นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ปกครองรัฐต่างๆ ภายใต้ระบอบเผด็จการและมีการประกาศเอกราชของ 15 สาธารณรัฐ หนึ่งในนั้นคือ จอร์เจีย
จอร์เจียเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี มีเมืองหลวงที่ชื่อว่า กรุงทบิลิซิ (Tbilisi) ประเทศนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามใกล้แม่น้ำ Mtkvari มีอาณาเขตของประเทศในทิศต่างๆ ทะเลดำ (Black Sea) ประเทศตุรกี (Turkey) อาร์เมเนีย (Armenia) อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) และรัสเซีย (Russia) แม้ว่าในหลายศตวรรษที่จอร์เจียถูกปกครองโดยชนชาติต่างๆ รวมถึงการที่ผนวกจอร์เจียเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต แต่จอร์เจียยังคงความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่าง 2 ทวีปไว้ได้อย่างลงตัวและที่ถูกเรียกว่า ประเทศ 2 ทวีป (ทวีปเอเชียกับทวีปยุโรป) จอร์เจียเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียอีกด้วย
แต่เมื่อปี 1991 จอร์เจียได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต และปกครองโดยระบอบประธานาธิบดี เป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล (ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี) ผ่านการเลือกตั้ง และนายกรัฐมนตรีของประเทศแบ่งกันดูแลจอร์เจีย
พอหลังจากจอร์เจียเริ่มการปกครองตนเอง ต้องพบกับปัญหาความขัดแย้งด้านเชื้อชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งปัญหาคนพลัดถิ่น และปัญหาอื่นๆ ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการการเมืองท้องถิ่นในประเทศ
ดูเหมือนว่าอุปสรรคในการพัฒนาประเทศนั้นมีมากกว่านั้น อุปสรรคที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยพบคือ คอร์รัปชัน ในช่วงเวลานั้นจอร์เจียเป็นที่เลื่องลือในเรื่องคอร์รัปชันในการบริหารและจัดการประเทศโดยเฉพาะในกองตำรวจ
อันเป็นผลมาจาก การปฏิวัติดอกกุหลาบ (Rose Revolution) ในปี 2003 เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการประท้วงที่ประชาชนลุกขึ้นถกเถียงต่อการเลือกตั้งรัฐสภาที่มีข้อโต้แย้งที่น่ากังขาของรัฐส่วนกลาง เพราะประชาชนมีความไม่พอใจต่อระบอบการปกครองจอร์เจียหลังโซเวียตที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีการคอร์รัปชันถึงจุดสูงสุดในการเลือกตั้ง และจบลงด้วยการลาออก ของ ประธานาธิบดี นายเอดูอาร์ด เชวาร์ดนาดเซ่ (Eduard Shevardnadze) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียต โดยผู้ประท้วงนำโดย นายมีเคอิล ซาคัชวีลี ที่เข้าไปในรัฐสภาพร้อมดอกกุหลาบสีแดงในมือ เเละเขาได้มาเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นไม่นาน จอร์เจียได้เริ่มกระบวนการปฏิรูปโดยการไล่ตำรวจที่มีอยู่ทั้งหมดออกและสร้างกองกำลังตำรวจใหม่ กลายเป็นหนึ่งในสถาบันที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประเทศ ที่ส่วนกลางเริ่มต้นด้วยไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 30,000 นาย เพื่อสร้างกองกำลังที่ปลอดจากการทุจริตขึ้นใหม่ ตำรวจประมาณ 85% หรือประมาณ 15,000 นายภายใน 1 วัน และเริ่มจ้างพนักงานใหม่ คือก้าวสำคัญที่รัฐดึงเอาปัญหาออกมาทั้งหมดและใส่สิ่งใหม่เข้าแทนที่
นอกจากนี้จอร์เจียได้จัดทำบันทึกการจับกุมข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน และนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทางสื่อสาธารณะ ไม่เงียบเฉยให้รอนาน หรือ แค่บอกกับประชาชนว่า “กำลังดำเนินการอยู่” … และทำการปรับรูปแบบการบริหารใหม่ด้วยการลดคนและลดหน่วยงานที่ไม่จำเป็น และหันไปให้บริการออนไลน์ โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 35 ในระดับกระทรวง
มากไปกว่านั้นส่วนกลางมีแนวทางการดึงดูดคนเก่งมีความสามารถสูงให้มาทำงานภาครัฐ เน้นความโปร่งใสและค่าตอบแทนที่น่าประทับใจมาร่วมพัฒนาประเทศ
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนี้จะสร้างความขัดแย้งและความคิดต่างในสังคมอยู่บ้าง แต่จอร์เจียมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายที่เปิดรับสิ่งใหม่ในเป้าหมายที่ดีกว่า ด้วยการเปลี่ยนวิธีการใหม่ๆ
โดยนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย นายอิราคลี การิบาชวิลี (Irakli Garibashvili) ในขณะที่เขากล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม Local Self-Governance – Best Practice 2015
การประชุมนั้นมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ของการปฏิรูปการกำกับดูแลตนเองในท้องถิ่นที่จอร์เจียได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีการิบาชวิลีกล่าวขอบคุณการปกครองตนเองในท้องถิ่นทั่วจอร์เจีย ขณะนี้มีกลไกและอิสระในการดำเนินโครงการต่างๆ ในท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศอย่างยิ่ง
“ที่จอร์เจียเคยเป็นระบบการบริหารเป็นกระจุกอำนาจศูนย์กลางเดียว แต่ครั้งนี้คือการที่จอร์เจียกล้าเปลี่ยนแปลงระบบนี้ เราเป็นรัฐบาลที่กล้าเปลี่ยนแปลงระบบและเลือกการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น”
เพื่อลดความเลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตในภูมิภาคต่างๆ และเพื่อส่งเสริมให้ประชากรในท้องถิ่นยังคงอยู่ในภูมิภาคของตน สร้างแรงจูงใจที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาค ด้วยเป้าหมายของจอร์เจียที่จะกำจัดความเลื่อมล้ำนี้ ยังคงดำเนินการและอยู่ในแผนการพัฒนาชาติจนถึงปัจจุบัน
ในเดือนตุลาคมที่ผ่าน ประธานาธิบดีจอร์เจียคนปัจจุบัน นางซาโลเม ซูราบิชวิลิ (Salome Zourabichvili) ที่ได้กล่าวปราศรับในการประชุมนานาชาติที่จอร์เจียต่อหน้าตัวแทนหลากหลายประเทศ อย่าง แคนาดา อิสราเอล สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ ว่า
“เพื่อความเข้มเเข็งทางประชาธิปไตยในจอร์เจียนั้น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ ดังนั้นหลักปฎิบัติต้องเกิดขึ้นจริง ทั้งด้านการเงิน การส่งต่ออำนาจในการจัดการทรัพย์สิน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตัดสินใจและการจัดสรรงบประมาณ”
มุมมองของนางซาโลเมนั้นได้แสดงออกถึงการให้อิสระเสรีภาพสู้ท้องถิ่นที่ช่วยให้รัฐสามารถให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น พร้อมปรับปรุง ด้วยความยั่งยืนและเป็นแนวทางที่ดีขึ้นในวิสัยทัศน์ร่วมกันของการปกครองตนเองในท้องถิ่น
ด้วยหลายองค์ประกอบแห่งการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ การปฏิวัติกุหลาบ (Rose Revolution) มีผลทำให้จอร์เจียถูกกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่ต่อสู้กับคอรัปชันได้อย่างมีชัยชนะ จนกระทั่งจอร์เจียถูกระบุว่า ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index; CPI) อยู่ในลำดับที่ 45 จาก 180 ประเทศ ปี 2021 ที่รายงานโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) จากลำดับ 124 จาก 133 ประเทศ ที่ต่ำเรี่ยดินในปี 2003
แม้ว่าจอร์เจียไม่ได้มีต้นทุนของชาติดีเท่าไรเพราะแตกออกมาจากสหภาพโซเวียต แต่ด้วยมาตรการในการปฏิรูปของจอร์เจียที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จในการจัดการกับคอร์รัปชันที่ได้นำเอากลยุทธ์และวิธีการของประเทศอื่นๆ ที่เกิดผลจากการปราบคอร์รัปชันได้ดี และนำไปปฎิบัติได้จริงเพียงแค่เปิดรับวิธีการแบบอื่นและทำต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน
เพื่อการพัฒนาและเพื่อประชาชน นับว่าเป็นประเทศที่ประเทศไทยสมควรเอาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศจริงๆ
อ้างอิง
Georgian president says local self-government “crucial” for Georgia’s future to be democratic, strong
นายกรัฐมนตรี นายอิราคลี การิบาชวิลี
PM Garibashvili sums up Georgia’s local self-governance reform
Georgian PM announces new wave of local self-government reforms
Seizing the moment: rebuilding Georgia’s police
The Rose Revolution: One Year Later
Assistance to the national and local authorities of Georgia to promote a nation-wide policy reform of decentralization and local self-governance
บทเรียนการสร้างชาติจอร์เจีย : มือปราบคอร์รัปชันที่เก่งที่สุดในโลก โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน แคนดู)
CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX GEORGIA