อินเดียกระจายอำนาจลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ส่งต่อความหวังในประเทศเหลื่อมล้ำสูง

จากรายงาน World Population Prospects 2022 ขององค์การสหประชาชาติเผยว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 8 พันล้านคนภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนปีนี้ และในปี 2023 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ท่ามกลางความกังวลว่าอินเดียอาจไม่พร้อมรับมือกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ ด้วยโครงสร้างของประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก และทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ประเทศอินเดียนับเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีเขตแดนติดต่อกับหลายประเทศ ได้แก่ ทิศเหนือติดกับจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับพม่า ทิศตะวันออกติดกับบังกลาเทศ

ประเทศอินเดียยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มากกว่า 1.3 พันล้านคน ด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลและจำนวนประชากรที่มากมายนี้ ทำให้หลายๆ พื้นที่ของอินเดียนั้นมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศแต่ละพื้นที่ ตอนเหนือของอินเดียนั้นอยู่ในเขตหนาว ขณะที่ตอนใต้อยู่ในเขตร้อน วิถีชีวิตของผู้คน ภาษาที่แตกต่าง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาฮินดี ส่วนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในวงราชการและธุรกิจ

นอกจากนั้นยังมีภาษาท้องถิ่นอีกกว่า 3,000 ภาษา ความเชื่อก็แตกต่าง จนมีคำกล่าวกันว่าทุกๆ 100 กิโลเมตรที่รถวิ่งผ่านไป ความเชื่อของคนอินเดียก็เปลี่ยนไปด้วย นี่ทำให้ภาพรวมของอินเดียนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศในลำดับต้นๆ ที่เผชิญกับความท้าทาย ในการรับมือกับความหลากหลาย และก็ยังเป็นประเทศที่ถือว่ามีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตและโอกาสที่เท่าเทียมอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ด้วยระบบชนชั้นวรรณะ

ในอดีตแม้อังกฤษจะสามารถพิชิตดินแดนทั้งหลายในอินเดียไว้ได้ แต่รัฐมหาราชาต่างๆ ที่มีมากมายถึงกว่า 500 รัฐ แน่นอนว่าอังกฤษไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐเหล่านี้ได้ตามข้อตกลงที่ลงนามกันไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐมหาราชาเหล่านี้ยังคงมีภาษา วัฒนธรรม และคติความเชื่อดั้งเดิมของตนเองมาโดยตลอด แม้จะยอมรับการศึกษาสมัยใหม่แบบอังกฤษเข้าไป แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงมัน ฉะนั้น ภายหลังการประกาศเอกราชของอินเดียในปี 1947 ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลในช่วงเวลานั้นต้องเผชิญในการสร้างความเป็น อินเดีย ก็คือความหลากหลายของรัฐมหาราชาเหล่านี้ รวมถึงความหลากหลายของประชาชนในดินแดนแห่งนี้ สุดท้ายการกระจายอำนาจจึงถูกนำมาใช้เพื่อรวมความหลากหลายเหล่านั้นไว้เป็นหนึ่ง

อินเดียเป็นประเทศต้นแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่น่าสนใจ การปกครองและการกระจายอำนาจท้องถิ่นของอินเดียมีพัฒนาการโดยมีพื้นฐานมาจากการปกครองตนเองในระดับหมู่บ้านมาก่อน แต่ก็ยังเป็นการกระจายอำนาจที่ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของจักรวรรดิอังกฤษ อย่างไรก็ตามการให้ความสำคัญกับการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

โดย มหาตมะ คานธี ได้สนับสนุนให้มีการให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจจากหมู่บ้านหรือปัญจญัติ และคานธีวิพากษ์การปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะมันทำลายหัวใจของการปกครองของอินเดียแบบหมู่บ้าน แต่เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงนั้นกังวลต่อประสิทธิภาพในการบริหาร ทำให้ในช่วงแรกของการได้รับเอกราชอินเดียจึงมีรัฐบาล 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐ โดยมีรัฐทั้งสิ้น 28 รัฐ โครงสร้างรัฐของอินเดียเป็นสหพันธรัฐ (Federal State) แต่ใช้คำในรัฐธรรมนูญว่า union state มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รัฐบาลกลางยอมรับในตัวตน ความหลากหลายและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นต่างๆ แต่อยู่บนเงื่อนไขสำคัญคือรัฐเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้ร่มธงสาธารณรัฐอินเดียเท่านั้น

จนกระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 1992 ให้มีการบัญญัติข้อกฎหมายอย่างชัดเจนและมอบอำนาจในทางปฏิบัติแก่เทศบาลและปัญจญัติ หรือสภาหมู่บ้าน โดยหน่วยการปกครองท้องถิ่นของอินเดียมีอิสระในการบริหารสาธารณะ การจัดการและการคลังของท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลาง เป้าหมายประการหนึ่งของปัญจญัติคือมุ่งเน้นให้ท้องถิ่นอินเดียมีงบประมาณ มีโครงการดูแลคนในชุมชนเองได้ ทำให้คนในพื้นที่สามารถเป็นหุ้นส่วนในการจัดการประเด็นสาธารณะในเมืองได้

นอกจากนี้รัฐบาลกลางของอินเดียยังระบุชัดเจนว่าจะต้องทำให้แต่ละรัฐร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นในการพัฒนาปัญจญัติของตน และที่สำคัญมีการกระจายอำนาจทางการคลัง รัฐบาลกลางให้อำนาจรัฐบาลท้องที่พัฒนาเศรษฐกิจของตนเองได้ รัฐบาลท้องถิ่นสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเองได้ ส่วนในระดับประเทศ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแผนการจัดการจากท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางจะสนับสนุนงบประมาณให้ 2 ส่วน คือ ส่วนกลางจัดสรรงบพื้นฐานให้และงบประมาณตามศักยภาพการพัฒนาของรัฐท้องที่นำลงไปพัฒนาท้องถิ่น

ในอินเดียมีการอนุญาตให้ปัญจญัติสามารถเก็บภาษีในพื้นที่ของตนเองได้ สามารถบริหารงบประมาณในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตนได้และมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดเก็บค่าน้ำ ไฟ ภาษี เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถในการบริหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขและระบุไว้ในรัฐธรรมนูญในเรื่องของการเลือกตั้งทางตรงโดยประชาชน ในรูปแบบเดียวกับการเลือกตั้งในระดับชาติและระดับรัฐ มีการสำรองที่นั่งให้กับสตรี คณะกรรมการเลือกตั้งมีบทบาทในการจัดการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการคลังมีบทบาทในการรับประกันความมั่นคงขององค์กรท้องถิ่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ได้อำนวยความสะดวกและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในอำนาจการบริหาร และอำนาจทางการคลังจากหน่วยงานระดับท้องถิ่น

ปัญจญัติหรือสภาหมู่บ้านไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การกระจายอำนาจและการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาชนบทและการสร้างความเข็มแข็งในกระบวนการวางแผนในระดับรากหญ้าได้อีกด้วย คือการออกแบบให้กลุ่มที่เคยถูดกีดกันทางสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ ถึงแม้ว่าอินเดียจะมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ แต่ระบบของอินเดียก็เปิดโอกาสทุกวรรณะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้อย่างเสรีและเท่าเทียม

นโยบายสำคัญของรัฐบาลอินเดียคือ การส่งเสริมและพัฒนาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในทุกชนชั้นวรรณะ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเจริญอย่างยั่งยืนของอินเดีย รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างความสำนึกให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน รัฐบาลหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาเพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความเป็นเอกภาพของสังคมต่างศาสนา 

เน้นการปฏิรูปภาครัฐและเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสร้างงาน สร้างสวัสดิการในชนบทซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ความก้าวหน้าของการปกครองท้องถิ่นก็เกิดจากความเข้มแข็งของภาคประชาชนผ่านระบบปัญจญัติที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งทำให้การกำหนดนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและการจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ

ถึงจะเป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจไปให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่การที่อินเดียกำลังจะกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกนั้น ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นความเสี่ยงสำหรับอินเดียอยู่บ้าง

โดยทั่วไปแล้วการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรควรสร้างแรงผลักดันในการเจริญเติบโตของทรัพยากรในประเทศ และอาจส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจเติบโต รวมไปถึงสังคมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ด้วยลักษณะของประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น ที่ผ่านมาอินเดียต่อสู้กับการพยายามควบคุมจำนวนประชากรมานานหลายทศวรรษ

ในปี 2000 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 3.2 คนต่อผู้หญิง 1 คน ต่อมาลดลงเหลือที่อัตรา 2.3 คนต่อผู้หญิง 1 คนในปี 2016 แต่อินเดียก็ยังมีประชากรในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์เป็นจำนวนมาก เพราะมีเพียง 54% ของคู่รักเท่านั้นที่มีการคุมกำเนิด จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนประชากรอินเดียจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่จำนวนประชากรมากขึ้น  World Inequality Report รายงานว่า ประชากรอินเดียที่ยากจนที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศนั้น ครอบครองทรัพย์สินเพียง 5.9% ของความมั่งคั่งทั้งหมดในอินเดีย

ในขณะที่คนรวยที่สุดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของอินเดียนั้น ควบคุมทรัพย์สินไว้มากถึง 64.7% ของประเทศ การเพิ่มขึ้นของประชากรของอินเดียจะยิ่งเพิ่มจำนวนคนจนในอินเดียมากขึ้นอีก เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้น้อยลง ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น และในระยะยาวยังขยายช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน จากการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ที่ไม่เท่ากัน 

อินเดียมีประชาชนกว่า 800 ล้านคนที่มีสถานะเป็นคนยากจน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทและไม่ค่อยมีงานทำ ไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดและเพียงพอ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้รากสาดใหญ่ และโรคบิด และมีคนอีก 200 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กทั้งหมด 61 ล้านคน ผลก็คือ เมื่อโอกาสในประเทศมีจำกัด คนรุ่นใหม่ก็จำต้องออกไปแสวงหาโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทำให้เกิดภาวะสมองไหล จำนวนประชากรคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อัตราการจ้างงานและอัตราการรู้หนังสือลดลงต่ำมาก โครงการสวัสดิการของรัฐบาลก็ไม่สามารถรองรับประชากรมากมายที่มีรายได้น้อยกว่า 3 ดอลลาร์ต่อวันได้

อินเดียนับเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าอินเดียจะมีอัตราผู้ไม่รู้หนังสือสูงกว่าไทยมากแต่ก็ไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น ประชาธิปไตยหยั่งรากไปทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติลงไปในสถาบันการศึกษาจนถึงในระดับรากหญ้า ที่แม้ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยจดจำรูปภาพหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองที่ตนเองจะเลือก อินเดียจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่น่าสนใจของผลของการกระจายอำนาจที่ช่วยกระตุ้นให้คนทุกชนชั้นวรรณะมีส่วนร่วมทางการเมือง และร่วมมีส่วนในการพัฒนาส่วนท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน

และแม้ว่าเรายังคงเห็นความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำอยู่มากในอินเดีย แต่ตราบใดที่ประชาชนยังให้คุณค่ากับการใช้สิทธิของตน และกระตือรือร้นในการเข้าไปมีส่วนแก้ไขประเทศ เมื่อนั้นประเทศก็ยังมีความหวัง

อ้างอิง

https://sameaf.mfa.go.th/th/content/92062-สาธารณรัฐอินเดีย?cate=5d847df915e39c256c004df3

https://workpointtoday.com/india-population-surpasses-china/
https://www.the101.world/diversity-management-in-india/

https://assets.publishing.service.gov.uk/media/57a08cf240f0b6497400154e/wp199_print.pdf

Authors

  • สาวกรุงเทพ ผู้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภูเก็ต พยายามมีส่วนในการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในประเทศนี้ด้วยการเป็นอาสาสมัคร NGO อยู่หลายปี ใฝ่ฝันว่าอยากจะเห็นภูเก็ตมีระบบขนส่งสาธารณะดีๆ และอยากเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเองบ้าง

  • ชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก วาดภาพเป็นอาชีพ แนวถนัดคืออบอุ่นพาสเทล แต่เมื่อต้องมาวาดงานหนักๆ สังคมการเมือง เธอข้ามรสนิยมตนเองอย่างมืออาชีพ เพื่อแมวสุดที่รัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *