2519 แขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า 2565 แขวนเสรีภาพ

24 กันยายน 2519

วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ช่างการไฟฟ้า 2 คนถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม หลังติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของ พระถนอม

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าช่างการไฟฟ้า

สู่การแสดงละครของนักศึกษาในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 วันต่อมา ดาวสยาม หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาได้กล่าวหานักศึกษาที่แสดงละครแขวนคอว่าหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช พร้อมด้วยข้อหาล้มสถาบันกษัตริย์

ภาพจากหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ถูกนำไปปลุกระดมให้ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มฝ่ายขวาอื่นๆ เข้าปิดล้อมธรรมศาสตร์ ที่มีนักศึกษานับพันคนชุมนุมประท้วงกันอยู่ ก่อนเกิดการฆาตกรรมอันโหดเหี้ยม 6 ตุลา

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project โพสต์ว่า ภายหลังการล้อมปราบด้วยอาวุธหนักเช้ามืด 6 ตุลาคม 2519 ผู้ชุมนุมกว่า 3,000 คน ถูกจับและแยกย้ายไปควบคุมตัวตามสถานีตำรวจหลายแห่งในกรุงเทพฯ และโรงเรียนตำรวจทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 ตุลาคม 2519 รายงานว่า มีผู้ต้องหาถูกจับกุม 3,074 คน เป็นชาย 2,332 คน หญิง 643 คน

หกตุลาวันเกิดเหตุอันน่าเศร้าสลดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจตระเวนชายแดน และลูกเสือชาวบ้านเป็นแกนนำได้ใช้กำลังเข้าทารุณกรรม และสังหารชีวิตของนักศึกษา โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย โดยบางแหล่งอ้างถึงหลักร้อย

ธงชัย วินิจจะกูล ใส่ทัศนะลงใน ณ ปีที่ 30 หลัง 2519 6 ตุลายังคงเป็นหนามยอกอกของสังคมไทย? ความตอนหนึ่งว่า การเล่าเรื่องทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ยังคงกระทำไม่ได้ ยังต้องมีการ เซ็นเซอร์ตัวเอง อย่างระมัดระวังเสมอ ความหมายของ 6 ตุลาที่ความทรงจำดังกล่าวสร้างขึ้น จึงถูกจำกัดไปด้วยเช่นกัน

การรำลึก 6 ตุลานับจากปี 2539 เป็นต้นมายังคงอยู่ภายใต้กรอบเช่นนี้และพื้นที่จำกัดเช่นนี้ นี่คือสภาวะที่พ้นจากความเงียบงัน กลายมาเป็นที่ยอมรับกันว่า ลืมไม่ได้ แต่กลับยังไม่พ้นความกระอักกระอ่วน อิหลักอิเหลื่อ พยายามหลบเลี่ยงกลบเกลื่อน ไม่กล้าเผชิญหน้ากับอดีต

ยังคงมีขีดจำกัดมากมายในการแสวงหาความจริงและในการสร้างความหมายให้แก่อดีต นั่นคือ 6 ตุลายังคงเป็นอดีตที่ จำไม่ลง หรือจำได้ไม่ถนัดอยู่ดี

24 กันยายน 2565 แขวนเสรีภาพ

ตัวเลขอย่างต่ำๆ 1,853 คน คือจำนวนของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเรียกร้องต่อรัฐ นับแต่การเริ่มต้นขึ้นของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

นับตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 สิงหาคม 2565 ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมีทั้งหมด 3,685 ครั้ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี

ผู้ถูกกล่าวหา ข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 210 คน ในจำนวน 228 คดี เป็นเยาวชนจำนวน 17 ราย ใน 20 คดี

ระหว่างวันที่ 13-22 ก.ย. 2565 ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี จำนวน 8 คน ได้แก่ คทาธรและคงเพชร / สมบัติ ทองย้อย ผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊ส จำนวน 4 คน ได้แก่ หนึ่ง- เกตุสกุล / หิน-อัครพล / ดิว-สมชาย และ คิม-ธีรวิทย์ รวมถึง แซม-พรชัย ยวนยี จากกลุ่มทะลุฟ้า

สมบัติ ทองย้อย กล่าวว่าเป็นห่วงครอบครัว

หิน-อัครพล ระบายว่า เขาคงฝันถึงการออกไปใช้ชีวิตนอกเรือนจำ มีน้อง มีแม่ มีเพื่อนๆ มารอรับ หินแจ้งทนายว่าไม่สบายโดยมีอาการเหมือนเป็นโควิด มีน้ำมูก มีหวัด หายใจไม่ออกข้างหนึ่ง ยังได้กินแค่พาราอย่างเดียว หมอไม่ได้เข้ามาตรวจ

หนึ่ง- เกตุสกุล กังวลเรื่องการไม่ได้ประกันตัว เนื่องจากที่บ้านไม่มีคนหาเงิน แม่เดินไม่ได้

หากประเทศไม่มีเสรีภาพ ก็คงไม่ต่างอะไรกับการย้อนกลับไปสู่ห้วงเวลาที่ช่างการไฟฟ้า 2 คนถูกแขวนคอ

Author

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *