ฟื้นคืนจิตวิญญาณสมุดปกเหลืองของปรีดี สู่ รัฐธรรมนูญคนจน ปกเขียว

การเดินทางเพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงเช้าอันแสนวุ่นวาย ความยุ่งเหยิงของการเดินทางในเช้าเสาร์ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่เคยคาดหวังได้ แต่เรายังคงมีโชคอยู่บ้างที่สายฝนไม่ได้โปรยปรายลงมาเพื่อซ้ำเติม นั่นคือ ความโชคดีเล็กๆ ที่ทำให้เราคิดว่า ชีวิตคงยังไม่แย่จนเกินไปนัก ความหวังยังคงอยู่ปลายทาง แสงสว่างยังทออยู่ไกลๆ ณ ที่แห่งนั้น จิตวิญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงยังคงไหลวนอยู่ในตัว

พลังของความเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรเสมอ ถึงแม้ว่าปลายทางของการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจนำพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่งก็ตาม แต่อย่างน้อย เราก็ยังหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ดี จริงไหม

ความหวังสูงสุดของการเปลี่ยนแปลง

วงระดมความเห็น รัฐธรรมนูญฉบับคนจน เรื่องการกระจายอำนาจ ที่ The Voters จัดร่วมกับ สมัชชาคนจน

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เสาหลักของประชาธิปไตยถูกหักโค่นลงอย่างไม่ไยดี กฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกทิ้ง การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นไม่เพียงแต่ดูแคลนกฎหมายสูงสุด ยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนจนและประชาชนทุกคน รัฐราชการกลับผงาดขึ้นมาครองแผ่นดิน การไม่ฟังเสียงทัดทานของคนในสังคม ปัญหาของคนในสังคมถูกเพิกเฉย

มีการแทรกแซงจากชายชุดเขียว ความสั่นคลอนของความเชื่อมั่นภายในเนื้อเพลงที่เปิดกล่อมซ้ำไปซ้ำมาว่า ความสุขของเราจะกลับมา เวลาผ่านไป ว่างเปล่า เดียวดาย แต่มากกว่านั้น คือ การที่คณะบุคคลเรียกสั้นๆ ว่า คสช. ใช่ เขาคือ คนกลุ่มเดียวกันกับคนที่ร้องเพลงนั่น ได้เริ่มกระบวนการคืนความสุขในแบบของเขาให้กับเรา ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งปี 2560 กาลเวลาเดินหน้าไป ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจ ไม่ใช่ความทันสมัยของรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นรัฐธรรมนูญที่กลับหัวกลับหางได้มากสุดเท่าที่เราเคยมีมา ตลกร้ายดันอยู่ที่ว่า นี่คือ กฎหมายสูงสุดที่เราทุกคนต้องพิทักษ์ไว้

ในเมื่อสิ่งนี้คือ สิ่งที่เราต้องพิทักษ์ ทางเดียวที่เราจะทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ คือ การสร้างความหวังครั้งใหม่ขึ้นมา วันนี้ในเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงเราอยู่กับกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เกิดสิ่งนั้น

รัฐ และคนจน

เพื่อให้เราทำความเข้าใจกับเส้นทางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เราขอเท้าความไปตั้งแต่จุดกำเนิดของพลังจากกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า เครือข่ายสมัชชาคนจน ผู้ตั้งใจเป็นกระบอกเสียงทางการเมืองแก่ชาวบ้านและคนชายขอบของสังคม สมาชิกประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน และด้วยความหลากหลายของสมาชิกนี้เอง ทำให้การก้าวข้ามเส้นแบ่งภูมิภาคและชนชั้น

จนปัจจุบันเรียกได้ว่า สมัชชานี้เป็นองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของคนทุกคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง จากความเชื่อมั่นที่ได้ถูกสั่นคลอนลงจากอำนาจอยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การรัฐประหารนั้น เครือข่ายสมัชชาคนจนเอง จึงได้มีการจัดเวทีอบรมเพื่อพลิกฟื้นหลักการด้านประชาธิปไตยให้กลับคืนมา โดยได้เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561

ภายใต้การอบรมนี้มีการร่วมกันวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ จึงเห็นความบิดเบี้ยวของร่างรัฐธรรมนูญ โดยพัฒนาการของกระบวนการในการขับเคลื่อนประเด็นเชิงนโยบายประชาธิปไตยนั้น ได้พัฒนาจากการโต้เถียง วิพากษ์ วิจารณ์ตามสิทธิที่พึงมีของประชาชนภายใต้หลักการสากล ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว มีความเห็นพ้องกันว่า

รัฐธรรมนูญที่ คสช. ยกร่างขึ้นมานั้น มีปัญหาในหลายประการ และเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งยังปราศจากซึ่งผลประโยชน์แก่คนจนผู้ที่ปกติแล้วก็มิอาจได้รับความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ จากรัฐอยู่แล้ว ยิ่งตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญนี้ปราศจากศักดิ์และสิทธิ์ที่ควรมอบให้แด่คนจน

ดังนั้น สมัชชาคนจนจึงได้เริ่มกระบวนการรณรงค์เพื่อแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่  การร่วมพัฒนาข้อเสนอต่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมีด้วยกันทั้งหมด 10 หัวข้อ ได้แก่ สิทธิเกษตรกร สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชนและการพัฒนา สิทธิด้านที่อยู่อาศัย สิทธิด้านการศึกษา สิทธิสำหรับชายแดนใต้ การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในนโยบายการค้าเสรี สิทธิในที่ดิน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกลไกเพื่อการปกป้องสิทธิ ประเด็นข้างต้นกลายมาเป็นสารตั้งต้นให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจนในเวลาต่อมา

จากการเคี่ยวกรำทางความคิดของตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรเกษตรกร องค์กรคนจนเมือง องค์กรสตรี องค์กรของผู้หลากหลายทางเพศ องค์กรเยาวชน สหภาพแรงงาน องค์กรประชาธิปไตยและองค์กรรากหญ้าอื่นๆ มากกว่า 330 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 118 องค์กร ใน 53 จังหวัด และ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเรียบง่าย แต่ตรงไปตรงมาในการสื่อสารว่า รัฐธรรมนูญฉบับคนจน

การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับคนจน

ถ้าหากมีคนจดบันทึกเส้นทางจริงๆ ของผู้คนที่มาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราคงมองเห็นเส้นทางที่ยาวและคดเคี้ยว เพราะไม่เพียงแต่เส้นทางที่วัดได้จริง หากแต่เชื้อเพลิงแห่งการเดินทางคือ ศรัทธาและความเชื่อมั่นในพลังของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะการประชุมเพื่อระดมความเห็นในเวทีภาคที่ผ่านมาแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า  200-300 คน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม ผู้นำคนจนเมือง ผู้นำแรงงานและผู้นำเกษตรกร เราเห็นได้ชัดเลยว่า เส้นทางนี้มีผู้ร่วมเดินทางไม่น้อยเลยจริงๆ

การซอกแซกซอกซอย ความจอแจได้สงบลง เราพบว่า เราเดินถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการถกเถียงประเด็นการกระจายอำนาจของรัฐธรรมนูญฉบับคนจน โดยผู้เข้าร่วมเวทีในวันนี้ได้ทยอยเข้ามาทักทายในห้องประชุมเล็กๆ ทำให้บรรยากาศของเส้นทางการแลกเปลี่ยนเริ่มเข้มข้นขึ้นทันที เราได้บุคคลที่ทุกคนในเวทีต้องหันไปยกมือไหว้และกล่าวทักทายด้วยคำว่า อาจารย์

ชำนาญ จันทร์เรือง ในเวทีแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจารย์ชำนาญ เปรียบเหมือน Encyclopedia ที่หันไปหาปุ๊บ เราจะได้คำอธิบายที่เข้าใจง่าย ถูกต้องปั๊บ และในเวทีนี้ บารมี ชัยรัตน์ จากสมัชาชาคนจน ก็คงเป็นเหมือนพรานนำทางในแผนที่การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับคนจนนี้

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ที่คอยส่องไฟให้เห็นถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงใด และการเดินทางในเวทีนี้ อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการผู้ผลักดันรัฐสวัสดิการ ก็พาเราเดินขึ้นไปแถบนอร์ดิกด้วยแนวคิดรัฐสวัสดิการ และมี ชลธร วงศ์รัศมี ที่ปรึกษา The Voters ที่ขับเคลื่อนวงประชุมนี้ให้กระชับและได้ข้อสรุปในที่สุด นอกจากนี้ในเวทียังมีผู้ร่วมออกเดินทางไปกับเราอีกหลายท่าน

เริ่มต้นการเดินทางอีกครั้งด้วยทางใหม่ที่ยังไม่เคยไปถึงกันดีกว่า

เราหยิบสมุดเล่มเล็กๆ สีเขียวๆ ซึ่งวันนี้จะทำหน้าที่เป็นแผนที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง ประเด็นการกระจายอำนาจ และการปกครองส่วนท้องถิ่น เราเปิดหน้าแรกขึ้นมาพร้อมๆ กับบารมีได้ชี้ให้เห็นว่า ปลายทางของสมุดเล่มเขียวหนาเพียงแค่ 20 หน้านี้ จะถูกเสนอให้แก่พรรคการเมือง เพื่อตั้งต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งอาจารย์ชำนาญบอกเราว่า กลับหัวกลับหางที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์เราได้จารึกมา นี่แค่เริ่มนะ ปลายทางกับต้นทางก็น่าสนใจแล้ว….

งั้นเรามาเริ่มต้นเคลียร์แนวคิดการกระจายอำนาจ

เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจ จุดโฟกัสเรามักอยู่ที่ 2 ประเด็นคือ อำนาจการเมือง อำนาจการบริหาร ซึ่งอาจารย์ชำนาญได้ใช้เวทีนี้เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ โดยได้อธิบายและขยายความเพิ่มเติมเรื่องแนวคิดการกระจายอำนาจ

คำว่าการกระจายอำนาจ จริงๆ แล้วเป็นการแปลความที่ผิดพลาด เพราะคำว่า Decentralization ควรใช้คำว่า ยุติการรวมศูนย์ เพราะนิยามของ Decentralization คือ การไม่รวมศูนย์ อำนาจการเมือง อำนาจการบริหาร

ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก

คือ การแบ่งอำนาจ การมอบอำนาจ และการโอนอำนาจ ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษนั้น ไม่เคยมีหน่วยงานที่เรียกว่า ราชการส่วนภูมิภาคเลย นอกจากนี้การยุติการรวมศูนย์ ยังหมายรวมไปถึง รายได้ทางการคลัง ระบบเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งสหกรณ์ การแปรรูปกิจการของรัฐให้ถึงมือประชาชน สุดท้ายคือ การยกเลิกกฎระเบียบ

ในเมื่อเข้าใจคอนเซ็ปต์ตั้งต้นแล้ว เรามาต่อกันในเนื้อหากันดีกว่า

จากเวทีการรับฟังของแต่ละภาคที่บารมีเล่าให้เราฟังนั้น เรื่องการกระจายอำนาจอาจเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ถกกันให้กระจ่างซึ่งในเวทีนี้ ได้เริ่มตั้งหลักเส้นทางของการกระจายอำนาจจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า อาจารย์ชำนาญ เริ่มเปิดการวิพากษ์ข้อเสนอของสมัชชาคนจน เรื่อง ธรรมนูญท้องถิ่น ซึ่งอาจารย์ชำนาญเห็นว่าควรหาคำที่สื่อถึงความหมายของพันธกรณีหรือข้อผูกพัน

ซึ่งจะสอดรับไปกับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยภายหลังจากการถกกันพอสมควร สุดท้ายเวทีได้เห็นพ้องกันว่า ควรให้มีการจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนาจท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการทรัพยากรข้ามเขตการปกครอง ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากในกรณีการเกิดข้อพิพาท ระหว่างเขตการปกครอง พึงให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการหาข้อตงลงร่วมกัน

โดยไม่ส่งเรื่องไปพิจารณาที่ส่วนกลางเพื่อลดขั้นตอนและทำให้การพิจารณาประเด็นจากคนในท้องถิ่นเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนในพื้นที่

ในประเด็นนี้มี case study ที่น่าสนใจจากชลธรเรื่อง USEPA หรือ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) หรือ อีพีเอ เป็นหน่วยงานระดับประเทศ หรือระดับรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีหน้าที่ดูแลปกป้องสุขภาพของมวลมนุษย์และปกป้องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งได้แก่อากาศ น้ำ และแผ่นดิน เป็นหน่วยงานที่ดึงอำนาจการจัดการทรัพยากรประเทศมาจัดการ

ซึ่งเราควรศึกษาอำนาจและหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว เพื่อมาเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวโยงและทับซ้อนกันในเชิงพื้นที่ การกำหนดให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ในการพิทักษ์ประชาธิปไตย

อาจารย์ษัษฐรัมย์เน้นย้ำข้อเสนอจากสมัชชาคนจนเรื่อง การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยเสนอแนะว่า

รัฐธรรมนูญนี้ควรเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก เพื่อป้องกันไม่ให้วงล้อของประวัติศาสตร์หมุนซ้ำรอยเดิม เกิดการสืบทอดอำนาจที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนเหมือนที่แล้วมา นอกจากนี้ ประเด็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลถือว่าเป็นหลักการสูงสุดที่จะคงไว้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสูงสุดที่จะละเมิดมิได้

เป็นประเด็นของอาจารย์ษัษฐรัมย์ที่ได้ดันบาร์ของเราไปอีกรอบตามคาด

โดยเมื่อลงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญนั้น อาจารย์ษัษฐรัมย์ได้ให้ความเห็น คำว่า ความเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี ความมั่นคง กลุ่มคำเหล่านี้ควรตัดทิ้ง เพราะเป็นเสมือนเครื่องมือที่เอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 60 ที่ให้ความสำคัญกับรัฐ ก่อนสิทธิประชาชน และให้ความมั่นคงของรัฐ อยู่เหนือประชาชน

นอกจากนี้ในประเด็นการเปลี่ยนอำนาจการจัดการและการใช้ทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ที่รัฐมาเป็นอำนาจของประชาชน โดยตัดคำว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เนื่องจากการตีความกฎหมายลูกที่บังคับใช้โดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถทำได้ เพื่อเป็นการปิดช่อง และลดขั้นตอนในการใช้องค์กรวินิจฉัย

เสาหลักของโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น

จากที่เราได้ฟังการดันบาร์ไป เพื่อจะเข้าใจเรื่องโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ก่อนไปที่เสาหลักสำคัญของโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ไหนๆ ชลธรได้เล่าเรื่องของ Case study ไปแล้ว เราลองหันไปดูทางประเทศญี่ปุ่นบ้าง

ชัชฎา กําลังแพทย์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งซูมทางไกลมาได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจ ในประเทศญี่ปุ่นการบริหารราชการท้องถิ่น นั้นเป็นการกระจายอำนาจของ 3 เสาหลักคือ คน งาน และงบประมาณ โดยประเทศญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนข้าราชการท้องถิ่นถึง 2 ล้านคน และข้าราชการท้องถิ่นนั้นพึงได้รับสวัสดิการที่จัดสรรให้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นการดึงดูดให้บุคลากรที่มีศักยภาพเดินทางกลับถิ่นฐานเพื่อมาดูแลทรัพยากรของท้องถิ่นตนเอง

เอาล่ะ หันกลับมาดูที่ข้อเสนอของสมัชชาคนจนกันบ้าง ในประเด็นการกระจายอำนาจ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจนได้เสนอให้ มี การกระจายอำนาจการปกครองให้ประชาชน ให้จังหวัดจัดการตนเอง เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดตั้งสภาพลเมือง ซึ่งในประเด็นนี้ เรื่องสภาพลเมือง เป็นเรื่องที่ในเวทีได้ให้ความคิดเห็นไว้อย่างท้าทาย

อาจารย์ชำนาญเน้นย้ำถึงการเขียนโครงสร้างสภาเมืองที่ต้องประกอบขึ้นจากการเลือกตั้ง มีการระบุโครงสร้างสมาชิกสภาฯ แบบหลวมๆ และให้อำนาจในการระบุจำนวนคน โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่ สภาพประชาชน และสภาพความหลากหลายของประชากรในพื้นที่ เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตน

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจในการจัดการทรัพยากร และบริหารกิจการต่างๆ ให้แก่องค์กรต่างๆ ในจังหวัด โดยไม่ยึดโยงกับผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดมากนัก หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ ผู้ว่าฯ CEO ในสมัยหนึ่ง เพื่อเป็นการลดความเป็นไปได้ในการบริหารแบบเผด็จการ

ผู้ว่าฯ ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเพียงลำพัง อาจารย์ชำนาญยังได้เน้นย้ำประเด็นช่องโหว่จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ระบุให้บุคคลที่มีสิทธิใช้อำนาจการบริหารต่างๆ ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยอาจให้คง ระบบ อบจ. ไว้หรือไม่ก็ได้ เพราะแก่นของการบริหารจัดการต่างๆ ในส่วนภูมิภาคนั้นควรมาจากการจัดสรรทรัพยากรโดยคนในพื้นที่ร่วมกัน

ทั้งนี้เวทีเห็นพ้องว่า ควรเสนอใช้คำ ผู้บริหารผู้สูงสุดของจังหวัด แทน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนี้การผลักดันให้เกิดการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น จำเป็นต้องกำหนดการจัดการทรัพยากรบุคคล อำนาจหน้าที่การบริหารงาน และการจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญไว้ตั้งแต่แรก

เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว เมื่อเข้ามาพิจารณาในรายละเอียดในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาการคืนอำนาจ ในมิติต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว

เสาไฟฟ้า โครงการขนาดใหญ่และการแทรกแซงจากส่วนกลาง

บารมียกตัวอย่าง เรื่องเสาไฟฟ้าให้เราฟังว่า อำนาจของรัฐที่สามารถเรียกเวนคืนที่ดินในรัศมีการตั้งเสาไฟฟ้า โดยเมื่อพื้นที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น

ประชาชนจะถูกลิดรอนสิทธิทำกินของตนไปเรื่อยๆ เพียงเพราะผลประโยชน์ของรัฐนั้นเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องมีผู้เสียสละ ดังนั้น จึงควรยกเลิกอำนาจรัฐในการใช้อำนาจแทรกแซงท้องถิ่น เช่น การดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐวิสาหกิจ หรือ โครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการ และมีอำนาจในการเลือกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ด้วยตนเอง

ยังควรให้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นกฎหมายในการควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ต่อประชาชน ซึ่งเขียนโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งลดหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ โดยกำหนดให้การใช้อำนาจต่างๆ เป็นของท้องถิ่นนั้นๆ ยกเว้นเพียงแค่การบริการสาธารณะด้านการต่างประเทศ และด้านการป้องกันประเทศ

อาจารย์ชำนาญยังเน้นย้ำว่า ควรมีการแก้ไขไม่ให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงินหรืองบประมาณก่อนนำเรื่องเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณา เนื่องจากหน้าที่การจัดสรรงบประมาณเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีไม่สามารถอ้างถึงการไม่มีงบประมาณมาดำเนินการบริหารแผ่นดินได้

การมีส่วนร่วม แต่ไม่เคยได้ยินเสียงที่ร่วมเลย

ในระหว่างการอภิปรายอย่างเข้มข้น เมื่อมาถึงประเด็น การมีส่วนร่วมของประชาชน บารมีชี้ให้เราเห็นถึงกระบวนการที่ขัดแย้งกับผลลัพธ์ นั้นคือ คำว่า การมีส่วนร่วม เพราะเป็นได้แค่การเข้าไปร่วม แต่ไม่เคยได้มี อำนาจ หรือ เป็นเจ้าของ เพื่อตัดสินใจในอนาคตหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง และตัดการใช้คำที่เปิดโอกาสให้รัฐสามารถใช้อำนาจกับประชาชน เช่น ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นต้น

เทวฤทธิ์ ยังได้เสนอการย้ายหมวดการสื่อสาร โดยพิจารณาปรับเปลี่ยนหมวด จากหมวดหน้าที่ของรัฐ ไปอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นนัยของการลดอำนาจกองทัพในการควบคุมการสื่อสาร เพื่อให้สิทธิการแสดงออกของประชาชนไม่ถูกปิดกั้นเหมือนอย่างที่ผ่านมา

แนวคิดรัฐสวัสดิการเพื่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียม

แนวคิดเรื่องการเสนอการยกระดับระบบรัฐสวัสดิการ อาจารย์ษัษฐรัมย์ผู้ทั้งผลักและดันให้ ฟื้นคืนจิตวิญญาณของสมุดปกเหลืองของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นร่างแผนเศรษฐกิจเพื่อปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน ที่ ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎร เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476  

แนวทางที่อาจารย์ษัษฐรัมย์เสนอให้เราฟังนั้น อยู่บนพื้นฐานเดียวกันกับโมเดลรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิก ซึ่งอาจารย์มองว่าเป็นโมเดลรัฐสวัสดิการที่เป็นมิตรกับคนส่วนใหญ่ และให้อำนาจท้องถิ่นในการดูแลเรื่องรัฐสวัสดิการ อาทิ การสนับสนุนค่าครองชีพระหว่างการศึกษาอย่างถ้วนหน้าในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

หรือการมีสิทธิได้รับค่าครองชีพจากรัฐให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน หรือ UBI นอกจากนี้ยังเสนอให้มีสิทธิในการได้รับบริการขนส่งสาธารณะจากรัฐที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ปลอดภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และท้ายสุดคือ การแก้ปัญหาที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ คือ ทุกคนควรมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นต้น  

ระยะเวลาการเดินทางต่อจากนี้

ในประเด็นการระบุระยะเวลาการดำเนินการคืนอำนาจ โดยอาจอ้างอิงจากร่างฯ ของคณะก้าวหน้าที่ได้เสนอไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี หรือพิจารณาจากการเสนอของ The Voters นอกจากนี้ในประเด็นการเสนอรัฐธรรมนูญฉบับคนจน เราสามารถเสนอแนบไปกับรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าที่กำลังจะเสนอในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยอาจารย์ชำนาญก็หวังใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบ

แต่หากไม่ผ่าน เราก็ยังไม่หมดหนทาง เพราะยังสามารถรวบรวมรายชื่อจำนวน 50,000 คน เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่กระทั่งเสนอแก้ไขแค่หมวด 14 ไปก่อนเพื่อคืนอำนาจที่เป็นของประชาชนตั้งแต่แรกให้กลับคืนสู่มือเจ้าของอย่างแท้จริง

การเดินทางกลับบ้านในช่วงบ่าย ถึงแม้อากาศจะร้อนเพราะฝนเริ่มตั้งเค้า แต่เรารู้ว่าเราจะถึงบ้านทันก่อนเวลาฝนตก และถึงแม้ว่าเราจะกลับไม่ทัน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เรากระชับกระเป๋าขึ้นแนบตัวพลางรู้สึกอุ่นใจ เพราะร่มคันเล็กที่เราพกมา บอกเราว่า ถึงแม้อาจยังป้องกันฝนไม่ได้ดีนัก แต่อย่างน้อยก็คงไม่เปียกปอนจนเกินไปหรอก แก้ปัญหาไปได้สักหน่อยก็ยังดี

เพราะเมื่อฝนหยุดตก เราคงเห็นอะไรชัดขึ้น เผลอๆ รุ้งอาจทอวงโค้งงดงามรอเราอยู่

โปรดรอติดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดทั่วประเทศ และจังหวัดจัดการตนเอง ฉบับประชาชน ที่จะเปิดให้ลงชื่อในเว็บพร้อมเลขบัตรประชาชน ให้ถึง 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อผลทางกฎหมาย เร็วๆ นี้   

Authors

  • ผู้อยากใช้ชื่อรันวงการว่า เพนนี โตขึ้นอยากเป็น zoo keeper เพราะชอบสังเกตพฤติกรรมหมา แมว และคน ความสนใจตอนนี้คือ อยากรู้ว่าคนเราจะสามารถ หยุดทำงานแล้วยังมีกินได้เมื่อไหร่ ถ้าทำได้ก็อยากเห็นในเร็ววัน และความสนใจอื่นๆ ก็มีเป็นประปราย เพราะเชื่อว่า มนุษย์มีความสนใจที่หลากหลาย และทำได้หลายอย่าง แต่ต้องเลือกทำครั้งละ 1 อย่างก็จะดีที่สุด

  • มนุษย์ขี้กลัว เพื่อนหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *