สังคมเอียงขวากับการพัฒนาประชาธิปไตยประสบการณ์จากญี่ปุ่น

ในบทความชิ้นก่อน ผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวคิดอนุรักษนิยมของญี่ปุ่นที่มีความเข้มข้นขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล พรรคเสรีประชาธิปไตย ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ในบทความนี้ก่อนที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับสังคมอนุรักษ์ของญี่ปุ่น ผู้เขียนจะขอนิยามความหมายของสังคมอนุรักษนิยมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเสียก่อน

แนวคิดอนุรักษ์ หรือขวา ในที่นี้หมายถึงความนิยมในวัฒนธรรม ศีลธรรม เน้นระเบียบวินัย เน้นการใช้อำนาจบังคับ นิยมชมชอบชนชั้นสูงและขุนนาง มีลักษณะชาตินิยมในเชิงลบสุดขั้ว ให้คุณค่ากับกลุ่มคนหรือชุมชนมากกว่าปัจเจก ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงและมุ่งรักษาค่านิยมดั้งเดิมของสังคมเอาไว้ โดยความหมายของมันแล้วอนุรักษนิยมดูจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเสรีอยู่มิใช่น้อย ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นนั้นทั้งสังคมและการเมืองของญี่ปุ่นล้วนฉายให้เห็นภาพของความอนุรักษ์ที่เข้มข้น

จุดเริ่มต้นของแนวคิดอนุรักษนิยมญี่ปุ่นสมัยใหม่เป็นผลมาจากแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งแบบญี่ปุ่นในช่วงจักรวรรดิญี่ปุ่นออกล่าอาณานิคมเพื่อหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากกองทัพแล้วคนญี่ปุ่นและรัฐบาลยังสนับสนุนแนวคิดของกองทัพที่รู้สึกว่าชนชาติของตนเองมีวิญญาณนักรบ มีความเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ ในโลก[1] คล้ายกับชาตินิยมสุดโต่งของนาซีเยอรมันที่เชื่อว่าชาวอารยันคือชนเผ่าที่ดีกว่าชนเผ่าอื่นๆ ในกรณีของญี่ปุ่นนำไปสู่การบุกรุกจีนจนเกิดโศกนาฎกรรมนานกิง

รวมถึงการบุกรุกฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และเกาหลี ซึ่งการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ยุติลงเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อสหรัฐอเมริกานำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเข้ามามีอิทธิพลในญี่ปุ่นของสหรัฐฯ และทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมีกองทัพประจำการได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามรากฐานความคิดชาตินิยมของญี่ปุ่นไม่ได้หายไปด้วยแต่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมและการเมืองญี่ปุ่น

แนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมืองของญี่ปุ่นปรากฏอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ระบอบการเมืองของญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงน้อย มีการเปลี่ยนพรรคการเมืองหลักในรัฐบาลเพียงแค่ 4 ครั้ง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองหลักในช่วงปี พ.ศ. 2498 – 2536 เลย[2]  ซึ่งพรรคการเมืองหลักที่เป็นพรรครัฐบาลมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นคือพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเอียงขวามาทางอนุรักษนิยม ตัวอย่างเช่น ในการออกฎหมายที่สนับสนุนการสมรสเท่าเทียมของกลุ่มเพศหลากหลาย ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ สนับสนุนการออกกฎหมายดังกล่าว แต่พรรค LDP ยืนกรานที่จะไม่สนับสนุนข้อกฎหมายนี้[3]

นอกจากนี้ยังมีนโยบายหรือการแสดงออกจากรัฐบาลพรรค LDP ที่บ่งชี้ไปถึงค่านิยมแบบอนุรักษ์ เช่น ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจในทางการทหารของรัฐบาล ชินโซ อาเบะ เมื่อปี 2560[4] และการเยือนศาลเจ้ายาสุกุนิซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิทหารนิยมของญี่ปุ่นในอดีตของรัฐมนตรี[5] ทั้งนี้สัดส่วนของผู้ชายในพื้นที่การเมืองยังมีจำนวนมากกว่าผู้หญิงทั้งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีผู้หญิงเพียง 8.1% อีกด้วย[6]

สำหรับในแง่มุมทางสังคมนั้นมีทั้งแง่มุมที่เป็นอนุรักษนิยม เช่น การพูดคุยเรื่องการเมืองซึ่งเป็นประสบการณ์โดยตรงที่ผู้เขียนได้เจอ หลังจากเกิดเหตุลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไทยผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยคงพูดคุยกันเรื่องนี้อย่างออกรส ในขณะที่คนญี่ปุ่นกลับหลีกเลี่ยงที่จะแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวไปมากกว่าแสดงความเสียใจและตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากผลงานของอดีตนายกฯ อาเบะนั้นมีทั้งคนรักและคนเกลียดมากมาย เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น คนญี่ปุ่นเลยหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องการเมืองและคุยเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันแทน

ทั้งยังมีเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ยังคงปรากฏอยู่ในสังคมญี่ปุ่น เช่น มหาลัยชื่อดังของญี่ปุ่นอย่างมหาวิทยาลัยโตเกียวนั้นมีสัดส่วนของนักศึกษาชายต่อนักศึกษาหญิงถึง 8:2[7] รวมถึงปรากฏว่ามหาวิทยาลัยอย่างน้อย 9 แห่งทั่วประเทศใช้วิธีกีดกันในตอนสอบเข้าเพื่อไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาเรียนแพทย์[8] หรือการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงานที่บริษัทจำนวนมากเลือกพิจารณาเอกสารสมัครงานของเพศชายก่อน ในที่ทำงานจึงมีสัดส่วนของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง[9] ทั้งนี้เพราะสังคมยังมีค่านิยมว่าผู้หญิงต้องแต่งงาน มีลูกและลาออกไปเป็นแม่บ้าน ทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูก

ผู้เขียนยังมีประสบการณ์ตรงกับความไม่เท่าเทียมทางเพศเหล่านี้ เช่น จำนวนนักศึกษาหญิงในระดับปริญญาโท-เอกที่มีน้อยกว่าผู้ชายมาก หรือการที่ร้านอิซากายะ (ร้านอาหารที่เน้นขายเหล้าและกับแกล้ม) จะมีจำนวนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงนั้นจะเลือกไปที่ร้านแบบบาร์ หรือดื่มที่บ้านเพื่อน หรือดื่มกับครอบครัวมากกว่า

สินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่นที่ล้วนมีคู่มือการใช้งานและคำสั่งการใช้งานเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมดด้วย

อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็ยังมีบางแง่มุมที่ความความเสรีนิยมอยู่บ้าง เช่น ระบบคู่ชีวิตในโตเกียว[10] แต่การลงทะเบียนเป็นคู่ชีวิตดังกล่าวมีอยู่แต่ในระดับท้องถิ่น และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ไม่เหมือนกับการแต่งงาน ไม่มีเรื่องการสืบทอดมรดกและสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเป็นสิทธิที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เท่านั้น หากมีการย้ายที่อยู่ระบบนี้ก็อาจโอนย้ายไปไม่ได้ ทั้งยังไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารร่วมกันอีกด้วย

รวมถึงการที่ไม่มีศาสนาประจำชาติอันเป็นผลมาจากการแยกศาสนาออกจากการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความหลากหลายมากที่สุดประการหนึ่งคือการปกครองส่วนท้องถิ่นญี่ปุ่นที่สามารถมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิการ ความเป็นอยู่และการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น

ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความ เอียงขวา ทั้งทางการเมือง สังคม และวิถีชีวิต แต่การเลือกตั้ง สถาบันการเมืองต่างๆ ก็เป็นกฎกติกาเดียวในการปกครองประเทศ มีการเลือกตั้งตามวาระ แต่ทว่าการที่พรรค LDP ได้รับชัยชนะเป็นพรรคหลักในการก่อตั้งรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการครอบงำของพรรค LDP ที่เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดอนุรักษ์

นับเป็นความท้าทายของคนรุ่นกลางวัยทำงาน และรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นอย่างมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิกเฉยทางการเมือง ไม่กระตือรือร้นในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งระดับชาตินัก เนื่องจากเลือกไปอย่างไรพรรค LDP  ที่มีฐานเสียงเป็นผู้สูงวัยและชาวนาก็ชนะการเลือกตั้งอยู่ดี ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเป็นระเบียบของสังคมมากกว่าค่านิยมในเรื่องของเสรีภาพและความเท่าเทียมอีกด้วย[11]

ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีแนวคิด เอียงขวา ฝังลึกอยู่ในสังคมและการเมือง โดยจุดเริ่มต้นของความขวานั้นเป็นผลมาจากลัทธิชาตินิยมสุดโต่งของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะแพ้สงครามและสหรัฐฯ ได้เข้ามาวางรากฐานการปกครองใหม่ แต่ทว่าความขวาของญี่ปุ่นก็ไม่ได้หายไปแต่ฝังลึกอยู่ในสังคมและส่งผลไปยังการเมืองระดับชาติมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายของการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในญี่ปุ่น

ท่ามกลางระบอบการเมืองที่มีพรรคการเมืองเอียงขวาเป็นพรรคหลักในรัฐบาล เป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำโดยพรรค LDP กลุ่มทุนใกล้ชิดและข้าราชการ อย่างไรก็ตามแม้การเมืองระดับชาติจะถูกครอบงำโดยพรรค LDP ผู้สูงวัยและฐานเสียงของรัฐบาลอย่างกลุ่มชาวนาจนแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย แต่ความหวังและความน่าสนใจของญี่ปุ่นก็คือ การเมืองระดับท้องถิ่นที่ผู้คนสามารถเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของตนเองได้ทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น นายกเทศบาลหรือผู้ว่าราชการ ล้วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเป็นคนในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้ผู้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น และกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นที่พวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า

กล่าวได้ว่าความหวังในการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนทั้งไทยและญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ท้องถิ่น ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท้องถิ่นไทยจะสามารถพัฒนาจนเข้มแข็งตามรอยญี่ปุ่นได้ในไม่ช้า


[1] https://thestandard.co/reiwa-era/

[2] https://www.tofugu.com/japan/japan-conservative/

[3] แหล่งเดียวกัน

[4] https://prachatai.com/journal/2017/05/71310

[5] https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_590891

[6] https://www.tofugu.com/japan/japan-conservative/

[7] แหล่งเดียวกัน

[8] https://www.bbc.com/thai/international-46577802

[9] https://themomentum.co/report-womenomics-japan-2022/

[10] https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/news/backstories/2082/

[11] https://www.tokyoreview.net/2021/10/are-japanese-voters-becoming-more-extreme/

Authors

  • นักศึกษาปริญญาเอก National Graduate Institute for Policy studies ประเทศญี่ปุ่น

  • ศิลปินหนุ่มที่ชอบวาดรูป จบสถาปนิก ชอบงานวาดมือฟรีแฮนด์ ทำ NFT ทำเพจ 36perspective อ ะ l i n e เป็นแรปเปอร์ 36MAN เขียนเพลงเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และบทเพลงขับเคลื่อนสังคมและการเมือง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *