมั่นใจ ตั้งแต่ก่อนที่จะออกมาเรียกร้องทางการเมือง แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคตไว้ก่อนด้วย เมื่อเราทำความเข้าใจแล้วเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าสามารถรับมันได้มากน้อยแค่ไหน
เงื่อนไขในการใช้ชีวิตของเรา ไม่มีใครรู้ดีไปมากกว่าตัวเรา ฉะนั้นมันคงไม่ใช่การกลัว แต่คือในทุกครั้งที่เจอสถานการณ์คาดไม่ถึง ความกังวลอาจมีอยู่แล้วแหละ แต่กังวลเพื่อกลับมาตั้งหลักรับมือว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำอย่างไรต่อไปดี เพื่อให้ยังคงดำเนินต่อได้ในอุดมการณ์เดิม หรือแนวความคิดเดิมที่เราอยากจะเดินต่อไป ฉะนั้น ไม่กลัวค่ะ เอาจริงๆ คือกลัวการที่เราไม่มีอนาคตในประเทศนี้มากกว่า
ครอบครัวว่าอย่างไรบ้าง
ครอบครัวเป็นห่วงมาก เขาไม่ขัดต่ออุดมการณ์ของเราอยู่แล้ว แต่ว่าเขาเป็นห่วงมากๆ ในมุมที่ว่าการต่อสู้ในเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ในระยะสั้น และมันมีบุคคลอื่นที่สามารถใช้อำนาจบางสิ่งบางอย่าง อย่างเช่นการใช้กฎหมาย หรือใช้ยุทธวิธีอื่น การกดดัน การส่งคนมาปราม ซึ่งพวกเขาสามารถทำได้มากกว่าเรา พวกเขามีทรัพยากรที่จะเขี่ยเราทิ้ง หรือบีบคั้นเราได้
แต่หนูก็บอกครอบครัวว่ามันจำเป็นที่ต้องทำ ไม่อย่างนั้นหนูก็ไม่รู้จะหวังถึงอนาคตที่ดีในประเทศนี้ได้ยังไง หรือแม้กระทั่งว่าเราต้องเอาตัวออกไปอยู่ประเทศอื่นเหรอ แล้วต้นทุนในการที่จะไปล่ะ เราก็ต้องวนกลับมาที่การหาเงินในประเทศนี้อยู่ดี ฉะนั้นแล้วนี่คือประเทศของเรา เราไม่ควรวิ่งหนี แต่ต้องทวงคืน ด้วยเหตุนี้แม่กับป๊าเลยเข้าใจตรงนี้อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
หนูเคยบอกกับครอบครัวว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นหน้าที่ของคนทุกคน ที่จะออกมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิของตนเองและส่วนรวม ป๊ากับแม่ก็ทำได้นะ แต่โอเค เงื่อนไขในการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งหนูไม่มีปัญหา แต่ละคนสามารถทำในมุมมองของตนเองได้ ส่วนหนู เท่านี้หนูรับได้ หนูไม่มีปัญหา และหนูก็อยากทำด้วย

ถามจริงๆ เถอะ ทำไมต้องเคลื่อนไหวทางการเมือง
ถ้าเอาเหตุการณ์ตั้งต้นเลยก็คือ หนูตื่นตัวทางการเมืองตอนปี 58 หนูเห็นพี่ๆ นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาอยู่ตอนนั้นไปทำกิจกรรมครบรอบรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ และพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากออกไป ทั้งที่พวกเขาแค่ยืนมองเวลาเฉยๆ อันนั้นเป็นเหตุการณ์แรกที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ตั้งคำถามว่าแค่ยืนมองเวลายังทำไม่ได้ แล้วประชาชนอย่างเราทำอะไรได้บ้าง ก็เลยกลับมาดูว่าการเมืองคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร เผด็จการคืออะไร รัฐประหารคืออะไร ประยุทธ์เป็นยังไง
พอเห็นความหมายของเรื่องเหล่านั้นแล้วมันก็กลายเป็นว่าเชื่อมโยงกับสิ่งที่บ้านเราเจอด้วย บ้านหนูได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเยอะมากหลังจากรัฐประหาร ป๊าทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างบ้าน พอช่วงรัฐประหารก็เหมือนถูกบีบรัด ไม่ค่อยมีงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น และป๊าก็ไม่ใช่รายใหญ่ เศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่มีใครอยากจะลงทุนสร้างบ้านสร้างตึก ป๊าเริ่มไม่มีงาน ลูกน้องก็หาย
อีกส่วนหนึ่งแม่หนูเป็นคนค้าขาย ช่วงที่เกิดรัฐประหารตลาดก็ได้รับผลกระทบ ในห้างก็ได้รับผลกระทบ ค้าขายไม่ได้ ผ่านไประยะหนึ่งเศรษฐกิจพัง คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีปัจจัยมากพอที่จะออกไปใช้จ่าย ซึ่งพอเราเข้าใจการเมืองแล้วมามองเห็นปัญหาเรื่องปากท้องที่ซึ่งบ้านเราเจอ เลยเข้าใจว่าจริงๆ แล้วที่ครอบครัวมีปัญหาเรื่องเงินมันไม่ใช่เพราะว่าแม่กับป๊าไม่ขยัน แต่เป็นปัญหาทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของบุคคลที่เข้ามายึดอำนาจ และจัดสรรอำนาจ จัดสรรงบประมาณต่างๆ
พวกเขาไม่ได้นึกถึงประชาชนเป็นหลัก พวกไม่ได้เข้าใจปัญหาของพี่น้องที่เกี่ยวกับปากท้อง มุ่งแต่แก้ไขเชิงโครงสร้างอำนาจที่อยากควบรวมไว้เอง มันเลยทำให้หนูทนไม่ได้ เราอยากได้สังคมที่ดีกว่านี้ ถ้าสังคมเปลี่ยนและดีกว่านี้ได้ ผลประโยชน์ก็ไม่ได้ตกอยู่แค่บ้านเรา หนูเชื่อว่าคนอื่นๆ ก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน ฉะนั้น
เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องออกมาลุกขึ้นสู้อะไรบางอย่าง ก่อนที่เราจะตายไปโดยไม่มีแรงสู้
โดยสรุปเกี่ยวกับกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เป็นอย่างไรบ้าง และหลังจากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน มีแผนการต่อไปอย่างไร
ข้อเรียกร้องกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 มี 3 เรื่อง เรื่องแรกคือเราต้องการยกเลิกนโยบาย BCG ที่เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรโดยตรง แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างเลย คณะกรรมการทั้งหมดเป็นเพียงแค่ภาครัฐ และผู้บริหารจากกลุ่มทุน เรื่องที่ 2 คือเราต้องการให้ประยุทธ์ยุติบทบาทการเป็นเจ้าภาพ APEC เพราะประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนเรา อีกเรื่องคือเราต้องการให้มีการยุบสภาเปิดทางไปสู่การเลือกตั้ง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทีนี้เมื่อวาน (18 พ.ย. 2565) เหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวคือเราปักหลักที่ลานคนเมืองตั้งแต่วันที่ 16-17 สองวันเป็นการเปิดเวทีให้พี่น้องชาวบ้านได้เสวนา ได้ปราศรัยพูดคุยถึงปัญหาที่เขากำลังพบเจอกันอยู่ โดยวันที่ 18 เราจะเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นข้อเสนอและข้อเรียกร้องของพวกเราให้ทั้งรัฐบาลและผู้นำต่างประเทศได้รับทราบด้วยว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนเรา ฉะนั้นอย่าไปตกลงหรือสัญญานโยบายเหล่านั้น
สุดท้ายแล้วนโยบายเหล่านั้นจะเป็นการผลักให้ประชาชนเป็นแค่แรงงาน เป็นแค่ฟันเฟืองของนายทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรเชิงพื้นที่และปากท้องของประชาชนเป็นอย่างมาก แต่สุดท้ายการเคลื่อนขบวนของเราถูกสกัดกั้นด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงอย่างที่ไม่สามารถจะยอมรับได้แม้แต่นิดเดียว มีการกระทำเกินกว่าเหตุ มีการใช้แก๊สน้ำตา มีการใช้กระสุนยาง มีการไล่ฟาดบุกกระทืบพี่น้องชาวบ้านที่มาเรียกร้อง
ซึ่งการชุมนุมมีพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดด้วย ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวบ้านอายุห้าสิบกว่า หกสิบกว่า เขาก็มากันเพื่อพูดถึงปัญหาที่เขาเจอ ประชาชนบางคนถูกล้อมบ้านโดยนายทุน สุดท้ายตำรวจเมินเฉย นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเจอ และพวกเขาต้องการมานำเสนอประเด็นเหล่านี้ แต่กลับกลายเป็นว่าการสลายการชุมนุมทำให้พี่น้องไม่ได้มีโอกาสในการนำเสนอสู่เวทีชาวโลก การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นมันรุนแรงมาก และผิดหลักสากล ผิดหลักสิทธิมนุษยชน ผิดหลักการตามระบบประชาธิปไตยทุกอย่าง
กระสุนยางถูกใช้ก่อนแก๊สน้ำตาด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากสำหรับพี่น้องชาวบ้านที่ตั้งใจมาพูดประเด็นเชิงทรัพยากร ซึ่งประเด็นเชิงทรัพยากรเหล่านี้ สุดท้ายแล้วคนที่ได้ผลประโยชน์คือประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่ประชาชนในพื้นที่ ราคาอาหารที่เราซื้อขายกันก็จะไม่สูงเกินไป หรือไม่ถูกกำหนดโดยนายทุน หรือแม้แต่ราคายา
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง เป็นประเด็นที่เราจำเป็นต้องเจาะและพูดถึง เพราะเป็นหนึ่งในกลไกและกระบวนการที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะดำรงชีวิตในประเทศนี้โดยใช้ปัจจัยอะไรได้บ้าง แต่สุดท้ายเราก็ถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีเพื่อนเราหลายคนบาดเจ็บสาหัส มีสื่อมวลชนหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเราเคยถูกตั้งคำถามว่าการไปทำม็อบหยุด APEC มันเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศนี้หรือเปล่า
แต่หนูคิดว่าการสลายการชุมนุมนี่แหละ คือการสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศนี้ โดยเฉพาะสร้างความเสื่อมเสียให้กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลเลือกใช้วิธีการที่ผิดหลักมนุษยชนเพื่อต้องการปกป้องภาพลักษณ์ให้รัฐบาลดูดี แต่หนูคิดว่าภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะมันชัดเจนมากว่าประยุทธ์ ยกคำว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่ฉากหน้าในการชุบตัว และกอบโกยผลประโยชน์ กอบโกยอำนาจเข้าสู่กลุ่มตนและชนชั้นนำเท่านั้น สุดท้ายแล้วประชาชนอย่างเราไม่ได้ถูกหยิบยกให้มีความสำคัญมากพอในการจะเข้าถึงสิ่งต่างๆ เราถูกมองข้าม และถูกมองว่าคนอย่างเราควรเป็นแค่ผู้ผลิตผลประโยชน์ให้พวกเขาเท่านั้น
มีรุ่นพี่ของหนูคนหนึ่ง ตอนนี้ตาบอดถาวรจากการถูกกระสุนยาง มีเพื่อนของหนูหลายคนระหว่างที่ถูกจับถูกลากไปกระทืบด้วยรองเท้าคอมแบท ถูกฟาดด้วยกระบอง ถูกทุบด้วยโล่ มีพี่น้องชาวบ้านที่ตั้งใจเข้ากรุงเทพฯ มาร่วมต่อสู้กับเราถูกกระทืบจนกระดูกหน้าร้าว เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เกินกว่าจะยอมรับได้มากๆ ในทางความเป็นมนุษย์
ยิ่งทำให้พวกเราทุกคนที่ออกมาสู้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยิ่งเห็นความสำคัญว่าทำไมเราถึงต้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างอำนาจมันต้องเปลี่ยน ขั้วอำนาจทางการเมืองมันต้องเปลี่ยน เราต้องทวงคืนอำนาจให้กลับมาเป็นของประชาชนให้ได้ เพราะอย่างหนึ่งตอนนี้คือความโกรธแค้น ที่
เมื่อวันหนึ่งประชาชนมีอำนาจ เราจะเช็คบิลกับคนพวกนี้แน่นอน