25 ตุลาคม 2547 เกิดโศกนาฏกรรมรัฐลอยนวลขึ้นอีกครั้ง เหตุการณ์ที่ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ถูกรำลึกอย่างต่อเนื่องทุกปี ไม่ต่าง 6 ตุลา 2519 หรือ การฆาตกรรมในฤดูร้อนปี 2553
แม้จะเหินห่างการรับรู้ของผู้คนเกือบทั้งประเทศอยู่บ้าง แต่ความสำคัญรัฐอำนาจนิยมวิปริตครั้งนั้น ไม่อาจถูกละเลย ประชาชนกว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน มาชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน
ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจจึงมาร่วมชุมนุม ส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า เมื่อมกราคมปีเดียวกัน ปืนถูกปล้นจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ไป 300-400 กระบอก กลับไม่มีการดำเนินการเอาผิดกับทหาร แต่กรณี ชรบ. ถูกปล้นปืน กลับเข้าจับกุมและไม่ให้ประกันตัว
ซึ่งถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้พวกเขาไป 6 กระบอก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมองว่า ชรบ. 6 คนนี้แจ้งความเท็จ
ยิ่งเวลาผ่านไป ประชาชนคนไทยสมทบการชุมนุมเพิ่มขึ้นจนจำนวนราว 2,000 คน เมื่อส่อเค้าจะเกิดการใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปยังสถานีตำรวจ พลโทพิศาล รัตนวงคีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งการให้สลายการชุมนุมโดยฉีดน้ำและโยนระเบิดแก๊สน้ำตาจน 2 ฝ่ายปะทะกัน
เป็นการสลายการชุมนุมครั้งใหญ่
รายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระบุข้อมูลว่าทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต ณ จุดปะทะทันที 7 ศพ โดย 5 ศพถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือถูกฝ่ายรัฐจับกุมควบคุมตัวทั้งสิ้น 1,370 คน
ผู้ชายถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนหนึ่งยังถูกนำเชือกยาวมาร้อยพันธนาการเข้าด้วยกันเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 คน และบางคนถูกตีด้วยพานท้ายปืน
ผู้ถูกควบคุมตัวถูกจับนอนซ้อนทับกันไปบนรถบรรทุกทหาร จำนวน 25 คัน โดยนอนทับซ้อนกันมากกว่า 2 ชั้น
รถบรรทุกมีหลังคาเป็นผ้าใบ และด้านข้างมีโครงเหล็กสำหรับผ้าใบ แต่มิได้คลี่ลง มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ไกลกว่า 150 กิโลเมตร จากจุดชุมนุม
พิจารณาจากรายงานของ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) พบว่า รถบรรทุกบางคันลำเลียงผู้ถูกควบคุมตัวอัดซ้อนทับกันถึง 70 คน และบางคันถึง 90 คน
ด้วยสภาพของวิธีการบรรทุกนอนคว่ำซ้อนกัน เมื่อรถลำเลียงไปถึงที่หมาย มีผู้เสียชีวิต 78 คน โดยผู้รอดชีวิตจำนวนหนึ่งพิการ เช่น กล้ามเนื้อเปื่อยเพราะถูกกดทับเป็นเวลานาน หรือเป็นโรคไตเพราะขาดน้ำเป็นเวลานาน
การไต่สวนการตายระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามกฎหมาย ดำเนินไปภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้เสียชีวิต 78 รายนั้น เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าถูกผู้อื่นกระทำการให้เสียชีวิต
เวลาต่อมา พนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงสิ้นสุดลง โดยไม่สามารถเอาผิดกับใครได้
คดีนี้มีอายุความ 20 ปี และจะหมดอายุปี 2567
ใช่หรือไม่ว่า การบ่มเพาะความคิดของคนมลายูปตานีที่ต่อต้านขัดขืนรัฐ ไม่สามารถเกิดได้ด้วยตนเองจากแนวคิดชาตินิยม แต่งอกเงยขึ้นด้วยเหตุชั่วร้ายเช่นนี้
ในวันครบรอบ 18 ปี กรณีตากใบ จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ณ ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อังคณา นีละไพจิตร กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า
“18 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีนั้นตรงกับเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ในวันนั้นผู้ชายหลายคนออกจากบ้านเพื่อหาซื้ออาหารเตรียมละศีลอด เด็กหนุ่มหลายคนออกไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แม่ หรือคนรัก เพื่อใส่ในวันรายอที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน
“แต่วันนั้นหลายคนไม่กลับบ้าน หลายคนกลับถึงบ้านในเย็นวันรุ่งขึ้น ในสภาพที่ปราศจากลมหายใจ หลายคนบาดเจ็บ พิการ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ผ่านมา 18 ปีแล้ว ยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรมของพวกเขา และพวกเขากลายเป็นบุคคลสาบสูญ และไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย
“แม้จะเป็นความทรงจำของบาดแผลที่เจ็บปวด (traumatic memory) แต่การรักษาความทรงจำถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ของประชาชน เพื่อไม่ให้ลืม และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
“18 ปีผ่านไป แต่ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพของชายชาวมลายูมุสลิมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ
“ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ภาพการขนย้ายประชาชนโดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธควบคุมอยู่ท้ายรถโดยไม่ฟังเสียงร้องคร่ำครวญของคนที่ถูกกดทับอยู่ชั้นล่างของรถ จนเสียงคร่ำครวญนั้นเงียบหายไป พร้อมกับชีวิตของคน 78 คน”
อังคณากล่าวว่า ตามกระบวนการทางกฎหมาย รัฐมีหน้าที่ต้องตอบคำถามครอบครัวและสังคม ถึงสาเหตุการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกฎหมายจะกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงและตอบคำถามว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย และถ้าตายโดยถูกทำร้าย ให้ศาลกล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ (มาตรา 150 วรรค 5 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา)
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ต่อหน้าญาติผู้เสียชีวิต โดยมีสาระสำคัญว่า
“…ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่”
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น มีความเห็นพ้องกับอัยการ แม้ผู้เสียหายจะอุทธรณ์และฎีกา แต่ศาลสูงได้ยกคำร้องทำให้การอำนวยความยุติธรรมจากรัฐเป็นอันถึงที่สุด
บทวิเคราะห์ ‘เหตุการณ์ตากใบกับการแปลงเปลี่ยนที่ชะงักงัน’ (2560) โดย ประทับจิต นีละไพจิตร ระบุถึงมาตรการชดเชยเยียวยาของรัฐบาลว่า เป็นการมุ่งเน้นการจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก และมีการให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลเหยื่อบางราย มีการให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเหยื่อบางรายอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีการบันทึกรายชื่อและความช่วยเหลือที่ได้รับอย่างเป็นระบบ
อีกทั้งการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาและการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นมีความหมายกํากวม และอาจเป็นการบังคับให้เหยื่อลืมโดยปริยาย นอกจากนี้ กระบวนการจัดสรรเงินชดเชยยังไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมเหยื่อทั้งหมด และการที่เหยื่อไม่ได้รับเงินจํานวนเท่ากัน ทําให้เหยื่อบางรายเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น
มาตราการเยียวยาของรัฐยังไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฏหมายระหว่างประเทศ ที่มองว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมิได้สร้างความเสียหายเชิงวัตถุซึ่งทดแทนได้ด้วยเงินเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายทางกายและใจ และสร้างความยากลำบากให้กับเหยื่อในการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมภายนอก การฟื้นฟูจึงต้องเป็นไปโดยครอบคลุมทั้งการเงิน สุขภาพ การศึกษา จิตใจ และสังคมวัฒนธรรม มิใช่เพียง จ่ายแล้วจบดังเช่นที่ผ่านมา
ในความเห็นของผู้เขียน เหตุการณ์ที่ตากใบ ควรจับผู้กระทำผิด และอยู่เบื้องหลังทั้งหมด ขึ้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC
ศาลอาญาระหว่างประเทศคือศาลสำคัญ เป็นกลไกช่วยปกป้องบุคคลให้พ้นไปจากการก่ออาชญากรรมร้ายแรงจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ และติดตามดำเนินคดีผู้กระทำความผิด แม้มีการนิรโทษกรรม ก็ไม่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นผิดไปได้
ในวงเสวนา ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า กรณีศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเมื่อกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ควรเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรคว่าถ้าเป็นเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลจะดำเนินการ 3 ข้อ
1.รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมทันที
2.ใช้ธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12 (3) รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะช่วงเวลา เฉพาะกรณี ให้ครอบคลุมถึงการสลายการชุมนุมปี 53 สงครามยาเสพติด หรือเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้
3.แก้ไขกฎหมายกำหนดความผิดอาญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฐาน ได้แก่ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และ รุกราน
นอกจากการระลึกถึงทุกปี การไม่ลืม การเยียวยาอันเหมาะสม นี่จะเป็นการทวงความยุติธรรม ทวงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนแก่ผู้ตาย