“ผู้ว่าฯ แต่งตั้งไม่เคยเชื่อมโยงกับประชาชน แม้บางคนจะเป็นคนพื้นที่ซึ่งกลับมารอเกษียณ เขาอยู่ใน safe zone ของชีวิตราชการที่ทำงานตามนโยบาย ไม่กระด้างกระเดื่องและปล่อยไหลไปตามระบบ”
หากเราอนุมานตามกระแสสังคมที่ว่า การอ่านคือการเพิ่มทัศนคติและความรู้ใหม่ๆ ร้านหนังสือก็ไม่ต่างจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในสมการนั้น เราคุยกับ คีตญา อินทร์แก้ว เจ้าของร้านหนังสือ Low-Pressure Area : ความกดอากาศต่ำ ร้านหนังสืออิสระในจังหวัดสตูล
หลากหลายประเด็นน่าสนใจชวนอ่าน
ในมุมมองเจ้าของร้านหนังสืออิสระ ซึ่งเสมือนแหล่งท่องเที่ยว เป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัด ยังขาดการสนับสนุนจากรัฐอย่างไรครับ
พูดตรงๆ เลยก็คือเราไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากจังหวัดหรือหน่วยงานราชการเลย แต่แน่นอนว่า การตั้งใจทำร้านหนังสืออิสระของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นอิสระของตัวเราเองอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องการการสนับสนุนจากทางราชการ
ที่เราต้องการคือการมองเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของร้านหนังสือในจังหวัด ไม่จำเพาะต้องเป็นร้านเราด้วย จริงๆ ในเมืองสตูลเคยมีร้านหนังสือมากกว่านี้ เคยมีชั้นหนังสือวรรณกรรมเยอะกว่านี้ แต่มันก็ค่อยๆ ตายไปด้วยวงจรของธุรกิจ เมื่อมันไม่ทำเงิน
ร้านอื่นๆ ก็ส่งวรรณกรรมกลับคืนสายส่ง กลับคืนสำนักพิมพ์ ชั้นวรรณกรรมจึงว่างเปล่า และถูกแทนที่ด้วยสินค้าอย่างอื่น ซึ่งเราเห็นแล้วก็เสียดาย
เปิดร้านหนังสือมา 7 ปี ไม่เคยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกฯ อบจ. หรือผู้มีความสามารถในการผลักดันในเชิงนโยบายเข้ามาที่ร้าน มาชายตาแล ไม่เคยมองเห็นความสำคัญว่าร้านหนังสือช่วยดูแลเยาวชนอย่างไร ดูแลเมืองได้อย่างไร
เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพได้อย่างไร จังหวัดไม่เคยสนับสนุนให้คนในหน่วยงานของตัวเองอ่านหนังสือ ไม่เคยส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เราจึงมีแต่ข้าราชการพื้นๆ ทำอะไรนอกกรอบไม่เป็น ได้แต่ไหลไปตามระบบ
ได้เห็นความไม่เจริญของจังหวัดตนเอง สิ่งใดที่อยากพูดถึง
ความน่ารักมากๆ ของจังหวัดสตูล คือทุกคนอยู่กันอย่างเป็นมิตร จีน พุทธ มุสลิม ที่นี่เราอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแลซึ่งกันและกัน สตูลมีทรัพยากรธรรมชาติเหลือล้น อุดมสมบูรณ์ เราไม่ขาดแคลนแหล่งอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวเรามีครบทุกแบบ ทั้งทะเล น้ำตก ภูเขา ลำห้วย ลำคลอง รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
ในความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่าถ้าได้รับการส่งเสริมที่ดี เหมาะสม ต่อเนื่อง เราจะเป็นจังหวัดที่พลเมืองอยู่สบายได้มากกว่านี้ เรามีขนส่งสาธารณะที่แย่และแพง วินมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งในเมืองระยะทางแค่ไม่กี่กิโลเมตรราคาสูงมาก ระยะทาง 4-5 กิโลฯ 60-80 บาท ขาเดียว สูงจนแทบไม่น่าเชื่อ
แพงขนาดที่น้องนักศึกษาแพทย์ที่มาฝึกงานในโรงพยาบาลบ่นว่า “หนูไม่คิดว่าค่ารถที่นี่จะแพงขนาดนี้ จึงไม่ได้เอารถส่วนตัวมา แต่หลังจากนั่งมอเตอร์โซค์วินไปโน่นมานี่ใกล้ๆ แล้วต้องจ่ายวันละเป็นร้อย หนูคงต้องกลับบ้านไปเอารถยนต์ส่วนตัวมาใช้”
เรื่องพื้นฐานอย่างขนส่งสาธารณะ ห้องสมุดประชาชนที่มีหนังสือหลากหลายมีบรรยากาศเป็นมิตร สวนสาธารณะที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน สนามกีฬาที่พร้อมรองรับคนใช้งานทุกกลุ่ม ฟุตบาธที่เดินได้จริงๆ เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ไม่เคยถูกนับในการดูแลและพัฒนาเมือง ทั้งๆ ที่มันคือคุณภาพชีวิตของพลเมืองในจังหวัด
คือสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน สนามกีฬาที่พร้อมให้ประชาชนได้ใช้งาน ทำให้หลังเลิกงานหรือก่อนทำงานในแต่ละวันผู้คนได้ออกกำลังกายดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งมันจะเชื่อมโยงไปถึงการบริการและงบประมาณทางด้านสาธารณสุข ลดการป่วย ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลทางด้านสุขภาพ
เรามองว่าต่างจังหวัดมีความได้เปรียบเรื่องการจัดการเวลา แต่ก็น่าเสียดายที่เวลาที่ได้มาไม่ได้ถูกบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมันควรทำได้ดีกว่านี้มากๆ
อยากให้จังหวัดเรามีห้องสมุดที่ดึงดูดให้เด็กๆ เข้าไปใช้เวลา มีหนังสือหลากหลาย มีความปลอดภัย มีบรรณารักษ์ที่เข้าใจพัฒนาการของเด็กทุกวัย และนำเสนอหนังสือได้เหมาะสมให้แก่ผู้ใช้บริการ
อยากมีพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยและฉลาด ไม่ใช่ตึกเก่าๆ โทรมๆ ที่เอาของเก่ามาวางตั้งป้าย ไม่มีการหมุนเวียนจัดนิทรรศการ ไม่มีชีวิตชีวา เหมือนว่าตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ตายไปพร้อมของที่วางแสดงอยู่ในนั้น
อยากมีระบบการจัดการขยะที่ดี อยากรู้ว่าเงินภาษีที่เราจ่ายนำไปทำอะไรบ้าง อย่างไร เป็นต้น
คุยกันคร่าวๆ ก่อนหน้านี้ว่า มีความคับข้องใจเกี่ยวกับผู้ว่าฯ แต่งตั้ง
ผู้ว่าแต่งตั้งไม่เคยเชื่อมโยงกับประชาชน แม้บางคนจะเป็นคนพื้นที่ซึ่งกลับมารอเกษียณ เขาอยู่ใน safe zone ของชีวิตราชการที่ทำงานตามนโยบาย ไม่กระด้างกระเดื่องและปล่อยไหลไปตามระบบ ไม่จำเป็นต้องริเริ่มสิ่งใหม่ ไม่ต้องแสดงความกล้าหาญ
ไม่ต้องต่อสู้เพื่อใครนอกจากเพื่อรักษาชีวิตราชการของตนเองไม่ให้ด่างพร้อย วาระการทำงานรอเกษียณเป็นอะไรที่แย่สุดแล้ว เพราะนอกจากประคองตัวให้จบชีวิตราชการ ตักตวงให้มากที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อพื้นที่นั้นๆ เลย
การมาของผู้ว่าฯ แต่งตั้งแต่ละคนจึงแทบไม่มีความหมาย ไม่นำไปสู่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจากเป็นประธานเปิดงาน ตัดต้นไม้ ปูตัวหนอน ทำที่จอดรถ ทุบรั้วศาลากลาง สร้างรั้วศาลากลางใหม่ ทาสีจวนผู้ว่าฯ ใหม่ ที่เป็นรูปธรรมก็เห็นทำกันอยู่เท่านี้
ประชาชนไม่เคยได้ประโยชน์อะไรจากการมาทำงานของผู้ว่าฯ แต่งตั้ง คนที่ได้ประโยชน์คือตัวผู้ว่าฯ เอง บริวารและผู้บังคับบัญชาเหนือเขาอีกที
ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ สังกัดส่วนท้องถิ่น มีอิสระในการใช้งบประมาณและอำนาจ อยากเห็นนโยบายใดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนครับ
𝐀: เราอยากเห็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำเพื่อประชาชนคนในพื้นที่จริงๆ ใช้งานได้จริง เพื่อคนทุกกลุ่ม อยากให้การพัฒนาเมืองสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คิดและทำเพื่อเยาวชนและเด็กๆ ซึ่งคืออนาคต ให้เยาวชนทุกกลุ่มได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากร พัฒนาตนเองได้
สามารถผลักดันตนเองให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน ไปให้ไกลจากคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า
เมืองควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมการใช้ชีวิตประจำวันที่ง่าย สะดวก และผลักดันพลเมืองไปสู่ความเป็นพลเมืองโลกได้โดยไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปใช้ชีวิตแออัดในเมืองหลวง ถ้าเมืองทำหน้าที่พื้นฐานตรงนี้ได้ดี พลเมืองก็พุ่งไปได้ไกล โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
อยากเห็นสื่อมวลชน ทำเรื่องกระจายอำนาจอย่างไรครับ
เรารู้ว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการช่วยทำให้ปากเสียงประชาชนดังขึ้นได้ แต่ก็นะ… ทุกวันนี้เหมือนบทบาททั้งหมดตกอยู่ในสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อกระแสหลัก
อยากให้สื่อมวลชนกล้าหาญลงเจาะปัญหาของการแต่งตั้งผู้ว่าฯ อยากได้ข้อมูลเชิงลึกว่าการขึ้นเป็นผู้ว่าแค่ปีเดียวหรือ 2 ปีแล้วเกษียณก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษ หรือค่าเสียโอกาสอะไรต่อส่วนรวมบ้าง
อยากรู้ว่าถ้าเรามีผู้ว่าเลือกตั้งฯ ที่อายุน้อยๆ จะทำให้เมืองมีทิศทางอย่างไร ทุกวันนี้เราเห็น คุณชัชชาติ ทำงานผ่านวิธีการและกรอบคิดใหม่ๆ แล้วเรารู้สึกตื่นเต้นและอยากมีส่วนร่วม เป็น active citizen อยากให้สื่อมวลชนกระตุ้นให้พลเมืองรู้ว่าเราจะมีส่วนร่วมกันได้อย่างไร
เรายังอยากเห็นตัวเลขงบประมาณการดูแลผู้ว่าฯ กางออกมาชัดๆ เบิกอะไร ใช้อะไรของราชการบ้าง สมเหตุสมผลเหรือไม่ อยากรู้ว่าเงินจำนวนนี้ถ้าผันไปทำอย่างอื่นให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เราควรจะใช้ทำอะไร
การกระจายอำนาจอยู่ในทุกมิติของสังคม ทั้งเรื่องทรงผมนักเรียน ความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ตรงนี้มองอย่างไร
การตัดสินใจแบบรวมศูนย์ภายใต้ระบบราชการ ทำให้ผู้นำองก์กรในแต่ละองก์กรของรัฐติดกรอบและขาดความกล้าหาญ ยกตัวอย่างเรื่องทรงผมนักเรียนก็ได้ค่ะ …
ต่อให้ส่วนกลางเปิดโอกาสในการตัดสินใจให้ผู้บริหารโรงเรียนตัดสินใจได้เอง แต่ผู้บริหารโรงเรียนก็ติดอยู่ใน safe zone เดิมๆ ก็ยังสั่งเด็กหัวเกรียนต่อไป ผมสั้นต่อไป เพราะค่านิยมเก่าๆ บล็อคไว้ ทั้งๆ ที่เราต่างรู้กันดีอยู่เต็มอกว่าไม่ว่าเด็กจะผมสั้นหรือผมยาว มันไม่ได้เป็นปัญหาต่อการเรียนใดๆ
คือทุกคนทำงานแบบเน้นปลอดภัยไว้ก่อน และการเปลี่ยนแปลงมันเขย่ากรงแห่งความปลอดภัยนี้ โรงเรียนของลูกเราในวันนี้ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับที่เราเรียนเมื่อ 35 ปีก่อน จึงยังมีกฎระเบียบที่ไม่ต่างไปจากเดิม ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปมากขนาดนี้ เทปคลาสเซ็ตหายไป ฟล็อปปี้ดิสก์หายไป แผ่นซีดีหายไป ไอพ็อดเลิกผลิต ไอโฟนวิ่งไปถึงรุ่น 13 plus
แต่โรงเรียนยังเหมือนเดิม ซึ่งมันผิดปกติ รวมถึงการยกเลิกเครื่องแบบ การยอมรับความหลากหลายทางเพศ การแต่งกายตามเพศสภาพ การยกเลิกพิธีการล้าหลังต่างๆ มันเป็นกับดักของการทำงานรวมศูนย์แบบปลอดภัย ทำให้ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรเลย รอคำสั่งเบื้องบนอย่างเดียว
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม