นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าปี 2023 นี้ จะเป็นปีแห่งโอกาสของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตย มีเหตุผลอยู่ 2-3 ประการที่ทำให้ข้อคิดเห็นนี้มีน้ำหนักน่ารับฟัง
ประการแรก จะมีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งหากไม่มีการยุบสภาก่อนหน้านั้นคาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ไม่เกินวันที่ 7 พ.ค. 2566 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 จะหมดวาระลงในวันที่ 24 มีนาคม 2566 ประการที่สอง กระแสเสื่อมถอยของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร คสช. จากการสำรวจความนิยมหรือโพลหลายสำนักในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 พบว่าคะแนนความนิยมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดลงไปอย่างมาก พ้องไปกับปรากฏการณ์ของการแตกขั้วไปสู่พรรคการเมืองต่างๆ ของฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล

ประการสุดท้าย ปมปัญหาทางเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างไรต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 อันนี้เป็นเรื่องที่ควรขบคิดกัน ปัจจัยหลายประการอาจเป็นตัวชี้ขาดสถานการณ์การเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น
รายงานชิ้นนี้ ชวนพิจารณาการเมืองในภาพกว้างที่มากไปกว่าผลแพ้หรือชัยชนะทางการเมือง หากแต่เป็นการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยว่า สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวแสดงทางการเมืองไหนส่งผลต่ออนาคตอันใกล้ของเรา
การเมืองของการเลือกตั้ง
แม้ว่าสังคมไทยจะคุ้นชินกับวิธีการขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยสถาบันรัฐสภาตั้งหลักมั่นคงนับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา จำนวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในฐานะที่เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่รัฐไทยอนุญาตให้เกิดขึ้นอย่างถูกกฎหมาย มีบางช่วงตอนเท่านั้นที่หยุดชะงัก เช่น การรัฐประหารและบทบาทของกองทัพในทางการเมืองไทยในปี 2535, 2549 และ 2557 ซึ่งครั้งหลังสุดนับเป็นครองอำนาจยาวนานที่สุดของระบอบเผด็จการทหารในรอบ 40 ปี
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การลงหลักปักฐานของสถาบันรัฐสภาในการเมืองไทย ตัวแปรที่กำหนดภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย ต่างชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยมิอาจย้อนกลับไปยังระบอบเผด็จการทหารที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1950-1970 ข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศยังสะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองและเครือข่ายผลประโยชน์เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทขึ้นมา[1] และหากกล่าวเฉพาะทศวรรษ 2540 สืบมาถึงปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับมีเหตุผลจำเพาะของผู้มีอำนาจมากกว่าจะสร้างระบบที่สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
ในงานวิจัยเรื่อง ระบบเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตย[2] โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งเป็นงานศึกษาระบบการเลือกตั้งไทย โดยเปรียบเทียบตั้งแต่ยุคหลังปฏิรูปการเมือง 2540 จนถึงระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งถึง 4 ครั้ง ได้แก่
ระบบเลือกตั้งปี 2540 อันเป็นผลจากขบวนการปฏิรูปการเมือง ระบบเลือกตั้งปี 2550 ที่เกิดหลังการรัฐประหาร 2549 ระบบเลือกตั้งปี 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมาจากการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ปี 2560 ที่มาจากการร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 2557

ประจักษ์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งบ่อยครั้งเช่นนี้ถือว่าผิดแผกแตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่กติกาเลือกตั้งค่อนข้างเสถียร และมิได้ถูกแก้ไขบ่อยครั้งนัก ซึ่งสะท้อนการขาดฉันทมติ ในสังคมไทยว่าด้วยเรื่องกติกาพื้นฐานในการขึ้นสู่อำนาจ[3] แต่ละระบบเลือกตั้งยังไม่ได้ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ผลที่ตามมาคือความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตย
งานวิจัยข้างต้นใช้เกณฑ์ 5 ประการเพื่อเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งระหว่างปี 2540-2560 คือ 1. ความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง หรือความยุติธรรมของคะแนน 2. ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของรัฐบาล 3. ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง 4. การให้ความสำคัญกับพรรคขนาดเล็ก และ 5. ความง่ายต่อความเข้าใจของผู้ลงคะแนน ซึ่งพบว่าแต่ละฉบับมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกันไป เช่น ระบบเลือกตั้งปี 2540 มีจุดเด่นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลและพรรคการเมืองใหญ่ แต่มีจุดอ่อนในเรื่องความเป็นสัดส่วนและการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก
ในขณะที่ระบบเลือกตั้งปี 2560 มีจุดเด่นในการสร้างความเป็นสัดส่วนแต่มีจุดอ่อนในการสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลและความเสถียรมั่นคงของระบบพรรคการเมือง งานชิ้นนี้เสนอตัวแบบของระบบเลือกตั้งผสมแบบสัดส่วน ซึ่งสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ตามมาตรฐานสากล และช่วยแก้ไขปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลและพรรคการเมือง เปิดโอกาสแก่ทุกเสียงอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 กลับเป็นการย้อนไปแก้ไขในประเด็นปลีกย่อยมากกว่าจะเป็นหลักการสำคัญที่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอ โดยเป็นที่แน่ชัดว่าในการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 รัฐสภามีมติเห็นชอบ “มาตรา 23” ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันมีสาระสำคัญ คือ เรื่อง “วิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.” ซึ่งเป็นมาตราสำคัญและจะส่งผลต่อที่นั่ง ส.ส. ในสภา
ต่อมา 21 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) ซึ่งส่งผลให้มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปสู่รูปแบบใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ โดยใบที่หนึ่งลงคะแนนให้ ส.ส.เขตจำนวน 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งจะถูกคำนวนออกมาให้ได้ 100 คน คล้ายกับระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทว่าในแง่รายละเอียดมีความแตกต่างกันสูง อาทิ หมายเลขผู้สมัครของสองระบบไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ข้อกำหนดต่อระเบียบพรรคการเมืองที่ยังเปิดช่องให้มีการย้ายพรรคหรือลงมติสวนกับมติพรรค เป็นต้น เหล่านี้จึงมิอาจฟันธงได้ว่าการเมืองไทยจะกลับไปสู่ระบบสองพรรคใหญ่ในทันที เนื่องจากภูมิทัศน์ทางการเมือง ตัวแสดงทางการเมือง และปัจจัยในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมาก
ฉะนั้น การประเมินว่าแนวโน้มเช่นนี้นำไปสู่การคาดการณ์ว่าการเมืองไทย จะเดินหน้าไปสู่ระบบพรรคการเมืองใหญ่จึงจำเป็นต้องทบทวน หนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงการอย่างกว้างขวางคือ การเมืองบ้านใหญ่ จะกลับมากำหนดทิศทางทางการเมืองหรือไม่
การเมืองบ้านใหญ่จะกลับมา ?
การเมืองบ้านใหญ่ หรือเรียกกันในวงวิชาการทางรัฐศาสตร์คือ ตระกูลการเมือง (Political Dynasty) เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจในแต่ละพื้นที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และสืบทอดอำนาจ เครือข่าย ผลประโยชน์ และอิทธิพลผ่านทางสายเลือดตระกูลหรือว่านเครือผลประโยชน์

จังหวัดที่มีความโดดเด่นในรูปแบบการเมืองเช่นนี้ อาทิ ชลบุรี กำแพงเพชร บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี เพชรบุรี สระแก้ว สุโขทัย เป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมที่ประชาธิปไตยหยั่งรากสู่ระบบรัฐสภา ในกรณีของไทย สถาบันรัฐสภาเพิ่งเติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 1990 เหล่าผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตระกูลทางการเมืองประสบความสำเร็จขึ้นสูงสุดในปลายทศวรรษที่ 1990 ก่อนที่ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การลดอำนาจผู้แทนกลุ่มนี้ ผ่านการปฏิรูปการเมืองในปี 1997 ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่วุ่นวาย และการเติบโตขึ้นมาของการเมืองมวลชนหลังการรัฐประหารในปี 2006 ภารกิจของการรัฐประหารได้ลดอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าลงไป[4] มีการคาดการณ์ถึงการกลับมาของตระกูลการเมือง ซึ่งจากบทความเรื่อง Faction Politics in an Interrupted Democracy: the Case of Thailand (2020)[5] เขียนโดย พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) และ นภิสา ไวฑูรเกียรติ พบว่า หลายตระกูลการเมืองเข้าไปส่วนหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
ในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เราจะเห็นได้ว่า นอกจากกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล จะไปปรากฏอยู่ในส่วนต่างๆ ของโครงสร้างทางการเมืองสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ข้าราชการตำแหน่งสำคัญในกลไกรัฐ ฯลฯ
รัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้กร่อนอำนาจพรรคการเมืองไม่ให้มีฐานะในเชิงสถาบัน ส่งผลให้ภาพการต่อรองอำนาจผ่านกลุ่มก๊กการเมืองเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อ คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง

จนถึงปัจจุบัน เราคงได้เห็นแล้วว่ากลุ่มก๊กทางการเมืองเหล่านี้ได้แตกแยกออกไปตั้งพรรคการเมืองอื่น ๆ ไปจนถึงการย้ายข้ามพรรคการเมืองเดิม สภาพการณ์ที่เห็นกันนี้เป็นลักษณะปกติในช่วงเวลาที่การเมืองไทยยังขาดเสถียรภาพ ซึ่งไม่สามารถวิเคราะห์โดยใช้กรอบแบบทศวรรษ 1980 ที่กลุ่มก๊กทางการเมืองหรือการเมืองบ้านใหญ่มีบทบาทสูงทั้งหมด หรือใช้คำอธิบายว่าระบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ จะลดบทบาทพวกเขาลง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2540
มีปัจจัยที่กำหนดสภาวะการเมืองมากกว่าแค่ 2-3 ตัวแปร งานวิชาการที่สดใหม่กว่านั้นมาจากนักวิชาการ 3 คน คือ Paul Chambers, Srisompob Jitpiromsri และ Katsuyuki Takahashi ในเรื่อง The persevering power of provincial dynasties in Thai electoral politics[6] ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่าภาพปรากฏการณ์การเติบโตของตระกูลการเมืองในสังคมไทย ราวกับว่าพวกเขากลับมาเติบโตในฐานะที่ชนชั้นนำเล็งเห็นผลประโยชน์จากพวกเขา แต่จากการศึกษาของนักวิชาการทั้งสาม ซึ่งมาจากพื้นที่ตัวอย่าง 4 จังหวัด พบว่า มีความแตกต่างในระดับพื้นที่ บางพื้นที่ครอบครัวเดียวประสบความสำเร็จ

ขณะที่บางพื้นที่ไม่สามารถเอาชนะทั้งจังหวัดได้ นอกจากนี้ปัจจัยความสำเร็จหรือล้มเหลวของตระกูลการเมืองและยังขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล ซึ่งเป็นความสามารถในการเข้าถึงงบประมาณเพื่อนำมาพัฒนาระดับจังหวัด สร้างกลไกทางการเมืองในพื้นที่ และหลีกเลี่ยงความบาดหมางกับชนชั้นนำระดับชาติ นี่จึงสะท้อนให้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ของการเมืองบ้านใหญ่ว่าเหตุใดพวกเขาจึงกลับมามีบทบาทอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง
ข้อคิดที่ได้จากงานวิชาการข้างต้นเราจะพบว่า การพิจารณานักการเมืองไทยมิสามารถแยกออกไปได้จากตัวแสดงทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองอื่นได้ แน่นอนว่าคนเหล่านี้ในบางพื้นที่กลับมามีบทบาทอย่างสำคัญ และบางพื้นที่อ่อนแรงลง
กองทัพและสถาบันกษัตริย์
นับตั้งแต่ 2563 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีช่วงใดในประวัติศาสตร์ที่มีการอภิปรายถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์กับการเมืองอย่างกว้างขวาง อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนในการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนนำมาสู่การจับกุม ปราบปราม ประชาชนจำนวนนับพันคน ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจการเมืองไทย

ในปีที่ผ่านมา งานวิจัยเรื่อง A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นับเป็นงานที่ช่วยเติมภาพที่ขาดหายไปจากแนวคิดในการทำความเข้าใจการเมืองไทยด้วยกรอบเดิมไม่ว่าจะเป็น แนวคิดเครือข่ายสถาบัน (network monarchy) หรือ แนวคิดเรื่องรัฐพันลึก (deep state) ความสำคัญของงานชิ้นนี้มิใช่การเสนอกรอบคิดใหม่ มากเท่ากับการเรียบเรียงข้อมูลของความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพไทยที่เกิดขึ้นในรัชสมัยปัจจุบัน
คำถามที่แสนน่าเบื่อในการเมืองไทยว่า “จะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่” เป็นเรื่องเมคเซนส์เสมอ อย่างน้อยประสบการณ์การมีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ ตลอด 90 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ย่อมทำให้สังคมไทยต้องครุ่นคิดเรื่องนี้ให้หนัก งานชิ้นนี้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์อย่างมากในช่วงเวลา 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ขณะที่การโยกย้ายกำลังพลที่แต่เดิมมักจะเรียกกันว่ามีสองขั้วอำนาจในกองทัพคือ กลุ่มทหาร วงศ์เทวัญ และ บูรพาพยัคฆ์ ได้ถูกควบรวมเข้าไปสายเดียวกันในนาม ทหารคอแดง ซึ่งแนวโน้มการโยกย้ายเช่นนี้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปี 2018 เป็นต้นมา[7]
นอกจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์ สัดส่วนงบประมาณที่สูงขึ้นของกองทัพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันฯ ทำให้กองทัพยังเป็นตัวแปรสำคัญในการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม องค์กรภายใต้สถาบันกษัตริย์บางส่วน เช่น องคมนตรี ซึ่งแต่เดิมเคยมีบทบาทสูงเด่นในรัชสมัยก่อนหน้า ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนบทบาทไปทำงานด้านสังคม เช่น การติดตามโครงการพระราชดำริ การมอบประกาศนียบัตรและปริญญาบัตร เป็นต้น ข้อเสนอของงานชิ้นนี้จึงเป็นการตั้งประเด็นว่าอาจจะใช้กรอบการมองความสัมพันธ์นี้แบบเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ได้ โดยพิจารณาไปที่โครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้น
ประเด็นของสุภลักษ์สอดคล้องกับ การวิเคราะห์ของ โยชิฟูมิ ทามาดะ ทามาดะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนองคมนตรีในรัชสมัยปัจจุบันที่มีทหารกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้น กว่าครึ่งหนึ่งของข้าราชการทหารเป็นนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพของกองทัพบกและกองทัพอากาศ และ 3 ใน 7 คน ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูงในกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ อาจเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปเพื่อค้ำจุนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือกองพลทหารราบที่ 2 ซึ่งมีอำนาจอย่างสูงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน[8] สิ่งที่น่าสนใจคือปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะที่รัฐราชการรวมศูนย์ด้อยเอกภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างการเมืองอื่น ตัวแสดงอื่นเช่น ทุน จะมีบทบาทอย่างไร
ทุนนิยมช่วงชั้นกับชนชั้นเสี่ยง
อีกหนึ่งปัจจัยที่หลีกเลี่ยงในการพิจารณาไม่ได้คือมิติทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันมีคำถามว่าโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของไทย มีลักษณะอย่างไร ต่อเรื่องนี้ แนวคิดทุนนิยมแบบช่วงชั้น (Hierarchical Capitalism)[9] ช่วยเสริมกรอบการอธิบายสภาวะรัฐราชการรวมศูนย์ด้อยเอกภาพ ได้เป็นอย่างดี หากเรามองเห็นความสัมพันธ์ของตัวแสดง เช่น กองทัพ สถาบันกษัตริย์ นักการเมือง จากงานชิ้นที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปแล้ว
แนวคิดนี้ก็ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลภายใต้เวลากว่า 9 ปีหลังการยึดอำนาจ ลักษณะที่ใกล้จะเป็นมากที่สุดคือ ทุนนิยมแบบช่วงชั้น ซึ่งหมายถึงลักษณะที่ระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ด้านหนึ่งถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อีกด้านคือ ทุนท้องถิ่นครอบงำ โดยบทบาทของทุนท้องถิ่นขนาดเล็กจะไม่มีอำนาจต่อรอง การจ้างงานมักทำผ่านสัญญาระยะสั้นและแรงงานมักไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ คนเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่า ชนชั้นเสี่ยง (The Precariat Class) เรามักจะนึกถึงใบหน้าคนที่ทำงานรับจ้างระยะสั้นมีความเสี่ยงสูง เช่น ไรเดอร์ส่งสินค้า พนักงานรับจ้างรายวัน บัณฑิตจบใหม่ที่รับงานเป็นรายชิ้น เป็นต้น
ในด้านหนึ่งการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจการเมืองผ่านทุนนิยมช่วงชั้นจึงช่วยให้เห็นอีกด้านของเหรียญที่เกิดขึ้นตามมาคือชนชั้นเสี่ยง น่าวิเคราะห์ต่อว่า นี่คือกลุ่มคนใหม่ในสังคมหรือไม่ มีพลังมากน้อยเพียงใด ชนชั้นเสี่ยงจะถือเป็นแนวหน้าของการเคลื่อนไหวหรือไม่ เราอาจจะพอลองตอบเรื่องนี้ได้บ้าง จากคำถามพื้นฐานที่สุดคือ ชนชั้นใดคือชนชั้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม
ก่อนการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปี 2020 เพียง 2 ปี ธนาคารโลกออกมาชี้ว่าคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไปส่วนใหญ่มีแนวโน้มเชื่อในประชาธิปไตยมากกว่าคนจบประถม แต่ในกรณีของไทยมีแนวโน้มสวนทาง
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในงานเรื่อง Capitalist Development and Democracy (1992) เขียนโดย John D. Stephens, Dietrich Rueschemeyer, และ Evelyne Huber Stephens ทั้งสามคนลงพื้นที่ทำวิจัยในหลายประเทศ เพื่อตอบคำถามเดียวว่า ใครเป็นผู้สร้างหรือสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย?
ข้อสรุปของงานชิ้นนี้คือ คนชั้นล่างหรือชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคมเป็นผู้ผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวไปข้างหน้า ขณะที่กลุ่มคนที่ได้เปรียบในสังคมหรือคนชั้นสูง รวมถึงคนชั้นกลางระดับสูง คือคนที่ถ่วงรั้งและดึงประชาธิปไตยให้ถอยกลับหลัง เนื่องมาจากความเสียเปรียบของกลุ่มคนชั้นล่างจะลดลงเมื่อสังคมนั้นๆ เป็นประชาธิปไตย คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิทางการเมืองผ่านกระบวนการของประชาธิปไตย โดยเริ่มจากการต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้ง
อีกปัจจัยที่ทำให้คนชั้นล่างสนับสนุนประชาธิปไตยคือ การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมในประเทศด้อยพัฒนา หากพิจารณาเศรษฐกิจการเมืองภายใต้รัฐบาล คสช. อันมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก คนเพียงหยิบมือหนึ่งที่รวยขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ก็มีคนจนเพิ่มขึ้นไปทุกหย่อมหญ้า
สภาวะแบบนี้คนชั้นกลางระดับสูงซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่ได้เปรียบอยู่แล้ว จะยินยอมให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นของโอกาสของคนจำนวนมากในประเทศ มากน้อยเพียงใด
การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองที่ต้องการสืบทอดอำนาจโครงสร้างเดิม อาจจะเป็นคำตอบของภูมิทัศน์การเมืองไทยในปี 2023 นี้ เมื่อคิดจากมุมนี้ เราอาจจะพบว่า ไม่มียุคใดในประวัติศาสตร์ที่การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม กลายมาเป็นปมเงื่อนใจกลางทั้งหมดในความขัดแย้งในยุคสมัยของเรา ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ อาทิ การสืบทอดอำนาจ สภาวะชายเป็นใหญ่ เศรษฐกิจตกต่ำ การว่างงาน ค่าครองชีพสูง วัฒนธรมอำนาจนิยม ฯลฯ
คำถามต่อผู้มีสติปัญญาคือ หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง จะทำให้กิจกรรมทางการเมืองสำคัญในปี 2566 สร้างสรรค์จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติได้อย่างไร
[1] โปรดดูเรื่องนี้ในการศึกษาภาคสนามของ Prajak Kongkirati. “Bosses, Bullets and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011” (Unpublished Ph.D. thesis, Department of Political and Social Change, School of International, Political and Strategic Studies, The Australian National University, 2013). Abstract.
[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, ระบบเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมคุณภาพของประชาธิปไตย. รายงานวิจัย, วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, 2565
[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 94
[4] Prajak Kongkirati, Evolving power of provincial political families in Thailand Dynastic power, party machine and ideological politics. South East Asia Research Vol. 24, No. 3, (September 2016), 386-406.
[5] Chambers, P., & Waitoolkiat, N. (2020). Faction Politics in an Interrupted Democracy: the Case of Thailand. Journal of Current Southeast Asian Affairs, 39(1), 144–166.
[6] Chambers, P., Jitpiromsri, S., & Takahashi, K. (2022). The persevering power of provincial dynasties in Thai electoral politics. Asian Journal of Comparative Politics, 0(0), pp. 1-27
[7] Supalak Ganjanakhundee, A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X. ISEAS – Yusof Ishak Institute, 2022, pp.122-134
[8] อิทธิพล โคตะมี, จากราชนิกุลสู่ขุนทหาร การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนขององคมนตรี. https://waymagazine.org/privy-council/, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565
[9] Prajak Kongkirati and Veerayooth Kanchoochat. “The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand”, Trans-Regional and -National Studies of Southeast Asia, 2018, 1 – 27