สมรสเท่าเทียมบนเส้นด้าย

“การที่สมรสเท่าเทียมผ่านพร้อมกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตอีก 3 ร่าง ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาติดตามการทำงานตามกระบวนการนี้ต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการต่อสู้ในสภาฯ คือการสร้างความเข้าใจทางสังคม แม้ว่าในตอนนี้จะมีแรงสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องทำงานในการสื่อสารต่อไปค่ะ”

ดร.อันธิฌา แสงชัย

เราสัมภาษณ์มุสลิมคนหนึ่ง โดยถูกขอให้ใช้คำว่า เรื่องเล่าจากอิสลามคนหนึ่งที่ถูกมองว่าเติบโตมาอย่างผิดแปลก และย้ำว่า ไม่ใช่คนที่มีทฤษฎีวิชาการทางศาสนา เพียงพูดในมุมมองของปัจเจก


“เกิดมาในครอบครัวที่เป็นอิสลาม เอกสารราชการระบุว่านับถือศาสนาอิสลาม แต่เราเองคงไม่อาจกล่าวได้ว่าตนเป็นมุสลิมที่ดีหรือถูกต้อง จากประเด็นถกเถียงก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์กันไปมากมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องปัจเจกล้วนๆ แต่เมื่อมีการขยายความกันออกไปกลับมีผู้คนที่บอกนับถือศาสนาอิสลามแบบเราเข้ามาพิพากษาเราอย่างใจดำ


“บางคนบอกให้ออกจากศาสนาก็มี สำหรับเราแล้วนี่คือที่มาของการหล่อหลอมให้เราเป็นเรา นอกจากการเป็นอิสลาม เรายังอยากเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจด้วยเช่นกัน ยอมรับว่าบางทีก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมสังคมมุสลิมเราต้องอยู่กันด้วยความเกรงกลัวคนมุสลิมกันเองขนาดนี้ ทำไมถึงผลักคนที่มีความเห็นต่างออกมาขนาดนี้


“ถามว่าครอบครัวอิสลามที่มีความก้าวหน้ามีมากมั้ย อันนี้ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้จริงๆ แต่ดูจากปริมาณคนที่มาคอมเมนต์หรือทัก inbox มาบอกว่า เราเข้าใจคุณมากๆ นะ เขา relate กับมุมมองของเรา หรือโตมาแบบคล้ายๆ กัน


“ก็พอตอบได้ว่ามีคนที่เติบโตมาด้วยประสบการณ์คล้ายๆ กันอยู่ สำหรับเราไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่พวกเขาอาจตกใจที่เราพูดหรือกลัวแทนเราด้วยซ้ำ และขอบคุณมิตรภาพของมุสลิมอีกหลายคนที่โอบรับเราไว้


“ถามว่าเติบโตมาอย่างไร เราโตมาในครอบครัวค่อนข้างเปิดกว้างนะ มีอิสระทางความคิด ทุกเย็นบนโต๊ะอาหารที่บ้านคือพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางสังคม การเมือง ถ้าถามว่าความก้าวหน้าเกิดขึ้นเมื่อไร และเกิดขึ้นได้อย่างไรคำตอบคือ มื้อเย็นในครอบครัว ที่จริงก็ไม่อยากใช้คำว่าก้าวหน้าหรืออะไรแบบนั้นนะ


“เพราะมันควรเป็นความปกติมากกว่าในการเปิดโอกาสให้ได้สงสัย ตั้งคำถาม และแลกเปลี่ยนความเห็น เราเชื่อว่าในยุคที่ศิลปวิทยากรและวิทยาศาสตร์ในโลกมุสลิมที่เคยรุดหน้ามากที่สุด ซึ่งหลายอย่างเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ก็มาจากการสงสัยและตั้งคำถาม


“เราถูกสอนเสมอว่าสังคมต้องเดินไปข้างหน้า เราเองต้องยอมรับพัฒนาการและปรับตัว ชีวิตทางสังคมมีหลายมิติและซับซ้อนมาก พ่อแม่ไม่เคยสอนว่าต้องปฏิบัติตามและเชื่อในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ เขาสอนให้เราคิดและเลือกเองมากกว่า ตั้งแต่เด็กเราก็สนใจสังคมเพราะมันเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยน หลากหลาย ไม่ตายตัว และทดลองเองไปเรื่อยๆ


“พูดมาถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีอิสระซะจนเลยกรอบของวิถีวัฒนธรรมนะ การเติบโตของคนคนหนึ่งมันต้องถูกตักเตือน ชี้แนะ ชี้นำให้อยู่ในร่องในรอยอยู่แล้ว
ดังนั้น อาจพูดได้ว่าเราเติบโตมาด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่การบังคับให้ทำ”


เราถามถึงศาสนากับการเมือง

“แน่นอนศาสนาและการเมืองคงไม่อาจแยกกันได้อย่างเด็ดขาด อิทธิพลของศาสนามีผลทางการเมือง และมีมานานกว่าพัฒนาการทางการเมืองใหม่ๆ หลายอย่าง การเมืองเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตทางสังคม ภายในความจริงตรงนี้มีหลายอย่างทับซ้อนกันมั่วไปหมด ศาสนาก็คืออีกมิตินึง ที่มีอิทธิพลมากๆ เพราะมันอยูใกล้คน ใกล้มุมมอง วิธีคิดในการมองเวลา มองสังคม และกำหนดศีลธรรม เราหนีการทับซ้อนกันของศาสนากับการเมืองไม่ได้หรอก


“อาจมีแค่ว่าวัฒนธรรมของศาสนาแบบไหนปรับเข้ากับระบบการเมืองแบบไหนได้กลมกลืนกว่ากัน แต่ส่วนมากเราก็ต้องเจอกับความหลากหลาย ไม่ใช่หลากหลายแค่ศาสนาด้วยซ้ำ จุดสำคัญคงอยู่ที่การเรียนรู้ไปพร้อมกันของผู้คนในฐานะสังคม มันคงไม่มีสูตรสำเร็จของการ organize สังคมหรอก ผู้คนต่างหากที่ต้องเรียนรู้ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ และควรร่วมกันอย่างเสมอภาค มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันคือการทดลองไปเรื่อยๆ


“ร่างกฏหมายเอย ข้อเสนอบนท้องถนนเอย การถกเถียงในห้องเรียนหรือโต๊ะอาหารเอย เรามองว่ามันคือการทดลองนะ สังคมต้องลองดู ลองรับ ลองปรับ ลองเดินไป แล้วคุยกัน เรียนรู้จากบทเรียนที่ผิดพลาด ถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่ดีงาม แต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายของการอยู่ร่วมกัน แน่นอนเรากำลังพูดถึงเรื่องที่มันใช้เวลา มันอาจเป็นยุคสมัยเกินหนึ่งช่วงอายุคนหรือเราอาจตายไปแล้วก็ได้กว่าจะเห็นพัฒนาการสักเรื่องหนึ่ง


ช่วงนี้มีกระแสคนต่างจังหวัดอยากเลือกผู้ว่าฯ ของตนเอง เพราะเห็นความสามารถของคุณชัชชาติ มีกระแสอยากให้ปฏิรูปอำนาจท้องถิ่น


“เรารอเวลานี้มานานมาก เวลาที่ผู้คนสนใจและตื่นตัวในสิทธิทางการเมืองในท้องถิ่นตนเอง เราเคยสงสัยว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่ย้ายมาจากภาคอื่นๆ จะเข้าใจบ้านเราได้ยังไง เขาจะรู้ได้ยังไงว่าบ้านเรามีวิถีและอัตลักษณ์อย่างไร บางคนนั่งก้นไม่ทันร้อนก็ย้ายไปแล้ว ไม่มีอะไรที่สามารถคิดถึงการพัฒนาที่ต่อเนื่องระยะยาวได้เลย แถมยังมานั่งซ้อนกับ อบจ. เสียอีก


“เชื่อว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารเมืองควรมาจากการเลือกตั้ง มีโครงสร้างเดียวก็พอ หลักอยู่ตรงนี้ก่อน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรก็ไปว่ากันมาให้จบ เข้าใจว่าตอนนี้มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า จะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค หรือจะให้มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งโดยยังไม่แตะโครงสร้างในแบบปัจจุบัน


“สำหรับเรา การกระจายอำนาจมันไม่ใช่แค่เรื่องของงบประมาณ แต่คือศักดิ์ศรีของผู้คน บ้านเรา เราต้องมีสิทธิ์เลือกและออกแบบกำหนดทิศทางว่าควรไปทางไหน ไม่งั้นคนก็ต้องแห่กันไปกระจุกอยู่ในเมืองที่เจริญกว่าแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะให้ท้องถิ่นเจริญมันไม่น่าจะยากขนาดนี้


“อีกอย่างคือ มันมีความแปลกประหลาดของจังหวัดพัทลุงคือ พัทลุงมีทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท นั่นคือ เกาะสี่ เกาะห้า ที่มีการสัมปทานรังนกนางแอ่น ปัจจุบันค่าอากรรังนกนางแอ่นหักเข้ากับ อบจ.อยู่แล้ว เป็นจังหวัดที่หาเงินได้เยอะ แต่เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แค่ไหน รูปธรรมก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเรายังอยู่ห่างไกลจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้อีกมากในเรื่องของการพัฒนา


“คำตอบคือการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือจะเรียกอะไรก็ตาม แต่คือผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นกลไกสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ในจังหวัดได้เยอะ ประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้ ต้องเริ่มที่ให้เขาเลือกคนบริหารท้องถิ่นเขาก่อน ไม่ใช่มีข้อจำกัดเต็มไปหมด จะหาวัคซีนสุนัขบ้ามาฉีดก็ยังต้องกลัวว่าท้องถิ่นทำได้ไหม สตง.จะเล่นงานหรือไม่ ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงการกระจายอำนาจและเคมเปญต่างๆ เยอะขึ้นคึกครื้นดี รู้สึกมีความหวัง


“แต่มันก็จะมาพร้อมความท้าทายใหม่ๆ อีกเยอะนะ เพราะการเมืองในท้องถิ่นนี้ก็เป็นแดนสนธยาเหมือนกัน แต่อย่างน้อยประชาชนจะได้มีส่วนร่วม และถ้าสามารถสร้างกลไกตรวจสอบที่เปิดเผยโปร่งใสได้ท้องถิ่นไปไกลแน่ เดี๋ยวนี้ยิ่งง่าย เทคโนโลยีพร้อมหมดแล้ว Open Data, Open Government ทำได้หมด อยู่ที่ว่าจะจริงใจแค่ไหน แต่เชื่อนะว่า กทม.ในยุคของคุณชัชชาติจะทำเรื่องนี้ให้เห็นเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นอื่นๆ เดินตามได้ ส่วนรัฐบาลนี้ไม่ค่อยหวังสักเท่าไหร่”


กลับมาที่สมรสเท่าเทียม มีอะไรต้องกังวลอีกบ้าง แม้ผ่านวาระแรก

“ต้องยอมรับกันบนพื้นฐานของความเป็นจริงว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจจะไม่ง่าย ในทางการเมืองมีความเป็นไปได้หลายแบบ แม้จะผ่านวาระ 1 มาแล้ว แต่ในวาระที่ 2 อาจถูกสอดไส้ หรือไม่ก็อาจถูกคว่ำไปในวาระที่ 3 ก็ได้ เพราะมีการนำกฎหมายคนละหลักการ คนละเนื้อหาเข้ามาประกบกัน เราคิดว่าเป็นความจงใจทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายผิดเพี้ยนไปตั้งแต่ต้น


“เพราะสมรสเท่าเทียมคือการแก้กฎหมายแพ่ง เพื่อรับรองสิทธิพื้นฐานของคนทุกคนให้มีเหมือนกัน แต่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของรัฐบาล คือเสนอกฎหมายใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้ใช้หรือไม่ใช้ แต่ไม่ได้ยืนยันสิทธิของบุคคลว่ามีเท่ากัน โดยหลักคือต้องว่ากันด้วยสิทธิพื้นฐานที่เท่ากันก่อน จากนั้นจะมีกฎหมายทางเลือกให้เลือกคู่กันไปด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือไม่ได้แย้งกัน แต่จะพูดว่าให้เอาแต่ทางเลือก โดยไม่ต้องเอาสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมก่อน ทั้งที่มีกฎหมายอยู่ตรงนั้นมันจะเป็นทางเลือกที่ตลกมากของสภาไทย


“กระบวนการมันแปลกมาแต่แรก เพราะความจริงสมรสเท่าเทียมเข้าสู่วาระพิจารณาไปแล้วก่อนถูก ครม.อุ้มไป 60 วัน แล้วค่อยเข้ามาใหม่ แล้วอยู่ดีๆ ก็เสนอกฎหมายใหม่เข้ามาเลยจับประกบกันเฉย ก็ไม่รู้ว่าบรรจุวาระเข้ามาแต่แรกได้อย่างไร ตามหลักต่อให้เลื่อนมาก็ไม่น่าพิจารณาร่วมกันได้ เพราะกฎหมายเดิมพิจารณาไปแล้ว แถมเมื่อผ่านก็เอามาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมกันอีก


“โดยเอา ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของรัฐบาลที่เนื้อหาแย่กว่าของพรรคประชาธิปัตย์เสียอีกมาเป็นร่างหลัก ดังนั้น เมื่อกระดุมเม็ดแรกมันติดผิด ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าวาระต่อๆไปจะแก้ไขให้มันถูกไหม ในทางสังคมวันนี้ได้ปักธงความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อยากบอกไปยังสภาฯ นะว่าจะทำอะไรก็คิดให้ดีๆ การเดินไปข้างหน้าของสังคมไม่สามารถหยุดยั้งด้วยมติที่บิดเบี้ยวของสภาฯ ได้ตลอด มันอาจชะลอได้ แต่ผู้คนต้องไปต่อ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว


“ถ้ากฏหมายฉบับนี้ผ่านด้วยหลักการที่ถูกต้อง ผู้คนอีกมากในประเทศนี้เขาจะมีพื้นที่ในสังคมอย่างชอบธรรม เสมอภาค และสมศักดิ์ศรี”

คุณค่าเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรได้ ไม่ว่าจะยืนอยู่บนศาสนาหรือความเชื่อแบบใดก็ตาม

ดร.อันธิฌา (คนขวา)

ดร.อันธิฌา แสงชัย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการคิดเพื่อการพัฒนามนุษย์ หรือสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (จัดพิธีวิวาห์กับคู่รักในงาน นฤมิตไพรด์) ให้สัมภาษณ์ว่า คงต้องขับเคลื่อนกันอีกยาวไกล และจะมีแรงต้านจากหลายๆ กลุ่มปรากฎชัดเจนขึ้นในอนาคต เช่น กลุ่มศาสนาที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวกันแล้ว


“การที่สมรสเท่าเทียมผ่านพร้อมกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิตอีก 3 ร่าง ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาติดตามการทำงานตามกระบวนการนี้ต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการต่อสู้ในสภาฯ คือการสร้างความเข้าใจทางสังคม แม้ว่าในตอนนี้จะมีแรงสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังต้องทำงานในการสื่อสารต่อไปค่ะ”


เราถามถึงกรณีในสภาฯ มีการหยิบยกเรื่องทางศาสนาขึ้นมาอภิปราย ดร. อันธิฌา กล่าวว่า หลักคำสอนในศาสนาต่างๆ รวมถึงชุมชนศาสนามีการถกเถียงทางความคิดอยู่ ซึ่งเราอาจเห็นเฉพาะคนที่เป็นตัวแทนของบางความคิด อย่างที่ได้ยินกันในการอภิปรายของ ส.ส.บางท่าน


“ในชุมชนศาสนิกเองก็มี LGBTIQNA+ ค่ะ ปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ ซึ่งจะถกเถียงกันอย่างไรต่อ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และที่สำคัญ เชิงหลักการแล้วศาสนากับกฏหมายเป็นคนละส่วนกัน สมรสเท่าเทียมเป็นกฏหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนถ้วนหน้า แต่ศาสนาเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าเข้าใจอย่างนี้ไม่ใช่ปัญหาเลยค่ะ เพราะเมื่อมีกฏหมาย คนที่อยากใช้ก็ใช้ คนที่ไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้ ไม่มีใครบังคับ


“กรณีที่ ส.ส. บอกว่าไม่ออกเสียง หรือไม่เห็นด้วย นั่นก็เป็นอภิสิทธิ์ของท่าน สามารถทำได้ตามกระบวนการ ไม่แปลกอะไร เราเชื่อมั่นว่าเหตุผลที่ท่านงดออกเสียงหรือไม่เห็นด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมต่อไป ในขบวนเคลื่อนไหวสมรสเท่าเทียม ก็มีหลายคนที่เป็นศาสนิกนะคะ และมีคนที่เป็นตัวแทนจากชุมชมศาสนาด้วยเช่นกัน”


“มี ส.ส. จากฝั่งรัฐบาลเห็นด้วยกับร่างสมรสเท่าเทียมตรงนี้มองอย่างไรครับ” เราถาม

“น่าสนใจค่ะ มันสะท้อนให้เห็นว่าเสียงของประชาชนมีพลังแค่ไหน มีผลต่อการผลักดันกฏหมายและกดดันนักการเมืองให้ใช้สิทธิอำนาจที่มีไปตามเสียงความต้องการของประชาชน นักการเมืองที่ฉลาด เขารู้ดีค่ะว่าต่อไปข้างหน้าการเมืองแบบประชาธิปไตยคุณต้องฟังเสียงของประชาชน


“และทำงานตามหลักการสิทธิมนุษยชน ตามคุณค่าแบบพหุวัฒนธรรม พหุความเชื่อได้ ที่สำคัญมันสะท้อนว่าแม้คุณมีความคิดเรื่องอื่นแบบอนุรักษนิยม แต่ในบางเรื่องก็สามารถมองเห็นสิ่งที่ก้าวหน้ามากกว่าได้ น่าสนใจค่ะ นั่นแสดงว่าเรายังมีงานต้องทำอีกมากกับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มอนุรักษนิยม”


ดร. อันธิฌา มองว่า นักเคลื่อนไหวเรื่องสมรสเท่าเทียมมองผ่าน พ.ร.บ. คู่ชีวิตไปแล้ว ในความหมาย สู้เพื่อผลักดันสมรสเท่าเทียม ไม่ได้สู้เพื่อกันไม่ให้มีกฏหมายอื่น

“ดังนั้น ถ้าสุดท้ายจะออก พ.ร.บ. คู่ชีวิตมาบังคับใช้ การเคลื่อนไหวก็จะไม่หยุดอยู่ดี พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ใช่คู่แข่งค่ะ แต่จะเป็นคู่เปรียบให้เห็นว่าการกีดกันสิทธิเป็นอย่างไร การเหยียด การไม่ให้คุณค่าความเท่าเทียมเป็นอย่างไร

“ที่จริงมันช่วยสร้างความเข้าใจได้ง่ายขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ ยิ่งคุณทำอะไรที่มันน่าเกลียดออกมา เราเอามาเปรียบกับสิ่งธรรมดาๆ มันกลับทำให้ของที่ธรรมดาสามัญนั้นสวยงามมากขึ้นไปอีก



“เลือกตั้งครั้งหน้าสนุกแน่ค่ะ เพราะสมรสเท่าเทียมจะเฉิดฉายในฐานะของคุณค่าที่สะท้อนในนโยบายของพรรคการเมืองและผู้ลงสมัคร ชุมชน LGBTIQNA+ ตระหนักดีค่ะ และเราเตรียมพร้อมจะจับตามองมากๆ”

การกระจายอำนาจไม่ใช่แค่เพียงกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเท่านั้น ยังหมายถึงการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในทุกๆ มิติ ทุกๆ ประเด็น เรื่องความหลากหลายทางเพศก็เช่นกัน

“สมรสเท่าเทียมอาจจะเป็นต้นแบบการต่อสู้ทางการเมืองที่ชัดเจนมากๆ เรื่องหนึ่งนะคะ เราจะเห็นการเข้าไปคัดง้าง ต่อรองกับรัฐ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องการสมรสและสร้างครอบครัว มันคือเรื่องเดียวกันกับการต่อสู้อีกหลายๆ ประเด็นที่เสียงจากข้างล่าง จะต้องมีพลังมากพอไปสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านบน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฏหมาย”


เราถามว่า หากมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง มีท้องถิ่นที่ยึดโยงกับประชาชน ปัญหาความหลากหลายทางเพศจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ไหม

“น่าสนใจมากค่ะ สิ่งที่มีผลต่อชุมชนหลายหลายทางเพศไม่ใช่แค่นโยบายหรือกฏหมายเท่านั้น แต่การเมืองท้องถิ่นก็ใกล้ชิดกับชีวิตพวกเรามากๆ รวมถึง เด็ก เยาวชน และครอบครัวพวกเราด้วย การที่ท้องถิ่นจะมีนโยบายที่ปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิสวัสดิภาพของชุมชนหลากหลายเพศก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากค

“การเปลี่ยนแปลงกฏหมายนโยบายในภาพใหญ่ ใช้เวลานาน ใช้การต่อสู้และต้นทุนสูง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในชุมชนทำได้ง่ายกว่า เร็วกว่า มีผลกับชีวิตความเป็นอยู่ได้ทันที และสามารถที่จะเป็นแรงผลักดันการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้ค่ะ ดังนั้น การเมืองท้องถิ่นสำคัญมากๆ เช่นกันกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBTIQNA+”

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *