สิ่งที่ทำให้ไม่เกิดการกระจายอำนาจคือ 1. กฎหมายล้าหลัง 2. Mind Set ผู้บริหารท้องถิ่น
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาและประธานสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
หน่วยงานราชการไม่ไว้ใจคนมาจากการเลือกตั้ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร
กฎหมายออกมาบน Mind set ของรัฐรวมศูนย์… สร้างภาระให้กับพื้นที่
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้เชี่ยวเรื่องการกระจายอำนาจและการคลังท้องถิ่น และคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ
ทะเลเป็นของกรมเจ้าท่า ถนนเป็นของตำรวจ ทางเท้าเป็นของท้องถิ่น
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา
การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นกำลังเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมากในสังคมไทยในขณะนี้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากการเก็บสถิติการจัดงานเสวนาที่เกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจและการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับรวมๆ ได้ประมาณ 80 งาน ซึ่งมีทั้งรูปแบบงานเสวนาวิชาการและการจัดรายการพูดคุยของสื่อมวลชนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของกลุ่มคนทำการรณรงค์ให้รัฐมีการกระจายอำนาจและเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น เพจ The voter จนภายหลังกำลังจะรวบรวมรายชื่อยื่นกับสภาพิจารณากฎหมายในประเด็นดังกล่าว
ตัวผู้เขียนได้เข้าฟังร่วมฟังงานเสวนาเรื่องการกระจายอำนาจและปฏิรูปท้องถิ่นหลายงาน อย่างไรก็ตามมีงานเสวนางานหนึ่งผู้เขียนคิดว่าตัวของผู้พูดและเนื้อหามีความน่าสนใจมีประโยชน์อย่างมากในการขบคิดเรื่องการกระจายอำนาจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ รายการเสวนาดังกล่าวชื่อว่า อนาคต…การกระจายอำนาจแบบไทย ผู้เข้าร่วมเสวนา มีทั้งหมด 4 ท่าน 3 ท่านแรกเป็นผู้บริหารของท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป
ท่านแรกคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ท่านที่ 2 นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาและดำรงตำแหน่งประธานสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และท่านที่ 3 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ส่วนอีกหนึ่งท่านคือ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ผู้เชี่ยวเรื่องการกระจายอำนาจและการคลังท้องถิ่น ที่สำคัญคือ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ สุดท้ายคือ คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรชื่อดัง และเจ้าของรายการเสวนาดังกล่าว
ในบทความนี้ผมอยากจะนำบทสนทนาในรายการที่มีความเข้มข้นในเนื้อหาเรื่องการกระจายอำนาจและการปฏิรูปท้องถิ่นให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน ในส่วนแรกจะเป็นมุมมองของผู้เข้าร่วมเสวนาที่เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันต้องเผชิญ และในส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัญหาและอุปสรรคที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันต้องเผชิญ
จากบทสนทนาที่เกิดขึ้นในรายการ อนาคต…การกระจายอำนาจแบบไทย ผมสามารถแบ่งปัญหาและอุปสรรคที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องเผชิญ ออกได้เป็น 6 ประเด็นใหญ่ กล่าวคือ 1. ปัญหาเรื่องคน 2. ปัญหาเรื่องเงิน 3. ปัญหาเรื่องความล้าหลังของกฎหมาย 4. ปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจของส่วนกลางที่มีต่อผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง 5. ปัญหาโครงสร้างการบริหารงานที่แยกส่วนและทับซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น และ 6. ปัญหาเรื่องความคิด (Mind set) ของผู้บริหารท้องถิ่น
1. ปัญหาและอุปสรรคเรื่องคน
คนเป็นกำลังสำคัญอย่างมากในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่นต้องการบุคลากรที่ตนเองเลือกเพื่อช่วยเหลือตนเองในการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ คสช. ได้มีการรวมอำนาจการจัดสอบบุคลากรระดับสูงในท้องถิ่นมาไว้ที่ส่วนกลาง
เช่น ผู้อำนวยการศูนย์ รองปลัด หรือปลัด ผลที่ตามมาคือ เกิดปัญหาคนกับพื้นที่ไม่สอดคล้องกัน ข้าราชการท้องถิ่นบางคนที่สอบผ่านการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งได้นั้นไม่ใช่คนในท้องถิ่น บางคนบ้านอยู่ภูมิภาคอื่นเมื่อได้มาบรรจุ ใช้วันลาต่างๆ จำนวนมาก และอยู่ได้ 1-2 ปีก็ขอย้ายกลับส่งผลให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้บางคนได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งในท้องถิ่นตอนที่อายุมากแล้ว
มีคำกล่าวว่า มาดำรงตำแหน่งข้าราชการท้องถิ่น 30 กันยายน พอถึง 1 ตุลาคม ก็เกษียณอายุพอดี มากกว่านั้น ถ้าข้าราชการที่ถูกส่งมาท้องถิ่นมีปัญหากับผู้บริหารท้องถิ่นการขอทำเรื่องย้ายก็ลำบากเนื่องจากต้องหาตำแหน่งที่ลงให้เขา ถ้าไม่มีก็ย้ายไปไม่ได้ การที่ผู้บริหารท้องถิ่นขาดคนช่วยทำงานเช่นนี้ส่งผลอย่างมากในการบริหารและให้บริการกับประชาชน
2. ปัญหาและอุปสรรคเรื่องเงิน
ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเปรียบเสมือนร่างกายของคน เงินก็เปรียบเสมือนเส้นเลือดในร่างกายที่คอยนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงให้ร่างกายสามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถออกกฎหมายของตนเองได้ กฎหมายส่วนใหญ่จะมาจากที่รัฐส่วนกลางเป็นผู้กำหนด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ได้เป็นเพียงผู้เก็บเงินเท่านั้น
ยกตัวอย่าง ภาษีป้าย ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด ท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้ตามที่ส่วนกลางกำหนดเท่านั้น ไม่สามารถที่จะกำหนดอัตราภาษีได้เองทั้งที่แต่ละท้องถิ่นก็มีการพัฒนาที่แตกต่างกัน มากกว่านั้น การใช้จ่ายเงินมีความลำบากและติดขัดมาก เช่น เทศบาลเมืองพัทยาต้องการจัดงานเทศกาลระดับนานาชาติ ท้องถิ่นสามารถเบิกค่าประชุมต่อหัวได้ 250 บาทต่อคน ส่วนค่าประชุมต่อหัวสำหรับชาวต่างชาติสามารถเบิกได้ 850 บาทต่อคน แต่ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
คำถามที่เกิดขึ้นคือ นายกท้องถิ่นเป็นคนนำในการจัดงานในระดับนานาชาติ ใช้งบประมาณท้องถิ่นในการจัดงาน แต่ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับอีกกรณีหนึ่งคือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม รัฐมีการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบซึ่งใช้งบประมาณทั้งหมดในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ 26,000 ล้านบาท
สำหรับพัทยาที่เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอต้องใช้งบ 9,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐมีการสั่งให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณของตนเองแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผลที่ตามมาคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัทยาต้องดำเนินการเอง กู้เงินก่อหนี้เพื่อดำเนินการตามคำสั่งของรัฐ ทั้งที่รัฐควรเอาเงินของส่วนกลางมาช่วยแก้ไขปัญหามากกว่าจะที่ให้ท้องถิ่นทำ

3. ปัญหาและอุปสรรคเรื่องความล้าหลังของกฎหมาย
เมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่กฎหมายที่ให้อำนาจกับผู้บริหารท้องถิ่นยังล้าหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การฉุดรั้งการพัฒนาท้องถิ่น ตัวอย่างที่สำคัญคือ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ สร้างความลำบากให้กับการทำงานของท้องถิ่น กทม.ต้องการจะเช่าที่เอกชนเพื่อจะดำเนินงานของท้องถิ่นนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากการเช่าที่ไม่สามารถตรวจรับงานได้
หรือ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเก็บเงินซึ่งเป็นกฎหมายเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ตอนนี้โลกเขาคุยเรื่อง E-wallet แต่กฎหมายที่มีอยู่ยังตามไม่ทัน มากกว่านั้น บางเทศบาลพัฒนาตนเองไปไกลอย่างมาก เช่น เทศบาลตำบลในสมุทรปราการ มีงบประมาณเยอะมาก แต่ภาระหน้าที่ยังคงถูกจำกัด เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.เทศบาลยังคงเป็นตัวเดิมที่ออกมาในปี พ.ศ. 2496 ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นยังติดขัดและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นและของโลก สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนสมรรถนะการพัฒนาประเทศที่มีท้องถิ่นเป็นรากฐานอย่างมาก
4. ปัญหาและอุปสรรคเรื่องความไม่ไว้วางใจของส่วนกลางต่อผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง
ความไม่ไว้วางใจของส่วนกลางต่อผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ตัวผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจจำกัดมากในการบริหารจัดการท้องถิ่น เช่น การจัดทำผังเมืองซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของเมืองหรือของท้องถิ่นนั้น เนื่องจากผังเมืองจะเป็นสิ่งที่กำหนดการพัฒนาเมือง อำนาจในการจัดทำผังเมืองนั้นถ้าในต่างจังหวัดจะขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วน กทม.จะขึ้นอยู่กับปลัดกระทรวงมหาดไทย
ในกรณีการจัดซื้อวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าใน พ.ศ. 2549 มีการระบาดของพิษสุนัขบ้าตามท้องถิ่นต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามที่จะตั้งเรื่องเพื่อซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน แต่สุดท้ายกลับโดนสำนักงานตรวจเงินแห่งชาติ (สตง.) ท้วงติงการใช้งบ ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่การระบาดพิษสุนัขบ้าไม่กล้าดำเนินการใดๆ จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้าเสียก่อนจึงมีคำสั่งจากส่วนกลางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการเบิกจ่ายและดำเนินงานฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชนได้
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การซื้อวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ฉีดให้กับประชาชนก็เช่นเดียวกัน สาเหตุเกิดจากการที่รัฐส่วนกลางหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนไม่ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้ท้องถิ่นหลายแห่งดิ้นรนที่จะหาซื้อวัคซีนเอง แต่ผลที่ตามมาคือ ถูกท้วงติงเรื่องการใช้เงิน เพราะไม่มีกฎระเบียบรองรับ ต้องรอให้กระทรวงมหาดไทยอนุญาตและออกเป็นกฎระเบียบก่อนถึงจะจัดซื้อเองได้
5. ปัญหาและอุปสรรคโครงสร้างการบริหารงานที่แยกส่วนและทับซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น
ปัญหาโครงสร้างการบริหารงานที่แยกส่วนและทับซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างของรัฐไทยที่รวมศูนย์อำนาจแบบแยกส่วน (Fragmented Decentralization) ผลที่ตามมาคือ การทำงานในท้องถิ่นไม่มีความเป็นเอกภาพ ต้องอาศัยแต่เพียงการประสานงานกันและบูรณาการกัน เช่น การจัดการคมนาคม ท้องถิ่นมีหน้าที่ดูทางเดินเท้าริมถนน ถนนเป็นของทางหลวง ผู้ควบคุมสัญญาณจราจร คือตำรวจสังกัดกรมตำรวจ เป็นต้น
ในกรณีพัทยาต้องการแก้ไขปัญหาคนเร่รอน เมื่อจับคนเร่ร่อนส่งให้หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ ภายหลังอีก 15 วัน คนเหล่านั้นเขาก็กลับมาอีก เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวกักตัวได้ 15 วัน ดังนั้น การแก้ไปปัญหาพวกนี้ควรเป็นเอกภาพและทิศทางเดียวกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
สำหรับ กทม. ถึงแม้จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ไม่มีหน่วยงานส่วนภูมิภาค แต่ กทม. มีปัญหาอีกแบบคือ มีหน่วยงานของส่วนกลางอยู่ใน กทม.ไปหมด อีกทั้ง กทม.ไม่มีอำนาจเต็มที่จะดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นใน กทม.ได้ทุกเรื่อง เช่น ปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ส่วนใหญ่การแก้ไขปัญหาของ กทม.เบื้องต้นคือ การขุดลอกคูคลองระบายน้ำและการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และนอกพื้นที่
บางครั้งถ้าการประสานงานไม่ดีเราอาจจะเห็นการปล่อยน้ำจากจังหวัดรอบนอกเข้ามาใน กทม. ตรงนี้เองควรมีคณะกรรมการกลางที่ดูแลปัญหาน้ำร่วมกันมากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเพียงปัญหาของแต่ละเฉพาะท้องถิ่นและอาศัยแค่การประสานงานเท่านั้น นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 ใน กทม. เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนปัญหาการบริหารงานที่แยกส่วนและทับซ้อนกัน
ในต่างจังหวัดยังมีสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้นำในการทำหน้าที่หลักดำเนินงาน แต่ กทม.ให้ใช้หน่วยงานส่วนกลางเป็นหลัก มากกว่านั้น เตียงในการดูแลผู้ป่วยโควิดของ กทม.มีเพียงร้อยละ 10 ของเตียงทั้งหมด สิ่งที่ กทม.ทำได้คือการประสานงานกับหน่วยงานกลางและเอกชนในการขอเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด
การจราจรถือเป็นอีกปัญหาที่สำคัญ ใน กทม.มีหน่วยงานที่ดูแลปัญหาดังกล่าวถึง 37 หน่วยงาน กทม.จะเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยการประสานงานยังหน่วยงานต่างๆ ไม่มีอำนาจสั่งการได้เลย หรือการแก้ไขปัญหาในเรื่องของ PM 2.5 กทม.ต้องประสานไปที่กรมขนส่งทางบกเพื่อใช้อำนาจในการจัดการกับรถที่ปล่อยควันดำ
ตัวอย่างสุดท้ายถึงแม้ กทม.จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแต่แทบไม่มีอำนาจการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ ใน กทม.เองนั้นมี โรงเรียนในสังกัด 337 แห่ง มีเพียง 9 แห่งที่เป็นโรงเรียนมัธยม ส่วนโรงเรียนมัธยมอื่นๆ ส่วนใหญ่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) ที่สังกัดกระทรวงศึกษา ตรงนี้เองเราจะเห็นว่าท้องถิ่นมีอำนาจน้อยมากที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและให้บริการคนในท้องถิ่นอย่างเต็มที่
6. ปัญหาเรื่องความคิด (Mind set) ของผู้บริหารท้องถิ่น
ปัญหาและอุปสรรคสุดท้าย คือเรื่องความคิด (Mind set) ของผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อต้องเจอกับข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างการบริหารงาน ข้อกฎหมายที่ให้อำนาจจำกัดทำให้ท้องถิ่นขาดอำนาจการบริหารงานในพื้นที่ เงิน และคน ผลที่ตามมาคือ ผู้บริหารท้องถิ่นจะเน้นไปที่การทำงานประจำ ดำเนินตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่กล้าที่จะคิดนโยบายหรือโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพราะกลัวผิดกฎหมาย ถูกตรวจสอบ ถูกดำเนินคดี การทำงานที่เกิดขึ้นคือแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่เกิดขึ้นเท่านั้น การพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไปให้ประเทศเจริญเติบโตพร้อมๆ กันนั้นทำได้ยาก
ทั้งหมดนี้คือปัญหาและอุปสรรคที่ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบปกติ กทม.และพัทยา ที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ปัญหาและอุปสรรคที่ผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ต้องเผชิญแทบหนักเบาไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยิ่งในปัจจุบันความสนใจเรื่องการกระจายอำนาจการบริหารงานท้องถิ่นมีมาก ทั้งการจัดงานเสวนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผลมาจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ
ประกอบกับสื่อออนไลน์มีความแพร่หลาย คนจึงเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ผลที่ตามมาคือ ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีการเปรียบเทียบการทำงานของผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ของตนกับพื้นที่อื่นๆ ความคาดหวังกับผู้บริหารท้องถิ่นของตนที่มาจากการเลือกตั้งยิ่งมีมากขึ้น ด้วยสภาวะดังกล่าว ผู้บริหารท้องถิ่นจะมีการปรับตัวในการบริหารงานเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังและความต้องการของประชาชนอย่างไรภายใต้ปัญหา ข้อจำกัด และอุปสรรค ทั้งเรื่องอำนาจการบริหารงาน งบประมาณ กำลังคน การทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และการจัดการความคิดของผู้บริหารท้องถิ่นเอง

การเรียกร้องการกระจายอำนาจไม่ได้ให้ตัวเองแต่ให้ประชาชน
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาและประธานสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
สร้างความไว้วางใจกับประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่นมีประชาชนเป็นที่พึ่ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร
สมัยนี้มีเพจ Facebook ความต้องการของประชาชนเวลาเขาเดือดร้อนต้องทันที นักข่าวของเรามีเป็นร้อยชีวิต มีการเสนอข่าวทันที การทำงานต้องอาศัยการชี้แจงมากขึ้นและบอกว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา
การกระจายอำนาจเป็นการออกแบบระบบจัดการพื้นที่ให้ไปได้ โดยคนของพื้นที่ และเพื่อประโยชน์ของคนของพื้นที่
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้เชี่ยวในเรื่องของการกระจายอำนาจและการคลังท้องถิ่น และคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ

ผู้เขียนได้เขียนถึงปัญหาท้องถิ่นจากมุมมองของผู้บริหารท้องถิ่นและนักวิชาการที่ศึกษาทางด้านการกระจายอำนาจและการปฏิรูปท้องถิ่นไปแล้ว ผู้เขียนขอสรุปต่อว่าวิทยากรเหล่านั้นมีมุมมองและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร
ผู้เขียนสามารถสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ 9 ข้อด้วยกัน ดังต่อไปนี้
- การส่งเสริมให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการกระจายอำนาจ การใช้ เพจบน Facebook เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารให้คนในท้องถิ่นได้รับทราบและแลกเปลี่ยนความเห็น หรือการ live สด การทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นให้คนในท้องถิ่นได้เห็นการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ด้านหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นมีการทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และได้รับข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมากขึ้น
- การสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนต่อผู้บริหารท้องถิ่น สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องเป็นตัวอย่างในการเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา ปัญหาไหนแก้ไขไม่ได้ มีความติดขัดตรงส่วนไหนต้องรีบแจ้งและบอกกล่าวให้กับประชาชนได้รับทราบ การที่ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน เมื่อมีปัญหาหรือความขัดแย้งกับส่วนราชการภูมิภาค หรือราชการส่วนกลาง สิ่งที่ทำได้คือการทำให้ประชาชนเป็นที่พึ่ง เป็นกำแพงหนุนหลังให้กับผู้บริหารท้องถิ่นในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ดังนั้นการทำให้ประชาชนในท้องถิ่นไว้วางใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น
- เมื่อสร้างความไว้ใจให้กับประชาชนในท้องถิ่นเห็นผลงานของตนได้แล้ว สิ่งที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องทำต่อไปคือการให้อำนาจกับประชาชน (Empowerment) และทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่น (participation) เพื่อที่ว่าเขาเหล่านั้นจะได้รู้สึกและตระหนักว่าเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นของตนเองและมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นที่มากกว่าการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นควรมีพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการแจ้งปัญหาในท้องถิ่น และมีระบบติดตามและรายงานผลให้กับประชาชนผู้แจ้งได้รับทราบว่าปัญหาที่เขาแจ้งมาได้รับการแก้ไขแล้ว เช่น โปรแกรม Traffy Fondue ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เปิดให้คนในท้องถิ่นแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการรายงานผลการแก้ไขได้รับทราบ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้บริหารท้องถิ่นควรให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณท้องถิ่นและการจัดทำโครงสร้างสาธารณะต่างๆ เช่น การแบ่งเงินร้อยละ 5 ของงบประมาณท้องถิ่นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ หรือ มีการแจ้งข้อมูลการใช้เงินต่างๆ ลงในเพจหรือเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่างบประมาณท้องถิ่นถูกนำไปใช้ในด้านได้บ้าง เพื่อให้ประชาชาชนได้ตรวจสอบการใช้เงินและความคุ้มค่าของเงินที่ใช้มากกว่าที่จะให้เรื่องการบริหารงบประมาณเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารของท้องถิ่นหรือฝ่ายสภาอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่มีอำนาจการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นและตรวจสอบการทำงานผู้บริหารท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง
- นอกจากสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นควรที่จะสร้างภาคีเครือข่ายกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการผลักดันโปรเจคใหญ่ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่นให้สำเร็จ ยกตัวอย่าง ความสำเร็จของการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดขอนแก่นเพื่อแก้ไขปัญหารถติด เกิดจากการร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมมือกันกดดันและผลักดันจนกระทั่งรัฐยอมให้มีการจัดสร้างขึ้นได้
- การออกกฎหมายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่นควรออกในลักษณะที่กว้างแต่ให้ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายลูกที่สอดคล้องกับลักษณะของแต่ละท้องถิ่นได้ ควรมีการแก้ไขกฎหมายทางด้านการจัดเก็บภาษีและการใช้งบประมาณท้องถิ่น ที่ควรให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งอัตราการเก็บภาษีของตนได้เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่
- ควรมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังที่จำกัดอิสระและอำนาจในการบริหารงานของท้องถิ่น เช่น ควรมีการแก้ไขกฎหมายให้ท้องถิ่นสามารถที่จะจัดสอบข้าราชการท้องถิ่นเองได้เพื่อให้ได้คนในพื้นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ของตนเอง หรือการแก้กฎหมายที่ให้งบประมาณท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างในประเทศจีน รัฐบาลท้องถิ่นได้งบประมาณร้อยละ 60-70 ผู้นำเขาเชื่อว่าให้แต่ละท้องถิ่นได้มีงบประมาณและอำนาจในการบริหารงานที่มากเพื่อให้แต่ละท้องถิ่นได้แข่งขันกันเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นอย่างมาก
- การแก้ไขปัญหาท้องถิ่นปัจจุบัน เช่น น้ำท่วม หรือ PM2.5 ทำได้แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการประสานงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีอำนาจเต็มในการบริหารงานในพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาจะได้รวดเร็วเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือบางปัญหาที่เป็นปัญหาข้ามพื้นที่ ควรมีคณะกรรมการกลางที่เป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่มาร่วมกันบริหารงานเพื่อการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากกว่าต่างคนต่างทำ
- ควรมีการปฏิรูประบบราชการส่วนภูมิภาค ลดบทบาท หรือยกเลิกผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ถ่ายโอนงานและงบประมาณลงมาให้ท้องถิ่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้ทำการบริหารงานและแก้ไขปัญหา สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาการทำงานที่ทับซ้อนระหว่างท้องถิ่นและภูมิภาค
- ควรให้มีการสร้าง sand box หรือจังหวัดนำร่องในการปฏิรูปท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ โครงสร้างและอำนาจในการบริหารงานของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องเหมือน กรุงเทพมหานคร แต่ให้ประชาชนแต่ละท้องถิ่นช่วยกันออกแบบโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นของตนเอง อาจจะเป็นจังหวัดที่มีรายได้มากที่สุดและรายได้น้อยที่สุด หรือจังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้มีการเปรียบเทียบให้เห็นว่าเมื่อมีการกระจายอำนาจและปฏิรูปข้าราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ประชาชาชนได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
กล่าวโดยสรุป การกระจายอำนาจและการปฏิรูปท้องถิ่น หรือความต้องการในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชน ท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางใหม่เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มมากในการมีส่วนร่วมในการบริหารงานท้องถิ่น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถที่จะสร้างความมั่นใจและเชื่อใจให้กับประชาชนได้ว่าเมื่อกระจายอำนาจลงมาแล้วประชาชนจะได้อะไร ปัญหาต่างๆ เช่น บ้านเล็ก บ้านใหญ่ ตระกูลท้องถิ่นที่ครอบงำท้องถิ่นจะลดลงไหม หรือการคอรัปชันในท้องถิ่นจะลดไหม
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นและตระหนักความสำคัญของการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นว่าเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา ผลสุดท้ายคือ เมื่อประชาชนตื่นตัวและรู้ว่าต้นตอของปัญหาท้องถิ่นมาจากไหน ทำไมปัญหาในท้องถิ่นของเขาถึงแก้ไขไม่ได้ มีการเปรียบเทียบกับท้องถิ่นในต่างประเทศที่การบริหารจัดการท้องถิ่นดี มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามซึ่งเขาได้รับรู้ผ่านการท่องเที่ยว และหรือ ชมผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
การเรียกร้องของประชาชนในการแก้ไขปัญหาก็จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง พรรคการเมืองในระดับชาติก็ต้องมีการขยับเพื่อรับข้อเรียกร้องของประชาชนในเรื่องการกระจายอำนาจและการปฏิรูปท้องถิ่นไปจัดทำเป็นนโยบายทันที
เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่คนในท้องถิ่นเห็นตรงกันและต้องการที่จะแก้ไขอย่างทันทีเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม