ย้อนเส้นทางศาลรัฐธรรมนูญ ยุบทิ้ง หรือปฏิรูป

เป็นที่ขัดใจมหาชน หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปต่อ ด้วยมติ 6:3 ฝั่งฝ่ายไม่เห็นด้วยคิดว่านี่คือคำวินิจฉัยไม่ชอบธรรม วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ ถ้าว่ากันตามตัวบทกฎหมาย เราต้องนับตั้งแต่ปี 2560 กระนั้นในสายตาวรเจตน์ ประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมจะเป็นนายกฯ แม้แต่วันเดียว เพราะมาจากการรัฐประหาร

Current Affair สกู๊ปทันสถานการณ์ชิ้นนี้ พาไปย้อนดูเส้นทางศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมองไปข้างหน้าว่า เราควรยุบทิ้ง หรือปฏิรูป

กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตุลาการจัดตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หน้าที่หลักคือ การพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นอันตกไป อย่างไรก็ตาม บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในเส้นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

มีตั้งแต่การประกาศว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยุบพรรคการเมือง และการตัดสินให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง

30 พฤษภาคม 2550 ยุบพรรคไทยรักไทยและ 3 พรรคเล็กจากคดีจ้างลงเลือกตั้ง

9 กันยายน 2551 วินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นลูกจ้างเอกชน

2 ธันวาคม 2551 ยุบพรรคพลังประชาชน มีผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

29 พฤศจิกายน 2553 ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์

24 มีนาคม 2557 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

7 พฤษภาคม 2557 วินิจฉัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

7 มีนาคม 2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

18 กันยายน 2562 วินิจฉัยว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

20 พฤศจิกายน 2562 มติให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ พ้นจากสมาชิกสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่ายังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้านสื่อมวลชนที่ยังไม่แจ้งยกเลิกกิจการ แม้ว่าจะยุติการผลิตสิ่งพิมพ์และจ้างพนักงานไปแล้ว

21 มกราคม 2563 ยกคำร้อง คดีพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครอง หรือที่พรรคอนาคตใหม่เรียกว่า คดีอิลลูมินาติ

21 กุมภาพันธ์ 2563 ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

2 ธันวาคม 2563 วินิจฉัยว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

มองไปข้างหน้า ยุบทิ้ง หรือปฏิรูป

วันที่ 16 พ.ย. 2564 ณ รัฐสภา ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ชี้แจงว่า การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาแม้จะอมพระมาพูด ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ มีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อ เพราะมีที่มาจาก คสช.

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เสนอปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่มาโดยให้ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6 คน รวมเป็น 18 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาคัดเลือกเหลือ 9 คน ใช้มติ 2 ใน 3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล

เนื่องจากมีตัวแทนรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลฎีกา ฝ่ายละ 3 คน นอกจากนี้ ให้แก้ไขเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหลือเฉพาะเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น และให้ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระได้

แต่ไม่ใช่ถอดถอนโดยง่าย ต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการจากคณะก้าวหน้า เขียนไว้ตั้งแต่ ปี 2553 ว่า ระบบศาลในโลกนี้มีอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบศาลเดี่ยวกับระบบศาลคู่

ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ (Dual Court System) นั้น หมายถึงประเทศที่มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะแยกอิสระจากศาลยุติธรรมในลักษณะคู่ขนาน

ในประเทศไทยมีทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 40 บ้านเราใช้ระบบศาลเดี่ยว แต่ก็มีทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหาร

หากประเทศใดใช้ระบบศาลคู่ต้องมีศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าประเทศเราใช้ระบบศาลคู่แล้ว ผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2541 ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ดีพอสมควรในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยในหลายๆ ประเด็น อาทิ การยุบพรรคการเมืองต่างๆ”

การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างหลากหลายย่อมทำให้การวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ดีกว่าการที่มีที่มาจากแหล่งเดียว

ชำนาญแจงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและเด็ดขาด มีผลผูกพันบุคคล องค์กร และหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องได้รับแรงเสียดทานและวิชามารจากฝ่ายการเมือง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าตัวตุลาการเองต้องมีจรรยาบรรณ ความสุจริต ไม่เอาความชอบความชังส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และต้องกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ที่สำคัญสุดต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ รวมถึงการถูกยื่นถอดถอนจากวุฒิสภาด้วย

โดยสรุปคือหากจะยุบศาลรัฐธรรมนูญต้องยุบศาลปกครองด้วย เพราะในเรื่องของระบบศาลนั้นศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองเป็นของคู่กัน แต่จะให้ดีที่สุดก็คือยังคงไว้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพราะเป็นศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ส่วนตัวบุคคลก็ว่ากันเป็นรายไป เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรม

บทสรุป

หากเราจะยังมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ใช่หรือไม่ว่า ศาลนั้นควรยึดโยงกับเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีความเป็นกลาง และเป็นสถาบันอันเป็นที่พึ่งเพื่อยุติอารมณ์อันร้อนแรงของสังคม

นอกเหนือไปจากนี้ ประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้พิพากษา   

.

ขอคนละ ‘1 ชื่อ’ ให้เกิน ‘5 หมื่น’ ตามกฎหมายกำหนด ชวนผู้มี ‘สิทธิ์เลือกตั้ง’ ลงชื่อในร่างเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ที่ https://thevotersthai.com/support-us-signature/ เมื่อกดลิงค์เข้าไป กรุณากรอกให้ครบทั้ง 5 อย่าง ชื่อ-นามสกุล / เลขประจำตัวประชาชน / อีเมล / ติ๊กข้าพเจ้าขอรับรองความสมัครใจ / เซ็นชื่อ / เเละกดส่งชื่อ / ด้านล่างจะมีสรุปสาระสำคัญของร่าง และลิงค์ร่างฉบับเต็ม

Authors

  • บรรณาธิการ The Voters อดีตบรรณาธิการ WAY MAGAZINE ยุคสิ่งพิมพ์ ผู้ตั้งแคมเปญรณรงค์ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ และกระจายอำนาจ นักประพันธ์เจ้าของรวมเรื่องสั้น ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ

  • มนุษย์ขี้กลัว เพื่อนหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *