ในนามของพ่อที่ไม่ได้ใช้ระรานใคร และความอยุติธรรมอื่นๆ ในภาพยนตร์

เจอร์รี่ คอนลอน หนุ่มไอริชวัย 20 ผู้มีวิถีชีวิตเหลวไหลไม่เอาการงาน ทั้งก่อเรื่องวุ่นวายและเอาแต่ลักขโมยทรัพย์สินของชาวบ้านไปทั่ว ความคึกคะนองของทั้งเขาและเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันสร้างความเอือมระอาให้แก่ผู้คนในเบลฟาสต์เป็นอย่างมาก

ไอร์แลนด์เหนือในช่วงต้นยุค 70’ เต็มไปด้วยจลาจล การก่อการร้าย และการปะทะกันหลายครั้งระหว่างทหารอังกฤษที่ถูกส่งเข้ามาเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย กับกลุ่มไออาร์เอที่ต้องการปลดแอกให้ไอร์แลนด์เหนือกลับไปเป็นของไอร์แลนด์ เจอร์รี่เติบโตมาในบรรยากาศสภาพสังคมแบบนี้ ใช้ชีวิตอยู่กับเสียงปืนเสียงระเบิดจนกลายเป็นความปกติ อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่อินังขังขอบกับอนาคตของตนเองนัก

วันหนึ่งการขโมยของเจอร์รี่ทำให้เขาถูกเข้าใจผิดจากฝั่งทหารอังกฤษจนต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ความวุ่นวายที่เจอร์รี่ก่อขึ้นกลายเป็นไปขัดขวางแผนการบางอย่างที่ฝั่งไออาร์เอวางเอาไว้ ชาวบ้านบางคนตะโกนบอกผู้นำไออาร์เอให้ยิงเขาทิ้งไปเสียเพื่อตัดปัญหา จน จูเซ็ปเป้ พ่อของเขาผู้เป็นอาจารย์ซึ่งได้รับการนับถือจากชาวเมืองต้องรีบเข้ามาเจรจาขอร้องให้ปล่อยตัวเขาเป็นอิสระ แลกกับคำสัญญาที่ว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่เขาจะก่อเรื่องสร้างความวุ่นวาย

แม้จะช่วยลูกชายให้รอดพ้นจากกระสุนปืนมาได้ แต่จูเซ็ปเป้ก็เล็งเห็นแล้วว่าหากยังปล่อยให้เจอร์รี่อยู่ที่นี่ต่อไปก็คงไม่พ้นลงเอยที่ความตายในวันใดวันหนึ่ง แม้คนในครอบครัวจะทัดทานคัดค้าน แต่สุดท้ายจูเซ็ปเป้ก็ตัดสินใจส่งเจอร์รี่ขึ้นเรือ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ฝั่งอังกฤษ หวังให้ลูกไปหางานทำ ไปอยู่ในเมืองที่ดีกว่านี้ ไปมีชีวิตที่ดีกว่านี้

“ไปเสียเถอะ ไปมีชีวิต นั่นเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดแล้วที่พ่อจะให้แกได้” พ่อฝากกับเจอร์รี่ไว้ก่อนขึ้นเรือ

ทว่าบนเรือนี่เองที่เจอร์รี่ได้พบกับเพื่อนเก่าสมัยเรียนคนหนึ่งที่ชื่อ พอล ฮิลล์ และได้รับคำเชิญจาก แพ็ดดี้ อาร์มสตรอง เพื่อนเก่าชาวไอริชอีกคนให้เข้าไปทำความรู้จักกับสังคมฮิปปี้ในลอนดอน ทำให้จากที่ตั้งใจว่าจะไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านญาติคนหนึ่งที่ชื่อ แอนนี่ แม็กไกวร์ และหางานทำจริงจัง ทั้งคู่บอกแอนนี่ว่าจะขอไปอาศัยกับพรรคพวกชาวฮิปปี้แทน

เจอร์รี่กับพอลเลือกที่จะเที่ยวเตร่เสเพลเรื่อยเปื่อย พอหมดเงินก็กลับไปลักเล็กขโมยน้อยตามเดิม ใช้ชีวิตไปแบบวันต่อวัน

ช่วงเวลานั้นความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ยังคงร้อนระอุ เกิดเหตุระเบิดขึ้นรายวันในหลายจุดของเมือง ทำให้ตำรวจจำกัดวงผู้ต้องสงสัยว่าต้องเป็นหนึ่งในคนไอริชที่อพยพเข้าเมืองมา และในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 1974 ระหว่างที่เจอร์รี่กับพอลเตร็ดเตร่อยู่ในสวนสาธารณะ และต่อมาแอบเข้าไปขโมยเงินในห้องพักของโสเภณีคนหนึ่ง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ผับแห่งหนึ่งย่านกิลฟอร์ด แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 คน และอีก 65 คนได้รับบาดเจ็บ

เจอร์รี่ คอนลอน (ในวัย 21 ปี) พอล ฮิลล์ (21 ปี) แพ็ดดี้ อาร์มสตรอง (25 ปี) และเพื่อนฮิปปี้อีกคนอย่าง แครอล ริชาร์ดสัน (17 ปี) ถูกจับกุมไม่กี่วันหลังจากนั้น อังกฤษในช่วงเวลานั้นมีกฎหมายใหม่ว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้าย (The Prevention of Terrorism Act-POTA) ที่ให้อำนาจแก่ตำรวจในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้สอบสวนได้ถึง 7 วันโดยปราศจากทนาย

แม้ว่ายังไม่ได้มีการตั้งข้อหาหรือพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่ากระทำความผิดจริงก็ตาม และด้วยกระแสสังคมที่กดดันให้ทางตำรวจเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบโดยเร็วที่สุด ทำให้เจอร์รี่กับเพื่อนๆ ถูกข่มขู่คาดคั้น จับซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการป่าเถื่อนครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดระยะเวลาที่ถูกคุมขัง (เจอร์รี่ให้การในชั้นศาลว่าเขาทั้งถูกตำรวจกระชากผมและบีบอัณฑะ ส่วนพอล ฮิลล์ ให้การว่าเขาโดนตำรวจนั่งคร่อมร่างและบังคับให้อมปากกระบอกปืน) จนทนไม่ไหวและต้องยอมรับสารภาพในที่สุด

ทางการอังกฤษแถลงข่าวว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนให้การรับสารภาพ สื่อมวลชนขนานนามเจอร์รี่กับเพื่อนๆ ว่า The Guildford Four

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อจูเซ็ปเป้ร้อนรนจากที่ลูกชายถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เขาเดินทางมาหาแอนนี่ที่ลอนดอนเผื่อว่าจะพอช่วยอะไรได้บ้าง แต่ทั้งบ้านแม็กไกวร์กลับถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการวางระเบิดตามไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่วินเซ็นต์และแพทริค ลูกชายของแอนนี่ที่อายุ 17 และ 14 ปีตามลำดับ

ทางการอังกฤษแถลงข่าวว่าได้แจ้งข้อหาบ้านแม็กไกวร์ทั้ง 7 คน ในการครอบครองไนโตรกลีเซอรีน ซึ่งเป็นวัตถุที่คาดว่าจะถูกส่งต่อให้กับกลุ่มไออาร์เอใช้ทำระเบิดต่อไป สื่อมวลชนขนานนามครอบครัวแม็กไกวร์รวมถึงจูเซ็ปเป้ว่า The Maguire Seven

The Guildford Four ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วน The Maguire Seven ถูกตัดสินให้จำคุก 12-14 ปีลดหลั่นกันไป (วินเซ็นต์กับแพทริคได้โทษสถานที่เบาลงมาเล็กน้อยคือ 5 กับ 4 ปี)

พวกเขาพยายามบอกในชั้นศาลว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลหลังจากนั้นอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ไม่มีใครเชื่อถ้อยคำของพวกเขา

ปี 1977 สามปีหลังเหตุการณ์วางระเบิด กลุ่มผู้ก่อเหตุตัวจริงได้เข้ามอบตัวกับทางการอังกฤษ และรับสารภาพว่าพวกเขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทว่าแม้ตำรวจจะตระหนักว่าพวกเขาจับแพะมาลงโทษเสียแล้ว แต่ด้วยความกลัวว่าจะเสียหน้าก็ทำให้พวกเขาเลือกที่จะปกปิดข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ ไม่ยอมเปิดเผยให้แก่สาธารณชนได้ล่วงรู้แต่อย่างใด

นั่นทำให้เจอร์รี่กับพรรคพวกต้องติดคุกไปอีก 12 ปี

คืนหนึ่งในห้องขัง เจอร์รี่กับพ่อ นั่งพูดคุยกันถึงคืนวันเก่าๆ วันที่อยู่นอกเรือนจำ

“เรื่องสมัยเด็กที่ผมจำได้แม่นที่สุด ก็คือตอนที่จับมือพ่อ มือเล็กๆ ของผม สอดเข้าไปในมือโตๆ ของพ่อ มันจะมีกลิ่นบุหรี่อยู่ ผมจำได้ว่าจะมีกลิ่นบุหรี่จากมือของพ่อ”

“เวลาที่ผมอยากมีความสุข ผมจะพยายามนึกถึงกลิ่นบุหรี่ตอนนั้น”

“จับมือพ่อไว้สิ” พ่อพูดกับเขาด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า กลิ่นเดียวที่พวกเขารับรู้ได้ในตอนนี้คือกลิ่นเหม็นอับของห้องขังแคบๆ เท่านั้น

หกปีหลังจากถูกคุมขัง จูเซ็ปเป้ พ่อของเขาอ่อนแอและชราภาพลงเรื่อยๆ และสุดท้ายก็เสียชีวิตในเรือนจำ

วันที่ทนายมาบอกเจอร์รี่ว่าค้นพบหลักฐานใหม่ที่ตำรวจจงใจปกปิดเอาไว้ หลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเขากับพรรคพวกเป็นผู้บริสุทธิ์มาตลอด เขาเดือดดาลถึงขีดสุด เพราะต่อให้ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา แต่จะมีชีวิตหนึ่งที่เอากลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว

“พวกเขารู้มาตลอด แต่ก็ยังปล่อยให้พ่อผมตายในเรือนจำ”

“พวกเขาจะพูดว่ายังไงเหรอ ขอโทษนะที่เราฆ่าพ่อของคุณ ขอโทษด้วยว่ะที่เราทำให้ชีวิตคุณแม่งตกนรกทั้งเป็น”

หลังจากติดคุกนาน 15 ปี เจอร์รี่ในวัย 36 ได้รับอิสรภาพในที่สุด เขาเลือกเดินออกประตูหน้าอย่างสง่าผ่าเผย แม้จะมีความพยายามขัดขวางห้ามปรามและนำเขาหลบออกทางประตูหลังก็ตาม

“ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ผมติดคุกเป็นเวลา 15 ปี จากความผิดที่ผมไม่ได้ทำ ผมต้องทนดูพ่อของผมตายในคุกจากความผิดที่เขาไม่ได้ทำ”

ภายหลังเจอร์รี่พ้นข้อกล่าวหา เขายืนยันว่าจะตามเอาเรื่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใส่ร้ายปรักปรำเขาให้ถึงที่สุด เขาจะทวงความยุติธรรมกลับคืนมาให้วิญญาณของพ่อผู้ล่วงลับ ทว่าจนแล้วจนรอดกลับไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดต้องรับผิดชอบกับกรณีดังกล่าวแม้แต่คนเดียว และกว่าที่รัฐบาลจะยอมขอโทษเจอร์รี่อย่างเป็นทางการ ก็ต้องรอจนถึงปี 2000

หันกลับมามองที่ประเทศนี้ ในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา (หรืออาจพูดได้ว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2014) ปริมาณการจับกุมคุมขังผู้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และจากกระบวนการยุติธรรมที่ในหลายครั้งแทนที่จะโปร่งใส กลับสร้างความกังขาและคลางแคลงใจให้แก่สังคม

ทุกครั้งที่มีข่าวการจับกุมคุมขังเหล่านั้น หนังเรื่องหนึ่งที่มักจะผุดโผล่ขึ้นมาในสำนึกของผมเสมอก็คือ In the Name of the Father (1993) ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวความอัปยศอดสูในกระบวนการยุติธรรมของประเทศอังกฤษต่อกรณีของเจอร์รี่ คอนลอน ออกมาได้อย่างรุนแรงและสั่นสะเทือนหัวใจอย่างยิ่ง ด้วยเพราะในหลายครั้ง ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นช่างคล้ายคลึงกันเหลือเกิน มีหลายคดีที่ผู้จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวตามสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ และมีหลายคดีที่จำเลยถูกจองจำไปก่อนแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาด้วยซ้ำ

ไปจนถึงบางคดีที่จำเลยล้มป่วย จนต่อมาเสียชีวิตในเรือนจำก็มี

หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ทำให้ผมคิดถึงหนังอยู่บ่อยครั้ง หนังที่สร้างมาจากเหตุการณ์จริง ชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คนจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่อังกฤษกับไทยแตกต่างกันอยู่บ้างก็คือวลี In the Name of the Father นั้นเป็นคำที่เจอร์รี่ คอนลอน หยิบมาใช้ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้พ่อของเขา ทว่าสำหรับบ้านนี้เมืองนี้ในหลายครั้ง In the Name of the Father กลับถูกหยิบยกมาใช้อวดอ้าง และกระทำการอย่างอื่น ในความหมายตรงกันข้าม

ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันกับ In the Name of the Father ทั้งเรื่องราวการพิจารณาคดีในชั้นศาล ชะตากรรมของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนตาดำๆ ที่ถูกกระทำจากฝั่งรัฐ เหล่านี้คือหนังอีกหลายเรื่องที่มี message ใกล้เคียงกัน

12 Angry Men (Sidney Lumet-1957)

คณะลูกขุน 12 คนซึ่งมาจากต่างพื้นเพ วิชาชีพ และช่วงอายุ ต้องร่วมกันตัดสินคดีเด็กหนุ่มวัย 18 ที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าพ่อของตนเอง คดีทำท่าว่าจะจบลงได้ภายใน 5 นาทีเมื่อลูกขุนเกือบทั้งหมดโหวตให้เด็กชายมีความผิดจริง หากมีมติเป็นเอกฉันท์ จำเลยจะถูกตัดสินประหารชีวิต ทว่ามีลูกขุนคนหนึ่งที่เห็นต่างออกไป เขาไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วย เพียงแต่อยากให้พูดคุยกันมากกว่านี้อีกหน่อย โดยเฉพาะในเมื่อนี่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องความเป็นความตายของชีวิตหนึ่ง

“เรากำลังพูดถึงชีวิตเด็กคนหนึ่งอยู่นะ เราไม่สามารถตัดสินได้ภายในห้านาทีหรอก” ลูกขุนหมายเลข 8 ชี้แจงเหตุผลของเขา

หนังดำเนินเรื่องเกิดขึ้นภายในห้องๆ เดียว แต่เต็มไปด้วยบทสนทนาและการโต้เถียงกันที่ดุเดือดชวนติดตามจนไม่อาจละสายตา และแม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษ ประเด็นที่หนังพูดก็ยังคงร่วมสมัยมากๆ

The Trial of the Chicago 7 (Aaron Sorkin-2020)

ช่วงปลายยุค 60’ อัยการรัฐฟ้องจำเลย 7 คนข้อหาสมรู้ร่วมคิด และร่วมกันปลุกระดมก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจลในเมืองชิคาโก ทั้งที่ความจริงแล้วทั้ง 7 คนซึ่งมาจาก 3 กลุ่มการเมืองนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และมีความแตกต่างกันเรื่องอุดมการณ์ เพียงแต่มีจุดยืนเดียวกันคือรัฐบาลสหรัฐควรประกาศยุติสงครามเวียดนามได้แล้ว การชุมนุมประท้วงที่ชิคาโกถูกนายกเทศมนตรีสั่งสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1 หมื่นนายเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา

หนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่หนัง Courtroom Drama ที่ดีที่สุด แต่ message ที่หนังต้องการพูดถือได้ว่าทรงพลังอย่างมาก เมื่อฝั่งศาลโน้มเอียงเข้าข้างฝั่งรัฐอย่างเห็นได้ชัด คนธรรมดากลุ่มหนึ่งที่มีเพียงอุดมการณ์หนักแน่น ต้องต่อสู้กับอีกฝั่งที่มีทุกอย่างทั้งอำนาจและกลไกทุกอย่างในมือ กว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรมช่างเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ

ตัวหนังถูกวิจารณ์ว่าผ่านการปรุงแต่งเกินจริงพอสมควร ทว่าตลกร้ายอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่กล่าวมานั้นคล้ายกำลังเกิดขึ้นอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้

Small Axe:Mangrove (Steve McQueen-2020)

พล็อตคล้ายกันกับเรื่องก่อนหน้า ช่วงต้นยุค 70’ กลุ่มตำรวจผิวขาวในลอนดอน ได้ทำการบุกร้านอาหารคนดำครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย จนเหล่าคนดำทนไม่ไหวอีกต่อไปจึงเดินขบวนประท้วงแล้วก็เกิดเหตุปะทะกันระหว่างสองฝั่ง บานปลายกลายเป็นเหตุจลาจล จนทำให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

หนังถ่ายทอดเหตุการณ์ออกมาได้อย่างทรงพลัง สัมผัสได้ถึงอารมณ์อุกอั่งคั่งแค้น รู้สึกได้ถึงเลือดเนื้อและหยาดน้ำตาของคนที่ถูกย่ำยีบีฑา เพียงเพราะการต่อสู้ดิ้นรนให้ได้มาซึ่งคำว่าคนเท่ากัน

“ตำรวจพวกนี้ก็เหมือนแวมไพร์นั่นแหละ เธอคิดว่าทำลายพวกเขาได้ แต่พวกเขาจะกลับมาอีกเสมอ กลับมาอีกครั้งแล้วก็อีกครั้ง มันเหมือนว่าแค่กระสุนเงินน่ะไม่เพียงพอแล้ว เธอต้องตอกตรึงเข้าไปที่หัวใจ จากนั้นก็ใช้กระเทียม แล้วก็ตัดหัวพวกเขาด้วย ไม่งั้นก็เอาพวกเขาไม่ลงหรอก!”

Just Mercy (Destin Daniel Cretton-2019)

ทนายหนุ่มผิวดำไฟแรงผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ พยายามช่วยเหลือ วอลเตอร์ แม็คมิลเลียน นักโทษประหารผิวดำซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่มีพยานกว่า 20 คนในชุมชนคนผิวดำให้การยืนยันว่าเขาอยู่ห่างออกไป 11 ไมล์จากที่เกิดเหตุ และไม่มีทางไปก่อเหตุฆาตกรรมหญิงสาวผิวขาวได้ แต่ตำรวจและอัยการกลับอ้างอิงเอาจากพยานผิวขาวเพียงคนเดียวที่บอกว่าพบเห็นเขาในที่เกิดเหตุมาขึ้นให้การในชั้นศาล แมคมิลเลียนต้องติดคุกในความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ

แม้หนังจะค่อนข้างเนิบนาบราบเรียบ และดำเนินเรื่องตามสูตรไปบ้าง แต่ข้อความสุดท้ายที่ปรากฏในหนังนั้นเป็นตัวเลขสถิติอัตราความผิดพลาดที่น่าตกใจไม่น้อย

‘ในทุกๆ 9 คนที่โดนประหารชีวิตในสหรัฐฯ มี 1 คนที่ได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์และถูกปล่อยตัว’

A Few Good Men (Rob Reiner-1992)

สองนาวิกโยธินประจำฐานทัพกัวตานาโมถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรมเพื่อนร่วมหน่วยเดียวกัน แต่ทั้งคู่อ้างว่าการบุกทำร้ายเพื่อนร่วมหน่วยถึงในห้องพักช่วงกลางดึกจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตนั้นทำตามคำสั่งของนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกที การพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลจึงเกิดขึ้นตามมา

ทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในกองทัพ หรือมีที่มาสาเหตุมาจากกองทัพ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องที่มีความพยายามจะปัดฝุ่นซุกไว้ใต้พรม หรือเรื่องที่ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบออกมาแก้ต่างปัดความรับผิดชอบอย่างหน้าด้านๆ หนังเรื่องนี้จะถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงเสมอ

The Hurricane (Norman Jewison-1999)

รูบิน ‘เฮอร์ริเคน’ คาร์เตอร์ นักมวยชาวอเมริกันรุ่นมิดเดิ้ลเวท ถูกจับข้อหาฆาตกรรมชาย 3 คนที่บาร์แห่งหนึ่งในนิวเจอร์ซีย์ เพียงเพราะเขากับเพื่อนคนหนึ่งขับรถกลับบ้าน แล้วขับผ่านเส้นทางใกล้กับที่เกิดเหตุพอดี คาร์เตอร์กับเพื่อนถูกเรียกให้จอดและทำการสอบสวน เนื่องด้วยพยานในที่เกิดเหตุให้การว่าคนร้ายเป็นชายผิวดำ และเขาเป็นคนดำที่มีประวัติอาชญากรรมมาก่อนหน้านี้

คาร์เตอร์กับเพื่อนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในความผิดที่ไม่ได้ก่อ ทั้งที่ไม่มีการเก็บหลักฐานลายนิ้วมือหรือเก็บปลอกกระสุนจากที่เกิดเหตุ และนอกจากสีผิวแล้วก็ไม่มีจุดไหนที่รูปพรรณสัณฐานของคาร์เตอร์กับเพื่อนจะตรงกับคำให้การของพยาน

เขาติดคุกอยู่นาน 19 ปี ความฝันการเป็นนักมวยสูญสลาย แม้จะได้รับอิสรภาพในที่สุดแต่เวลาในชีวิตที่สูญเสียไปไม่อาจเรียกร้องกลับคืนมาได้

Ghosts of Mississippi (Rob Reiner-1996)

เม็ดการ์ เอเวอร์ส นักต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้คนผิวดำ ถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดที่หน้าบ้านของตนเอง โดยไบรอน เดอ ลา เบควิท ชายผิวขาวหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Ku Klux Klan ทว่าแม้มีครบทั้งพยานและหลักฐาน เบควิทกลับหลุดรอดไปได้ในการพิจารณาคดีทั้ง 2 ครั้ง สร้างความเจ็บช้ำให้แก่ครอบครัวของเอเวอร์สอย่างเหลือแสน ด้วยเพราะคณะลูกขุนที่ถูกคัดเลือกให้มาพิจารณาคดีนั้นเป็นคนผิวขาวทั้งหมด

ผ่านไป 25 ปี แม้ว่าพยานที่เคยขึ้นให้การหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว หลักฐานหลายอย่างหายสาบสูญไปตามกาลเวลา กระทั่งบันทึกการพิจารณาคดีในชั้นศาลก็หายไปด้วย แต่คดีก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาในชั้นศาลอีกรอบ แม้จะใช้เวลานานแต่ครอบครัวเอเวอร์สก็ยังคงหวังว่าคณะลูกขุนซึ่งมีทั้งผิวขาวและผิวดำที่ถูกคัดเลือกมาในครั้งนี้ จะคืนความยุติธรรมให้ในที่สุด

Trial by Fire (Edward Zwick-2018)

ทนายหญิงพยายามช่วยเหลือนักโทษคนหนึ่งที่รู้จักกันทางจดหมาย เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุไฟไหม้บ้านที่คร่าชีวิตลูกทั้ง 3 คน แม้ว่าหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และคำให้การของผู้เชี่ยวชาญจะชี้ว่าเขาไม่ได้เป็นคนก่อเหตุ ทว่าด้วยปากคำของพยานที่บอกว่าท่าทีของเขาดูไม่เดือดเนื้อร้อนใจนักในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

บวกกับประวัติอาชญากรรมที่ยาวเป็นหางว่าว และปากคำจากผู้คนรอบข้างที่ต่างพูดกันว่าเขาไม่ใช่คนดีเท่าไรนัก ทั้งไม่เอาการเอางาน ติดยาเสพติด อีกทั้งยังทำร้ายร่างกายภรรยาบ่อยครั้ง ทำให้ศาลปักใจเชื่อว่าเขาเป็นคนทำ และตัดสินพิพากษาประหารชีวิตในที่สุด

หนังตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรม การตัดสิน (ทั้งจากศาลและจากคนนอก) ที่พิจารณาจากบุคลิก ลักษณะนิสัย พื้นเพ สภาพแวดล้อม มากกว่าที่จะพิจารณาจากหลักฐานและข้อเท็จจริง

Runaway Jury (Gary Fleder-2003)

ครอบครัวของเหยื่อในเหตุกราดยิงตัดสินใจฟ้องบริษัทผลิตอาวุธปืนเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 100 ล้าน บริษัทไม่อยากแพ้คดีจึงได้ว่าจ้างหน่วยงานลับเพื่อมาทำการสืบประวัติและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่มาคัดเลือกเป็นคณะลูกขุน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกขุนแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะโหวตเข้าข้างฝั่งบริษัทมากกว่า อย่างไรก็ตามตัวแปรที่อยู่นอกเหนือแผนการนี้ก็คือลูกขุนคนหนึ่งได้ติดต่อทนายของทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อยื่นข้อเสนอว่าเขาสามารถโน้มน้าวให้คณะลูกขุนตัดสินเอนเอียงไปตามทิศทางที่ต้องการได้ แลกกับเงิน10 ล้านเหรียญ

หนังสร้างจากนิยายของ จอห์น กริแชม แม้จะทำออกมาได้สนุกตื่นเต้น แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเรื่องความสมจริง ตลกร้ายก็คือหากเราลองเปลี่ยนบริบทและฉากหลังของหนังให้มาเกิดขึ้นในเมืองไทยก็ไม่แน่ว่าอาจเป็นตรงกันข้าม ในเมื่อการถูกแทรกแซงคำพิพากษาโดยสายบังคับบัญชายังสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ดังเช่นเคสของ คุณคณากร เพียรชนะ

Bloody Sunday (Paul Greengrass-2002)

หนังจำลองเหตุการณ์ วันอาทิตย์นองเลือด อีก 1 เหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ไอริช ออกมาได้อย่างสมจริงสมจัง

30 มกราคม ค.ศ.1972 กลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองไอร์แลนด์เหนือ (The Northern Ireland Civil Rights Association) ได้จัดการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อประท้วงกองทัพอังกฤษที่จับกุมคุมขังชาวไอริชหลายคน เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มไออาร์เอ การเดินขบวนที่มีผู้เข้าร่วมนับหมื่นคนถูกทหารอังกฤษเข้าสลายการชุมนุม และกลายเป็นการสังหารหมู่ในเวลาต่อมา มีพลเรือนเสียชีวิต 14 คน จากจำนวนคนที่ถูกยิงทั้งหมด 27 คน

ฝั่งทหารกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเริ่มเปิดฉากยิงก่อนจึงทำการตอบโต้ ทว่าหลังจากที่มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจังก็พบว่าฝั่งทหารโกหก และสร้างเรื่องจัดฉากเรื่องอาวุธขึ้นมาเอง

อ้างอิง

1.ไดอะล็อกมาจากคำพูดในหนัง

2.ข้อมูลเรื่องคดี The Guildford Four และ The Maguire Seven มาจาก

https://www.dailymail.co.uk/news/article-11035747/Courting-couple-planted-IRA-time-bomb-killed-five-Guildford-pub-1974-coroner-rules.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Guildford_Four_and_Maguire_Seven
https://en.wikipedia.org/wiki/Guildford_pub_bombings

Author

  • นักเขียน, เขียนหนังสือมาแล้ว 4 เล่มชื่อ เราต่างสร้างบาดแผลให้แก่กันอยู่เสมอ, การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว, สัตว์กลางคืน และ ทัณฑสถานชื่อชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *