ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID 19 นั้น หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาหลายด้าน รวมไปถึงด้านการศึกษา โรงเรียนต้องปิดตัวลงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค โดยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนมาเรียนออนไลน์
หลายประเทศนี่อาจเป็นการปรับตัวที่ไม่ยากจนเกินไป เพราะประชากรมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี และการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความท้ายทายครั้งใหญ่ในการปรับตัวนี้ และกลายเป็นวิกฤตของประเทศเมื่อมีเด็กมากมายหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากขาดความพร้อมในการรองรับโลกของการเรียนออนไลน์
โดยเฉพาะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำและยากจน ประชาชนในบางพื้นที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาแบบใหม่นี้ รวมถึงบุคลากรการศึกษาก็ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
ประเทศอินเดียเองเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาด้านการเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนมาช้านาน เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดียเดียเป็นประเทศที่ยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างยิ่ง ด้วยประชากรจำนวนมากมายมหาศาลและความหลากหลายของประชากร ทั้งในแง่ของสังคมศาสตร์และภูมิศาสตร์ แม้จะมีความพยายามมายาวนานในการลดช่องว่างเหล่านี้ลง ด้วยนโยบายของหลายรัฐบาลมาตลอดยาวนาน
ถึงอย่างนั้นอินเดียก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะการพัฒนาในด้านการศึกษา อัตราการรู้หนังสือในประเทศอินเดียนับเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะมีโครงการจากรัฐบาลต่าง ๆ แต่อัตราการรู้หนังสือในประเทศอินเดียนั้นถือว่าเพิ่มขึ้นแค่เพียง น้อยนิด เท่านั้น จากการสำรวจโดยกระทรวงพัฒนาเด็กและสตรีอินเดีย พบว่า
ประชากรชาวอินเดียในปี ค.ศ. 2020 มีทั้งหมด 1.39 พันล้านคน แต่วัยรุ่นกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอินเดีย ไม่สามารถจบการศึกษาระดับมัธยมได้ ขณะที่นักเรียนจำนวนกว่า 20 ล้านคน ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลในระบบเสียด้วยซ้ำ รายงานจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ซึ่งทำการศึกษาวิจัยร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ พบว่า
เด็กจากครอบครัวยากจนมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ล้าหลังเพื่อนในวัยเดียวกัน ขณะที่มีครัวเรือนอินเดียเพียง 24 % เท่านั้น ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และห้องเรียนออนไลน์ ที่หมายรวมถึงระบบ e-learning ทั้งหมดในอินเดียได้ แม้แต่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ นักเรียนในโรงเรียนเทศบาลและโรงเรียนรัฐมากกว่า 1.6 ล้านคน ก็ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนสำหรับเรียนออนไลน์ ในจำนวนนักเรียนอินเดียทั่วประเทศที่มีอยู่ทั้งหมด 320 ล้านคนนั้น มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ในช่วงโรงเรียนปิดที่ผ่านมา
ตัวเลขอันน่าตกใจนี้ทำให้เราสามารถเห็นได้ว่า การกระจายการศึกษาให้ทั่วถึงในระบบการศึกษาของอินเดียประสบปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน อีกทั้งข้อมูลจากสำนักงานสำรวจกลุ่มตัวอย่างแห่งชาติอินเดียในสังกัดกระทรวงสถิติ พบว่า มีนักเรียนอินเดียราว 32 ล้านคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศ
และในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจที่แน่ชัดเพียงพอว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น มีนักเรียนอีกกี่คนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาสืบเนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาส และความพร้อมทางเศรษฐกิจที่จะศึกษาต่อได้ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหาทางการศึกษาของอินเดียเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำอย่างหนักหน่วงเป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและโลกดิจิทัล
ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้เด็กหลายล้านคนทั่วประเทศหายไปจากระบบการศึกษาหลักของประเทศ เป็นอันตรายต่อภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอินเดียในระยะยาว รวมไปถึงในประเทศอินเดียมีช่องว่างระหว่างเพศ อัตราการรู้หนังสือของอินเดียจากจำนวนผู้รู้หนังสือที่น้อยนิดนั้น สัดส่วนตัวเลขของผู้ชายอยู่ที่ 82.14% และผู้หญิงอยู่ที่ 65.46% อัตราการรู้หนังสือที่ต่ำในผู้หญิงอินเดียนั้นส่งผลร้ายแรงต่อการวางแผนครอบครัว งานวิจัยพบว่าการรู้หนังสือของผู้หญิงเป็นปัจจัยสำคัญของการคุมกำเนิดในคู่สมรสชาวอินเดีย การไม่รู้หนังสือกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ อย่างชัดเจนทำให้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เราอาจสรุปได้ว่า ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่ออัตราการรู้หนังสือของอินเดียนั้น สาเหตุสำคัญคือความไม่เสมอภาคในสังคม ส่งผลต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา คุณภาพและการมีอยู่ของโรงเรียนในเขตชนบทและถิ่นทุรกันดาร ประเทศอินเดียเคยประสบปัญหาห้องเรียนขาดแคลนไม่เพียงพอต่อประชากร นอกจากนี้ ในหลายโรงเรียนยังขาดการรักษาความสะอาดที่เหมาะสม
จากการสำรวจโรงเรียนประถมของรัฐบาล 188 แห่งในอินเดียเหนือและกลาง พบว่า 59% เข้าไม่ถึงน้ำสะอาด และ 89% ไม่มีสุขาในโรงเรียนในกว่า 600,000 หมู่บ้านและสลัมในเขตเมืองที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นเป็นขั้นตอนพื้นฐานของการรู้หนังสือที่ดำเนินการโดยครูที่แทบจะไม่ได้ผ่านการคัดกรอง ซึ่งเรียกกันว่า ครูพารา (‘para teachers’) อัตราส่วนนักเรียนต่อครูโดยเฉลี่ยในอินเดียอยู่ที่ ครู 1 คนต่อนักเรียน 42 คน
แสดงให้เห็นถึงการขาดแคลนทรัพยากรครูอย่างชัดเจน การขาดทรัพยากรครูนั้นส่งผลให้เกิดโรงเรียนที่ไม่มีมาตรฐาน อันส่งผลให้อัตราการรู้หนังสือยิ่งเกิดความต่างมากขึ้นไปอีก รวมถึงการแบ่งแยกวรรณะอย่างรุนแรงก็ยังมีอยู่ในสังคมอินเดียและความไม่เท่าเทียมทางเพศ
และเมื่อตระหนักว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีทั้งหลายคือตัวช่วยสำคัญในการจัดการกับความไม่เสมอภาคทางการศึกษานี้ให้เบาบางลงได้ หน่วยงานเอกชนและองค์กรท้องถิ่นชุมชนจึงเข้ามามีบทบาท หันมาจับมือกันใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหา แต่โครงการเกือบทั้งหมดที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาติดขัดจากปัญหาการเมืองในท้องถิ่นและโครงสร้างการบริหารของหน่วยงานราชการ
หลายองค์กรเอกชนและชุมชนท้องถิ่นจึงใช้ช่วงเวลานี้เรียกร้องให้บรรดานักการเมืองและรัฐบาลอินเดียหันมาสนับสนุนมาตรการและนโยบายที่จะฟื้นฟูระบบการศึกษาของอินเดียได้ทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการออกแนวทางช่วยเหลือฟื้นฟูการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กยากจนของอินเดียหลุดจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้ โดยทางหน่วยงานเอกชนและเอ็นจีโอทั้งหลายต่างแสดงจุดยืนยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลลัพธ์จากความร่วมมือครั้งนี้เดิมพันด้วยอนาคตของอินเดียทั้งประเทศ
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอินเดีย นาเรนดรา โมดี ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ไว้ในเดือนมกราคม ปี 2561 โดยเปิดตัวนโยบายใหม่ของอินเดียโดยชูนโยบาย อินเดียใหม่ หรือ New India ซึ่งเป็นการปฏิรูปประเทศอินเดียในทุกมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมอินเดียในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งการประกาศเอกราชในปี 2022 นี้
โดยนโยบายใหม่ของอินเดียนี้ เริ่มต้นจากการเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นายโมดีย้ำว่า การพัฒนาครั้งนี้ต้องให้ประชาชนทุกคนของอินเดียได้รับประโยชน์จากการพัฒนาบนรากฐานของประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยสันติภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ แนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาครัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาจากการที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ของอินเดียจำนวนมาก เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้นโยบายนี้ คือ “1B x 1B x 1B” หรือ “1B Trinity” ซึ่ง 1B ย่อมาจาก 1 Billion คือจำนวน 1 พันล้านนั่นเอง
1 พันล้านแรก หมายถึง เป้าหมายที่จะทำให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงระบบสถาบันการเงินอย่างเป็นทางการผ่านการเข้าถึงบัญชีเงินฝากจำนวน 1 พันล้านบัญชี โดยต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เงินฝาก 1 พันล้านบัญชีจึงเป็นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสภาวะ Financial Inclusive ขึ้นในประเทศอินเดีย
1 พันล้านที่สอง หมายถึง 1 billion Digital Biometric Identity หรือการสร้างฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลดิจิทัลให้ครบ 1 พันล้านประชากร ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลลายนิ้วมือ หมู่เลือด รูปพรรณสัณฐาน เพื่อป้องกันปัญหาการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลปลอมในการเปิดบัญชีธนาคารหรือการทำธุรกรรมอื่นๆ กับระบบสถาบันการเงิน
และ 1 พันล้านสุดท้าย หมายถึง การสนับสนุนให้ประชาชนจำนวน 1 พันล้านคนสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone นั่นจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลและบริการต่างๆ บนโลก Online ผ่าน Applications ต่างๆ พัฒนาองค์ความรู้เท่าทันโลก รวมไปถึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียน ซึ่งปัจจุบันประชาชนอินเดียกว่า 500 ล้านคนมีโทรศัพท์มือถือ และคาดว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งที่เป็นระบบ Smart phone
ในเดือนพฤษภาคม 2562 โมดีชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ชัยชนะในการเลือกตั้งนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแนวทางการพัฒนาอินเดียภายใต้การนำของเขา การยอมรับและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเช่นนี้ ทำให้ทิศทางของยุทธศาสตร์อินเดียใหม่ (New India) ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศขนานใหญ่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติ
แนวคิดและเป้าหมายที่สำคัญของอินเดียใหม่เน้นการพัฒนาแบบองค์รวม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนพร้อมกับส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ และเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการวางแผนยุทธศาสตร์ ร่วมกับผู้แทนกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในสังคม 7 กลุ่มคือ นักวิทยาศาสตร์และผู้คิดค้นนวัตกรรม เกษตรกร องค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนภาคแรงงาน ผู้แทนสหภาพการค้า และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และได้หารือร่วมกับทั้งหน่วยงานในรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
ซึ่งรัฐบาลและองค์การปกครองท้องถิ่นมีบทบาทอย่างยิ่งในการกำหนดแผนการพัฒนาในพื้นที่ รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ คือ กลุ่มโครงการกลุ่มการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นแก้ปัญหาที่บั่นทอนการพัฒนาศักยภาพประชาชน ภายใต้ 3 ประเด็นหลักคือ การศึกษา สุขภาพ การช่วยเหลือผู้ถูกแบ่งชนชั้นสังคม โดยเน้นการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้คนทุกกลุ่มมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และสร้างศักยภาพให้กลุ่มคนวรรณะชั้นต่ำ ให้ความสำคัญกับคนชายขอบด้วยการให้การศึกษา ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้คนชายขอบได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วม และส่งเสริมความตระหนักรู้ในสังคม
สิ่งเหล่านี้รัฐบาลอินเดียตระหนักดีว่าไม่สามารถทำได้โดยภาครัฐเท่านั้น การกระจายอำนาจและการทำงานในภาคท้องถิ่น รวมถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาสภาพความเหลื่อมล้ำที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงควรเป็นการผลักดันให้นักเรียนสามารถกลับสู่ห้องเรียนได้ในเร็ววัน
สลับกับการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ที่ต้องผลักดันให้นักเรียนที่ด้อยโอกาสมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึง การจะดำเนินมาตรการเหล่านี้ได้จำเป็นต้องเรียกร้องให้องค์การบริหารส่วนพื้นที่ในแต่ละเขตชุมชนและองค์กรอิสระต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอินเดียจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยให้นักเรียนในชุมชนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาและได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึง
ส่วนกลางไม่สามารถทำได้ลำพัง สภาพปัญหาที่เรื้อรังมาเป็นเวลาหลายสิบปีนี้ของอินเดียไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จำเป็นที่จะต้องกระจายความเหมาะสมของงบประมาณดังกล่าวเพื่อนำไปพัฒนาจุดที่ขาดแคลนด้วยความสมเหตุสมผล เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบการศึกษาในภาพใหญ่ระดับประเทศด้วย
ด้วยความร่วมมือเหล่านี้และการดำเนินการอย่างมีเป้าหมายชัดเจนอย่างต่อเนื่อง เราคงได้เห็นการพัฒนาไปในทิศทางที่ก้าวหน้า ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลกและด้วยศักยภาพของประเทศอินเดีย
หากสามารถจัดการแก้ไขปัญหาสำคัญเหล่านี้ได้ ก็คงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นอินเดียกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่สำคัญของโลกได้ในที่สุด
อ้างอิง
https://www.csdi.or.th/2020/09/public-report-24/
https://mgronline.com/daily/detail/9610000024772
https://www.thaiindia.net/about-india/overview/item/3559-new-india-2022.html
https://www.thaiindia.net/knowledge/2014-12-30-14-09-50/item/3951-New-India-One-Year.html