ประมงท้องถิ่นหาดวอนนภา เป็นประมงพื้นบ้านใช้เรือเล็กในการออกทำประมง และเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่ท่องเที่ยวของบางแสน แต่เศรษฐกิจกลับสวนทางกับการเติบโตของบางแสน ตอนนี้รายได้จากการทำประมงพื้นบ้านกำลังลดลง รวมถึงปริมาณสัตว์ทะเลที่ลดลงสวนกระแสกับความคึกคักของบางแสนที่ไม่เคยขาดผู้มาเยือนอยู่ตลอดปี

แต่ก่อนลุงก็ออกไปหาปลาเหมือนกัน ออกครั้งหนึ่งก็จะได้ 10-20 ก.ก. ต่อรอบ แต่ตอนนี้บางทีออกไปยังได้มาแค่พอทำแกงกินที่บ้าน 3-4 ก.ก.ต่อครั้ง พอขายได้นิดหน่อย ได้แค่นั้นแหละ
สุทิน ถวิลหา ชาวประมงในชุมชนหาดวอนนภา ทำประมงมาเกินกว่า 10 ปี
“แต่ก่อนได้ปลาเยอะ ปลาทู ปลาทราย สารพัด ออกจากหน้าหาดไปนิดเดียวก็ได้ละ ตัวใหญ่ด้วย แต่ทุกวันนี้ออกไปไกลขึ้น ปลายังน้อยกว่าแต่ก่อนมาก ค่าน้ำมันพงอีก ยิ่งไม่คุ้มที่จะออกไปหาปลาเลย”
สุทิน เปรียบเทียบความคุ้มค่าในการทำประมงทุกวันนี้ว่าไม่คุ้ม เพราะค่าน้ำมันที่แพงขึ้น ปริมาณปลาที่ลดลง ทำให้การทำประมงพื้นบ้านของหาดวอนนภากำลังลดลงไปด้วยเช่นกัน

พื้นที่การท่องเที่ยวขยายตัวไปในชุมชน
การท่องเที่ยวขยายตัวมันก็ดี นักท่องเที่ยวมาเยอะ แต่มันก็มีผลเสียต่อประมงพื้นบ้านนะ
วิรันดร์ สีวันพิมพ์ ชาวประมงท้องถิ่นชุมชนหาดวอนนภา หมู่ 14 เล่าถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยว ว่ามีผลต่อประมงชุมชน เพราะทำให้เกิดการเช่าที่ดินริมหาดไปเป็นร้านอาหารริมทะเล และนั่นทำให้ไม่สามารถเอาเรือจอดเข้าฝั่งได้

พอมีร้านอาหารเข้ามา เราก็จะไปจอดเรือตามหน้าหาดไม่ได้ เดี๋ยวไปบังหน้าร้านเขา ของจากทะเลเอาขึ้นมาก็ขาดพื้นที่ในการขนย้าย แกะปลาจากอวนหรือซ่อมเรือก็ไม่มีพื้นที่หาดที่จะทำ
เมื่อพื้นที่ถูกเช่าไปเป็นร้านอาหารแทรกอยู่ในชุมชน การทำประมงท้องถิ่นที่ต้องแกะปลาออกจากอวน หรือกระบวนการหลังนำของทะเลลงจากเรือก็ยากขึ้น เพราะปริมาณเรือมีมากกว่า 100 ลำ แต่พื้นที่ที่สามารถจอดเรือได้มีไม่เพียงพอ

“อย่างหน้ามรสุมล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว เรือก็ต้องจอดในทะเลริมฝั่ง เรือจมไป 7 ลำ ตอนนี้ยังซ่อมไม่ทันเลย เพราะไม่มีพื้นที่ให้ช่างซ่อม”
โสภล สังข์นาม ช่างซ่อมเรือประจำชุมชนหาดวอนนภา เล่าถึงการขาดพื้นที่ซ่อมแซมเรือประมง ซึ่งทำให้เขาเองก็ขาดรายได้ และในอนาคตอาจนำไปสู่การที่เขาต้องเปลี่ยนงานตามหน้าหาดที่ลดลง และส่งผลให้ไม่มีที่ในการซ่อมเรืออีกด้วย
น้ำจืดลงทะเลมากไป

“สิ่งหนึ่งที่ใช้ความสะอาดของน้ำทะเล ของทรายทะเลได้คือหอย”
ลุงต้น (สงวนนามสกุล) ชาวประมงพื้นบ้าน เก็บหอยด้วยการดำน้ำลงไปเก็บขึ้นมา ไม่ได้ใช้เครื่องมือลาก ดึงใดๆ ซึ่งเป็นวิถีประมงดั้งเดิมของชุมชนหาดวอนนภา
“แต่ก่อนเรายังเข้าใจได้ว่าฤดูกาลไหนทะเลเป็นยังไง ฤดูนี้ควรจับอะไร แต่ตอนนี้น้ำมันเปลี่ยน หอยตายอยู่กลางทะเล เช่น เมื่อวานเราออกไปเก็บมันยังเหลือ พอวันต่อมา ออกไปที่เดิม ตัวเดิม แต่เปิดปากตายซะแล้ว น้ำทะเลมันเปลี่ยนไปแล้ว”
ลุงต้น เก็บหอยด้วยการดำมาหลายปี ได้ให้ข้อสังเกตว่าจำนวนหอยลดและตายลงไปเป็นจำนวนมาก และบางครั้งยังสังเกตได้ว่าพื้นทรายใต้ทะเลมีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าปกติที่ควรเป็น หรือบางครั้งก็มีฝ้าขุ่น ซึ่งอาจเป็นข้อสังเกตการเปลี่ยนของน้ำทะเลที่ทำให้ทะเลเปลี่ยนไปได้

“คือเราก็ไม่สามารถหาได้หรอกว่าน้ำมันมาจากไหน จะบอกว่าฝนตกเยอะเกินไปจนน้ำทะเลมันจืดมันคงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้สัตว์ทะเลตายได้ขนาดนี้ เพราะมันทั้งปลา ปู กุ้ง ที่มันลดหายไป”
การที่บางแสนเติบโต ขยายเมือง หรือน้ำจากบนฝั่งไหลลงทะเลมากเกินไป ทำให้สภาพน้ำทะเลเปลี่ยน ปลาหลายชนิดก็อพยพไปอยู่บริเวณอื่น ซึ่งบางทีก็ไกลเกินกว่าที่เรือประมงท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรือเล็กจะออกไปได้
ไม่มีที่อนุบาลสัตว์น้ำ

ไม่มีที่ให้ปลาเล็กอยู่ ทะเลก็ไม่มีอะไรให้จับละ ประมงท้องถิ่นก็อยู่ไม่ได้
ดอกรัก วาดถนน ชาวประมงชุมชนหาดวอนนภา จับปลาทูเป็นหลักได้เล่าถึงการหายไปของปลาเล็ก ทำให้ปลาในทะเลก็หายตามไป เพราะไม่มีที่ให้ลูกปลาได้เจริญเติบโต ทำให้จำนวนปลาในทะเลก็ลดลง ชาวประมงก็ไม่มีอะไรให้จับและขาดรายได้ การทำประมงพื้นบ้านก็จะหายไปด้วย

“ไม่มีปลาในทะเล คนติดทะเลอย่างเราก็ต้องขึ้นฝั่งหางานทำ เหลือแต่เรือขนาดใหญ่ที่สามารถออกไปไกล ไปหาปลามาได้ แต่บางทีเรือขนาดใหญ่ก็ลากเอาอวนปู หรือสัตว์ทะเลตัวเล็กออกไปด้วย”
ไพโรจน์ เกตุวิทย์ ชาวประมงท้องถิ่นหาดวอนนภาอีกท่าน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่เรือประมงขนาดเล็กออกไปหาปลาไม่ได้ เพราะปลาอพยพไปอยู่ไกลขึ้น ทำให้ประมงท้องถิ่นไม่สามารถออกไปจับได้ และขาดรายได้ไป อาชีพประมงท้องถิ่นก็ลดลงไป อนาคตก็อาจหายไป เหลือแต่ประมงเรือขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการหายไปของสัตว์ในท้องทะเลด้วย

“ถ้าจะต้องทำอะไรซักอย่าง อันดับแรกเลยคือจัดสรรหน้าหาดให้เรือสามารถขึ้นได้ มีพื้นที่ให้เราจัดการอาหารทะเลหลังออกไปทำประมงได้ จริงๆ อยากถามว่าภาครัฐทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่เราเคยเรียกร้องเช่น ไม่ทำเขื่อนที่หาดบางแสน หาดวอนนภา เพราะหน้าหาดมันจะหาย ตอนนี้หาดของเราก็หายไปแล้ว มันไม่รู้จะทำยังไงให้ทรัพยากรเรากลับมาได้ ขอให้ซ่อมสะพานปลาตรงชุมชนเราเมื่อสิบปีที่แล้วได้ ก็เพิ่งมาซ่อมในตอนนี้ ตอนที่เราไม่สามารถหาปลาได้เยอะเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว”
ดอกรัก วาดถนน ให้ความเห็นไว้ว่าหมดความหวังกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไป เพราะในอดีตหาดวอนนภา หาดบางแสนมีหาดที่ทอดยาว ทำให้สามารถจอดเรือได้ เรือขึ้นฝั่งง่าย ขนปลาและอาหารทะเลลงมาก็สามารถจัดการดูแลได้ง่าย มีพื้นที่ให้ซ่อมเรือ รายได้ก็กระจายในชุมชน แต่ตอนนี้ทรัพยากรชายหาดหายไป และทะเลก็ไม่เหมือนเดิม ปริมาณปลาที่ลดลง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถฟื้นฟูได้ และยากที่จะทำให้กลับมาได้เหมือนเดิมด้วย
นโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมเท่ากับนโยบายทำลายอำนาจของประชาชน

คำว่ากระจายอำนาจ คือ รัฐบาลกลางกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น ออกแบบวิธีการจัดการ และงบประมาณให้ท้องถิ่น เพื่อให้รัฐไปทำเรื่องระดับประเทศ เพราะท้องถิ่นจะรู้ว่าแก้ปัญหายังไง องค์กรท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ดังนั้นการกระจายอำนาจต้องให้ประชาชนออกแบบ และเป็นรากฐานประชาธิปไตย เรียกว่า มั่นคง จริงใจ ต่อเนื่อง
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ให้คำอธิบายถึงหลักการการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลางเพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจ ออกแบบนโยบายและบริหารพื้นที่ของตนเองได้ โดยไม่ต้องใช้นโยบายจากส่วนกลางมาควบคุมอีกที เพราะคนในท้องถิ่นจะเข้าใจปัญหาและความต้องการของตนอยู่แล้ว นโยบายจากส่วนกลางจึงไม่เหมาะที่จะมาควบคุมหรือออกแบบแทนคนที่อยู่ในพื้นที่จริง และการกระจายอำนาจยังเป็นการสร้างอำนาจในการออกแบบชุมชน สังคมด้วยประชาชนจริงๆ ดังนั้นก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดรากฐานของประชาธิปไตย
“แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและประชาชนมันเกิดการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องการรวมอำนาจท้องถิ่นมาส่วนกลาง เพราะในอดีตแต่ละเมืองมีกลไกการดูแลบ้านเมืองเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองหรือใดๆ ก็ตาม รัชกาลที่ 5 จึงได้รวมอำนาจส่วนกลาง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์รัฐกับประชาชนยังคงเป็นเหมือนเดิม คือรัฐมีอำนาจเหนือประชาชน เป็นอำนาจแบบรวมศูนย์ โดยอาศัยกลไกราชการ องค์กรในแต่ละจังหวัดตั้งตัวเหนือประชาชน เรียกว่า ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่จริงใจ”
อ.โอฬารเล่าถึงความสัมพันธ์ของรัฐไทยกับประชาชนว่ารัฐยังคงมีอำนาจเหนือกว่าประชาชน ซึ่งสภาพความสัมพันธ์เช่นนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเกิดขึ้นในทุกวันนี้แล้ว
กลไกรัฐราชการที่ไม่จริงใจ ไม่มั่นคง ไม่ต่อเนื่อง
รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย และมันเรียกร้องให้อำนาจแก่ท้องถิ่นมีอำนาจ มีประชาธิปไตย แต่สิ่งนี้กระทบราชการ เพราะท้องถิ่นมีอำนาจจนอาจนำรัฐราชการส่วนกลาง เช่น นายอำเภอกระทบก็กระทบรัฐส่วนกลาง เพราะเป็นการลดอำนาจของราชการจากส่วนกลางที่เข้ามาในท้องถิ่น
เพราะคนที่ถูกเลือกตั้งมาจากประชาชน สามารถติดตามตรวจสอบได้ดีกว่าคนของราชการ เพราะสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรรัฐที่เป็นกลไกในท้องถิ่นอื่นๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่หากเป็นตัวแทนจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาต้องรับฟังความคิดเห็น และง่ายต่อการที่ประชาชน และองค์กรภาคประชาชนจะตรวจสอบ จะออกแบบพื้นที่ร่วมกันได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้กลไกรัฐราชการส่วนกลางที่อยู่ห่างไกลจากปัญหา และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่
แต่ปัจจุบันกลไกราชการในราชการท้องถิ่นทำงานได้ ไม่จริง ไม่มั่นคง ไม่ต่อเนื่อง นำไปสู่การคอรรัปชัน รัฐราชการแทรกแซงท้องถิ่น เช่น พัทยา หลังสิ้นสุดวาระผู้ว่าราชการพัทยาคนก่อน อิทธิพล คุณปลื้ม ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพื้นที่เองนั้น คสช.มีคำสั่งให้ตำรวจชื่อ…มาทำงานแทน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง สิ่งนี้ก็เป็นการควบคุมอำนาจจากส่วนกลางมายังท้องถิ่น คือ พัทยา เพื่อสืบทอดอำนาจจากส่วนกลางหรือคสช.ประนีประนอมกับ สนทยา คุณปลื้ม เพื่อเป็นเพียงนั่งร้านพรรคพลังประชารัฐ เป็นวิธีที่ไม่จริงใจ ทำลายกลไกท้องถิ่นและตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นราชการรวมศูนย์ ไม่ใช่การกระจายอำนาจ
การแช่แข็งท้องถิ่น ผลกระทบจากคำสั่ง คสช.85/2557
หนึ่งในผลกระทบของการรัฐประหารครั้งนี้คือ รัฐประหาร 2557 การสูญเสียอำนาจจากกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
จนไปสู่ คสช.แช่แข็งคำสั่ง 85/2557 แช่แข็งท้องถิ่น โดยอ้างว่าปฏิรูปท้องถิ่น ปัจจุบันไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่แทรกแซงการกระจายอำนาจ ทำลายการปกครองท้องถิ่น ประชาธิปไตย อ้างว่าท้องถิ่นไม่พร้อม
แต่ถ้าจริงใจ คงเห็นผลของการปฏิรูปเลย จึงเป็นการต่อสู้ในกระบวนการกระจายอำนาจ
และใช้คสช.จัดสรรประโยชน์พวกตนเอง
การออก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ eec ส่งผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนมีชีวิตสำคัญ แต่คสช.ออกคำสั่งเลยโดยขาดการสำรวจ เพราะออกแบบโดยอ้างเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไม่ฟังเสียงประชาชนเลย มีการวางแผนต่างๆ eec เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์คเชื่อมโลกตะวันออก
แต่ปัญหาคือแผนพัฒนาเช่นนี้ได้สร้างความแตกแยก เพราะขาดการวางแผนและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคตะวันออก จนเกิดการแตกสลายของชุมชน นี่คือผลกกระทบต่อชุมชน
รูปธรรมของผลกระทบจาก eec คือการกว้านซื้อที่ดินของนายทุน ซึ่งก็ไม่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงการทำเพื่อประโยชน์ของนายทุน เพราะขาดการมีส่วนร่วม ขาดการออกแบบกติการ่วมกับประชาชน แต่ฟังแค่นายทุนและพวกพ้องที่ได้ประโยชน์ นี่คือผลการกระจายอำนาจจาก คสช.
การต่อสู้เพื่อไปสู่การกระจายอำนาจ
ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์เตรียมตัวก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือเรื่อง การกระจายอำนาจ เพื่อยกระดับอำนาจให้อยู่ในมือของประชาชน ลดอำนาจจากส่วนกลางที่มาบังคับใช้ในท้องถิ่นด้วยนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
พรรคการเมืองที่น่าสนใจจะต้องเป็นพรรคที่ทำเรื่องยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปไกลกว่าการปกครององค์กรท้องถิ่น ไปจนสู่การสร้างอำนาจให้ประชาชน เพื่อไม่ให้อำนาจตกไปที่นักการเมืองท้องถิ่นโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พรรคการเมืองต้องรู้บทบาทตนเอง คือส่งเสริม ผลักดันเสียงและนโยบายที่มาจากท้องถิ่น มาจากความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ เพื่อเข้าไปในสภาและผลักดันเรื่องเหล่านี้ในสภา ไม่ใช่ออกแบบนโยบายที่ไม่ได้มาจากประชาชน นั่นคือถ่วงดุลอำนาจด้วยการกระจายอำนาจ
ปฏิรูปท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม
สร้างการกระจายอำนาจให้ภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบนายกเทศบาล รวมไปถึงนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มาจากรัฐ โดยที่ส่วนกลางไม่ต้องกำหนดให้ท้องถิ่น แต่คนในท้องถิ่นจะเป็นผู้กำหนดทิศทางตามความต้องการของเขา แล้วให้องค์ปกครองท้องถิ่นไปทำเป็นนโยบาย ไม่ใช่แค่สภาท้องถิ่นเพราะตรวจสอบไม่ได้
กระจายทรัพยยากร
ทรัพยากรธรรมชาติทุกพื้นที่ เช่น ชุมชนริมทะเล ต้องสามารถกำหนดพื้นที่ ออกแบบชุมชนของเขาเองได้
ปฏิรูปรัฐราชการท้องถิ่น ทำงานให้คล่องตัว มีประสิทธิภาพ มีเสรีภาพให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดตั้งสภาประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีฐานะเป็น พลเมือง พูดได้ เรียกร้องคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่มาคุยกันได้ เพื่อออกแบบ หาทางออก โดยไม่ตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เวทีที่มีการพูดเพียงแค่ผู้ได้ประโยชน์เท่านั้น
.
ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม
