วรเจตน์ ภาคีรัตน์: 112 กับ สังคมไทย

กิจกรรมการบรรยายในวันนี้ของมูลนิธิสิทธิอิสราขออุทิศแด่ 1 ทศวรรษแห่งช่องว่างระหว่างราษฎรกับราษฎรด้วยกัน และระหว่างราษฎรกับสถาบันกษัตริย์ที่ถูกขัดขวางให้คาราคาซังไว้ด้วยกฎหมายมาตราเดียวมาตรานี้

ไอดา อรุณวงศ์

บรรยากาศในห้องพูนศุขเริ่มหนาตาไปด้วยผู้คนที่เข้ามาฟังบรรยายสาธารณะครั้งนี้ เท่าที่ผมเห็นก็มีผู้ต้องหาทางการเมืองและนักต่อสู้เคลื่อนไหวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 นั่งรวมอยู่ในนั้นจำนวนหนึ่ง หลังการกล่าวต้อนรับของรองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์[1] มีการเอ่ยถึงเรื่องขอบเขตของสถาบันการศึกษารวมถึงงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ความรู้ และนำความรู้นั้นมาแสวงหาทางออกให้กับสังคม

ถัดมา ไอดา อรุณวงศ์ ในฐานะของ ประธานมูลนิธิสิทธิอิสรา ได้เกริ่นนำถึงที่มาที่ไปในการบรรยายสาธารณะครั้งนี้ไว้ 3 ประการ

ประการแรก เกิดจากวาระจดทะเบียนมูลนิธิสิทธิอิสราตามกฎหมายได้สำเร็จในปีนี้ หลังจากทำหน้าที่ดูแลเงินประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองในนาม กองทุนราษฎรประสงค์ ที่ไอดาและเพื่อนเริ่มทำไอเดียการระดมเงินเพื่อการประกันตัวตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยนโยบายตั้งแต่แรกเริ่มนั้นไอดากล่าวว่า เงินในบัญชีกองทุนจะสงวนไว้เพื่อผู้ต้องหาทางการเมืองเท่านั้น จะไม่มีการเบิกแม้แต่บาทเดียวออกมาเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนในการทำงาน ค่าใช้จ่ายทุกอย่างตลอดหลายปีที่ผ่านมาจึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่แบกรับมันไว้

ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันระยะยาวสำหรับผู้ที่จะมาสืบทอดในการต่อไปในนามมูลนิธิ หลังจากที่จดทะเบียนมูลนิธิได้สำเร็จภารกิจต่อเนื่องจึงต้องหาเงินเพื่อใช้จ่ายให้กับคนที่มาทำงานในนามมูลนิธิในดำเนินต่อไปได้ ใครบางคนเสนอว่า เราน่าจะขายบัตรจัดงานระดมทุนให้มูลนิธิ และใครอีกบางคนก็ได้กรุณาเสนอว่า ยินดีจะมาบรรยายพิเศษให้ในวาระระดมทุน

แน่นอน ใครบางคนที่ว่านั้นคือ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไอดากล่าวรู้สึกกระดากที่จะขายบัตร เพราะคิดว่า อ.วรเจตน์นั้นเป็นนักกฎหมายที่เป็นสมบัติสาธารณะของราษฎรไปแล้ว ไม่ควรที่ใครจะสามารถติดราคาขายบัตรจับมือ บัตรบรรยายใดๆ ได้ ไอเดียการขายบัตรระดมทุนจึงถูกพับไป

ประการต่อมา ในฐานะที่ดูแลกองทุนประกันตัวนั้น ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อคดีต่างๆ ที่ได้ประกันไว้ เริ่มทยอยมีคำพิพากษาและไอดาก็ได้รับทราบผลคดีเหล่านั้นในฐานะนายประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เป็นผลมาจากกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งทำให้เธอคิดว่ามันน่าจะมีอะไรผิดปกติสักอย่าง และถ้าจะมีใครที่สามารถขมวดความผิดปกตินี้ได้รัดกุมหมดจดคงไม่แคล้วต้องวรเจตน์ และด้วยเหตุนี้งานทอล์คระดมทุนจึงถูกจับมาปัดฝุ่นกลายเป็นการบรรยายสาธารณะครั้งนี้

ไอดากล่าวถึงจุดมุ่งหวังไว้ว่าจะถ่ายทอดออกไปยังบรรดาบุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หันมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาทบทวนในวาระที่ครบหนึ่งทศวรรษหรือ 10 ปีพอดีหลังเคยมีการเสนออย่างเป็นรูปธรรมให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย อ.วรเจตน์ เอง

เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไอดากล่าวย้ำว่า เราต้องไม่ลืมว่าหลังการบรรยายครั้งนั้นไม่นาน คือในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ วรเจตน์ก็ถูกบุกทำร้ายร่างกายจากการปลุกปั่นความเกลียดชังของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง จึงช่วยไม่ได้ที่วาระครบรอบหนึ่งทศวรรษของการเสนอแก้กฎหมายด้วยความเปิดเผย ตรงไปตรงมา จึงครบรอบไปพร้อมกับหนึ่งทศวรรษของความป่าเถื่อนซึ่งหน้า อันแอบอยู่หลังข้ออ้างของการปกป้องสิ่งที่เรียกกันว่ากฎหมาย

ประการที่ 3 คือพันธกิจของมูลนิธิสิทธิอิสราที่มีความตั้งใจว่าจะจัดทำหอจดหมายเจตจำนงค์ หรืองาน Archive และนั่นคือการรับมอบสมบัติจำนวนหนึ่งจาก อ.วรเจตน์ เป็นจดหมายและไปรษณียบัตรที่มีประชาชนส่งมาถึงอาจารย์เมื่อ 10 ปีที่แล้วในช่วงที่เปิดประเด็นในการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ทั้งในด้านที่เป็นคำชื่นชมให้กำลังใจและในด้านที่เป็นคำด่าทอคุกคาม และอาฆาตมาดร้าย ในแง่วัตถุสะสม มันบรรจุไว้ด้วยเนื้อหาและรูปแบบของความพยายามสื่อสารในยุคสมัยนั้น ของการเขียนด้วยมือ ด้วยพิมพ์ดีด พับใส่ซองติดแสตมป์จ่าหน้า และรอเวลาข้ามวันกว่าที่สารนั้นจะถึงผู้รับ

กรณีมีรูปประกอบก็อุตส่าห์ลงแรงทากาวตัดแปะมาให้ และถ้าเรามองสำรวจให้ละเอียดขึ้น ก็อาจพอจำแนกได้ว่าฉบับใดเป็นจดหมายจากประชาชนทั่วไปจริงๆ และฉบับใดคือไอโอ [2]ยุคบุพกาล ซึ่งบางส่วนก็ถูกคัดมาจัดแสดงที่หน้าห้องบรรยายในวันนี้ เพื่อเพิ่มบรรยากาศของการทบทวนแบบรำลึกความหลังไปด้วยในตัว แต่แน่นอนว่าจดหมายตัวอย่างที่จัดแสดงนี้จะไม่มีด้านที่ยกย่องให้กำลังใจ เพราะอาจารย์คงไม่สะดวกใจที่จะถูกเสนอภาพเป็นพระเอกฮีโร่ขนาดนั้น ดังนั้นวันนี้เราก็เลยมีแต่ด้านที่อาจารย์ต้องกลายเป็นพระเอกรันทด (Tragic Hero) จัดแสดงไว้ ไอดาหยิบเนื้อความในจดหมายบางส่วนที่ไม่ถูกจัดแสดงมาอ่านก่อนส่งมอบเวทีการบรรยายให้วรเจตน์

จดหมายจากสุรินทร์

เธอขึ้นต้นว่า ไม่เคยรู้จัก อ.วรเจตน์เป็นการส่วนตัว แต่ที่เขียนมาเพราะเห็นว่าอาจารย์เป็นแกนนำของคณะนิติราษฎร์เสนอแก้ไข้ ม.112 เธอบอกว่า สารภาพจริงๆ ว่าดิชั้นไม่รู้ข้อมูลที่แท้แน่นอนว่าดี ว่ามีประโยชน์ต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ บางคนบอกว่า แก้เพื่อปกป้องสถาบัน บางคนบอกว่าเป็นการลดและทำลายพระราชอำนาจ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นดิชั้นก็ไม่ได้หาข้อมูลที่จริงจังมากนัก ได้แต่เสพข่าวจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์หลายช่องรวมถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตบ้าง หาข้อสรุปไม่ได้ว่าดีจริงหรือไม่ แต่ในส่วนตัว ดิชั้นต้องเขียนจดหมายถึงอาจารย์เพราะพระอรหันต์ในบ้านของดิชั้นมีอาการเศร้าโศกเสียใจ ซึมเศร้าเมื่อทราบข่าวจากโทรทัศน์บ้างหนังสือพิมพ์บ้างว่า เขาจะล้มล้างในหลวง จึงทำให้ลูกอย่างดิชั้นทนดูสภาพเช่นนี้ไม่ได้ แม้ว่าพยายามจะอธิบายเช่นไร แม่ก็ไม่เข้าใจ อาจเพราะดิชั้นก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน จึงทำให้แม่เข้าใจไม่ได้

ดิชั้นเพียงอยากชี้ให้อาจารย์มองอีกมุมหนึ่งของเพื่อนร่วมชาติที่แก่ๆ ตาไม่ค่อยดำแล้วเพราะเริ่มจะฝ้าฟาง ว่าเขาเศร้าโศกเสียใจต่อการกระทำของคณะนิติราษฎร์เพียงใด ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ยังขมวดไว้ว่า

ดิชั้นเองเห็นว่าในเวลานี้บ้านเมืองมีปัญหามากพอแล้วและยังไม่ถึงเวลาที่จะไปแตะต้องมาตรานี้ หากพ้นช่วงเวลานี้แล้ว ดิชั้นจะไม่ขัดข้องเลยและอาจสนับสนุนอาจารย์ด้วยเช่นกัน จดหมายของเธอลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 บัดนี้เวลาผ่านมา 10 ปีแล้ว เธอหรือผู้ที่มีความคิดเห็นไปทางเดียวกับเธอ พร้อมแล้วหรือยังที่เราจะกลับมาคุยกันใหม่อีกครั้ง เพราะในระหว่างทางของการรอให้ถึงเวลาที่ผ่านมานั้น

มีเพื่อนร่วมชาติอีกจำนวนมากเช่นกัน ที่ไม่เพียงเศร้าโศกเสียใจ ซึมเศร้า แต่ยังถูกคุมขัง ถูกพลัดพราก ถูกปิดปาก ทั้งในความหมายของการพูดไม่ได้ ในความหมายของการล้มหายตายจากกันไป มากมายเหลือเกินแล้ว ความหวังที่เราในฐานะประชาชนไทยด้วยกันจะมาเปิดปากคุยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับกฎหมายแค่มาตราเดียวของไทย ไม่ควรเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม เกินชั่วอายุขัยขนาดนั้น

การพูดความจริงกับเรื่อง 112 ในสังคมไทย

วรเจตน์กล่าวว่า การบรรยายครั้งนี้มีจุดออกตัวในวาระครบรอบ 10 ปีหลังจากที่คณะนิติราษฎร์ คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการทบทวนการเคลื่อนไหวครั้งนั้นรวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีนี้จนกระทั่งถึงวันนี้ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งในหมู่ขององค์กรของรัฐที่ใช้กฎหมาย ในแง่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ และเกิดจากการเฝ้าดูไอดาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นกองหลัง ในแง่ของการดูแลคนที่โดนคดี 112 รับภาระเป็นนายประกันเป็นเวลายาวนาน 

ในวาระที่มูลนิธิสามารถตั้งขึ้นมาได้แล้ว ควรจะมีกิจกรรมทางวิชาการเพื่อทำให้มูลนิธิเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น

แล้วเผื่อว่าท่านใดพอมีกำลังก็จะสามารถสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิให้ดำเนินต่อไปได้  

การบรรยายครั้งนี้จะเกี่ยวพันกับอดีตที่เกิดขึ้น โดยวรเจตน์ออกตัวไว้ว่า ปกติจะไม่ค่อยพูดอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวในแง่ของการเคลื่อนไหว แต่การบรรยายครั้งนี้จะเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเห็นว่าเริ่มมีเยาวชนบางส่วน รวมถึงผู้คนที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้ ทำให้การเล่าถึงบรรยากาศในเวลานั้น สิ่งที่พบเจอ รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัว (Oral History) จะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวต่อไปข้างหน้า นอกจากนี้จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและจะมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 หรือไม่ 

มนุษย์เรามีเรื่องบางเรื่องที่มันจำเป็นต้องทำ เรื่องบางเรื่องก็ไม่อาจ ที่เราจะไม่ทำได้

ภารกิจของ 112 สิ่งที่เราต้องทำกันต่อไป

ในช่วงที่เริ่มเคลื่อนไหวมีคดี 112 เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เนื่องจากเริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันในส่วนที่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารในปีนั้น เราไม่ทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ว่ามีความสงสัยในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง นับแต่นั้นมา ความเกี่ยวพันของสถานะพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจ กับ ม.112 และคดีที่เกิดขึ้นจึงผูกติดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จุดที่ทำให้วรเจตน์ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหว เพราะว่ามีบางคดีที่เกิดขึ้นแล้วมันกระทบกับความรู้สึก มีคดีบางคดีที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นแล้วเขารู้สึกว่าเขาควรพูดได้ แต่แล้วก็มีคดีเกิดขึ้น และโทษที่เกิดขึ้นจากตัวกฎหมายมันค่อนข้างแรง (โทษจำคุก 3 – 15 ปี) ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการเสนอประเด็นนี้เป็นประเด็นสาธารณะ อย่างเปิดเผย จริงใจ แล้วก็ขอให้มีการเข้าชื่อกันแก้ไขกฎหมายมาตรานี้โดยที่คณะนิติราษฎร์ทำหน้าที่เป็นคนช่วยยกร่างกฎหมายให้และนำข้อเสนอนี้ออกสู่สาธารณะให้มีการถกเถียงกัน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมนิติราษฎร์เสนอแก้ ไม่มีการเสนอยกเลิก ในปัจจุบันนี้อาจมีหลายคนคิดว่ามาตรานี้ควรจะยกเลิกไปเลย วรเจตน์ให้ความเห็นต่อว่า  

ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมก็คือการแก้กฎหมาย โดยเทียบความสัมพันธ์กับกฎหมายมาตราอื่น ในตระกูลกฎหมายหมิ่นที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา เหตุที่กำหนดเป็นประเด็นขึ้นมาก็เพื่อให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการเสนอแก้เหล่านี้

“เช่น การเลิกมาตรา 112 เพื่อนำเอาบทบัญญัติมาตรานี้ออกจากหมวดความมั่นคงของรัฐ แล้วไปทำหมวดใหม่ก็คือบทบัญญัติเรื่องการคุ้มครองพระเกียรติยศแล้วก็พระเกียรติของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าการพูดนั้นเป็นความจริงแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

“นอกจากนั้นยังกำหนดเพื่อไม่ให้ใครร้องทุกข์ได้หรือกล่าวโทษได้โดยง่าย ก็กำหนดให้ราชเลขาธิการเป็นคนกล่าวโทษ [3] ถามว่าในปัจจุบันข้อเสนอของนิติราษฎร์เมื่อ 10 ปีก่อนนั้นยังคงใช้ได้หรือไม่ คิดว่า ในภาพรวมก็ยังคงใช้ได้อยู่ โดยยกตัวอย่างว่า ในรัฐหนึ่งจะมีผู้แทนของรัฐ ก็คือประมุขของรัฐ ประมุขของรัฐคือคนที่คุ้มครองตัวระบอบ ระบอบนั้นไม่ว่าจะเป็นระบอบไหน ต่อให้ประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีก็ต้องคุ้มครอง”

วรเจตน์กล่าวว่า

แง่นี้ถ้าการคุ้มครองประมุขของรัฐเป็นไปเพื่อการรักษาซึ่งระบอบการปกครองซึ่งยุติลงตัว โดยส่วนตัวไม่มีปัญหาที่จะมีตัวบทกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐต่างไปจากคนธรรมดาบ้าง แบบที่ปรากฎกันในหลายประเทศในโลกนี้ และก็ไม่มีปัญหาเหมือนกันสำหรับบางคนที่จะเสนอว่ากฎหมายนี้ควรยกเลิกไปเลย

ไม่ควรมีระบบคุ้มครองเลย แต่ประเด็นนี้ก็ควรเป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้ ส่วนประเด็นที่อาจมีปัญหามากกว่าคือการคุ้มครองตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เราเห็นร่องรอยความคิดแบบนี้ในร่างของนิติราษฎร์ที่แยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นคนละมาตรากับการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งในบริบทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นิติราษฎร์ไม่ได้บอกว่าข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่เชื่อว่าในเวลานั้น ข้อเสนอแก้ไขเป็นข้อเสนอที่ไปได้ไกลที่สุดในขณะนั้น ทีนี้หลังจากที่มีการเสนอออกไปแล้วก็มีอุปสรรคหลายอย่าง

แต่ก่อนนั้น

เราต้องเข้าใจว่าในเวลานั้นมันคือการจุดพลุประเด็นบางอย่าง ความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมคือตกใจที่มีการเสนอแบบนี้ออกมาในพื้นที่สาธารณะ หลายคนก็รู้สึกว่าเป็นการทำที่ไม่สมควรเพราะไปเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นมีความหลากหลาย แน่นอนว่าปฏิกิริยาที่เป็นในทางลบดูจะมากกว่าในทางบวก หนึ่งสัปดาห์หลังจากประเด็นข้อเสนอออกสู่สาธารณะ บรรดาสื่อรวมทั้งคอลัมนิสต์ต่างๆ มีการเขียนบทความโจมตีข้อเสนอของนิติราษฎร์อย่างมาก โดยที่อาจขาดการไตร่ตรองรวมทั้งการทำความเข้าใจต่อข้อเสนอเหล่านั้น ทำให้มีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น

ความเข้าใจผิดอันแรกก็คือ ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอของกลุ่มหรือขบวนการล้มเจ้า ทั้งที่ความจริงการเสนอแก้ไข ม.112 นั้นไม่เกี่ยวพันอะไรเลยกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่น้อย นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น

“เข้าใจว่าเป็นการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่า ม.112 เนี่ย เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มีความเข้าใจผิดว่า ม.112 มันดำรงอยู่ของมันอย่างนี้มาโดยตลอด ไม่มีการถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาเลย ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน บางส่วนยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน พบว่าข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 บางส่วนยังอ้างข้อเท็จจริงผิด

ข้อเท็จจริงมีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ครั้งล่าสุดเมื่อการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 การเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้เกิดขึ้นในบริบทของการล้อมปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ โดยไม่ได้เป็นการแก้ผ่านรัฐสภา เป็นการแก้โดยคณะรัฐประหาร

สาระสำคัญคือการเพิ่มให้มีโทษจำคุกขั้นต่ำ 3-15 ปี จากเดิมที่มีแต่โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

แปลว่าตัวบทบัญญัติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าพูดกันอย่างภาษาปัจจุบันก็คือมันเป็นมรดกของการรัฐประหาร สังคมไทยส่งมรดกที่จริงๆ มีปัญหาอย่างยิ่ง จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งอันนี้ควรมีการเปลี่ยนแปลงให้มันกลับไปสู่เกณฑ์ สู่หลักการที่มันถูกต้อง ในทางส่วนตัววรเจตน์ถูกกล่าวหาหลายเรื่อง ประเด็นใหญ่ๆ มีอยู่ 2 เรื่องที่อาจารย์รู้สึกว่าวันนี้ควรจะได้พูดออกไปสักทีหลังจากผ่านไป 10 ปี

“ประเด็นแรกคือการกล่าวหาว่าเนรคุณ เพราะว่าผมได้รับทุนอานันทมหิดลไปเรียนที่เยอรมนี รู้สึกว่าทำไมคนที่ได้รับทุนอานันทมหิดลจะต้องมาทำเรื่อง 112 อันนี้คือข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหานี้ก็สร้างบรรยากาศของการทำให้กลายเป็นคนอกตัญญู เป็นคนเลว เป็นคนที่ไม่รู้จักสำนึกบุญคุณ และไอ้บรรยากาศเหล่านี้นี่แหละที่นำมาซึ่งการถูกทำร้ายในวันที่  29 กุมภาในปีเดียวกันกับที่ข้อเสนอออกสู่สาธารณะ”

วรเจตน์ยืนยันในคำอธิบายที่ว่า ทุนอานันทมหิดลนั้นตั้งขึ้นโดยใช้พระนามของในหลวง ร.8 มาเป็นชื่อมูลนิธิ ในหลวง ร. 9 นั้นได้ทรงให้เงินที่เป็นเงินเริ่มต้นของมูลนิธิ หลังจากนั้นเงินก็เป็นเงินบริจาคจากประชาชน ในบางส่วนรัฐบาลก็ร่วมสมทบด้วย

“ถ้าผมเรียนหนังสือโดยทุนนี้ ผมไปเรียนกฎหมายโดยทุนนี้ แล้วผมกลับมาแล้วพบว่าตัวบทกฎเกณฑ์บางอย่างมันไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่มันควรจะเป็น แล้วผมเสนอแก้ให้มันถูกต้องตามตามหลักเกณฑ์ที่มันควรจะเป็น เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ความเป็นอารยะในระบบกฎหมายของบ้านเราที่มีต่อสากลโลก เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำไมผมควรจะได้ชื่อว่าเนรคุณทุนมูลนิธิอานันทมหิดล อันนี้คือคำถามสำหรับคนที่คิดว่าผมเนรคุณ

อีกเรื่องหนึ่งคือข้อกล่าวหาเรื่องการรับเงินเพื่อมาเคลื่อนไหว จริงๆ ข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่มันไร้สาระ แต่ก็มีคนเชื่อจำนวนไม่น้อย คุณแม่ผมเล่าให้ฟังว่า แม้แต่แถวบ้านก็ยังมีคนเชื่อว่าผมได้เงินจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่ตอนนี้ลี้ภัยอยู่ที่ต่างประเทศ เป็นเงินหลายสิบล้านหรือเกือบร้อยล้าน ถามว่าทำไมมันจึงมีข้อกล่าวหานี้ ผมคิดว่าคนทั่วไปคงคิดว่าถ้าไม่ได้มีการรับเงินคงไม่เสี่ยงในการเสนอแบบนี้  

สำหรับคนที่ทำกิจกรรมต่างๆ คงรู้สึกว่ามันเป็นความเห็นที่ไร้สาระ แต่ว่าในสังคมไทยที่ข่าวลือแพร่กระจายโดยง่ายแล้วคนก็เชื่อโดยไม่ตรึกตรองก็จะคิดไปเป็นแบบนั้น ซึ่งสิ่งนี้ไปสร้างความรู้สึกรับรู้ (Perception) ของคนจำนวนหนึ่ง และสื่อมวลชนก็มีส่วนในการโหมกระพือ

วรเจตน์ย้ำอีกครั้งว่าตอนที่ทำนิติราษฎร์ขึ้นมา ไม่มีอะไรเลยนอกจากความรู้สึกสะท้อนใจจากการล้อมปราบคนเสื้อแดงในปีเดียวกันกับที่มีการตั้งนิติราษฎร์ [4] คนเสื้อแดงมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการยุบสภา ซึ่งเป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่ถูกปิดล้อมโดยตัวกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย โดยสื่อมวลชน หลายเรื่องตัวกลไกทางกฎหมายมีปัญหามาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 49 แล้ว ฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น นักกฎหมายก็รู้สึกว่าการตัดสินโดยองค์กรของรัฐบางส่วนมันไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น ก็ควรจะลุกขึ้นมาและชี้ให้ประชาชนเห็นว่า สิ่งที่มันควรจะเป็นคืออะไร สิ่งที่เป็นความจริงคือมันไม่มีเรื่องเงินเรื่องทองเข้ามาเกี่ยวข้องในแง่ของการทำเรื่องนี้ ถ้ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในตอนที่การทำรัฐประหารปี 57 คณะรัฐประหารเขาเช็คบัญชีก็คงระงับบัญชีไปหมดแล้ว

ผมไม่เคยกลัว ถ้าเกิดว่าการโต้แย้งเป็นไปด้วยเหตุด้วยผล

วรเจตน์คิดว่า การโต้แย้งด้วยเหตุที่ไม่ใช้เหตุผลมาโต้แย้งแล้วนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกับผม เขาให้เหตุผลว่า อันนี้คือเรื่องการเมือง ถ้าเป็นเรื่องการเมืองแล้ว สามารถใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ทำลายคนที่คุณไม่เห็นด้วย อันนี้คือความคิดของนักกิจกรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาได้ยินมา ผมรู้สึกผิดหวังมากที่การต่อสู้กัน มันใช้วิธีการแบบที่ไม่ถูกต้องแบบนี้

บทเรียนบางอย่างที่วรเจตน์อยากพูดกับนักเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็คือ

“เราต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ 112 ยังไม่ถูกแก้ มันยังเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่จริงๆ ในบ้านเมืองในเวลานี้ ฉะนั้นโดยเหตุที่กฎเกณฑ์นี้ยังไม่แก้ จึงมีอะไรหลายอย่างที่เราอยากจะพูดเป็นประโยชน์สาธารณะ

การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จึงต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง

อยากจะให้สุขุมรอบคอบ

ผมเข้าใจว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวมันมีความกดทับจากบทบัญญัติมาตรานี้ แต่ก็ต้องพยายามเข้าใจว่าการต่อสู้ในเรื่องนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มันเป็นระยะยาวอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่เราต้องทำใจว่ามันอาจไม่จบในเจเนอเรชั่นเดียว อาจต้องส่งผ่านในอีกหลายเจเนอเรชั่น

“เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งจุดไฟขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามหล่อเลี้ยงเอาไว้เพื่อไม่ให้มันดับ มันอาจยังไม่สำเร็จ เราต้องไม่คาดหวังว่ามันต้องสำเร็จหรือยุติในรุ่นของเรา เราอาจจะมีความหวังว่ามันควรจะจบ แต่ว่าสภาพของสังคมมันต้องการความพร้อมของคนจำนวนมาก มากกว่านี้เยอะ 10 ปีนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง แต่มันยังมีปริมาณไม่มากพอ เราต้องยอมรับตรงจุดนี้ แล้วเรายังจะต้องทำกันต่อไป และต้องทำใจว่ามันต้องมีการบาดเจ็บ การถูกกล่าวหาต่างๆ แต่ว่าความบริสุทธิ์เท่านั้นจะเป็นเครื่องยืนยันทำให้สามารถต่อสู้ไปในระยะยาวได้”

ปัญหาของ 112    

ทฤษฎีปัญหา 3 ชั้นที่ขมวดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วของตัวบทกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ปัญหาประการแรกเป็นปัญหาเรื่องของอุดมการณ์ ซึ่งยังไม่ลงตัวในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ปัญหาที่สองเป็นในแง่ตัวบทกฎหมายนั้นเอง ปัญหาที่สามเป็นเรื่องการบังคับใช้และการปรับใช้

ปัญหาที่ดูจะยุ่งยากที่สุดเป็นเรื่องของอุดมการณ์ อุดมการณ์เป็นตัวกำกับในการใช้กฎหมายและการตีความกฎหมาย ปัญหาเชิงอุดมการณ์เป็นภารกิจต่อเนื่องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วยังไม่ยุติ แน่นอนเราอาจกล่าวได้ว่าผู้ใช้กฎหมายไม่สามารถตีความบทบัญญัติในมาตรา 112 ภายใต้อุดมการณ์การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ความขัดแย้งในอุดมการณ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐไทยพยายามที่จะแสวงหาจุดร่วมที่เป็นอุดมการณ์ร่วมในการเมืองการปกครอง แต่ยังไม่สำเร็จ

ฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รื้อฟื้นอำนาจบางส่วนคืนไปในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ก็คือ 10 ธันวาคม 2475 [5] มีการเปลี่ยนชื่อเรียก กษัตริย์เป็นพระมหากษัตริย์ มีการนำบทบัญญัติที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญเมจิของญี่ปุ่นซึ่งรับมาจากรัฐธรรมนูญในยุโรปที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ก็ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญนี้ สิ่งนี้เป็นการทำเพื่อให้องค์พระมหากษัตริย์มีอำนาจบางส่วนไป แต่ผู้ที่เขียนรัฐธรรมนูญปี 2475 ก็ยอมรับว่า พระมหากษัตริย์นั้นมีอำนาจในทางแบบพิธี อำนาจในทางเนื้อหาอยู่ที่องค์กรซึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

อย่างไรก็ตามหลัง 2490 การรื้อฟื้นตำแหน่งแห่งที่ขององค์พระมหากษัตริย์ก็ถูกรื้อฟื้นกลับมา สังเกตได้จากพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้เอง หลังจากปี 2500 การรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจก็เข้มข้นมากขึ้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการรื้อฟื้นที่เข้มข้นที่สุดก็ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ก็คือรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้เอง เราอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

“ชีวิตของเราในห้องนี้และในที่อื่นๆ ในประเทศนี้ มันถูกเคลื่อนผ่านระบอบการปกครองอันหนึ่ง ไปสู่ระบอบอีกแบบหนึ่ง แม้ว่าชื่อระบอบจะใช้เป็นชื่อหลักเหมือนเดิมคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[6] แต่เนื้อในของตัวระบอบเปลี่ยนแปลงไป ฝ่ายที่เป็นฝ่ายการเมืองนั้นได้มาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติกลับมาแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทาน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในบทบัญญัติส่วนที่เป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานที่แต่เดิมเคยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีนั้น ณ บัดนี้ ได้เปลี่ยนสายการบังคับบัญชาไปขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์ อ้างอิงจาก พ.ร.บ. จัดระเบียบการบริหารราชการในพระองค์ปี พ.ศ. 2560 [7]”

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ปี พ.ศ. 2561 [8] มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการโอนอัตรากำลังพลคือทหารบางส่วนไปอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์โดยตรงในพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 [9] มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ในปี พ.ศ. 2561 [10]

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากการมีรัฐประหารในปี 2557 มีข้อสรุปอันหนึ่งที่ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าเราย้อนกลับไปดู ถ้านับ 2475 เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทุกคราวนับจากการรัฐประหารครั้งแรก ฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2490 แล้ว พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงมากบางน้อยบ้าง

เช่น การเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจในการวีโต้ (ยับยั้ง) กฎหมาย จากเดิมการวีโต้กฎหมายใช้ระยะเวลาน้อยเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น จากเดิม 7 วัน 15 วันกลายเป็น 90 วัน หรือการเกิดองคมนตรีขึ้นมาหลัง 2490 การแก้ครั้งสำคัญก็เป็นการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญปี 2534 หลังจากรัฐประหารโดย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ)

เป็นการเปลี่ยนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์และการสืบราชสมบัติรวมทั้งพระราชอำนาจในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เอง สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเพิ่มพระราชอำนาจ หลายคนก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้สนับสนุนตัวระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของตัวกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผลพวงมากจากอุดมการณ์ จุดหลักของฝ่ายที่เสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ตรงที่ว่าจะจัดวางตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ในระบบกฎหมายไทยและระบอบการปกครองไทยอย่างไร ให้สามารถที่จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจต่างๆ ของรัฐในลักษณะที่ไม่กระทบกับตัวอำนาจอื่นๆ และในลักษณะที่เกิดมีการใช้อำนาจแล้วเนี่ย สามารถที่จะตรวจสอบในทางกฎหมายได้ อันเป็นความมุ่งหมายของหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม พอมีข้อเรียกร้องเหล่านี้ คราวนี้ตัวบท 112 ก็เข้ามามีบทบาทในแง่ของการเบรกหรือการไม่ให้มีการพูดในข้อเรียกร้องแบบนี้”

ยังมีตัวอย่างเพิ่มเติมทั้งคำวินิจฉัยหลังของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากมีคำร้องเรื่อง 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ [11] หรือตัวอย่างการอารัมภบทของศาลที่ชูอุดมการณ์ ศีลธรรมอันดี รวมถึงตัวอย่างคดี 112 อื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ในแง่ทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ [12]

วรเจตน์ชี้ให้เห็นว่า

อุดมการณ์ในแง่ของการมองสถาบันพระมหากษัตริย์กับ 112 ในหมู่ผู้ใช้กฎหมายยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นอุดมการณ์แบบเดิมอยู่ ผลจากการนี้ตัว ม.112 พอนำมาใช้ในทางปฏิบัติก็ทำให้เห็นว่าคดีจำนวนหนึ่งเมื่อเราพิจารณาจากเหตุผลโดยแท้จริงแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะมีคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นได้หรือมีการฟ้องร้องกันไปได้ ซึ่งทำให้เห็นถึงความอ่อนไหว (sensitive) ของกระบวนการยุติธรรมที่ต่อมาตรา 112

สิ่งที่ผู้คนในสังคมควรทำต่อไปในอนาคต ไม่ใช่แค่การแก้ไขมาตรา 112 แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจกับผู้คนต่อไปด้วย ให้คนเข้าใจว่า ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย การกระทำที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อย่างน้อยก็ยังเป็นความผิดอยู่ เพียงแต่โทษจะเปลี่ยนแปลงไป ให้สมเหตุสมผล พอเหมาะพอประมาณกับการกระทำ ไม่ใช่การเอาผิดด้วยโทษที่รุนแรง

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายไทยหมิ่นประมาท ติดอันดับท็อปของโลกในแง่ที่มีอัตราโทษสูง หลายประเทศแม้จะมีการกำหนดเช่นนี้แต่โทษไม่ได้สูงขนาดนั้น แล้วที่สำคัญมันเกิดขึ้นจากผลพวงของการรัฐประหารด้วยซ้ำ การเคลื่อนประเด็นเรื่องแก้ไข ม.112 ของนิติราษฎร์เกิดขึ้นหลังจากการเสนอเรื่องให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ. 2549”

สำหรับการทำความเข้าใจกับคนอื่นต้องอยู่บนฐานความบริสุทธิ์ใจ ปราถนาดี ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และภารกิจที่ต้องทำกันต่อไป ต้องตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่ควรจะต้องเป็น สิ่งที่ควรจะต้องเป็นคือการเปลี่ยนแปลงตัวกฎเกณฑ์ ม.112 สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือกฎเกณฑ์มันยังไม่ถูกแก้

“เมื่อไม่ถูกแก้ เมื่อคุณไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ถูกแก้ มันมีความเสี่ยงตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่ถึงขนาด ไม่มีพื้นที่ให้ทำอะไรได้เลย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ให้ทำอะไรได้เลย ผมก็คงไม่สามารถมาพูดในวันนี้ได้ ภายใต้ข้อจำกัด เราต้องพยายามทำมันต่อไป เปลี่ยนแปลงมันต่อไป เพื่อทำให้สิ่งที่มันเป็นอยู่ กลายเป็นสิ่งที่ควรต้องเป็น นักวิชาการ นักกฎหมาย จะต้องพยายามอธิบาย วิพากษ์ วิจารณ์ คำพิพากษาของศาลที่ผลของการตีความหรือการบังคับใช้กฎหมายมันไม่ถูกต้อง”

ควรมีระบบการตรวจสอบศาล เหตุผลอันหนึ่งที่เป็นแบบนี้ได้ เพราะระบบกฎหมายไทย ไม่มีระบบตรวจสอบศาล ศาลอ้างคาถาความเป็นอิสระของความเป็นตุลาการ แต่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไม่ได้หมายความว่าขาดความเชื่อมโยงยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจ

“จะปล่อยให้บุคคลสามารถชี้เป็นชี้ตายผู้อื่นโดยไร้การตรวจสอบไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเป็นเหมือนศาสนจักร ก็จะกลายเป็นแค่ศาลไต่สวนศรัทธา ทุกอาชีพมีทั้งคนดี คนไม่ดี เราไม่สามารถไว้วางใจตัวคนได้ แต่ว่าเราสามารถทำระบบที่ดีได้ ทำให้คนไม่ดีในระบบที่ดีนั้นถูกตรวจสอบได้ และทำให้คนไม่ดีออกไปจากระบบ

วิกฤต 112 ตอนนี้เป็นวิกฤตของ 3 อำนาจ คือ วิกฤตจากฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งในภาพใหญ่ยังไม่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ นิติราษฎร์ทำ ครก.112 เมื่อ 10 ปีก่อนไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภา ก็ถูกปัดตกไปเลย

ฝ่ายบริหารเองในที่นี้หมายถึงทั้งกลไกตำรวจ อัยการก็บังคับใช้กฎหมายนี้ โดยส่วนใหญ่ทำให้ตัวกระบวนการมันไหลไป พ้นไปจากองค์กรของตัวเอง เราต้องเข้าใจว่ากฎหมายมันไม่ได้เป็นกฎธรรมชาติ มันมีการวินิจฉัย การประเมินค่า การตีความ ฝ่ายตุลาการบางส่วนก็ใช้การตีความตัวบท 112 อย่างชนิดที่เรียกว่ายากที่จะยอมรับได้

ผมคิดว่าภารกิจ 112 มันมีหลายมิติ มันมีมิติที่เป็นด่านหน้า (vanguard ) คือพวกที่จะต้องไปสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในแง่นี้เราปฏิเสธบทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมืองไม่ได้ เพราะว่าตัวบทกฎหมาย ถ้านักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ขยับ ไม่เปลี่ยน มันจะเปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนไม่ได้อยู่ในสภา ไม่สามารถไปสู้โดยตรงได้ สภาควรจะพูดเรื่องนี้ได้อย่างไม่ต้องกังวล

ข้อบังคับการประชุมสภามันขัดกับเรื่องนี้ ต้องมีการปรับแก้ การของบประมาณ (สถาบันกษัตริย์) ต้องเข้าสู่สภา มันต้องมีการอภิปรายงบประมาณเป็นเรื่องปกติ

“แต่ว่ามันไม่ได้มีมิติข้างหน้าอย่างเดียว ในระหว่างทางมันมีคนบาดเจ็บ มีคนได้รับผลกระทบ มีคนได้รับความเดือดร้อน มันมีภารกิจอื่นๆ อย่างน้อยในแง่ของคนที่เขาถูกดำเนินคดีเนี่ย เขาควรได้สิทธิที่จะต่อสู้คดี นี่เป็นขั้นต่ำที่สุด ซึ่งอันนี้ผมรู้สึกว่าจะต้องมีคนทำ มูลนิธิสิทธิอิสราเป็นส่วนหนึ่งที่พยายามทำเรื่องนี้อยู่ เขาสู้อยู่ข้างหลัง”

วรเจตน์ทิ้งท้ายว่า

พรรคการเมืองคุณอาจจะทะเลาะกันไปในทางการเมือง คุณอาจมีตำแหน่งในเรื่องนี้หนักเบาแตกต่างกันไป แต่ว่าถ้าคุณไม่พร้อมทำข้างหน้า คุณอาจทำข้างหลังได้ ข้างหลังหมายความว่า พูดง่ายๆ คือคุณสามารถบริจาคให้มูลนิธิเปิดเผยได้ เพราะมูลนิธิรับบริจาคเปิดเผย ทุกอย่างเปิดเผย มูลนิธิไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เขาทำทุกอย่างในกรอบกฎหมายแล้วก็เปิดเผยตามกฎหมาย


อาชีวปฏิญาณของนักกฎหมาย
ด้วยเหตุที่วรเจตน์เป็นนักกฎหมายจึงอยากฝากอะไรถึงนักกฎหมายที่ใช้วิชาชีพ กฎหมาย คือวิชาที่กระทำต่อมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับหมอ มันส่งผลต่อชีวิต อาจให้ทั้งผลดีและผลร้ายต่อตัวบุคคลได้ หลักวิชาชีพนักกฎหมายไม่ใช่การสอนธรรมะ ไม่ใช่การพูดเรื่องดีชั่วแบบที่เข้าใจกันผิวเผินง่ายๆ แต่หลักวิชาชีพนักกฎหมาย มันคือการที่คนซึ่งใช้กฎหมายนั้น ใช้อย่างซื่อตรงต่อมโนธรรมสำนึกของตัว สามารถที่จะตอบคำถามทางกฎหมายได้ จะถูกหรือผิดก็ตาม

“ผมคิดว่านักกฎหมายหลายคนก็รู้ได้ว่าการกระทำบางอย่างมันไม่ถูก อย่าทำสิ่งที่มันไม่ถูกเพียงเพื่อจะไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นในระบบราชการ ขอให้รักษาสิ่งตรงนี้เอาไว้ เพราะมนุษย์ทุกคน เรามีชีวิตอยู่แค่ช่วงเวลาไม่ถึงพริบตาเดียวของจักรวาล ทุกคน ทุกสรรพสิ่งถูกกาลเวลากลืนกินหมด รวมทั้งตัวผมเองที่พูดอยู่ตรงนี้ด้วย

แต่ว่าในตอนที่คุณใช้ชีวิตเป็นนักกฎหมาย อยากจะให้ระลึกถึงหลักเกณฑ์ตรงนี้ไว้บ้าง ตั้งแต่ชั้นตำรวจ พนักงานอัยการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษา 3 ส่วนนี้ จะช่วยบรรเทาวิกฤตหรือผลร้ายที่เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์ 112 ลงได้บ้างในระดับหนึ่ง

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

งานบรรยายสาธารณะ

เรื่อง ‘112 กับ สถาบันกษัตริย์ : 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน’

โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00-16.00 น.

ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เชิงอรรถ
[1] ชื่อวิทยาลัยตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระครบ 100 ปี ชาตกาล ในปี พ.ศ. 2551

[2 ]การปฏิบัติการข่าวสาร Information Operation : IO เนื่องจากเป็นไปตามหลักนิยมทางทหาร และถือเป็นปฏิบัติการทางทหารรูปแบบหนึ่ง ที่มีใช้อยู่ในกองทัพหลายประเทศทั่วโลก

[3] อ่านร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา112 ฉบับนิติราษฎร์.pdf ใน https://ilaw.or.th/112


[4] คณะนิติราษฎร์ เป็นกลุ่มอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ต่อสังคมไทย เริ่มจากเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เมื่อวัน 19 กันยายน พ.ศ. 2553 อันเป็นวันครบรอบ 4 ปีของรัฐประหารดังกล่าว

[5] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ประกาศและใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ต่อจากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

[6] ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ในตำรารัฐศาสตร์ไม่มีคำภาษาอังกฤษ แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ว่า Democratic form of Government with the King as Head of State) เป็นชื่อเรียกระบอบการปกครองในประเทศไทย ที่รวมเอาทั้งรูปแบบการปกครอง (form of government) ประเภทประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา (parliamentary democracy) กับรูปแบบรัฐ (form of state) ไว้ในคำเดียวกันอีกด้วย

[7] https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=2139 filename=index

[8] https://ilaw.or.th/node/6182

[9] https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/552611

[10] https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B9%8C_(%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_4)_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2561

[11] ย่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28 – 29/2555 https://www.krisdika.go.th/data/comment_concourt/2555/cc_26538.htm

[12] ถ่ายทอดสดการบรรยายสาธารณะหัวข้อ “112 กับ สถาบันกษัตริย์ : 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน” https://www.facebook.com/siddhi.issara/videos/721272992864195

Authors

  • นักพยายามเขียน เคยฝันอยากมีร้านหนังสือเป็นของตนเอง เจ้าของเพจ ‘เด็กป่วยในร้านหนังสือ’ บังคับตนเองให้มีวินัยในการเขียนและหาเงินออกจากประเทศเหี้ยนี่ให้พ้นๆ สักที ในปี 2020 ร่วมกับเพื่อนๆ ทำเครือข่ายกวีสามัญสำนึก หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า 'ไอ้พวกกวี' ทำกิจกรรมอ่าน (ออกเสียง) และเขียนวรรณกรรมทั้งในพื้นที่ศิลปะและพื้นที่การเมือง ปัจจุบันกำลังเสาะหาความหวังในการใช้ชีวิตต่อในประเทศนี้ให้ได้ https://illmaninbookstore.medium.com/

  • เป็นคนเขียนหนังสือพอใช้ได้ เป็นคนรับจ้างทั่วไปที่เรียกแล้วได้ใช้ หลายอย่างทำได้ไม่เพอร์เฟคแต่ลิมิเต็ดอิดิชั่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *