ชาติจะบรรลัย เพราะนิติสงคราม

ชาติจะบรรลัย เพราะนิติสงคราม เป็นบาทสุดท้ายของบทกวี ที่เขียนออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (7 พฤศจิกายน 2565) โดย พรชัย ยวนยี หรือ แซม ทะลุฟ้า[1] โดยข้อความเต็ม คือ

 “ลานิติรัฐ                   ลับนิติธรรม

โจรนิติย่ำ                     ยีนิติไทย

สูญนิติศาสตร์              สิ้นนิติไร้

ชาติจะบรรลัย             เพราะนิติสงคราม”

แซม ยังคงถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีพร้อมๆ กับ เยาวชนคนหนุ่มสาวและประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งยังคงถูกจองจำในคุกอีกจำนวน 15 ราย เป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี 11 ราย และเป็นนักโทษเด็ดขาด 4 ราย[2] ขณะที่มีหลายร้อยคนนอกเรือนจำต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากระหว่างการต่อสู้คดีที่คล้ายคลึงกันกับแซมและเพื่อน

อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งบทกวี ที่แซมฝากถึงลูกสาววัย 8 ขวบ ว่า

“ฝากจันทราห่มผ้าลูกข้าหน่อย

ฝากหมู่ดาวดวงน้อยนิดกลุ่มนั้น

สกาววาววับแสงส่องเตือนจันทร์

อย่าลืมคำสัญญาฝังฝาก… ทุกคืนนะจันทร์เอย… คิดถึงนะจ๊ะลูก…”

ขณะที่บทแรกเสมือนการบอกกล่าวความสิ้นหวังที่เจ้าตัวกำลังเผชิญ อันเปรียบดั่ง โลกทัศน์ ที่แวดล้อมการต่อสู้ทางการเมืองของเขา แต่บทหลังกลับกล่าวถึง ชีวทัศน์ อันหมายถึงลูกสาวคนเดียวของเขา ถ้าบทแรกเป็นภาพแทนบริบทอันสิ้นหวัง บทหลังก็คือหวังที่อยู่นอกกำแพงคุก 

จนถึงวันนี้ แซมถูกจองจำมาเป็นเวลากว่า 4 เดือน โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไปแล้วถึง 14 ครั้ง โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ให้ประกันถึง 11 ครั้ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันอีก 2 ครั้ง แต่ศาลก็ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยล่าสุดทนายความยื่นคำร้องขอประกันต่อศาลเป็นครั้งที่ 14 ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 10 พ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. พร้อมกับการไต่สวนคำร้องของ สินบุรี แสนกล้า หรือ แม็ก ทะลุฟ้ และ มิกกี้บัง ทะลุฟ้า 2 ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอันเนื่องมาจากการถูกกล่าวหาเดียวกันกับแซม

ชีวิตการต่อสู้บนพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของหลายร้อยพันชีวิตที่ต้องเผชิญประดาคดีความที่เป็นผลมาจากแรงจูงใจทางการเมือง

เมื่อวางบริบทของการต่อสู้คดีความของเหล่าเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่เกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา กับการถอยหลังของระบอบประชาธิปไตยไทย เราจะพบว่าชีวิตเหล่านี้คือตัวอย่างของกระบวนการที่เรียกว่านิติสงคราม (lawfare)

คนแรกๆ ที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เขาเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาหลังจากที่มีการใช้เครื่องมือทางการเมืองตั้งแต่การยุบพรรคการเมือง การใช้กฎหมายความมั่นคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ไปจนถึงใช้วิธีนอกกระบวนการยุติธรรมปกติเข้าข่มขู่ คุกคาม ประชาชน ในนามของผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อาทิ การบุกไปถึงบ้านพักผู้ถูกเป็นเป้าหมาย การพบผู้ปกครองของเยาวชนและตักเตือน การใช้วาจาคุกคามทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น ไปจนถึงบางคนต้องเผชิญกับความกังวลถึงสวัสดิภาพของชีวิต จนต้องลี้ภัยจากประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง[3]

โดยในทางทฤษฎีแล้วนิติสงครามมักเกิดในประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการแบบลูกผสม หมายความว่า มีการโอนการใช้อำนาจปราบปรามประชาชนไปยังองค์กรของรัฐที่ดูเสมือนมีอำนาจตามกฎหมาย แต่กฎหมาย บุคคล ที่มาของสถาบันผู้ใช้อำนาจนั้นไม่ได้มาจากประชาชน

หากกล่าวอย่างเคร่งครัด สิ่งที่เรียกกันว่านิติสงครามในสังคมไทย เมื่อคิดตามบทกวีของแซมและการเปิดประเด็นโดยปิยบุตร นั้นหาใช่ เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาว ในการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างปี 2563-2565 ทว่า นับเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และจงใจของคณะรัฐประหาร 2557 สืบเนื่องมายังรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งปี 2562

สิ่งที่ยืนยันให้เห็นความจริงข้อนี้ มี 2 ประการ คือ

หนึ่ง แบบแผนของการตั้งข้อหา จับกุม และดำเนินคดี และ

สอง ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม

ประการที่หนึ่ง แบบแผนของการตั้งข้อหา จับกุม และดำเนินคดี ชีวิตประชาชนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเริ่มต้นขึ้นจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปฏิเสธรัฐบาล รายงานสิทธิมนุษยชนหลายฉบับชี้ให้เห็นตรงกันว่าในช่วง 100 วันแรก หลังการยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557 นั้น มีอาศัยอำนาจตามประกาศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมจัดการผู้ต้องสงสัยว่าต่อต้านการรัฐประหาร ก่อนที่ประกาศของหัวหน้า คสช. จะไปปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

นิติสงคราม ซึ่งตามนิยามแล้วมันหมายถึง การใช้กฎหมายและสถาบันทางกฎหมายเพื่อทำลายอำนาจฝ่ายตรงข้าม และขัดขวางการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล[4] เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตั้งแต่หลังการยึดอำนาจ

แบบแผนการใช้อำนาจเช่นนี้ มักปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาสำคัญ เช่น การทำประชามติในปี 2559 และการรณรงค์ให้มีการจัดการเลือกตั้งของคนอยากเลือกตั้งในปี 2561 แบบแผนเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งในปี 2562 จะเห็นได้ว่าตลอด 8 ปี ภายใต้โครงสร้างอำนาจของรัฐบาล คสช. สืบทอดมายังรัฐบาลปัจจุบัน เกิดคดีความอันมีมูลเหตุจากการแสดงออกทางการเมืองต่อเนื่อง

ประการที่สอง ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในความหมายนี้ เป็นการนิยามแบบกว้างนั่นคือครอบคลุมไปไกลกว่าแค่ศาลยุติธรรมในระบบปกติ หากแต่ยังรวมไปถึงผู้มีอำนาจตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจค้น ตั้งข้อกล่าวหา จับกุม ดำเนินคดี สั่งฟ้อง พิจารณาคดี พิพากษา ลงโทษ

แบบแผนเหล่านี้ปรากฏทั้งในระดับตัวบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐและระดับองค์กร ซึ่งตามนิยามของนิติสงครามแล้วรวมไปถึงการทำให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้องเสียเวลา เสียเงินและทรัพยากร ไปจนกระทั่งเสียชีวิตระหว่างเผชิญข้อกล่าวหา กรณีนี้เราอาจรวมถึงมาตรการลงโทษล่าสุดที่กำหนดให้ผู้ต้องหาต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ติดตามตัว แม้ว่าเธอและเขาจะได้รับสิทธิ์ปล่อยตัวชั่วคราวก็ตามที

เหล่านี้คือภาระของการต่อสู้คดี ที่มีราคาค่างวดตั้งแต่ความเครียดไปจนถึงสภาวะร่างกายของตนเองและบุคคลที่แวดล้อมทั้งในครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน ฯลฯ

โจทย์ที่น่าสนใจสำหรับผู้รักความเป็นธรรมคือ เราจะระบุให้เห็นสภาวะของนิติสงคราม ว่ามิได้หมายถึงกระบวนการปกติอย่างไร จะบอกโลกได้แค่ไหนว่า กฎหมายไม่ได้เท่ากับความยุติธรรม

ขณะที่โจทย์ของผู้สนับสนุนการใช้นิติสงคราม น่าจะเป็นว่า ท่านต้องการจะสร้างสังคมแห่งการปราบปรามไปนานเพียงใด กระบวนการนิติสงครามเมื่อใช้ในฐานะวิธีการนานวันเข้ามันก็สามารถกลืนกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง สภาวะเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ปกครองหรือผู้ถูกปกครอง


[1] แซม-พรชัย ฝากกวีถึงลูกสาว ขณะถูกคุมขังคดี ม.112 เข้าเดือนที่ 4 แล้ว

[2] ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565

[3] จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

[4] Michael P. Scharf and Elizabeth Andersen, Is Lawfare Worth Defining – Report of the Cleveland Experts Meeting – September 11, 2010, 43 Case W. Res. J. Int’l L. 11 (2010)

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published.