ปลดล็อกท้องถิ่นมอบอำนาจให้แก่เจ้าของอธิปไตย

การนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดย คณะก้าวหน้า และ ประชาชน จำนวนกว่า 80,000 คน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งในการอภิปราย

เหตุผลสำคัญที่ผู้เสนอร่างฯ นำเสนอ มีเรื่องหลักๆ อยู่ 4-5 ประเด็นดังนี้ 1. ภารกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ที่การปกครองส่วนกลาง 2.การถ่ายโอนภารกิจให้แก่ท้องถิ่นไม่มีสภาพบังคับ 3. องค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบมีแนวโน้มตีความจำกัดอำนาจส่วนท้องถิ่น 4. การดำเนินงานท้องถิ่นเป็นไปอย่างยากลำบากทั้งในด้านอำนาจหน้าที่ การบริหารจัดการ และ 5. งบประมาณที่จำกัดของท้องถิ่นอันมาจากข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีและจัดการเงินอุดหนุน เป็นต้น

ตลอด 90 ปี นับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นมา เราคงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ให้อำนาจแก่รากฐานของการเมืองการปกครองไทย นั่นคือการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่ในทางทฤษฎีต่างยอมรับกันว่า ประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศคือรากฐานสำคัญของการเมืองที่ดี

ขณะทางปฏิบัติ การเข้าใกล้สู่การกระจายอำนาจสู่การปกรองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดในรัฐธรรมนูญ 2540 ส่งผลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย แม้ว่าจะมีข้อกังวลไม่น้อยต่อการกระจายอำนาจเมื่อ 20 ปีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ข้อเท็จจริงคือมีงานวิชาการจำนวนมากยอมรับว่า กระจายอำนาจแม้จะยังทำได้ไม่เต็มสรรพกำลัง แต่ได้ผลิดอกออกผล ส่งเสริมการพัฒนาในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จากท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ

และแม้ว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น 2 ครั้ง และทุกครั้งนำไปสู่การตัดตอนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่พบว่ามีการยุติหรือยับยั้งการกระจายอำนาจกลับไปยังยุคสมัยก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง ทำได้เพียงทอนอำนาจบางส่วนหรือไม่ก็ประวิงเวลาการกระจายอำนาจนั้นออกไป

คำถามที่ตามมาคือ หากพิจารณาจากเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าแล้ว เราจะพบว่ามีข้อถกเถียงที่มีน้ำหนักควรค่าแก่การอภิปรายกันต่อ หากว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภา น่าจะเป็น 3 เรื่อง คือ 1.การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค 2.อำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น

เรื่องแรก การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอดีตข้าราชการเกษียณ ผ่านการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เราก็จะพบว่าได้อภิปรายแสดงข้อกังวลไว้พอสมควร ซึ่งหากตัดเรื่องท่าทีเรื่องท่วงทำนองออกไป ในแง่ภววิสัยแล้ว ต้องยอมรับว่า การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา แม้จะไม่สามารถหยุดยั้งกระแสธารของการกระจายอำนาจได้ แต่ก็ได้มีการเพิ่มอำนาจและภารกิจให้แก่การปกครองส่วนภูมิภาคผ่านกลไกไปสู่ระดับท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น เหล่านี้มีการเพิ่มค่าตอบแทน มีการให้งบประมาณและอำนาจ รวมไปถึงขยายวาระการดำรงตำแหน่ง ฯลฯ

คนกลุ่มนี้ มีจำนวนไม่น้อยในระดับท้องถิ่นแล้วอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบสั่งการสูง นี่จึงเป็นส่วนที่ต้องเผชิญแรงเสียดทานอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางออกที่น่าจะเป็น หากมีการอภิปรายกันต่อคือ เราจะเปลี่ยนบทบาทของการปกครองส่วนภูมิภาคเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกับประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างไร

ประการต่อมา อำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะมีข้อเสนอที่ชัดเจนจากผู้เสนอร่าง แต่ก็พบว่าหลายข้ออาจจะต้องมีการทบทวน เช่น ให้อำนาจการตัดสินใจแก่ท้องถิ่นแบบ 100% โดยยกเลิกการกำกับดูแล และให้อำนาจการตรวจสอบแก่ศาลปกครอง

ผู้เขียนไม่มีปัญหาต่อการให้อำนาจแก่ท้องถิ่น 100% ซึ่งนั่นคือความปรารถนาที่ถูกต้อง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นโดยไม่ปลดล็อกโครงสร้างสถาบันทางการเมืองระดับประเทศพร้อมๆ กัน อาจจะเผชิญปัญหาอีกแบบ นั่นคือ ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยปัจจุบัน ผลประโยชน์มหาศาลกำลังถูกผูกขาดโดยทุนผูกขาด ร่วมกับนักการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร คำถามคือ ผลประโยชน์ระดับจังหวัดที่ผูกขาดไปจนถึงท้องถิ่น ภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่ยังไม่เป็นธรรม อำนาจการตัดสินใจของท้องถิ่นจะสามารถเป็นอิสระได้มากน้อยเพียงใด

องค์กรอิสระที่เข้ามาตรวจสอบอำนาจของท้องถิ่น ยังไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชน จะเป็นไปได้หรือไม่ที่การ ปลดล็อกท้องถิ่น จะดำเนินไปพร้อมๆ กับการแก้ไขให้สถาบันทางการเมืองกลับมาเชื่อมโยงกับประชาชน อย่างน้อยที่สุดในระดับเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540

ประการสุดท้าย เรื่องรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจะมีการเขียนไว้อย่างกว้างๆ ถึงการคงอยู่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายชนิดตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. เป็นต้น หากร่างฉบับนี้เข้าสู่สภา ก็นับว่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการภิปรายต่อไปว่า

รูปแบบของการ ปลดล็อกท้องถิ่น จริงๆ จำเป็นต้งเพิ่มหรือลดความ ซับซ้อน และ ซ้ำซ้อน การอนุญาตให้มีรูปแบบเฉพาะจะสามารถแก้ไขปัญหา รัฐรวมศูนย์ด้อยเอกภาพ แบบที่สังคมไทยเผชิญมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมาอย่างไร

เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง

ถึงที่สุด แม้ว่าอนาคตเราจะยังไม่ทราบว่าชะตากรรมของการกระจายอำนาจไทยจะเดินไปถึง ณ จุดใด แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำสำเร็จแล้ว คือ การคืนความเป็นการเมืองให้กับประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่ยังไม่มีอำนาจจริง

ในสังคมที่มีสติปัญญา ควรใช้โอกาสในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ร่วมกันถกเถียงไปยังอนาคตของประเทศร่วมกัน

Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *