ประวัติศาสตร์อเมริกา จากผู้อพยพแสวงหาเสรีภาพดินแดนใหม่ สู่การมีรัฐธรรมนูญเก่าแก่สุด และการกระจายอำนาจ

  • บทความชิ้นนี้ ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครอง เพียงสื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การมีรัฐธรรมนูญเก่าแก่ที่สุดของประเทศอเมริกา และการกระจายอำนาจ

สหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศในโลกยุคใหม่ คือเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 1760 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับชาติที่เก่าแก่ทั้งหลายในโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย หรือแม้แต่ประเทศไทย สหรัฐอเมริกาอาจไม่ได้มีประวัติศาสตร์การสร้างชาติที่ยาวนานนัก แต่กลับเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญของตนเองที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรใช้มายาวนานที่สุด คือตั้งแต่ปี 1791

ก่อนประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 สหรัฐอเมริกาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมายาวนานถึง 175 ปี พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 75% มาจากประเทศอังกฤษ ผู้อพยพที่มาตั้งรกรากและเริ่มต้นประวัติศาสตร์การสร้างชาติใหม่นั้น ล้วนเป็นผู้ที่แสวงหาอิสรภาพ เสรีภาพ เหตุผลสำคัญของการอพยพเข้าสู่ทวีปอเมริกาก็ด้วยความไม่พอใจในระบบการปกครองและต้องการหลีกหนีจากการปกครองแบบเดิมๆ ที่ควบคุมวิถีชีวิต ผู้คนคิดถึงอำนาจอิสระที่ตนพึงมีและต่อต้านระบบอาณานิคมที่มีอยู่ในขณะนั้น

การแสวงหาเสรีภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นอิสระต่อกัน จึงกลายมาเป็นแนวคิดหลักของการสร้างชาติในดินแดนใหม่ ประกอบกับในยุคสมัยนั้นมีการค้นพบในทางวิทยาการใหม่โดยเฉพาะการค้นพบระบบสุริยะจักรวาล ทำให้คนในโลกยอมรับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไม่ถูกปิดกั้นด้วยความเชื่อที่มีมายาวนาน ในเชิงสังคมวิทยาผู้คนเริ่มรู้จักใช้เหตุผลในทางสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เหตุผลในทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

ระบบการเมืองการปกครองของอเมริกา ไม่ได้มาจากความคิดหรือความต้องการของผู้มีอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เกิดจากความคิดร่วมกันของนักคิดที่มีความสามารถหลายคนในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นแฟรงคลิน, เจฟเฟอร์สัน, แฮมิลตัน, วิลสัน และแมดิสัน นักปรัชญาอังกฤษผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อนักการเมืองที่ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน ก็คือ จอห์น ล็อก ผู้ใช้ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract Theory) อธิบายสิทธิเสรีภาพของบุคคลและสัมพันธภาพระหว่างบุคคลกับรัฐ ซึ่งแนวคิดของเขาตรงข้ามกับของ โทมัส ฮอบส์ ผู้ใช้ทฤษฎีสัญญาประชาคมสนับสนุนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยอ้างว่าเอกชนได้ยินยอมมอบอำนาจทั้งหมดให้กษัตริย์เป็นผู้ปกครอง แต่แนวคิดของล็อกนั้นกลับถือว่า

“อำนาจมาจากประชาชนแต่ละคน ผู้ยอมเสียสละอำนาจบางส่วนของตนให้แก่รัฐ ตราบเท่าที่รัฐยังดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสังคม”

John Locke

ล็อกยังกล่าวถึงสิทธิของมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจอีกว่า

“มนุษย์เราทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) ซึ่งได้มาพร้อมกับการเกิด และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty of the people) นั้นก็มาจากปวงชนนั่นเอง หาได้มาจากสวรรค์ไม่ รัฐบาลคือ ‘ตัวแทน’ ของประชาชน ซึ่งประชาชนได้ยินยอมพร้อมใจให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของปวงชนเอง และมหาชนมีอำนาจในการแต่งตั้งควบคุม หรือถอดถอนรัฐบาลได้ทุกโอกาส”

และปรัชญาการเมืองนี้เองที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นปัญญาชนอเมริกันสมัยนั้นอย่างมาก

โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 เคยกล่าวไว้ “รัฐบาลที่ดีที่สุด คือรัฐบาลที่ปกครองน้อยที่สุด” (That government is best which governs least) ตรงกับแนวคิดของล็อกที่มองว่า ประชาชนแต่ละคนนี่เองคือผู้มีอำนาจและมอบอำนาจเพียงส่วนน้อยให้รัฐบาลปฏิบัติภายในขอบเขตที่กำหนด โดยเอกชนยังคงสงวนไว้ซึ่งอำนาจส่วนใหญ่

อันมีสิทธิ์ที่จะถอดถอนรัฐบาลได้ ประวัติศาสตร์ที่เคยอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอังกฤษมาก่อน ได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดหลักรัฐธรรมนูญอเมริกาขึ้น ซึ่งระบุอย่างชัดเจนถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนและรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ เพื่อป้องกันมิให้เกิดระบบเจ้าขุนมูลนายดังเช่นที่เคยมีในอังกฤษ ซึ่งรัฐมีสิทธิเหนือประชาชนและประชาชนกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจแทนที่จะเป็นผู้ถืออำนาจ

ซึ่งคนอเมริกันไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น อีกทั้งยังระบุให้มีการเลือกตั้งบ่อยครั้ง การเปลี่ยนผู้บริหารอยู่เสมอและกลไกในการตรวจสอบการทำงาน จึงเป็นวิธีที่คนอเมริกันเห็นว่าจะสามารถป้องกันการผูกขาดทางอำนาจการปกครอง เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งซึ่งอยู่ในอำนาจนานๆ กลายมาเป็นผู้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อรักษารัฐบาลให้เป็นรัฐบาลของประชนชนอย่างแท้จริงได้ตลอดไป

George Washington

การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีได้ 2 สมัย มีที่มาจาก จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรก ตั้งแต่ ค.ศ. 1789-1797 รวมทั้งสิ้น 8 ปี หรือ 2 สมัย แต่ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3 แนวปฏิบัติของจอร์จ วอชิงตัน ที่เลือกจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่ 2 สมัย จึงกลายเป็น ประเพณีปฏิบัติ หรือ จารีต

กระทั่งเมื่อถึงการเลือกตั้ง ค.ศ. 1940 แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย ถูกเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) เพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ซึ่งก็ได้รับเลือกจากชาวอเมริกันอย่างท่วมท้น โดยเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 3 สมัยติดกัน

ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งนั้น ประธานาธิบดีรูสเวลต์วิตกกังวลว่าหากลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 จะเป็นการทำลาย ประเพณีปฏิบัติ ของจอร์จ วอชิงตัน แต่สิ่งที่สร้างความประหวั่นต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคือประเด็นที่ว่าอาจมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีในช่วงวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขยายตัวไปทั่วโลก

ประเด็นนี้สำคัญมากเกินกว่าที่ผู้คนจะสนใจว่าประธานาธิบดีรูสเวลต์จะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ดังนั้น จึงได้รับเลือกตั้ง ใน ค.ศ. 1940 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1944 รวม 4 สมัยติดกัน

การดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 ของประธานาธิบดีรูสเวลต์สร้างความหวาดกลัวให้กับพรรครีพับลิกัน (Republican Party) และฝ่ายอนุรักษนิยมในพรรคเดโมแครตว่าจะเกิดการสะสมอำนาจและอาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการนิยม รัฐสภาจึงได้ผลักดัน รัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 22 เมื่อ ค.ศ. 1947 และรัฐต่างๆ ก็ทยอยให้สัตยาบันมาเรื่อยๆ จนถึง ค.ศ. 1951 สาระสำคัญคือ

ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย (สมัยละ 4 ปี)

ในยุคศตวรรษที่ 18 คนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เป็นคนที่อ่านออกเขียนได้ นับว่าเป็นประเทศที่มีคนรู้หนังสืออยู่มากในยุคนั้น คนอเมริกันมีส่วนร่วมทางการเมืองมากที่สุด ต่างพยายามทำความเข้าใจและหาข้อตกลงร่วมกันในสังคม จัดระบบการปกครองของตนเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ในฐานะประชาชนไว้ การที่คนในสังคมมีส่วนร่วมมากเท่าไร สังคมก็ยิ่งมีความเป็นปึกแผ่นได้มากขึ้นเท่านั้น

ระบบการปกครองแบบกระจายอำนาจของสหรัฐอเมริกา เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในระดับท้องถิ่นปกครองดูแลรับผิดชอบตนเองได้อย่างเต็มที่

พื้นที่อันกว้างใหญ่ ทำให้ผู้คนต่างอพยพไปตั้งรกรากถิ่นฐานและสร้างบ้านเมืองโดยอิสระ การวางรากฐานต่างๆ ของสังคมไม่ถูกจำกัดด้วยระบบการปกครองแบบดั้งเดิม หรือผู้มีอำนาจฝ่ายการปกครองหรือระบบทางศาสนา ทำให้สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในระดับท้องถิ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นต่างก็เป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของที่ดิน หรือผู้ทำกินในที่ดินของตนเอง ความเป็นอยู่ในระดับพื้นฐานแบบนี้ทำให้คนในสังคมสามารถแสวงหา คิดค้น พัฒนาสิ่งใหม่ได้โดยเสรี และสร้างความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสังคมก้าวหน้า ไม่มีข้อจำกัดทางพื้นที่ ไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาก้าวก่าย การเกษตร อุตสาหกรรม เหมืองแร่ต่างๆ ตลอดจนระบบการคมนาคมก็ดำเนินการโดยเอกชน โดยไม่ได้อาศัยอำนาจรัฐเข้ามาจัดทำให้

ในวันที่ 7 มกราคม 1789 สหรัฐอเมริกาจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นเป็นครั้งแรก จอร์จ วอชิงตัน ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบบการเลือกตั้งในปีนั้น ยังคงถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาใช้รูปแบบการปกครองแบบรัฐรวมที่เป็นสหพันธรัฐ (Federal State) ประกอบด้วย 50 มลรัฐ หลักการกระจายอำนาจของสหรัฐอเมริกานอกจากจะแบ่งการใช้อำนาจสูงสุดออกเป็นนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแล้ว ยังแบ่งแยกอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การปกครองส่วนกลาง (Federal Government) การปกครองในมลรัฐ (State Government) และการปกครองท้องถิ่น (Local Government)

แต่ละฝ่ายจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวก้าวก่ายกันไม่ได้ แต่ละรัฐ (State) ต่างก็มีรัฐธรรมนูญของรัฐซึ่งแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลมลรัฐกับอำนาจของการปกครองท้องถิ่นลดหลั่นลงไปอีก การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นไปโดยความยินยอมของประชาชน

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาพยายามกระจายอำนาจการปกครองไว้หลายแห่งให้มากที่สุด เพื่อว่าองค์การรัฐบาลส่วนใดส่วนหนึ่งจะไม่สามารถรวบอำนาจส่วนใหญ่ไว้ในมือของบุคคลเดียวหรือกลุ่มเดียวได้  

รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา มีฝ่ายบริหารซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำ มีรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภา 100 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนมลรัฐละ 2 คน และสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน รวมถึงศาลสูงที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี

ในส่วนของมลรัฐต่างๆ จะมีผู้ว่าการมลรัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้งในพื้นที่เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร มีฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ออกกฎหมายต่างๆ และฝ่ายตุลาการจะประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน ทำหน้าที่ตัดสินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในรัฐเอง

ส่วนสุดท้ายคือการปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยการปกครองที่มีจำนวนหน่วยมากถึง 87,849 หน่วย และมีความหลากหลายมากที่สุด ประกอบไปด้วยเคาน์ตี้ (County) เทศบาลเมือง (Municipal) ทาวน์และทาวน์ชิพ (Town and Township) เขตพิเศษ (Special District) เขตโรงเรียน (School District) ตามหลักการแล้วการปกครองท้องถิ่นจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลมลรัฐ กฎหมายต่างๆ ที่ใช้บังคับ รวมถึงนโยบายการดำเนินงานท้องถิ่นจะขึ้นอยู่กับแต่ละมลรัฐ

มลรัฐจะเป็นผู้กำหนดขอบเขตอำนาจ รูปแบบ และมีอำนาจยกเลิกหน่วยการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนมากเกิดขึ้นจากการเรียกร้องของประชาชน มลรัฐเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่รับรองสภาพเท่านั้น แต่ละหน่วยปกครองท้องถิ่นก็จะทำภารกิจที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของมลรัฐโดยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น มอบอำนาจของมลรัฐให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายปกครอง และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามารับผิดชอบต่อผลประโยชน์ในท้องถิ่นมากขึ้น

เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนแม้ในปัจจุบันว่า ระบบสังคมของอเมริกามีแนวโน้มเปิดกว้างเพื่อรับเอาความต้องการของสังคมจากทุกส่วนเข้ามา วัฒนธรรมทางการเมืองของอเมริกาจึงเน้นการรับฟังประชาชนและให้ความสำคัญต่อกระแสสังคมในระดับรากหญ้าเป็นอย่างยิ่ง นักการเมืองทุกระดับจะให้ความสนใจรับฟังประเด็นต่างๆ ในสังคม เพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายหรือเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ สื่อสารมวลชนจึงมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสังคม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มิใช่เพื่อจะยกย่องสรรเสริญสหรัฐอเมริกาว่ามีการปกครองที่ดีเลิศ ในความเป็นจริงแล้วไม่มีรัฐธรรมนูญใดสมบูรณ์ดีพร้อม การปกครองของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมามีบทเรียนและข้อบกพร่องไม่น้อยไปกว่าชาติอื่น แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาและแนวคิดในการปกครองของชาติมหาอำนาจนี้นั้น สามารถสะท้อนให้เราเห็นความพยายามในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ อำนาจของประชาชน และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับหนึ่งด้วยการกระจายอำนาจออกไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบอย่างของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ร่วมกันมีส่วนในการออกแบบการปกครองเพื่อประโยชน์ของทุกคน นำมาสู่ความศรัทธา เชื่อมั่นและเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญหรือข้อตกลงที่สังคมมีร่วมกัน ประชาธิปไตยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบหรือข้อความในรัฐธรรมนูญ หรือนักการเมืองเท่านั้น

แต่สำคัญที่ประชาชนที่เป็นหัวใจสำคัญในฐานะผู้ให้อำนาจและผู้ใช้อำนาจ จะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครอง จึงจะทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อ้างอิง

https://www.masterclass.com/articles/john-locke-beliefs-and-philosophy
https://www.whitehouse.gov/about-the-white-house/our-government/state-local-government/

http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AboutStudent/Document/Pol_Regime/USA/US_President.pdf

http://old-book.ru.ac.th/e-book/p/PS130(51)/PS130-2.pdf

http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/b2f5e249d6dd4b96b8642898e15933a2

http://www.local.moi.go.th/document%209.pdf

Authors

  • สาวกรุงเทพ ผู้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภูเก็ต พยายามมีส่วนในการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในประเทศนี้ด้วยการเป็นอาสาสมัคร NGO อยู่หลายปี ใฝ่ฝันว่าอยากจะเห็นภูเก็ตมีระบบขนส่งสาธารณะดีๆ และอยากเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเองบ้าง

  • ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก วาดภาพเป็นอาชีพ แนวถนัดคืออบอุ่นพาสเทล แต่เมื่อต้องมาวาดงานหนักๆ สังคมการเมือง เธอข้ามรสนิยมตนเองอย่างมืออาชีพ เพื่อแมวสุดที่รัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *