โลกขยับ-อาเซียนนิ่ง ท่าทีล่าสุดต่อความเหี้ยมใน เมียนมาร์

สถานการณ์ความไม่สงบของเมียนมาร์นับตั้งแต่มีการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 มาจนถึงขณะนี้ยังคงได้รับความสนใจจากทั่วโลก แม้ว่าความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาร์ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้ายมาเป็นเวลาแรมปี และนักสังเกตการณ์หลายฝ่ายต่างตั้งข้อสังเกตว่าการกดดันจากนานาชาติ ยังไม่ส่งแรงขยับอย่างเพียงพอต่อรัฐบาลคณะรัฐประหาร มินอ่อง ลาย

อย่างไรก็ตาม ก้าวเล็กๆ แต่สำคัญจากที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Myanmar: UN Security Council resolution a small but important step in addressing human rights crisis) ในสัปดาห์นี้เกิดขึ้น เมื่อที่ประชุมสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง มีมติให้รัฐบาลคณะรัฐประหารเมียนมาร์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและยุติการควบคุมประชาชนตามอำเภอใจโดยทันที นับเป็นการรับรองมติครั้งแรกในประวัติศาสตร์รอบ 74 ปี

องค์การแอมเนสตี้สากล ระบุว่า มตินี้แม้จะไม่ได้กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะสามารถส่งผลต่อสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาร์ได้ เช่น มาตรการห้ามการค้าอาวุธอย่างครอบคลุม การลงโทษต่อผู้นำกองทัพเมียนมาร์ที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมไปถึงการยื่นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยในเมียนมาร์ต่อศาลโลกที่กรุงเฮก เป็นต้น[1]

มติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารผ่านไปนานเกือบ 2 ปี แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีในการเริ่มคลี่คลายและกดดันรัฐบาลคณะรัฐประหารเมียนมาร์ โดยสถานการณ์ตลอด 20 เดือนที่ผ่านมา รายงานชิ้นเดิมระบุว่า มีผู้คนชาวเมียนมาร์กว่า 1,400,000 คน ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ กว่า 13,000 คน ต้องควบคุมขังในสภาพที่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม โดยในจำนวนนี้มี 73 รายที่ต้องโทษประหาร และเด็กๆ เมียนมากว่า 7,800,000 คน ต้องออกจากโรงเรียน

นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นไม่ต่างไปจากยุคบรรพชนของเผด็จการทหารที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 1962-2011 ก่อนจะถ่ายอำนาจกองทัพไปไว้ในรัฐธรรมนูญ และในเกมของมติมหาชนพวกเขาก็แพ้ให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) แม้ควบคุมการเลือกตั้งและวางกับดักประชาธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

วิธีการป่าเถื่อนด้วยการยึดอำนาจกลับมาอีกครั้งในปี 2021 แต่ครั้งนี้ทารุณกว่าครั้งใดๆ รายงานของแอมเนสตี้ระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาร์ทำการรัฐประหาร พวกเขาสังหารประชาชนไปแล้ว 2,600 คน เหยื่อประกอบด้วยนักเคลื่อนไหว ผู้ประท้วงต่อต้าน และพลเรือน ซึ่งนับเป็นความรุนแรงต่อเนื่องจากเหตุการณ์ขับไล่ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนในปี 2017

กรณีของเมียนมาร์ ยืนยันให้เห็นว่าในสถานการณ์จนตรอกที่สุด เผด็จการทหารพร้อมจะกระทำการที่คิดน้อยที่สุด สถานการณ์ของเมียนมาร์ทำให้ทั่วโลกแทบลืมไปว่านี่คือประเทศที่นับตั้งแต่ต่อสู้ปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ พวกเขาคือชนชาติที่ยิ่งใหญ่เป็นแนวหน้าของการเชิดชูประชาธิปไตยและสันติภาพโลก แต่การปกครองที่พาประเทศไปสู่หลังม่านไม้ไผ่ การกดดันจากนานาชาติไม่มากก็น้อยมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เมียนมาร์ยอมผ่องถ่ายอำนาจ

แต่หลังจากเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ไม่นานนักองค์กรอาเซียนที่เริ่มต้นจากความร่วมมือทางการเมือง กลับกลายเป็นเสือกระดาษที่อ่อนศักยภาพทางการเมือง เหตุผลสำคัญคือความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในชาติสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีพรมแดนด้านทิศตะวันออกของเมียนมาร์ ซึ่งมีสภาพไม่ต่างกันนักหลังจากเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในรอบ 8 ปี และรัฐบาลอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพ

ฉะนั้น เมื่อบทบาทนำที่เคยเกรียงไกรของไทยต่อสถานการณ์เพื่อนบ้าน ได้หายไปจากความทรงจำแล้ว ความพยายามเล่นบทบทนำในการแก้ปัญหาในเมียนมาร์ของรัฐบาลไทยที่เกิดขึ้นตามมาในวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงประสบข้อจำกัด

กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้จัดให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมาร์ ทว่ากลับไม่ได้รับความร่วมมือจากชาติสมาชิกเท่าที่ควร ดังจะพบว่าตัวแทนระดับสูงของชาติสมาชิกที่เข้าร่วมจำกัด และมีหลายประเทศไม่ส่งตัวแทนการเข้าร่วม ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมถึงชาติประธานอาเซียนล่าสุดอย่างอินโดนีเซีย

เหตุผลสำคัญจากการวิเคราะห์ของ Nikkei[2] คือการที่ไทยเชิญผู้นำคณะรัฐประหารจากเมียนมาร์เข้าร่วมประชุมด้วย และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในความพยายามเช่นนี้จากรัฐบาลไทย

ประเทศไทย ซึ่งกองทัพมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพันธมิตรจากเมียนมาร์  ทำให้การเป็นเจ้าภาพการประชุมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับนาย วันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาร์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพนั้นจึงไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่น

นี่คือสถานการณ์ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ในขณะที่โลกโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเริ่มขยับ แม้ว่าจะมีบางประเทศที่ยังสงวนสิทธิในการลงมติงดอกเสียง เช่น รัสเซียและจีน

แต่ก็นับว่าเป็นก้าวที่น่าสนใจ ขณะที่อาเซียนอันเป็นองค์กรที่เคยได้รับการยอมรับสูงโดยเฉพาะในทศวรรษ 1990 แต่นับตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่  21 เป็นต้นมา

ภาพของการเป็นเสือกระดาษก็นับว่าชัดขึ้น และชัดขึ้น


[1] Myanmar: UN Security Council resolution a small but important step in addressing human rights crisis

[2] ASEAN’s Myanmar rift highlighted as key members skip meeting

Authors

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *