การมีชีวิตของคนหนึ่งคน ไม่ได้หมายถึงการดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้หมายถึงแค่การเกิดมาปรากฏบนดาวเคราะห์ นับตั้งแต่วินาทีแรก การมีชีวิตเริ่มต้นขึ้นและดำเนินต่อไป โดยมีการเอาชีวิตรอดเป็นกิจกรรมหลัก มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่มีมนุษย์คนอื่นๆ อยู่ด้วย เมื่อมาอยู่รวมกัน ไม่ว่าจำนวนมากหรือน้อย การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์หลายๆ คน เป็นสภาพการณ์อัตโนมัติที่จำเป็นต้องสร้างกติกาบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลง ข้อห้าม การกำหนดว่าอะไรถือเป็นสิ่งที่ดีและทำได้ อะไรคือการกระทำที่ต้องได้รับโทษ
ความสัมพันธ์ที่โยงใยกันไปมาในกลุ่มบุคคลขนาดต่างๆ สร้างฉากแห่งการดำรงอยู่ของคน ยิ่งพัฒนาการของปฏิสัมพันธ์เคลื่อนผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นการข้ามผ่านเวลาและประสบการณ์ ผ่านการขยายกลุ่มสมาชิกของสังคมนั้นๆ ผ่านปฏิสัมพันธ์อันหลากหลาย เหตุแห่งความร่วมมือหรือเหตุแห่งความขัดแย้ง ถูกผลักดันไปโดยกงล้อที่วิ่งวนไปมา ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า การเมือง
การเมืองในภาษาอังกฤษ คือคำว่า Politic มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือคำว่า Polis ที่แปลเป็นไทยได้ว่า รัฐ หรือ ชุมชนทางการเมือง ในแง่ของคำนิยาม คำว่า Politic ถูกตีความไปในความหมายที่หลากหลายทฤษฎี แต่หากพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ การเมืองคือการพยายามบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
พอมนุษย์กลุ่มหนึ่งต้องการสร้างหลักเกณฑ์กติกาการอยู่ร่วมกัน ด้วยความหวังว่าตัวของเราในฐานะปัจเจกจะอยู่รอดปลอดภัย และมีชีวิตที่ดี จึงเกิดกระบวนการกำหนดบรรทัดฐาน อาศัยอำนาจ เพื่อออกแบบสิ่งเหล่านั้น
คำว่าอำนาจทางการเมือง สำหรับ ฮาโรลด์ ลาสเวล ( Harold D. Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้นิยามไว้ว่า อำนาจคือ ความสามารถที่จะตัดสินว่า ใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร
สารคดีชิ้นนี้ ตั้งใจสื่อสารคำว่าการกระจายอำนาจ ถือเป็นงานเขียนชวนพูดคุย โดยสนทนากับผู้ที่ทำงานผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ 3 คน ได้แก่ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ บรรณ แก้วฉ่ำ อนุกรรมาธิการและเลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการที่ทำข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ผู้เชี่ยวชาญเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อลิสา บินดุส๊ะ ผู้ประสานงานนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้

ชำนาญ จันทร์เรือง: จากปลัดอำเภอสู่ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจ
การผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจไม่ใช่ชิ้นงานง่ายๆ ที่จะทำเสร็จในวันเดียว ระยะทางการทำงานเรื่องนี้คล้ายการวิ่งระยะไกล คำถามคำตอบที่แลกเปลี่ยนกันไปมาระหว่างเราจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการถามง่ายๆ ว่า ทำไมอาจารย์ถึงทำงานผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจ ไปเอาแรงขับมาจากไหน
“ผมเคยรับราชการเป็นปลัดอำเภอสังกัดกระทรวงมหาดไทย แล้วต่อมาก็ย้ายไปทำงานในส่วนของสำนักงานศาลปกครอง จากประสบการณ์การทำงานในช่วงนั้น ทำให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับระบบราชการ เห็นว่าอะไรคือช่องว่างที่ไม่ถูกเติมเต็ม อะไรคือกำแพงที่ทำให้บางอย่างไม่ไปต่อ พอเห็นอย่างนั้นแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากการทำงานที่ศาลปกครอง มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ได้พบกับอาจารย์และนักวิชาการหลายคน”
อาจารย์ชำนาญพูดเลยว่า “จะเรียกจุดนั้นว่าเป็นช่วงตาสว่าง ที่หักเหวิธีคิดในการทำงานไปหลายมุมเลยก็ว่าได้ จุดนั้นทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่า ความจริงแล้ว มันมีเรื่องราวหลายอย่างที่ยังไม่รู้”
เมื่อปรับมุมมอง วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยแว่นตาคู่ใหม่ ก็เริ่มเห็นปัญหาของการใช้อำนาจทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในหลายกรณีที่พบ รากฐานของปัญหามาจากระบบการบริหารอำนาจในประเทศที่ไม่ถูกต้อง รวมศูนย์ และกุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง
“โดยตัวอย่างของปัญหา เช่น
ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ถ้าไปถามคนท้องถิ่นดู เขาจะพูดกันว่าผู้ว่าฯ นั้นพึ่งไม่ได้ เพราะมีอำนาจแต่ไม่มีเงิน ซึ่งในทางกลับกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเงิน มีงบ แต่ไม่มีอำนาจ
“แล้วโครงสร้างที่เป็นปัญหาแบบนี้มีที่มาจากไหน มันเริ่มจากการประกาศรวมเขตแดนเข้าเป็นรัฐชาติ รัฐเดียว ซึ่งในบริบท ณ ขณะนั้น เหล่าผู้ปกครองใช้วิธีการปกครองแบบรวมศูนย์ ทุกอย่างอยู่ที่ศูนย์กลาง เพื่อรักษาอำนาจ และระวังภัยจากการล่าอาณานิคม การส่งตัวแทนจากศูนย์กลางไปประจำเป็นผู้ปกครองในพื้นที่ต่างๆ ถ้าจะให้เรียกง่ายๆ ในภาษาดั้งเดิม คือ การกินเมือง ซึ่งคนที่ถูกแต่งตั้งไปก็จะเป็นเจ้าเมือง”
คำว่าเจ้าเมืองเป็นคำที่มีความหมายสะท้อนตนเองอย่างชัดเจน คือเป็นเจ้าของเมืองเมืองหนึ่ง พอใช้คำนี้มันก็ทำให้คนในพื้นที่ต่างๆ รู้สึกต่อต้าน
“อยู่ดีๆ มีคนที่ไม่ใช่คนพื้นที่มานั่งอยู่บนสุดของพีรามิด กำหนดนโยบายที่กระทบการอยู่การทำกินของคนในท้องถิ่น คำว่าเจ้าเมืองเลยถูกเบี่ยงคำไปเป็นคำว่าพ่อเมือง ซึ่งพ่อเมืองนี่ ก็วางท่าเป็นพ่อบ้านผ่านเมือง นึกง่ายๆ คือระบบพ่อปกครองลูก ซึ่งในต่างจังหวัดบางที่ยังเรียกผู้ว่าฯ ว่าพ่อเมือง หรือคุณพ่อ ก็ยังมี
“ซึ่งนี่แหละคือปัญหา การบริหารจัดการในจังหวัดกลายเป็นระบบ แล้วแต่จะให้ แล้วแต่จะโปรด แล้วแต่จะเมตตา ซึ่งมันผิดหลัก ความจริงแล้วคนที่บริหารต้องทำงานตอบสนองคนท้องถิ่น ถึงระบบปัจจุบันจะไม่มีพ่อเมืองที่เป็นทางการ แต่วิธีคิดก็เหมือนเดิม มหาดไทยแต่งตัวผู้ว่าฯ คนในพื้นที่จึงมีผู้นำแบบแล้วแต่เขาจะตั้งมา”
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ การกลับด้านจากบนลงล่าง ไปเป็นระบบแบบล่างขึ้นบน
“หน่วยการดูแลแบบท้องถิ่นมี 7,850 แห่ง ซึ่งมันดูเหมือนเยอะ แต่ความจริงแล้วมูลค่าเงินมันนิดเดียวถ้าเทียบกับส่วนกลาง มันจะมีมายาคติอย่างหนึ่งต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น คือความคิดที่ว่าท้องถิ่นทุจริตเยอะ ใช่ เรื่องร้องเรียนในท้องถิ่นนั้นเยอะจริงๆ เพราะในท้องถิ่นทุกคนมีสิทธิสอดส่อง หูตาดี มีคนคอยมองคอยตรวจสอบ แต่ถ้าดูที่สถิติ เรื่องในท้องถิ่นที่มีการร้องเรียน มีมูลดำเนินคดีต่อได้ไม่ถึง 2%”
เห็นอย่างนี้แล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการปรับโครงสร้างด้วย
“เลิกราชการส่วนภูมิภาค เพราะถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ แต่โครงสร้างอื่นๆ เหมือนเดิม ก็จะเป็นปัญหาอย่างที่เห็นอยู่กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน คือพวกเขามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ยังสังกัดมหาดไทย รับใช้กระทรวง เราต้องเปลี่ยนเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นดูแลตนเอง เพราะไม่มีใครรู้เรื่องท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น”
ถามว่าอะไรจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดการกระจายอำนาจ อาจารย์ชำนาญบอกว่าต้องมาจาก 3 ฝั่ง
“หนึ่ง… ต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สอง… สภาฯ ที่เห็นความสำคัญของเสียงคนท้องถิ่น และสุดท้ายคือคนท้องถิ่นเองก็ต้องส่งเสียงให้ดังๆ”
แน่นอนว่าการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจอาศัยคนมากมาย หลายความรู้ หลายประสบการณ์ และหลายมุมมอง เมื่ออาจารย์ชำนาญเอ่ยถึงสภาฯ เราจึงนั่งลงเพื่อคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งในสภาฯ

บรรณ แก้วฉ่ำ: ต้องกระจายงบประมาณ
อนุกรรมาธิการและเลขานุการที่ทำข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง หลังเคยสัมภาษณ์เขาแล้วครั้งหนึ่ง นี่เป็นอีกครั้งที่เราฉวยเอาเวลาระหว่างการประชุมหนึ่งไปอีกประชุมหนึ่ง ในพื้นที่พักรอหลืบหนึ่งในตึกสภาฯ สิ่งแรกเลยที่ถามบรรณคือ คณะอนุกรรมาธิการที่ทำข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เสนออะไร
“การให้ประชาชนในจังหวัดอื่นๆ มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง และอีกประเด็นคือการลดบทบาท รวมทั้งยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค”
การผลักดันเรื่องจังหวัดจัดการตนเองเริ่มจากที่บรรณเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องเอางบประมาณส่วนต่างๆ แบ่งไปไว้ใกล้ๆ บ้านประชาชน
“ในท้องถิ่นสามารถนำงบประมาณส่วนนั้นมาใช้จ่ายตามความต้องการของตนเองได้ เพื่อแบ่งเบาภาระส่วนกลาง แล้วในขณะเดียวกันจะทำให้เกิดความเจริญเท่าเทียมกันทั่วถึงทั้งประเทศ
เมื่องบประมาณไปถึง อำนาจหน้าที่ถูกกระจาย ให้ท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาตนเองได้ ปัญหาต่างๆ จะถูกแก้ในระดับพื้นที่ ซึ่งปัญหาเหล่านั้นจะไม่นำเข้ามาสู่ในส่วนกลาง
บรรณชวนลองนึกภาพการเมืองระดับชาติ ปัญหาที่หลายครั้งแก้ไม่ได้ก็เพราะโครงสร้างที่ติดอยู่กับการรวมศูนย์
“ที่ผ่านมา สาเหตุที่รัฐบาลอายุสั้น สมมติยกตัวอย่างปัญหาเรื่องราคาลำไยตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาของคนบางกลุ่ม บางอาชีพ เขาต้องเข้าเมืองมาประท้วงที่หน้าทำเนียบ พอมาประท้วง เกิดเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ฝ่ายการเมืองก็เข้ามาผสมแล้วก็ล้มรัฐบาล แล้วก็เอาอีกฟากฝั่งหนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อ
“วันดีคืนดี ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาของคนบางกลุ่ม บางอาชีพ ก็มาประท้วงอีก ก็กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว แล้วก็ล้มรัฐบาลอีก ถ้าปัญหาถูกแก้ตั้งแต่ในพื้นที่ ไม่ต้องให้คนมาประท้วงหน้าทำเนียบ รัฐบาลก็มีอายุมีเสถียรภาพมั่นคงยิ่งขึ้น”
อีกผลกระทบของโครงสร้างแบบรวมศูนย์คือความเหลื่อมล้ำ
“โอกาสของคนต่างจังหวัดในชนบทที่จะเข้าถึงทรัพยากรมันน้อย แต่ถ้าเรามีการกระจายงบประมาณ รวมทั้งกระจายอำนาจหน้าที่เข้าไปในท้องถิ่น ก็จะทำให้เกิดการจ้างสร้างงานในต่างจังหวัด ประชากรหนุ่มสาวไม่ต้องเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ เพราะสามารถหางานทำในพื้นที่ตนเองได้
“แล้วต้นตอที่ผ่านมาอีกเรื่องใหญ่ๆ คือ การทำรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารทุกครั้ง การกระจายอำนาจถูกตัดทอน ถูกบั่นทอน ทุกครั้ง นอกจากปัญหาเรื่องการทำรัฐประหารแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการออกแบบกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กำหนดแผนการกระจายอำนาจ หรือแม้แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“เราออกแบบให้หน่วยงานที่ต้องสูญเสียอำนาจจากการกระจายอำนาจ มาเป็นผู้ทำหน้าที่กระจายอำนาจในท้องถิ่น ส่วนมากเป็นข้าราชการ เป็นตัวแทนจากกระทรวง จากสำนักงบประมาณ พอเขากระจายอำนาจไป เขาสูญเสียบทบาทอำนาจหน้าที่”
ฉะนั้น แนวทางแก้ไขก็คือควรมีหัวของท้องถิ่นทำหน้าที่ตรงนี้
“เวลาพูดถึงการกระจายอำนาจ ต้องย้อนนึกกลับไปที่หลักการปกครองท้องถิ่นก่อนว่า การปกครองท้องถิ่นมีไว้เพื่อจัดบริการสาธารณะให้กับพื้นที่เฉพาะ ซึ่งมีบริบทและความต้องการไม่เหมือนกัน แต่การวางอำนาจทางกฎหมายไปล็อคระเบียบปฏิบัติต่างๆ
“เช่นการเบิกจ่ายต้องทำเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทย เมื่อมีกำแพงเช่นนี้ เจตนารมณ์ของคนทำงานในฝ่ายบริหารท้องถิ่น ที่พยายามทำให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ก็ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง สุดท้ายเราจะเห็นภาพว่าโครงการต่างๆ ในท้องถิ่นทั่วประเทศทำงานคล้ายๆ กันไปหมด ทั้งที่ทุกพื้นที่มีความต่าง”
นั่งฟังกันไปกันมา ปัญหาดูจะพันลึกไปตั้งแต่ประวัติศาสตร์ หลักการคิด วิธีการปกครอง หรือแม้กระทั่งความเคยชินของข้าราชการ บทสนทนาถูกดึงกลับมาอีกครั้ง ที่คำถามว่าแล้วการกระจายอำนาจหมายความว่าอย่างไร
ความจริงไม่ได้อยากใช้คำว่ากระจายอำนาจ เพราะนัยมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระจายออก แต่มันคือการคืนอำนาจให้กับประชาชน อำนาจสูงสุดที่ต้องอยู่ในมือคนทุกคน
พูดง่ายๆ คือ เอาอำนาจและงบไปวางไว้ใกล้ๆ บ้านประชาชน แล้วให้เขาตัดสินใจการใช้จ่าย-นโยบาย โดยมีอำนาจทางกฎหมายรองรับ เพื่อออกแบบพื้นที่ในชีวิตเองได้ นี่ไม่ใช่การพยายามทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องที่ฟังดูง่าย แต่มันคือการสนทนาที่กลับไปค้นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เจตจำนง และการออกแบบชีวิตของคน

อลิสา บินดุส๊ะ: ความหวังในประเทศไร้หวัง
โอกาสในการพูดคุยกับ อลิสา บินดุส๊ะ มาถึงเป็นคนสุดท้าย เริ่มต้นจากการเอาปัญหาใหญ่ยักษ์มาคุยกัน เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ สิ่งที่พ่วงด้วยก็คือเสรีภาพ ก่อนไปถึงเรื่องระบบระเบียบวิธีรายละเอียด แผลใหญ่ที่ปิดไม่มิดคือ 8 ปีแห่งเผด็จการทหารที่ผ่านมา
“ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ไม่ใช่ว่าสังคมไทยจะเรียกว่าไม่มีเสรีภาพ แต่มันรู้สึกมากกว่า มันทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้มีผลอะไรกับประเทศนี้ การตัดสินใจใดๆ ไม่รู้จะไปมีส่วนร่วมกับการกำหนดในประเทศนี้ยังไง แล้วมันจะส่งผลต่อชีวิตอย่างไร มันคือการทำลายความหวัง
“ระบอบประยุทธ์นอกจากจำกัดเสรีภาพแล้ว มันวางกรอบชีวิตเราให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ คือคุมไว้ทุกทางไม่ให้ลืมตาอ้าปาก เช่น ไม่ว่าเราจะเลือกรัฐบาลเป็นใครไปบริหาร ก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แค่นี้ก็ชัดเจน”
อลิสากล่าวว่า ไม่ต้องพูดถึงคนในระดับชุมชนเลยว่าจะทำอะไรได้ ต่อให้เราเลือกใครไป เราไปใช้สิทธิที่เรามีคือเราไปเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ผลตามที่เราเลือกอยู่ดี
“ความคิดแบบบนลงล่างสร้างปัญหา คนทำไม่เข้าใจ คนเข้าใจไม่ได้ทำ
จะเห็นโครงการพัฒนาเต็มไปหมดที่คิดจากส่วนกลางเพื่อจะมาพัฒนาพื้นที่ โดยที่ไม่ได้รู้จักพื้นที่นั้นจริงๆ ท้องถิ่นรู้ดีที่สุดว่า เขาจะพัฒนาท้องที่เขาไปแบบไหน และมันเป็นสิทธิเขาในการเลือก
มันเลยเป็นปัญหาแก้ไม่หาย”
เราต้องเชื่อก่อนว่าทุกคนรักชีวิตตนเอง รักและอยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“แม้แต่อย่างโรงเรียนเอง ทำไมต้องกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นน่าจะรักลูกหลานเขามากกว่า รู้จักพวกเขาดีกว่าอยู่แล้ว การที่มีราชการรวมศูนย์ มันละเมิดสิทธิเราทุกคน หมายถึงว่ามันไม่ได้เชื่อว่าประชาชนเท่ากัน มันมีประชาชนที่ฉลาดกว่า จนบางทีเหมือนจะคิดให้ตายยังไงก็มีคนกำกับอยู่ด้านบน แล้วก็ไม่ได้เชื่อด้วยว่าคนพื้นที่ฉลาดพอที่จะเลือก จะทำอะไรเองได้
“เราต้องการให้คนทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจ ออกแบบชีวิตของเขาเอง แล้วกระจายอำนาจไป คือให้ท้องถิ่นดูแลตนเอง คือต้องกระจายทั้งคน กระจายทั้งอำนาจ กระจายทรัพยากรและความเชื่อว่าท้องถิ่นจะดูแลตนเองได้ ส่วนกลางเดินถอยออกมา แล้วปล่อยให้ท้องถิ่นจัดการเอง ให้ประชาธิปไตยมันทำหน้าที่ของมันเอง”
ใช่-และอย่าลืมว่า คนทุกคนเขารักชีวิตเขา เขาจะออกแบบชีวิตของตนเองเพื่อความต้องการของตนเอง
“กระจายอำนาจคือให้เขามีสิทธิจะทำอะไรของตนเอง ออกแบบเมืองเองได้ การกระจายอำนาจคือ การเพิ่มอำนาจต่อรอง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากขึ้น ข้อเสียคือเรื่องนี้ไม่มีในความคิดตามระบอบ คสช. เพราะการใช้เสรีภาพในการเมืองก็ไม่มีอยู่แล้ว
เราควรยกเลิกการกุมอำนาจแบบรวมศูนย์ และผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้ง มันไม่มีความจำเป็น อย่างในบริบทของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ การกระจายอำนาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขความขัดแย้ง
บทสนทนามาบรรจบอยู่ที่โจทย์เดิม มนุษย์เป็นเจ้าของชีวิต มนุษย์ต้องเอาตัวรอด มนุษย์จะเลือกในสิ่งที่ดีต่อตนเอง แต่ความไม่เชื่อมั่น ไม่รับฟัง หรือแม้กระทั่งไม่ให้ค่าเสียงของคนอื่น ที่ไม่ใช่ตัวเรา พวกเรา กลุ่มเรา ดึงอำนาจออกจากมือมนุษย์ด้วยกัน ขยายใหญ่โตในกลุ่มคนบางกลุ่ม
และคนอีกกลุ่มไม่เหลือเสียงพูด เงียบงัน
การกระจายอำนาจ ด้วยความหมายในตัวมันเอง จะช่วยลดปัญหาของส่วนกลาง เมืองส่วนกลาง ให้น้ำหนักน้ำเสียงและอำนาจกับคนในท้องถิ่น เปลี่ยนการดำเนินนโยบายแบบผิดฝาผิดตัว ไปให้เจ้าของเสียงตัดสินใจ เลือกสิ่งต่างๆ ให้ตนเอง
การกระจายอำนาจไม่ใช่คำใหญ่เข้าใจยาก มันหมายถึงอำนาจในการกำหนดชีวิตของคนทุกคน