ผสานแนวคิดเก่า-ใหม่โลกมุสลิมด้วยการกระจายอำนาจ

เมื่อเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของโลกในมิติศาสนาสำหรับประเทศมุสลิมแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวพันกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมือง แนวความคิดที่หลากหลาย และวิถีชีวิต

ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่มีแนวคิดใหม่นั้น พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ถูกสร้างมาอย่างเสรี ให้มีสิทธิที่จะเลือกได้ เมื่อชีวิตของมนุษย์ถูกพรากเสรีภาพไปหรือลดทอนเสรีภาพลง นั่นเปรียบเสมือนว่าชีวิตนั้นกำลังขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ และพวกเขามองว่าหลักศาสนาไม่ได้ขัดแย้งกับหลักแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีความประสงค์ให้วิถีชีวิตเป็นอย่างที่มีมาแต่เดิม ทั้งในบริบทวัฒนธรรมและอารยธรรม พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดอื่นเพื่อการเปลี่ยนแปลง

นี่คือความท้าทายท่ามกลางความคิดที่แตกต่างกันระหว่างเก่า-ใหม่

เนื่องจากยังมีบางกลุ่มที่ต้องการคัดค้าน ต่อต้านแนวคิดจากประเทศฝั่งตะวันตก เพื่อรักษาวิถีชีวิตและแนวทางแบบเดิม หรืออาจจะเข้มข้นยิ่งกว่าเดิมไว้ ด้วยอุดมคติอันแรงกล้าที่อยากจะเห็นความเจริญและรุ่งโรจน์อย่างในช่วงสมัยการพิชิตดินแดนโดยมุสลิม

ดังนั้น การเริ่มต้นของกลุ่มคนที่ต้องการทำสิ่งใหม่ๆ ในสังคมมุสลิม จึงยังคงเป็นเพียงแนวความคิดชายขอบ บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะถูกจำกัดศักยภาพทางการเมืองเพียงเพราะมีความคิดที่แตกต่าง

ทั้งที่นั่นน่าจะเป็นการแสดงออกถึงความความหวังทางการเมืองที่เกิดขึ้น เเละยังเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากประเทศมุสลิมทั่วโลกอีกด้วย

กลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดต่อต้านการปรับเปลี่ยนวิถีใหม่ในโลกมุสลิมอย่างชัดเจน
และมีอิทธิพลอย่างมากในประวัติศาสตร์โลกมุสลิม นั่นก็คือ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood ) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในประเทศอียิปต์ ในปี 1928 นำโดย นายฮันซาน อัลบันนา ผู้ก่อตั้ง นักรณรงค์ และผู้นำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่เป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพล

มีเครือข่ายในหลายประเทศและเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น เพราะความคิดของอัลบันนานั้น ไม่เห็นด้วย และต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกจากหลากหลายประเทศมหาอำนาจ ที่แผ่ขยายอิทธิพลทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมเข้ามาในอียิปต์ เขามีเป้าหมายที่จะมีส่วนทางด้านกฎหมายเพื่อรักษารูปแบบแนวทางดั้งเดิมเอาไว้และทำให้ดูเข้มข้นมากกว่าเดิม

อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมืองกับประชาชน เวลาผ่านไปไม่กี่ปีเท่านั้นก็มีคนมากมายที่เห็นด้วยกับเเนวคิดของเขาและเข้าร่วมกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ยิ่งไปกว่านั้นเเนวคิดของเขายังส่งอิทธิพลไปถึงประเทศมุสลิมหลายประเทศในแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง แต่ท้ายที่สุดแล้วฮาซัน อัลบันนาก็ถูกลอบสังหารใน ปี 1949 และก็มีผู้นำกลุ่มใหม่ขึ้นมาแทนที่

ดูเหมือนว่ารัฐบาลอียิปต์มีความแนวคิดเอนเอียงไปทางแนวความคิดใหม่ซะมากกว่า ถึงอย่างนั้นรัฐบาลก็ยังให้พื้นที่พวกเขาโดยกระจายอำนาจทางการเมืองให้กับกลุ่มนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆ ถึงแม้จะมีผู้นำคนใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งและเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แต่เมื่ออำนาจทางการเมืองถูกจำกัด ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางด้านแนวคิดที่แตกต่างของประชาชน นำไปสู่การปะทะกัน และการนองเลือดในที่สุด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแทนที่จะนำไปสู่การผสมผสานแนวคิดที่แตกต่างอย่างที่ควรเป็น กลับบานปลายกลายเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกว่า องค์กร ผู้ก่อการร้าย ในเวลาต่อมา

ไม่นานการกระจายอำนาจในโลกมุสลิมได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง การกระจายอำนาจเพื่อเพื่อสร้างความเป็นหนึ่ง กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุลของอำนาจในภูมิภาคโลกมุสลิม แนวคิดนี้ได้ถูกกลับมาใช้ใหม่ใน ตูนิเซีย โมร็อกโก และประเทศมุสลิมอื่นๆ อีกหลายประเทศ

ในปี 2013 ได้มีศูนย์การศึกษานโยบายของเลบานอน (LCPS) เปิดความคิดแนวใหม่เพื่อประชาธิปไตย โดยเริ่มต้นโครงการวิจัยด้านการกระจายอำนาจและบทบาทของฝ่ายบริหารระดับภูมิภาค เพื่อการส่งมอบบริการที่ดีขึ้นในประเทศโลกมุสลิม โดยขอบเขตงานวิจัยนี้มีโครงสร้างตามองค์ประกอบ 3 ประการด้วยกัน

ได้แก่ การสร้างการเมืองแบบกระจายอำนาจ กฎหมายและแนวทางปฏิบัติการส่งมอบบริการแก่ประชาชน และโครงสร้างทางการเงินของการกระจายอำนาจ การเริ่มต้นศึกษาองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยในโลกมุสลิมที่ใช้การกระจายอำนาจด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรกคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในการจัดการกิจการท้องถิ่น ประการที่ 2 คือ การกระจายอำนาจนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์การพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น โดยวิธีการนี้ คือการให้อำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความยืดหยุ่น ทำให้เกิดการคิดค้นและการแก้ไขปัญหาเชิงท้องถิ่นของชุมชนในที่นั้นๆ นอกเหนือจากการให้นักการเมืองท้องถิ่นรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ที่เป็นตัวอย่างของการนำการกระจายอำนาจไปใช้ ได้แก่ ประเทศเยเมนซึ่งส่วนกลางให้ความสำคัญกับแนวคิดที่แตกต่าง อีกทั้งยังสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบายต่างๆ นำไปสู่การลดทอนอำนาจการควบคุมในเชิงบริหารจากส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียว กลายเป็นการกระจายอำนาจทางการเมืองที่ถูกนำไปใช้กับหน่วยงานท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศโมร็อกโก ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศไทย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อหน่วยงานท้องถิ่นที่ได้เข้ามาบริหารจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการบริหารของรัฐส่วนกลาง และแต่งตั้งหน่วยงานระดับภูมิภาคเข้ามาดูแลเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่น สนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณและการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ในปกครองอีกด้วย

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มประเทศมุสลิมที่ไม่แบ่งแยกแนวความคิดที่ต่างกัน และใช้วิถีประชาธิปไตยอย่างสมดุลในบริบทการเมือง ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายที่เอื้อต่อวิถีชีวิต ความเชื่อและความหลากหลายทางความคิดของประชาชน โดยยังตั้งอยู่บนพื้นฐานศีลธรรมที่ตอบโจทย์ทุกคนในสังคมเดียวกันได้

แนวความคิดที่แตกต่างจึงเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินไปพร้อมๆ กันกับการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยเน้นการใช้สันติวิธี ยึดหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่บีบบังคับ ใช้การกระจายอำนาจที่ประกอบด้วยประชาธิปไตยทำให้เกิดผลดีในด้านความเสมอภาค ทำให้เกิดการเปิดใจ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนในพื้นที่ที่มีความหลายหลายในแนวความคิดและวิถีชีวิต และยกให้การตัดสินใจนั้นมาจากคะแนนเสียงจากประชาชนอย่างแท้จริง

ดังคำที่ว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก

โปรดรอติดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ที่จะเปิดให้ลงชื่อในเว็บพร้อมเลขบัตรประชาชน ให้ถึง 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อผลทางกฎหมาย เร็วๆ นี้  

อ้างอิง

Support for Decentralization and Political Islam Go Together in Indonesia

The explosive combination of religious decentralisation and autocracy: The case of Islam

https://cepr.org/voxeu/columns/explosive-combination-religious-decentralisation-and-autocracy-case-islam

The development and spread of Islamic cultures

https://www.khanacademy.org/humanities/world-history/medieval-times/spread-of-islam/a/the-development-and-spread-of-islamic-cultures

What Is Liberal Islam?: The Silenced Majority 

https://www.journalofdemocracy.org/articles/what-is-liberal-islam-the-silenced-majority/

Liberalism and progressivism within Islam

https://en.wikipedia.org/wiki/Liberalism_and_progressivism_within_Islam

Egypt’s Muslim Brotherhood

https://www.cfr.org/backgrounder/egypts-muslim-brotherhood

Hassan al-Banna

https://rpl.hds.harvard.edu/faq/hassan-al-banna

Muslim Brotherhood

https://www.britannica.com/topic/Muslim-Brotherhood
https://en.wikipedia.org/wiki/Muslim_Brotherhood

Egypt’s Muslim Brotherhood

https://www.cfr.org/backgrounder/egypts-muslim-brotherhood

Beyond liberal Islam

https://aeon.co/essays/is-it-time-to-look-beyond-the-idea-of-liberal-islam

Islamic modernism

https://en.wikipedia.org/wiki/Islamic_modernism

Egypt arrests top Muslim Brotherhood leader

https://www.aljazeera.com/news/2020/8/28/egypt-arrests-top-muslim-brotherhood-leader

Egypt nationalizes the Suez Canal

https://www.history.com/this-day-in-history/egypt-nationalizes-the-suez-canal

Authors

  • ชอบซักถาม ตั้งข้อสงสัย และรักกาแฟคาปูชิโน่ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Phuket News ปัจจุบันทำงาน NGOs เพื่อช่วยเหลือชาวออนไลน์จากความซึมเศร้าและความเหงา

  • นักออกแบบรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในด้านการออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์ และหากมีโอกาสก็อยากลองทำอะไรใหม่ๆ เสมอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *