ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง: ร้านหนังสืออิสระในเมืองหลวงฝันสลาย

ลมหนาวพัดผ่านเมืองกรุงและทางตอนเหนือของประเทศ แต่กลับมีพายุฝนโปรยปรายที่ภาคใต้, ในบริเวณป่าคอนกรีตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงเวลายามบ่ายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านกลางพื้นที่โกดังเก่าก่อนถูกเก็บรักษาและพัฒนามาเป็นพื้นที่โครงการ The Jam Factory ที่ซ่อนกายอยู่กลางป่าคอนกรีต

ตลาดคลองสาน กรุงเทพ 2022

บรรยากาศโดยรอบมีสภาพอากาศเย็นสบายมากกว่าบรรยากาศร้อนอบอ้าวซึ่งต่างจากในเมืองกรุงในคราวก่อนๆ ที่มีอากาศร้อนสลับกับหยาดฝนโปรยปรายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนตลอดทั้งสัปดาห์ เส้นทางตรงนั้นเป็นเส้นทางฝั่งธนบุรี ที่มีถนนทอดยาวเคียงคู่กับแม่น้ำเจ้าพระยาปลายทางฝั่งหนึ่งไปยังสะพานพุทธเป็นที่ตั้งของปากคลองตลาด

การพูดคุยในครั้งนี้ช่วยยืนยันความคิดของผมที่เคยคิดว่าร้านหนังสืออิสระ คือ ร้านหนังสือที่มีหนังสือมากมายหลายหมวดหมู่ให้เราและหนังสือได้ต่างเป็นผู้เลือกโดยไม่ต้องมีการบังคับขัดขืน

ร้านดังกล่าวเป็นร้านหนังสืออิสระที่ตั้งอยู่ตรงตลาดคลองสาน ในพื้นที่กว้างและมีธรรมชาติล้อมรอบ อีกชั้นข้างนอกเป็นป่าคอนกรีต โดยที่ตรงกลางมีลานกว้างมีต้นไม้สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็น ซึ่งในแต่ละครั้ง นานๆ ครั้ง จะมีสายลมละล่องละลอยลิ่วพลิ้วผ่าน กับใบไม้ส่งเสียงจากต้นไม้ใหญ่เหมือนกับจะเป็นบทเพลงผ่อนคลายประกอบการอ่านหนังสือ

ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ชื่อว่า Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่อง Candide (ก็องดิด) ของวอลแตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเรืองนามของฝรั่งเศสในสมัยศตวรรษที่ 18 โดยเรื่องนี้มีประโยคที่สำคัญอย่าง “We should cultivate our garden.” หรือ “จงทำสวนของเรา” เพื่อที่จะผ่านความทุกข์ยาก ผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยการทำงาน เป็นประโยคที่นำมาใช้ในการทำร้านหนังสืออิสระแห่งนี้  โดยคนตั้งชื่อร้านจากวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ กิตติพล สรัคคานนท์

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง หรือ แป๊ด เจ้าของร้านหนังสือก็องดิด และ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด ซึ่งในอดีตร้านหนังสืออิสระแห่งนี้เคยตั้งอยู่บนถนนตะนาว และกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ในโครงการ The Jam Factory ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เธอนิยามตัวเองเว่าเป็นคนทำหนังสือเป็นหลักและเป็นอีกด้านของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ที่ขาดไปไม่ได้

บทสนทนาระหว่างเราเริ่มต้นด้วยเสียงลมพัดผ่านใบไม้ แสงแดดเรไร เคล้าเรื่องราวของสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ การเมือง และความหวังในประเทศฝันสลายไร้แสงแห่งความหวัง

ร้านหนังสืออิสระในเมืองหลวงฝันสลาย

ดวงฤทัย เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่มาเปิดร้านหนังสืออิสระในกรุงเทพฯ แม้ว่าตามห้างสรรพสิ่งค้าก็มีพวกร้านหนังสือที่มีสาขาต่างๆ มากมาย

เธอบอกว่า ตนเองเป็นคนทำหนังสือมาโดยตลอด ทั้งการทำสำนักพิมพ์ ทำนิตยสาร ทำหน้าที่บรรณาธิการ จนกระทั่งอยากรู้ว่าในขั้นตอนสุดท้าย หนังสือ จะไปอยู่ที่ไหน เลยเดาว่าก่อนจะมาถึงคนอ่านต้องมีร้านหนังสือ จึงตัดสินใจที่จะมาทำร้านหนังสือเพื่อจะได้รู้ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทำหนังสือ

ไม่คิดจะไปทำร้านหนังสือในห้าง ด้วยความที่ก่อนหน้านั้นเคยเปิดร้านอยู่ตรงถนนตะนาว กรุงเทพฯ ด้วยความชอบตรงที่มันเป็นร้านเดี่ยว แล้วพอก่อนจะย้ายมานั้นมีคนมาชวนเธอไปเปิดสาขาในห้างสรรพสิ่งค้า แต่เธอรู้สึกไม่อยากเปิดแบบร้านสาขา เนื่องจากรู้สึกว่ามันจะไม่มีคาแรคเตอร์ ความเป็นตนเองโดดเด่นจากร้านอื่น

ร้านหนังสือที่เธออยากทำนั้นอยากให้ไม่เหมือนร้านอื่นทั่วไปในท้องตลาด อย่างร้านที่ทำอยู่ตอนนี้มีจุดเด่นตรงที่ตัวร้านมีการนำเสนอหนังสือแนว วรรณกรรม สังคมการเมือง รวมถึงที่ตั้งของร้านอยู่ในโครงการ The Jam Factory ที่มักจะเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ

แล้วเธอยังคิดว่า การที่มีอยู่ของสังคมออนไลน์ที่ทำให้ลูกค้าสามารถทักถามถึงสินค้าที่วางขายในร้าน เลยไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้า

แม้ว่ามีรุ่นพี่ที่ขายหนังสือมาก่อนแล้วบอกกับเธอว่า ยังมีหลุมดำในการทำธุรกิจนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เธอหยุดที่จะทำร้านหนังสือเพื่อทำให้หนังสือถึงมือคนอ่านแม้แต่น้อย

ร้านหนังสืออิสระในกระแสการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว

เราถามเธอต่อว่า ระหว่างทางการเปิดร้านหนังสือแห่งนี้ เจอเรื่องราวของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในระหว่างทางอะไรที่ประทับใจบ้าง

ดวงฤทัย เล่าให้ฟังว่า

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีคนเคยเข้ามาขอบคุณที่มาเปิดร้านหนังสือในที่แห่งนี้ เพราะว่ารู้สึกควรมีร้านหนังสือในทุกชุมชน

และผู้คนที่มาที่ร้านส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากร้าน มีความตั้งใจจะมาที่ร้านตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

นอกจากเรื่องราวของผู้คนที่เดินทางเข้ามายังร้านหนังสือแห่งนี้ เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เธอเล่าให้ฟังว่า 

“ปัจจุบันร้านหนังสือเป็นการขายหนังสือในอดีต ในปัจจุบัน แล้วยังต้องมีการขายหนังสือในอนาคตผ่านการสั่งซื้อล่วงหน้า”

โดยขยายความเพิ่มเติมจากการที่ส่วนใหญ่ร้านหนังสือในตอนนี้จะใช้สื่อออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารเป็นหลัก กล่าวคือ คนเราสามารถเข้าถึงการซื้อขายหนังสือได้ง่ายกว่าสมัยก่อน แค่เห็นปกหนังสือเราก็สามารถขายหนังสือได้แล้ว ไม่ต้องรอให้ถึงร้านเพื่อหยิบจับหนังสือเล่มจริง เราก็สามารถที่จะทำการสั่งซื้อหนังสือล่วงหน้าได้

เธอรู้สึกว่า “มันเป็นการขายที่ไม่จำเป็นต้องดูหน้าร้านเลย ที่ไหนก็ขายได้ ความใกล้ไกลเดี๋ยวนี้ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่แล้ว” 

ร้านหนังสือสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ เธอบอกกับเราพร้อมกับยกตัวอย่าง ร้านหนังสือ พก – – ร้านหนังสือขนาดหนึ่งรถตู้ที่พกพาหนังสือและภาพยนตร์เดินทางนำไปฉายตามพื้นที่ทั้งในและนอกจังหวัดเชียงรายว่าเป็นไอเดียที่เก๋มาก

ยังบอกอีกว่า ในอนาคต ใครก็สามารถขายหนังสือได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านหนังสืออย่างเดียว ความยากของร้านหนังสืออาจจะอยู่ตรงนี้

เธอย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นของการใช้โลกออนไลน์สำหรับการปรับตัวของร้านหนังสือในการขายหนังสือให้เข้าถึงผู้อ่าน โดยร้าน Candide Books (ร้านหนังสือก็องดิด) ได้มีการปรับตัวทำร้านค้าออนไลน์ตั้งแต่เปิดร้านได้เพียง 3 ปี เธอรู้สึกว่าทำธุรกิจเดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีออนไลน์ก็น่าจะลำบากในการดำเนินธุรกิจ

และแน่นอนว่า การมาถึงของโรคระบาดกลับเป็นตัวเร่งให้ร้านหนังสือต้องยิ่งปรับตัว แล้วเธอยังบอกอีกว่าพักหลังมานี้ผู้อ่านกลับกลายเป็นคนนำร้านหนังสือในการหาหนังสือมาอ่าน .

ยิ่งในช่วงที่มีการตื่นตัวทางการเมือง หนังสือแนวสังคมการเมืองก็ยิ่งขายได้จำนวนมาก เหมือนกับนักอ่านนำหน้าร้านหนังสือไปเสียแล้ว

นอกจากการทำร้านหนังสือที่ต้องปรับตัวแล้ว หนังสือที่ส่งตรงไปยังมือผู้อ่านก็มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากการวิวัฒนาการของหน้าปกหนังสือ กล่าวคือ ปกหนังสือมีความแตกต่างจากเมื่อก่อน อาจเพราะได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ว่าพวกเขามีการออกแบบหน้าปกอย่างไร มีแรงบันดาลใจอย่างไร จนในตอนนี้ก็มีบางคนบอกว่าแทบจะไม่มีปกที่ไม่สวย เหมือนเป็นงานสะสมอย่างหนึ่ง

แม้แทบทุกอย่างเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่จำเป็นต้องปรับตัว เธอยังยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมีร้านหนังสืออิสระ เพื่อที่จะมีพื้นที่ที่ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านและคนขาย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

การกระจายอำนาจกับร้านหนังสืออิสระ

บางทีความหวังของการกระจายอำนาจสำหรับคนต่างจังหวัดก็มาในรูปแบบของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของเมืองหลวง อย่างที่ได้ผู้ว่าจากการเลือกตั้งอย่าง นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คนต่างจังหวัดเชื่อมั่นว่าในสักวันพวกเขาจะมีสิทธิที่จะเลือกผู้นำจังหวัดจากเสียงของพวกเขาเอง เพื่อเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน

ดวงฤทัยเน้นย้ำว่า

อยากให้มีการเลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เกิดการกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง ประชาชนสามารถรู้ได้ว่าหากเลือกใครเข้าไปทำงาน แล้วเขาจะทำงานอะไรบ้าง เข้าถึงข้อมูลการทำงาน ตรวจสอบได้

อย่างในกรุงเทพฯ มันก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารก็สำคัญ อย่างเมื่อก่อนเธอไม่รู้เลยว่ามีหน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของตนบ้าง แต่พอเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คราวนี้กลับเห็นข้อมูลและมาตรการต่างๆ มากขึ้น เธอบอกอีกว่า

อยากให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของแต่ละจังหวัดให้ได้ก่อน ให้คนต่างจังหวัดรู้ว่าจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร ตรวจสอบการทำงานได้อย่างไร 

แน่นอนว่า

นอกจากเรื่องของการกระจายอำนาจแล้ว ควรที่จะมีร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศเช่นกัน ไม่จำเป็นที่ร้านหนังสือต้องกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ

“จากการที่ได้รู้ผลผู้ว่าฯ ของกรุงเทพมหานครครั้งที่ผ่านมา พอจะทำให้เห็นความหวังของคนทำร้านหนังสือ รู้ว่าควรไปคุยกับใคร ถ้าอยากให้ได้รับการสนับสนุนอะไร ร้านหนังสืออิสระยังคงต้องการความช่วยเหลือ เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรได้มากนัก”

แล้วหากแนะนำหนังสือหนึ่งเล่มให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครได้ เธออยากแนะนำหนังสืออย่าง ก่อร่างเป็นบางกอก : Siamese Melting Pot  เพราะว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ได้อย่างสนุก พูดประวัติศาสตร์ในแบบที่ไม่ได้ไกลมากแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์

อ่านแล้วจะทำให้อยากเดินไปทั่วกรุงเทพฯ เพราะมันทำให้รู้ความเป็นมาของกรุงเทพฯ

เธอบอกกับเราเช่นนั้น

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Authors

  • Slasher / Day Dreamer / นักอยากเขียน ผลงานบทความบทเว็บไซต์ Practical school of design ยังคงตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่พบเห็น พร้อมทั้งยังหาคำตอบของสิ่งที่สนใจหรือตั้งข้อสงสัยต่อไป

  • มนุษย์ขี้กลัว เพื่อนหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *