เวลาราวบ่ายสามโมงในวันธรรมดา การจราจรเป็นไปอย่างปกติ อากาศไม่ร้อนมาก ห่างออกไปไม่กี่สิบเมตรคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งกลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ทวงคืนสิทธิเสรีภาพในรูปแบบที่แสนหลากหลาย และหากยังจำกันได้ วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทนายอานนท์ นำภา ในชุดเสื้อคลุมแฮร์รีพอตเตอร์ ผ้าพันคอบ้านกริฟฟินดอร์ ปรากฎตัวขึ้นที่นี่ พร้อมข้อเสนอต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (ที่ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้ากับเสื้อคลุมแฮร์รี พอตเตอร์) คือเขาเสกให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ช่วงนี้ม็อบอาจไม่เยอะและดุดันเท่าเมื่อก่อน แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังเป็นจุดนัดหมายที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง
วันนี้เราจึงชวนช่างภาพ 2 รุ่น ปฏิภัทร จันทร์ทอง ช่างภาพข่าวประจำช่อง Voice TV และเมธิชัย เตียวนะ ช่างภาพและนักข่าวมัลติมีเดียประจำ 101 World มาที่นี่เพื่อพูดคุยเรื่องสถานการณ์การเมืองที่สะท้อนผ่านการถ่ายภาพท่ามกลางการชุมนุมที่สงบเงียบและชุลมุน แก๊สน้ำตา ห่ากระสุน และอีกสารพัดแห่งความดุเดือด

1.
หลายคนที่ตามข่าวการเมืองอาจคุ้นชื่อปฏิภัทรอยู่บ้าง เพราะเขาทำงานถ่ายภาพมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้เข้าใจการเมืองมากนัก แต่ก็เอาตนเองเข้าไปสังเกตการณ์ตั้งแต่ม็อบพันธมิตรในช่วงปี 2552 คลุกคลีและฝึกฝนฝีมือมาเรื่อยๆ จนถึงสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ในช่วงปี 2553 หรือที่รู้จักกันดีในนามการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปฏิภัทรเริ่มทำงานที่สามารถเรียกได้ว่า เสี่ยงตาย และยังไม่หยุดหน้าที่ช่างภาพจนถึงวันนี้

เมธิชัยในวัย 25 ปี ณ ปัจจุบัน ในวันนั้นเขาอายุราว 13 ปี ยังไม่มีความสนใจต่อสถานการณ์การเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงปี 2553 แต่ความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐยังคงดำเนินต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่ปรากฎการณ์ม็อบเยาวชนเริ่มขึ้น เมธิชัยลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพ และรับรู้ได้ถึงความรุนแรงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 (ม็อบ #16ตุลาไปแยกปทุมวัน) เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน มีการนำรถจีโนออกมาใช้อย่างจริงจังครั้งแรก
ไม่มีใครรู้สาเหตุแน่ชัดว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงตัดสินใจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเพราะน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีฉีดโดนเยาวชนจนบาดเจ็บ นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ และยังมีผู้คนที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันตัวอีกจำนวนมากที่โดนหางเลขไปด้วย

“วันนั้นถอยเลยนะ เพราะว่าหนึ่งคือเราไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องถ่ายภาพม็อบแล้วมีการสลายการชุมนุม แล้วอีกอย่างคือ เราไม่รู้ด้วยว่าอนุภาคของอุปกรณ์เขามันจะทำร้ายทำลายเราได้แค่ไหน เราก็ถอยออกมาตั้งหลักก่อน ผมไม่เคยเจอ ผมไม่รู้ว่าน้ำนั้นผสมอะไรไหม หรือว่าเสียงที่เป็นเครื่องรบกวนมันจะทำร้ายเรายังไง เราควรยืนยังไง อยู่ตรงไหน ไม่มีประสบการณ์ เป็นศูนย์เลย เราก็เลยพยายามถอยมาอยู่ระยะหนึ่ง อยู่ตรงสะพานลอยแล้วก็กด 2-3 รูป แล้วก็ถอยๆๆ คือเอาความปลอดภัยไว้ก่อนอันดับแรก ตอนนั้นไม่รู้เลย แล้วก็มันไม่มีเค้าว่ามันจะเกิดสิ่งนี้ เพราะคนเหมือนจะกลับกันแล้ว ฝนก็ตกหนักด้วย
ในแง่ของการทำงานคือเราต้องเตรียมตัว จากที่ไม่รู้เราก็ต้องไปศึกษาว่า สิ่งที่เขาใช้ตอบโต้มีอะไรบ้าง แล้วเราจะจัดการตนเองยังไง ป้องกันตนเองยังไง ผมก็อัปเกรดอุปกรณ์ เตรียมอุปกรณ์เลย อย่างม็อบครั้งแรกๆ ที่ผมไปหน้ากากนี่ใช้ของถูกๆ แล้วก็โดนแก๊สน้ำตาร้องไห้ เลยถอยกลับมาเลย ตอนเริ่มจับทางได้แล้ว” เอ็มเล่า
“เหมือนกัน ตอนหลังเราสั่งหน้ากากแบบเต็มหน้ามาเลย ไม่งั้นทำงานไม่ได้ อย่างการสลายการชุมนุมที่สยามเราก็ช็อคเหมือนกัน เพราะว่าโดยสถานการณ์มันไม่ควรมีการสลายการชุมนุม ณ วันนั้นมันชุมนุมมาจนจะเลิกแล้วตอนประมาณ 19:30 น คนบางส่วนก็เริ่มทยอยกลับ ดูไม่ได้น่ามีอะไรเป็นกังวล แล้วอยู่ดีๆ ตำรวจก็ดันแนวมาหาผู้ชุมนุม จากก้อนมวลชนที่อยู่ตรงหน้าหอศิลป์ ก็เลยถูกดันไปใต้ BTS สยาม แล้วก็เกิดการปะทะ เรามองว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะสลาย ก็เลยงงว่าทำไมถึงต้องทำขนาดนี้
“ตอนนั้นก็อาศัยหลบเอาเหมือนเอ็ม ระมัดระวังเวลาทำงาน ดูว่าเราจะสุ่มเสี่ยงตรงไหน ประเมินว่าเราต้องสามารถที่จะทำงานได้ด้วยแล้วก็ปลอดภัยด้วย” ปฏิภัทรเสริม
ถ้าใช้เส้นของการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมาวัด เราคงเริ่มได้ตั้งแต่ม็อบในครั้งนี้ บรรยากาศทางการเมืองและการลุกฮือของประชาชนยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เห็นได้จากผู้ร่วมชุมนุมราวแสนคนในม็อบวันที่ 14 ตุลาคมของคณะราษฎร 2563 และความถี่ของการจัดการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ
ผู้คนพร้อมก้าวขาออกจากบ้านเพื่อร่วมเรียกร้องข้อเสนอหลักๆ 3 ข้อ นั่นคือการประท้วงให้ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี (ในตอนนั้น) รื้อรัฐธรรมนูญ และข้อสุดท้ายคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อความรุนแรงถูกยกระดับขึ้นตั้งแต่วันนั้น เส้นของการใช้กำลังปราบปรามของเจ้าหน้าที่ก็ชัดเจนขึ้นในแง่ของการผลักสื่อมวลชนออกไปหากจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในแนวปะทะ
เราว่าส่วนหนึ่งคือเขาจำกัดการทำงานของเรา ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันตนเอง หมายถึงว่าเพื่อที่จะให้เราไม่สามารถบันทึกภาพบางสิ่งบางอย่างหรือการใช้กำลังบางอย่างของเขาได้
“อีกส่วนหนึ่งก็คือเพื่อที่จะให้เขาสามารถทำงานได้ง่าย เอาเข้าจริงคือพื้นที่ที่มันปะทะกันมันคือพื้นที่ที่สื่อชอบไปอยู่ เพราะว่ามันคือจุดที่จะได้ภาพที่เห็นสถานการณ์ชัดที่สุด เขาก็เหมารวมง่ายๆ เวลาเคลียร์พื้นที่ก็เคลียร์ให้เหมือนกัน ก็ต้องดูจังหวะว่าจังหวะไหนที่มันทำได้ จังหวะไหนที่มันพอล้ำได้นิดหนึ่ง จังหวะไหนที่เราอยู่ตรงเส้นพอดี” ปฏิภัทรเล่า
“ที่นี้พอเป็นแบบนั้นเราเองก็ต้องหาจังหวะ คือเส้นที่เขาผลักเรามันเลยเส้นที่เราจะทำงานอยู่ ซึ่งเส้นมันก็ไม่ชัดขนาดนั้น แต่เรารู้ว่าเรามีสิทธิที่จะทำอะไร แต่บางครั้งเส้นเขาดันมาเกินว่าเราไม่มีสิทธิทำสิ่งนี้ เราก็ยังยืนยันว่าเราทำได้ เราเองก็ต้องไต่เส้นตรงนั้น เราไม่ได้จำยอมกับคำสั่งของเขาทุกอย่าง เพราะว่าถ้าเราทำตามเขาเราจะไม่ได้งาน คนก็จะไม่เห็นว่าอะไรเกิดขึ้น
แต่ถ้าเราไปยืนแช่ มันก็เสี่ยงเรา พอเป็นหน้างานหลักการหรืออะไรหลายๆ อย่างมันถูกท้าทาย เราต้องมาจัดการกับตนเอง มันเป็นเรื่องของตรงนั้นเลย ที่สำคัญคือรักษาชีวิตเอาไว้ แล้วก็กอดหลักการไว้ให้แน่นๆ แล้วก็เอางานออกมาให้ได้” เมธิชัยเสริมต่อ
เมื่อเราถามต่อว่าภาพต้องได้ แต่ชีวิตก็ต้องรอดด้วยใช่ไหม เขาหัวเราะแล้วบอกว่าชีวิตรอดนี่อันดับแรกเลย
เราถามปฏิภัทรต่อในประเด็นของหลักการและหน้างาน เพราะเขาคือช่างภาพที่วิ่งอยู่ในดงกระสุนมาตั้งแต่ปี 2553 เขาตอบว่าหลักการการทำงานตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
“มันไม่เปลี่ยนหรอก แน่นอนเราต้องทำงานบนพื้นฐานของการที่เรารู้สึกว่ามันไม่สุ่มเสี่ยงเกินไป เท่าไหนถึงเรียกว่าสุ่มเสี่ยง ก็ดูว่าไปแล้วไม่ตาย ไปแล้วไม่เจ็บ มันก็ตอบยาก ยกตัวอย่างคือ สมมติว่าเราอยู่ในแนวปะทะแล้วเรารู้สึกว่า ณ นาทีนี้มันได้งานแล้วปลอดภัย แต่ถ้าเราไปช้ากว่านี้อีกสัก 1 นาทีมันจะไม่ปลอดภัยแล้ว มันจะปลอดภัยแค่แป๊บนึงเราก็ต้องฉกฉวยช่วงเวลานั้น แต่ต้องยอมรับว่ามันสามารถมีอุบัติเหตุได้ตลอด ในจุดที่เรารู้สึกว่ามันปลอดภัยมันก็ไม่แน่หรอกมันอาจมีระเบิดลงมาก็ได้ แต่ในสถานการณ์ตอนนั้น เราต้องประเมินเท่าที่เราสามารถประเมินได้
“ช่วงสลายการชุมนุมปี 53 เราไม่ได้ไปในจุดที่สุ่มเสี่ยงขนาดที่เขายิงกัน เราไปจุดที่มันยิงกันและใช้กระสุนจริงแต่เราก็เลือกจุดที่มันมีที่กำบังที่ประเมินแล้วว่าปลอดภัย
เรื่องการใช้กำลังการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ เรารู้สึกว่ามันก็ไม่ชอบธรรมด้วยกันทั้งคู่ไม่ว่าจะม็อบยุคนี้หรือปี 53 เพียงแต่ว่าตอนปี 53 มันใช้กระสุนจริง มันยิงคนจริงๆ คนมันตายจริงๆ ขณะที่ยุคนี้มีลักษณะเหมือนปราบไม่ให้ม็อบก่อตัวมากขึ้น ไม่ให้กระจายวงกว้าง


“ถ้าเป็นฟอร์มเดียวกัน อย่างการชุมนุมที่ดินแดง เราจะไม่ไปอยู่ตรงนั้น ถ้ามีการใช้กระสุนจริง เราก็จะไปหลบอยู่อีกที่หนึ่ง หรืออย่างม็อบดินแดงวันที่มีการตั้งคอนเทนเนอร์ (วันที่ 7 สิงหาคม 2564) แล้วตำรวจขึ้นไปตรงทางขึ้นทางด่วน เส้นการปะทะมันเปลี่ยน ผู้ชุมนุมวิ่งมาทางเรา ก็กลายเป็นว่าเราอยู่ไลน์เดียวกับผู้ชุมนุม เราก็ต้องรีบมูฟ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันต้องประเมินอยู่เรื่อยๆ อย่างตอนนั้นก็มีช่างภาพหลายคนโดนกระสุนยาง เพราะมันเร็วมากและผู้ชุมนุมก็วิ่งมาทางเรา” เมธิชัยเสริมประเด็นของปฏิภัทร
2.
สรุปแล้วหลักการมันพาเราไปถึงจุดไหน
“ถ้าสมมติสิ่งแรกที่เราควรจะได้ในภาพถ่าย คือการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ แต่การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ก็มีหลายแบบ มีเจ้าหน้าที่ยิงปืน เจ้าหน้าที่ยิงแก๊ส แต่ถ้าเราไม่ได้ไปตรงนั้น เราอาจบันทึกภาพผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ผู้ชุมนุมถูกกระทำ นี่ก็เป็นในมุมของการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิธีการถ่ายวิธีการเล่า เราเล่าผ่านตัวละครอีกตัวหนึ่งซึ่งถูกการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ”
เมื่อปฏิภัทรเล่าจบ เมธิชัยก็เสริมจากมุมของเขา
ภาพในหัวมันคือโครงสร้างที่เราวางไว้ในการทำงาน มันไม่ได้ชัดว่าเราจะต้องเอาภาพแบบนั้นออกมา สมมติว่าถ้าสิ่งที่เราจะบอกจากเหตุการณ์หนึ่งคือมีคนโดนยิง มีคนยิง มีคนได้รับบาดเจ็บ มีคนหนี มันไม่ได้เป็นภาพ แต่มันเป็นสิ่งที่พอเรามารวมกันแล้ว คนที่ดูภาพเราในวันนี้จะรู้ว่าเหตุการณ์มันประมาณไหน ไม่ได้จะมุ่งไปที่การเอาความชั่วร้ายที่สุดของคนๆ หนึ่งออกมาเพื่อที่จะหาข้อแย่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราก็แค่ถ่ายมันออกมา เราไปดัดไม่ได้อยู่แล้ว
“คือมันก็ไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นให้มันชัดที่สุดยังไงสู่สาธารณะ สมมติว่าตำรวจใช้กำลัง เราก็ดูว่ามันจะมีวิธีไหนที่เราถ่ายแล้วคนดูรู้สึกว่าตำรวจใช้กำลังจริงๆ หรือมันมีคนเจ็บ ทำยังไงให้ดูว่าคนเจ็บได้รับผลกระทบ ทรมาน บาดเจ็บจากการใช้กำลัง” ปฏิภัทรเสริมต่อ



ม็อบดินแดงหลายครั้งเมื่อปีที่แล้ว เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐรุนแรงขึ้นและยกระดับเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่จะเรียกตนเองว่าเป็นกลุ่ม ทะลุแก๊ซ ช่างภาพทั้ง 2 คนเห็นตรงกันว่าการชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่าในพื้นที่นี้มีความรุนแรงตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่ การเผายางที่เห็นได้ในบริเวณเดิมๆ ความเป็นม็อบไร้แกนนำ และคาแรคเตอร์ของผู้ชุมนุมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและบทความหลายชิ้นที่วิเคราะห์ถึงการใช้สมรภูมิดินแดงเป็นจุดปะทะ ตามประวัติศาสตร์แล้วสามเหลี่ยมดินแดงเคยเป็นจุดชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงปี 2552 และ 2553 ดินแดงจึงเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองอยู่แล้วในระดับหนึ่ง
ในบทความม็อบ 11 มิถุนา 65: อ. กนกรัตน์ จุฬาฯ วิเคราะห์การกลับมาของการชุมนุมมวลชนอิสระที่ดินแดง ของเว็บไซต์ BBC ไทย ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลงยิ่งกว่าปีที่ผ่านมาทำให้กลุ่มมวลชนอิสระทะลุแก๊ซออกมาชุมนุม ผลวิจัยคร่าวๆ ระบุว่าพวกเขาเป็นกลุ่มลูกหลานของชนชั้นล่างในเมือง หรือเป็นเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบทันทีเพราะเป็นแรงงานในภาคที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อีกทั้งยังเป็นเยาวชน จึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้เหมือนผู้ใหญ่
“ม็อบดินแดงมันคนละฟีลเลย ผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ขนาดนั้น แล้วมันรอบทิศรอบทาง ทำงานยากกว่า ประเมินยากกว่า ทั้งเรื่องทิศ เรื่องการมูฟ เพราะมันไม่มีแกนนำด้วยละมั้ง” เมธิชัยประเมิน
“การเผายาง มันก็เป็นอารมณ์แบบสนุกอารมณ์วัยรุ่นเอามัน แต่ถ้าเป็นปี 53 จะมีคนอธิบายว่าเผายางเพื่ออำพรางทหาร อำพรางตำรวจ เรารู้สึกว่าคนพวกแก๊งทะลุแก๊ซ หรือแก๊งวัยรุ่นที่ไปบู๊ตรงดินแดงก็มีทั้งคนที่เอาสนุก เอามัน แต่คนที่อยากไปถึงข้อเรียกร้อง หรือรู้สึกว่ามีประเด็นแล้วต้องเอาให้ได้ก็มี มันผสมๆ กัน ตอนนั้นมันเป็นจังหวะที่คนทั่วไปอึดอัดจากสถานการณ์โควิด จากสถานการณ์การจัดการของรัฐบาล คนอื่นๆ ก็เลยมาร่วมด้วย


แต่อย่างม็อบใหญ่จะค่อนข้างชัดเจนว่าวันนี้จะมีเหตุ มีเจ้าหน้าที่มาสลายหรือไม่สลายการชุมนุม มันพอประเมินได้ ถ้าสมมุติว่าเขาตั้งกำลังมาแล้วมันก็อาจมีการปะทะ แต่ที่ดินแดงมันมีเรื่องของความไม่แน่นอน คาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ว่าตำรวจจะเข้าจุดไหน จะเข้ากี่โมง เข้ามุมไหน แล้วผู้ชุมนุมจะไปมุมไหน จะทำอะไรบ้าง” ปฏิภัทรเสริมต่อ
เขาน่าจะเป็นหนึ่งในช่างภาพที่เฝ้าประจำสถานการณ์ม็อบที่ดินแดงอย่างสม่ำเสมอ เจ้าตัวให้เหตุผลว่า ถ้าวันนั้นไม่ได้ไป แล้วมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ เขาจะพลาดการบันทึกภาพ และคนจะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ภาพข่าวที่เห็นในแต่ละครั้งมีการขับรถจักรยานยนต์ไล่ตาม เจ้าหน้าที่บุกขึ้นไปตามแฟลตดินแดง ผู้ชุมนุมหนีเข้าไปตามซอกซอย มีการใช้แก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง เช่น ม็อบในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ปฏิภัทรถ่ายภาพตำรวจจ่อปืนใส่ผู้ชุมนุมที่กำลังขี่จักรยานยนต์หนีจนเป็นกระแสการประณามเจ้าหน้าที่รัฐในโลกออนไลน์

ตอนนั้นตำรวจกำลังไล่ผู้ชุมนุม น่าจะเป็นเวลาเคอร์ฟิวหรืออะไรสักอย่าง เขาก็ดันผู้ชุมนุมมา เราก็เห็นแล้วว่ามันมีการไล่กันมา เราก็รีบวิ่งขึ้นไปอยู่บนสะพานลอยเพื่อที่จะถ่ายมุมกว้างให้เห็นบรรยากาศ ตอนนั้นเลยเป็นจังหวะที่มีรถผ่านมา แล้วตำรวจไล่ยิงพอดี
“ในงานข่าว เราก็ทำงานไป ช่างภาพมันไม่ได้ขนาดที่วันนี้ต้องรอขยี้ตำรวจอะไรขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อมันเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นแล้วเราเห็น เราก็หาทางว่าทำยังไงที่จะเอาภาพออกมาให้ได้ และมันบิดเบือนยากอยู่แล้วประมาณหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นสถานการณ์ที่เราไม่ได้จัดฉาก มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเพียงแต่ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราเลือกที่จะ capture เพื่อเล่าเรื่อง ยกตัวอย่างช่วงม็อบที่ดินแดง มีจังหวะหนึ่งที่ตำรวจขึ้นมาบนสะพาน ตรงสะพานมันมีคนพ่นว่า ตำรวจฆ่าประชาชน เราเล็งแล้วเราว่ามันมี wording นี้อยู่ แล้วเราเห็นว่าถ้าตำรวจเดินมาโดยตัวภาพมันจะสามารถสนับสนุน wording นี้ได้” ปฏิภัทรชี้แจง
“นี่เป็นวิธีการที่ทำให้ภาพไปต่อมากกว่าภาพข่าว ฟังก์ชั่นของภาพข่าวก็คือบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทุกภาพที่เราถ่ายมันบอกอยู่แล้ว แต่ทีนี้พอเวลาผ่านไป เริ่มมีข้อเรียกร้องมากขึ้น แล้วภาพที่จะทำให้คนได้คิดต่อต้องเป็นแบบไหน มันไม่ใช่ว่าฝ่ายไหนด้วยนะ คนดูทั้ง 2 ฝ่ายก็อาจคิดไม่เหมือนกันไปเลยจากภาพภาพเดียวกัน คิดว่าการเติมตรงนี้ไปมันทำให้ภาพข่าวมีมิติมากขึ้น” เมธิชัยเสริม

3.
เมื่อถามว่ากลัวหรือเปล่า หรือชินแล้วเพราะชั่วโมงบินค่อนข้างเยอะ ทั้ง 2 คนพยักหน้าว่ากลัว ต้องประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และไม่มีใครชินกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ทั้งนั้น วิธีการควบคุมหรือปราบปรามของเจ้าหน้าที่เองก็ไม่มีความชัดเจน
“การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนไปตามยุทธวิธีของผู้ชุมนุม ยกตัวอย่าง ถ้าใช้แก๊สน้ำตาแล้วไม่ได้ผลเพราะผู้ชุมนุมมีจุดที่กำบัง เขาก็จะใช้วิธีเอารถกระบะ ตำรวจก็ถือปืนอยู่บนรถแล้วก็ขับรถกระบะไล่ยิงกระสุนยาง บางทีพื้นที่ที่มีผลเรื่องของการหลบซ่อนของกลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจก็จะเลือกใช้ยานพาหนะให้เหมาะกับพื้นที่ว่ายังไงถึงจะเข้าถึงผู้ชุมนุมได้เร็ว” ปฏิภัทรเล่า
ในแง่ของความปลอดภัยของช่างภาพในฐานะสื่อมวลชน มุมหนึ่งอาจเป็นเกราะป้องกันได้อยู่บ้าง ปลอกแขนสีขาวบางๆ ที่ระบุว่าเป็น สื่อมวลชน อาจมีผลต่อการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เราจะเห็นว่ามีข้อกฎหมายที่ถูกนำมาใช้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น มีการไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุม แต่บังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 และที่เห็นกันบ่อยๆ คือเจ้าหน้าที่รัฐใช้การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่พลิกแพลงเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่องด้วยอำนาจจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี
“เราคิดว่าแม้กระทั่งยุคนี้ก็ไม่การันตีความปลอดภัยของสื่อ ส่วนหนึ่งเรามองว่า เพราะมันไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าใครเป็นคนทำ เหมือนเวลายิงกระสุนยาง ถ้าโดนสื่อก็ไม่รู้ว่าใครยิง เช่น เรื่องวิธีการยิงปืน มันต้องยิงต่ำกว่าระดับหน้าอก แต่ที่เคยเจอคือยิงสูง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยผิด ไม่เคยต้องรับโทษ” ปฎิภัทรกล่าว
“ผมว่างานสื่อมันก็ไม่เคยการันตีอยู่แล้ว” เมธิชัยออกความเห็นตาม
ความหวังมาจากไหน


ถ้าเทียบกับปี 2563 กระแสการชุมนุมตกลงไปมากเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่รุนแรง และสาเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่คาดเดาได้ยาก ในเว็บไซต์ iLAW ระบุว่าปี 2563 มีการชุมนุม (เท่าที่เก็บข้อมูลได้) เกิดขึ้นถึง 779 ครั้ง ซึ่งนับเป็นการชุมนุมมากครั้งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น
“ย้อนไปช่วงแรกที่ดินแดง คนออกมาเยอะเพราะส่วนหนึ่งคืออึดอัดเรื่องรัฐบาล เรื่องการจัดการโควิด แล้วช่วงหลังที่คนออกมาน้อยเพราะคนรู้สึกว่าตัวข้อเรียกร้องต่างๆ มันไม่ถูกขยับจากฝ่ายรัฐ เขาก็คงรู้สึกว่าออกมาแล้วมันไม่ได้อะไร ออกมามันก็มีค่าใช้จ่าย มีเรื่องเวลาที่สูญเสีย แล้วพอแกนนำถูกจับ คนก็อาจรู้สึกว่าไปต่อยาก เมื่อไปต่อก็ต้องลงทุนลงแรง ต้องเสียทรัพยากร เสียค่าใช้จ่าย แล้วรัฐไม่ขยับตามเลย และยังกลายเป็นเขาเลือกใช้กระสุนยางจัดการ คนจำนวนมากไม่พร้อมที่จะจ่ายราคานี้ มันแพงไป พอออกมาแล้วแล้วต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ คนเลยเปลี่ยนไปเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น เช่น เคลื่อนไหวทางออนไลน์” ปฏิภัทรให้ความเห็น
“เขาเปลี่ยนวิธีการ คือมันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็แค่อาจต้องรอเวลา อย่างมูฟเรื่องไม่ยืนโรงหนัง เราก็เห็นว่ามันจะไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมแล้วมันไปของมันเองแล้ว” เมธิชัยเสริม
“สังคมในภาพกว้างมันเปลี่ยน แต่ส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจคือพอแกนนำ เช่น รุ้ง เพนกวิน หรือแก๊งราษฎรโดนคดีไปหมด แต่ก็ยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยออกมาจัดม็อบเล็กๆ เคลื่อนไหวต่อ เช่น ตะวัน หรือพวกลุงๆ ป้าๆ เสื้อแดงก็แสดงให้เห็นว่าหมุดหมายมันถูกส่งต่อ เพียงแต่ว่ารูปแบบอาจเปลี่ยนไป คนเหนื่อยก็อาจพักสักช่วง” ปฏิภัทรเล่าต่อ
มีช่วงเวลาที่ถ่ายรูปอยู่ในพื้นที่ชุมชน แล้วผู้ปราศรัยหรือบรรยากาศในตอนนั้นทำให้รู้สึกมีหวัง หรือแม้กระทั่งน้ำตารื้นบ้างไหม
“มี” ทั้ง2 คนตอบอย่างรวดเร็ว
อย่างม็อบวันที่มีเยาวชนตัดผม (วันที่ 10 ต.ค. 64 มีมี่ เยาวชนอายุ 17 ปีโกนศีรษะประท้วงพลเอกประยุทธ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ก็รู้สึกเติมเต็ม จะร้องเหมือนกัน มันตรงกับที่เราคิดว่าเวลามันอยู่ข้างเรา อย่างน้อยเวลามันก็จะพรากคนที่กุมอำนาจไปในที่สุด แล้วมันก็จะเปลี่ยนผ่านเป็นยุคของเด็กๆ กลุ่มนี้ ก็มีความหวังมากขึ้นว่าเขามีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เห็นใจผู้คน เราคิดว่ามันจะดีขึ้น
เมธิชัยเล่า
“มันรู้สึกดีเวลามันเห็นพลังร่วมกันของคน รู้สึกดีนะที่เราได้อยู่ตรงนั้นแล้วก็เห็นพลังที่คนคิดเหมือนกัน มันมีเป้าหมาย มีความปรารถนาให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมา” ปฏิภัทรต่อความ
รูปภาพที่อยู่ในสื่อได้รับการแชร์ออกไปมากมาย ผู้คนพูดถึง บางภาพเป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมในการพิสูจน์การใช้กำลังและอำนาจเกินขอบข่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ บางภาพกลายเป็นมีมที่ถูกนำไปเล่นต่อจากคนที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน บางภาพต่อกันแล้วเป็น photo essay ที่สวยงามและแปลกใหม่


“รู้สึกดีที่เขาเข้าใจ message ที่เราใส่เข้าไป บางวันที่ม็อบมันเป็นความหวัง เราก็ถ่ายด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นความหวังจริงๆ แล้วถ้าเขารู้สึกด้วยก็รู้สึกดี เพราะเราก็เป็นคนๆ หนึ่ง แต่เราแค่มาทำงานตรงนี้ เรามีความหวังอยู่ข้างใน” เมธิชัยตอบ
“รูปเราส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นรูปของความหวังอะไร ส่วนใหญ่มันจะเป็นเหตุการณ์ เป็นรูปที่เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ เรารู้สึกดีที่ภาพมันถูกกระจายออกไปแล้วถูกพูดถึง เพราะมันแสดงให้เห็นว่าภาพได้ทำงานของมันแล้ว หลายๆ ภาพก็เห็นว่ารัฐมันใช้ความรุนแรงกับประชาชน เพราะถ้าไม่มีภาพออกไป คนก็จะไม่รู้ว่าตำรวจทำอะไรบ้าง
แต่รูปจ่อยิงรูปนั้น พอออกไปแล้วภาพมันถูกนำไปใช้ต่อเพื่อตั้งคำถามเรื่องปฏิบัติการของตำรวจ มีการแชร์ มีการเทียบเคียงกับเคสอื่นๆ เคสนี้เป็นตัวอย่างของภาพข่าวที่ลงไปแล้วเกิดอิมแพ็คบางอย่างต่อสังคมในการเป็นประจักษ์พยาน ขณะที่ตำรวจ รอง ผบช.น. ออกมาบอกว่าการทำงานปฏิบัติตามหลักสากลและไม่มีการยิงผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริง” ปฏิภัทรตอบ
ณ ปัจจุบัน ปฏิภัทรยังทำงานเป็นช่างภาพต่อไป เมธิชัยเองก็เช่นกัน นอกจากการบันทึกภาพการชุมนุมหลายร้อยครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์ข่าวอื่นๆ ในชีวิตประจำวันก็ยังสำคัญมากสำหรับพวกเขาในฐานะสื่อมวลชน
การเมืองก็คือทุกเรื่องในชีวิต อย่างผมชอบถ่ายวิถีชีวิตคน สุดท้ายมันก็มาเข้ากับการเมืองอยู่ดี เพราะคนก็อยู่ภายใต้ระบบการปกครอง ทั้งเรื่องกินนอน การเมืองมันครอบคลุมทุกอย่าง สิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ของคน มันไม่ใช่แค่ม็อบ การเมืองคือชีวิตคน
เมธิชัยกล่าว
ถ้าประเทศดี การเมืองดี ผู้บริหารดี ชีวิตมันก็ดีในภาพรวม ฉะนั้น มันก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง เชื่อมโยงกับทุกหน่วยย่อยๆ สมมติว่าเรามีรัฐสวัสดิการที่ดี รัฐสนับสนุนเรื่องการเรียนของลูก ก็ส่งผลกับครอบครัว ค่าใช้จ่ายในครอบครัว พอค่าใช้จ่ายในครอบครัวดี ก็สัมพันธ์กับเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เราสามารถที่จะมีเวลาไปทำอย่างอื่นแทนที่จะต้องมุ่งมั่นทำมาหากินอย่างเดียว ถ้าการเมืองดีมันก็ส่งผลโยงใยกัน
ปฏิภัทรเสริม
ปฏิภัทรหยอกเคล้าเสียงหัวเราะว่าถ้าไม่มาให้สัมภาษณ์ในวันนี้ เขาก็คงจะไปรอลงพื้นที่เผื่อว่าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนเมธิชัยก็ทำโปรเจ็กต์ทั้งภาพนิ่งและวิดิโออยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนตึกร้าง 95/1 ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจัดการบริการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิด 19 หรือปัญหาน้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง
“การเปลี่ยนแปลงมีเรื่อยๆ อยู่แล้ว อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 63 ใครจะไปคิด เราจินตนาการไม่ออก แต่พอปุบปับ ปีสองปีก็เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเราตายไปมันก็คงเดินไปของมัน”
เมธิชัย เตียวนะ
“แต่เราอยากเห็น อยากอยู่ในยุคที่มันสว่าง แล้วมันก็น่าเศร้าถ้าแก่ไปอายุหกเจ็ดสิบปีแล้วมันยังอยู่แบบนี้ (หัวเราะ)”
ปฏิภัทร จันทร์ทอง

แล้วเราก็หัวเราะให้กันในร้านแมคโดนัลด์ ท่ามกลางเสียงจอแจของเยาวชนที่กำลังครึกครื้นกับกองเฟรนช์ฟรายส์ ก่อนจะเดินออกจากร้านฟาสต์ฟู้ดที่เป็นหลุมหลบภัยและหลุมส่งงานของช่างภาพทั้งหลายยามม็อบบุกแถบราชดำเนิน แล้วไปถ่ายรูปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันธรรมดา
วันธรรมดาวันนี้ เราเดินเข้าไปหามุมถ่ายภาพ คุยเล่น และสำรวจรอบๆ อนุสาวรีย์ได้อย่างสบายใจ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเปลี่ยนระบบนิเวศน์รอบๆ มันอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะการชุมนุมและการปรับปรุงพื้นที่ของรัฐ แต่ไม่ว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
วันนี้ไม่รู้ว่าใครมันดันมือบอนไปเขียนตรงประตูสีแดงว่า No 112
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

อ้างอิง