หกตุลาเวียนมาบรรจบอีกครา แต่ปีนี้ไม่เหมือนปีไหนๆ คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ กระหายรู้ ค้นลึกอดีตประหนึ่งนักธรณีวิทยาค่อยๆ ลอกชั้นดินประวัติศาสตร์บาดแผล เพื่อประจักษ์แจ้งแก่ความจริง ใครอยู่เบื้องหลังการฆ่านักศึกษาอย่างเหี้ยมเกรียม
นิทรรศการถูกจัดขึ้น รูปที่ไม่เคยได้เห็น เนื้อหาไม่เคยทราบ ทยอยหลั่งไหลราวขบวนรถไฟแห่งยุติธรรมเคยถูกควันดำโฆษณาชวนเชื่อบดบัง
Current Affair สกู๊ปทันสถาณการณ์ชิ้นนี้ เป็นการทวงถามความจริงอีกรูปแบบหนึ่ง ใช้กล้องจุลทรรศน์ขยายภาพถ่ายขาวดำมากมายสมัย 6 ตุลา 2519 กระทั่งภาพสี พฤษภาคม 2535 ฤดูร้อนแห่งการล้อมปราบ 2553 เพื่อพึ่งเครื่องมือที่เรียกว่ากฎหมาย ดักจับผู้อยู่เบื้องหลังขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC คืออะไร
ศาลอาญาระหว่างประเทศคือศาลสำคัญ เป็นกลไกช่วยปกป้องบุคคลให้พ้นไปจากการก่ออาชญากรรมร้ายแรงจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ และติดตามดำเนินคดีผู้กระทำความผิด แม้มีการนิรโทษกรรม ก็ไม่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นผิดไปได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นที่ เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) ประเทศเยอรมนี นำบุคคลผู้กระทำความผิดมาขึ้นศาลนี้ ต่อมาเห็นตรงกันว่า การตั้งศาลพิเศษเฉพาะกรณีไม่เหมาะสม ประเทศมหาอำนาจหรือประเทศผู้ชนะสงคราม อาจเข้ามาแทรกแซงตั้งศาลเฉพาะรายกรณีได้
ขณะเดียวกัน บรรดาประเทศมหาอำนาจที่อาจมีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ มักรอดพ้นจากการพิจารณาคดีเหล่านี้
ต้องมีศาลระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาคดีอาญาระหว่างประเทศ โดยให้เป็นศาลถาวรและอิสระ เกิดจากความร่วมมือและตกลงกันระหว่างรัฐสมาชิก ใช้กับรัฐสมาชิกทั้งหมด ใช้กับทุกกรณีที่เข้าองค์ประกอบความผิดอาญาระหว่างประเทศ
นี่คือที่มาของธรรมนูญกรุงโรม 2002 ที่จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้น ตั้งอยู่ที่ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
การรับคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ มีเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่ เขตอำนาจ ความเป็นศาลเสริม ความร้ายแรงของความผิด และหลักการไม่ต้องรับโทษ 2 ครั้งในความผิดเดียวกัน
สาระสำคัญโดยสังเขปคือ การกระทำความผิดใดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 จะไม่นำมาพิจารณา
ลักษณะความเป็นศาลเสริม ศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งขึ้นเพื่อเสริมศาลภายใน หากไม่มีเงื่อนไขข้อนี้ ความผิดอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้น สามารถฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องรอกระบวนการยุติธรรมภายในของแต่ละประเทศ
เท่ากับว่าศาลอาญาระหว่างประเทศใหญ่กว่าศาลภายในประเทศ เกิดการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตย ดังนั้น จึงต้องกำหนดให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลเสริม
เงื่อนไขความร้ายแรงของการกระทำความผิด แม้ว่าการกระทำความผิดจะเข้าฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หรืออาชญากรรมสงคราม แต่ลักษณะการกระทำผิดนั้นก็ต้องมีความร้ายแรงเพียงพอ
คำว่า ร้ายแรง คือ การกระทำผิดนั้นต้องทำกันเป็นระบบ และมีขนาดกว้างขวาง ลักษณะการกระทำความผิดเป็นความร้ายแรงโดยตัวการกระทำความผิดเอง
จะทำอย่างไรหากความผิดเกิดก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2545
โกตดิวัวร์ หรือ ไอวอรีโคสต์ ไม่ได้ให้สัตยาบัน แต่รัฐมนตรีต่างประเทศประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณีตามมาตรา 12 (3) ในวันที่ 18 เมษายน 2003 (2546) โดยยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2002 (2545)
เป็นที่ถกเถียงกันกันว่า การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีตามมาตรา 12 (3) จะกำหนดให้มีผลย้อนหลังกลับไปก่อนช่วงเวลาก่อนวันลงนามในคำประกาศได้ไหม
จากกรณีของโก๊ตดิวัวร์ ทำให้เกิดบรรทัดฐานขึ้นว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศยอมรับให้ประกาศเขตอำนาจศาลตามมาตรา 12 (3) ย้อนหลังกลับไปก่อนวันลงนามได้
การประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณีตามมาตรา 12 (3) ถ้าประเทศไทยให้สัตยาบันวันนี้ เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศจะไม่ย้อนหลังไปถึงกรณีล้อมปราบปี 53
ดังนั้น หากต้องการให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจเหนือการกระทำที่เกิดขึ้นย้อนหลัง จะใช้วิธีให้สัตยาบันไม่ได้ แต่ต้องใช้วิธีการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามมาตรา 12 (3)
ทางกฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่า การกระทำฝ่ายเดียวของรัฐบาล คือการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ไม่ได้ไปตกลงกับคนหนึ่งคนใด ดังนั้นไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ใช่สนธิสัญญา ไม่อยู่ในความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 190
จึงไม่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ รัฐบาลแสดงเจตจำนงได้เลย โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนาม
ท่านสามารถอ่านเต็มๆ ได้ที่ https://progressivemovement.in.th/article/progressive/7522/
ข้อถกเถียงในปัจจุบัน
ศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ว่า ให้รัฐบาลไทยทำประกาศฝ่ายเดียว ยอมรับเขตอำนาจของ ICC ตามมาตรา 12 (3) ของรัฐธรรมนูญกรุงโรม (The Rome Statute) นั่นคือขอให้ ICC เข้ามาสอบสวน เฉพาะบางกรณี เท่านั้น คือกรณีปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553
การทำ ประกาศฝ่ายเดียว นี้ไม่ใช่การลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงไม่ต้องผ่านรัฐสภา กรณีปี 2553 เป็นปฏิบัติการทางทหาร ที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นผู้ลงนามสั่งการ ไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ไม่มีอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก็ควรตัดการถกเถียงเรื่องประมุขของประเทศออกจากเรื่องนี้ไป
การประกาศยอมรับเขตอำนาจของ ICC ตามมาตรา 12 (3) ยังช่วยป้องกันปัญหาการหมดอายุความและการนิรโทษกรรม ไม่มีผลต่อการทำงานของ ICC เขารู้ดีว่านี่เป็นวิธีปกป้องคนผิด ให้ลอยนวลพ้นผิด (impunity) ของหลายประเทศ หัวใจสำคัญของการก่อตั้ง ICC คือยุติการลอยนวลพ้นผิด
ในวงเสวนา ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า กรณีศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเมื่อกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ควรเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรคว่าถ้าเป็นเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาลจะดำเนินการ 3 ข้อ
1.รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมทันที
2.ใช้ธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12 (3) รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะช่วงเวลา เฉพาะกรณี ให้ครอบคลุมถึงการสลายการชุมนุมปี 53 สงครามยาเสพติด หรือเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้
3.แก้ไขกฎหมายกำหนดความผิดอาญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฐาน ได้แก่ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และ รุกราน
ด้าน เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
“สุดท้ายมันกลับมาอยู่ที่คนที่กล้าใช้กฎหมาย ผู้พิพากษาหรืออัยการต้องกล้าที่จะทำตามหน้าที่ อาจยุ่งยากนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ขอให้เขาทำผิดกฎหมาย หรือเอาชื่อเสียงมาเสี่ยง ผู้พิพากษาในระบบของเราคืออะไร คือกลัว privilege กลัวอภิสิทธิ์ กลัวความสุขสบายของตนจะถูกสั่นคลอน กลัวที่จะถูกมองเป็นเด็กไม่น่ารักของผู้ใหญ่”
ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. แสดงความเห็นว่า ที่ต้องร้อง ICC ไม่ใช่เป็นเพราะคนเสื้อแดงตาย
“แต่ประเทศไทยถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ดิฉันไม่ได้ไปเรียกร้องเฉพาะปี 53 … เราร้องเพราะไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่คุณฆ่าแล้วคุณก็ลอยนวลพ้นผิด”
Scoop ชิ้นนี้ ขอขมวดจบว่า สำหรับเหตุการณ์อื่นๆ ที่ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น คงต้องอยู่ในดุลยพินิจของสังคม