เดินเลียบน้ำแม่ข่า ในน้ำมีคน: แม่ข่าในกิโลเมตรก่อนหน้าและถัดไป

หมายเหตุ: ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เสนอว่า ควรเรียกแม่ข่าว่า ‘แม่น้ำ’ ไม่ใช่ ‘คลอง’ เหตุหนึ่งเพราะคนเมืองในอดีตเรียกว่าน้ำแม่ข่า ไม่ใช่คลองแม่ข่า เหตุหนึ่งเพราะแม่ข่าเป็นน้ำธรรมชาติไหลลงมาจากดอยสุเทพ จากหลักฐานโบราณไม่มีการเรียกแม่ข่าว่าคลอง ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะใช้คำว่า น้ำแม่ข่า เป็นหลักเท่าที่จะทำได้ ข้อความบางส่วนจะคงไว้ว่า ‘คลอง’ ตามคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวและเอกสารการพัฒนาเมืองในยุคหลัง

การปรับภูมิทัศน์แม่ข่าระยะ 750 เมตรแรกเปลี่ยนใบหน้าแม่ข่าราวน้ำคนละสาย จากน้ำเน่าในระดับ 5 ถูกปรุงแต่งด้วยกลิ่นอโรมาของโอกาสทางเศรษฐกิจตลอดความยาวตั้งแต่ถนนระแกงถึงประตูก้อม แม่น้ำสวยงามประดับประดาด้วยดอกไม้สีสดใส ผู้คนยิ้มแย้มอัธยาศัยดี ร้านค้าต่างปรับตัวให้กลมกลืนกับบรรยากาศแบบโอตารุ  แม้ว่าฉายานามนี้จะขัดอกขัดใจ เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง อยู่ไม่น้อย “ก็ทำไมต้องโอตารุ เชียงใหม่ก็คือเชียงใหม่”

แม่ข่ามีความยาวทั้งหมด 31 กิโลเมตร ส่วนที่ไหลผ่านเข้ามาในเทศบาลเมืองเชียงใหม่มี 11 กิโลเมตร แม้ผู้คนมากมายจะอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายเดียวกัน แต่เส้นทางคดโค้งของลำน้ำกลับขีดเขียนเรื่องราวผู้คนในชุมชนแต่ละแห่งต่างออกไป

ใบหน้าใหม่ของแม่ข่าทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิมรวมถึงคนภายนอกมองเห็นเหมืองทองคำสะท้อนอยู่ในเงาน้ำซึ่งครั้งหนึ่งมีสีดำและเน่าเหม็น แม้ปัญหาหลักอย่างสิทธิในที่อยู่อาศัยจะยังไม่ถูกแก้ แต่เรือลำไหนจะกล้าขวางกระแสน้ำ ความสำเร็จของแม่ข่าในระยะ 750 เมตรแรกไม่สามารถกลบคำถามที่มีต่ออนาคตของแม่ข่าในกิโลเมตรถัดไป แม่ข่าไม่ได้มีเพียง 750 เมตร ตลอดความยาว 11 กิโลเมตรที่แม่ข่าไหล่ผ่านเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ยังคงมีผู้คนและเรื่องราวดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ

We Walk Maekha: จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ แต่การเดินสำคัญกว่าจินตนาการ

“ผมอยากพาเข้าไปดูวิถีชีวิตคนข้างในครับ” ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกแห่ง ใจบ้านสตูดิโอ กำลังชี้ชวนให้พิจารณาภาพถ่ายพอร์ทเทรตผู้อาศัยริมน้ำแม่ข่าสองคน ซึ่งผมนำฉากตอนนี้มาจากเวทีเสวนางานพัฒนาจินตภาพคลองแม่ข่าที่จัดเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2565 การนำเสนอของศุภวุฒิในวันนั้นเชื่อมโยงการเดินเลียบน้ำแม่ข่าในอีก 5 เดือนถัดมา

“ภาพนี้คือพี่เอ๋และพี่ตู่ ทั้งคู่อยู่ริมคลองกว่า 42 ปี แชร์ผนังบ้านร่วมกัน บ้านพี่ตู่ขนาด 4×4 เมตร แต่มีคนอาศัยร่วมกันถึง 9 คน นี่คือสภาพหลังฉากของทางเดินริมคลองที่เราเห็นเพียงภายนอกครับ” สถาปนิกผู้มีส่วนร่วมจัดทำแผนแม่บทคลองแม่ข่า กล่าวบนเวทีเมื่อ 5 เดือนก่อน

ผมคิดว่าเป็นการนำเสนอที่คมคายและบอกเล่าความปรารถนาของสถาปนิกหนุ่มผู้ต้องการทำให้เรามองเห็น ‘ภาพหลังฉาก’ ที่ความงดงามของภูมิทัศน์ใหม่อาจบดบังมุมมองที่เป็นจริงบางส่วนของแม่ข่า

5 เดือนถัดมา เช้าวันที่ 29 มกราคม 2566 เรานัดหมายกันที่ลานจอดรถเครือเซนทรัลใกล้กับจริงใจมาร์เก็ต เป็นจุดเริ่มต้นการเดินเลียบน้ำแม่ข่า ทีม Imagine maekha หรือ โครงการฟื้นฟูคลองแม่ข่า คือกลุ่มคนหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม สื่อมวลชน คนทำงานศิลปะ และประชาชน ร่วมขับเคลื่อนแม่ข่าและพื้นที่ต่อเนื่อง ชักชวนผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่สนใจการพัฒนาและออกแบบเมืองมาร่วมเดินชม ‘หลังบ้าน’ ของเชียงใหม่

“เป็นการเดินเพื่อกลับมารู้จักเมืองของเราผ่านสายตาของคลองครับ คลองที่เราทั้งรักและห่วงใย และในบางขณะก็รู้สึกอึดอัดกับความจริงที่ปรากฏตรงหน้า” ศุภวุฒิ ระบุ

หนองบัวเจ็ดกอ: ประวัติศาสตร์ใต้เท้าของเรา

พื้นที่ที่พวกเรากำลังยืนอยู่นี้ในอดีตถูกเรียกว่า ‘หนองบัวเจ็ดกอ’ ปัจจุบันเป็นที่ดินของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นหนองบัวผืนสุดท้ายที่ยังไม่ถูกพัฒนา มันทำให้ผมตระหนักว่าเรากำลังยืนอยู่บนช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์

“นี่คือพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยดอกบัวตาม ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ครับ” วรงค์ วงศ์ลังกา แห่งคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองไปยังพื้นที่รกร้างตรงหน้า แต่อดีตฟื้นตื่นจากการหลับใหล หนองน้ำธรรมชาติแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมาตั้งแต่ยุคสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยพญามังราย เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อาณาเขตกว้างขวาง รองรับน้ำจากแหล่งต่างๆ เป็นระบบป้องกันอุทกภัยในสมัยโบราณ แต่การพัฒนาเมืองในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยพื้นที่เป็นย่านการค้าและอาคารบ้านเรือน                           

“พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ยังทำหน้าที่รับน้ำอยู่กลายๆ ครับ แม้ว่าพื้นที่รอบข้างจะเปลี่ยนแปลงไป” อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ผู้เป็นเนิร์ดต้นไม้ ระบุ

ภาพถ่ายหนองบัวเจ็ดกอในระหว่าง พ.ศ.2475-2490 ซึ่งมีที่มาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ยืนยันถึงสิ่งที่วรงค์เล่า พื้นที่นี้เคยเต็มไปด้วยดอกบัว ขณะที่ภาพถ่ายหนองบัวเจ็ดกอในปี 2494 จากหนังสือ ชุมชนรอบวัดในเชียงใหม่: ประวัติศาสตร์ชุมชน ของ ร.ศ.สมโชติ อ๋องสกุล ยืนยันถึงฟังก์ชั่นการเป็นพื้นที่รับน้ำของเมือง

“ในอดีตตรงนี้คือพื้นที่พักแรมของคาราวานพ่อค้าที่เดินทางมาจากเมืองทางเหนือด้วยครับ พ่อค้าจากเชียงตุงจะนำวัวต่างม้าต่างมาพักที่นี่ เพราะเวลาที่น้ำลดหญ้าอ่อนจะระบัด พ่อค้าจะตั้งแคมป์กันตรงนี้ก่อนที่จะได้รับสิทธิเข้าไปขายสินค้าในเมือง” วรงค์ เล่า

“แต่ถ้าเขยิบเวลามาสักประมาณ 30-40 ปีก่อน ในฤดูน้ำหลากพื้นที่นี้จะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนหนุ่มสาวครับ” ชนกนันทน์ นันตะวัน นักวิจัยอิสระแห่งสมดุลเชียงใหม่ ตัดต่อเวลาให้เห็นการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่หนองบัวในประวัติศาสตร์ระยะใกล้

“คนหนุ่มสาวจะนั่งเรือและดื่มกันครับ หนองบัวในยุคนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนหนุ่มสาว อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูลเล่าให้ฟังว่า มันเป็นเทรนด์ของคนหนุ่มสาวเมื่อ 30-40 ปีก่อน เวลาน้ำท่วมบริเวณนี้จะเป็นเวิ้งน้ำเหมือนทะเลสาบ” ชนกนันทน์ เล่า

แต่ภาพที่ผมมองเห็นในตอนนี้ หนองบัวผืนสุดท้ายถูกโอบล้อมด้วยอาคารต่างๆ ของย่านคำเที่ยง น่าจะตรงกับช่วงรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดินอย่างชนิดถอนรากดอกบัวในหนองโบราณ เมื่อมีการนำพื้นที่โบราณสถาน วัดร้าง รวมถึงพื้นที่หนองบัว แปลงไปเป็นโฉนดอนุญาตให้ครอบครองภายใต้กติกาแลกเปลี่ยนของทุน

“การออกโฉนดก็ทำให้พื้นที่ตรงนี้ถูกเปลี่ยนประโยชน์การใช้สอย เห็นมั้ยครับอาคารขาวๆ ตรงโน้น มันคือบ่อนครับ คนจะติดการพนันเยอะมาก ที่ดินก็จะมีการเปลี่ยนมือบ่อยมากจนไปอยู่ในมือของคนนอกเชียงใหม่ก็เยอะ” วรงค์ เล่า

“จริงๆ อยากจะพาเดินลัดเลาะเข้าไป” ศุภวุฒิ หมายถึงดงไม้รกชัฏที่กั้นขวางการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่หนองบัวผืนสุดท้ายนี้กับคลองแม่ข่าที่เราจะเริ่มต้นเดินเลียบเลาะไป “แต่ทีมบุกเบิกไม่สามารถฟันฝ่าเข้าไปได้ เราต้องเดินย้อนไปอีกเส้นทางนะครับ แต่เราหวังว่ามันจะคอนเนคกันได้ในวันหนึ่ง แม่ข่ากับหนองบัวจะได้เป็นนิเวศที่เชื่อมโยงกันได้ในวันหนึ่ง”

แม่ข่ากับการพัฒนาที่ยากยืน

ต้นสายของน้ำแม่ข่าเริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ไหลรวมเข้ากับลำเหมืองกลางและลำเหมืองแม่หยวกก่อนจะไหลลงน้ำแม่ข่าบริเวณตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม แม่ข่าเดินทางผ่านเมืองเชียงใหม่ในลักษณะไหลโอบรอบเวียง  สายน้ำไหลเรี่ยไปตามชุมชนต่างๆ ขนานแม่น้ำปิง ก่อนจะไหลรวมแม่น้ำปิงที่สบข่าในอำเภอหางดง รวมระยะทาง 31 กิโลเมตร

มวลน้ำบางส่วนไหลไปรวมกันที่หนองบัวเจ็ดกอ ซึ่งได้กลายเป็นพื้นที่ย่านชุมชนและเหลือพื้นที่รกร้างผืนสุดท้ายที่เราใช้เป็นจุดนัดพบ หนองบัวเจ็ดกอสัมพันธ์กับแม่ข่าอย่างลึกซึ้ง เป็นชัยมงคลสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมืองในยุคโบราณ หากเราพิจารณาตัวตนของแม่ข่าในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เราก็อาจมองเห็นตัวตนของหนองบัวด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจาก Imagine Maekha ระบุว่า แม่ข่าในยุคสร้างบ้านแปงเมือง (พ.ศ.1839) เป็นคลองธรรมชาติที่ขุดแต่งเพื่อสร้างกําแพงเมืองชั้นนอก ทําหน้าที่เป็นปราการป้องกันเมืองด้านทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังเป็นระบบชลประทานธรรมชาติผ่านการจัดการเหมืองฝายเพื่อหล่อเลี้ยงไร่นาด้านทิศใต้ของเมือง รักษาระดับน้ำใต้ดินทําให้พื้นที่ในเขตเมืองมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค

ในยุคสมัยต่อมา (2520-2550) เมืองมีการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง การบริหารจัดการเมืองที่แต่เดิมอยู่ในระดับท้องถิ่น ได้กลายไปอยู่ในอำนาจของกระทรวง ทบวง กรม การพัฒนาเมืองในยุคนี้จึงขาดความเข้าใจระบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ทั้งระบบนิเวศเมือง การวางผังเมืองและแผนการบริหาร รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้คน

แม่ข่าในยุคนี้จึงสะท้อนสภาพปัญหาเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำเสีย การจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยของแรงงานในเมืองที่กําลังเติบโต

หากเราเดินเข้าไปในจินตภาพของ Imagine Maekha จะพบว่าเรากำลังยืนอยู่บนช่วงเวลาของการฟื้นฟูและร่วมมือกันพัฒนาเมืองที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก น้ำแม่ข่าไม่ได้เป็นเพียงทางระบายน้ำเสียของเมืองเพียงมิติเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่นิเวศสําคัญของเมือง เป็นพื้นที่สีเขียวที่คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกัน คลองเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถเข้าถึงและใช้พื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม ทั้งคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจ

“คลองเป็นของคนทุกคนครับ” ศุภวุฒิบอก เขามองคลองบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง “คลองเป็นของคนในชุมชน เป็นของภาคเอกชนที่ต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คลองยังเป็นของนกด้วย เป็นของต้นไม้ด้วย ทำยังไงให้คนที่เป็นเจ้าของแม่ข่าได้ประโยชน์จากแม่ข่า ที่ผ่านมาเราอาจไม่มีกระบวนการแบบนี้ เราหวังว่าการที่เราเดินด้วยกันในวันนี้ จะเกิดกระบวนการการมีส่วนร่วม เกิดบทสนทนาว่าเราจะขับเคลื่อนเมืองต่ออย่างไร แล้วมาช่วยกัน เพราะกำลังของเราไม่พอครับ”

ท่าน้ำอัษฎาธร: อัตลักษณ์ของเมืองเกิดจากความไม่ตั้งใจของเจตจำนงอิสระ

เราเดินเลียบน้ำแม่ข่ามาบนทางแคบๆ จนมาเจอกับถนนอัษฎาธรที่คร่อมข้ามน้ำแม่ข่า เบื้องล่างถนนมีท่อส่งน้ำสีดำถูกติดตั้งเลียบตลอดความยาวของแม่น้ำช่วงนี้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานหน้าตาไม่น่าเดินเข้าไปใกล้ 

นอกจากท่อส่งน้ำที่วางคู่ขนานความยาวของน้ำแม่ข่าแล้ว เราพบประตูระบายน้ำที่มีหน้าตาเหมือนประตูระบายน้ำที่สามารถพบเห็นได้ในทุกเมืองทั่วประเทศ แม่ข่าตรงหน้าผมในตอนนี้คือแหล่งรวมน้ำที่ถูกปล่อยจากอาคารบ้านเรือน สถานประกอบการ และชุมชนต่างๆ

“ท่อนี้เป็นท่อสูบน้ำปิงครับ โดยธรรมชาติแม่ข่าจะไหลลงน้ำปิง แต่อดีตที่ผ่านมาน้ำปิงสะอาดกว่าน้ำในแม่ข่า เขาจึงสูบน้ำปิงที่สะอาดกว่าขึ้นมาทำให้แม่ข่าสะอาดขึ้น ซึ่งระบบนี้ติดตั้งไว้สักพักแล้ว ช่วงนี้อาจจะเปิดเยอะหน่อย” ทนวินท วิจิตรพร สถาปนิกหนุ่มแห่งใจบ้านสตูดิโอ อธิบายให้ฟังถึงโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแม่ข่าช่วงถนนอัษฎาธร แต่เกี่ยวโยงไปถึงกระแสฟีเวอร์ที่เกิดกับแม่ข่าในย่านชุมชนกำแพงงาม-หัวฝายที่เราจะเดินไปถึงในอีกไม่กี่กิโลเมตรข้างหน้า

ลักษณะทางกายภาพของแม่ข่าในระยะทาง 11 กิโลเมตรในช่วงที่ไหลผ่านเข้ามาในเขตเมืองเชียงใหม่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง หนึ่ง. ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร ได้รับการดาดคอนกรีตทั้งตลิ่งและท้องคลอง สอง. 756 เมตรที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์ (จัดการตลิ่งด้วยบล็อกคอนกรีตและท้องคลองยังเป็นดิน) สาม.7.5 กิโลเมตร

ยังเป็นทางน้ำธรรมชาติ

ตลอดระยะความยาว 11 กิโลเมตรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีเพียงระยะทาง 756 เมตร ที่มีระบบท่อรวมน้ำเสียจากครัวเรือนและชุมชนลงสถานีสูบน้ำ จึงทําให้น้ำเสียจากครัวเรือน ชุมชน และสถานประกอบการส่วนใหญ่ในพื้นที่เทศบาลมีโอกาสรั่วไหลลงสู่แม่ข่า เป็นปัญหาสะสมยาวนาน ชุมชนแต่ละแห่งไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำเสียภายในครัวเรือน รวมทั้งระบบการจัดการขยะที่ดี เพราะมีอุปสรรคด้านการเข้าถึงระบบสาธารณูปการ จึงทําให้น้ำเสียและขยะในครัวเรือนรวมถึงสถานประกอบการถูกปล่อยทิ้งลงน้ำ

“ช่วงที่เราเดินผ่านมาจะมีโครงสร้างการดาดคอนกรีตกับประตูระบายน้ำ รวมถึงโครงสร้างระบบการตักขยะ ซึ่งปัจจุบันฟังก์ชันแค่บางส่วนเท่านั้นเอง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่ได้มาจากท้องถิ่นครับ” ทนวินท บอกว่า โครงสร้างเหล่านี้เกิดจากนโยบายส่วนกลางเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ความคิดของส่วนกลางกลับไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะที่เกิดในท้องถิ่น

“ผมคิดว่าท้องถิ่นก็เจ็บปวดกับสิ่งเหล่านี้อยู่เหมือนกัน รวมถึงแผนอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดในอนาคต มันมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนี้เหมือนกันครับ อะไรคือสิ่งที่เหมาะที่สุดสำหรับเรา ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวนะครับ การออกแบบโรงพยาบาลก็อยู่ภายใต้วิธีคิดเดียวกันกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในคลอง ตึกโรงพยาบาลที่ไปสร้างบนดอยที่มีอากาศหนาวเย็น ชาวบ้านต้องมานอนในอาคารที่พื้นปูด้วยคอนกรีต ซึ่งก็ยิ่งทำให้หนาวเย็นเข้าไปอีก มันไม่ตอบวิถีชีวิตของเขาเลย เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของเราเหมือนกัน”

สิ่งที่ ทนวินท บอก ทำให้ผมนึกถึงประโยคที่ โรมัน มาร์ส และเคิร์ท โคล์สเต็ดท์ เขียนในหนังสือ The 99% Invisible City ว่า “อัตลักษณ์ของเมืองหรือย่านต่างๆ มักเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจจากผู้เกี่ยวข้องหลายคนที่กระทำการใดๆ อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่เปิดใหม่ในช่วงตึกเดียวกัน บ้านสไตล์วิกตอเรียนที่ปรับโฉมใหม่ให้สีสดใส จนถึงงานเลี้ยงประจำปีที่เพื่อนบ้านทั้งหมดมารวมตัวกัน เมื่อถอยออกมามองในภาพกว้าง จะพบว่าหน่วยงานท้องถิ่นเองก็มีส่วนสร้างอัตลักษณ์ของเมืองในภาพรวมขึ้นมาด้วยกระบวนการแบบบนลงล่าง”

ช้างม่อย: อำนาจของชุมชนที่มาจากการปลูกผัก        

หลังบ้านสองฝั่งริมน้ำบ่งบอกชีวิตของคนที่อยู่ในนั้น แม่ข่าช่วงนี้เป็นย่านการค้า เราจึงมองเห็นท่อดูดควันโผล่มาจากตัวอาคาร ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังตกปลา เขาโชว์ภาพปลาขนาดเท่าลำแขนในสมาร์ทโฟนจอแตกที่เพิ่งจับได้ให้ผมดู มันเป็นปลาที่ตัวใหญ่จริงๆ

ถัดจากจุดที่พบชาวประมงใจกลางเมืองไม่กี่เมตร เราก็เข้าสู่ชุมชนช้างม่อย ช้างม่อยคือเบ้าหลอมของพหุวัฒนธรรม พม่า มอญ เงี้ยว แขก คนพื้นเมือง อยู่ร่วมกันราวกับเครื่องดนตรีหลากเสียงในวงออเคสตรา แต่พวกเขาล้วนเป็นตัวโน้ตที่มีสุ้มเสียงเบาบางเหลือเกินในบทเพลงของทุน เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง บอกว่า ช้างม่อยมีเรื่องน่ากังวลคือการเปลี่ยนมือของที่ดินไปเป็นของคนต่างชาติ

“สังเกตได้จากชื่อโรงแรม โรงแรมย่านนี้ชื่อจีนเยอะมาก เพราะคนจีนซื้อไว้แล้ว พื้นที่ช้างม่อยก็น่าเป็นห่วงไม่ต่างจากพื้นที่อื่น พื้นที่มันเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ เท่าที่หมู่เฮาทำได้ตอนนี้คือพยายามรักษาถนนเส้นเมนหลักเอาไว้ เพื่อจะควบคุมคนหน้าใหม่ที่เข้ามาค้าขายให้อยู่ในกติการ่วมกัน” ป้าน้อยแห่งช้างม่อย ระบุ

ตรอกคือจุดเชื่อมโยงระหว่างถนนกับชุมชนริมน้ำ เมื่อเดินเข้าในชุมชนริมน้ำแม่ข่าย่านช้างม่อย เราจะพบพืชผักสวนครัวถูกปลูกไว้ในกระถางที่ถูกออกแบบในลักษณะ Pocket Garden ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างดีไซเนอร์กับชุมชน พวกเขาตั้งต้นว่าการเดินเท้าจะทำให้ผู้คนเข้าถึงเศรษฐกิจชุมชน แต่การเดินที่เหมาะสมก็ควรต้องมีสุนทรียะ เป็นสุนทรียศาสตร์ที่กินได้

“เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ก่อนที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เวลาที่น้ำในคลองลด ชาวบ้านจะใช้เนินสันดินตรงนั้นในการปลูกผักสวนครัวครับ” ชนกนันทน์ แห่งสมดุลเชียงใหม่ มองลงไปในน้ำคลองตรงหน้าเพื่อฉายให้เห็นช่วงเวลาที่น้ำลด พืชพันธุ์บางชนิดงอกเงยบนพื้นดินที่อยู่ใต้ผิวน้ำ

“มีความพยายามของชุมชนในการแสดงออกทางสัญลักษณ์เหมือนกันว่าเขาอยากจะจัดการพื้นที่ตรงนี้ด้วยชุมชนเอง ก่อนหน้านี้รัฐไม่อนุญาตให้อาศัยและใช้ประโยชน์ตรงนี้ครับ ดีที่มีหน่วยงานและโครงการต่างๆ ที่ให้ความสำคัญ มันจึงเป็นไปได้ที่ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยใช้พื้นที่สีเขียวเป็นตัวเบิกนำ” ชนกนันทน์ บอก

พืชผักสวนครัวที่ชาวบ้านปลูกบนพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งรัฐไม่อนุญาต มีนัยความหมายของการบอกกล่าวว่า ชุมชนสามารถดูแลพื้นที่สาธารณะได้ “เพราะก่อนหน้านี้ถ้าให้รัฐจัดการ เขาจะจัดการแบบรัฐ สาธารณูปโภคที่มีก็จะถูกจัดมาแบบรัฐจัดให้ แต่ตอนนี้หลังจากที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จริง มันจะเกิดการดูแลและดีไซน์พื้นที่แบบชาวบ้าน” โอบเอื้อ กันธิยะ นักออกแบบผู้ทำงานร่วมกับชุมชนแห่งนี้ กล่าว

สิ่งที่ ชนกนันทน์และโอบเอื้อ กล่าว ทำให้ผมนึกถึงพันธกิจในงานออกแบบของสถาปนิกอย่างศุภวุฒิ

“ผมคิดว่าการออกแบบเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม การออกแบบคือการหาฉันทมติร่วมของคนในบ้านของคนในสังคม มันคือกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงแบบหนึ่งบนพื้นที่ทางกายภาพและทรัพยากรที่มีจำกัดครับ” ศุภวุฒิ บอก

ระแกง: กิโลเมตรถัดมาของการปรับภูมิทัศน์

จากช้างม่อย เราขึ้นมาเดินบนถนนผ่านชุมชนย่านการค้า ท่าแพมีใบหน้าแตกต่างไปจากชุมชนที่เราเดินจากมา อาคารเก่าแต่หลังสะท้อนให้เห็นต้นทุนเดิมของเมืองซึ่งมีศักยภาพในการต้อนรับโลกศตวรรษที่ 21 ของเชียงใหม่ ขณะที่แม่ข่าย่านไนท์บาซาร์ส่งกลิ่นเครื่องเทศและมาซาลาของวัฒนธรรมอาหารอินเดีย เชียงใหม่คือเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมที่มีทั้งความเป็นสากลผสมกลมกลืนอยู่ในความเป็นพื้นถิ่น อาคารบ้านเรือนในช่วงคลองต่างๆ สะท้อนศักยภาพทางเศรษฐกิจและบอกช่วงชั้นทางสังคมของผู้คนได้กลายๆ

เราเดินเลียบน้ำช่วงที่ค่อนข้างวิบาก สถาปนิกหนุ่มผู้นำทางของเราต้องใช้มีดที่พกไว้ในกระเป๋ากางเกงฟันไม้ที่ขวางให้พ้นทาง พวกเรามุดดงไม้ดงหญ้าราวกับเดินป่ากลางเมือง เส้นทางเลียบแม่ข่าไม่ได้เชื่อมต่อให้เหมาะแก่การเดิน ช่วงที่แม่ข่าไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจจึงไร้การเหลียวแล ผมเหลียวไปมองคนที่เดินตามมาข้างหลัง ปรัชญา ไชยแก้ว นักข่าวหนุ่มจากสำนักข่าว LANNER สวมรองเท้าแตะแบบคีบ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเขาเอารถซิตี้คาร์ไปวิ่งบนทางขึ้นดอย

เราเขยิบเข้าใกล้แม่ข่าช่วงที่เป็นชุมชนกำแพงงาม-หัวฝาย เข้าทุกที ซึ่งเป็นช่วงระยะ 750 เมตรแรกที่ปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดเช็คอินแห่งใหม่ของเมือง เราต้องพบกับชุมชนระแกง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังจะมีการปรุงปรับพื้นที่ในระยะต่อไป

“เพิ่นกำลังจะพัฒนาคลองช่วงของบ้านเรา เพิ่นจะทำแบบกำแพงงาม-หัวฝายไล่เรียงมาทางเรา ปัญหาที่เกิดกับกำแพงงาม-หัวฝาย มีอะไร เราจะไม่ให้เกิดกับระแกง” สุดารัตน์ ไชยรังษี ในวัย 70 มองไปยังความสำเร็จของแม่ข่าที่เพิ่งปรับภูมิทัศน์ แต่การปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำที่กำลังเขยิบเข้ามายังชุมชนระแกงได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้อยู่อาศัย เพราะตามแผนการพัฒนาจะมีการทำพื้นที่กันชนระหว่างน้ำแม่ข่ากับที่อยู่อาศัยของชุมชนระยะ 3-5 เมตร

“ผลกระทบมีแน่นอน ป้าก็เลยบอกหน่วยงานว่า ถ้าจะทำอะไรให้ลงมาหาชาวบ้านก่อน เข้ามาอู้กันก่อน เพื่อจะไม่เกิดปัญหาในอนาคต เฮาบ่อยากก่อม็อบ สู้มาตั้งแต่อายุ 38 แล้ว เดี๋ยวไปกรุงเทพฯ เดี๋ยวไปศาลากลาง เฮาบ่อยากไปแล้ว เฮามาอู้กันดีกว่า ไม่ว่าหน่วยงานไหน เทศบาลจะทำทางเดิน หรือจะทำท่อระบายน้ำก็ให้มาคุยกับชาวบ้านหน่อย เฮาขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะเรารวมตัวเป็นเครือข่ายคนแปงเมือง เฮาอยากเข้าไปอยู่ในคณะกรรมกับเพิ่น เพิ่นจะทำแบบไหน หมู่เฮาพอใจมั้ย สามารถปรับให้อยู่กึ่งกลางได้มั้ย เฮาได้อู้กับเทศบาลแล้วว่าให้มันเป็นในลักษณะนี้ เพราะบ้านไม่ใช่ศาลพระภูมิ ในบ้านของเราไม่ได้มีแค่ละอ่อน คนหนุ่ม หรือคนเฒ่า แต่มีคนพิการ คนติดเตียง ฉะนั้น เราควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา” สุดารัตน์ ระบุ

คงจะจริงอย่างที่ศุภวุฒิกล่าวไว้ การออกแบบคือการหาฉันทมติร่วมของสังคม ซึ่งไม่ใช่งานที่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินการหาข้อตกลงร่วม

เรากำลังมุ่งหน้าไปยังจุดเช็คอินยอดนิยมของโลกโซเชียล ปัจจุบันของแม่ข่าย่านชุมชนกำแพงงาม-หัวฝายกำลังจะกลายมาเป็นอนาคตของชุมชนระแกง แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันพรุ่งนี้ แต่โชคดีที่เวลามอบอดีตให้เราได้เรียนรู้

กำแพงงาม-หัวฝาย: แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมือง

“เราก็ไม่ทันได้ตั้งตัว เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่เคยมองเห็นคลองแม่ข่า เพราะน้ำมันเน่า เป็นที่เทขยะของเมือง ที่ผ่านมาเราจึงไม่ได้รับการพัฒนา แต่วันนี้ผู้คนมองเห็นลำคลองที่สวยงาม เห็นความสำเร็จ แต่หลังจากสำเร็จแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น”

น้ำทิพย์ เปาป้อ ตั้งคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ แต่ตอนนี้น้ำกำลังขึ้น ทุกคนก็ต้องรีบตัก ช่วงความยาวเพียง 750 เมตรของแม่ข่าโฉมใหม่กลับสะท้อนความเป็นมาอันยาวนานของชีวิตผู้คนที่อาศัยสองฟากฝั่งเป็นบ้านและที่พักพิง ซึ่งมีทั้งถูกและผิดกฎหมาย มีทั้งผู้เช่าที่ดินของรัฐและไร้หลักประกันความมั่นคงใด 

ปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหายาวนานของชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งซับซ้อนเพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อนหลายหน่วยงาน และเกี่ยวพันกับตัวบทกฎหมายและมีความเป็นการเมือง

ข้อมูลจาก พอช.และทีมใจบ้านสตูดิโอ เผยให้เห็นฉากหลังของแม่ข่าในม่านไผ่แบบโอตารุ ผู้คนเกือบ 5,000 คนใน 21 ชุมชนที่อาศัยริมคลองแม่ข่า หรือ 2,000 กว่าครัวเรือน คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในเขตเทศบาล พวกเขาอยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดและคับแคบ คนริมคลองราว 72 เปอร์เซ็นต์มีสัญญาเช่าระยะสั้นในที่ดินของรัฐ ขณะที่อีก 28 เปอร์เซ็นต์ไม่มีสัญญาเช่าใดๆ จำนวน 9 เปอร์เซ็นต์ไม่มีทะเบียนบ้าน และด้วยผลกระทบของโควิดทำให้คน 12 เปอร์เซ็นต์ไม่มีงานทำ ประชากร 28 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก

“หมู่เฮาต่อสู้มานาน” น้ำทิพย์ เริ่มต้นเล่าถึงเรื่องราวที่อยู่ข้างหลังภาพงามงดของแม่ข่า

“ที่อยู่อาศัยของเราอยู่ใต้การดูแลของหน่วยงานราชพัสดุ เทศบาล และกรมศิลป์ เราต่อรองกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ พวกเขาบอกว่าเราบุกรุก เป็นพวกทำลายสิ่งแวดล้อมริมคลอง แต่ชาวบ้านต้องการอยู่ในที่เดิมที่เขาอยู่กันมา และต้องการพัฒนาให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สิ่งแวดล้อมที่สำคัญก็คือหมู่เฮา แต่เปิ้นไปมองวัตถุ ไปมองถนนหนทาง แต่ความสำเร็จในวันนี้ คือสิ่งที่ชาวบ้านทำกันมา เฮาทำกันมาหลายสิบปี ชุมชนเรามีกำแพงเมืองเก่า และแม่ข่าเป็น 1 ใน 7 ชัยมงคลของเชียงใหม่ แต่ในสมัยนั้นทุกคนไม่ได้มองมาที่คลองแม่ข่าเลย      

“การที่คุณได้เห็นแม่ข่าสวยงามอย่างทุกวันนี้ มันแลกด้วยน้ำตาของคนที่ตายไปแล้ว มีทั้งคนที่กำลังอยู่และต่อสู้ ท่านเห็นความสวยงาม แต่ความสวยงามมาจากอะไร ข้อมูลที่ท่านรับรู้มันคือความสวยหรู แต่ความเป็นจริงไม่ได้สวยงาม มันคือการต่อสู้ของคนที่อยู่ริมสองฝั่งคลอง คลองแม่ข่าไม่ได้มีแต่คลองแม่ข่า แต่มีชีวิตของคนที่อยู่ริมคลอง ชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ เรายืนยันที่จะอยู่ตรงนี้ เราจะพัฒนาและสร้างสรรค์ เพราะคนในชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของเมือง” เธอกล่าวราวกับการแสดงปาฐกถาที่ชวนจับใจ

“ตอนนี้เราสู้กับคนข้างในชุมชนและคนข้างนอกชุมชนด้วย คนข้างนอกอยากเข้ามาลงทุน คนข้างในอยากมีทุนทำการค้าแต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน คนในชุมชนบางส่วนก็มองว่าการที่แม่ข่าเป็นที่ท่องเที่ยวแบบนี้มันรบกวน เสียงดังและอันตราย เฮาก็ไม่รู้จะตอบชาวบ้านส่วนนี้ยังไง เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้คลองแม่ข่าพัฒนามาในรูปแบบนี้” น้ำทิพย์ เล่าถึงปัญหาที่เข้ามาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจและความต้องการที่หลากหลายของคนในชุมชน แน่นอนว่าความต้องการของปัจเจกไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียว แต่ทุกคนต้องยอมรับในฉันทมตินี้ และร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้บ้านของพวกเขายั่งยืน

ในฐานะสถาปนิกที่เข้าไปร่วมจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์แม่ข่า มีบางสิ่งกวนใจศุภวุฒิอยู่ไม่น้อย เพราะสิ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขไปพร้อมกับการปรับภูมิทัศน์ ก็คือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะเขาคาดหวังว่าจะมีการจัดระบบที่อยู่อาศัยใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายมากที่สุดควบคู่กับการปรับภูมิทัศน์คลอง

“ถ้าเราไม่จัดระบบเรื่องที่อยู่อาศัย เมื่อมีแรงส่งทางเศรษฐกิจเข้ามา คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมจะอยู่ยากขึ้น” สถาปนิกหนุ่มแห่งใจบ้านสตูดิโอ ระบุ

แม่น้ำเดินทาง ผู้คนเดินทาง

จากชุมชนกำแพงงาม-หัวฝาย เราเดินต่อไปยังลำน้ำคูไหว ชุมชนศรีปิงเมืองซ่อนตัวเองอยู่ในลำน้ำสาขาราวกับความลับของเมือง ผู้คนในชุมชนแห่งนี้อาศัยแบบไม่มีหลักประกันความมั่นคงใดๆ และบ้านของพวกเขาจะกลายเป็นทะเลสาบสีดำในฤดูน้ำหลาก ชาวชุมชนศรีปิงเมืองเป็นชาติพันธุ์ลาหู่ที่เข้ามาเป็นองคาพยพหนึ่งของเมือง เป็นแรงงานภาคบริการในเมืองท่องเที่ยวแสนงาม แต่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยแม้ในซอกหลืบของเมือง

ถัดจากศรีปิงเมือง เราเดินผ่าเข้าไปในชุมชนห้าธันวาและขึ้นไปชมแนวกำแพงเมืองในชุมชนทิพยเนตร เรามองเห็นหลังคาที่เบียดเสียดแออัดกันอยู่เบื้องล่าง หลังคาที่ให้ร่มเงาและกันสายฝนให้ผู้คนที่มีทั้งคนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ พวกเขาคือกำลังหลักขับเคลื่อนเมือง แต่เราจะมองไม่เห็นพวกเขาในเมืองท่องเที่ยวที่มีสิ่งสวยงามมากมายดึงดูดสายตา

แม่ข่าไหลมาจากดอยสุเทพ เหมือนผู้คนบนภูเขาที่หลั่งไหลลงมายังเมือง เมืองกวักมือเรียกพวกเขาเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการหมุนให้เมืองเดินไปข้างหน้า แต่ตัวตนของพวกเขายังคงรางเลือนในแผนการพัฒนาเมืองในอนาคต

“ถ้าพูดจากมุมมองของเรา ‘แผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565) ยังเน้นไปที่การปรับภูมิทัศน์ แต่ยังไม่เห็นความยั่งยืนในระยะยาว เรายอมรับมั้ยว่ากลุ่มคนชายขอบเหล่านี้มีความสำคัญกับเมือง แล้วเราจะดูแลเขายังไงในฐานะที่เขาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง” ชนกนันทน์ แห่งสมดุลเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นจากมุมมองของนักวิจัยด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

แม่ข่าไหลผ่านย่านต่างๆ ของเมือง เมื่อไม่มีอนาคตบนภูเขา ซ้ำยังถูกนโยบายรัฐผลักไสให้ออกจากป่า ผู้คนจึงไหลลงมายังเมือง จับจองที่อยู่อาศัยริมน้ำแม่ข่า (แน่นอนว่าพวกเขาก็ถูกผลักไสเพราะบุกรุกพื้นที่ริมน้ำและเป็นจำเลยสังคมทำน้ำเน่าเสีย) เรื่องราวมันไหลมาตามสายน้ำ เป็นเช่นนี้มานมนาน

“คำถามจึงมีอยู่ว่า พื้นที่สาธารณะแบบไหนที่จะเป็นพื้นที่พลิกเมือง พลิกเศรษฐกิจ พลิกคุณภาพชีวิตของผู้คน พลิกไปสู่สังคมที่ไม่เหลื่อมล้ำ พี่น้องที่ทำความสะอาดลอกคลองในวันนั้น กลายเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ คนรุ่นนี้ ยุคต่อไปของเด็กๆ ในวันนี้ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นไปได้ไหมที่การพัฒนาคลองแม่ข่าจะพูดถึงนโยบายที่อาศัย เมืองที่เท่าเทียม จะเป็นไปได้ไหมว่าเรื่องเล่าของพวกเขาจะถูกบรรจุอยู่ในเรื่องเล่าของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่”

เป็นคำถามจากศุภวุฒิเมื่อ 5 เดือนก่อน และคำตอบที่เราจะมอบให้แม่ข่าในการฟื้นฟูและพัฒนา น่าจะยืนยาวไปอีกหลายสิบปี จะมีใครอยู่ในคำตอบนั้นบ้าง

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *