ดวงตาของพายุ: ยุตินิติรัฐอภิสิทธิ์ปลอดความผิด

จนถึงเย็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ดวงตาข้างขวาของ พายุ บุญโสภณ หรือ พายุ ดาวดิน โอกาสกลับมามองเห็นตามปกติยังอยู่ 0% ลดลงจาก 1 วันแรก ซึ่งเวลานั้นยังคงมีโอกาสอยู่ 1%

พายุได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางระหว่างการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาชุมนุมระหว่างการประชุม เอเปก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

พายุ เป็นนักกิจกรรมทางสังคม ในกลุ่มดาวดิน อันเป็นการรวมกลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อตั้งคำถามกับการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมในอีสาน พวกเขาเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 2557 และเมื่อการยึดอำนาจเวียนกลับมาถึง พายุและเพื่อนคือหนุ่มสาวจำนวนน้อยนิดแรกเริ่ม ที่ออกมาแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการยืนชู 3 นิ้ว ต่อหน้าโพเดียมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2557 แสดงการปฏิเสธอำนาจรัฐประหารอย่างสันติ  

ข่าวการพยายามรักษาดวงตาข้างขวา ได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดจากเพื่อนนักกิจกรรม ขณะเดียวกันการทวงถามถึงความคืบหน้าในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินต่อไป

ในวาระนี้ เราจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาปฏิบัติการที่นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งนี้

อภิสิทธิ์ปลอดความผิด ทำให้สามัญสำนึกหายไป

สภาวะยกเว้น รวมถึงการงดใช้สามัญสำนึกด้วย[1] คือบางช่วงบางตอนจากบทปาฐกถาของ ธงชัย วินิจจะกูล ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ธงชัยนำเสนอการค้นคว้าว่าด้วยประวัติศาสตร์ทางภูมิปัญญาของระบบกฎหมายไทย ก่อนจะเสนอแนวคิดที่สำคัญ 2 ประการ คือ นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม ซึ่งรายงานชิ้นนี้ขออธิบายถึงกรณีแรก กรณีเดียว เพราะเกี่ยวพันโดยตรงกับกรณีสลายการชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุจนเกิดความสูญเสีย ต่อพายุ สื่อมวลชน และประชาชนคนอื่นในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

เราคงไม่ต้องกล่าวซ้ำว่ากรณีการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุครั้งนี้ ไม่ใช่กรณีแรกในการเมืองไทย มีผู้ค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลไว้อย่างกว้างขวางว่า การสลายการชุมนุมจนมีคนบาดเจ็บล้มตายในสังคมไทยเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ไม่น้อยไปกว่าความรุุนแรงทางการเมืองในรูปแบบอื่น แต่เรื่องที่น่าคิดต่อคือ เหตุใดความรุนแรงในรูปแบบเดิมจึงเกิดซ้ำได้

ธงชัย วินิจจะกูล เสนอเรื่องนี้ไว้แล้วว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์มีส่วนอย่างอย่างสำคัญในการก่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำ โดยเป็นด้านที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบัน

ธงชัยโต้แย้งกับคำอธิบายทางนิติศาสตร์ไทยจำนวนหนึ่ง ที่มักเชื่อกันว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักการเท่ากับการบังคับใช้ ธงชัยเสนอว่าแท้จริงการมอบอภิสิทธิ์แก่คนบางกลุ่มบางพวก เป็นสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นปกติ หรือกระทั่งกลายเป็นสถาบันขึ้นมา ตัวอย่างที่สำคัญคือการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ก่ออาชญากรรม ซึ่งเกี่ยวพันกับทั้งองคาพยพของกระบวนการยุติธรรม

สังคมไทยคงได้ประจักษ์อย่างเอือมระอาแล้วว่า การใช้อาวุธเล็งเป้าอันตรายแก่ชีวิตของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนจนเกิดการสูญเสีย โดยไม่มีผู้รับผิดตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, เมษา-พฤษภา 53, การสลายการชุมนุมของคนหนุ่มสาวระหว่างปี 2563-ปัจจุบัน ไม่เคยมีครั้งใดที่ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษ

กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม นิติรัฐอภิสิทธิ์เสมือนใบอนุญาตให้ผู้มีอำนาจครอบครองอาวุธ ใช้อาวุธนั้นทำร้ายประชาชนโดยไม่มีความผิด

รัฐผูกขาดความรุนแรง แต่เพื่อความมั่นคงของรัฐ

ในทางวิชาการ การอนุญาตให้รัฐเป็นองค์กรเดียวที่ผูกขาดความรุนแรง ก็เนื่องมาจากต้องการให้มีการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ พร้อมๆ กับการที่รัฐต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎเกณฑ์ของรัฐสมัยใหม่[2] ทุกรัฐมีสิ่งนี้แต่การจัดการตามแนวทางอารยะเป็นสิ่งที่บ้านเมืองที่มีคุณภาพเขายึดถือกัน

ในทางปฏิบัติเราจะเห็นแบบแผนการควบคุมฝูงชนที่เป็นขั้นตอน มีหลักวิชา และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดีเยี่ยม เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถออกมาทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง มิพักต้องกล่าวถึงหลักการใหญ่โตเรื่อง เสรีภาพในการชุมนุม แต่เรื่องพื้นฐานช่น การหันกระบอกปืนยิงเหนือลำตัว ปุถุชนคงทราบดีว่านั้นคือความเสี่ยงที่อาจถึงตายต่อผู้ที่ถูกยิง

กรณีนี้เช่นนี้ ถูกนำไปพิสูจน์ในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับการชุมนุมในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกอาวุธปืนไรเฟิลสังหารในจุดที่สำคัญของร่างกาย และทั้งหมด 94 ศพ ไม่มีใครครอบครองอาวุธกับตัวแม้แต่รายเดียว[3]

นี่คือวงจรอุบาทว์ของความรุนแรง เราคงไม่อาจคาดหวังสังคมที่ดีได้หากยังมีนิติรัฐอภิสิทธิ์ ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้การก่ออาชญากรรมโดยรัฐ เกิดขึ้นซ้ำซาก และในระยะหลังมีความน่ากังวลมากยิ่งขึ้น มันหมายความว่า ในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อการชุมนุมจำนวนไม่มาก ก็เกิดความรุนแรงได้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ พายุ บุญโสภณ

ฉะนั้น ในเวลาไม่นานถัดจากนี้ คำอธิบายที่เรามักได้ฟังตามการแถลงข่าวของผู้บังคับบัญชาหลังเกิดความรุนแรง อาทิ “เรากำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง” “จะดำเนินไปตามขั้นตอน” “จะพิจารณาเยียวยาตามระเบียบ” “คงต้องว่าไปตามกฎหมาย” “ต้องทบทวนยุทธวิธี” ฯลฯ

ข้ออ้างเหล่านี้ นานเกินกว่าที่จะมาทำความเข้าใจ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจะเริ่มยุตินิติรัฐอภิสิทธิ์ ด้วยการเริ่มกระบวนการเอาผิดผู้กระทำเกินกว่าเหตุแก่ประชาชน ฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน พร้อมๆ กับการเรียกคืนความเป็นมืออาชีพให้แก่เจ้าหน้าที่

นี่คือเกียรติสูงสุดของผู้รักษากฎหมายบ้านเมือง อย่าให้มีดวงตาใครต้องสูญเสียอีก


[1] ปาฐกถาฉบับเต็ม ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม’ โดย ธงชัย วินิจจะกูล

[2] Max Weber, Weber’s Rationalism and Modern Society, translated and edited by Tony Waters and Dagmar Waters. New York: Palgrave Books, 2015, pp. 129-198.

[3] โปรดดูเรื่องนี้ใน ชัยธวัช ตุลาฑล และคณะ, ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจาการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 พิมพครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2555

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *