สำหรับคุณแล้ว ร้านหนังสือคืออะไร?
ฤดูหยาดฝนโปรยปราย, ป่ายางโปรยไพร สะเดา สงขลา 2022
เราเดินทางออกจากตัวเมืองหาดใหญ่, สงขลา ล้อหมุน จนกระทั่งสองข้างทางเปลี่ยนแปลงจากป่าคอนกรีตในเมืองแปรเปลี่ยนเป็นป่ายาง – ป่ายางในความหมายคือต้นยางที่ถูกปลูกเป็นสวนขนาดใหญ่จนดูเหมือนป่า
บรรยากาศโดยรอบมีสภาพอากาศร้อนมากกว่าร้อนชื้นซึ่งต่างจากในเมืองหาดใหญ่ที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนมาตลอดทั้งสัปดาห์ เส้นทางตรงนั้นเป็นเส้นทางลัดออกไปยัง ปาดังเบซาร์ หรือด่านชายแดนระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศไทย นานๆ ครั้งจะมีรถบรรทุกสวนทางผ่านมา
สำหรับคุณแล้ว ร้านหนังสือคืออะไร?
สำหรับผม ร้านหนังสือคือพื้นที่ที่มีหนังสือมากมายหลายหมวดหมู่ให้เราและหนังสือได้ต่างเป็นผู้เลือกโดยไม่ต้องมีการบังคับขัดขืน
หากแต่ร้านหนังสืออิสระที่ผมกำลังจะไปนั้นเป็นมากกว่าร้านหนังสือทั่วไป
ร้านหนังสือร้านนี้ตั้งอยู่ข้าง องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหมอ ในพื้นที่กว้างและมีธรรมชาติล้อมรอบเต็มไปด้วยต้นไม้ฟอกอากาศ ต้นกระบองเพชร ต้นไทรใบสัก ต้นกกรังกา ต้นศุภโชค จำนวนมากมายที่ถูกปลูกให้ความร่มรื่นทั่วพื้นที่ ซึ่งแต่ละครั้ง นานๆ ครั้ง จะมีลมลอยละลิ่วผ่านมาลู่ลมกับใบไม้ส่งเสียงซู่ซ่า รูดกราว เหมือนกับจะเป็นบทเพลงประกอบการอ่านหนังสือ
ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ชื่อว่า Greenbook Cafe-Space จากพื้นที่ตรงนั้นคล้ายกับเราได้อาบจิตวิญญาณด้วยธรรมชาติ แล้วแต่งเติมจินตนาการด้วยตัวหนังสือ

ดิเรก ชัยชนะ หรือ เชค หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านจากความใฝ่ฝันในวัยเด็ก หลังจากที่ได้ทำงานประจำก็ลาออกมาตามล่าความฝัน ชื่อร้านหนังสือก็คือ Greenbook Cafe-Space แม้ชื่อร้านจะละม้ายคล้ายกับหนัง Greenbook(2018) หนังรางวัลออสการ์ที่บอกเล่าถึงมิตรภาพและความหลากหลายของผู้คน
ไม่เพียงเท่านั้น ในความหมายของคำว่า Green ที่แปลว่าสีเขียวยังบ่งบอกถึงความชื่นชอบของเจ้าของร้านเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และด้วยความชื่นชอบนี้เองที่ทำให้เขาเลือกจัดสรรหมวดหมู่หนังสือในร้านเป็นประเภทสิ่งแวดล้อม วรรณกรรม สังคม การเมือง และสุนทรียะ อันเป็นเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระ แล้วในความหมายของคำว่า Book ในชื่อ ยังบ่งบอกถึงการเป็นพื้นที่ที่มีหนังสืออันเป็นความฝันของเขาอีกด้วย
จากความชื่นชอบเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมนำพาให้ เชคเป็นส่วนหนึ่งของการทำพื้นที่เรียนรู้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานิคมอุตสาหกรรมที่ จะนะ ที่มีการเรียกร้องของชาวบ้านต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อมลภาวะทางน้ำและพื้นที่โดยรอบจากการสร้างเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
โดยมอบอำนาจให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการเมื่อปี 59 ตลอดจนในปัจจุบันมีโครงการที่จะสร้างเจ้าแม่กวนอิมใหญ่ที่สุดในโลกโดยจะสร้างขึ้นในพื้นที่ อ.เทพา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่
บทสนทนาระหว่างเราเริ่มต้นด้วยน้ำชาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรม ขนมสโคน แยมเบอรี่และเนย เคล้าเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง หนังสือ และความหวังในประเทศฝันสลายไร้แสงแห่งหวัง

ความฝันทำให้เกิดเป็นร้านหนังสือ
เชคเล่าให้ฟังว่าโดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ได้ทำร้านหนังสือด้วยแนวคิดของการทำธุรกิจทั่วไป เขาเริ่มต้นด้วยความอยากและความสนุกมากกว่าเรื่องเงิน โดยมีแนวคิดที่ว่าเราสามารถที่จะทำงานไปด้วย สัมพันธ์กับผู้อื่นไปด้วยได้อย่างไร
เขาเล่าให้ฟังอีกว่าก่อนหน้านี้เขาเป็นพนักงานบริษัทมาก่อน ใช้เวลาอยู่ในระบบมนุษย์เงินเดือนเกือบ 2 ทศวรรษ จนวันหนึ่งก็คิดถึงชีวิตอื่นที่ไม่ได้อยู่ตามระบบโดยเริ่มจากความชอบความสนใจด้านจิตวิญญาณ และสุนทรียะ จนมาถึงการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า อิเคบานะ (Ikebana)
แล้วตัวเขาเองก็รู้สึกว่า ร้านหนังสือเป็นความฝัน อยากมีพื้นที่จัดกิจกรรมด้านจิตวิญญาณที่มีคาเฟและร้านหนังสือ เลยลองตั้งร้านแรกที่หาดใหญ่ก่อน สำหรับเขาแล้วร้านหนังสือเหมือนเป็นตัวกลางที่ทำให้คนอื่นๆ มารู้จักกัน ทั้งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การอยู่ดีตายดี ผู้ป่วยติดเตียง หรือจะเป็นประเด็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ร้านหนังสือตั้งอยู่
จากอำเภอหาดใหญ่ ย้ายมาที่อำเภอสะเดา เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกระบาดโควิด19 ที่เรียกร้องให้มนุษย์ต้องปรับตัว เนื่องจากช่วงนั้นมีกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น และด้วยความต้องการที่จะลดต้นทุนของร้าน เลยย้ายกลับมาที่เดิม พอย้ายกลับมาที่บ้านก็ทำให้ตัวเขารู้สึกว่าต้องมีการปรับตัวใหม่ ในตอนนี้เลยเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนสำหรับตัวร้านหนังสือ
โดยร้านหนังสือแห่งนี้เน้นหนังสือในหมวดสิ่งแวดล้อม การเมือง สังคม สุนทรียะและวรรณกรรม อันเป็นหมวดหมู่ที่เราไม่ค่อยได้พบบ่อยนักในร้านหนังสือทั่วไป

ร้านหนังสือคือสิ่งที่ทำให้วรรณกรรมกินได้
เราถามเชคต่อว่า เขาเห็นอะไรในวรรณกรรม เนื่องจากเร็วๆ นี้เห็นทางร้านได้ปรับเปลี่ยนวรรณกรรมจากรูปแบบหนังสือมาเป็นรูปแบบของเครื่องดื่มอย่างชาร้อน เชคบอกกับเราว่า
“วรรณกรรมให้มุมมองต่อชีวิตและสังคม ที่เราสามารถเข้าถึงประสบการณ์สุนทรียะหรือ ‘รสวรรณกรรม’ ได้ผ่านการอ่าน วรรณกรรมแต่ละเรื่องจะมีรสวรรณกรรมที่แตกต่างกัน อย่างวรรณกรรมเรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล ที่เล่าถึงการค้นหาความหมายของชีวิต และรสชาติของอิสรภาพ เรื่องนี้เราชอบด้วย วันหนึ่งเลยคิดว่า ถ้านำรสวรรณกรรมมาเปลี่ยนเป็น ‘รสชา’ โดยให้นักหมักชาทดลองหมักชาผ่านความรู้สึกหรือแรงบันดาลใจหลังจากได้อ่านวรรณกรรมดูว่า จะเล่าเรื่องออกมาเป็นรสชาติแบบไหน”
อย่างเรื่องโจนาธาน ทางร้านได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากร้าน B.I.T Cafe&Bar (Best In Town) หาดปากเมง จังหวัดตรัง อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้และทดลองถ่ายทอดรสชาติของวรรณกรรมที่รู้สึกผ่านการหมักชาจนได้ชาที่เขาเรียกว่า ‘ชาโบยบิน’
“โดยตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านชา หลังจากที่ได้ลองอ่านแล้ว รู้สึกได้ถึงการแสวงหาอิสรภาพ จึงมีมุมมองของ Blender Point ว่าหากเราทำในสิ่งที่มันแตกต่างออกไปจากความเชื่อของคนอื่นเราจะยังทำมันอยู่หรือเปล่า เรื่องของการลองสิ่งใหม่ ความเป็นตัวเอง ผู้หมักชาจึงได้ทดลองพัฒนาชาที่มีรูปแบบเฉพาะโดยใช้ชาดำจากแคว้นอัสสัมของอินเดียมาหมักตามสไตล์ของจีน เพื่อให้เอนไซม์ในชาได้แตกตัวสร้างรสชาติที่เข้มข้นขึ้น วิธีหมักนี้ใช้ทำชาเกรดพิเศษที่เรียกว่า ‘ทิกวนอิม’ จากนั้นมาผสมหมักกับดอกหอมหมื่นลี้ จากดอยแม่สลอง กลิ่นหอมของชาหมักใหม่จึงหอมหมื่นลี้ เหมือนการโบยบินอย่างอิสระของนางนวล โจนาธาน”

นอกจากชาโบยบิน จากรสวรรณกรรมเรื่อง ‘โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล’ ของ ริชาร์ด บาค ทางร้านยังมีชาอีก 2 ตัวที่ได้เปลี่ยนรสชาติจากวรรณกรรมสู่การดื่มกินเพื่อดื่มด่ำรสชาติวรรณกรรมอย่าง ‘ชาเจ้าชายน้อย’ ที่ได้รสชาติจากรสวรรณกรรม ‘เจ้าชายน้อย’ ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี และ ‘ชาสิทธา’ ที่ได้จากรสชาติของวรรณกรรรมเรื่อง ‘สิทธารถะ’ ของ แฮร์มัน เฮ็สเซอ
ซึ่งแน่นอนว่านักอ่านแต่ละคนล้วนได้รสชาติจากวรรณกรรมเหล่านี้ที่แตกต่างกัน นี่จึงเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่ได้จากการตีความของนักหมักชาที่ทำงานร่วมกันกับร้านหนังสือนั่นเอง
เหนืออื่นใด นอกจากรสชาติจากวรรณกรรมแล้วเขายังบอกอีกว่า อยากให้เยาวชนไทยได้ลองอ่านวรรณกรรมเหล่านี้ เพราะวรรณกรรมช่วยเปิดโลกทัศน์ นอกจากนี้ยังชวนเราตั้งคำถาม ใช้จินตนการมากขึ้น แล้วแต่ละช่วงวัยที่เราอ่านก็จะมีความรู้สึกที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป อย่างตัวเขาเองพอลองอ่านโจนาธาน ตอนเด็กให้ความรู้สึกไม่เหมือนกับตอนที่เขาโตขึ้น
และยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งรับรู้ถึงคุณค่าความมีอิสระเสรีภาพในการโบยบินของโจนาธาน พอมาอ่านอีกช่วงเราก็อาจจะได้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่อาจเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเรา เหมือนกับที่ชารสเจ้าชายน้อยอาจมีรสขมด้วย ดั่งวัยเด็กก็ไม่ได้สว่างเหมือนกันหมด
วรรณกรรมจะมีรสชาติอย่างไร อาจขึ้นอยู่กับผู้อ่าน จึงอาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการอ่านวรรณกรรมที่ไม่มีใครสามารถบังคับให้คิดตามกรอบครรลองแบบที่คนเขียนงานต้องการได้

ร้านหนังสือคือพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราวทางสังคม
“ไม่เห็นด้วย มันแปลกที่โครงการเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ชุมชนยังต่อสู้เพื่อหยุดการสร้างนิคมฯ” เชคตอบในทันทีเมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา ที่มีการคัดค้านการสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมจากชาวบ้านในพื้นที่จะนะ
“เหมือนว่าเป็นการดิ้นรนของนายทุนที่พยายามจะเอาชนะชุมชน แต่กลุ่มชาวบ้านที่จะนะก็เข้มแข็ง ที่ผ่านมาพวกเขาต่อสู้กันมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่านายทุนและผู้เสนอโครงการนิคมฯ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่จะนะ เขาเลยเลือกใช้ความเชื่อหรือทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่การสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมดูเหมือนผิดเวลาและบริบทของพื้นที่ไปหน่อย
“พื้นที่นั้นส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิม มันเลยดูขัดแย้งแปลกประหลาดมากที่จะมาสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่นั่น ในฐานะคนดู ยังเห็นว่ามันไม่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของคนแถวนั้นเลย แม้จะอ้างว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งรวมความศรัทธา แต่คงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ประชาชนแถวนั้นคงจะไม่เข้า จริงๆ แล้วหากอยากจะทำโครงการหรือสร้างแลนมาร์คอะไร ก็ควรสอบถามคนในพื้นที่ว่าพวกเขาต้องการหรือเปล่า”
ผมถามความเห็นของเขาต่อว่า ปัญหาที่จะนะที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจหรือเปล่า เขาตอบมาว่า
“การจัดทำโครงการของนิคมอุตสาหกรรม มันก็คล้ายการสร้างเจ้าแม่กวนอิม ทั้ง 2 อย่างดูจะผิดพื้นที่ไป คนคิดน่าจะมาจากส่วนกลาง ไม่น่ามาจากชาวบ้านในพื้นที่ จริงๆ แล้วเวลาพูดถึงเรื่องโครงการใหญ่ๆ ก็เป็นปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ
“โดยเฉพาะถ้าพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โรงงานอุตสาหกรรม เราก็ไม่สามารถแยกจากปัญหาทางการเมือง ปัญหาเรื่องโครงสร้างสังคมที่เกิดขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย หากจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับจะนะก็ต้องกลับไปแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจทางสังคมการเมืองที่รวมสู่ส่วนกลางและไม่เป็นธรรม”
ถ้าได้ลองมองความเป็นไปของโลกข้างนอก ถ้าไม่มืดบอดเงียบใบ้จนเกิดไป เราคงจะเคยเห็นการเรียกร้องของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ลงหลักคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาล นำมาซึ่งความสงสัยเนื่องจากประเด็นปัญหาเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลา แต่ผู้ว่าราชการไม่อาจมีอำนาจในการแก้ปัญหา จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องเดินทางขึ้นมาเรียกร้องคัดค้านถึงในเมืองหลวง เชคให้ความเห็นว่า
อาจเพราะผู้ว่าฯ มาจากส่วนกลางเลยไม่มีอำนาจในส่วนของการตัดสินใจ ดังนั้น เมื่อชาวบ้านไปร้องเรียนก็เพียงรับเรื่อง แต่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจต่ออนาคตข้างหน้าของจังหวัดสงขลาเลยว่า อนาคตในอีก 5-10 ปีควรพัฒนาไปอย่างไร
ชาวบ้านเขามองว่า ถ้าไปร้องเรียนกับผู้ว่าฯ ที่มีอยู่ตอนนี้คงไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในตอนนี้ เลยมีความจำเป็นต้องไปร้องเรียนกับส่วนกลาง แต่ถ้ามีการเลือกผู้ว่าฯ จากคนในท้องถิ่นเอง ภาพมันอาจกลับกัน ผู้ว่าฯ อาจรับฟังเสียงของเรามากขึ้น ผู้ว่าฯ กับชาวบ้านยึดโยงกันมากขึ้น และชาวบ้านจะได้เห็นความเป็นไปได้อื่นในการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมากขึ้น

บางทีความหวังก็มาในรูปแบบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในเมืองหลวง อย่างที่กรุงเทพมหานครได้ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เป็นดั่งความหวังของคนต่างจังหวัดที่เชื่อมั่นว่า ในสักวันพวกเขาจะมีสิทธิที่จะเลือกผู้นำจังหวัดจากเสียงของพวกเขาเอง เพื่อเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน
“มีความหวัง เหมือนเปิดโลกทัศน์อันใหม่ ถ้าผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดมาจากการเลือกของคนในพื้นที่ จากนโยบายของตนเอง ผ่านการหาเสียงของตนเอง แล้วชาวบ้านสามารถเลือกเองได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ แต่อาจต้องใช้เวลา โดยอาจเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายก่อน ตอนนี้ปัญหาหลักอาจเพราะกฎหมายไม่รองรับกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ระดับท้องถิ่น ผู้ว่าฯ ต่างจังหวัดเป็นผู้ว่าที่ถูกส่งมาจากส่วนกลาง”
ถ้าเกิดเป็นจริง ถ้าเลือกผู้ว่าฯ เองได้ และมีโอกาสได้เห็นนโยบายที่จะให้กับประชาชน เชคบอกว่า อยากเห็นนโยบายห้องสมุดของชุมชนให้เป็นระบบระเบียบ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ศิลปะ และพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ให้คนรุ่นใหม่ โดยเปิดรับนักศึกษาที่จบด้านบรรณารักษ์ หรือการจัดการศิลปะวัฒนธรรมได้เข้ามาทำงาน ช่วยจัดการให้เกิดห้องสมุดและพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนและโรงเรียน ที่สอดคล้องกับบริบทสมัยใหม่ เท่าที่ดูห้องสมุดในชุมชมก็น่าจะร้างกันไปหมดแล้ว
“เหมือนไม่มีคนเข้าไปใช้ชีวิตในนั้น โดยจริงๆ แล้ว เรามีบุคลากรทางด้านหนังสือ ถ้าผู้ว่าฯ มีวิสัยทัศน์ก็น่าจะมาเชื่อมโยงกับเด็กพวกนี้ ผ่านการทำห้องสมุดชุมชน และโรงเรียนให้เกิดขึ้นอีกครั้ง หรือแม้แต่นโยบายที่ส่งเสริมการผลิตหนังสือให้ต้นทุนต่ำลง เพื่อราคาหนังสือจะได้ไม่แพงมาก รวมถึงนโยบายส่งเสริมการพิมพ์หนังสือภาษาต่างประเทศ อยากให้มีหนังสือต่างประเทศตามห้องสมุดชุมชนโรงเรียนให้มากขึ้น เพราะจะช่วยให้เด็กเข้าถึงหนังสือพวกนั้นได้มากขึ้น”
วัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งอาจต้องมาจากรากฐานอย่างชุมชนที่แข็งแรง และมีห้องสมุดที่เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้ไปใช้ชีวิต อาบความคิดด้วยตัวอักษรจากหนังสือ

เขาบอกต่ออีกว่า หลายครั้งที่เคยได้ยินคำพูดที่ว่ามีความจำเป็นต้องพัฒนาส่วนอื่นก่อนส่งเสริมเรื่องการอ่านและหนังสือ จริงๆ แล้วเรื่องของการพัฒนาแต่ละด้านมันพัฒนาไปพร้อมกันได้ น่าจะเติบโตไปด้วยกันได้ แต่อยู่ที่ว่าคนมีอำนาจอยากให้คนของเขาฉลาด กล้าตั้งคำถาม เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้หรือเปล่า
นี่คืออีกเหตุผลเรื่องของการอ่านและหนังสือ ที่ดูเหมือนวัฒนธรรมการอ่านและซื้อบางตาลงทุกปี ด้วยราคาหนังสือที่แพงมากขึ้นจากวัตถุดิบ และค่าของชีพที่ไม่เหลือพอให้ประชาชนสามารถเสพสื่ออื่นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม ทั้งๆ บางเรื่องสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่า การมีอยู่ของร้านหนังสืออิสระกับเรื่องของการเมือง การกระจายอำนาจมีบางส่วนบางอย่างเกี่ยงโยงกันอยู่
“ที่เห็นร้านหนังสืออิสระส่วนใหญ่มีอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ขอนแก่นก็เป็นอีกจังหวัดที่ร้านหนังสือเปิดใหม่เพิ่มขึ้น ปกติร้านหนังสืออิสระก็เปิดกันด้วยความชอบส่วนตัวหรือชอบหนังสือจริงๆ แต่กรณีขอนแก่นอาจเป็นเพราะคนมีความตื่นตัวทางด้านสังคมการเมืองเพิ่มขึ้น คนอาจเริ่มตั้งคำถามกับสภาพสังคมการเมืองในปัจจุบัน และมองหาความรู้ที่จะตอบข้อสงสัย
“ร้านหนังสืออิสระเป็นคำตอบหนึ่งที่จะให้คนเข้าถึงความรู้ เข้ามาอ่าน และมาพบเจอแลกเปลี่ยนความคิดกัน กรณีนี้ดูเหมือนว่าร้านหนังสือที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้มาจากความชอบส่วนตัว แต่มาจากความตื่นตัวทางสังคมและความต้องการพื้นที่เรียนรู้ทางสังคมที่เพิ่มขึ้น”
นอกจากเรื่องของร้านหนังสือแล้ว เขายังบอกต่ออีกว่า จริงๆ ทุกจังหวัดควรมีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ หรือพื้นที่จัดการแสดงศิลปะ เนื่องจากทุกจังหวัดมีความเป็นศิลปะและสุนทรียะของตนเอง เลยจำเป็นมากที่ทุกจังหวัดควรมีพื้นที่ศิลปะ บางคนมองว่า แค่เอาตัวให้รอดในสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แบบนี้ก็ยากแล้ว จะมีเวลาที่ไหนไปเสพศิลปะอีก ซึ่งมันก็จริง
สภาพการเมืองและเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้เราไม่มีเวลาเหลือพอเสพสุนทรียะพวกนี้ ร้านหนังสือหรือห้องสมุดชุมชนเลยน่าจะเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะบูรณาการช่องว่างเหล่านี้เข้าในร้านและจัดกิจกรรมให้มากขึ้น

ร้านหนังสือคือพื้นที่ตรงกลางของการเรียนรู้
บ่อยครั้งที่ผมเห็นจากข่าวสารในหน้าเฟซบุ๊ค เชคจัดกิจกรรมอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่เป็นร้านหนังสืออิสระตั้งอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ในบางครั้งเขาเคยบอกไว้ว่า ตั้งใจทำร้านหนังสือเพื่อรับใช้ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และผู้คน ผมถามเขาถึงที่มาที่ไปของเรื่องเหล่านี้ เขาบอกว่า
เรามองว่าร้านหนังสือก็เป็นพื้นที่กลาง เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ทุกคนสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถพูดคุยเรื่องปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชนในร้านหนังสือได้ หนังสือที่มีในร้านก็มีหมวดจำพวกนั้น อย่างจะนะ ที่ร้านก็ทำประเด็นนี้หลายช่วง ในช่วงแรกเลยมีโครงการ ‘จะนะศึกษา’ ซึ่งเป็นโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ชวนผู้คนมาเรียนรู้เกี่ยวกับจะนะในมิติต่างๆ เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโครงการนิคมฯ ผลกระทบการสร้างนิคมฯ ความสมบูรณ์ทางนิเวศของทะเลจะนะ
“โดยชวนนักวิจัยหรือนักวิชาการมาเสนอข้อมูลและพูดคุยกันที่ร้าน เราต้องการให้ร้านหนังสือเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสารประเด็นจะนะไปเลย เพื่อให้คนที่สนใจ อยากรู้และยังไม่เคยรู้เรื่องโครงการนิคมฯ จะนะมาเลยก็สามารถเข้ามาฟัง ทำความเข้าใจ และเรียนรู้เรื่องโครงการได้”
ยังสื่อสารด้านความงามพื้นที่จะนะ คือทำกิจกรรมชักชวนผู้คนไปสัมผัสความงามธรรมชาติของทะเลจะนะผ่านกิจกรรมศิลปะ เช่น การวาดรูป การถ่ายภาพ การเขียนบทกวี เป็นต้น ตลอดถึงกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชุมชนประมงท้องถิ่น และรับฟังเสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนิคมฯ

กิจกรรมเหล่านี้มีร้านหนังสือเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสาร แต่สุดท้ายแล้วเมื่อผู้เข้าร่วมรับรู้และทำความเข้าใจทุกแง่มุมแล้ว ก็ปล่อยให้ผู้ร่วมกิจกรรมตัดสินใจวางจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมของตนเอง ว่าจะสนับสนุนโครงการนิคมที่จะเกิดขึ้น หรือไม่สนับสนุน แต่จะอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเอาไว้
“มองว่าร้านหนังสือเป็นพื้นที่กลางของการเรียนรู้ และส่งเสริมให้คนได้ตัดสินใจจากข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง โดยเราไม่ได้เป็นคนชี้นำ ในช่วงที่สอง ร้านหนังสือได้ทำโครงการ ‘จะนะทอล์ค’ ด้วยการร่วมมือของชุมชนและกลุ่มปันรัก
“กิจกรรมนี้เปิดพื้นที่ตัวแทนชุมชนมาเล่าเรื่องจะนะจากมุมมองของตนเอง เช่น พูดคุยเรื่องของดีในพื้นที่จะนะ แตงโมปลอดสารพิษ อาหารพื้นถิ่น วัฒนธรรมการทำอาหารการกินที่ทำให้คนในชุมชนรวมตัวกัน จะนะทอล์คต้องการให้เห็นจะนะหลายๆ มุมมองโดยชาวบ้านเป็นผู้สื่อสาร”
อีกกิจกรรมคือ ชวนนักเขียนและผู้สนใจการเขียนลงพื้นที่จะนะ แล้วสื่อสารงานเขียนผ่านเรื่องเล่าหรือบทกวี กิจกรรมเหล่านี้ร้านหนังสือเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสังคมสิ่งแวดล้อม และสามารถเข้าไปเชื่อมต่อกับกลุ่มต่างๆ เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน
ผมถามเขาต่อว่า คุณเห็นอะไรในตัวอักษรและบทกวี มันมีพลังอย่างไรต่อสังคม

เขาคิดอยู่สักพักจึงตอบกลับมาว่า
“กวีมันเสพง่าย ให้ความรื่นรมย์ ให้ความเพลิดเพลิน ประเด็นสิ่งแวดล้อมมันอาจดูเครียด การเล่าผ่านวิธีทางสุนทรียะเสพได้ง่ายมากกว่า ให้ความรู้สึกและความรู้ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ บทกวีหรืองานเขียนมันสามารถสื่อสารได้กว้าง เผยแพร่ได้ง่าย และเข้าไปอ่านซ้ำๆ ก็ยังได้ เป็นเรื่องปกติในปัจจุบันที่จะใช้งานเขียนและบทกวีมาสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือวิพากษ์วิจารณ์โครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม”
เราพูดคุยย้อนกลับไปถึงเรื่องการจัดกิจกรรม ทำไมเขาถึงต้องจัดกิจกรรม ทำไมเป็นร้านหนังสืออิสระต้องลุกขึ้นมาจัดกิจกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นเลยแม้แต่น้อย

เชคมองว่า คนทำร้านหนังสือมีศักยภาพบางอย่าง ความเป็นตนเองบางอย่างที่จะสื่อสารออกมาได้ ด้วยส่วนตัวเขาเป็นคนชอบเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดดอกไม้ เลยใช้พื้นที่ร้านหนังสือเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมที่อยากสื่อสาร แล้วตัวเขาเองมองว่ากิจกรรมเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกับผู้คน และสังคมชุมชน อาจทำให้คนได้เข้ามาดูหนังสือไปด้วย
ดังนั้น ในมุมมองของเขา ร้านหนังสือเป็นเพียงประตูที่ชวนผู้คนเข้ามาเปิดโลก สำรวจความสนใจและรู้สึก ผ่านการอ่าน การปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนพูดคุยด้วยข้อมูลที่มีอยู่แต่ละด้าน นำออกมากางวิพากษ์วิจารณ์ท่ามกลางที่แจ้ง แล้วสิทธิในการเลือกว่าจะเชื่อ จะคิดตาม อยู่ที่ผู้คนเหล่านั้น
สำหรับคุณแล้ว ร้านหนังสือคืออะไร?
สำหรับผม, ตอนนี้ร้านหนังสือกลับไม่ใช่แค่ร้านหนังสือที่ขายแต่หนังสืออย่างเดียว
แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันได้โดยไม่ทิ้งประเด็นทางสังคม
และน่าจะช่วยกันทำให้พื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นอีกทั่วทั้งประเทศ
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม