เมื่อพิจารณาจากหนึ่งในข้อเสนอทั้ง 5 ด้าน* ของ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

คำถามที่ตามมาก็คือทำไมข้อเสนอด้านที่ 3 ที่ระบุไว้ว่า ‘ประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยการทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจจากราชการส่วนกลางให้ไปถึงมือประชาชนระดับจังหวัด กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เนื่องจากสามารถเข้าใจสภาพปัญหาและพัฒนาท้องที่ได้ตรงตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้และไม่ต้องขึ้นต่ออำนาจตัดสินใจของส่วนกลาง’
ถึงไม่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล คสช.ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเช่นกัน

ทำไมการคืนสิทธิ์ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีอำนาจในการควบคุมตนเองและสามารถเลือกผู้นำตามแต่บริบทของพื้นที่นั้นๆ ได้จึงไม่เกิดขึ้น ถ้าข้อเสนอด้านที่ 3 ของกปปส.นั้นดีและสมควรเกิดขึ้นแล้ว (หากไม่ดีคงไม่ถูกนำมาพิจารณาให้เป็นข้อเสนอตั้งแต่แรกเริ่ม) เพราะอะไรและทำไมเมื่อบริบทเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน ข้อเสนอที่ระบุว่า ‘กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เนื่องจากสามารถเข้าใจสภาพปัญหาและพัฒนาท้องที่ได้ตรงตามความต้องการของประชาชน’ ถึงกลายเป็นข้อเสนอที่สุ่มเสี่ยงและเข้าข่ายต่อการแบ่งแยกดินแดนไปได้อย่างไร?
ทำไม?
งานเขียนนี้พยายามจะสำรวจลักษณะที่เปลี่ยนไปโดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การคลี่ขยายความหมายของวาทกรรมต่างๆ เพื่อตั้งคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้วเราเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหน ทำไมคำหนึ่ง ประโยคหนึ่งในกาลเวลาหนึ่งจึงกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ แต่ทำไมคำเดียวกัน ประโยคเดียวกันในอีกกาลเวลากลับถูกเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนไปเสียได้ แน่นอนว่าขอบข่ายของงานเขียนนี้รวมไปถึงข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเพิ่งถูกปัดตกไปจากรัฐสภาอีกด้วย

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความหมายของการ reform
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข้อถกเถียงเล็กๆ ในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง 2 พรรคที่ประกาศตัวว่าเป็นพรรคข้างฝ่ายประชาธิปไตยภายใต้ประเด็นว่าด้วยการนิยามความหมายของคำว่า ‘ปฏิวัติ’ ‘รัฐประหาร’ และการ ‘ปฏิรูป’ ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ประเด็นที่น่าสนใจในข้อถกเถียงนั้นก็คือคำถามที่ผุดขึ้นว่าเอาเข้าจริงแล้วเราเข้าใจความหมายของการรัฐประหารไม่ได้เท่ากับการปฏิวัติและ/หรือการปฏิรูปจริงๆ ใช่ไหม?
มองย้อนกลับไปในอดีต บนแผ่นดินสุวรรณภูมิที่ก่อเกิดรัฐต่างๆ ตั้งแต่ทวารวดี ล้านนา ล้านช้าง ขอม มอญเชียงใหม่ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ เกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์ การโค่นล้ม และการยึดนครรัฐต่างๆ เข้ามาเป็น ‘ข้าขอบขัณฑสีมา’ ในฐานะเมืองขึ้น การเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองจากมือของคนกลุ่มหนึ่งไปสู่มือของคนอีกกลุ่มยากที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่าอย่างไหนแน่คือการปฏิวัติ และอย่างไหนไม่ใช่ เช่น การต่อสู้แย่งชิงราชสมบัติระหว่างราชวงศ์สุพรรณภูมิกับราชวงศ์อู่ทองในสมัยอยุธยา
ในแง่หนึ่งถือเทียบได้ว่าเป็นการปฏิวัติเพราะเป็นการสังหารกษัตริย์องค์เดิมลงแล้วตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ ราชวงศ์ใหม่ขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทน แต่ในอีกแง่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนมือของคณาธิปไตยแทน เพราะการปกครองในระบอบเดิมยังอยู่
ดังนั้น ในแง่นี้การแย่งชิงราชสมบัติจึงเทียบเคียงได้แค่เพียงการรัฐประหารในความหมายปัจจุบัน ส่วนเนื้อหาด้านในนั้นคงต้องไปพิจารณาในรายละเอียด แต่ประเด็นคือแล้วความหมายของรัฐรัฐหนึ่งผูกโยงขึ้นด้วยเขตแดนแผนที่หรือสถาบันสูงสุดของแต่ละรัฐนั้นกันแน่? คำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามในบริบทไหน สำหรับประเทศไทยหรือสยามก่อนหน้าพ.ศ.2482** ประเทศเพิ่งจะถูกให้นิยาม ให้ความหมายภายใต้เสื้อคลุมของคำว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ในปีพ.ศ.2435 หรือ 47 ปีก่อนเท่านั้น
ขณะที่การปกครองก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นในสมัยไหนอาจนิยามได้ว่าเป็นรัฐเทวราชา หรือรัฐที่มีการปกครองภายใต้กษัตริย์กึ่งสมมติเทพ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ให้สัมภาษณ์ผ่าน way magazine เรียกการปกครองในลักษณะนี้ว่า ‘รัฐศักดินา’ ที่เจ้าเมือง เจ้าครองนคร และเจ้าประเทศราชต่างๆ จะถืออำนาจตามศักดินาที่ดินที่ตนถือครอง
โดยกุลลดาอธิบายว่าแต่แรกเริ่มนั้นสยามไม่เคยคุมทรัพยากรของประเทศราชต่างๆ อย่างเบ็ดเสร็จ ประเทศราชต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้สิทธิ์ในการคุมทรัพยากรของตนเอง จนกระทั่งเกิดการปฏิรูปการปกครองประเทศจากระบบเดิมให้กลายเป็นอำนาจรวมศูนย์ยังรัฐส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานาคร อำนาจควบคุม จัดการทรัพยากรตนเองของประเทศราชต่าง ๆ เหล่านั้นจึงกลายมาเป็นของรัฐบาลสยาม***ผ่านการจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ซึ่งเคยเป็นของขุนนาง เจ้าเมือง เจ้าครองนครรัฐ
จนกระทั่งเมื่อการล่าอาณานิคมแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในสยามตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 และเริ่มเข้มข้นอย่างต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 5 สยามได้มองเห็นรัฐที่เคยยิ่งใหญ่ในความคิดของชนชั้นนำทั้งพม่า จีนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชนชั้นนำสยามจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อระเบียบโลกที่กำลังสาดซัดเข้ามาถึงด้วยสนธิสัญญาทางการค้าต่างๆ บีบเค้นเอาทรัพยากรเดิมที่เคยได้รับจากขุนนางตามหัวเมืองให้กลายเป็นของพวก ‘ฝรั่งขี้นก’

เมื่อรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์จึงเกิดการ ‘ปฏิรูป’ การปกครองขึ้นขนานใหญ่เพื่อลดทอนอำนาจของขุนนางศักดินาลง รัฐศักดินาจึงถูกทำลายลงเพื่อให้รัฐส่วนกลางสามารถควบคุมทรัพยากรที่กลายมาเป็นแหล่งทุน ความมั่งคั่งให้กับรัฐได้ง่ายกว่าในระบอบเดิม อีกทั้งยังส่งเสริมความทันสมัยต่างๆ ที่ชนชั้นสยามเคยดูถูกดูแคลนไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อให้สยามเป็นรัฐที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากตะวันตกในฐานะบ้านป่าเมืองเถื่อน
ดังนั้น ข้ออ้างของการปฏิรูปเพื่อนำประเทศไปสู่ความทันสมัยแม้จะจริงในแง่หนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความทันสมัยยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงในปริมณฑลบนเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีพื้นที่เพียงแค่ 4.1 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,563 ไร่ แต่เหตุและผลสำคัญ กุลลดา เกษบุญชู มี้ดกลับนิยามความหมายการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ว่าการ ‘ปฏิวัติ’ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วการพลิกนิยามความหมายที่เคยเข้าใจมาตลอดนี้ไปก่อให้เกิดความหมายใหม่ในมโนทัศน์ของชนชั้นนำสยามหลังการอภิวัฒน์ในปี พ.ศ.2475 มาจนจนถึงปัจจุบัน คือ
การจะเปลี่ยนแปลงการควบคุมทรัพยากรที่เคยเป็นของชนชั้นนำกลับไปเป็นของท้องถิ่นผ่านการปฏิรูปข้อกฎหมาย ผ่านการให้อำนาจประชาชนในพื้นที่ได้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งเอาล่ะ ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับนิยามความหมายของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด แต่ไม่ได้มีข้อเสนออะไรไปคัดง้าง เพราะแม้กุลลดาจะบอกว่าการปฏิรูปการปกครองด้วยการรวมศูนย์อำนาจเป็นการปฏิวัติมาสู่กษัตริย์ แต่รัฐสยามในช่วงก่อนและหลัง พ.ศ.2435 ยังคงปกครองภายใต้ราชวงศ์จักรีไม่ใช่หรือ?
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กจากในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการเอง หรือแม้กระทั่งในเว็บไซต์อย่าง reformvoice.com ที่ระบุข้อความไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ได้ทรงตระหนักถึงภยันอันตรายของจาก (การ-เติมโดยผู้เขียน) ล่าอาณานิคมของประเทศโลกตะวันตก และทรงเห็นว่าการปกครองในแบบเดิมของไทยนั้นมีความล้าสมัยไม่สอดคล้องกับความเจริญของบ้านเมือง จึงส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการปกครอง 2435
ผู้เขียนจึงไม่อาจมองว่าการปฏิรูปเปลี่ยนมือจากรัฐท้องถิ่นมาสู่รัฐส่วนกลางคือการปฏิวัติ เพราะนั่นจะเท่ากับเมื่อประชาชนต้องการให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจปกครองตนเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศของกลุ่ม The Voter ก็ดี ย่อมเข้าใจไม่ยากว่าทำไมทั้งวุฒิสมาชิก ทั้งกองเชียร์ฝ่ายรัฐที่ล้วนมีแนวคิดอนุรักษนิยมจึงพากันแปะป้ายให้ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อเสนอที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนบ้าง ล้มล้างการปกครองบ้าง
จริงอยู่ และผู้เขียนก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีหลักฐานใดๆ จะบอกได้ว่าชนชั้นนำไทยปัจจุบันใช้ข้อเสนอในเรื่องนิยามความหมายระหว่างปฏิรูปและปฏิวัติสมัยรัชกาลที่ 5 ของกุลลดา เกษบูญชู มี้ดเป็นแกนหลักในการปัดตกข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองท้องถิ่น แต่ผู้เขียนต้องการจะตั้งคำถามถึงขอบเขตความเป็นไปได้ระหว่างข้อเสนอในเรื่องนิยามความหมายที่อาจบังเอิญเข้ากันหรือสอดรับพอดีกับความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม รวมถึงชนชั้นนำต่างๆ ของประเทศในปัจจุบันที่ต้องการหวงแหนอำนาจไว้ภายใต้วาทกรรมอคติทั้งหลาย
จากข้อเสนอของ กปปส.สู่ข้อเสนอของพวกล้มเจ้า
อย่างที่เรารับรู้กัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำมาสู่ความขัดแย้งที่บังเอิญไปเข้าทางฝ่ายอำนาจนิยม จนนำไปสู่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557

และจะว่าบังเอิญอีกก็ได้เช่นกัน ที่หนึ่งในข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปของกปปส.มีข้อเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศรวมอยู่ด้วยในข้อเสนอทั้ง 5 ด้าน โดยที่หากเราหยิบเอาข้อความในข้อเสนอด้านที่ 3 นี้ขึ้นมาพิจารณา ‘ประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยการทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจจากราชการส่วนกลางให้ไปถึงมือประชาชนระดับจังหวัด กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เนื่องจากสามารถเข้าใจสภาพปัญหาและพัฒนาท้องที่ได้ตรงตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้และไม่ต้องขึ้นต่ออำนาจตัดสินใจของส่วนกลาง’ จะเห็นได้ว่าเนื้อสารนั้นแทบไม่ต่างกันกับข้อเสนอของ The Voter ที่เป็นผู้ดันเเคมเปญให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ซี่งระบุเนื้อหาสำคัญไว้ว่า
สาระหลักของร่างฯ
ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเอง ยุบรวม นายก อบจ. ให้กลายเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง
จังหวัดมี 2 ชั้น คือชั้นบน ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจากการเลือกตั้ง ชั้นล่าง เทศบาล อบต.ยังดำรงอยู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สังกัดส่วนท้องถิ่น และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายอำเภอกลับกรมการปกครอง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคลการเงินและการคลัง จัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณและมีหน้าที่และอำนาจเป็นของตนเอง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
ไม่ว่าจะเป็นประโยค ‘มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคลการเงินและการคลัง จัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณและมีหน้าที่และอำนาจเป็นของตนเอง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น’ ของ The Voter หรือ ‘รวมทั้งการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้และไม่ต้องขึ้นต่ออำนาจตัดสินใจของส่วนกลาง’ ของกปปส. หลักๆ ของข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่มล้วนไม่ได้มีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน ไม่ได้มีคำ หรือมีประโยคใดที่สะท้อนการแบ่งแย่งดินแดน หรือสะท้อนการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในปัจจุบัน
ผู้เขียนไม่ได้มีความชำนาญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นเพียงคนธรรมดาที่สนใจการทำงานของวาทกรรม ความหมายต่างๆ ที่มีผลต่อระบบความคิดของคนเรา ซึ่งการจะผลิตวาทกรรมต่างๆ ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นคำอย่าง ‘แบ่งแยกดินแดน’ ‘พวกล้มเจ้า’ ‘เพื่อในหลวง’ ‘ทหารของพระราชา’ ‘ส้มเน่า’ ‘ควายแดง’ ‘สลิ่ม’ ล้วนส่งผลต่อการมองสาระของประเด็นเนื้อหาต่าง ๆ ให้กลายเป็นอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐไทยถนัดมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยยังเป็นรัฐสยาม
ความหมายหนึ่งในประโยคหนึ่งในยุคสมัยหนึ่งเป็นการปฏิรูปเพื่อทันสมัย เป็นการปฏิรูปไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน การจะปฏิรูปอีกครั้งกลับกลายเป็นการปฏิวัติโดยที่ผู้กำหนดนิยามความหมายต่างๆ นั้นล้วนไม่เคยใช่ประชาชนที่หาได้มีความรู้มากมายอะไร (เหมือนกับผู้เขียน) มากไปกว่ารู้ว่าในพื้นที่ตนเองมีปัญหาอะไร และต้องการผู้นำแบบไหนมาแก้ปัญหา สาระสำคัญของงานเขียนนี้จึงไม่ได้มุ่งตรงไปยังผู้สนับสนุนเเคมเปญให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
แต่มุ่งตรงไปยังผู้ที่มีส่วนในการผลิตวาทกรรมการมอบคืนอำนาจของท้องถิ่นให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เสียเอง เพื่อให้คุณตั้งคำถามจากสาระสำคัญของทั้งจากข้อเสนอของกปปส.และจาก The Voter ว่าถ้าครั้งหนึ่งคุณเคยคิดว่าการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นการขจัดอำนาจจากรัฐส่วนกลาง (ที่คุณอาจจะไม่ชอบ เช่น พวกล้มเจ้า พวกเสื้อแดง พวกขี้โกง อะไรก็ตามแต่ที่คุณจะผลิตวาทกรรมความเป็นอื่นขึ้นมา) ทำไมคุณไม่คงสาระเหล่านี้ไว้เพื่อสร้างระบอบการปกครองที่ประชาชนในทุกๆ ภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบมันไปด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าฝ่ายกปปส.หรือ The Voter หรือคณะก้าวหน้าถึงจะมีความเป็นธรรม มีความโปร่งใสบริสุทธิ์มากกว่าในการมีส่วนร่วมให้อำนาจปกครองท้องถิ่นเป็นของท้องถิ่นนั้นๆ อย่างแท้จริง
ผู้เขียนในฐานประชาชนคนหนึ่งอยากให้คุณตั้งคำถาม เหมือนที่ครั้งหนึ่งคุณเคยถามกับระบอบเผด็จการ เหมือนที่ครั้งหนึ่งคุณเคยถามกับระบอบทักษิณ มาจนปัจจุบัน กับระบอบประยุทธ์ที่ไม่ได้มีแค่ประยุทธ์ ทำไมคุณไม่ถามคำถามอีกแล้ว
หวังว่าเราจะได้คำตอบที่ตรงกันในฐานะประชาชนเหมือนกัน…ในที่สุด
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม
…………..
*ข้อเสนอปฏิรูปประเทศ 5 ด้านให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี 6 เดือน ของกปปส.ประกอบไปด้วย
ด้านที่ 1 กระบวนการเลือกตั้ง ให้บริสุทธิ์ เสรีและเป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคุณภาพเข้าสู่สภา จึงต้องดำเนินการครอบคลุมทั้งกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายซึ่งกำหนดบทบาทหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้ง_(กกต.) ตลอดจนมีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำผิดร้ายแรง ขจัดนายทุนพรรคที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทำให้พรรคการเมืองของไทยเป็นพรรคการเมืองมวลชน
ด้านที่ 2 การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน โดยมีมาตรการตรวจสอบ กำกับ ควบคุม และลงโทษต่อผู้ทุจริตคอรัปชัน อันควรเริ่มต้นที่นักการเมือง โดยการแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนที่พบเห็นการทุจริตคอรัปชันสามารถเป็นโจทย์ยื่นฟ้องบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ได้โดยตรง กำหนดให้คดีที่เข้าข่ายทุจริตคอรัปชั่นไม่มีอายุความ เป็นต้น
ด้านที่ 3 ประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยการทำให้อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจจากราชการส่วนกลางให้ไปถึงมือประชาชนระดับจังหวัด กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เนื่องจากสามารถเข้าใจสภาพปัญหาและพัฒนาท้องที่ได้ตรงตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งการกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้และไม่ต้องขึ้นต่ออำนาจตัดสินใจของส่วนกลาง
ด้านที่ 4 ความเหลื่อมล้ำในสังคม ควรปฏิรูปให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ทำให้คนผู้ด้อยโอกาสมีที่เหยียบยืนในการทำงาน ที่อยู่อาศัย สาธารณสุข การศึกษา จนสามารถหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์และนโยบายประชานิยม
ด้านที่ 5 โครงสร้างตำรวจ ให้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รักษากฎหมาย ดูแลประชาชน ซึ่งจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการตำรวจประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่พิจารณาให้คุณให้โทษตามระบบคุณธรรมความสามารถ ในแง่นี้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ก็จะกลายเป็นตำรวจของประชาชนและได้รับการปกป้องจากประชาชน
** รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศให้สยามเปลี่ยนชื่อเป็น ไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482
*** กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุดเริ่มต้นและการล่วงเลย I Way Magazine
อ้างอิงข้อมูล
กปปส. : ผู้เรียบเรียง ฐิติกร สังข์แก้ว I ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร : สถาบันพระปกเกล้า
การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” : เจติยา โกมลเปลิน : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เล่าเรื่องการเมืองการปกครองไทย
กุลลดา เกษบุญชู มี้ด : สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุดเริ่มต้นและการล่วงเลย I Way Magazine :https://waymagazine.org/interview-kullada-kesboonchoo-mead-absolutism/
การปฏิรูปการเมืองการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ Ireformvoice.com