ประชาชนคืออาวุธที่เกาหลีใต้ใช้ต่อสู้กับการคอร์รัปชัน

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) เป็นดัชนีที่มีการจัดอันดับความโปร่งใสของนานาประเทศทั่วโลกทุกปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดย Transparency International ซึ่งจัดอันดับประเทศจากระดับความทุจริตในภาครัฐด้วยวิธีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญและเขียนแบบสอบถามความคิดเห็น

ผลจากรายงานปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลา 2 ปีหลังจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลกนั้น แม้การคอร์รัปชันในแต่ละประเทศจะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่ผลคะแนนในปีนี้แสดงให้เห็นว่า การต่อสู้กับการทุจริตในทุกภูมิภาคทั่วโลกกำลังย่ำอยู่กับที่ ผลแสดงให้เห็นว่า มากกว่า 131 ประเทศไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในปีที่ผ่านมามีอีกกว่า 27 ประเทศมีคะแนน CPI ต่ำเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังถูกลิดรอนอย่างมีนัยสำคัญ

คอร์รัปชันและสิทธิมนุษยชน

หากพิจารณาดูเราจะพบความเกี่ยวเนื่องอย่างชัดเจนระหว่างการทุจริตคอร์รัปชันและสิทธิมนุษยชน การคอร์รัปชันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในทางกลับกันการปกป้องสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานก็เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับการทุจริต จากสถิติที่ผ่านมาประเทศที่เสรีภาพพลเมืองได้รับการคุ้มครองอย่างดี มักจะได้คะแนน CPI สูง ขณะที่ประเทศที่ละเมิดเสรีภาพประชาชนและจำกัดสิทธิประชาชนมักจะได้คะแนนต่ำ ซึ่งหมายถึงอัตราการทุจริตที่สูงขึ้น ประเทศที่พลเมืองมีเสรีภาพและมีสภาวะการเมืองที่ได้รับการคุ้มครองอย่างดีมักควบคุมและแก้ปัญหาการทุจริตได้ดีขึ้น

สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพในการตั้งคำถามในการทำงานของภาครัฐ และการสร้างกลไกในการตรวจสอบความโปร่งใสของภาครัฐล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้เพื่อโลกที่ปราศจากการทุจริต

ผลการจัดอันดับ CPI ปี 2564 แสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีคะแนนความโปร่งใสสูงสุดคือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงตกอันดับถดถอยลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะหลังจากปี 2558 เป็นต้นมา แปดปีที่ผ่านมาอันดับของไทยไม่ขยับในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงหากพิจารณาจาก 3 ปีล่าสุด ในปี 2562 ไทยอยู่ที่อันดับที่ 101 ในปี 2563 ตกลงมาที่อันดับ 104 และต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยร่วงลงมาอยู่ที่อันดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ปัญหาการทุจริตถือเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศที่มีอัตราการทุจริตที่สูงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาการทุจริตยังถือเป็นภัยสังคมที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของประเทศ ประเทศที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาการทุจริตได้อย่างเด็ดขาดและปล่อยให้ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่เรื้อรัง คาราคาซังเสมือนเป็นมะเร็งเนื้อร้าย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด

ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศล้าหลัง ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิที่พึงมี ขาดคุณภาพชีวิตที่ดีและขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการที่ดีอันพึงได้จากรัฐ ทำให้งบประมาณในการนํามาใช้ในการพัฒนาประเทศไม่ได้เข้าสู่ระบบอย่างที่ควรเป็น

ในทางกลับกันประเทศที่มีระบบและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ดี แม้ว่าครั้งหนึ่งประเทศเหล่านี้จะเคยตกอยู่ในช่วงที่ประสบกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ย่ำแย่มาก่อน แต่ก็สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคงได้เนื่องจากมีระบบและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์

แบบอย่างของเกาหลีใต้

ครั้งหนึ่งสิงคโปร์เคยได้รับการขนานนามจากประเทศต่างๆ ว่าเป็นประเทศที่ยากจนและเต็มไปด้วยปัญหาการทุจริตภายในประเทศมากมาย แต่ด้วยการใช้ยุทธวิธีเน้นการป้องกันการทุจริตเป็นนโยบายหลักและแสวงหาแนวทางในการปราบปรามปัญหาทุจริตภายในประเทศแบบ ค่อยเป็นค่อยไปแต่เด็ดขาด จริงจังและเป็นระบบ ส่งผลให้ประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีความโปร่งใส อยู่ในต้นๆ Top 5 ของโลก โดยในปีล่าสุดยังคงอยู่ที่อันดับที่ 4

แม้ภาพรวมของการป้องกันการทุจริตทั่วโลกจะไม่คืบหน้ามากนัก แต่ก็มีบางประเทศที่มีการพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งภาคประชาสังคมยังคงอยู่ในสภาวะที่ดีและได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพ และมีระบบการป้องกันการคอร์รัปชั่นทั้งส่วนกลางและในระดับการปกครองท้องถิ่น เราจะเห็นจากรายงานในแต่ละปีว่า คะแนนความโปร่งใสของประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

โดยขยับอันดับดีขึ้นในทุกปี ปีล่าสุด 2564 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นมาที่  62 คะแนน และขยับอันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลกและมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ ในทิศทางที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรูปแบบทางวัฒนธรรม รูปแบบทางการเมือง รวมถึงรูปแบบทางการปกครองที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย กล่าวคือประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบอุปถัมภ์ที่หนาแน่น นิยมการรวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และเล่นพรรคเล่นพวก ตลอดจนมีการแทรกแซงจากอิทธิพลทางการเมืองในทุกระดับชั้น

แต่ประเทศเกาหลีใต้กลับสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม หลังประกาศสงครามกับปัญหาการทุจริต แม้ว่าในปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่ปลอดจากการทุจริตอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านการปราบปรามการทุจริตที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความจริงจังในการต่อต้านการทุจริต

การแก้ไขปัญหาการทุจริตให้หมดไปจากประเทศอาจเป็นเรื่องที่ใหญ่และทำได้ยากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ ประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกงและอีกหลายประเทศ ล้วนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหานั้นเป็นไปได้ ความคล้ายคลึงกันของเกาหลีใต้กับประเทศไทยน่าจะทำให้เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดีและน่าสนใจ ที่เราจะหยิบยกมาเพื่อถอดบทเรียนที่สำคัญและเรียนรู้ไปด้วยกัน

อะไรทำให้เกาหลีใต้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการป้องกันปราบปรามการทุจริต?

ประเทศเกาหลีใต้มีกลไกหรือเครื่องมือใดในการป้องกันรวมไปถึงการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดโอกาสและช่องว่างที่จะทำให้เกิดการทุจริตได้? การทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของเกาหลีใต้ที่นำไปสู่ความสำเร็จจากประสบการณ์แนวทางการบริหารจัดการของประเทศเกาหลีใต้เป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโมเดลการป้องกันการทุจริตที่ควบรวมกับงานด้านการคุ้มครองสิทธิพลเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นําสูงสุด ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 1 นครพิเศษ 1 นครปกครองตนเองพิเศษ 6 เมืองมหานคร 8 จังหวัด และ 1 จังหวัดปกครองตนเองพิเศษ ประเทศเกาหลีใต้มีโครงสร้างการบริหารงานแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

การต่อสู้กับการทุจริตของประเทศเกาหลีใต้เริ่มต้นตั้งแต่ระดับบนลงมาสู่ภาคประชาชน โดยฝ่ายบริหารมีประธานาธิบดีซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ มีอำนาจที่จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ แต่ไม่มีอำนาจในการยุบสภา มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการผูกขาดอำนาจ และป้องกันการขยายอำนาจของบุคคลหรือกลุ่มอำนาจใดอำนาจหนึ่ง

ฝ่ายบริหารยังประกอบไปด้วยสภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่งคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาการรวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ คณะกรรมหารเกี่ยวกับสิทธิสตรี สภาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก มีคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล

นอกจากนั้นแล้ว การประกาศสงครามกับปัญหาการทุจริตภายในประเทศของประเทศเกาหลีใต้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 จากการประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริต (The Anti-Corruption Act) โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาหนึ่งชุดชื่อว่า คณะกรรมการอิสระต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korea Independent Commission Against Corruption) หรือ KICAC ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติมีสถานะเทียบเท่ากระทรวง มีหน้าที่หลักในการจัดวางนโยบาย การประเมินผลด้านนโยบายต่อต้านการทุจริต การให้ความคุ้มครองปกป้องแก่ผู้แจ้งเบาะแส รวมตลอดถึงติดตามและตรวจสอบกิจกรรมของนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงภายในประเทศ

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมืองแห่งเกาหลีใต้ (Anti-Corruption and Civil Rights Commission of Korea: ACRC) เป็นการควบรวม 3 หน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเกาหลีใต้ (The Ombudsman of Korea), คณะกรรมการอิสระต่อต้านคอร์รัปชันแห่งเกาหลีใต้ และคณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์การบริหารงาน (Administrative Appeals Commission) รวมเข้ากับผู้ตรวจการรัฐสภาแห่งเกาหลีใต้ และคณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์การบริหารงาน เพื่อเป็นการควบคุมสิทธิพลเมืองให้มีประสิทธิภาพไว้ในหน่วยงานเดียว

เมื่อเปลี่ยนมาเป็น ACRC แล้วจึงมีการปรับโครงสร้างการทำงาน ปัจจุบันมีคณะกรรมการทั้งสิ้น 15 คน ประกอบไปด้วย ประธานกรรมการ 1 คน (ระดับรัฐมนตรี) รองประธานกรรมการ 3 คน (ระดับรองรัฐมนตรี) กรรมการสามัญ 3 คน และกรรมการวิสามัญอีกจำนวน 8 คน เพื่อดำเนินงานด้านธุรการ สำนักเลขาธิการจะถูกจัดตั้งขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน การต่อต้านการทุจริต และการอุทธรณ์การบริหาร หัวหน้าทั้ง 3 ส่วนนี้จะเป็นรองประธานกรรมการโดยตำแหน่ง มีสถานะและความเป็นอิสระในการทำงาน ได้รับรองตามกฎหมาย ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

ประธานและรองประธานกรรมการจะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และกรรมการสามัญได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ตามคําแนะนําของประธานกรรมการ และกรรมการวิสามัญได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายโดยประธานาธิบดี กรรมการวิสามัญ 3 คน อาจได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายหน้าที่ตามคําแนะนําของสภาแห่งชาติ หรือตามคําแนะนําของหัวหน้าผู้พิพากษาของศาลฎีกา นอกจากนี้ ACRC ยังมีองค์กรในเครือ (Affiliated Organizations) อีก 2 องค์กร ได้แก่ ศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียนของ ACRC ประจำกรุงโซล (ACRC Seoul Complaints Center) และสถาบันการฝึกอบรมด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Training Institute) อีกด้วย

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ACRC กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริต และจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 2017 มีหน้าที่ในการดำเนินการกำหนดนโยบายไปปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน แก้ไขสิทธิของประชาชนที่ถูกละเมิดและป้องกันการทุจริต สร้างมาตรการทางนโยบายเพื่อป้องกันการทุจริตในสถาบันสาธารณะ ปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต เป็นต้น

ในส่วนการดำเนินคดีอาญาที่เกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทำผิดต่อตำแหน่งหรือทุจริตต่อหน้าที่ จะดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา โดยจะทำการตรวจสอบคำร้องเรียน รวบรวมพยานหลักฐานและยืนยันความถูกต้อง เพื่อส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการดำเนินการสอบสวน เมื่ออัยการสอบสวนแล้วให้แจ้งผลกลับมา และหากไม่มีผลการดำเนินการจากอัยการภายใน 3 เดือน จะมีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลสูง โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ รายละเอียดทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ หลังจากเปลี่ยนมาเป็น ACRC แล้ว มีการรวมหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ มารวมกันไว้ในที่เดียวกัน จึงมีการให้บริการแบบ One Stop Service มีภารกิจ 4 ด้าน ได้แก่

  1. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับทางแพ่งซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือเป็นภาระแก่ประชาชน
  2. การสร้างสังคมที่สะอาดโดยการป้องกันและยับยั้งการทุจริตในภาครัฐ
  3. ปกป้องสิทธิของประชาชนจากการปฏิบัติที่ไม่สุจริตและไม่เป็นธรรมในการบริหารผ่านระบบการอุทธรณ์การบริหาร
  4. ให้คำแนะนำในการปรับปรุงกฎหมายหรือระบบที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจนำไปสู่การร้องเรียนทางแพ่งหรือสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการทุจริต

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ หากจะกล่าวว่า “ประชาชนคืออาวุธสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริต” ก็คงไม่เกินจริง ประเทศเกาหลีใต้ใช้นโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงประชาชนเป็นหลัก เพื่อสร้างความตระหนักในระดับชาติให้เห็นความสำคัญเร่งด่วนของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยการปราบปรามการทุจริต

โดยเน้นการดำเนินงานในระยะยาว เน้นนโยบายในเชิงป้องกันมากกว่าเชิงปราบปราม โดยวางหลักเรื่องความโปร่งใสทางการปกครอง การให้บริการของรัฐ การจัดบัญชี การจัดทำงบประมาณ ในส่วนของการดำเนินคดีและการลงโทษก็ดำเนินไปอย่างเข้มงวดและเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญยังสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนช่วยกำกับดูแล และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามีส่วนเป็นเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจก็ล้วนตระหนักว่า

การมีส่วนร่วมของทุกคน ทุกฝ่าย สามารถก่อให้เกิดผลต่อการต่อต้านการทุจริตได้ ซึ่งถือเป็นวิธีการต่อสู้กับการทุจริตที่สำคัญและมีประสิทธิภาพที่สุด ยุทธศาสตร์หลักที่เกาหลีใต้นำมาใช้คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เกลือเป็นหนอน ACRC ให้ความสำคัญกับการแจ้งเบาะแสของคนในองค์กรเป็นอย่างมาก เน้นที่การให้รางวัลและการคุ้มครอง ผู้บริหารหน่วยงานนั้นๆ มีหน้าที่ต้องคุ้มครองอย่างเต็มที่ และหากหน่วยงานไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน ก็จะถูกลงโทษเช่นกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เชือดไก่ให้ลิงดู หากมีกรณีเจ้าหน้าที่ขององค์กรสาธารณะรับสินบนหรือยักยอกทรัพย์ ไม่ว่ามูลค่าจะมากน้อยเพียงใด จะต้องรับโทษสถานหนักทั้งเจ้าหน้าที่ที่รับสินบนและเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นเป็นใจ นอกจากถูกไล่ออกแล้วยังต้องถูกดำเนินคดีทั้งโทษปรับและจำคุก เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตัดไฟแต่ต้นลม มีการจัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งระดับสูงที่ได้รับตำแหน่งใหม่ เป็นภาคบังคับที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคนต้องรับการอบรม และมีการออกกฎหมายป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเกษียณอายุแล้วไปทำงานกับภาคเอกชน ซึ่งอาจจมีการใช้เส้นสาย บารมีเพื่อเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน โดย ACRC จะทำการตรวจสอบย้อนหลัง 5 ปี ก่อนเกษียณอายุว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนใด เคยมีอำนาจที่จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรเอกชนที่กำลังจะเข้าไปทำงานหรือไม่ หากมีความเกี่ยวพันก็จะไม่สามารถเข้าไปทำงานให้กับองค์กรเอกชนนั้นๆ ได้

ประเทศเกาหลีใต้ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เน้นแนวทางการตรวจสอบโดยภาคประชาชนเป็นหลัก ด้วยการปฏิรูป ความคิดและจิตใจของเจ้าหน้าที่รัฐและพลเมืองให้ต่อต้านการทุจริต โดยใช้แนวทางการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดในคดีทุจริตอย่างจริงจัง เด็ดขาดและไม่ไว้หน้า โดยถือว่าการทุจริตเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่อาจยอมรับได้ ไม่ว่าบุคคลผู้กระทำผิดจะอยู่ในตำแหน่งใดหรือสถานะใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีหรือแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐ นี่ทำให้ประชาชนเชื่อถือในมาตรการการปราบปรามและการตรวจสอบการทุจริต

ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนโดยการเสนอแนวทางให้ประชาชนที่พบเบาะแสการทุจริตให้แจ้งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต หากข้อมูลที่แจ้งนั้นเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการสูญเสียอันอาจจะเกิดขึ้นต่อรัฐหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้แจ้งจะได้รับรางวัลจากรัฐ เกาหลีใต้มีระบบป้องกันและรักษาความลับของผู้แจ้งให้เป็นความลับขั้นสูงสุดของทางราชการ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพลเมืองดีและพยาน รวมไปถึงขจัดความกลัวของผู้มีอำนาจน้อยกว่าเมื่อต้องต่อสู้กับการทุจริตของผู้มีอำนาจและอิทธิพลที่สูงกว่า

เป็นการสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการนํารูปแบบการรับคำร้องจากประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นตัวช่วยลดโอกาสการทุจริตของเจ้าหน้าที่

การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น

แม้มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น แต่ด้วยกลไกที่เข้มแข็งในการตรวจสอบและปราบปรามการทุจริต ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาด้านการป้องกันการคอร์รัปชันอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของเกาหลีใต้คือ ปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านการพัฒนาประชาธิปไตยที่ดำเนินไปอย่างมั่นคง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ครอบคลุมถึงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่รวมไปถึงในระดับจังหวัดหรือมหานคร และในระดับที่รองลงมา

เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว เพราะองค์กรท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชน ย่อมสามารถจัดการปัญหาและสนองความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า  ยังมีเรื่องของความเข้มแข็งและการตื่นตัวของภาคประชาสังคมที่ผลักดันเรียกร้องให้เกิดกฎหมายและมาตรการความโปร่งใสต่างๆ  รวมถึงผนวกการต่อสู้เรื่องคอร์รัปชันเข้ากับการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง โดยที่ภาคประชาชนและสื่อมีบทบาทในการปฏิรูปสังคมมากกว่าพรรคการเมืองหรือรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยเราเองก็ควรผลักดันการบริหารจัดการและการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น แม้จะมีการกระจายอำนาจมากขึ้นแต่ถ้าท้องถิ่นยังไม่ได้รับอำนาจและหน้าที่อย่างชัดเจน แม้ในทางกฎหมายจะระบุไว้แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ยาก ประเทศไทยเองควรผลักดันการยกระดับแนวคิดการกระจายอำนาจที่ให้อำนาจที่แท้จริงแก่ท้องถิ่น ลดการบริหารแบบจัดการรวมศูนย์ การมีสภาท้องถิ่นและภาคประชาชนที่สามารถตรวจสอบการทำงานและถ่วงดุลการกระจายอำนาจและหน้าที่มายังท้องถิ่น

พร้อมกันนี้หากพิจารณาจากโมเดลการป้องกันการคอร์รัปชันของเกาหลีใต้ เห็นได้ชัดว่าปัจจัยเรื่องสิทธิพลเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้จากการป้องกันการทุจริตและส่งผลเกี่ยวเนื่องกัน หากประเทศไทยต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในการต่อต้านปัญหาการทุจริตที่ฝังรากลึกทุกภาคส่วนของประเทศ การกลับมาให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน เพื่อคืนอำนาจในการตรวจสอบให้กับประชาชน น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ

หากประเทศต่างๆ ที่เคยอยู่ในสภาวะตกต่ำยังสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ ประเทศไทยก็ยังไม่ไร้ซึ่งความหวังเช่นกัน หากแต่ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐหรือหน่วยงานใดหนึ่งหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนในประเทศที่ต้องมีส่วนร่วมกัน

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.transparency.org/en/cpi/2021/

https://thaipublica.org/2022/01/corruption-perception-index-2021/
https://th.wikipedia.org/wiki/ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน
http://journal.hcu.ac.th/pdffile/jn1632/บทที่%208.pdf
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=55696&filename=index
https://kpi.ac.th/media/pdf/M8_29.pdf
https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fwww.kci.go.kr%2Fkciportal%2Fci%2FsereArticleSearch%2FciSereArtiView.kci%3FsereArticleSearchBean.artiId%3DART002801606%26fbclid%3DIwAR1B4pmAGq5bQkCjuKpDu7W10J4LEQrmARB_-T6WQx5-dorzO6YLJVLkNgo&h=AT2Gy1y7WLVIwtGa2WTFofdUBl7GpCAhkp4lSB6ZGNdpeWndw-xFj50itmQd10ZXHfVf5JvkfL1Y7VA1CoXP_58T-sTdmjUhRQ2jioTRZZqo25SBTx7cIDiB1wFQqwv0xiHJUxfZTYvFX9BY1ccRXo3Xxr4

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244695

https://www.google.com/url?sa=i&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=&cad=rja&uact=8&ved=0CAMQw7AJahcKEwjo3eLZg4v7AhUAAAAAHQAAAAAQAw&url=https%3A%2F%2Fso02.tci-thaijo.org%2Findex.php%2FJRKSA%2Farticle%2Fdownload%2F250493%2F169989%2F922128&psig=AOvVaw34TdYkZJHuTp_9c6U08rjM&ust=1667324301604931

http://www.dla.go.th/visit/stategics.pdf

http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER43/DRAWER026/GENERAL/DATA0000/00000211.PDF

https://kpi.ac.th/media/pdf/M8_29.pdfhttp://www.asia.tu.ac.th/research/Executive_Summary290557.pdf
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=55696&filename=index

ที่มารูป

https://nationalinterest.org/blog/korea-watch/south-korea-still-having-big-problems-corruption-90681
https://www.transparency.org/en/cpi/2021
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2019/05/356_268690.html
https://www.vectorstock.com/royalty-free-vector/south-korea-fights-corruption-money-bribery-vector-13205383
https://www.bbc.com/news/world-asia-43666134
https://www.dallasnews.com/news/world/2017/03/10/2-killed-in-south-korea-riots-after-president-ousted/

Author

  • สาวกรุงเทพ ผู้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภูเก็ต พยายามมีส่วนในการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในประเทศนี้ด้วยการเป็นอาสาสมัคร NGO อยู่หลายปี ใฝ่ฝันว่าอยากจะเห็นภูเก็ตมีระบบขนส่งสาธารณะดีๆ และอยากเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเองบ้าง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *