รัฐประหาร 19 กันยา 49 เราสูญเสียอะไร?

สิบเก้ากันยายนของทุกปี นับเป็นความอดสูร้ายแรงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย เมื่อ ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’ ประธานองคมนตรีในเวลานั้น พาคณะรัฐประหาร นำโดย ‘พลเอก สนธิ บุญรัตนกลิน’ และสมาชิก เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ กลางดึกวันที่ 19 กันยายน 2549

สัญญาณการยึดอำนาจจึงเริ่มขึ้น

ย้อนกลับไปก่อนหน้า การเมืองไทยดำเนินมาจนถึงปลายทศวรรษ 2540 การออกมาขับไล่รัฐบาล ไทยรักไทย ของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วงปลายปี 2548 ถึง 2549 โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นและหมิ่นสถาบันเบื้องสูง จุดชนวนแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งเค้าบนฟ้าทะมึน

ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลที่เคยชนะเลือกตั้งล้นหลามในปี 2544 และ 2548 ต้องประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 บนการบอยคอตของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำโดย ประชาธิปัตย์

อย่าไรก็ตาม เพลิงพิโรธของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการขับไล่รัฐบาลยังลุกโชน เมื่อมีการเรียกร้องนายกพระราชทานฯ หรือ การเสนอให้ใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยนักวิชาการ ปัญญาชน จำนวนหนึ่งซึ่งอธิบายอย่างชาญฉลาดว่า จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ มีพระราชดำรัสในวันที่ 25 เมษายน 2549 ใจความสำคัญ 2 เรื่องคือ ให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่หารือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่การพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของนักวิชาการ ปัญญาชน พระองค์ทรงตรัสว่าเป็นสิ่งที่เกินเลยในทางพระราชอำนาจ ข้อเรียกร้องนี้จึงยุติ

เครื่องมือใหม่ที่รู้จักกันในนาม ตุลาการภิวัตน์ เป็นปมตราบปัจจุบัน

และแล้วการรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่นายกรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจที่สหประชาชาติก็บังเกิดขึ้น นับจนถึงวันนี้ สังคมไทยสูญเสียอะไรไปบ้าง สารคดีชิ้นนี้ มีคำตอบ

สูญเสียรัฐธรรมนูญปี 40

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการขนานว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง ริ้วบรรยากาศของสังคมไทยก่อนหน้านั้นแต้มแต่งไปด้วยความตื่นตัว ไม่เพียงในเมืองหลวง หมายรมถึงทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ธงเขียวถูกชูสะบัด เพื่อรณรงค์ให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ข้อมูลจากรายงานการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ประจำจังหวัดของ ส.ส.ร. พบว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่า 800,000 คน นี่ยังไม่รวมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรธุรกิจ และที่พรรคการเมืองจัดกันเอง

นอกจากนี้ สสร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมของประชาชน แต่ละจังหวัดจำนวน 76 คน ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการ 23 คน รัฐธรรมนูญปี 40 ยังสร้างมาตรฐานหมวดสิทธิและเสรีภาพ ยกตัวอย่าง สิทธิชุมชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และเสรีภาพในทางวิชาการ ฯลฯ

ประกอบกับสิ่งสำคัญที่ปัจจุบันสร้างปัญหามากคือ รัฐธรรมนูญปี 40 วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งจำนวน 200 คน รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้มี ส.ว. จากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละครึ่ง ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ต่างประเทศที่เจริญแล้วไหนๆ ก็ไม่ทำกัน

รัฐธรรมนูญปี 40 ยังเป็นที่มาของ องค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ โดยมีเจตจำนงเพื่อเป็นองค์กรตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมือง

แต่การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด ส่งผลให้เจตจำนงดังกล่าวบิดเบี้ยวไป

สุดท้ายคือ นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

สูญเสียการกระจายอำนาจ

การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จิ้มเครื่องคิดเลขบวกลบคูณหาร แม้เป็นการกระจายอำนาจที่ไม่เต็มนัก จนพลพรรคคณะก้าวหน้าต้องรณรงค์ปลดล็อคท้องถิ่น แต่ก็นับเป็นไม้ขีดก้านแรกๆ ในการส่องสว่างเส้นทางของการกระจายอำนาจ หากไม่รัฐประหารขึ้นเสียก่อน

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ เขียนคอลัมน์ชื่อ รัฐธรรมนูญกับการกระจายอำนาจ ในกรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ ระบุว่า การปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกกำหนดขึ้นในรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อปี 2540 ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550

รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับได้มีบทบัญญัติให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเจริญเติบโตมากขึ้น แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับมีการจำกัดกรอบหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลง อาจารย์ชำนาญวิเคราะห์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วเห็นว่า ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจไว้เลย

เหนืออื่นใดคือ แม้แต่คำว่า การกระจายอำนาจ ก็ยังไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ปี2560 แม้แต่คำเดียว แม้มีผู้แย้งว่ามี หนึ่งคำ คือ กระจายหน้าที่และอำนาจ ในมาตรา 250 วรรคสาม อาจารย์ว่าฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นคนละความหมายกับคำว่าการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง

รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ในมาตรา 76 ของหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 87 ได้บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายและการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างละเอียดเช่นกัน

มาตรา 282 ของรัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น อันเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระในบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

มาตรา 283 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้กำหนดให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อกำหนดการแบ่งอำนาจหน้าที่และจัดสรรรายได้ไว้ด้วย

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องได้รับการพิจารณา คือ 1) รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) ประเด็นการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารการเงินและการคลัง 3) บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4) การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 5) การตรวจสอบ

สำคัญสุดคือ บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต ไม่ควรเน้นเฉพาะในเรื่องการดำเนินกิจการบริการสาธารณะเท่านั้น แต่ควรมีบทบาทในการดำเนินกิจการในเรื่องอื่นด้วย เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การสร้างงาน หรือการช่วยเหลือคนยากจน เป็นต้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงไม่เคยเกิดขึ้นตลอด 90 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475

ระหว่าง พ.ศ. 2490 – พ.ศ. 2565 มีรัฐประหาร 13 ครั้ง องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ถูกครอบงำโดย กระทรวงมหาดไทย อย่างสิ้นเชิง

รัฐประหารแต่ละครั้งทำลายระบบพรรคการเมืองระดับชาติ การพัฒนาประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน อปท. ถูกข้าราชการส่วนภูมิภาคคือนายอำเภอ และผู้ว่าฯ ควบคุมตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงรัฐประหาร มักให้ยกเลิกการเลือกตั้งและให้ข้าราชการประจำเข้าควบคุม อปท. กระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งเสียเอง

สูญเสียสมอง

ก่อนการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 เราอาจต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สื่ออย่างอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน องค์ความรู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยย่อมมีน้อย การเลือกข้างเผด็จการ ข้างจารีต บ่อนทำลายประเทศด้วยวาทกรรมคนดี ย่อมเป็นโทษที่ให้อภัยกันได้

แต่หากลากมาจนถึงเวลาปัจจุบัน ที่แค่เพียงคลิกๆ ปัดๆ ถูๆ หน้าจอโทรศัพท์มือถือ เราๆ ท่านๆ ก็สามารถเสพความรู้ได้แทบทุกด้าน ไม่ว่าใครเป็นคนยิงพยาบาลอาสาจากรางรถไฟฟ้าในปี 53 รัฐลอยนวลพ้นผิดทั้งๆ ที่ฆาตกรรมคนเสื้อแดงกลางเมืองย่านธุรกิจ การปกป้องดินแดนด้วยชื่อหรูๆ ว่าความมั่นคง จนพี่น้องมุสลิมต้องตายในเหตุการณ์ตากใบ

ทั้งหมดทั้งมวลยังคงเป็นคำถามคาใจใครหลายคนว่า ทำไมตรรกะของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คนดีย์ จึงได้พังพินาศป่นปี้ กราฟสมองมีแต่ดิ่งลงๆๆๆๆ หลับหูหลับตาเชียร์ฝั่งเผด็จการจนลิ้นเปียก ขนาด คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเอกฉันท์ มีความรู้ความสามารถ ยังไม่วายโดนด่าเสียๆ หายๆ

ผู้เขียนขอฟันธงชัดๆ เลยว่า

ไม่ทราบเหมือนกัน

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *