ก้าวหน้าและล้าหลังหลากหลายทางเพศในต่างแดน

– 1 –

เดือดมาตั้งแต่รู้ว่าสถานที่จัดฟุตบอลโลก ฟีฟ่าเวิลด์คัพ 2022 คือประเทศกาตาร์ หนึ่งในประเทศที่ติดโผปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงเหตุการณ์การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ในเดือนตุลาคม 2022 ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) มีรายงานว่า กองกำลังความมั่นคงในกาตาร์ได้จับกุมและข่มเหงกลุ่ม LGBTQ+ ชาวกาตาร์โดยพลการ เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนเริ่มเวิลด์คัพ 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้สัมภาษณ์กลุ่ม LGBTQ+ ชาวกาตาร์ 6 คน มีทั้งหญิงข้ามเพศ 4 คน ไบเซ็กชวล 1 คน และเกย์ 1 คน ที่มีรายงานว่าถูกควบคุมตัวระหว่างปี 2019-2022 พวกเขาบอกว่า ไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ โดยเป็นการควบคุมตัวในเรือนจำใต้ดินในกรุงโดฮา ถูกล่วงละเมิดทั้งทางวาจาและร่างกาย รวมทั้งเตะและต่อย

หนึ่งในนั้นบอกว่า เขาถูกขังเดี่ยวนาน 2 เดือน และทั้ง 6 คนบอกว่า ตำรวจบังคับให้พวกเขาลงชื่อในสัญญาระบุว่าจะ ‘ยุติกิจกรรมที่ผิดศีลธรรม’

แม้ว่าทางการกาตาร์จะอ้างว่า ยินดีต้อนรับแฟนๆ ชาว LGBTQ+ แต่ก็มีโรงแรมปฏิเสธการบริการคู่รักเพศทางเลือก และทางการของประเทศได้ชี้แจงอย่างชัดเจน

“เจ้าหน้าที่คาดหวังและต้องการให้ผู้คนเคารพวัฒนธรรมของเรา”

ปัจจุบันมีอีกหลายประเทศที่ยังคงแปะป้ายการมีสัมพันธ์กับเพศเดียวกันให้เป็นเรื่องต้องห้ามขั้นรุนแรง – กาตาร์เป็นเพียงหนึ่งในนั้น

– 2 –

“รสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงถึงความรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” วิกเตอร์ มาดริกัล-บอร์โลส (Victor Madrigal-Borloz) กล่าว

เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2022 มาดริกัล-บอร์โลส ทนายความชาวคอสตาริกา ผู้เชี่ยวชาญอิสระขององค์การสหประชาชาติ (UN) ด้านการคุ้มครองความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติตามรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ได้เสนอให้ยูเอ็นรวมเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเข้าในวาระด้านสันติภาพและความมั่นคง

ในการนำเสนอรายงานชิ้นล่าสุดของเขา มาดริกัล-บอร์โลส ได้พูดถึงการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทางเพศ เน้นย้ำถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างในปัจจุบันต่อรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่

“ถูกทำให้เป็นเหมือนอาชญากร”

รายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงหน้าที่ทั้งในและนอกภาครัฐภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ และกฎหมายผู้ลี้ภัย โดยมีการพูดถึงรูปแบบความรุนแรงที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเจอในระหว่างความขัดแย้งที่มีอาวุธมาเกี่ยวข้อง

“การไม่อ้างอิงถึงรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศในกรอบสันติภาพและความมั่นคงระดับโลก ซึ่งรวมถึงวาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง ทำให้ขาดการวิเคราะห์ ติดตาม รวบรวม และความเข้าใจที่กว้างขึ้น ความพยายามเชื่อมโยงจึงไม่สมบูรณ์และถูกลบเลือนไป สถานการณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ จึงไม่ถูกพูดถึงในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น”

ปี 2022 …

33 คือจำนวนประเทศที่ผ่านกฎหมายให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานได้

69 คือจำนวนประเทศที่กำหนดความผิดทางอาญาให้กับทุกกิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ชาย และ 42 ประเทศในนี้ทำให้ความใกล้ชิดระหว่างผู้หญิงเป็นอาชญากรรมในทุกกรณี

55 คือจำนวนประเทศที่มีโทษประหาร เพียงเพราะรสนิยมทางเพศไม่ถูกจริตสังคม

และ 60 คือจำนวนเปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต เช่นบางพื้นที่ในประเทศกาตาร์ เจ้าภาพเวิลด์คัพประจำปีนี้

งาน Pride Month ที่จัดในเดือนมิถุนายน ประจำปี 2022 มีธีมหลักเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษของความหลากหลายทางเพศ หยิบยกการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดผลด้านบวกมากมาย แต่ตัวเลขด้านบนยังคงเตือนอย่างหนัก ให้โลกได้รับรู้และทำอะไรสักอย่างกับสถานการณ์ของความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทั้งด้านกฎหมายและการใช้ชีวิตในสังคม

เพศที่ลื่นไหล กับกฎหมายหน่วงหนืด

มีสถานที่บางแห่งบนโลกใบนี้ที่การจูบหรือจับมือกับคู่รักเพศเดียวกันในที่สาธารณะเป็นที่ยอมรับ แต่ก็มีสถานที่อีกมากมายที่การทำอย่างเดียวกันส่งผลให้ถูกปรับ จำคุก ใช้แรงงานหนัก เฆี่ยนตี หรือในบางทีก็ไปถึงความตาย

Asher and Lyric Fergusson เว็บไซต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย สุขภาพ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้จัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยพิจารณาจากสิทธิทางกฎหมายและการสนับสนุนในสังคม โดยแคนาดาได้อันดับ 1 ไป และรั้งท้ายตารางด้วยบรูไนที่บังคับใช้ข้อกฎหมายประหารชีวิตด้วยการขว้างหินใส่กลุ่มบุคคลรักเพศเดียวกันต่อหน้าสาธารณชนเมื่อเดือนเมษายน 2019 ก่อนจะประกาศยกเลิกในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันหลังจากถูกประณามและคว่ำบาตรจากหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2021-2022 ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านดีอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศชิลีรับรองการแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของเพศเดียวกัน ประเทศนามิเบีย ที่เพิ่มการปกป้องกลุ่มหลากหลายทางเพศจากการเลือกปฏิบัติ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน อาร์เจนตินาและแอฟริกาใต้ประกาศว่า Non-Binary จะได้รับการยอมรับอย่างถูกกฎหมาย อินเดีย นิวซีแลนด์ และฝรั่งเศส สั่งห้ามการบำบัดแก้เพศวิธี (conversion therapy) โครเอเชีย รับรองการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของเพศเดียวกัน และภูฏานลดโทษกิจกรรมของกลุ่มเพศทางเลือก

สำหรับบางประเทศ แม้จะยังไม่มากมายแต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ไม่ใช่จะมีแต่ข่าวดีสำหรับกฎหมายต่อสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศในปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายในปานามา ยูกันดาได้ผ่านร่างกฎหมายลงโทษการกระทำที่เป็นความผิดต่อเพศเดียวกัน รวมถึงโรงเรียนในรัฐเท็กซัสและฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ได้พยายามห้ามการอภิปรายประเด็น LGBTQ+ ในโรงเรียน รวมถึงประเทศจาไมกา ที่ยังคงยึดถือกฎหมาย Buggery หรือว่าด้วยการชำเราที่มิใช่ตามธรรมชาติ มรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมที่ลงโทษกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วยการจำคุก 10 ปีพร้อมใช้แรงงานหนัก

นิตยสาร Times แปะป้ายจาไมกาว่า เป็นสถานที่ที่เกลียดชังกลุ่มรักร่วมเพศมากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2006 และยังไม่มีวี่แววว่าจะถอดป้ายนี้ออกแต่อย่างใด

จนถึงปัจจุบัน ยังมีประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศต่างๆ ในโลกที่ยังเก็บบทลงโทษกลุ่มหลากหลายทางเพศเอาไว้ อาจไม่พูดตรงๆ ว่าลงโทษเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ก็ใส่ไปในกรอบของการกระทำผิดทางเพศทั่วไปแทน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นชู้ ความไม่เหมาะสม การกระทำผิดธรรมชาติ และการแต่งตัวไม่ตรงเพศ

หลายครั้งที่บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดทางอาญาไม่ระบุขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและผู้พิพากษามีขอบเขตกว้างเกินไป จนแสดงอคติเมื่อบังคับใช้กฎหมายได้ นอกจากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกลียดชังกลุ่มหลากหลายทางเพศแล้ว ยังรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และการดำเนินชีวิตทั่วไปภายในชุมชนด้วย

นอกเหนือจากกฎหมายการแต่งงานแล้ว ปัจจุบันมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วย เช่น

  • กฎหมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดู LGBT รวมถึงการรับบุตรบุญธรรมของ LGBT
  • กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ที่พักอาศัย การศึกษา ที่พักสาธารณะ
  • กฎหมายต่อต้านการรังแกเพื่อปกป้องเด็ก LGBT ที่โรงเรียน
  • กฎหมายอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เพิ่มบทลงโทษทางอาญาสำหรับความรุนแรงที่มีอคติต่อกลุ่ม LGBT
  • ค่าห้องน้ำส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสถานบริการที่แยกเพศโดยคนข้ามเพศ
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศและการเกณฑ์ทหาร
  • กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
  • กฎหมายการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติที่ลงโทษกิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกันโดยสมัครใจ สิ่งเหล่านี้อาจกำหนดเป้าหมายเป็นคนรักร่วมเพศ ผู้ชายหรือผู้ชายและผู้หญิง หรือไม่ก็ปล่อยให้การกระทำรักร่วมเพศบางอย่างถูกกฎหมาย
  • กฎหมายการล่วงประเวณีที่คู่รักเพศเดียวกันต้องปฏิบัติตาม
  • กฎหมายอายุความยินยอมที่อาจกำหนดอายุที่สูงขึ้นสำหรับกิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกัน
  • กฎหมายเกี่ยวกับการบริจาคโลหิต กระจกตา และเนื้อเยื่ออื่นๆ ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
  • กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงการผ่าตัดแปลงเพศและการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน
  • การรับรองทางกฎหมายและที่พักของเพศที่กำหนดใหม่

เช่นเดียวกันกับกฎหมายการแต่งงาน กลุ่มหลากหลายทางเพศในแต่ละประเทศต่างกำลังต่อสู้เพื่อนสิทธิในกฎหมายเหล่านี้ – สิทธิในร่างกายของตนเองเช่นเดียวกับที่สังคมมอบให้กลุ่มคนตรงเพศ (Cisgender) ตลอดมา

ตราชั่งทางสังคม

เอาล่ะ…ถ้าว่ากันในทางกฎหมาย มองในแง่ดีถึงตอนนี้ก็มีหลายประเทศแล้วที่ผู้คนมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา และกฎหมายเองก็อ้าแขนรับ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่ากฎหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้เสมอไป หรือแม้กระทั่งประเทศที่ดูเหมือนจะยอมรับในทางสื่อความบันเทิง แต่ในกฎหมายและชีวิตประจำวันกลับตรงกันข้าม

เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ทั้ง 5 ประเทศต่อไปนี้ต่างก็มีเรื่องราวและเส้นทางของความหลากหลายทางเพศของตัวเอง

1. เคนยา

ปี 2022 เป็นปีแรกที่มีการจัดงาน Pride Month ที่เคนยา แต่ไม่ใช่ในเมืองหลวงทั่วประเทศ เป็นที่ค่ายผู้ลี้ภัยคาคุมา ทำให้ค่ายแห่งนี้กลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยแห่งแรกของโลกที่มีงานเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ

แม้มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม แต่ทวีปแอฟริกาก็เป็นหนึ่งในทวีปที่โหดหินสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ประมวลกฎหมายอาญาของเคนยา มาตรา 162 ระบุว่า การมีสัมพันธ์กับเพศเดียวกันมีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี หากถูกสงสัยว่าเป็นชายรักชายก็อนุญาตให้มีการตรวจทวารหนักได้ แม้นักสิทธิมนุษยชนจะยื่นเรื่องนี้ให้ศาลวินิจฉัย แต่ในปี 2018 ศาลเคนยาได้ระบุว่า กฎหมายข้อนี้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในปี 2020 คณะกรรมการจัดประเภทภาพยนตร์ของเคนยา (KFCB) ได้สั่งห้ามฉายสารคดีเรื่อง I am Samuel โดยอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามที่จะ ส่งเสริมการแต่งงานของเพศเดียวกัน และก่อนหน้าในปี 2018 ทางการได้สั่งห้ามโรงภาพยนตร์ในการฉาย Rafiki (แปลว่าเพื่อน ในภาษาสวาฮิลี) เรื่องราวความรักของเลสเบี้ยนในปี 2018 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์เคนยาเรื่องแรกที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามฉาย Rafiki ก็ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา และผู้ชมในกรุงไนโรบีก็แห่เข้าชมกันล้นหลาม ก่อนจะถูกแบนอีกครั้งในภายหลัง

ในเดือนสิงหาคม 2019 เคนยากลายเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่รวบรวมข้อมูลประชากรเพศกลุ่มเพศกำกวม (Intersex)* ในสำมะโนประชากรแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวชาว Intersex เฉลิมฉลองการยอมรับอย่างเป็นทางการของเคนยาถึงการมีอยู่ของพวกเขา แม้ว่าการขาดความรับรู้ บาดแผลทางสังคม และความไม่สอดคล้องในการถามถึงเพศของผู้ตอบแบบสอบถาม อาจทำให้การเก็บข้อมูลไม่ได้ถูกบันทึกมากพอก็ตาม

*(Intersex คือผู้ที่เกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศผิดปกติจนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ เป็นลักษณะทางกายภาพ ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ)

2. จีน

นิยายวาย คือนิยายที่ตัวละครหลักมีเพศสภาพเดียวกัน เช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง ซึ่งจีนคือหนึ่งในตลาดขนาดใหญ่ของนักอ่านนิยายแนวนี้ โดยเรียกว่า ตานเหม่ย ที่สร้างความนิยมมาตั้งแต่ยุค 90 จนถึงปัจจุบันที่ขยายตัวไปสร้างเป็นซีรีย์วาย โดยในปี 2011 เป็นต้นมา มีการค้นหาคำว่า ตานเหม่ย บน Baidu เครื่องมือค้นหาข้อมูลยอดนิยมของจีนเฉลี่ยวันละ 9,212 ครั้ง

แม้ได้รับความนิยมแค่ไหน ทำเงินได้มากเท่าไหร่ แต่จีนก็มีข้อห้ามชัดเจน แถมคุมเข้มซีรีย์แนวนี้ ทำให้ละครแนวรักเพศเดียวกันไม่สามารถฉายได้อย่างอิสระ รวมถึงมุมมองจากทางการจีนต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ชัดเจนสุดๆ

แม้ว่าจีนจะลดโทษกลุ่มรักเพศเดียวกันในปี 1997 แต่กลับไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้คนจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศ และการมีคู่ครองเป็นเพศเดียวกันก็ไม่ถูกกฎหมาย

เดือนมีนาคม 2019 ระหว่างการทบทวนวาระสากลของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จีนยอมรับคำแนะนำให้ใช้กฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติเนื่องจากรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศในการศึกษาและการจ้างงาน แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อพัฒนากฎหมายดังกล่าว แถมโฆษกสภาประชาชนแห่งชาติยังออกมาบอกในปีเดียวกันว่า จีนไม่รับพิจารณาประเด็นความเท่าเทียมในการแต่งงาน

ในปี 2021 กระทรวงศึกษาธิการจีนสั่งให้โรงเรียนปฏิรูปวิชาพละ โดยมีประกาศผ่านข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กวัยรุ่นผู้ชายกลายเป็นเหมือนผู้หญิง (The Proposal to Prevent the Feminization of Male Adolescents) จากนั้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทางการจีนก็มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ หยุดการออกอากาศผู้ชายที่ออกสาว รวมถึงความงามแบบผิดปกติอื่นๆ

แม้ซีรีย์และนิยายวายจะโด่งดังมากในจีน แต่ในชีวิตจริงแล้ว พฤติกรรมการรักเพศเดียวกันหรือกระทั่งผู้ชายที่มีบุคลิกอ่อนหวาน ไม่แข็งกร้าวก็ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งและคุกคามในเรื่องเพศ จนเกิดกรณีการฆ่าตัวตายมาตลอด

เดือนสิงหาคม 2020 ผู้จัดงาน Shanghai Pride ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศยกเลิกกิจกรรมและอีเวนต์ทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างถึงความจำเป็นในการ ปกป้องความปลอดภัยของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางพื้นที่ที่แคบลงสำหรับภาคประชาสังคม

3. สิงคโปร์

เพิ่งมีข่าวดีไปเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา กับหนึ่งในประเทศอนุรักษนิยมจัดอย่างสิงคโปร์ เมื่อรัฐบาลยอมยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 377A ที่ระบุว่าห้ามการร่วมเพศ อย่างผิดธรรมชาติ ระหว่างชาย หญิงหรือสัตว์ ซึ่งตีความอย่างกว้างได้ว่า การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายถือเป็นความผิดทางอาญา และทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน

กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิของ LGBTQ+ ในสิงคโปร์ได้ต่อสู้เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้มานาน โดยให้เหตุผลว่าเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะเลือกปฏิบัติและตีตราผู้ที่เป็นเกย์ และยังส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง เช่น การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหา ส่งเสริมการรักเพศเดียวกัน

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีการจัดงาน Pink Dot งานชุมนุมเพื่อสิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่จัดมาตั้งแต่ปี 2009 มีผู้คนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ในปี 2017 ทางการจะสั่งห้ามชาวต่างชาติเข้าร่วมอย่างสิ้นเชิง แม้แต่ไปยืนสังเกตการณ์ก็ไม่ได้ แต่ชาวสิงคโปร์ต่างก็แห่กันไปสนับสนุนงานจนทะลุกว่า 20,000 คน  

ทัศนคติทางสังคมต่อการรักเพศเดียวกันก็ดูค่อยๆ ดีขึ้น จากการสำรวจครัวเรือนที่สุ่มเลือก 5,000 ครัวเรือน โดยสถาบันนโยบายศึกษา (Institute of Policy Studies) ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2019 พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของชาวสิงคโปร์อายุระหว่าง 18-25 ปี เชื่อว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิด การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า การต่อต้านความเท่าเทียมในการแต่งงานโดยรวมลดลงเหลือ 60 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 จาก 74 เปอร์เซ็นต์ในปี 2013

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มีกฎหมายห้ามกลุ่มหลากหลายทางเพศลงทะเบียนและกระทำการทางนิติกรรมใดๆ และในปี 2019 Singapore Polytechnic วิทยาลัยอาชีวะแห่งแรกของสิงคโปร์ได้ถอนคำเชิญดีเจ โจชัว ไซมอน (Joshua Simon) ในการมาพูดบนเวที TED หลังจากที่เขาปฏิเสธลบเนื้อหาเกี่ยวกับเพศของของออกจากการนำเสนอ และหน่วยงานพัฒนาสื่อยังมีคำสั่งห้ามเผยแพร่ภาพหรือเสียงที่บอกเล่าเรื่องเชิงบวกของกลุ่มหลากหลายทางเพศออกสื่อด้วย

4. ไต้หวัน

หลังจากรัฐสภาผ่านกฎหมายคู่ชีวิตในวันที่ 17 พฤษภาคม 2019 ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ยอมให้การแต่งงานระหว่างคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนแต่งงานกับหน่วยงานของรัฐได้

ก่อนหน้านี้ ผลจากการลงประชามติได้ชี้ให้เห็นว่า ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ปฏิเสธข้อเสนอที่จะกำหนดให้การสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย โดยมองว่าคำนิยามของการสมรส ควรจำกัดไว้สำหรับคู่รักชายหญิงเท่านั้น รัฐบาลจึงไม่ปรับแก้คำนิยามเดิมของคำว่า สมรส ที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่ง แต่จะออกกฎหมายใหม่สำหรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันโดยเฉพาะแทนไปเลย

เดือนมกราคม 2021 สภาตุลาการไต้หวันได้ผลักดันให้แก้ไขร่างกฎหมายแพ่งมาตรา 46 และ 63 ว่าด้วยการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ชาวไต้หวันจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติเพศเดียวกันได้ แม้ชาวต่างชาติเหล่านั้นจะมาจากประเทศที่ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับคนเพศเดียวกันก็ตาม ขณะที่รวมฮ่องกงและมาเก๊าไปด้วย แต่จีนกลับไม่ได้สิทธินั้น

ในเดือนธันวาคม 2021 ศาลเยาวชนและครอบครัวของเกาสงตัดสินว่า คู่แต่งงานเกย์ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติจากความปรารถนาที่จะรับเด็กมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ใช่บิดามารดาโดยกำเนิด ทำให้คู่แต่งงานดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของเด็ก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวไต้หวันทุกคนจะปลื้มกฎหมายนี้ โดยฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างกลุ่มแนวร่วมเพื่อความสุขของคุณรุ่นต่อไป (Coalition for the Happiness of Our Next Generation) ออกมากล่าวว่า เหล่านี้เป็น

“การเหยียบย่ำความคาดหวังของคนไต้หวัน การแต่งงานและครอบครัวคือสิ่งที่เกิดจากชายและหญิง สามีกับภรรยาเท่านั้น”

5. บอตสวานา

ปี 2014 ศาลสูงของบอตสวานามีคำสั่งให้รัฐบาลรับการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรกของประเทศ หลังกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธ แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนชนะคดีและได้รับการจดทะเบียนเป็นกลุ่มเลสเบียน เกย์ และไบเซ็กชวลแห่งบอตสวานาหรือ LEGABIBO โดยผู้พิพากษาศาลสูงบอตสวานากล่าวว่า

การปฏิเสธการรับจดทะเบียนกลุ่มหลากหลายทางเพศถือว่าขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพในการแสดงออก

แถมผู้พิพากษายังยํ้าว่า การแสดงออกว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง

ก่อนหน้านี้ แม้บอตสวานาจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งที่สุดในแอฟริกา แต่กฎหมายยังไม่ยอมรับการแสดงออกทางเพศที่หลากหลาย โดยระบุโทษจำคุกผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสูงสุด 7 ปี และการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันในที่สาธารณะหรือแม้แต่สถานที่ส่วนตัวจะต้องถูกจำคุกมากสุด 2 ปี

จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2021 ศาลอุทธรณ์บอตสวานาได้มีคำสั่งให้ยกเลิกกฎหมายอาญาเอาผิดประชาชนที่มีความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกัน

ศาลได้ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิในเสรีภาพ ความปลอดภัยส่วนบุคคล และความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันตามกฎหมายและสิทธิเสรีภาพ โดยกลุ่มเลสเบียน เกย์ และไบเซ็กชวลแห่งบอตสวานา (LEGABIBO) ได้ชี้แจงต่อศาลว่า กฎหมายนั้น มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรง ขัดขวางการเข้าถึงบริการสุขภาพ และเป็นอันตรายต่อการป้องกันเอชไอวีของประเทศ

ทั้งนี้ ชุมชนของกลุ่มหลากหลายทางเพศในบอตสวานายังได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีมูเควตซี มาซีซี (Mokgweetsi Masisi) ด้วย โดยเขาได้กล่าวในการปราศรัยเมื่อปี 2018 ว่า

“เช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ พวกเขาสมควรได้รับการปกป้องสิทธิของตน”

แหล่งข้อมูล

https://www.hrw.org
https://www.ohchr.org/en/taxonomy/term/823
https://news.sky.com/story/being-gay-is-damage-in-the-mind-qatar-world-cup-ambassador-says-12741596
https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/nov/09/world-cup-lgbtq-abuses-british-regimes-qatar-tournament
https://www.humandignitytrust.org/lgbt-the-law/
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4109284?fbclid=IwAR2CuIAR9g4hfO7kOl-sY6nu1ICsxxo4jakYZXIteghPFEkhHX-k54Q6jpU
https://www.theguardian.com/global-development/2021/nov/29/botswana-upholds-ruling-decriminalising-same-sex-relationships

Author

  • มนุษย์แม่พ่วงฟรีแลนซ์ สนใจความสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกระดับ กำลังพัฒนาการสื่อสารภายในตัวเอง ล่าสุดสนใจจิตวิทยาวัยรุ่น เดินป่า และชี่กง กินเผ็ดเก่งมาก รักเรื่องฆาตกรรมและวรรณกรรมโหดๆ แต่ก็โปรดการดูแคสต์เกมเป็นเพื่อนลูกชาย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *