วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 เป็นครั้งที่ 10 สืบเนื่องจากคดี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวกรวม 4 คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200 วรรคสอง

ธาริตแถลงก่อนถูกศาลฎีกาตัดสินว่า ทันทีที่มีการยึดอำนาจรัฐประหาร มีการตั้งชุดพิเศษขึ้นมา ชุดพิเศษนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่และพลเรือน เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความไม่เป็นธรรมให้คดีสลายการชุมนุม นปช. ในปี 2553 ซึ่งมีคนเสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 ราย นายธาริตกล่าวว่า ชุดพิเศษดังกล่าว แทรกแซงจนไม่สามารถเอาผิดคนที่ลงมือฆ่าและผู้สั่งฆ่าได้แม้แต่รายเดียว
ซึ่งท้ายที่สุด ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก จำเลยที่ 1 ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 ปี ไม่รอลงอาญา โดยให้ความเห็นว่าธาริต มีเจตนากลั่นแกล้ง ให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับโทษทางอาญา
ส่วนจำเลยที่ 2 พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวน คดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวน พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวน พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง
ภายหลังจากมีการตัดสินในห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้นำตัวธาริต ส่งให้กับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ นำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ธาริตกล่าวด้วยสีหน้านิ่งเฉย ก่อนถูกนำตัวเข้าเรือนจำว่า เขารู้อยู่แล้วตนเองไม่รอด
“เรื่องคดีสลายชุมนุมปี 2553 ยังเป็นความอยุติธรรมที่รอโต้กลับเอาผิดพวกที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอยู่เสมอ น่าเสียใจที่เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ใน MOU ของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไม่รู้ว่าหล่นหายไปจากบทสนทนาได้อย่างไร”
10 กรกฎาคม ฝนโปรยลงมาตั้งแต่เช้า ก่อนจะหยุดแล้วโปรยลงมาอีกรอบ เมืองอยู่ภายใต้ขมุกขมัวชื้นแฉะ 9 โมงกับอีก 3 นาที ผมเดินทางไปถึงศาลอาญา กดเบอร์โทรศัพท์หา พะเยาว์ อัคฮาด เดินผ่านละอองฝนไปที่โรงอาหารของศาล ซึ่งเป็นที่นัดหมาย หลังจากพบพะเยาว์แล้ว เราตกลงกันว่าจะสัมภาษณ์เธอเป็นคนสุดท้าย คุณพะเยาว์จึงพาผมไปพบกับญาติผู้เสียชีวิต 2 ครอบครัว เพื่อทำการสัมภาษณ์

ผมขออนุญาตนั่งลงและแนะนำตัว คุณลุงคุณป้ายิ้มรับอบอุ่น เป็นรอยยิ้มแบบที่ผมไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าตลอดเวลา 13 ปีที่ความยุติธรรมยังเดินทางมาไม่ถึง พวกเขาต้องเจ็บปวดเพียงใด และต่อจากนี้ คือความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ก่อนที่การพิจารณาคดีของคุณธาริตจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง

บรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ บิดามารดาของ เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ผู้เสียชีวิต ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณแยกคอกวัว
“วันนี้มาให้กำลังใจคุณธาริต ญาติอย่างพวกเราก็มีส่วนในคดีนี้เหมือนกัน ถ้าคุณธาริตติดคุก พวกเราก็หมดเวลากับการที่จะดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เพราะยังเหลือเวลาอีก 7 ปี ไม่รู้ว่าทางรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาจะดำเนินการช่วยเหลือพวกญาติๆ หรือเปล่า เรายังไม่รู้” บรรเจิดกล่าว
ถ้าคุณธาริตถูกตัดสินให้ติดคุก มันก็เหมือนกับว่าเป็นการสร้างมาตรฐาน และข้อเรียกร้องของทางญาติจะถูกปัดตกไป
“ใช่ ก็เท่ากับ 2 คนนั้นไม่ผิด เพราะทาง ป.ป.ช. ก็ฟันไปแล้วว่าเขาไม่ผิด แต่ถ้าเลื่อนออกไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือยกฟ้อง เราก็มีโอกาส เพราะกำลังได้รัฐบาลใหม่ที่อาจช่วยได้บ้าง” บรรเจิดเสริม
รู้สึกไหมว่าการที่คุณธาริตถูกดำเนินคดีคล้ายกับการถูกฟ้องปิดปาก
“มีส่วน อย่างที่คุณธาริตเคยแถลงว่ามันเลวร้าย และเจ็บปวด สำหรับวีรชนคนตายและญาติ เจ็บปวดมาก ถ้าคุณธาริตถูกตัดสินจริง มันหมดเลย ความหวังของญาติก็เหมือนจบไปเลย ไม่ต้องรอ 20 ปีแล้ว ที่เหลืออีก 7 ปี เท่ากับว่าไม่มีความหมาย เพราะเขาปิดประตูหมดแล้ว” บรรเจิดทดท้อ
เท่าที่ทราบมีประเด็นที่ผู้อยู่ในกระบวนการพิพากษาคดีนี้เคยชุมนุมร่วมกับกลุ่ม กปปส. ทางญาติรู้สึกอย่างไร เพราะอาจมองได้ว่าให้ผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันมีส่วนร่วมในกระบวนการพิพากษา
“มันไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว เหมือนคดีของท่านทักษิณ เอาฝ่ายตรงข้ามมาตัดสินยังไงเราก็ผิด 100 เปอร์เซ็นต์” นางสุวิมลตอบ
ผ่านมา 13 ปี รู้สึกอย่างไรบ้าง เหนื่อยบ้างไหม
“ถามว่าเราเหนื่อยไหม มันเหนื่อยใจกับการที่ประเทศเรามีกฎหมายตัวเดียวกัน แต่ใช้กับแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน จริงๆ แล้วถามว่าเมื่อมีคนตาย ทั้งโลกเห็นว่ามีคนตาย แล้วคนตาย ตายด้วยอาวุธสงครามของทหาร ทำไมไม่ออกมารับผิดชอบ มันจะได้จบ ประเทศไทยก็รู้ๆ อยู่ มันไม่ถึงกับประหารชีวิตหรอก แต่คนที่สูญเสีย คุณรู้ไหม เวลา 10 กว่าปี ไม่เคยลืมลูกชายแม้แต่วันเดียว พูดถึงกันตลอดทุกวัน มันน่าเจ็บใจไหม มันน่าแค้นนะบอกตรงๆ” นางสุวิมลกล่าวอย่างอัดอั้น ก่อนเสริมต่อ
ลูกชายของพี่โดน 6 นัด เข้าหัวใจ 2 นัด มันไม่ใช่การห้ามการปราม แต่คือการยิงเพื่อหวังผลเอาชีวิตคน คนตายส่วนมากจะโดนที่หัวกับหน้าอก อวัยวะสำคัญ

“เรารู้อยู่ว่าการตายของลูกเรา หรือทุกคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ เป็นฝีมือของทหารทั้งนั้น ประชาชนอย่างเราไม่มีสิทธิ์ครอบครองอาวุธสงครามอยู่แล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ออกมายอมรับ ไม่ใช่มาข่มขู่เจ้าหน้าที่ อย่างเช่นคุณธาริตโดนข่มขู่ไม่ให้ทำคดี 99 ศพ ถ้าทำอั๊วจะรัฐประหาร มันน่าตั้งคำถามไหมว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเหรอ”
ยังมีความหวังไหมว่าคนที่สั่งการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกดำเนินคดี และได้รับโทษทางกฎหมายอย่างเหมาะสม
“บอกตรงๆ ว่าถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกล มีความหวังนะ เรารู้สึกว่าเขากล้าที่จะนำเสนออะไรที่พรรคอื่นไม่กล้า แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่กล้า เรารู้สึกแบบนี้ ฉะนั้น เราต้องมีความหวัง คนเป็นญาติต้องมีความหวัง ต้องหวังให้ถึงที่สุด อีก 7 ปีก็จะรอ” สุวิมลเปลือยความใน

พะเยาว์ โพธิ์ทองคำ น้องสาวของ เยื้อน โพธิ์ทองคำ ผู้เสียชีวิต ถูกยิงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2553 บริเวณปากซอยรางน้ำ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 ที่โรงพยาบาล
ข้างล่างโดนยิงหลุดหมดเลย อวัยวะเพศไม่เหลือเลย เขาโดนยิงตั้งแต่ช่วงท้องไปจนถึงอัณฑะทะลุทวาร บริเวณนั้นหายไปหมด แต่ในใบแพทย์กลับบอกว่าโดนลูกหลง
พะเยาว์และสามีเล่า
ตลอดเวลา 13 ปี มีการยื่นคำร้องไป 99 ศพ แต่เพิ่งมีการดำเนินการไป 27 ศพเท่านั้น
“ใช่ แต่ของเยื้อนยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย เรามาทุกครั้งที่ทนายนัด และติดตามยื่นเรื่องอยู่ตลอด แต่ก็เงียบ เหมือนเขาดองไว้ เหมือนเขาตั้งใจรอให้หมดอายุความไป เพราะเหลือเวลาอีกแค่ 7 ปี” พะเยาว์กล่าว
คิดว่าเป็นเพราะอะไร เพราะมีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เยอะด้วยหรือเปล่า
“ใช่ มีคนเกี่ยวข้องเยอะ โดยเฉพาะทหารที่ยังมีอำนาจอยู่ทุกวันนี้ ไม่รู้นะ เรามีความรู้สึกว่าถ้าคุณมีความยุติธรรมจริง การที่เอาทหารไปขึ้นศาลทหารก็คงไม่ยกฟ้องหรอก ในเมื่อผิดก็ต้องว่าไปตามผิด แล้วจะมีบทลงโทษยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง และที่ถูกต้องควรเอามาขึ้นศาลพลเรือนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือไม่ใช่ทหาร” พะเยาว์เสนอ
บางขั้นตอนอาจเกินกำลังของทางญาติ ต้องใช้อำนาจของรัฐบาลเข้ามาจัดการ ในเวลา 13 ปีที่ผ่านมา มีช่วงไหนไหมที่มีความหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ
อย่างที่ผ่านมาก็รัฐบาลเพื่อไทย เราก็มีความหวังว่าคุณต้องเซ็น ICC (International Criminal Court – ศาลอาญาระหว่างประเทศ) แต่กลับไม่เซ็น
เรามีความรู้สึกนะว่าทำไมไม่เซ็น ถ้าเซ็นตั้งแต่ตอนนั้นคดีพวกเราอาจดีขึ้น หลังจากนั้นพอเขารัฐประหารก็จบ ไม่มีความคืบหน้าอะไรอีก” สุวิมลเผยความรู้สึก
ทางญาติมีความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่มากน้อยแค่ไหน
“มีมากเลย อย่างที่บอกไปเมื่อครู่ว่าก้าวไกลที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล เขาอาจกล้าทำในสิ่งที่รัฐบาลอื่นไม่กล้าทำ” สุวิมลกล่าว ต่อจากนั้นนางพะเยาว์กล่าวต่อ “ถ้าเขาได้เป็นนายกฯ เขาจะได้เริ่มทำให้เรา” ขณะที่บรรเจิดเสริมว่า “เขาจะกลับไปเริ่มที่คดี 99 ศพก่อน รื้อคดีออกมาสอบสวนใหม่เลย จะผิดจะถูกก็ว่ากันไป”
“มาถึงป่านนี้ 10 กว่าปีแล้ว คุณรับผิดเถอะ เรื่องมันจะได้คลี่คลายและจบกันไป” สุวิมลกล่าว จากนั้นบรรเจิดเสริมอีกครั้ง “กองทัพไม่เคยออกมาขอโทษสักคำ แทนที่จะออกมาคุยบ้าง คนเจ็บเป็นยังไง ญาติเป็นยังไง ไม่มีเลย เงียบกริบ”
“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เชิญแม่น้องเกด (พะเยาว์ อัคฮาด) เข้าไปที่กระทรวงกลาโหม เราก็เข้าไปด้วย มีผู้พันเบิร์ด (วันชนะ สวัสดี) ที่เล่นเป็นพระนเรศวรด้วย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายคำสั่งก็มาจากนายใหญ่ เข้าไปแล้วเขาก็ถ่ายรูป ให้เรากินกาแฟ พาเราไปนั่งอย่างหรูเลย แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า” สุวิมลกล่าวร่วมกับนางพะเยาว์

ด้วยคดีของคุณธาริตที่จะตัดสินในวันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับญาติของผู้สูญเสีย คุณทั้ง 2 ครอบครัวมีอะไรจะพูดกับอภิสิทธิ์และสุเทพ หรือผู้คนที่เกี่ยวข้อง
อภิสิทธิ์กับสุเทพก็เป็นแค่หมากตัวหนึ่งของทหารที่อยู่ข้างบน มันมีโครงสร้างอำนาจที่สูงขึ้นไป
“ตอนนั้นอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ เขาต้องเซ็น แม้แต่ทหารตัวเล็กๆ เขาสั่งให้ทำก็ต้องทำ พี่เคยถามทหารเกณฑ์ เขาเล่าให้ฟังเลยว่าเขายืนแถวหน้า 3 แถวหน้าเป็นทหารเกณฑ์ จากนั้นตั้งแต่แถวที่ 4 จะเป็นทหารที่มียศใหญ่ขึ้นไป ถ้าเขาไม่ยิงก็จะถูกเอาปืนจ่อหลัง เขาบอกอย่างนี้เลย” นางสุวิมลเป็นตัวแทนพูด

พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
มีความคิดเห็นอย่างไรกับคดีของคุณธาริต คิดว่าคำตัดสินจะออกไปในทิศทางไหน
“จะเป็นทิศทางไหนอยู่ที่ดุลพินิจในการพิจารณา เราไปตัดสินแทนเขาไม่ได้ ในวันที่แถลง (8 กรกฎาคม 2566) แม่กับน้องกันต์ (ลูกชาย) ในฐานะผู้สูญเสียก็พูดไปหมดแล้ว
เรามองว่าถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำคดีที่เกี่ยวกับชีวิตของประชาชน แล้วถูกฟ้องกลับแบบนี้ วันข้างหน้าจะมีใครกล้าทำ
เอาง่ายๆ ถ้าเกิดเหตุการณ์ข้างหน้า อย่างวันนี้สถานการณ์ก็ไม่ค่อยดี ถ้าเกิดมีอะไรขึ้นมา ตายฟรีไหม เจ้าหน้าที่ที่ไหนจะกล้าทำคดีเพื่อประชาชน ถ้าวันนี้คุณธาริตติดคุก มันจะกลายเป็นบรรทัดฐาน ถ้ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีกก็นี่ไง คำสั่งศาลฎีกามาแล้ว นี่แหละที่แม่บอกว่ามันน่ากลัว”
มองว่าถ้าคุณธาริตติดคุกจะทำให้การเรียกร้องของทางญาติตกไปด้วยไหม
“ไม่ใช่การเรียกร้อง แต่กลายเป็นว่ากระบวนการคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 2553 ซึ่งสังคมโลกเห็นหมด แต่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ไม่เห็นเหรอ ประเด็นที่แม่คลางแคลงใจมากคือในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำงานเรื่องนี้ ค้นหาความจริง มันเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่เหรอ
“ประชาชนเป็นร้อยถูกยิงตายกลางเมือง เราก็เห็นอยู่ว่ากระสุนมาจากฝั่งไหน ศาลชี้มูลการตายแล้วว่ามาจากทหาร นี่คือคำสั่งศาลที่ชี้มูลในคดี 6 ศพในวัดปทุมฯ และอีกหลายคดี แต่คนที่ทำคดีให้กับคนตาย กลับถูกคู่กรณีมาฟ้อง แล้วคดีนี้ขอโทษนะคุณ มัน 13 ปีแล้ว คดียังไม่ไปไหนเลย แต่ทำไมคดีของนายธาริตมาถึงศาลฎีกาแล้วล่ะ ความรวดเร็วสวนทางกันเลยไหม แล้วจะให้เราคิดยังไง มันแปลว่ากระบวนการยุติธรรมมีความผิดปกติไหม นับตั้งแต่รัฐประหาร มันผิดปกติหมดเลย”
มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ระบุชัดเจนว่าเป็นกระสุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีสักที
“ใช่ พูดง่ายๆ เราถูกกลั่นแกล้งมาตลอด หลังจากรัฐประหารก็มีข่าวมาเลยว่านายพลคนหนึ่งเข้าไปที่อัยการคดีพิเศษ เขาไปขอให้หยุดทำคดี 99 ศพ และขอให้ทำคดีเป็นมุมดำ สำนวนมุมดำคือหาผู้กระทำผิดไม่ได้ ซึ่งมันสวนทางกับหลักฐาน อัยการก็เลยบอกเราว่าเขาทำไม่ได้ ยิ่งคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ยิ่งไม่ได้เลย เพราะชี้มูลการตายมาหมดแล้ว มีหน้าที่อย่างเดียวคือหาหลักฐานเพิ่มเติมและส่งเข้ากระบวนการศาลยุติธรรม”
การหาหลักฐานเพิ่มเติมเป็นอุปสรรคของญาติผู้เสียชีวิต
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่ต้องหาข้อมูลหลักฐาน จนกระทั่งจบกระบวนการไต่สวนเป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่ทำคดีให้ แต่หลังจากรัฐประหารเราเห็นว่าคดีมันเงียบ บวกกับที่ได้ข่าวเรื่องนายพลคนหนึ่งที่เข้าไปพบอัยการคดีพิเศษ เราก็เข้าไปหาอัยการศาลทหาร ท่านบอกว่าขอดูเอกสารก่อนได้ไหม ท่านไม่แน่ใจ เพราะท่านเพิ่งย้ายมา
“ท่านจะไปดูสำนวนของ 6 ศพวัดปทุมฯ ว่าอยู่ที่อัยการไหม ผลสุดท้ายท่านขอเวลา พอครบกำหนดท่านก็นัดเราให้เข้าไปฟัง ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเชิญนักข่าวเข้าไปเลย ท่านบอกว่าคดี 6 ศพวัดปทุมฯ เราส่งไปให้ดีเอสไอตั้งนานแล้ว แต่ดีเอสไอชุดใหม่ที่แต่งตั้งหลังรัฐประหารเอาไปซุกไว้ที่ไหนไม่รู้”

มองว่าเป็นการโยนกันไปโยนกันมาเพื่อถ่วงเวลาหรือไม่
เป็นการโยนกันไปโยนกันมาเพื่อถ่วงเวลาให้คดีนี้จบลงไป และทำยังไงก็ได้เพื่อล้มคดีนี้ แม่มองว่าที่คุณธาริตพูดถึงประเด็นเรื่องที่ก่อนจะมีรัฐประหาร คุณธาริตถูกเรียกเข้าไปพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมันตรงกับประเด็นที่แม่บอกตั้งแต่ปี 2557 พอเขาทำรัฐประหาร เขาจะเริ่มคุกคามคดีเรา
“ลูกชายบอกกับแม่ว่ารัฐประหารครั้งนี้มันต้องการล้มคดีเราด้วยแน่ๆ เราก็ยังคิดว่าคงไม่ใช่หรอก เรายังคิดเข้าข้างตนเอง จนกระทั่งคุณธาริตพูดมาวันนั้น มันตรงกันเป๊ะเลยที่นายทหารคนนั้นพูดกับคุณธาริตว่าถ้าทำคดี 99 ศพ จะรัฐประหาร แม่เลยบอกว่าสิ่งที่คุณธาริตพูด ดิฉันคิดว่าดิฉันเข้าข้างตนเองมาตลอดว่าเขาไม่ได้ทำรัฐประหารเพื่อล้มคดีนี้หรอก
“แต่ผลสุดท้ายดิฉันก็เชื่อสนิทใจแล้ว เพราะตัวเราเองก็ไม่ได้มีอะไรกับธาริต บอกตรงๆ ตั้งแต่ปี 2553 แม่มีปัญหากับธาริตมาตลอด แม่เคยเอาครกกับสากกะเบือไปให้ธาริตที่ดีเอสไอ ต้องถามคนเก่าๆ จะรู้ ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องไปญาติดีกับธาริต แต่ในเวลานี้สถานการณ์มันเปลี่ยน”
ทุกคนถูกคุกคามจากบุคคลคนเดียวกัน
การที่มีความต้องการล้มคดีนี้ ถึงกับเป็นหนึ่งในเหตุผลของการรัฐประหาร แสดงให้เห็นว่ามีโครงสร้างของอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้มากกว่าแค่อภิสิทธิ์กับสุเทพ
“คุณต้องเข้าใจบริบทบางอย่างตอนปี 2553 อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แล้วตั้งคณะ ศอฉ.ขึ้นมา สุเทพเป็นผู้อำนวยการ อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นั่งอยู่ในโต๊ะของ ศอฉ. ทั้งหมดเลย เห็นไหมว่าเขามีส่วนร่วมกันหมดเลย พอเขารัฐประหารก็กลายมาเป็น คสช. แค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ก๊วนเดียวกันเลย”
“อย่างอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ตอนนั้น ถ้าคุณไม่มีการเซ็นคำสั่งออกมา ทหารจะกล้าทำไหม เพราะทหารเขาก็พูดตรงๆ ว่าถ้าเขาไม่สั่งผมจะทำได้ไง
เขตใช้กระสุนจริงควรใช้กับศัตรูของประเทศหรือเปล่า แต่นี่คือประชาชนในประเทศนะเว้ย
คุณเป็นนายก คุณจะทำอะไรคุณต้องเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าผลที่ตามมาจะมีความสูญเสียไหม แน่นอนว่าเขาคิดแล้ว แต่เขาก็ยังทำเพราะมีทหารหนุนหลัง เขาถูกแต่งตั้งมาโดยทหาร ประชาชนไม่ได้เลือกเขา”
โดนคุกคามอย่างไรบ้าง
หลังจากรัฐประหาร แม่กับลูกชาย เราถูกข่มขู่สารพัด พอรัฐประหารมันก็มาเฝ้าหน้าบ้าน ไปไหนมันก็ตาม เอาง่ายๆ เขาเฝ้าหน้าบ้านเรา ตั้งแต่ตอนที่เขาฆ่าลูกเราเลยดีกว่า
ไปไหนมันดักหมด ขนาดนั่งแท็กซี่มันยังสวมรอยเป็นแท็กซี่เลย พอแม่ทำศพลูกแล้วมันเป็นช่วงที่เราถูกกระหน่ำด้วยคำพูด ลูกเราเป็นอาสาพยาบาล อภิสิทธิ์ สุเทพ กลับบอกว่าพยาบาลเถื่อน เราก็ไปค้นรูปว่าลูกเราไม่ใช่พยาบาลเถื่อน เราตั้งรูปข้างโลงเลยว่าลูกฉันเรียนจบมาจริงๆ เขาเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่โรงพยาบาลในห้องผ่าตัด เขาไม่ใช่คนไม่มีความรู้ เขาถึงได้ไปอยู่ในเต็นท์อาสาพยาบาล เจ้าหน้าที่รัฐมองเห็นอยู่ว่าเต็นท์นี้อยู่ในวัด ขึ้นเขตอภัยทานตัวเบ้อเร่อ”
“อาจเป็นสันดานของเจ้าหน้าที่รัฐ สันดานของทหารที่ใส่หัวไว้เลยว่าถ้าคำสั่งกู มึงทำได้เลย ในเมื่อเขาสั่งมาขนาดนั้น นายกฯ เป็นคนสั่งใช้กระสุนจริง มันจะคณามืออะไร
แต่คุณโหดเหี้ยมตรงที่เขาเป็นผู้หญิงคนเดียวในนั้น และเขาเป็นอาสาพยาบาลอยู่ในเต็นท์ คุณยิงเขาตายคาเต็นท์ คุณไม่รู้สึกอะไรเหรอ กาชาดที่มีอยู่ กาชาดสากลที่ประเทศไหนๆ เขายึดถือ ยกเว้นประเทศไทยหรือเปล่า
“มันไม่สนใจกติกาสากลเลย แม่ปล่อยให้เขาไปเพราะเขาพูดว่าแม่-ถ้าเป็นสัญลักษณ์กาชาดเขาจะไม่ยุ่ง เขาจะไม่ทำอะไร จะปลอดภัย เราถึงปล่อยให้ลูกไป แต่สุดท้ายลูกเราตายคาเต็นท์กาชาด เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเมตตากับประชาชน เขาไม่ได้มีอาวุธ เขาเป็นผู้หญิง ตายนี่ถุงมือพยาบาลยังอยู่ในมือเลย เราถึงบอกว่าที่ฉันเรียกร้องมาจนถึงทุกวันนี้เพราะฉันเป็นแม่ ฉันใช้สิทธิ์ของความเป็นแม่ ในการเรียกร้องสิทธิ์ในชีวิตของลูก ที่ลูกฉันถูกฆ่าโดยทหาร จะให้ฉันอยู่เฉยๆ ให้ทหารพวกนี้เหยียบย่ำซ้ำเติมอย่างนั้นเหรอ ให้คนสั่งยังลอยหน้า คนฆ่ายังลอยนวลอย่างนั้นเหรอ”
“พอเสร็จงานศพลูก เราได้ยินหมอพรทิพย์ประกาศว่าพยาบาลอาสาน้องผู้หญิงถูกยิง 2 นัด ไม่มีหัวกระสุนในตัว อย่างนั้นอย่างนี้ แม่ก็พูดกับนักข่าวว่าให้หมอพรทิพย์แถลงใหม่ ฉันจะไปฟังให้เขาแถลงใหม่ต่อหน้าฉัน เพราะว่าคุณรู้ไหม คืนที่ 2 เจ้าหน้าที่ไปเอาศพลูกเราที่วัดส่งเข้าโรงพยาบาล เขามาบอกแม่ น้องไม่ได้ถูกยิง 2 นัด แต่มากกว่านั้น
“ไม่เชื่อแม่ลองเปิดดูเลย พอแขกออกหมดก็ยังไม่ปิดศาลาให้น้องชายไปเปิดศพดู ตั้งแต่ปลายขาขวามันยิงไล่ขึ้นบน รูเข้ารูออก 11 รู หัวกระสุนคาอยู่ทั้งที่หัวทั้งที่ท้อง นี่เหรอ 2 นัด นี่เหรอไม่มีหัวกระสุน แม่เลยประกาศว่าหมอพรทิพย์ คุณออกมาแถลงใหม่ แถลงต่อหน้าฉัน หมอพรทิพย์หนีลงใต้เลย ไม่กล้าแถลง คนเราถ้าไม่โกหกมันต้องสู้กันซึ่งหน้า เป็นตราบาปของหมอพรทิพย์ ที่คุณอยากได้ดี อยากได้ตำแหน่งบ้าๆ จาก ศอฉ.”

หลายอย่างสะท้อนถึงความไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรม ความไม่ชอบธรรมของรัฐในเวลานั้น และอื่นๆ
“พูดถึงความเป็นจริง ปี 2553 ประชาชนเสียชีวิตแบบนี้ พอปี 2554 มีการเลือกตั้งได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เรารู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมต้องเดินหน้า สิ่งหนึ่งที่หวังเลยคือเรื่อง ICC เพราะเราเป็นคนไปมาเอง พอเลือกตั้งเสร็จอะไรเสร็จ ศาลของ ICC มาเมืองไทย รออย่างเดียวคือให้รัฐบาลนี้เซ็น แต่คุณรู้ไหม
คุณยิ่งลักษณ์ไม่เซ็น ซึ่งเราไม่รู้เหตุผลกลใดว่าทำไมไม่เซ็น จน พี่ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาพูดว่าถูกทหารขู่ไว้ว่าถ้าเซ็นเมื่อไหร่จะรัฐประหาร เป็นเรานะเราจะรีบเซ็นเลย ถ้าเราเซ็นมันไม่กล้ารัฐประหารหรอก เพราะว่าทาง ICC เขารอแล้ว
เขาเชิญแม่ไปด้วย พอล่ามเขาแนะนำว่าเราเป็นผู้สูญเสีย เราเป็นแม่ อัยการ 2 คนลุกจากหัวโต๊ะเดินเข้ามาหาเลย ขอบคุณที่เรามา เขาแสดงความเสียใจ เราก็คิดว่ากระบวนการยุติธรรมเราต้องได้รับแล้ว ถึงเวลาเขาต้องเซ็น อนาคตข้างหน้าจะได้ไม่มีใครตายอีก แต่สุดท้ายมันเป็นการเมืองบวกการเมือง ผลประโยชน์ที่มันบวกเข้ามา แต่ชีวิตของประชาชนมันไม่มีผลประโยชน์ เป็นแค่เหยื่อการเมือง พอคุณสมประโยชน์กันได้คุณก็ทิ้งเรา”
ถึงตรงนี้ ดวงตาทั้ง 2 ข้างของพะเยาว์ อัคฮาด คลอน้ำปริ่มจะร่วงหล่น
อุปสรรคของการเรียกร้องความเป็นธรรม
“ในกรณีของแม่ พออัยการแจ้งมาว่าคดีอยู่ที่ดีเอสไอ แม่ไปทวงที่ดีเอสไอ เขาถามว่ามีอะไรจะเพิ่มเติมไหม เราก็ถามว่าในสำนวนที่ส่งไปมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ด้วยหรือเปล่า เขาบอกไม่มีครับ เราก็บอก
เฮ้ย! กระบวนการมันต้องไล่ตั้งแต่คนยิงก่อนสิ ตอนที่สอบปากคำชี้มูลการตาย เขายังต้องเรียกทหารบนรางรถไฟฟ้าทั้ง 8 คนมาให้ปากคำเลย แต่ในใบการฟ้องไม่มี เราเลยบอกขอเพิ่มเติมนายทหารทั้ง 8 คน หลังจากนั้นสักเดือนหนึ่งมีหนังสือส่งมาให้ว่าคดีของเรา เขาส่งไปให้อัยการศาลทหาร และอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 คน
เราถามว่ามันเกี่ยวอะไรกัน เขาบอกตามกฎหมายต้องขึ้นศาลทหาร เราก็บอกไอ้ตอนที่มาให้ปากคำก็ศาลพลเรือน เขาฆ่าพลเรือน เขาไม่ได้ทำตาม พรก.ฉุกเฉิน แต่เขาทำเกินอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายต้องยิงต่ำกว่าเข่า แต่ลูกฉันถูกยิงตั้งแต่เข่าขึ้นไป ลูกฉันไม่ได้เอาหัวเดิน ฉะนั้นถือว่า
ลูกฉันถูกฆาตกรรม
ในเวลานั้นทุกอย่างมันจบหมดแล้ว แกนนำมอบตัวแล้ว คนออกหมดแล้ว ตำรวจทหารคุมพื้นที่หมด แต่ลูกฉันตายตั้งแต่ 6 โมงเป็นต้นไป 6 โมงเย็นยังคุยกับลูกอยู่ครั้งสุดท้าย ก่อนลูกจะถูกยิงตายไม่ถึงครึ่งชั่วโมง คุณเข้าใจคำว่าถูกฆาตกรรมไหม อย่าใช้คำว่า พรก.ฉุกเฉิน เพราะคุณเล็งเห็นผล คุณรู้นี่ว่าเขาเป็นใคร คุณใช้กล้องส่อง เขาเป็นอาสาพยาบาล เขามีถุงมือ เขามีเป้”
เวลา 7 ปีที่เหลือ ยังมีความหวังอยู่ไหม
“แม่มี คนเราต้องอยู่ด้วยความหวังถึงจะมีกำลังใจ เราเหลืออีกตั้ง 7 ปี เราต้องคิดในแง่บวก”
แม่หวังกับรัฐบาลชุดใหม่ไหม
“ถามว่าหวังไหม แม่ก็หวัง แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ความเชื่อส่วนตัวของแม่ ประเทศไทยเป็นรัฐซ้อนรัฐ ต่อให้เลือกนายกฯ คนที่ดีขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าทหารไม่ชอบ คนนั้นปลิว ถ้าทหารไม่ได้ผลประโยชน์จากนายกฯ คนไหน คนนั้นปลิว พูดง่ายๆ เหมือนที่คนรุ่นใหม่บอกว่าก็ไปเตะชามข้าวหมาเขา เขาถึงได้โกรธ”

สิ่งที่อยากทิ้งท้ายในงานชิ้นนี้
“ในความรู้สึกลึกๆ อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่” พะเยาว์วอน “จะหน้าตาเป็นยังไงไม่รู้ แต่คิดว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา 8 ปี ฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะได้บทเรียนมากขึ้น ควรจะจำเหตุการณ์ตรงนั้นไว้เพื่อเอามาเป็นบรรทัดฐานว่าคุณจะป้องกันอย่างไร”
ใช่-เราเห็นด้วย ควรแก้ไขอะไรต้องแก้ เป็นนักการเมือง นอกจากรักตนเองแล้ว หัดสละความรักให้ประชาชนบ้าง
“อย่าดีแต่พูดกันอย่างเดียวว่ารักประชาชน ถ้าเพื่อประชาชนจริงๆ สิ่งที่ควรจะทำก็ทำซะ คุณคงเข้าใจความหมายว่าแม่พูดถึงอะไร คุณลงเลย ICC ประกาศฝ่ายเดียวเลย ง่ายกว่าที่คุณจะไปลงสัตยาบันทั้งฉบับ เอาเรื่องปี 2553 นี่ก่อนเลย เป็นการป้องกันคนรุ่นใหม่ แม่พยายามภาวนาว่าอย่าให้มีอะไรเกิดขึ้นอีก เราเป็นผู้สูญเสีย เรารู้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน”
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม