บทกวีคือการทรยศ กระจายอำนาจในบทกวี

เราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสามารถเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัว หรือประวัติศาสตร์บ้านเมือง บางท่านอาจคุ้นชินกับเอกสารวิชาการ หรือบทความในรูปของสารคดี วรรณกรรม ภาพถ่าย แต่ยังมีเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ไม่เพียงบันทึกเรื่องราว หากยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิด จิตใจ อุดมการณ์ กระแสเสียง และการแสดงออกของผู้คนในแต่ละยุคสมัย

เรากำลังพูดถึงบทกวี

เวลาบ่าย แสงแดดสังสรรค์กับผิวน้ำเป็นประกายระยิบ ในร้านกาแฟริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมนั่งอยู่กับกวี 2 คน นักอ่านรู้จักพวกเขาในนาม รอนฝัน ตะวันเศร้า และ ชัชชล อัจฯ เราเลือกนั่งโต๊ะที่ถูกแยกไว้ในห้องเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยตลับเทปและแผ่นเสียง แล้วบทสนทนาก็ค่อยๆ ไต่ความเข้ม ไล่เรียงตั้งแต่ความหมายของบทกวี ความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันระหว่างบทกวีกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

ล่วงไปถึงเรื่อง การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ การเมืองในภาพใหญ่ และการชักชวนจ้องมองใบหน้าของเผด็จการไทย

บทกวีคืออะไร

“ถ้าเป็นเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมอาจบอกว่าบทกวีคือการปลดปล่อย การระเบิดออก ตะโกน สำราก ด้วยช่วงเวลานั้น เรารู้สึกอยากปลดปล่อยบางอย่างที่เวลาปกติแทบไม่มีโอกาสได้ทำ ผมเริ่มเขียนบทกวีจริงจังราวปี 2552 ซึ่งก็มีสถานการณ์หลายอย่างที่มันเกิดขึ้นแล้วเรารู้สึกอยากปลดปล่อย

“แต่ปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าคำตอบนั้นเปลี่ยนไป ในเวลานี้สำหรับผม บทกวีคืออิสระ ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องตะโกนก็ได้ อาจไม่จำเป็นต้องร้อนแรง พลุ่งพล่าน อิสระของผมในตอนนี้คือเราไม่ต้องไปคาดคั้นว่าต้องตะโกน ไม่ต้องไปคาดคั้นว่าต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้” รอนฝัน ตะวันเศร้า กล่าว

รอนฝัน ตะวันเศร้า

“มันคือการผ่านช่วงเวลาที่พอมีคนเห็นงานของเรา คนก็จะคิดว่าเรามีรูปแบบของบทกวีที่เป็นภาพจำ ไม่ว่าไปอ่านที่ไหนก็ตาม คนจะต้องคิดว่า-ไอ้รอนฝันแม่งต้องโหด ต้องตะโกน ต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากอิสระจากกรอบที่คนอื่นมอง แล้วก็เริ่มมาทำการบ้านของตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

“และพบว่าอิสระคือการที่แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่ต้องไปบังคับว่าต้องเป็นแบบไหนหรืออย่างไร ขอแค่บทกวีได้เป็นอิสระของมันจริงๆ เข้าใจความเป็นบทกวีที่เราเขียนออกมาจริงๆ ผมรู้สึกว่านี่แหละคืออิสระ และน่าจะเป็นคำตอบของผมในเวลานี้ว่าบทกวีคืออะไร”

“คล้ายๆ กันนะ” ชัชชล ว่า “เราเคยพูดว่าบทกวีคือบทสนทนา ตอนนี้ก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าบทกวีเหมือนเป็นการพูดคุย ทีนี้ช่วงเวลาของการได้มาซึ่งบทกวี อาจยังไม่ได้เขียนหรืออะไรก็ตามแต่ มันเป็นช่วงที่เราจะได้สนทนากับตนเองในเบื้องต้น เป็นการสร้างบทสนทนากับตนเอง เป็นบทสนทนาที่เราคุยกับตนเองและคุยกับคนอื่นไปพร้อมๆ กัน หรือว่าคุยกับสิ่งอื่นที่อาจมากกว่าแค่เรื่องของคน เราอาจคุยกับหมาแมว คุยกับวัตถุสิ่งของ คุยกับโลก หรือคุยกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ สิ่งที่เป็นนามธรรม ผมรู้สึกว่าบทกวีเป็นการสร้างพื้นที่ของการพูดคุย”

ชัชชล อัจฯ

ในประวัติศาสตร์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการนำศิลปะหลากหลายแขนงมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องทางการเมือง เช่นเดียวกับการชุมนุมระลอกล่าสุดนับตั้งแต่ปี 2563 มีการหยิบยกบทกวีที่มีนัยยทางการเมืองในอดีต รวมถึงบทกวีที่เขียนขึ้นใหม่มาอ่านร่วมกันในที่สาธารณะ

บทกวีต้านเผด็จการได้อย่างไร

“บทกวีเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง” รอนฝันให้คำตอบ “ในแต่ละยุคสมัยบทกวีเคียงคู่มากับดนตรี วรรณกรรม ที่เป็นเหมือนกระบอกเสียง โดยตัวมันเอง บทกวีคงไม่มีปัญญาไปต่อต้านอะไร ความรู้สึกของผม บทกวีเหมือนเชื้อไฟที่สามารถรวมกับเชื้อไฟอื่นๆ เพื่อให้เปลวไฟนั้นสูงขึ้น ฉะนั้น ถ้าบทกวีจะต่อต้านความไม่ถูกต้อง หรือความอยุติธรรมได้ ผมคิดว่าต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง”

มีคำพูดหนึ่งที่ผมเชื่อมาตลอด คือคำว่า ความบังเอิญไม่มีอยู่ในโลก ไม่มีทางที่กวีคนหนึ่งจะเขียนบทกวีบทหนึ่งแล้วบังเอิญทำให้เผด็จการล้มไปเลยในสามวันเจ็ดวัน ผมไม่เชื่อความบังเอิญแบบที่ว่านี้

รอนฝัน ตะวันเศร้า

“แต่ผมเชื่อในเรื่องขององค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ประจวบเหมาะ ทั้งเรื่องสังคม เรื่องแรงผลักดันบางอย่างที่เกิดขึ้นในการเรียกร้องของประชาชน และบวกกับว่าเมื่อบทกวีได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้อง มันก็จะเพิ่มกำลัง เพิ่มพลัง นำไปสู่การเป็นอาวุธของผู้อ่อนแอที่จะโต้กลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รอนฝัน ตะวันเศร้า อธิบาย ก่อนที่ชัชชล จะเสริม

“ผมคิดว่าเป็น 2 ทางไปพร้อมกัน ภายใต้กระบวนการต่อสู้กับเผด็จการ มันก็ทำให้บทกวีมีพลังขึ้นมาได้ เพราะว่าบทกวีนั้นเกิดขึ้นจากการที่เราเข้าไปเกาะเกี่ยว หรือเข้าไปอยู่ในบรรยากาศ หรืออยู่ในสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้สภาวะที่เราอยากจะพูดคุย หรืออยากจะส่งเสียงกลายเป็นแรงผลักดัน โดยประสบการณ์ส่วนตัว ในขบวนการเรียกร้องหรือกระแสของการต่อสู้ มันจะยิ่งทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศ มวลอารมณ์ ที่เข้ามาและเราได้พบเจอ

“และรู้สึกว่าสิ่งนั้นผลักให้เราเขียนบทกวีออกมา แล้วบทกวีที่มาพร้อมกับความจริง หรือความรู้สึกเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะมีพลัง เหมือนบทสนทนา คือการพูดคุยที่ต่อเนื่อง เหมือนการตอบสนอง ทีนี้ถ้ามันจะมีพลัง ด้านหนึ่งพื้นที่ของสถานการณ์จะผลักดันให้กวีตอบสนองออกมา ในที่นี้คือการเขียนบทกวี ซึ่งทำให้บทกวีมีพลัง ในขณะเดียวกันพอกวีเขียนบทกวีออกมาแล้ว ก็จะเสริมให้การต่อสู้นั้นมีพลังมากขึ้นได้

“สิ่งที่น่าสนใจของกวีนิพนธ์กับการต่อสู้ บางทีเรามักจะนึกถึงเนื้อหาของตัวบทกวี ว่ามันทำให้เราฮึกเหิม สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก แต่สำหรับผม ความสำคัญของบทกวีจริงๆ คือวิธีของการเขียนบทกวี หรือว่าวิธีของการที่คุณจะหาอะไรบางอย่าง เพื่อแปรสภาพให้กลายเป็นบทกวี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจไม่ค่อยได้พูดถึง ว่าวิธีการสร้างกวีนิพนธ์ต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้กับอำนาจ

“เพราะถ้าบทกวีคือพื้นที่ของการพูดคุยและสร้างบทสนทนา แปลว่าคุณจะต้องสามารถตระหนักถึงตนเอง ในช่วงเวลาที่คุณจะเขียนบทกวี คุณได้กลับมาคุยกับตนเอง ตอนนั้นคุณรู้สึกไหมว่าตัวคุณดำรงอยู่ คุณรู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ในโลก ในฐานะคนหนึ่งคนใช่หรือไม่ ในกระบวนการที่ทำให้คุณรู้สึกว่าฉันเป็นคนคนหนึ่ง ฉันดำรงอยู่ ฉันมีเสรีภาพที่จะแสวงหาคำตอบ หรือแสดงความเห็น เหล่านี้คือกระบวนการของการสร้างบทกวีที่ทำให้ตระหนักว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะคิดและพูด

“วิธีการแบบนี้นี่เองที่จะทำให้

คุณไม่ยอมรับอำนาจนิยมที่พยายามกดทับ อำนาจนิยมที่พยายามปฏิเสธความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ถ้าเราอยากต่อต้านเผด็จการ เรามาชวนกันเขียนบทกวีจะดีไหม

ชัชชล อัจฯ

ให้การเขียนบทกวีเป็นเรื่องปกติทั่วไปเพราะมันเป็นกระบวนการที่สะท้อนเข้ามาสู่ตัวคุณเอง ว่าคุณมีคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณจะเขียนเรื่องโรแมนติก เรื่องการเมือง หรือเรื่องอะไรก็ได้ เพราะกระบวนการแบบนี้ต่างหากที่ผมคิดว่าทำให้กวีนิพนธ์มีพลัง”

ชัชชลพูดจบประโยค รอนฝัน ตะวันเศร้า ก็ขอเสริมอีกคำรบ

“โคตรเห็นด้วยเลย การสร้างพื้นที่ในทางกวีนิพนธ์เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยส่วนตัว ผมเจอกับภาวะความโดดเดี่ยว ความรู้สึกว่าไอ้ความจริงที่ฉันเชื่อ ความจริงที่ฉันสัมผัสแล้วเอามาเขียนบทกวีนั้นเป็นความจริง (Truth) หรือเปล่า เพราะถ้าเวลาคนเราจะพูดอะไรออกมาสักอย่าง เพื่อจะบอกใครก็ตามบนโลกให้ตระหนักว่านี่คือความจริงที่ฉันเชื่อและศรัทธา สำหรับผมไม่ใช่เรื่องง่าย

“เอาเข้าจริงในบทกวีการเมือง แม้แต่ฝั่งตรงข้ามที่เขียนกันอยู่ทุกวันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็คือบทกวีการเมือง เป็นความคิดชุดหนึ่ง เหมือนที่เราเชื่อความคิดอีกชุดหนึ่ง เพราะแบบนั้นมันคือการปะทะกันของความจริงที่สู้รบกันมาก่อนที่เราจะเขียนบทกวีด้วยซ้ำ มันสู้กันทางความคิดมาโดยตลอด สิ่งที่ควรจะทำจริงๆ อย่างที่ชัชว่าเลย ก็คือไม่เป็นไรหรอกว่าคุณจะเชื่อแบบไหน แต่การที่มีพื้นที่สนทนานั้นจะเป็นการสร้างให้คนเรามีอารยธรรมในการรับฟังและถกเถียง ซึ่งเราขาดตรงนี้มาก”

เมื่อครู่ที่บอกว่าบทกวีคือบทสนทนา แปลว่าบทกวีจะทำงาน ก็ด้วยการสะท้อนความมีส่วนร่วมกับผู้อื่น

“ถูกต้อง บทกวีทำงานด้วยตัวของมันเองไม่ได้ เราต้องปล่อยให้บทกวีไปสัมผัสกับมวลความคิดอื่นๆ” รอนฝัน ตะวันเศร้า ขยายความ

“ปล่อยให้มันต่อยอดไปอย่างอิสระ ต่อให้เราไม่ได้พูดถึงการเมือง แต่พูดถึงสถานที่แห่งหนึ่ง สถานที่นี้คนร้อยพ่อพันแม่อาจเคยมาและมองเห็นเหมือนกัน แต่วิธีคิด วิธีเล่า ย่อมแตกต่างกัน บทกวีจึงเกิดขึ้นเพื่อมาสัมผัส มาสังสรรค์กับสิ่งเหล่านี้ กูคิดอย่างนี้ มึงคิดยังไง อะไรแบบนี้ มันคือปาร์ตี้ แต่พอถึงตรงนั้นแล้วจะนำพาไปสู่อะไรก็สุดแท้แต่”

ในมุมของการต่อต้านเผด็จการ บทกวีถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการแสดงออก ซึ่งชายหนุ่มทั้ง 2 ก็คนตอบรับเห็นด้วย รอนฝัน ตะวันเศร้า อธิบายเพิ่มเติมว่าเหมือนกับไส้กรอกที่เขาสั่งมากิน ตัวไส้กรอกก็คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนบทกวีเหมือนซอสที่ทำให้อร่อยขึ้น เช่นเดียวกับดนตรี กราฟฟิตี้ หรือศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวมีสีสัน ไม่แห้งแล้ง

ขอบทกวีต้านรัฐรวมศูนย์และกระจายอำนาจ คนละ 1 บท

โอริกามิ – รอนฝัน ตะวันเศร้า

เมื่อเขาพับกระดาษ เป็นพระเจ้า

มันก็จะเป็นพระเจ้าของคุณ

เมื่อเขาพับกระดาษ เป็นราชา

มันก็จะเป็นอุ้งเท้า

ที่พร้อมเหยียบและขยี้หัวกบาลคุณ

เมื่อเขาพับกระดาษ

เป็นคนดี

มันก็จะเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ของคุณ

เมื่อเขาพับกระดาษ

เป็นเอกสารเปื้อนหมึก

โดยไอ้คนขี้เสือก

มันก็จะเป็นชะตากรรมของคุณ

Anonymous – ชัชชล อัจฯ

เราคือ Anonymous

จัดตั้งผ่านสมองกลบนโลกเสมือน

โลกที่ความจริงจับต้องได้ ไม่บิดเบือน

ทุกคนคือเพื่อนผู้เคลื่อนพล

กองทัพที่ใครใครต่างต่างไร้ชื่อ

แต่พร้อมเพรียงประสานมือทุกแห่งหน

ต่อต้านในนามประชาชน

ต่างระบุตัวตน – คนเสรี

กลางคลื่นดาต้ามหาศาล

กระแสการต่อสู้อยู่ทุกที่

คุณปิดไป เราเปิดใหม่ ไว 5g

ขัง? ฆ่า? ขอโทษที… ที่ยังมีชีวิต

แม้ I die แต่ ideas never die

คุณฆ่าเราเป็นวัวควาย – อำมหิต

แต่ที่ไม่ตายตามคือความคิด

รอเรารีทวิต – จากโลกอนาคต

เราคิดว่าทุกปัญหาต้องการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะความหลากหลายทางเพศ สุราก้าวหน้า กระทั่งม็อบคนรุ่นใหม่ คุณเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

สำหรับผม การกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องของอำนาจในเชิงการเมือง (Policy) อย่างเดียว แต่รวมถึงอำนาจในศักดิ์ศรีที่เท่ากันของทุกคน ไม่ต้องอยู่กับความรู้สึกว่าคนที่อยู่ศูนย์กลางของประเทศมีศักดิ์ศรีมากกว่าคนท้องถิ่น

รอนฝัน ตะวันเศร้า

“มันคือการทำให้คนทุกคนมีอำนาจต่อรองกับระบบที่ถูกคิดขึ้นมาโดยรัฐส่วนกลาง เป็นการทำให้ท้องถิ่นมีปัจจัยเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน”

รอนฝัน ตะวันเศร้า กล่าว

“เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมเห็นโพสต์เฟซบุ๊กของพี่เช ซะการีย์ยา (ซะการีย์ยา อมตยา กวี นักเขียน นักแปล เจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2553) เขาไปงานหนังสือที่จอร์จทาวน์ (มาเลเซีย) ผมเลยนึกขึ้นได้ว่าเอาง่ายๆ แค่เรื่องวรรณกรรม ถ้าการกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง เราไม่ต้องมีงานสัปดาห์หนังสือเฉพาะแค่หัวเมืองใหญ่ด้วยซ้ำ เรามีงานสัปดาห์หนังสือที่กรุงเทพฯ ที่สงขลา ที่ขอนแก่น

“แต่ก็ยังมีอีกหลายจังหวัดที่น่าสนใจ เราคิดว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในแง่ของการแสดงอัตลักษณ์ และการบริหารปัจจัยต่างๆ ที่สามารถต่อยอดได้ ทำไมเราไม่มีงานสัปดาห์หนังสือที่จังหวัดลำพูน สมมตินะ แล้วเราสามารถเชิญนักเขียนที่อาจไม่ได้ดังมาก แต่เป็นนักเขียนที่น่าสนใจ หรือนักเขียนเมืองนอก เหมือนที่จอร์จทาวน์เชิญพี่เชไปร่วมงาน

“โดยที่จังหวัดตั้งคนขึ้นมาบริหารแล้วใช้งบประมาณที่เหมาะสมและตรวจสอบได้ ผมคิดแบบนี้มาตลอด การกระจายอำนาจคือการทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงศักยภาพ ได้มีตัวตน ไม่ต้องไปเดินตามก้นคนเมืองหลวงอีกต่อไป”

“ถ้าการกระจายอำนาจทำได้จริง” รอนฝันว่าต่อ “จะมีผลสืบเนื่องต่อมาเป็นโดมิโน่ เราอาจมีจังหวัดที่ชูให้เป็นจังหวัดของการผลิตสุรากลั่นระดับภูมิภาค อย่างจังหวัดแพร่ที่ทำเหล้าสะเอียบ แต่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแค่ร้านเล็กๆ ที่อยู่ในจังหวัด เราควรมีการกระจายอำนาจตั้งนานแล้ว ถ้าไม่มีการทำรัฐประหารนับตั้งแต่ปี 2549 ป่านนี้เราอาจมีทัวร์แบบที่เกาหลี ทัวร์ดูโรงบ่ม ทัวร์ดูโรงต้มเหล้า โอทอป

“คือไม่ได้จะเคลมเกี่ยวกับนโยบายของทักษิณ แต่ต้องยกเครดิตให้เขาเพราะเรื่องโอทอปเปรียบเสมือนโดมิโน่ตัวแรก ซึ่งถ้าได้ต่อยอดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันนั้น ป่านนี้เราเท่ไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่นั่นแหละ รัฐประหารทำให้ทุกอย่างแม่งเหี้ยหมด”

ชัชชลที่ฟังอยู่ บอกว่าเขาขอเสริมประเด็นนี้ โดยเชื่อมโยงกลับมาสู่เรื่องกวีนิพนธ์ หรือศิลปะอย่างกว้างๆ

“เราจะเห็นความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ปกติอาจเห็นแค่วรรณกรรมที่ผูกโยงกับจารีต การให้คุณค่าว่าวรรณกรรม หรือบทกวีแบบส่วนกลาง หรือวรรณกรรมของผู้คนที่เกี่ยวโยงกับราชสำนักนั่นคือสิ่งที่ดีและถูกต้อง ภาษาแบบนั้นคือสวย คือสุนทรียศาสตร์ คือความงาม ความจริง

“แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจ เราจะได้เห็นว่าแต่ละชุมชน แต่ละท้องถิ่นมีภาษาเป็นของตนเอง คนใต้ก็พูดภาษาใต้ มีหนังตะลุง มีนิทาน คำกลอน คนอีสานก็มีผญา มีอะไรเยอะแยะมากเลย มันมีสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของกวีนิพนธ์อยู่ทั่วไป เพราะอย่างที่บอกว่ากวีนิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องธรรมดา

“แต่ว่าพอไม่กระจายอำนาจมันก็จะถูกชุดภาษา หรือการให้คุณค่าบางอย่างกดเอาไว้ว่าสิ่งพวกนี้ถือเป็นคำกลอนท้องถิ่น นิทานท้องถิ่น เป็นอะไรที่ไม่ใช่กวีนิพนธ์ มันเต็มไปด้วยลำดับชั้น แต่ถ้าเราได้กระจายอำนาจ ความแตกต่างหลากหลายของภาษาและวิธีคิด รวมถึงการให้คุณค่า จะถูกท้าทายว่าสิ่งที่เป็นความงาม ความดี ความจริงของชีวิตคนนั้นมีได้มากกว่าหนึ่ง

การกระจายอำนาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเอง ได้เปล่งเสียงของตนเอง และในอีกด้าน คนอื่นก็จะได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย

ชัชชล อัจฯ

“ซึ่งจะสามารถช่วยให้เราเห็นความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และทำให้เราเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ในประเทศ”

การกระจายอำนาจในมุมมองของคุณคืออะไร และคุณเห็นด้วยหรือไม่ กับประโยคที่ว่าการกระจายอำนาจ คือการกระจายคุณภาพชีวิตที่ดีสู่คนทั้งประเทศ

“การกระจายอำนาจคือการเคารพว่าทุกคนมีสิทธิ์เหนือชีวิตของตนเอง”  ชัชชล กล่าว “คุณมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตของคุณเองในแบบที่คุณต้องการ ฉะนั้น คำถามที่ตามมาคือแบบไหนที่เรียกว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณ คุณต้องนิยามด้วยตนเอง ไม่ใช่มาให้คนอื่นนิยามให้คุณ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในระดับใด อาจจะตั้งแต่ระดับเล็กที่สุดอย่างครอบครัว

“พ่อแม่อยากให้คุณเป็นอะไร แล้วบอกว่านี่คือชีวิตที่ดี มันใช่หรือเปล่า ชีวิตที่ดีของพ่อกับแม่เป็นชีวิตที่ดีของคุณหรือเปล่า หรือที่ผู้ใหญ่บ้านบอกว่านี่คือชีวิตที่ดีของลูกบ้าน มันใช่หรือเปล่า โดยพื้นฐานที่สุดการกระจายอำนาจต้องทำให้คุณมีอิสรภาพ (Autonomy) มีความรู้สึกว่าคุณเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง มีศักยภาพ มีอำนาจ และมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรที่จะออกแบบชีวิตที่ดีในนิยามของคุณเองได้”

“ในมุมมองของผม” รอนฝัน ตะวันเศร้า เปรย “การกระจายอำนาจเอาจริงๆ ก็คล้ายกับที่ตอบไปแล้วว่าคือการทำให้ประชาชนสามารถแสดงจุดยืนของตนเอง ทั้งในแง่อุดมการณ์และในแง่ของการใช้ชีวิตจริง ทำให้คนมีที่ทางสามารถสร้างวงจรอุตสาหกรรมของตนเองได้”

“ทั้งนี้การกระจายอำนาจที่ดีก็ไม่ใช่การโยนอิสรภาพให้แล้วจบเลย แต่ยังต้องมีกระบวนการทางสังคมอีกมากมายที่ตามมา และสำคัญที่สุดคือต้องมีพื้นที่แลกเปลี่ยน ถ้าวันหนึ่งมีเด็กรุ่นใหม่บอกว่าสิ่งที่พวกผมเคยเชื่อมาตลอดที่จริงแล้วใช่หรือเปล่า

“เราต้องมีสภาพสังคมที่เมื่อเด็กรุ่นใหม่เกิดความสงสัย หรือมีคำถาม จะต้องมีพื้นที่ให้เขาได้พูดอย่างอิสระและปลอดภัย เขาจะต้องมีเสรีภาพที่จะถามในสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราศรัทธา หรือแม้แต่สิ่งที่เราเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์”

“แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การมองคร่าวๆ โดยมองในระยะใกล้ที่สุด การกระจายอำนาจในมุมมองของผมเป็นแบบนี้ แต่อนาคตจะเป็นยังไงต่อไปนั้นเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ ถึงที่สุดการกระจายอำนาจที่ดีเป็นยังไง ผมคงตอบคำถามนี้ไม่ได้ เมื่อเราอยู่ในจุดนี้มันก็มีเวลาอีกไม่มากไม่มายนักหรอก เวลาเป็นของเด็กรุ่นใหม่ เพราะอย่างนั้นการกระจายอำนาจที่ดีต้องทำยังไง ผมคิดว่าอยู่ที่เด็กรุ่นใหม่ หรือต่อให้เด็กรุ่นใหม่ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ก็จะอยู่ที่คนรุ่นต่อไป สักวันมันจะเห็นภาพได้เอง” รอนฝัน ตะวันเศร้า สรุป

คิดอย่างไรหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

ชัชชล ตอบว่า

จากที่ได้อยู่ในบรรยากาศของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็รู้สึกว่าด้านหนึ่งช่วยให้เราได้เห็นปัญหา ก่อนที่ผู้สมัครจะเสนอนโยบายได้ เขาต้องไปหาปัญหามา เราก็จะได้รู้ว่าปัญหาของท้องถิ่นมีอะไรบ้าง จากที่เราอาจเห็นแค่บางปัญหาที่มีผลกระทบต่อตนเอง

“เราก็จะได้รู้ว่าปัญหานั้นยังมีอีกมากมาย ผมคิดว่าถ้ามีโอกาสแบบนั้นให้กับทุกจังหวัด เราจะได้รู้จักบ้านของเรามากขึ้นว่ามีปัญหาอะไร ได้เห็นผู้คนที่หลากหลายว่าทุกคนมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี และควรเกิดขึ้น”

ส่วน รอนฝัน ตะวันเศร้า ตอบว่า

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้าสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าเป็นแถวบ้านผมที่อัมพวา หากมีประเภทผู้รับเหมามาต่อท่อประปาหลวง แล้วดันต่อท่อลอยขึ้นมาเหนือพื้นยางมะตอย ในขณะที่มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่จะตระหนักได้คือด่าถูกตัว ว่าคุณปล่อยให้ผู้รับเหมามาต่อท่อแบบนี้ได้ยังไง อันนี้ผมพูดจากเหตุการณ์จริง ดังนั้นถ้ามีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งอย่างน้อย ๆ เราจะได้มีปากมีเสียง สามารถตรวจสอบได้ เวลาเกิดปัญหาจะได้เดินเข้าไปหาถูกคน ที่สำคัญคือจะทำให้ทุกคนตระหนักในสิทธิว่าฉันเป็น 1 เสียง คุณก็เป็น 1 เสียง

ชัชชล ขอเสริมอีกครั้ง

“ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดก่อนเกิดหลัง ถ้าเราสามารถแคมเปญให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเกิดขึ้นได้จริง ความเป็นประชาธิปไตยโดยรวมก็จะเกิดขึ้นตามมา หรือถ้าเราสามารถเปลี่ยนสังคมนี้ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม แล้วการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะเกิดขึ้นตามมา ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถทำไปพร้อมกันได้ สองสิ่งนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดก็ดีทั้งนั้น มันสนับสนุนกันและกัน”

หลายคนบอกว่ารัฐบาลเผด็จการไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้เกิดการกระจายอำนาจ

ใช่ เขาไม่อยากให้เกิดหรอก เพราะว่าทรัพยากรที่ใช้บำรุงเขาอยู่ตอนนี้ดึงมาจากภูมิภาค เงินทุกบาทเข้ามาส่วนกลาง แบ่งให้ส่วนกลางก่อน แล้วค่อยฉีกออก

ชัชชล กล่าว “ถ้าเกิดว่าเงินไม่ถูกสูบเข้ามาส่วนกลางแล้วค่อยปล่อยออก ข้างนอกก็โตกันหมดแล้ว”

“หรือแม้แต่ในปัจจุบันอย่างขอนแก่นก็มีความพยายามที่จะทำนู้นทำนี่ด้วยตนเอง พูดง่ายๆ ขนาดท้องถิ่นต้องส่งส่วยเขายังโตเลย และถ้าวันหนึ่งไม่ต้องส่งส่วยล่ะ ส่วนกลางจะเหลืออะไร เพราะว่าศักยภาพและสติปัญญาของคุณมีอยู่แค่นี้เอง ใช่ไหม ขนาดมีงบประมาณตั้งมากมายมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว คุณยังทำประเทศให้ล่มจมได้เลย”

ถ้าเปลี่ยนรัฐบาล การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะเป็นเรื่องง่ายกว่านี้ไหม

รอนฝัน ตะวันเศร้า ตอบ

ผมนึกถึงคำพูดที่ได้ยินมาว่า ถ้าเป็นการโกงในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยเรายังรู้ว่าคุณโกงไปกี่บาท แล้วคุณก็ไปไล่บี้อะไรกันไป แต่การโกงในรัฐบาลเผด็จการ มันคือการโกงที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าหายไปกี่บาท เพราะตรวจสอบไม่ได้ นี่คือปัญหา

“เพราะว่าที่เขาอยู่มาได้จนถึงป่านนี้ เขาอยู่ได้เพราะอะไร เขาอยู่ได้เพราะว่ากลุ่มชนชั้นกลางที่อวยรัฐบาลนี้มาโดยตลอด สร้างชุดความเชื่อที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของความเลวทราม เป็นแนวความคิดที่ว่าการเลือกตั้งไม่ได้ช่วยเปลี่ยนอะไรเลย เราจึงไม่ได้สู้แค่กับรัฐบาลเผด็จการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสู้กับชุดความคิดนี้ด้วย”

ชัชชล กล่าวเสริม

“ผมว่าสิ่งที่สำคัญคือความเป็นตัวแทน และความรับผิดชอบในทางประชาธิปไตย เหมือนที่ป๋วย (รอนฝัน) บอกว่าจะได้ด่าถูกคน เพราะการเลือกตั้งจะสร้างความเป็นตัวแทนให้กับคนที่ประชาชนเลือก เขาต้องมีความรับผิดชอบ อันนี้คือพื้นฐานของประชาธิปไตย

“แต่ในปัจจุบันที่รัฐหรือชนชั้นนำไทยทำอะไรก็ได้ เพราะไม่เคยยึดโยงกับประชาชน ทำอะไรก็ลอยนวลพ้นผิด จะฆ่าใครก็ได้ จะอุ้มใครก็ได้ ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ยังแข็งแรง ตั้งแต่ข้างบนสุดลงมาข้างล่าง ทำอะไรไม่ต้องรับผิดชอบเพราะไม่เคยเป็นตัวแทนใคร ไม่ยึดโยงกับใคร ฉะนั้น การเลือกตั้งคือวิธีแรกที่อย่างน้อยทำให้สิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดเกิดขึ้นได้ก่อน”

เวลาไปต่างจังหวัด เรื่องใดที่ทำให้เจ็บปวด

“ที่จริงตัวผมเองก็เป็นคนต่างจังหวัด แค่มาอยู่กรุงเทพฯ เท่านั้นเอง”  ชัชชล เล่า “เพราะอย่างนั้นผมขอตอบในฐานะคนต่างจังหวัด สิ่งที่เรารู้สึกว่าเฮงซวยที่สุดเลยที่บ้านของเราก็คือระบบขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะเหี้ยมาก ไม่มีความรวดเร็ว ไม่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้ ไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้

หรือในบางพื้นที่ไม่มีรถสาธารณะไป สิ่งนี้ผมว่าเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างมาก ในการเข้าถึงเชิงกายภาพ เมื่อคุณไม่มีศักยภาพที่จะเดินทาง โลกของคุณก็จะถูกจำกัด พอโลกถูกจำกัด ศักยภาพของคุณที่จะได้รับการพัฒนาก็น้อยลง อย่างเด็กที่ไม่สามารถเข้ามาเรียนในโรงเรียนดังๆ ในอำเภอหาดใหญ่ได้ เพราะว่าไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ราคาถูกและดี หรือฟรี ทั้งที่เขาอาจมีสติปัญญาที่ควรได้มาเรียน อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกเจ็บปวด

“เวลากลับบ้านที่อัมพวา” รอนฝัน เล่าบ้าง “สิ่งที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดมาก สำหรับผมคือการพบเจอคนรุ่นเดียวกันที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นคนที่ไม่มีความหวัง ในแง่ที่ว่าโดยพื้นฐานของคนแถวบ้าน ถ้าไม่มีปัญญาไปทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างมากสุดคุณก็ไปทำงานอยู่โรงงานแถวมหาชัย”

หรือบางคนไม่มีความสามารถที่จะไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลส่วนตัวใดๆ และถ้าปู่ย่าตายายไม่มีร่องสวน เขาก็ไม่สามารถจะหางานในละแวกบ้านได้ คือบ้านผมเป็นชาวสวนมะพร้าว ลุงผมก็มีสวนที่ได้มาจากตา ผมกำลังจะบอกว่าคนที่มีทรัพยากรอยู่แล้ว จะดีจะร้ายเขาก็ยังพอมีที่ทาง

“ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่มีอะไรเลย ต้องอยู่แบบรับจ้างไปวันๆ หรือต้องทำงานแบบที่ไม่ค่อยมีคนทำกันแล้วอย่างการขึ้นมะพร้าว มันคือความรู้สึกว่าคนบางคน เราเห็นเขามีศักยภาพพอ ถ้าเกิดว่าจังหวัดมีระบบคุณภาพชีวิตที่ดีให้เขา เพราะการจะทำให้คนมีความหวังกับการดำรงชีวิตในจังหวัดบ้านเกิด คำตอบก็วนกลับมาสู่ต้นทาง นั่นคือการกระจายอำนาจ เพื่อให้เกิดโอกาสในการทำมาหากิน มีการงานรองรับ” รอนฝัน ตะวันเศร้า กล่าว

ประโยค เวลาอยู่ข้างเรา ยังเป็นจริงไหม

“ถ้าเราพูดอย่างเป็นธรรมหรืออย่างสามัญที่สุด เวลามันก็เดินไป ทุกคนมีเวลาเหมือนกันหมด ฉะนั้น การที่เราจะรู้สึกว่าสักพักหนึ่งไดโนเสาร์ก็จะล้มหายตายจากไปด้วยตัวเอง ผมว่าคงจะไม่จริงทั้งหมด แต่ต้องมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเชิงกายภาพ เชิงพันธุกรรม หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แปลว่าอยู่ดีๆ มันไม่หายไปหรอก-เผด็จการ แต่ว่าต้องมีการพยายามต่อสู้เพื่อโค่นล้ม หรือทำลายมัน

การที่เราจะบอกว่าเวลาอยู่ข้างเรา แล้วเราไม่ต้องทำอะไรหรือเปล่า คงไม่ใช่ มันก็ต้องทำอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ทีนี้ต้องย้อนกลับมาถามตนเองว่า แล้วเราจะทำยังไง ให้เวลาอยู่ข้างเราจริงๆ ถ้าผมตอบอย่างง่าย สำหรับตนเองก็คงคล้ายๆ ว่า ถ้าเราอยากเห็นสังคมในอุดมคติที่ต้องการ เราก็ต้องถามตนเองว่าในตอนนี้ เราอยู่จุดไหนของขบวนการเคลื่อนไหวนี้

“ถ้าตอบตนเองได้ ข้อนี้เราก็อาจคิดต่อได้ว่าแล้วสิ่งที่เราทำนั้นเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ที่พยายามขับเคลื่อนให้เวลาอยู่ข้างเราได้ยังไง อย่างถ้าสิ่งที่ผมทำได้ เช่น ผมเขียนกวีนิพนธ์ได้ ผมสามารถชวนคนอื่นมาสร้างพื้นที่เพื่อเขียนกวีนิพนธ์และสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ทำในสิ่งที่ทำได้และรู้สึกว่าสามารถเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ ผมคิดว่าคงจะเป็นไปได้ตามประโยค เวลาอยู่ข้างเรา

“อีกสิ่งสำคัญ ผมรู้สึกว่าเราต้องอึด โดยเฉพาะในการต่อสู้ที่กินระยะเวลายาวนาน สมมตินับหนึ่งในระยะใกล้ที่สุด ตั้งแต่ปี 2475 ตอนนี้ก็ 90 ปีแล้ว คุณอึดพอเปล่าที่จะบวกไปอีก 90 ปี กว่าจะสร้างการผลัดใบของการต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยที่แข็งแรงกว่านี้เกิดขึ้นได้” ชัชชล กล่าว

ประโยคที่ว่า เวลาอยู่ข้างเรา ผมเชื่อในฐานะของคำพูดให้กำลังใจ ผมได้ยินคำนี้แรกๆ ตอนที่แกนนำสักคนโดนจับแล้วเราไปยืนรอกันอยู่หน้าสถานีตำรวจ ในช่วงหลังจากรัฐประหารปี 2557 จะได้ยินประโยคนี้ เวลาอยู่ข้างเราเสมอ

“พอทุกวันนี้ ผมคิดว่าเวลาอยู่ข้างเราในฐานะของการรอคอยอย่างอดทน อย่างที่ชัชว่าเลย มันคือเกมของความอดทน แต่ถึงที่สุด ไม่อยากจะให้มองว่า เมื่อเราบอกว่าเวลาอยู่ข้างเราแล้วกลายเป็นปัจจัยให้เราไม่ต้องทำอะไรเลย เดี๋ยวมันก็ตายไปเอง-อะไรแบบนี้ หรือว่าคุณรอได้

“ถ้าคุณรอแล้วมีกินมีใช้ คุณยังรู้สึกมีความสุขกับสภาพสังคมแบบนี้ คุณก็รอไป แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าไม่โอเค คุณก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับมัน อย่าหลงในเขาวงกตของประโยคที่ว่าเวลาอยู่ข้างเรา เพราะเวลาจะอยู่ข้างเราก็ตอนที่เรายังมีเวลา ตอนที่เรายังมีพลัง เรายังเป็นคนหนุ่มคนสาว สิ่งที่คุณต้องทำคือต้องใช้เวลาให้มีคุณค่าที่สุด” รอนฝัน ตะวันเศร้า กล่าว

มองเผด็จการในบ้านเราอย่างไร

“อยากจะให้ไปอ่านหนังสือ ‘ทุนนิยมเจ้า’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นหนังสือที่สามารถตอบได้เลยว่าเผด็จการไทยต่างจากที่อื่นยังไง” รอนฝัน ตะวันเศร้า เปรยก่อนจะกล่าวต่อ

เผด็จการไทยจะขึ้นมามีอำนาจแบบตัวเปล่าเล่าเปลือยไม่ได้ มันมีอย่างอื่นเป็นตัวประกอบ เผด็จการไม่ใช่เรื่องของการยึดอำนาจอย่างเดียว แต่คือการสร้าง Master Plan ที่ใหญ่มากๆ และมีความซับซ้อนสูง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือฝ่ายทหาร นักการเมือง ภาคประชาชน และศักดินา เหล่านี้เป็นสิ่งที่สอดประสานกัน

“ผมเห็นด้วยกับป๋วย” ชัชชลพูด “เผด็จการไม่ใช่ตัวบุคคล แต่มันคือระบบ แล้วระบบที่ว่านี้ก็ทำงานทั้งหน้าฉาก และหลังฉาก มันอาศัยทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น กลไกเชิงสถาบันต่างๆ และกลไกในเชิงอุดมการณ์ที่เราคุยกันตั้งแต่ช่วงแรกๆ ว่ามีความคิดบางอย่าง มีรูปแบบทางวัฒนธรรมบางอย่างที่เข้ามาประกอบกันจนทำให้เผด็จการมีตัวมีตน จนสามารถควบคุมบงการชีวิตเราได้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งในระยะหลัง ถ้าพูดถึงการต่อสู้ในรอบล่าสุด เราจะเห็นว่าระบบเผด็จการเองก็ถูกท้าทาย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง และกำลังก่อรูปใหม่ขึ้นมา ทีนี้ภายใต้การก่อรูปใหม่ เราก็น่าจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะเข้าไปจัดรูปทรงของมันใหม่ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่

“ผมคิดว่ามีบางด้าน ถ้าเราจะมองในแง่ดี อย่างเช่น วัฒนธรรมอำนาจนิยม วัฒนธรรมเผด็จการ หรือความเชื่อที่เราเคยหลงใหลซาบซึ้ง มันผ่อนคลายลง เราอาจมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีก็ได้ จากที่เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่าเผด็จการดำรงอยู่ แต่ตอนนี้มีข้อมูลข่าวสาร มีหนังสือ มีความรู้ มีอะไรต่างๆ นานา ที่อย่างน้อยที่สุดเราเริ่มรู้แล้วว่าเผด็จการหน้าตาเป็นอย่างไร

“เมื่อก่อนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันดำรงอยู่ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน แต่ในปัจจุบันนี้ผมคิดว่าเป็นสภาวะที่เราเริ่มเห็นแล้วว่ามันเป็นยังไง และผมคิดว่าถ้าเราเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ เราก็น่าจะรู้วิธีในการต่อสู้กับมัน เพื่อจำกัดอำนาจ หรือทำให้มันล้มหายตายจากไปในที่สุด” ชัชชล ทิ้งท้าย

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

——————–

รอนฝัน ตะวันเศร้า

เป็นนามปากกาทางกวีที่ใช้มาร่วม 10 กว่าปี มีบทกวีเผยแพร่ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตามนิตยสาร หรือตามเพจต่างๆ ที่ให้พื้นที่บทกวีและวรรณกรรม ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน คือได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ของเวทีประกวดกวีนิพนธ์ถนอม ไชยวงษ์แก้ว มีผลงานได้รับการรวมเล่มและจัดพิมพ์ได้แก่ หนังสือ ปรากฏการณ์ความบ้า สำนักพิมพ์ เหล็กหมาดการพิมพ์ และหนังสือ ประเทศไร้ทรงจำ สำนักพิมพ์สมมติ

ชัชชล อัจฯ

ชอบเขียนบทกวีการบ้าน-การเมือง มี ลุกไหม้สิ! ซิการ์ เป็นหนังสือเล่มแรก ปัจจุบันหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานวิจัยด้านมานุษยวิทยา

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *