ปี 2565 ไม่ค่อยมีข่าวดีให้ข้าวไทยมากนัก
เริ่มตั้งแต่จาก 1 คะแนนที่หายไปจากความ ไม่หอม ผลักให้ข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยตกจากตำแหน่งข้าวที่ดีที่สุดในโลก และเปิดทางให้ข้าวหอมมะลิผกาลำดวนจากกัมพูชาขึ้นไปอยู่แทนที่ ในการประชุมข้าวโลกประจำปี 2022 (The World’s Best Rice 2022) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน
ต่อด้วยตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยที่ตกเป็นรองอินเดียอีกครั้งหลังจากตามหลังมาเป็นทศวรรษ นอกจากนี้ยังมีเวียดนามที่เริ่มแซงหน้าขึ้นไป แถมมีแววจะทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ด้วย
และขณะที่กรมการข้าวกับคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เปิดเวทีแถลงข่าวการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ทุ่งนากว่าล้านไร่ในไทยก็เต็มไปด้วยรวงข้าวพันธุ์หอมพวงจากเวียดนาม เพราะข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงของชาวนา และความล่าช้าของการพัฒนาสายพันธุ์
กินข้าวให้หมดจาน สงสารชาวนา แต่ทั้งความหอมที่เริ่มจาง ทั้งตัวเลขส่งออกที่กระเตื้องเชื่องช้า ทั้งคำกล่าวว่าข้าวเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยแต่ชาวนาไทยกับการเป็นหนี้ยังตัวติดเป็นตังเม ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าต่อให้กินหมดจาน สถานการณ์ข้าวและชาวนาไทยจะเดินไปตรงไหนกันแน่

- หลังจากความ ไม่หอม
ในการประชุมข้าวโลกประจำปีที่มีการประกวดพันธุ์ข้าวจากไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ปากีสถาน อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา เก้าอี้แชมป์ในวันนั้นตกไปเป็นของข้าวหอมมะลิผกาลำดวน (Phka Rumduol) จากกัมพูชา ตามมาด้วยไทยเป็นอันดับ 2 และเวียดนามเป็นอันดับ 3 โดยก่อนหน้านี้ ผกาลำดวนเคยคว้าแชมป์มาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2555-2557 และอีกครั้งในปี 2561 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรของกัมพูชาได้แจกจ่ายพันธุ์นี้ให้เกษตรกรใช้ปลูกในปี 2542 หลังจากพัฒนาและทดลองมา 10 ปี
เชฟชาวสหรัฐอเมริกา หนึ่งในกรรมการตัดสินได้ให้คำอธิบายว่า แม้คุณภาพและรสชาติของข้าวหอมมะลิไทยกับผกาลำดวนจะดีเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงเรื่องกลิ่นหลังจากหุงแล้ว กลับเป็นผกาลำดวนที่หอมกว่า
ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวได้บอกกับเว็บไซต์เรื่องเล่าข่าวเกษตรว่า พันธุ์ข้าวขาวหอมมะลิ 105 ที่ส่งประกวด เป็นเมล็ดพันธุ์แท้จากกรมการข้าวและไม่พบความแปรปรวนทั้งลักษณะทางสรีระ พันธุกรรม และการเกษตร พิสูจน์แล้วยังหอมเหมือนเดิม แต่ความหอมที่ลดลงในการประกวดอาจเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการแปลงนา และการจัดการหลังเก็บเกี่ยวต่างหาก
เพราะพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 เหมาะจะปลูกในพื้นที่ดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ช่วงข้าวออกดอกเป็นระยะที่ข้าวสะสมแป้งทำให้เกิดการสร้างสารหอมระเหย และในช่วงข้าวสะสมแป้งเป็นฤดูหนาว ในปีที่อากาศค่อนข้างเย็นคือประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส จะทำให้สารหอมระเหยในข้าวคงอยู่ได้มากกว่าผลผลิตข้าวในปีที่มีอากาศร้อน
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการข้าวยังพูดถึงการใช้เครื่องเกี่ยวนวดในกระบวนการผลิตข้าว ทำให้ความชื้นสูงกว่าการเกี่ยวด้วยมือและตากแห้งก่อนเข้าโรงสี จึงต้องนำไปอบลดความชื้นก่อน ตรงนี้เองที่มีโอกาสลดทอนความหอมลง
ความชื้นมีผลต่อกลิ่นหอม เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่มองว่าเพราะน้ำมากและฝนชุก กลิ่นหอมจึงหดหาย ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เสริมว่า การเสียแชมป์ในครั้งนี้ ก็เป็นเหมือนคำเตือนที่จะทำให้ไทยต้องหาทางปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ดียิ่งขึ้น

แต่… “เรื่องกลิ่นในการประกวดมันไม่ใช่แค่เรื่องกลิ่น” แก่นคำกล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง นักพัฒนาพันธุ์ข้าว กลุ่มชาวนาไทอีสาน มองผลการประกวดต่างออกไป
ข้าวผกาลำดวนเป็นข้าวที่เมื่อเย็นแล้วจะมีความกระด้างกว่าข้าวไทย จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะได้อันดับ 1 ถ้าคนเคยทานจะรู้และแปลกใจกับผลการประกวด เมื่อวิเคราะห์จากหลายๆ ด้านแล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอื่นนอกจากการเมืองที่เข้ามาแทรกแซง เพราะอเมริกาเสียฐานที่มั่นในกัมพูชาให้กับจีนไปพอสมควร จึงมองหาที่ทางการมีส่วนร่วมในประเทศแถบนี้บ้าง อีกอย่าง คนที่ให้คะแนนก็คือเชฟของอเมริกาเอง
อย่างไรก็ตาม ตุ๊หล่าง บอกว่าเรื่องของ ความหอม มีหลากหลายรูปแบบ ข้าวไทยหลายพันธุ์ไม่ได้หอมตอนปลูก กลิ่นไม่ได้อวลขึ้นมาตอนหุงมากมาย แต่ไปหอมกรุ่นตอนเคี้ยวแทน เพราะความหอมจะแทรกอยู่ในเนื้อแป้งของข้าว (Amylose) ยิ่งเนื้อแป้งอัดแน่น พอหุงแล้ว กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจะไม่ได้ออกมาทั้งหมด ต้องเคี้ยวข้าวเปล่าถึงจะสัมผัสได้ แต่ถ้าราดแกงก็จะเป็นกลิ่นแกงนั้น สิ่งเดียวที่จะยังคงเหลืออยู่คือความนุ่มของข้าว
ถ้าจะให้ยุติธรรมและชี้ขาด ค่าความหอมควรถูกชี้วัดด้วยเครื่องมือจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (E-Nose) ที่สามารถวัดค่าน้ำมันหอมระเหยของข้าวได้ ซึ่งจมูกมนุษย์ไม่สามารถทำได้แม่นยำและเป็นกลางมากพอ
เพราะอย่างนี้ ชาวนารวมถึงนักวิชาการหลายคนก็ไม่ได้วิตกกังวลกับข่าวการแพ้รางวัลครั้งนี้ ตุ๊หล่าง บอกว่า ความกังวลที่เกิดขึ้นอาจอยู่ในกลุ่มผู้ค้า เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อยอดขาย
“มันไม่ได้กระทบโดยตรงกับชาวนาแต่กระทบทางอ้อม เพราะยอดการส่งออกต่ำลง ชาวนาก็ขายข้าวได้ถูกลงเพราะโรงสีจะกดราคา เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแม้จะไม่แพ้การประกวดก็ตาม เขารู้ดีว่าข้าวไทยคุณภาพสูงอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้อาจอ้างข่าวมาชูโรงได้ว่า ฉันซื้อข้าวเธอถูกเพราะแพ้ข้าวกัมพูชา แต่เวลาส่งออกก็ขายได้ราคาเท่าเดิม”
พันธุ์ข้าวก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ น่าสนใจที่แม้ข้าวไทยจะมีหลากหลายสายพันธุ์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว แต่ในการประกวดแต่ละครั้ง กลับมีเพียงชื่อของข้าวหอมมะลิ 105 เท่านั้นที่ขึ้นเวที
“อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายส่งประกวดของไทยเองต้องแก้ไข แม้จะรู้อยู่ว่าเราแพ้ทางวาระซ่อนเร้น แต่ในทางปฏิบัติ คณะผู้ส่งเข้าประกวดควรมีการเตรียมตัว การบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ เพราะข้าวที่กรมการข้าวพัฒนาขึ้นมาและไม่ได้น้อยหน้าพันธุ์ 105 ก็มีอยู่
แต่ไปติดที่กรมวิชาการ กรมการข้าว และกระทรวงพาณิชย์ไม่ประสานงานร่วมกันให้ดีพอ กระทรวงพาณิชย์ก็ยังจะใช้แค่คำว่าดีเอ็นเอข้าวเป็นตัวประทับตราส่งออก แต่ข้าวมะลิของไทยไม่ได้มีสายพันธุ์เดียว 105 เป็นแค่หนึ่งในมะลิหลายสายพันธุ์
เมื่อหันไปมองทางเวียดนามที่ก้าวหน้าไม่หยุดหย่อน โดยไม่ได้ยึดติดการพัฒนาแค่ข้าวหอมพันธุ์เดียว แต่พันธุ์ใดก็ตามที่ผู้คนในประเทศพัฒนาขึ้นมาได้และดีจริง ก็จะชูโรงขึ้นมา
“มีแต่ของไทยที่ถ้าไม่ได้มาจากกรมวิชาการ กระทรวงเกษตร กรมการข้าว ก็ไม่ยอมรับ ผมว่าของไทยเราติดปัญหาที่หน่วยงานราชการมากกว่า” ตุ๊หล่างบอก “กระทั่งข้าวพันธุ์ 105 ที่ส่งประกวด ก็ไม่ชัดเจนว่านำมาจากจุดไหน ถ้าเขาจะมีพื้นที่เพื่อปลูกสำหรับประกวดโดยเฉพาะ ก็ต้องรู้ว่าปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดผลอย่างไรด้วย”
เขาเสริมว่า ความนุ่มและหอมของข้าวล้วนมีผลมาจากปัจจัยหลายด้าน ตั้งแต่พิกัดทางภูมิศาสตร์ แร่ธาตุในดิน ความสูงจากระดับน้ำทะเล รวมถึงความใหม่และเก่าของข้าวด้วย เช่น หากส่งข้าวไปประกวดเดือนตุลาคมก็ควรรู้ว่าไม่มีข้าวหอมมะลิใหม่ในช่วงนั้น
ข้าวในโกดังที่เตรียมส่งประกวดควรควบคุมการจัดเก็บเพื่อกักเก็บความชื้นให้ได้ โดยถ้าเก็บข้าวในโกดังที่อุณหภูมิประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส ข้าวจะคงความหอมได้อย่างน้อย 18 เดือน เป็นต้น
เขาควรรู้นะ ขนาดผมเป็นชาวนา ม.6 ผมยังเข้าใจเลย
- พันธุ์ข้าว 6 ทศวรรษ
60 ปี คือระยะเวลาที่ข้าวหอมมะลิไทยได้รับการพัฒนาและรับรองพันธุ์
20 ปี คือช่วงเวลาพัฒนาของข้าวหอมผกาลำดวน จากกัมพูชา
และ 2 ปี คือช่วงเวลาพัฒนาของข้าวพันธุ์ ST25 จากเวียดนาม หลังจาก ‘หยิบ’ เกณฑ์ข้าวหอมปี 2541 ของกรมการข้าวไทยเป็นคู่มือนำทาง
นอกจากเรื่องกลิ่นแล้ว พันธุ์ข้าวยังเป็นหัวข้อหลักที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาพูดด้วยว่ามัน เก่า เกินไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีการลักลอบนำพันธุ์ข้าวหอมพวงจากเวียดนามเข้ามาปลูกในไทยแบบถล่มทลายเป็นล้านไร่ด้วย
ไม่เพียงแต่หอมพวงเท่านั้นแต่ปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าพันธุ์ข้าวจากเวียดนามมาปลูกแล้วแทบทุกสายพันธุ์ สำหรับหอมพวงนั้นที่ได้รับความนิยมเพราะให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1.2 ตันต่อไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวก็สั้นกว่าเพียง 90 วัน เทียบกับพันธุ์ข้าวไทยที่ให้ผลผลิตเพียง 350-400 กิโลกรัมต่อไร่
“หากไทยไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวจะยิ่งแข่งขันไม่ได้”
พันธุ์ข้าวใหม่ๆ คือสิ่งที่หลายคนกังวล เพราะในขณะที่คู่แข่งหลายประเทศกำลังพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ มาแข่งขันท่ามกลางสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนไป ขณะที่ไทยยังปลูกข้าวสายพันธุ์เดิมๆ
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้พูดถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยที่ล่าช้าเกินไป
“หากต้องการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศก็ต้องใช้เวลาเป็นปี พอเอาออกมาใช้ได้ เมล็ดพันธุ์นั้นก็หมดอายุไปแล้ว แม้คุณภาพจะยังดีแต่ก็ได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำจนน่าเป็นห่วง เพียงไร่ละ 353 กิโลกรัมเท่านั้น หนึ่งในสาเหตุคือการใช้ซ้ำของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาเก็บไว้”

แม้คุณภาพดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวได้ผลผลิตดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่และสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน ต้นเดือนธันวาคม 2565 โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ก็ส่งตรงมาจากกรมการข้าว โดยเน้นส่งเสริมให้ชาวนาเข้าถึงและใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวทั่วประเทศ
“เป็นการยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และมีแผนการดำเนินงานโครงการนี้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี โดยหวังว่าจะช่วยเกษตรกรได้จริง” อธิบดีกรมการข้าวบอกอย่างนั้น
อีกด้านหนึ่ง ตุ๊หล่าง บอกว่าแม้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวจะเป็นเรื่องสำคัญแน่นอน แต่หากมองในแง่ปริมาณผลผลิตแล้ว มีข้าวพื้นนุ่มไทยที่ให้ผลผลิตสูงอีกหลายพันธุ์ เพียงแต่ไม่มีการส่งเสริม

ข้าวหอมพวงจากเวียดนามเป็นข้าวพื้นนุ่ม ให้ผลผลิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับข้าวพื้นนุ่มหลายชนิดในไทย แต่หากเทียบกับข้าวพื้นแข็งของไทยแล้ว ข้าวที่กรมการข้าวพัฒนาขึ้นหลายชนิดยังให้ผลผลิตสูงกว่า แต่ที่ชาวนาหันมาปลูกข้าวหอมพวงเพราะข้าวพื้นนุ่มมีราคาสูงกว่าข้าวพื้นแข็ง และชาวนาเหล่านั้นไม่รู้ว่า ยังมีข้าวพื้นนุ่มไทยที่ให้ผลผลิตสูงเหมือนกันอยู่ ล้านไร่ที่ปลูกกันฟังดูเหมือนเยอะ แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 50 ล้านไร่ทั่วประเทศไทย ก็นับว่าน้อยมาก
“ข้าวเวียดนามปลูกได้ปีละ 3 รอบ ผลผลิตรวมรายปีต่อไร่ย่อมมากกว่าข้าวไทยหลายชนิดอยู่แล้ว แต่พื้นที่ที่ปลูกได้แบบนั้นในไทยมีไม่มาก ถ้าอยากให้ได้ปริมาณเยอะขึ้นก็คงต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าอยากให้ได้คุณภาพมากขึ้นมันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องเลือกเอาว่าเราจะขายปริมาณหรือคุณภาพกันแน่”

- ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช ความหวังของชาวนาไทย (?)
ถอยหลังไปอีกนิดในปี 2562 มีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชที่ตั้งเป้าหมายการมีนโยบายเกี่ยวกับข้าวและสถาบันที่ส่งเสริมตลอดกระบวนการผลิตและจำหน่าย มีธงในการแก้ปัญหาอาชีพชาวนาที่เสี่ยงขาดทุนสูงอยู่เสมอ
ถึงแม้จะเจตนาดี แต่ด้วยเนื้อหาหลายส่วนในร่างกฎหมายนั้นทำให้ทั้งภาควิชาการและประชาสังคมออกมาตั้งคำถามถึงการให้อำนาจกรมการข้าวในการควบคุมและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากใน 2 มาตรานี้ คือ
- มาตรา 27/1 วรรค 3 เรื่อง การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว
‘จำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวรับรองเท่านั้น แม้จะมีข้อยกเว้นให้ชาวนาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่รับรองแก่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าว แต่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวไม่สามารถนำไปขายต่อได้’
- มาตรา 33/2 เรื่องการปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ
‘การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง จะถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท’
ความเห็นของหลายภาคส่วนมองว่า จุดมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้ไม่ควรเป็นการกำกับควบคุมเพราะล้าสมัยแล้ว ไม่เช่นนั้นแทนที่กฎหมายจะสร้างประโยชน์ กลับจะเข้ามาปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ แทน แถมสูญงบประมาณในการตรวจสอบมหาศาลด้วย

“รัฐควรมีกฎหมายเท่าที่จำเป็น” รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่วิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้
อย่างไรก็ตาม หลังปรับแก้ร่างใหม่และบรรจุเข้าวาระการประชุมที่ 2 และ 3 ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติก็ถอนร่างออกจากการพิจารณาอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่ายที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการคุ้มครองเกษตรกรและการพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วย
ก่อนหน้านี้ ตุ๊หล่าง บอกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นฉบับเดิม ไม่ได้มีมาตราใดกีดกันการพัฒนาพันธุ์ข้าวของเกษตรกร แต่ไร้มาตราที่ส่งเสริม โดยงบประมาณการพัฒนาจะส่งตรงไปที่กรมการข้าวเท่านั้น
ถ้าจะทำงานเชิงรุก ก็ควรมีส่วนของงบประมาณที่ลงไปถึงบุคคลหรือภาคเอกชนที่ไม่ใช่บริษัท เช่น อย่างในเวียดนามหรือจีน ที่หากเกษตรกรพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาได้ หน่วยงานรัฐจะเข้าไปตรวจสอบและหากดีจริงก็จะส่งเสริมให้อยู่ในฐานข้อมูล ทำให้คนทั่วไปรู้จัก สุดท้ายก็เป็นทางรอดให้ทั้งคนปลูกข้าว แปรรูปข้าว และขายข้าวด้วย แต่ไทยไม่มีส่วนนี้
ขณะที่ฉบับร่างปี 2562 เขามองว่ามีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้มีการนำพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO) เข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยได้ โดยปราศจากกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรในกรณีที่พืช GMO เหล่านั้นกระจายไปสู่แปลงของเกษตรกรแล้ว ซ้ำร้าย ผู้รับผิดชอบที่ถูกระบุไว้กลับกลายเป็นเกษตรกรแทนที่จะเป็นผู้ที่นำพันธุ์พืช GMO นั้นมาปลูก
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของคำนิยาม โดยเฉพาะคำว่า ‘นักปรับปรุงพันธุ์พืช’ ที่ร่างฉบับใหม่ระบุว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของทุนคือนักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งผมแย้งไปอย่างหนักเลยว่าเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีกันมาก
ตุ๊หล่างบอก
“เจ้าของทุนก็คือนายทุน คือผู้มีสิทธิ์ในพันธุ์พืช หากไร้ความสามารถในการปรับปรุงพันธุ์ก็ไม่ควรเรียกตัวเองอย่างนั้น”
“ประเด็นหลักคือประท้วงให้กลับไปใช้ฉบับเดิมของปี 2540 แต่จริงๆ ผมว่าก็ไม่เกี่ยวกับตัวกฎหมายหรอก มันเกี่ยวกับการมีจินตนาการ ความเอาใจใส่ ความรักความชอบของคนทั้งนั้น ต่อให้กฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามพัฒนา แต่ถ้าคนมันอยากทำ ยังไงก็จะทำอยู่ดี”
แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้เห็นหน้าตาของกฎหมายฉบับนี้อีกเมื่อไหร่
- นวัตกรรมของคนปลูกข้าว
นอกจากการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการประกวดและดึงส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกข้าวกลับมาแล้ว อีกด้านหนึ่งก็สะกิดให้มองเห็นกลไกสำคัญที่สุดของกระบวนการด้วย
นั่นคือชาวนา – หนึ่งในอาชีพที่หนีการเป็นหนี้ได้ยากเหลือเกิน
“จริงอยู่ว่าการชนะทุกปีหรือข้าวไทยถูกพูดถึงในการแข่งขันจะสร้างภาพลักษณ์ให้ข้าวไทย แต่ความกังวลของเกษตรกรไม่ได้อยู่ที่การประกวดหรอก” ผศ.ดร.พรชัย หาระโคตร นักวิชาการสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอก
เกษตรกรไทยต้องการพันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตสูง แข็งแรงทนทาน และเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ซึ่งถ้าไทยจะพัฒนาข้าวก็จำเป็นที่ต้องทำเป็นระบบ ทั้งเรื่องของการวิจัย การตลาด รวมถึงช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร เพื่อทำให้เขาอยู่ได้
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากมายที่มาช่วยแก้ปัญหาในการทำนาแบบตรงจุด เพื่อให้ชาวนาในหลายๆ ประเทศทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น

1. แอปพลิเคชันวัดระดับน้ำเค็ม
การรุกล้ำของน้ำเค็มถือเป็นภัยคุกคามหลักของชาวนาในเวียดนาม กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม และรัฐบาลเวียดนามจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือสำหรับจับตามองข้อมูลความเค็มของน้ำและช่วยให้ชาวนารักษาผลผลิตข้าวของตนเองไว้ได้
2. Crop Manager
สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ได้พัฒนาโปรแกรม Crop Manager เพื่อส่งข้อมูลไปยังเกษตรกรอย่างรวดเร็วและรัดกุมผ่านการพิมพ์ข้อความ เช่น ข้อมูลการจัดการธาตุอาหารและการเลือกใช้ปุ๋ย
3. Easy Rice
AI เอไอสัญชาติไทยที่ใช้ตรวจสารอาหารและพันธุ์ข้าวด้วยกล้องไฮเปอร์สเปกตรัม (Hyperspectral Imaging: HSI) เพื่อแยกประเภทของอัตลักษณ์เมล็ดข้าวสารได้ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และแยกแยะสายพันธุ์ข้าวเปลือกที่ต้องการออกจากสายพันธุ์อื่นๆ ช่วยให้คัดเลือกข้าวได้ดีกว่าการมองด้วยตา รวมถึงช่วยวางแผนการปลูกข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
4. ListenField
ใช้ Predictive Farming Platform ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำข้อมูลมาทดแทนการคาดเดา เพื่ออุดช่องว่างที่เกษตรกรไทยมีข้อมูลไม่มากพอ เพราะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบ ในการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สำหรับพัฒนาให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ผ่านบริการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย การติดตั้งเซนเซอร์ในพื้นที่การเกษตร ไปจนถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม FarmAI ที่ช่วยบันทึกความเคลื่อนไหวบนแปลงนาของตัวเองได้
ข่าวดีคือนวัตกรรมเพื่อการทำการเกษตรไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีอีกมากที่ทยอยออกมาเพื่อทำให้ผลผลิตข้าวออกมาดีขึ้นและสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
การพัฒนาข้าวไทยจึงไม่ใช่เพียงพุ่งเป้าที่การคว้าอันดับ 1 บนเวทีประกวดหรือตัวเลขส่งออกเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่ต้องหยิบมาวางบนโต๊ะด้วย ทั้งพันธุ์ข้าว กฎหมาย และชีวิตชาวนา

แหล่งที่มา