ฟุตบอลสร้างชาติฝรั่งเศส: ไม้ขีดไฟก้านแรกจากหญิงสาวอพยพ

ในหนังสือสังคมศาสตร์ว่าด้วยไทยศึกษา อันเลื่องชื่อที่สุดหลังการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลิน อย่าง Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation ธงชัย วินิจจะกูล เลือกเปิดประเด็นการค้นคว้าอันแสนพิสดารนั้น ว่าด้วยการกำเนิดรัฐ-ชาติ สมัยใหม่ของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการกล่าวถึงวิวาทะของแฟนบอลในสแกนดิเนเวียน หลังการคว้าแชมป์ราวกับเทพนิยายไวกิ้งของเดนมาร์ก ในการแข่งขัน EURO ปี 1992

นี่คือตำราที่ทำให้ Imagined Communities หรือชุมชนจินตกรรม ของ ศาสตราจารย์ Benedict Anderson ที่เป็น 1 ใน 10 หนังสือสังคมศาสตร์ที่ถูกอ้างอิงสูงที่สุดในโลก ต้องเพิ่มบทใหม่ในการปรับปรุงหนังสือ

ไม่มีสิ่งใดจะสะท้อนอิทธิพลของรัฐ-ชาติ สมัยใหม่ได้ดีที่สุด เข้าถึงสะดวกที่สุด เท่ากับกีฬาฟุตบอล เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะฟุตบอล คือกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และยิ่งทวีการเป็นกีฬามหาประชาชนแห่งสหประชาชาติมากยิ่งขึ้น หลังจากระบบทุนนิยมโลก ขึ้นมาเป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียว แทนคู่แข่งอย่างสังคมนิยม หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์หลายแห่งทั่วโลก

การเติบโตของฟุตบอล รัฐชาติ และทุนนิยม

ฟุตบอลจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัฒนธรรม (cultural processes) แบบที่ Benedict Anderson นิยามเอาไว้ แต่ทว่าของสองสิ่งอย่าง ทุนนิยม กับ รัฐ-ชาติ อาจจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกันและกัน หากแต่ผลักดันซึ่งกันและกันด้วย

กล่าวคือมีการเติบโตในแง่กำไรและตลาดของสโมสรฟุตบอลทั่วโลกจริง หลายประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางหรือยากจน ประชากรในประเทศนั้นๆ สามารถไต่เต้าทางสังคมผ่านการเล่นกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล ดาวประดับวงการจำนวนมาก ล้วนมีพื้นเพมาจากความยากไร้ในแผ่นดินบ้านเกิด ตั้งแต่หมู่บ้านเล็กๆ ในคาบสมุทรเกาหลี ประเทศที่เต็มไปด้วยฟอนไฟสงครามในแอฟริกา หรือเมืองที่เต็มไปด้วยเจ้าพ่อรีดไถในทวีปอเมริกา

แน่นอนว่าในโลกของฟุตบอลไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นความสุข หากยังมีความฉ้อฉล ความรุนแรงแฝงอยู่ในนั้น เช่น การขูดรีดแรงงานมหาศาลและการขับไล่ที่คนยากจน ในการเร่งก่อสร้างสนามฟุตบอลในบราซิล เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 หรือข่าวการติดสินบนในวงการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เป็นต้น

กระนั้น บทความนี้ต้องการจะกล่าวถึงด้านที่เป็นคุณบางประการ อันสะท้อนให้เห็นมิติของการใช้ประโยชน์จากกีฬาประเภทนี้ เพื่อยกระดับสังคมการเมืองภายในประเทศฝรั่งเศส ผลที่ตามมาทำให้ฝรั่งเศส เป็นตัวแบบของการผสานนโยบายโอบรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ชนชั้น โดยการใช้กีฬาฟุตบอลเป็นสื่อนำ

ดอกผลของการดำเนินนโยบายเช่นนี้ ส่งผลต่อเนื่องในอีก 2 ทศวรรษถัดมา เมื่อฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส อันนำโดยกันตันทีมเชื้อสายแอลจีเรีย อดีตอาณานิคมฝรั่งเศส พาชาติที่เป็นรัฐฆารวาส (secular state) นี้ ก้าวขึ้นไปคว้าถ้วย Jules Rimet ครั้งแรกได้ในปี 1998 และให้หลังอีก 20 ปี 11 ตัวจริงที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้อพยพหรือไม่ก็เป็นลูกหลานผู้อพยพก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่

ไม้ขีดไฟก้านแรกจากหญิงสาวครอบครัวผู้อพยพ

ผลลัพธ์อันน่าตื่นตาจากย่อหน้าที่แล้ว มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสออกนโยบายสนับสนุนการเล่นกีฬา ในปลายทศวรรษที่ 80 ต่อเนื่องถึง 90 พวกเขาสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเล่นกีฬา ในพื้นที่ที่มีผู้อพยพและชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมทางสังคม อันมาจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

ในงานเรื่อง Sporting Faith: Islam, Soccer, and the French Nation-State เขียนโดย Paul A. Silverstein ศาสตราจารย์ทางด้านมานุษยวิทยาแห่งวิทยาลัย Reed สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ครั้งแรก หลังจากทัพเลอเบอร์ (Les Bleus) ขึ้นแท่นรับรางวัลชนะเลิศในปี 1998  แสดงให้เห็นบริบทของการตื่นตัวนั้นมาจากกรณีศึกษาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง

ในวันที่ 18 กันยายน 1989 ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งชานเมือง Creil ตอนเหนือของกรุงปารีส ไล่เด็กผู้หญิงมุสลิมที่อพยพมาจากแอฟริกาเหนือ 3 คน เนื่องจากพวกเธอไม่ยอมถอดผ้าคลุมศรีษะระหว่างเข้าชั้นเรียน

สองสัปดาห์ถัดมาหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายอย่าง Libération หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาตีพิมพ์ เพียง 3 วันหลังการเผยแพร่เรื่งราวของเด็กผู้หญิงทั้ง 3 คน ที่ชื่อ Fatima, Leïla และ Samira ก็กลายเป็นประเด็นระดับชาติ แต่เหตุการณ์เหมือนกับจะลงเอยอย่างราบรื่นด้วยการยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย จากสมาคมวัฒนธรรมตูนีเซียในฝรั่งเศส ซึ่งมีมติอนุญาตให้นักเรียนเหล่านี้สามารถสวมผ้าคลุมศรีษะในห้องโถงโรงเรียนได้ แต่จะไม่อนุญาตในกรณีของห้องเรียน

แต่แล้ว เด็กหญิงทั้ง 3 ก็ถูกกีดกันออกจากห้องเรียนอีกครั้ง เนื่องจากพวกเธอยืนยันจะสวมผ้าคลุมศรีษะในห้องเรียน ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลง นำมาสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวางไปทั้งในวงการการเมือง ศาสนา การศึกษา ฯลฯ จนทำให้สมัชชาแห่งชาติต้องจัดประชุมเพื่อให้มีการอภิปรายจากทุกฝ่าย และถ่ายทอดการอภิปรายนั้นผ่านโทรทัศน์

เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหานี้ Lionel Jospin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส ในเวลานั้น ยืนยันหลักการแยกศาสนาออกจากการเมือง (secular state) ได้ถูกวิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างรุนแรง

หลักการนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาถึง บทบัญญัติที่ตราขึ้นในปี 1937 ระบุถึงหลักการแยกศาสนาออกจากรัฐ ขณะที่ Lionel Jospin เรียกร้องให้นักเรียนจะต้อง “ไม่มาโรงเรียนพร้อมกับเครื่องหมายใดๆ ที่ยืนยันว่ามีความแตกต่างทางศาสนา” แต่เขาก็ยืนยันว่าสิ่งนี้ไม่สามารถเป็นเหตุผลในการไล่ออกได้

จากนั้นเขาจึงยื่นเรื่องต่อสภาพิเศษแห่งรัฐ (Conseil d’État) ให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1989 ผลการวินิจฉัยคือ การสวมผ้าคลุมศีรษะของชาวมุสลิมนั้นไม่ขัดกับหลักการแยกศาสนาออกจากรัฐ และการไล่นักเรียนออก จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ “มีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามต่อคำสั่งของสถาบันหรือต่อรบกวนต่อการเรียนการสอน “

ในเดือนธันวาคม มีหนังสือเวียนจากกระทรวงศึกษาธิการให้ปฏิบัติต่อผ้าคลุมศรีษะ ในระดับเดียวกันกับไม้กางเขนของคริสเตียน หรือคิปปัส ของชาวยิว (หมวกที่ทำจากผ้าเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา) นี่คือการหาทางออกที่ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจากด้านหนึ่งยังรักษาหลักการของสาธารณรัฐที่แยกศาสนาออกจากรัฐ ในขณะเดียวกันก็ยอมรับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานและความสัมพันธ์อันดีกับชาวมุสลิม ด้วยการนับรวมคุณค่าที่เคยเป็นอื่นเข้ามาในรัฐ

แนวทางการตีความเช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีกในปี 1992 เมื่อมีหญิงสาวอีก 3 คน ในตอนใต้ของปารีสเผชิญการกดกันในลักษณะเดียวกัน รวมถึงในปี 1994 ที่เมือง Angers อันเกิดขึ้นกับนักเรียนเชื้อสายตุรกี

การแสวงหาทางออกที่ยอดเยี่ยมนี้ กลายเป็นโอกาสของทั้งชาวมุสลิมและรัฐบาลฝรั่งเศสอีกด้วย นโยบายด้านการศึกษาขยายรวมไปถึงการเปิดโอกาสทางด้านการกีฬา มีการใช้กีฬาเข้ามาลดอคติทางเชื้อชาติ และลดอัตราอาชญากรรม

เหรียญ 2 ด้านของชุมชนจินตกรรม

อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า การใช้กีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลในการสร้างรัฐฆราวาสของประเทศฝรั่งเศส ล้วนมีด้านที่ต้องระมัดระวัง ในงานเขียนอีกชิ้นของ Erin Ehlke เรื่อง French Soccer : Emphasizing the Importance of the Nation in International Competition ซึ่งเป็นงานศึกษาเรื่องการสร้างชาติ ของฝรั่งเศสผ่านฟุตบอล เธอเสนอว่า การแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติมีด้านที่ย้อนแย้งซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ในขณะที่มหกรรมเหล่านี้สร้างความสัมพันธ์อันดีในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ย้ำถึงอัตลักษณ์และความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันของชาติ

และในบางครั้ง การแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ก็ส่งผลต่อความตึงเครียดในระดับนานาชาติได้เช่นกัน และความรักชาติที่ถูกเร้าผ่านการแข่งขันกีฬาก็ส่งผลต่อปัญหาการเมืองภายในประเทศได้เช่นกัน เพราะความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ มีนัยถึงการตอกย้ำความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าในด้านหนึ่งฝรั่งเศสตัวแบบของการพัฒนาความเป็นชาติและรัฐฆาราวาสจากการใช้กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล อนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่าท่ามกลางการนับเป็นพวกเดียวกัน หรือ ชาติเดียวกัน บางครั้งเกิดขึ้นในกรณีที่ประสบความสำเร็จ และทอดทิ้งหรือเหยียดชาติกันในเวลาที่้ล้มเหลว

กรณีหนึ่งที่น่าจดจำเกิดขึ้นกับ เมซุส โอซิล กองกลางเชิงสูงของประเทศเยอรมนี เขาประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อเป็นกำลังสำคัญในการพาเยอรมนีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2014 ที่บราซิล แต่เมื่อผลงานของทีมตกต่ำลง เขาเป็นคนหนึ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากแฟนบอลจนโอซิล ถึงกับตัดพ้ออย่างเสียใจว่า

ผมเป็นคนเยอรมันตอนที่เราชนะ แต่เป็นผู้อพยพตอนที่เราแพ้

ชะตากรรมเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลที่มีพื้นฐานมาจากการอพยพหรือมีครอบครัวผู้อพยพ เช่น มาริโอ บาโลเตลลี อดีตกองหน้าทีมชาติอิตาลี ปาทริก เอวรา แบ็คซ้ายทีมชาติฝรั่งเศส

และอีกนับร้อยพันคน ที่ยังคงเผชิญปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published.