หากย้อนมองประชาธิปไตยไทย ตั้งแต่แรกวางหมุดหมาย คงพอเห็นว่ามีทั้งเดินหน้าและถอยหลัง สลับกันตลอดช่วงเวลากว่าเก้าสิบปี มีหลายเหตุการณ์ที่ไม่เพียงทำให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลัง แต่ยังราวมีมือล่องหนที่ต้องการแช่แข็งไม่ให้เติบโต คล้ายพืชพันธุ์ที่ไม่เคยได้แผ่กิ่งก้านอย่างสมบูรณ์ ด้วยถูกดึงทึ้ง ฉุดรั้ง หวังทำลาย
แม้ประชาธิปไตยไทยจะไม่ได้ก้าวไปไกลอย่างที่ควรเป็น แต่ตลอดประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยผู้เล่นและกลุ่มคนหลากหลายใบหน้า เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ฉายให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงปัจเจกและสังคมโดยรวม ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ร่วมสมัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา และความขัดแย้งที่หยั่งลึกในสังคมไทย คงหนีไม่พ้นการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งส่งผลอย่างเข้มข้นจนถึงปัจจุบัน
วินัย ดิษฐจร หรือพี่วินัยที่ผมเรียก คือช่างภาพที่ติดตามการเมืองไทยมานานกว่าสองทศวรรษ ผู้บันทึกประวัติศาสตร์การชุมนุม ตั้งแต่ก่อนที่ม็อบพันธมิตรฯ จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง เรื่อยมาจนเกิดม็อบคนเสื้อแดง สุดท้ายจบด้วยเหตุการณ์สลายการชุมนุม และมีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก จากนั้นตามด้วยม็อบ กปปส. ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ นำไปสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 จนกระทั่งการมาถึงของม็อบที่นำโดยคนรุ่นใหม่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา
คงไม่เกินเลย หากจะกล่าวว่าเขาคือผู้เฝ้ามองกาลเวลา ผู้เก็บบันทึกความจริงในชั่วขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเกมการเมืองที่เปลี่ยนไปตามขั้วอำนาจ หรือความคิดความเชื่อของผู้คนที่เลื่อนไหล การกระทำที่อ้างวาทกรรมคนดี การทวงถามความยุติธรรมแทนร่างไร้วิญญาณ รวมถึงเสียงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอันพึงมี เหตุการณ์และมวลความรู้สึกเหล่านี้ถูกบันทึกไว้บนภาพถ่ายของ วินัย ดิษฐจร
พี่เริ่มต้นการเป็นช่างภาพการเมืองได้อย่างไร
ช่วงปี 2003 ผมทำงานอยู่สำนักข่าว EPA (European Pressphoto Agency) เป็นสำนักข่าวของเยอรมนีที่ตอนนั้นต้องการมาเปิดสาขาในกลุ่มประเทศ Southeast Asia ซึ่งรวมถึงไทยด้วย ผมเป็นช่างภาพไทยคนแรกที่ได้ร่วมงานกับสำนักข่าวแห่งนี้ แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้นเคยอยู่บางกอกโพสต์ เป็นฉบับแมกกาซีนก็ไม่เชิงทำข่าวรายวัน มีถ่ายพอร์ตเทรต ถ่ายสัมภาษณ์ ถ่ายสารคดี แต่ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตอนอยู่ EPA นี่แหละ ทำอยู่สองปีครึ่ง
การที่จะบอกว่าเป็นนักข่าวสายการเมือง มันก็ไม่เชิงหรอก สำนักข่าวต่างประเทศจะทำเฉพาะประเด็นใหญ่ ๆ ที่น่าสนใจ การที่เราจะไปถ่ายในทําเนียบหรือเหตุการณ์ทางการเมืองก็จะต้องเป็นเรื่องที่ต่างประเทศสนใจ อย่างเช่น การเยือนของผู้นำต่างประเทศมีการสวนสนามเล็กๆ หรือเป็นการไปต้อนรับที่สนามบิน หรือการประชุมใหญ่ๆ อะไรแบบนี้มากกว่า
แต่ว่าช่วงที่พี่อยู่สำนักข่าว EPA เริ่มมีการก่อตัวของม็อบที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ เราก็ต้องไปถ่าย ตอนนั้นรู้สึกว่าประสบการณ์นี้เป็นหนึ่งในภาพจำที่เราเห็นในภาพยนตร์เกี่ยวกับช่างภาพแนว Photojournalist นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพการเมือง ต่อมาพอลาออกจาก EPA มาเป็นฟรีแลนซ์ ช่วงนั้นเริ่มมีม็อบพันธมิตรฯ เราก็ติดตาม ถ้าถามว่าติดตามเพราะอะไร หนึ่งคืออยู่ในกรุงเทพฯ สองคือเราได้ผจญภัย เราชอบการอิมโพรไวส์ ชอบการด้นสดในหน้างาน มันรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ใช่ ที่เราชอบ

คือตั้งใจเลยว่าจะเป็นช่างภาพการเมือง?
ไม่เชิง บังเอิญว่างานที่ทำมันนำพาให้เกี่ยวข้อง แต่พอทำไปเราก็สะสมประสบการณ์ และทำนายได้ว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ ที่ดีมากในแง่ของการเป็นช่างภาพ เพราะเราอยู่ในยุครอยต่อของรัชสมัย รอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน และเราเห็นปรากฏการณ์การก่อตัวของความขัดแย้งที่จะเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เรารู้ว่ารัฐประหารครั้งนี้มีการแทรกแซงด้วยอำนาจต่างๆ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม เรารู้สึกว่าคงไม่จบกันง่ายๆ คงต้องสู้กันหลายรอบ ทำให้เราสนใจอยากติดตามเรื่องนี้
ทั้งนี้ถ้ามาดูงานของผมอาจดูน่าสนุก แต่ที่จริงก็มีช่วงเวลาที่น่าเบื่อ เพราะบางช่วงไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เงียบเป็นสุญญากาศ หรือเราไปในเหตุการณ์แล้วปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็น่าท้ออยู่ คือผมไม่ได้แค่บันทึกความจริง แต่ทำงานศิลปะ ไม่ใช่แค่ภาพที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เราอยากให้ภาพออกมาดีสามารถแขวนบนผนังได้ ดูแล้วดูอีกได้
ผมพยายามมองหาภาพที่เป็นไอคอนนิคโฟโต้ (โดดเด่น) ภาพที่บันทึกความจริง และองค์ประกอบแสงเงาที่ดี เหมือนกับแฟรงเกนสไตน์ที่สามารถปลุกขึ้นมาหลอกหลอนกลุ่มอำนาจ
ทราบมาว่ากำลังจัดแสดงผลงาน ช่วยเล่าถึงที่มาของงานครั้งนี้ให้ฟังหน่อย
เป็นวาระที่เราได้คิวจากผู้สนับสนุน ก็คือคิวเรเตอร์ของ VS Gallery กับพี่มิตร ใจอินทร์ ศิลปินชื่อดัง เจ้าของ Cartel Artspace ซึ่งการแสดงงานครั้งนี้ของพี่จะจัดแสดงทั้งสองที่พร้อมกัน โดยส่วนของ RED, YELLOW จะจัดแสดงที่ VS Gallery ส่วนของ BEYOND คือม็อบคนรุ่นใหม่จะจัดแสดงที่ Cartel Artspace
งานที่แสดงครั้งนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 17-18 ปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยม็อบพันธมิตรฯ ตั้งแต่คนเสื้อแดงยังใส่เสื้อเหลืองอยู่เลย คือการแสดงงานจะเล่าถึงพัฒนาการของผู้คนที่เรียกร้องประชาธิปไตย จากคนรุ่นก่อน ทั้งจากชนชั้นต่างๆ ที่ต้องการเข้าถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ตนเองพึงมีพึงได้ก่อกำเนิดเป็นคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง
เสื้อเหลืองเป็นฝ่ายที่เชื่อมั่นความดีงามในอุดมคติที่รัฐบอกให้เชื่อ และทำให้เกิดสงครามตัวแทน การทำให้แตกแยกแล้วปกครอง
มันคือความคิดที่ว่าประชาชนไม่ควรมีอำนาจมากกว่ารัฐ นี่คือ RED, YELLOW จัดแสดงที่ VS Gallery
เมื่อคนเสื้อแดงถูกทำลายให้ล้าโรยไปจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 แต่หลังจากการรัฐประหารปี 2557 เกิดม็อบของคนรุ่นใหม่ใบหน้าของเด็กที่มีความสดใส ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานชนชั้นกลางที่เข้าถึงสิทธิ์ทุกอย่าง แต่ขอเรียกร้องของเขา นอกจากการเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิ์ที่ตนเองพึงมีพึงได้ ยังรวมถึงการปรับรื้อโครงสร้าง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ท้าทาย ส่วนนี้เป็น BEYOND จะจัดแสดงที่ Cartel Artspace



อะไรคือพลังและความสำคัญของภาพถ่ายเหตุการณ์ทางการเมือง
การถ่ายทอดความจริงได้ตรงกับเรื่องราว และอีกอย่างคือถ้าภาพนั้นมีองค์ประกอบทางศิลปะที่ดีก็จะเพิ่มมูลค่า อย่างที่บอกว่าภาพแบบที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เขาสื่อสารกับคนทั่วไปก็จะเป็นภาพแบบที่เราชินตาคือดูแล้วผ่านไป จริง ง่าย สว่าง ชัด ซึ่งบางภาพที่ดีก็อาจถูกฉายซ้ำ แต่ถ้าเป็นภาพที่มีองค์ประกอบทางศิลปะที่ดีด้วยก็เป็นได้มากกว่าภาพที่ดูแล้วผ่านไป นั่นแหละสำคัญ
เคยพูดถึงคุณค่าของเวลาในภาพถ่าย อยากให้อธิบายเพิ่มเติมในบริบทที่เชื่อมโยงกับสังคมไทยที่ผ่านมา
อย่างที่บอกว่าการแสดงครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่ภาพที่ถ่ายไว้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว สำหรับภาพถ่ายเมื่อเรากดชัตเตอร์ปุ๊บ ภาพนั้นคืออดีต แต่ถ้าเราบอกว่าสองนาทีที่แล้ว หรือหนึ่งชั่วโมงที่แล้ว เราจะรู้สึกว่ามันไม่เป็นอดีตเท่าไหร่ หนึ่งวันก็ยังรู้สึกว่าไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าผ่านไปสักหนึ่งเดือนก็อาจเริ่มๆ กระทั่งหนึ่งปี สองปี สามปี มันมีเวลาของมันอยู่
เราไม่สามารถเอาภาพถ่ายที่มีเวลา 17 ปี ไปให้ใครสักคนแล้วคนนั้นจะได้เวลา 17 ปี แต่ในตัวภาพที่ถูกพิมพ์ ถูกเผยแพร่ มันสื่อสารและส่งต่อความรู้สึกของเวลาให้กับคนอื่นได้ อีกอย่างคือเวลาในภาพถ่าย ภาพนิ่ง เสี้ยวเวลาที่ช่างภาพได้อยู่ตรงนั้น ยิ่งแนวของผมจะเป็นเลนส์เดี่ยว หรือเลนส์มุมกว้าง เป็นระยะประชิด เสี้ยวเวลานั้นมันมีความมหัศจรรย์ที่ว่าช่างภาพไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไง ทำไมเขาหยิบจับและเก็บภาพเสี้ยวเวลานั้นมาได้ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างเวลาในภาพถ่ายและเวลาในปัจจุบัน

มีความคิดเห็นหรือความรู้สึกอย่างไรกับคนเสื้อแดง
ต้องออกตัวว่าดูเหมือนจะถ่ายทอดเรื่องราวของคนเสื้อแดงอย่างใกล้ชิด โดยส่วนตัวเราไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่ก็ไม่ใช่คนเสื้อเหลืองนะ (หัวเราะ) ตั้งแต่ไหนแต่ไรเราทำตนเองเหมือนเป็นคนนอก เป็นผู้เฝ้ามอง เหมือนนกเหยี่ยวที่บินวนบนท้องฟ้าเพื่อสังเกตการณ์ เราก็จะมองช่วงก่อตัวของม็อบพันธมิตรฯ หรือม็อบ กฟผ. เมื่อก่อนนั้นจนกระทั่งมีกลุ่มคนเสื้อแดง และต่อมาแบ่งเป็นคนเสื้อแดงกับคนเสื้อเหลือง

ตอนเด็กเคยอยู่อีสานมาสี่ห้าปี ยุคนั้นกันดารมาก เรารู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้เห็นภาพของคนชายขอบว่าเขาลำบากจริงๆ ส่วนมากคนอีสานมักมาเป็นแรงงานให้รัฐ มาขายแรงงาน และพวกเขาถูกเอาเปรียบ รวมถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่พึงมีพึงได้ ในยุครัฐบาลที่ผ่านมาที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรืออะไรแบบนั้น มันก็ให้แค่ความหวังกับคำขวัญ แต่สุดท้ายเขาก็เข้าไม่ถึงสิทธิ์ต่างๆ
การที่คนเสื้อแดงเข้ามาชุมนุม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเคยมีประสบการณ์เรื่องของประชาธิปไตยในยุคทักษิณว่าเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ที่อิ่มท้อง ลืมตาอ้าปากได้ เหตุผลที่เขาเข้ามาชุมนุมจึงเป็นแค่การขอให้สิทธิ์และประสบการณ์เหล่านั้นกลับคืนมา เรียกร้องให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐในตอนนั้นไม่ยอม และให้ลูกปืนมาแทน จนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย
เรามองว่ากลุ่มอำนาจใหม่ปรากฏตัวขึ้นมา และได้รับความนิยมจากประชาชน เพราะเขาให้ประสบการณ์กับประชาชนว่าการเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลประชาธิปไตย ทำให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ จึงถูกมองว่ากลุ่มอำนาจใหม่จะเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์ที่กลุ่มอำนาจเก่ายึดครองมายาวนาน ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่ายอมไม่ได้ มึงเอาลูกปืนไป
ถ้าพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดง เรามองว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม ตรงกันข้ามเขาคือผู้ที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งการถูกเหยียดจากชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ไม่ชอบคนเสื้อแดง และทั้งความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยรัฐ

การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 มีทั้งภาพถ่ายและหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง มีการใช้กระสุนจริง และมีผู้เสียชีวิต แต่ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจสั่งการในตอนนั้นกลับไม่ได้รับโทษ สิ่งนี้สะท้อนอะไร
เมืองไทยรู้อยู่แล้วว่าคนมีอำนาจทำอะไร สุดท้ายก็มีกระบวนการให้พ้นผิดลอยนวล จะมีวิธีการทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา และก็เหมือนว่าสังคมไทยจะยอมรับ ถ้าสมมติว่าเราพยายามจะเรียกร้องรื้อฟื้นให้เกิดการพูดถึง เขาก็บอกอย่าไปรื้อฟื้นมันเลย มันผ่านไปแล้ว เราก็-เฮ้ย ทำไมประเทศไทยมีวิธีคิดหรือมีวัฒนธรรมแบบนี้ มันอยู่ในดีเอ็นเอเหรอ
กลายเป็นว่าคนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมคือคนไม่ดี ถูกกล่าวหาว่าทำให้คนในสังคมทะเลาะกัน ทั้งที่มันมีคนตาย ลองให้พ่อแม่คุณตายบ้างสิ
เคยถูกยิงระหว่างถ่ายภาพเหตุการณ์คนเสื้อแดง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม พี่วินัยมีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นอยู่
ผมมองว่าเวลาถึงช่วงที่มีความเข้มข้นหรือความชุลมุนวุ่นวายถึงขั้นใช้อาวุธไล่ยิง มันจะมั่วไปหมด ไม่เพียงแค่สื่อแต่ก็มีประชาชนที่โดนด้วย พอถึงสถานการณ์จริงเจ้าหน้าที่มักไม่ดูหรอก กูไม่สนใจเพราะกูได้คำสั่งมาแล้ว พี่ไม่อยากพูดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่มันจะเป็นแบบนี้ มีทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ
จากประสบการณ์ตอนเป็นทหาร แม้ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม แต่รู้ว่าก่อนที่จะมาปฏิบัติการสลายการชุมนุม เขาจะไม่ปล่อยทหารให้ลากลับบ้าน เขาเรียกว่าคำสั่งเตรียมพร้อม จัดเป้อยู่ใต้เตียงนอน แล้วพอถึงเวลาเขาจะบอกว่าเดี๋ยวกูให้ลา ทุกคนก็เตรียมตัวกลับบ้านด้วยความดีใจ แต่แล้วจู่ๆ ก็บอกว่ากลับไม่ได้แล้ว มีคำสั่งให้คุณเตรียมพร้อม
คุณต้องออกไปปฏิบัติการณ์กับคนที่กำลังทำลายชาติ คือเขาล้างสมองคุณ ทำให้เหนื่อยท้อแท้ผิดหวัง ทำให้รู้สึกว่าที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุผลที่ยิ่งใหญ่ แล้วลองคิดดูว่าทำไมทหารเหมือนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโกรธแค้น ยกตัวอย่างพฤษภาทมิฬในเหตุการณ์ที่รอยัลรัตนโกสินทร์

อีกประสบการณ์หนึ่งคือตอนที่ถูกยิงในวันที่ 10 เมษายน 2553 สมมติว่าวันนั้นไม่มีช่างภาพญี่ปุ่นที่โดนยิงตาย ไม่มีคนเสื้อแดงที่ขับสามล้อโดนยิงที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ห่างจากผมไปไม่ถึงร้อยเมตร และเวลาห่างกันไม่ถึงสามสิบนาที ถ้าวันนั้นผมโดนยิงแล้วตาย จะเป็นคนแรกที่ตายในเหตุการณ์นั้น แต่บังเอิญไม่ตาย ทำให้สามล้อคนนั้นเป็นคนแรก และถ้าสมมติว่าวันนั้นไม่มีคนตายเลย ไม่มีคนโดนยิงเลย รัฐก็จะส่งข่าวบอกว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริง ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีมวลชนบางกลุ่มที่เชื่อ
มีความคิดเห็นอย่างไรกับกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาเคลื่อนไหว และสุดท้ายจบลงด้วยการทำรัฐประหาร
คนที่เป็นสลิ่มเป็นคนที่น่ารักนิสัยดี มีอัธยาศัย มีน้ำใจ ส่วนมากเป็นคนดี คนพวกนี้เติบโตในช่วงสงครามเย็น ช่วงที่รัฐเป็นผู้ปกป้อง พร่ำสอนให้คนมีความเชื่อในแบบอุดมคติ และคนเหล่านี้ก็เลี้ยงลูกมาด้วยความเชื่อแบบนี้ บางคนส่งลูกเรียนจบเหมือนเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาพูดเขาทำได้รับผลที่ดี ตนเองเกษียณแล้วมีเงินใช้ มีชีวิตที่ดี
สลิ่มมีความคิดแบบบูชาความดี ทำดีได้ดี มีน้ำใจแบบไทยสไตล์ แต่คนพวกนี้เปลี่ยนเป็นอีกขั้วอย่างแปลกประหลาด เมื่อเจอกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับสังคม โดยเฉพาะบางคำถามที่เป็นการตรวจสอบหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับสถาบัน คนพวกนี้จะปรี๊ดแตกเป็นอีกขั้วอย่างไม่น่าเชื่อ
เท่าที่ผมมองการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 คนพวกนี้มีความเชื่อว่าทหารเป็นผู้ปกป้อง เป็นผู้เข้ามาแก้ไขปัญหา ลองมองย้อนกลับไปในวิชาประวัติศาสตร์ที่สอนกันมา เราถูกพร่ำสอนว่าผู้ที่จะมาแก้ไขหรือปกป้องประเทศชาติคือทหาร ปลูกฝังว่าทหารทำถูกทุกอย่าง พวกสลิ่มมักคิดแบบนั้น แต่เราแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาก็มีทหารที่โกง ทหารที่คอร์รัปชัน ทหารที่เป็นเผด็จการ แล้วทำไมพวกนี้เสือกตาบอด เงียบกริบ

แน่นนอนว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่เงื่อนไขของการเกิดรัฐประหารต้องมาจากแกนนำของคนเสื้อเหลืองและ กปปส. แต่เราสงสัยว่าทำไมมวลชนถึงคล้อยตามกันไป หรือแม่งหัวอ่อน หรือเป็นผลผลิตจากช่วงสงครามเย็น
เมื่อเวลาพิสูจน์แล้วว่าเขาถูกทหารหรือชนชั้นนำที่เอาเปรียบ ไม่ตอบสนองสิ่งที่พึงมีพึงได้ คนพวกนี้ก็หน้าชื่นอกตรม ยิ้มเจื่อนๆ แล้วก็โยนไปเรื่องกฎแห่งกรรม หรือให้เหตุผลว่าเขายังไม่พร้อม คือจะมีเหตุผลในการให้อภัย คนไทยส่วนหนึ่งเป็นแบบนี้
ตอนที่ติดตามเรื่องคนเสื้อแดง เราก็ไม่ได้เป็นคนใส่เสื้อแดง มีแสดงความคิดเห็นบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นตัวตึงไปเดินขบวน แต่ก็สงสัยว่าสิ่งที่เราคิดมันเรียบง่ายมาก ทำไมพวกเขาถึงคิดอีกแบบ
คนที่ทำงานเป็น NGO หลายคนทำงานเพื่อคนจนในพื้นที่ชายขอบ แต่เป็นสลิ่ม เราก็งงว่าทำไม ประเทศไทยมีอะไรบางอย่าง หรือมีอำนาจอะไรบางอย่าง เหมือนเป็นแท่งพลังงานที่ถูกสอดเข้าไปแผ่ขยายรังสีควบคุมความเชื่อ ควบคุมพฤติกรรมคน
ในมุมมองของพี่วินัย การกระจายอำนาจคืออะไร
คือการเฉลี่ย เป็นการแบ่งปันให้เกิดความสมดุล เสมอภาค เท่าเทียม ไม่ใช่แบบว่าบ้านของกูอยู่ตรงนี้มีทุกอย่างพร้อม มึงอยู่ปลายชายขอบ มึงอยู่ใต้การควบคุมของกูแล้วกัน อยากได้อะไรก็มาขอ มันไม่เสมอภาค ไม่เป็นประชาธิปไตย
บ้านเมืองเราตอนนี้เกือบทุกที่ก็เจริญแล้ว มันต้องการการจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พูดง่ายๆ ผมขับแกร็บรู้เลยว่าการวางผังเมืองที่ดี ตรงกับภูมิประเทศ ตรงกับสภาพแวดล้อม ตรงกับสังคม ความเชื่อ ศาสนา นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ทุกวันนี้ถ้ากลุ่มไหนขึ้นมามีอำนาจแล้วจะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะมาตั้งป้ายบ้างล่ะ ทำสะพานแก้วบ้างล่ะ โดยไม่ถามความต้องการของชาวบ้าน ไม่ได้ให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแบบ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของเขา

ตลอดเวลากว่า 30 ปี จากประสบการณ์การเป็นช่างภาพ เห็นอะไรมาบ้างที่คิดว่าเป็นปัญหาของการไม่กระจายอำนาจ
เรื่องของเวลาที่เกิดปัญหาวิกฤต ปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลัน ยกตัวอย่าง หมอกควันที่แม่สาย ถ้าเรามีระบบการกระจายอำนาจที่ดี ตัวเมืองต่างจังหวัดอาจสามารถประสานงานกับพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแก้ไขบรรเทาในเบื้องต้นได้ทันที ไม่ต้องรายงานมาที่ส่วนกลาง หรือรอคำสั่งจากส่วนกลางก่อน ไม่ต้องรอให้รัฐไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านจะขาดใจตายอยู่แล้ว
อีกอย่างคือเรื่องขนส่ง และเรื่องระบบสาธารณสุข ผมคิดว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ มันน่าจะมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
การกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครองสู่ท้องถิ่น จะส่งผลให้การสร้างงานศิลปะมีความหลากหลายมากขึ้นไหม
ก็มีส่วน แต่ผมว่าต้องเน้นเรื่องการให้ความรู้ ทำอย่างไรให้หลุดออกจากกรอบ โดยเฉพาะบทเรียนการสอน แม้กระทั่งความคิดความเชื่อ อย่างเช่นการนิยามว่าพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วศาสนาอื่นล่ะ มันทำให้ศิลปะมีแต่พุทธินิยม ต่อให้มีการกระจายอำนาจเชิงบริหารจัดการแล้ว แต่ไม่แตะความคิดความเชื่อที่ปลูกฝังในการศึกษา ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ไปพร้อมกัน สุดท้ายงานศิลปะก็จะไม่มีความหลากหลายอยู่แบบเดิม

ถ้าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเกิดขึ้นจริงๆ พี่คิดว่า ประเทศจะเจริญอย่างไร
ตอบแบบบ้านๆ เลย
ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ มันต้องดีกว่าแต่ก่อนแน่นอน ปัจจุบันประชาชนทุกคนรับรู้ข้อมูลความจริงระดับหนึ่ง ว่าการที่เขามีสิทธิ์ได้เลือก ได้แสดงความคิดเห็น ย่อมดีกว่าการไม่มีสิทธิ์แล้วรอให้รัฐมาชี้นิ้วซ้ายหันขวาหัน
แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจต้องคิดว่าในแต่ละท้องถิ่น จะแก้ไขเรื่องหัวคะแนนที่มีอิทธิพลได้อย่างไร จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ไหม เพื่อให้การเลือกตั้งสะท้อนเสียงของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ในด้านชีวิตส่วนตัว นอกจากการแสดงผลงาน ตอนนี้ทำอะไรอีกบ้าง
ผมก็เป็นช่างภาพนี่แหละ นอกจากบางครั้งมีงานอื่นก็เป็นผู้ช่วยช่างภาพให้กับช่างภาพต่างชาติที่เขาต้องการ ในการเป็นผู้ช่วยช่างภาพมันดีในแง่ที่ไม่ต้องรับผิดชอบ ทำงานแล้วได้เงินเลย แต่จะรับผิดชอบในเรื่องทักษะของเรา คือเราต้องคอยตรวจสอบควบคุมไม่ให้เกิดความผิดพลาด ตอนนี้งานส่วนใหญ่ของผมเป็นงานต่างประเทศ ทำให้มีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง
ก็ทำงานศิลปะภาพถ่ายในโปรเจกต์ต่างๆ ช่วงหลังมีคนสนับสนุนค่าใช้จ่ายบ้าง กับอีกอย่างหนึ่ง เวลาผมทำงานหน้าจอแล้วรู้สึกเบื่อก็ออกมาผ่อนคลาย ผมชอบขับมอเตอร์ไซค์แกร็บ ข้อดีคือเราได้พักผ่อน มันเป็นการพักผ่อนที่แปลกๆ เหมือนกัน เพราะเราชอบขี่มอเตอร์ไซค์ ขี่รถเล่น คนอื่นเขาอาจขับเลี้ยงชีพ แต่เราไปขับเพราะว่าทำให้มีเหตุผลที่จะได้เดินทางออกนอกเส้นทางที่คุ้นเคย ผมมีงานหนึ่งคือชอบถ่ายความเป็นเมืองกับคนที่อยู่บนท้องถนน โจทย์เรื่องความเป็นเมืองมันแตกแขนงย่อยได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ผังเมือง การขยายความเจริญของเมือง หรือแรงงานอพยพ
เดิมทีแต่ก่อนผมเป็นคนชอบขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งกลางวันและกลางคืน ออกไปถ่ายรูป หรือออกไปสำรวจ แต่มันก็มีค่าใช้จ่าย พอมีแกร็บก็ช่วยในส่วนนี้ ทำมาห้าหกปีแล้ว แต่ไม่ได้จริงจัง ทำวันละไม่กี่ชั่วโมงในวันที่ว่าง
การขับแกร็บในมิติของช่างภาพความรู้สึกต่างกับการขับเลี้ยงชีพ สิ่งที่พี่ชอบในชีวิต คือเรามีมิติของการเป็นช่างภาพ มันคือความสุขที่ได้มองเห็น ได้บันทึก ถ้าไม่พร้อมถ่ายรูปในตอนนั้น ผมก็จะมาร์คไว้ในกูเกิ้ลแม็ปพร้อมข้อความสั้นๆ ว่าตรงนั้นมีอะไรบ้าง น่าสนใจอย่างไร เพื่อที่จะได้กลับไปอีกครั้ง

จุดสูงสุดหรืออาจเรียกว่าเป้าหมายของการเป็นช่างภาพคือสิ่งใด
จุดสูงสุดในอุดมคติตอนนี้ไม่เหมือนกับสมัยก่อน แบบพุ่งขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าแล้วเปล่งประกาย ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว แต่เป็นการที่เราอยู่ในจุดที่มีทักษะที่เป็นตัวของตนเอง และมีคนชื่นชอบ มีคนมาซื้อ มีคนสนับสนุนในสิ่งที่เราทำ อันนั้นคือสุดยอดแล้ว ไม่ต้องร่ำรวยเปรี้ยงปร้าง แต่มีคนรู้จักในสิ่งที่เราทำ อาจไม่แมสมากก็ได้ แต่ยังมีคนมาสนับสนุน เขาซื้อในลายเซ็นของเรา ซื้อในสิ่งที่เราเป็น แค่นี้ก็เพียงพอแล้วล่ะ
การถ่ายภาพมาพร้อมกับการเดินทาง บางคนอาจพอใจเพียงแค่เดินทาง กิน เที่ยว ดื่ม ผมเคยทำแบบนั้นมาก่อน แต่ต้องการมากกว่านั้น ผมต้องการไปในจุดที่มองเห็นปัญหา ไปเมืองที่ไม่เคยไป หรือในเหตุการณ์สำคัญที่เป็นประวัติศาสตร์ และเราได้อยู่ตรงนั้น เราเป็นผู้บันทึก คือเราตายไปแต่ภาพนั้นยังอยู่
ผมฝันอยากมีสมุดภาพที่ตรงกับอุดมคติของเรา สักสองสามเล่มที่เป็นผลงานของเรา ซึ่งแต่ละเรื่องผมทำมาเป็นสิบกว่าปี อย่างเช่นสามจังหวัดชายแดนใต้ ผมอาจรวบรวมเป็นเรื่องราว ตอนนี้คิวเรเตอร์เขาก็มองเห็นสิ่งที่เราทำ เขาก็สนใจ แค่นี้ก็เป็นจุดที่เราพอใจแล้ว เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ต่อให้เป็นช่วงเวลาเฮงซวย หรือแย่ยังไง เราก็มองว่ามันดี
—–
นิทรรศการ RED, YELLOW & BEYOND โดย วินัย ดิษฐจร จัดแสดงพร้อมกันใน 2 แกลอรีศิลปะ คือ VS Gallery และ CARTEL Artspace ที่ชุมชนศิลปะ N22 ซอยนราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ถึง 2 กรกฎาคม 2023 และมีพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ 22 เมษายนนี้